ผู้รับและผู้สร้างสื่อมวลชน
76. ข้าพเจ้าต้องขอกล่าวถึงผู้รับและผู้สร้างสื่อมวลชนบ้าง เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญมากในชีวิตสมัยใหม่นี้ ใคร ๆ ก็รู้ดีว่าสื่อมวลชน “แทรกซึมในจิตใจผู้รับบางครั้งอย่างลึกมากและเกิดผลทั้งในด้านอารมณ์ ในสติปัญญา และในด้านจริยธรรมจนแม้กระทั่งในด้านศาสนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจผู้รับที่เป็นเยาวชน ฉะนั้นสื่อมวลชนอาจมีอิทธิพลที่ดีต่อชีวิตและพฤติกรรมของครอบครัวรวมทั้งต่อการอบรมสั่งสอนลูก ๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจจะปกปิด “หลุมพรางอันตรายที่ไม่น่าจะละเลยได้” หรืออาจเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์ที่ยุแหย่มนุษย์ให้แตกแยกกัน หรืออาจเป็นเครื่องมือของทัศนะที่บิดเบือนความหมายของชีวิต ของครอบครัว ของศาสนา ของศีลธรรม ตลอดจนถึงการไม่เคารพศักดิ์ศรีหรือวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยอาศัยไหวพริบและการบิดเบือนอย่างเชี่ยวชาญดังที่ปรากฏอย่างน่าเสียดายในหลายประเทศทั่วโลก
อันตรายนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากขึ้น “เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมไปมากขึ้นแล้ว บ่อยครั้งก็ทำให้ครอบครัวทิ้งความรับผิดชอบของตนในเรื่องการอบรมดูแลลูกๆ ความสะดวกสบายในการใช้เวลาให้ผ่านไปอย่างง่ายๆ (เช่น การดูโทรทัศน์ที่บ้านหรือการอ่านสิ่งตีพิมพ์บางประเภท) ทำให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างและมีกิจกรรมไปในทางที่หนีจากความจริง” ฉะนั้น เป็น “หน้าที่ของพ่อแม่ ที่จะต้องปกป้องเด็กและวัยรุ่นจากการรุกรานที่อาจมีอิทธิพลต่อจิตใจของเขาอันเนื่องจากสื่อมวบชน” อีกทั้งให้รู้จักใช้สื่อมวลชนภายในครอบครัวอย่างพอเหมาะ ครอบครัวควรพยายามแสวงหาโอกาสหย่อนใจให้ลูกในรูปแบบซึ่งจะมีคุณค่ากับผลประโยชน์มากกว่า และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกาย ศีลธรรม และจิตใจ “เพื่อให้เวลาว่างของเด็กจะได้ใช้ไปทางที่เป็นประโยชน์มากขึ้นและถือกันว่าเป็นสิ่งที่มีค่า รวมทั้งให้เขาใช้พละกำลังในทางที่ถูกต้องด้วย”
ด้วยเหตุว่า บ่อยครั้งทีเดียวที่สื่อมวลชนสร้างผลกระทบที่น่าสังเกตต่อการหล่อหลอมจิตใจของลูกๆ เช่นเดียวกับที่โรงเรียนและบรรยากาศของกลุ่มที่เขาอยู่เป็นประจำ พ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้ใช้สื่อมวลชนด้วยเหมือนกัน ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการใช้สื่อมวลชนอย่างพอประมาณ ด้วยความพินิจพิเคราะห์ ด้วยความระมัดระวังและด้วยความรอบคอบ พร้อมกับวินิจฉัยด้วยว่ามันอาจมีอิทธิพลอย่างไรในใจของลูก อนึ่งพ่อแม่ยังแสดงความรับผิดชอบได้โดยวิธีควบคุมการใช้สื่อมวลชนซึ่งจะทำให้ “จิตสำนึกของลูกได้รับการฝึกฝนในด้านตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างใจเย็นและอย่างถูกต้องกับความจริง ดังนั้น ลูกๆ จะสามารถเลือกรายการนี้ ปฏิเสธรายการนั้นได้”
พ่อแม่ต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน โดยพยายามมีอิทธิพลตั้งแต่ในขั้นตอนของการเลือกและเตรียมรายการเอง เขาควรเริ่มอย่างถูกกาลเทศะโดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ ในด้านการผลิตรายการหรือการถ่ายทอด เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่มีใครกล้าละเมิดค่านิยมพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมอันแท้จริงของสังคมหรือยิ่งกว่านั้นอีกอย่าให้ใครตั้งใจลบล้างค่านิยมเหล่านี้ แต่ตรงกันข้ามการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ต้องได้รับการรับรองว่า จะมีการถ่ายทอดรายการที่พูดถึงปัญหาของครอบครัวและวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรก่อนข้าพเจ้า เคยเขียนไว้ว่า “ผู้ผลิตรายการจะต้องรู้และเคารพความต้องการครอบครัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้เรียกร้องให้เขาแสดงความกล้าในบางครั้งและให้เขาตระหนักในความรับผิดชอบของตนอย่างลึกซึ้งเสมอ ที่จริง เขาจะต้องหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่อาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ ความมั่นคง ความสมดุลย์ และความสุขของครอบครัว การละเมิดคุณค่าพื้นฐานของครอบครัวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกามารมณ์หรือความรุนแรง เรื่องการส่งเสริมการหย่าร้างกันหรือปฏิกิริยาต่อต้านสังคมของเยาวชนก็ตาม เป็นการละเมิดต่อคุณค่าอันแท้จริงของมนุษยชาติทั้งสิ้น”
ในโอกาสที่คล้ายกัน ข้าพเจ้าเองเคยกล่าวคำต่อไปนี้ว่า ครอบครัวทั้งหลาย “ต้องมีความไว้วางใจในน้ำใจอันดีงาม ในความซื่อสัตย์สุจริต และในจิตสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ ของผู้ที่มีอาชีพในทางสื่อมวลชน เช่น บรรณาธิการ นักเขียน ผู้ผลิตรายการ ผู้กำกับ ผู้ประพันธ์ บทละคร นักข่าว และนักแสดง” เพราะฉะนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พระศาสนจักรจะทุ่มเทกำลังต่อไปเพื่อผู้มีอาชีพในทางนี้ ในขณะเดียวกันพระศาสนจักรก็ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวคาทอลิกเข้าทำงานในสายงานที่ละเอียดอ่อนนี้ ถ้าเขารู้สึกว่ามีความโน้มเอียงไปในทางนี้ และมีความต้องการที่จะสร้างความชำนาญในด้านนี้