ประวัติการสอนคำสอนในยุคต่างๆ
โดย บาทหลวง ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย
คำนำ
พระศาสนจักรคาทอลิกตระหนักดีอยู่เสมอถึงความรับผิดชอบต่อคำสั่งของพระเยซูเจ้า ก่อนจะเสด็จขึ้นสวรรค์ พระคริสต์ได้ทรงกำชับว่า “พวกท่านจงไปสอนนานาชาติ” (มธ 28:20) และ “พวกท่านจงเป็นพยานถึงเรา” (กจ 1:8) จุดประสงค์ของพระสังคายนาสากลวาติกันที่ 2 (ค.ศ. 1962-1965) ก็อยู่ตรงนี้ กล่าวคือ รื้อฟื้นจิตตารมณ์การแพร่ธรรมให้ร้อนระอุขึ้นในจิตใจของบรรดาคริสตชนทั้งที่เป็นนักบวชและที่เป็นฆราวาส พระสังคายนาเร้าใจให้ทุกคนสำนึกถึงความรับผิดชอบดังกล่าว รวมทั้งพยายามหาวิธีแพร่ธรรมที่เหมาะกับสภาพสังคมและจิตใจของคนในยุคปัจจุบัน พระศาสนจักรยังคงเป็นเกลือดองแผ่นดินและแสงสว่างส่องโลก มีหน้าที่ชี้ทางที่ถูกต้องและพามนุษย์ไปพบกับความสุขเที่ยงแท้
- หลังจากพระสังคายนาสากลวาติกันที่ 2 ได้มีการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในพระศาสนจักร เช่น ด้านศาสนสัมพันธ์ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงมีไว้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงนี้อาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นแก่จิตใจของคนจำนวนไม่น้อย บางคนอาจปรับตัวไม่ทัน อีกบางคนอาจจะยังติดใจกับวิธีปฏิบัติแบบเดิม งานด้านการสอนคำสอนก็มิอาจหลุดพ้นจากความยุ่งยากดังกล่าว เป็นที่ปรากฏแจ้งชัดว่าการสอนคำสอนปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูและตื่นตัวกันมาก ในประเทศไทยเรามีการอบรมในที่ต่างๆ บ่อยขึ้น มีการจัดตั้งศูนย์อบรมครูคำสอนขึ้นเป็นสถาบันพิเศษ มีหน่วยเคลื่อนที่ที่ทำการสาธิตวิธีการสอนคำสอนแบบใหม่ ฯลฯ นับเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความไม่แน่ใจหรือความสับสนเกิดขึ้น มีเสียงบ่นกันว่าคนยุคนี้ไม่รู้ข้อคำสอน เพราะปรากฏว่ามีการปะทะกันขึ้นระหว่างข้อความจริงแห่งความเชื่อ กับความเห็นหรือข้อเสนอของนักเทววิทยาบางคน ถ้าอย่างนั้นอะไรเป็นคำสอน อะไรเป็นข้อความเชื่อหรือพระสัจธรรมที่ต้องยึดมั่น อีกประการหนึ่ง มีบุคคลที่อาจปรากฏว่ารู้ข้อคำสอนดีแต่เจริญชีวิตไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนรู้ พฤติกรรมดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคที่คอยทิ่มตำตาผู้พบเห็น ทำให้คลายความศรัทธาต่อการเรียนคำสอนหรือทำให้การสอนคำสอนดูเหมือนด้อยคุณค่าลง “เรียนไปก็เท่านั้น”
ปัญหาปัจจุบัน และความสนใจของพระศาสนจักร
หากจะพิจารณากันจริงๆ ถึงเรื่องเหล่านี้ กล่าวคือ ปัญหาใหญ่ ในวงการคำสอนปัจจุบัน เราจะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากหลายประการด้วยกัน
ก. ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเรื่องการอภิบาลสัตบุรุษ (Pastoral) ในพระศาสนจักร โดยเปิดโอกาสให้สัตบุรุษมีบทบาทมากขึ้น ในการมีส่วนรับผิดชอบวัดที่ตนสังกัดอยู่ แต่เดิมสัตบุรุษมีหน้าที่รับฟังทุกอย่างจนถึงรายละเอียดทุกข้อ แต่ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้สัตบุรุษเข้ามามีส่วนมากขึ้น เช่น การเป็นผู้นำอภิปรายกลุ่ม การอ่านและแนะข้อคิดในระหว่างพิธีกรรมบางอย่าง ฯลฯ เราได้เตรียมบุคคลดังกล่าวให้มีความรู้ มีความเข้าใจลึกซึ้งถึงข้อความจริงทางพระศาสนาเพียงพอไหม ฆราวาสที่ก้าวออกไปทำหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่รู้คำสอนดีๆ อาจสร้างความสับสนไม่น้อย
ข. ได้มีการค้นคว้าและทดลองวิธีการสอนแผนใหม่ๆ ในวงการศึกษา สิ่งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อการสอนคำสอนแบบเดิมมาก เพราะสร้างความไม่แน่ใจ เป็นต้น ต่อตัวผู้สอน เกิดการเปรียบเทียบ และแล้วก็มีการทดลองสอนแบบใหม่ จนอาจกลายเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนมาถึงเรื่องเนื้อหาคำสอน เช่น เรื่องพระตรีเอกภาพ เรื่องศีลมหาสนิท ฯลฯ คำสอนเป็นสิ่งที่เราต้องสอนได้ แต่ได้แค่ไหน เพราะการสอนคำสอนมิใช่วิชาการธรรมดาแบบวิชาการอื่นๆ แต่เป็นงานส่วนหนึ่งที่เกิดจากการทำงานของพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า การอาศัยแต่วิชาครูเท่านั้นมิอาจเข้าถึงอัตถ์ความจริงเร้นลับอีกหลายๆ ประการที่เราคริสตังเชื่อ
ค. สภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง การเจริญชีวิตก็ต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา สังคมหลายๆ แห่งกำลังเปลี่ยนจากสังคมกสิกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม แต่ก่อนเรียนคำสอนเมื่อเป็นเด็กเล็กๆ โตขึ้นสภาพสังคมช่วยให้เขายังมั่นคงต่อสิ่งที่ตนร่ำเรียนมา บัดนี้แทบจะกล่าวได้ว่าพอเรียนจบความเชื่อความเลื่อมใสศรัทธาก็พลอยจบลงด้วย
ง. การริเริ่มเสวนา “Dialogue” การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อกันในเรื่องความเชื่อ การยอมรับพหุนิยม (Pluralism) ทางศาสนาและการเคารพความเชื่อของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ดี น่าส่งเสริม แต่การทำโดยไม่ได้สัดส่วนหรือการขาดการเตรียมจิตใจตามสมควร เป็นการละเลยที่น่าตำหนิ การส่งเสริมคู่แต่งงานที่ต่างถือโดยไม่มีการอบรมฝ่ายคริสตังอย่างเพียงพอ ย่อมเป็นภัยต่อชีวิตความเชื่อ ทั้งฝ่ายคริสตังเอง และเป็นต้นต่อบุตรหลานที่จะเกิดมา….โตขึ้นให้เขาเลือกเอง และแล้วจะมีอะไรดีให้เขาเลือกบ้าง
จ. ปรัชญาชีวิตและค่านิยมเปลี่ยนไป การหาความสะดวกสบายทางด้านวัตถุภายนอก ทำให้มองข้ามความสำคัญของฝ่ายจิตใจ เรียนคำสอนแล้วไม่เห็นทำให้รวย ไม่ช่วยให้หางานทำง่ายขึ้น สู้ไปเรียนวิชาการอื่นไม่ได้ เสียเวลาไปเรียนคำสอนทำไม
- สิ่งต่างๆ ดังกล่าวรวมทั้งปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากได้ทำให้ความเฉื่อยชาและการปล่อยปละละเลยเรื่องการสนใจเรียนคำสอนเกิดขึ้นในจิตใจของพ่อแม่คริสตังจำนวนมาก พระศาสนจักรได้มองเห็น “สัญญาณของกาลเวลา” ว่าจำเป็นและเป็นสิ่งเร่งด่วนที่จะต้องหันมาพิจารณาปรับปรุงฟื้นฟูงานแพร่ธรรมด้านนี้ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงและหน้าที่แรกของพระศาสนจักร ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับงานด้านเมตตาจิต ฉะนั้นการประชุมสภาสังฆราชทั่วโลกที่จัดขึ้นที่กรุงโรม ในปี ค.ศ. 1977 นี้จึงมีหัวข้อการประชุมว่าด้วย “การสอนคำสอนในยุคปัจจุบัน” เราได้เห็นแล้วว่ากิจกรรมแพร่ธรรมด้านนี้มีปัญหาต่างๆที่เราต้องเผชิญหน้า และต้องเร่งแก้ไขอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนคิดว่าการทราบประวัติความเป็นมาของการสอนคำสอนในยุคต่างๆ อย่างย่อๆ อาจช่วยให้เราคริสตังสามารถติดตามการประชุมของสภาสังฆราชทั่วโลกได้พอสมควร บทความสั้นๆ นี้ไม่ได้มีเจตนาจะบรรยายรายละเอียดจนเกินไปหรือวิจารณ์อะไรๆ เกี่ยวกับวิธีการสอนคำสอนในแต่ละยุค แต่ต้องการบอกเพียงว่าได้มีการปฏิบัติเช่นไรและมีวิธีการสอนคำสอนแบบไหนในสภาพสังคมแต่ละสมัย ก่อนที่เราจะกล่าวถึงเรื่องประวัติการสอนคำสอนโดยเฉพาะ ขอให้เราได้พิจารณาคำที่ใช้แสดงกิจการแพร่ธรรมที่อยู่ในลักษณะคล้ายคลึงและต่างกัน ตามที่พบในพระศาสนจักรคาทอลิก
การอธิบายคำ
ก. การประกาศข่าวดี (Kerygma) เป็นการแจ้งข่าวดีให้ผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องได้รับทราบ ลักษณะการแพร่ธรรมดังกล่าวอยู่ที่การประกาศข้อความเชื่อพื้นฐานให้ผู้อื่นที่ยังไม่ใช่คริสตังรับรู้ว่า พระเยซูคริสต์คือ พระบุตรของพระเจ้า ได้ทรงตายเพื่อเราและได้ทรงกลับคืนชีพ ใครที่เชื่อและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์จะได้ชีวิตเที่ยงแท้
ข. การเทศน์ (Homily) เป็นการสั่งสอนพระศาสนจักรทำอยู่เป็นปกติต่อกลุ่มคริสตชน แต่เป็นการสั่งสอนที่ไม่ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ (Systematic) ตามปกติจะทำควบคู่ไปกับพิธีกรรมเน้นหนักด้านภาคปฏิบัติและชีวิตคุณธรรม เทศตามเนื้อหาพิธีกรรมนั้นๆ แต่ละครั้ง
ค. การสอนคำสอน (Catechesis) เป็นการสั่งสอนหรือการอธิบายที่อยู่ระหว่างช่วงการประกาศข่าวดีและการเทศน์ เป็นการสอนคนที่รู้จักพระวรสารแล้ว พร้อมจะเป็นคริสตัง (สำหรับผู้ที่ยังไม่รับศีลล้างบาป) หรือคนที่เป็นคริสตังแล้วแต่ยังต้องศึกษาให้รู้จักพระธรรมของพระคริสต์ให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อจะเข้าร่วมกลุ่มคริสตชนในการประกอบพิธีกรรม และเลี้ยงชีวิตคริสตังด้วยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์
การสอนคำสอนจึงเป็นการแพร่ธรรมที่จัดเป็นระเบียบแบบแผน (Systematic) เป็นเรื่องๆ ต่อกันมิใช่แบบคำเทศน์เป็นครั้งคราว
ง. เทววิทยา (Theology) เป็นการอธิบายความที่ลึกซึ่งและเป็นการค้นหาคำอธิบายที่จะช่วยให้เราเข้าใจการไขแสดงของพระเจ้าต่อมนุษย์ดีขึ้น วิชาเทววิทยาจึงมีทั้งคำสอนและในขณะเดียวก็ปะปนด้วยการเสนอความเห็น การแปลความ ฯลฯ ซึ่งพระศาสนาจักรจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือที่ผิดหลงไปจากข้อความจริงของความเชื่อเที่ยงแท้