แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การฝึกอบรมด้านพระคัมภีร์และเทววิทยาให้กับครูคำสอน
240    นอกจากการเป็นประจักษ์พยานแล้ว  ครูคำสอนยังจะต้องเป็นครูคำสอนเรื่องความเชื่อด้วย   การฝึกอบรมด้านพระคัมภีร์และเทววิทยาน่าจะช่วยให้ครูคำสอนมีความรู้ที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับสารของคริสตชน ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรอบพระธรรมล้ำลึกที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ คือ พระเยซูคริสตเจ้า
    บริบทในการฝึกอบรมด้านข้อคำสอนนี้น่าจะถูกนำมาจากเนื้อเรื่องหลากหลายที่ประกอบอยู่ในทุกแผนของการสอนคำสอน  ซึ่งได้แก่เรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

    - สามช่วงที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งความรอด คือ ช่วงพันธสัญญาเดิม  ช่วงชีวิตของพระคริสตเจ้า  และช่วงประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร
    - หัวใจอันสำคัญยิ่งของสารคริสตชนคือ บทข้าพเจ้าเชื่อ  พิธีกรรม  ชีวิตศีลธรรม  และการภาวนา
    เนื้อหาข้อคำสอนของการฝึกอบรมครูคำสอนที่เกี่ยวกับ การสอนเทววิทยาในแต่ละระดับของการอบรมนั้น คือ สิ่งที่ครูคำสอนจะต้องถ่ายทอด   สำหรับหนังสือที่ใช้ในการอบรม “พระคัมภีร์ควรจะเป็นแก่นสารของการฝึกอบรมนี้” (อ้างถึง GCD (1971) 112; GCM 23)  หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกยังคงเป็นจุดอ้างอิงพื้นฐานทางด้านข้อคำสอน  รวมถึงหนังสือคำสอนที่เหมาะสมกับพระศาสนจักรเฉพาะถิ่น

241    การฝึกอบรมด้านพระคัมภีร์และเทววิทยาต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
    ก) ประการแรก น่าจะเป็นลักษณะที่รวบรัดและสอดคล้องกับข่าวสารที่จะถูกถ่ายทอด  ควรมีการนำเสนออันหลากหลายของความเชื่อคริสตชนในวิธีการที่ถูกจัดไว้อย่างดีและมีความสอดคล้องของเนื้อหาต่างๆ โดยอาศัยทัศนะเกี่ยวกับความเป็นพื้นฐานของข้อมูลอันมีความสำคัญตาม “ฐานานุกรมแห่งความจริง”
    ข) การสังเคราะห์ในเรื่องความเชื่อนี้ควรเป็นไปเพื่อช่วยครูคำสอนให้บรรลุวุฒิภาวะในความเชื่อของเขา  และทำให้เขาสามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับความหวังปัจจุบันในเวลากระทำพันธกิจนี้ นั่นคือ  “สถานการณ์ยุคปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า  การอบรมข้อคำสอนแก่ ฆราวาสคริสตชนเป็นเรื่องรีบด่วนมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่เพียงเพื่อให้มีความเข้าใจดียิ่งขึ้นซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับพลังแห่งความเชื่อ  แต่ยังช่วยให้พวกเขาสามารถ “ให้เหตุผลสำหรับความหวังของเขา” เมื่อพิจารณาถึงโลกและปัญหาที่ร้ายแรงและซับซ้อนทั้งหลายของโลกนี้” (ChL 60c)
    ค) ต้องเป็นการฝึกอบรมด้านเทววิทยา ที่ใกล้ชิดกับประสบการณ์มนุษย์  และสามารถเชื่อมโยงแง่มุมหลากหลายของสารคริสตชนกับชีวิตจริงของมนุษย์ “ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นและวินิจฉัยชีวิตจริงนั้นโดยอาศัยการพิจารณาตามพระวรสาร” (CT 22)   การฝึกอบรมนี้ยังต้องนำเอารูปแบบการสอนคำสอนมาใช้ในทางใดทางหนึ่งขณะที่ยังคงรักษาเนื้อหาทางด้านเทววิทยาไว้อยู่
    ง) ต้องเป็นแบบที่ครูคำสอน “ไม่เพียงแค่สามารถสื่อสารพระวรสารได้อย่างถูกต้องเท่านั้น  แต่ต้องสามารถทำให้ผู้ที่ได้รับการสอนคำสอนนี้สามารถรับฟังพระวาจาได้อย่างกระตือรือร้น  และสามารถเข้าใจในสิ่งที่กระบวนการทางจิตใจของเขาเห็นด้วยกับความเชื่อ” (GCD (1971) 112)