แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พิธีกรรมและการภาวนาส่วนตัว
61.  การภาวนาของพระศาสนจักรและการวิงวอนของคริสตชนแต่ละคนเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งและส่งเสริมพลังชีวิตให้แก่กัน ดังที่พระสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้ยืนยันอย่างชัดเจน  ที่จริง เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการภาวนาในพระศาสนจักรระดับครอบครัวก็คือการแนะนำลูกๆ ให้เคยชินกับพิธีกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมด  เพื่อที่ว่าลูกๆ จะได้รับการฝึกฝนให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรม  เพื่อให้พิธีกรรมขยายตัวเข้ามาถึงแวดวงชีวิตของบุคคล  ของครอบครัว  และของสังคม  เพราะฉะนั้น  เป็นสิ่งจำเป็นที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวคริสตชนจะมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิท  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป  รวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ  เช่น  ศีลเบื้องต้นของลูกๆ  คำแนะนำของสังคายนาเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ครอบครัวคริสตชนเพราะครอบครัวเป็นกลุ่มหนึ่งในกลุ่มต่างๆ ซึ่งสมควรจะสวด  “ทำวัตร”  โดยพร้อมกัน   ในทำนองเดียวกัน  ครอบครัวคริสตชนควรพยายามจัดการฉลองเทศกาลต่างๆ และวันสำคัญทางพิธีกรรมในรอบปี  ที่บ้านของตนในรูปแบบที่เหมาะสมกับสมาชิกด้วย
    ครอบครัวคริสตชนย่อมใช้การภาวนาเฉพาะครอบครัวเพื่อเป็นการเตรียมพิธีในบ้านของตนเอง  หรือกระทำพิธีต่อจากที่ฉลองกันแล้วในวัด  การภาวนาเฉพาะครอบครัวนี้  มีมากมายหลายชนิดซึ่งส่อให้เห็นแบบอย่างการภาวนาแบบคริสต์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก  ที่แสดงออกในรูปต่างๆ ตามที่พระจิตเจ้าดลใจ ทั้งเป็นการตอบสนองความต้องการต่างๆ ตามสภาพชีวิตของผู้ที่ยกจิตใจไปยังพระเจ้า  นอกเหนือจากการภาวนาเช้าค่ำ  ทั้งนี้จะเป็นไปตามมติของสมาชิกสมัชชาพระสังฆราช  ยังควรสนับสนุนแบบอื่นๆ เช่นการอ่านพระวาจาของพระเจ้าและการรำพึงตามพระวาจานี้  การเตรียมตัวก่อนจะรับศีลศักดิ์สิทธิ์  ความศรัทธาต่อพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าและการถวายตัวแด่พระหฤทัยนี้  การสรรเสริญพระนางพรหมจารีมารีอาด้วยวิธีต่างๆ การสวดก่อนและหลังอาหาร  และการแสดงความศรัทธาในรูปแบบต่างๆ ตามที่ประชาชนนิยมกัน
    พระศาสนจักรนับถือเสรีภาพของบรรดาบุตรของพระเจ้า  กระนั้น  ก็ยังแสดงความศรัทธาบางประการซึ่งพระศาสนจักรเคยเสนอต่อคริสตชน  และยังคงเสนอต่อไปอีกโดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในบรรดาวิธีเหล่านี้  ควรจะพูดถึงการสวดสายประคำ  “บัดนี้  ข้าพเจ้าใคร่จะเรียกร้องอย่างหนักแน่น  ให้แต่ละครอบครัวสวดสายประคำตามที่พระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ เคยเสนอมาแล้ว  แน่นอนทีเดียวต้องนับสายประคำของพระนางพรหมจารีมารีอาว่า  เป็นการภาวนาร่วมกันที่มีคุณค่าและเกิดผลอย่างเหลือล้นอย่างหนึ่ง  ซึ่งครอบครัวคริสตชนได้รับการเรียกร้องให้สวด  ข้าพเจ้านึกถึงข้อนี้บ่อยๆ และข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่า  เมื่อสมาชิกของครอบครัวร่วมกันสวดภาวนา  เขาจะใช้สายประคำบ่อยๆ ด้วยความปีติ”  ดังนั้น  ความศรัทธาอันแท้จริงต่อพระนางมารีย์หมายถึง  ความคุ้นเคยอย่างแน่นแฟ้นกับพระนางพรหมจารีมารีอาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง  และหมายถึงการเลียนแบบความคิดคำนึงของพระนางนั้นเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าในการบำรุงเลี้ยงความสัมพันธ์แห่งความรักในครอบครัวและในการส่งเสริมแนวปฏิบัติทางจิตวิญญาณเฉพาะคู่สมรสและครอบครัว  พระมารดาของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักรก็ยังเป็นมารดาของครอบครัวคริสตชนต่างๆ  นั่นคือ  ของพระศาสนจักรระดับครอบครัวอย่างเป็นพิเศษทีเดียว