การแต่งงานกับคนต่างศาสนา
78. จำนวนการสมรสระหว่างชาวคาทอลิกและคริสตชนที่รับศีลล้างบาปแต่ไม่ใช่คาทอลิกหรือระหว่างชาวคาทอลิกกับคนที่ไม่ได้รับศีลล้างบาปนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้ผู้อภิบาลเอาใจใส่เป็นพิเศษตามคำชี้แนะและบรรทัดฐานที่มีอยู่ในเอกสารซึ่งทางพระสันตะสำนักได้ออกมาใหม่ และในเอกสารซึ่งสภาพระสังฆราชต่างๆ ได้กำหนดเพื่อประยุกต์กับสภาพท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง
คู่สมรสที่ต่างคนต่างถือศาสนานั้น ปรากฏมีสิ่งที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษบางประการซึ่งอาจจะแยกออกเป็น 3 ประการด้วยกัน คือ
ประการที่หนึ่ง ฝ่ายคาทอลิกเองต้องตระหนักในภาระหน้าที่อันเนื่องมาจากความเชื่อ โดยเฉพาะการปฏิบัติการตามความเชื่อนั้นอย่างเสรี และในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องพยายามอย่างสุดความสามารถให้ลูกได้รับศีลล้างบาปและได้รับคำสอนตามหลักความเชื่อคาทอลิก
ประการที่สอง จะต้องตระหนักถึงความยากลำบากเป็นพิเศษที่อาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาด้วยกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิสรภาพทางศาสนาของแต่ละคน อาจมีการฝืนใจเกิดขึ้นจากการรบเร้าอย่างมิชอบธรรมให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโอนศาสนา หรือจากการสร้างอุปสรรคมิให้เขาปฏิบัติศาสนาของตนอย่างเปิดเผยและเสรี
ประการที่สาม เกี่ยวกับรูปแบบของการสมรสทางพิธีกรรมและตามกฎหมายพระศาสนจักรนี้ ประมุขสังฆมณฑลต่างๆ ควรใช้สิทธิ์ (ที่ทางสันตะสำนักอนุมัติให้ : Facultates - ผู้แปล) อย่างเต็มที่ เมื่อมีความจำเป็น
เมื่อพูดถึงสามประการนี้แล้วก็ต้องคำนึงถึงข้อต่อไปนี้ด้วย
• ในการอบรมเพื่อเตรียมสมรสที่เหมาะสมกับการสมรสชนิดนี้ ผู้รับผิดชอบต้องพยายามเท่าที่จะทำได้ในการอธิบายคำสอนคาทอลิกในเรื่องลักษณะและข้อบังคับของการสมรสให้แจ่มแจ้ง ทั้งจะต้องระมัดระวังมิให้มีการรบเร้าและมีอุปสรรคที่กล่าวมาแล้วนั้นเกิดขึ้นในภายหลัง
• เรื่องที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การอาศัยชุมชนเป็นที่ช่วยให้ฝ่ายคาทอลิกได้มีความเชื่อที่มั่นคงและส่งเสริมให้ซาบซึ้งในความเชื่อและปฏิบัติตามสมกับความเป็นผู้ใหญ่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อว่า เขาจะได้เป็นสักขีพยานที่เชื่อถือได้ภายในครอบครัว ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตและด้วยคุณภาพแห่งความรักต่อคู่สมรสและต่อลูกๆ
ถึงแม้ว่าการสมรสระหว่างชาวคาทอลิกและผู้รับศีลล้างบาปคนอื่นจะมีลักษณะพิเศษก็ตาม แต่การสมรสเหล่านี้ยังมีแนวอื่นๆ อีกมากมายซึ่งควรจะสนับสนุนและส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะคุณค่าของแนวนั้นเองก็ดี หรือเป็นเพราะอิทธิพลอันดีต่อกระบวนการปรับปรุงความเข้าใจระหว่างศาสนา (สากลสัมพันธภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่านี้ปรากฏขึ้นเมื่อคู่สมรสต่างก็เลื่อมใสต่อความรับผิดชอบทางศาสนาของตน ศีลล้างบาปที่ทั้งสองได้รับพร้อมกับอานุภาพแห่งพระหรรษทาน เป็นหลักเกณฑ์และเป็นเหตุผลบันดาลให้เขาได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสนิทในคุณค่าทางศีลธรรมและชีวิตจิตใจ
เพื่อให้เป็นไปเช่นนี้จริง และเพื่อจะเน้นความสำคัญในแง่สากลสัมพันธภาพของการสมรสที่ต่างคนต่างถือศาสนาซึ่งดำเนินไปตามหลักความเชื่อของคริสตชนทั้งคู่ ควรจะพยายามให้ศาสนบริกรทั้งฝ่ายคาทอลิกและฝ่ายที่ไม่ใช้คาทอลิกได้ร่วมมือกันอย่างดีตั้งแต่แรกเริ่มเตรียมสมรสตลอดถึงพิธีสมรสเอง ถึงแม้ว่าอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายเสมอไปก็ตาม
สำหรับเรื่องที่ว่า คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิกจะรับศีลมหาสนิทได้หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าขอให้ถือบรรทัดฐานซึ่งสมณสำนักเลขาธิการเพื่อเอกภาพของคริสตชนได้กำหนดไว้แล้ว
ในบางส่วนของโลก เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนการสมรสระหว่างชาวคาทอลิกกับคนที่ไม่ได้รับศีลล้างบาปนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมากคู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้รับศีลล้างบาปก็ถือศาสนาอื่น ความศรัทธาของเขานั้นต้องได้รับการเคารพตามที่ระบุไว้ในคำแถลง “Nostra Aetate” ของสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา กระนั้นก็ดี ในการสมรสแบบนี้จำนวนไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะในสังคมที่หลงไปทางโลก คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้รับศีลล้างบาปก็มิได้นับถือศาสนาใดๆ เลย เกี่ยวกับการสมรสชนิดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาพระสังฆราชและพระสังฆราชแต่ละองค์ต้องออกคำแนะนำที่เหมาะสมในด้านงานอภิบาล โดยมีวัตถุประสงค์ว่าจะปกป้องความเชื่อของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นชาวคาทอลิกและช่วยเหลือในทุกวิถีทางให้เขาสามารถปฏิบัติตามความเชื่อนี้ได้อย่างอิสระ เป็นต้นว่าหน้าที่ของเขาที่ต้องพยายามให้ลูกๆ ได้รับศีลล้างบาปและได้รับการ อบรมตามหลักศาสนาคาทอลิกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนั้นก็ยังต้องช่วยคู่สมรสฝ่ายคาทอลิกให้เป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อและรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบคาทอลิกภายในครอบครัวของตน