แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

โรงเรียนคาทอลิก
259    โรงเรียนคาทอลิก (สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิก, “โรงเรียนคาทอลิก”, โรม, 1977)  คือสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการฝึกอบรมคนและคริสตชน  คำแถลงของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการอบรมตามหลักพระคริสตธรรม (Gravissimum Educationis)  “ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ให้ผลอันมีลักษณะพิเศษในประวัติศาสตร์ของโรงเรียนคาทอลิก คือการแปรสภาพจากโรงเรียนในฐานะเป็นสถาบันมาเป็นชุมชน” (สมณกระทรวงการศึกษา, “มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก” เค้าโครงเพื่อการพิจารณา , โรม, 1988, ข้อ 31) 

โรงเรียนคาทอลิกต่างๆ “มิได้กระตือรือร้นในเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรม  และในเรื่องการฝึกอบรมเยาวชนน้อยไปกว่าโรงเรียนอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม โรงเรียนคาทอลิกยังมีบทบาทหน้าที่พิเศษ คือ
    - พัฒนาบรรยากาศในชุมชนโรงเรียนให้มีชีวิตชีวาด้วยความมุ่งมั่นในเรื่องเสรีภาพและเมตตาธรรม 
    - ช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองให้ก้าวหน้าขึ้นไปในเวลาเดียวกันกับการเติบโตในชีวิตใหม่ที่พวกเขาได้รับเมื่อตอนรับศีลล้างบาปด้วย
    - ปรับวัฒนธรรมทั้งหมดของมนุษย์ให้สอดคล้องกับสารเรื่องการช่วยให้รอด (ความรอด) (GE 28)
    งานการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกถูกกำหนดให้พัฒนาไปตามพื้นฐานของแนวคิดที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เสนอไว้ให้นี้คือ  งานการศึกษาจะบรรลุผลสำเร็จในชุมชนโรงเรียนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบรรดาบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานการศึกษาโดยตรง  ซึ่งได้แก่ คณะครู  ผู้จัดการ  คณะผู้บริหาร  ผู้ให้การสนับสนุน และบรรดาผู้ปกครอง  เพราะความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้อบรมตามธรรมชาติที่มิอาจมีใครแทนได้ของบุคคลเหล่านี้ที่มีต่อบรรดาบุตรและนักเรียนของพวกเขา  ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนร่วมและผู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในกระบวนการการศึกษา” (สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิก, “มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก” เค้าโครงเพื่อการพิจารณา , โรม, 1988, ข้อ 32)

260    เมื่อนักเรียนส่วนมากที่เข้าโรงเรียนคาทอลิกอยู่ในครอบ ครัวต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนด้วยเหตุลักษณะความเป็นคาทอลิกของโรงเรียน  ทำให้โรงเรียนสามารถจัดศาสนบริการด้านพระวาจาได้หลายรูปแบบ เช่น การประกาศพระวรสารขั้นแรก  การ สอนศาสนาในระบบโรงเรียน  การสอนคำสอน  การเทศน์พระคัมภีร์   อย่างไรก็ตาม ในบรรดารูปแบบเหล่านี้มีสองรูปแบบที่มีความสำคัญพิเศษเฉพาะในโรงเรียนคาทอลิก คือการสอนศาสนาในโรงเรียน  และการสอนคำสอนซึ่งมีลักษณะต่างๆเกี่ยวข้องกับแต่ละสิ่งตามที่บรรยายไว้แล้ว (CT 69; อ้างถึง ภาคที่ 1  บทที่ 2  ข้อ 73-76)  แต่เมื่อบรรดานักเรียนและครอบครัวของพวกเขาต้องเข้ามาเกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนคาทอลิกต่างๆ   ด้วยเหตุผลทางด้านคุณภาพของการศึกษาที่มีในโรงเรียน  หรือด้วยเหตุผลอื่นๆที่เป็นไปได้  งานด้านการสอนคำสอนจึงจำเป็นต้องถูกจำกัดขอบเขตและรวมถึงการให้การศึกษาด้านศาสนาด้วย   และหากเป็นไปได้ก็ควรเน้นลักษณะด้านวัฒนธรรมของโรงเรียนคาทอลิก  การช่วยเหลือของโรงเรียนคาทอลิกนี้จึงเป็น “งานบริการที่มีคุณค่าอย่างยิ่งแก่มนุษย์ทั้งหลาย” (AG 12c) พร้อมกันนั้นยังเป็นการประกาศพระวรสารแบบเล็กๆ ภายในพระศาสนจักร   เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ต่างๆ ทางด้านสังคม วัฒนธรรม  และด้านศาสนา ที่ซึ่งงานของโรงเรียนคาทอลิกต้องมีส่วนร่วมในหลายๆ ประเทศ เป็นโอกาสเหมาะที่บรรดาพระสังฆราชและสภาพระสังฆราชจะกำหนดประเภทของงานด้านการสอนคำสอนที่จะต้องทำให้สำเร็จในโรงเรียนคาทอลิกต่างๆ