แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสื่อสารมวลชน (อ้างถึง GCD (1971) 122-123; EN 45: CT 46; FC 76; ChL 44; RM 37)
160    เวที “อาเรโอปากัส” แห่งแรกของยุคสมัยใหม่ก็คือ โลกของการติดต่อสื่อสาร ซึ่งทำให้มนุษยชาติมีเอกภาพขึ้นมา... วิธีการต่างๆของการสื่อสารมวลชนได้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญขึ้นมาถึงขนาดเป็นวิธีการอันสำคัญต่างๆ ที่จะเผยแผ่ข่าวสารและให้การศึกษาอบรม สำหรับคนเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องนำทางและนำการดลใจในพฤติกรรมของบรรดาปัจเจกชน ครอบครัวทั้งหลาย  และภายในสังคมทั่วไป” (RM 37) ด้วยเหตุผลนี้ นอกจากวิธีการมากมายที่สืบต่อกันมาและใช้กันอยู่  สื่อมวลชนยังได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกาศ พระวรสารและการสอนคำสอน (อ้างถึง Aetatis novae, l.c., ข้อ 11) 

อันที่จริง “พระศาสนจักรจะต้องรู้สึกว่าตัวเองผิดเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า  ถ้าพระศาสนจักรไม่ใช้อุปกรณ์อันมีอำนาจเหล่านั้นซึ่งสติปัญญามนุษย์ยังคงพัฒนาและทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกๆวัน... พระศาสนจักรได้พบที่ประชุมสำหรับการอภิปรายโฉมใหม่อันมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า อันเป็นเวทีสำหรับกล่าวคำปราศรัยหรือธรรมาสน์อันเป็นที่ซึ่งพระศาสนจักรสามารถกล่าวปราศรัยกับคนหมู่ใหญ่ในอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้” (อ้าง EN 45)
    ในข้อนี้ อุปกรณ์ต่างๆ ต่อไปนี้ควรได้รับพิจารณา คือ โทรทัศน์  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  แผ่นเสียง  ม้วนเทป  เทปวีดีโอ  แผ่นซีดี  แผ่นดิสก์  เช่นเดียวกับโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ (อ้างถึง CT 46)   อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ทั้งหมดมอบบริการพิเศษประการหนึ่งให้ และทุกๆคนจะมีวิธีใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในลักษณะเฉพาะของตนเอง  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์ทั้งหลายและพิจารณาถึงความต้องการใช้มันด้วย (อ้างถึง GCD (1971) 122) ในทุกๆ การสอน คำสอนที่มีการวางแผนอย่างดีไม่สามารถขาดอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นได้  การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพระศาสนจักรต่างๆ เพื่อช่วยกันออกค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการจัดหามา และการจัดการอุปกรณ์เช่นนั้นเป็นการรับใช้พระวรสารอย่างแท้จริง

161    เพื่อที่จะสามารถใช้สื่อมวลชนได้อย่างดี  ครูคำสอนจะต้องทุ่มเทอย่างหนักในการหาความรู้  ความสามารถ  มีการฝึกหัดและการใช้สื่อมวลชนอย่างทันสมัย  แต่เหนือสิ่งอื่นใด เนื่องด้วยสื่อมวลชนและวัฒนธรรมมีอิทธิพลแข็งแกร่ง  เราจึงต้องจดจำไว้ว่า “การใช้สื่อต่างๆ เพียงเพื่อกระจายสารแห่งคริสตชนและคำสั่งสอนอันแท้จริงของพระศาสนจักรเท่านั้นยังไม่พอ  จำเป็นที่จะต้องรวมเอาสารนั้นเข้าไปใน “วัฒนธรรมใหม่” ด้วย โดยการสร้างของการสื่อสารต่างๆ ที่ทันสมัย...ด้วยภาษาใหม่ๆ  เทคนิคใหม่ๆ  และจิตวิทยาใหม่” (RM 37)  เพียงอาศัยการสื่อสารมวลชนนี้พร้อมกับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า  สารแห่งพระวรสารก็จะสามารถแทรกซึมเข้าสู่มโนธรรมของทุกคน  และได้รับการยอมรับอย่างเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับข้อผูกมัดส่วนตัวอันสมบูรณ์ (อ้างถึง EN 45)

162    บรรดาผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชน เช่นเดียวกับบรรดาผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนควรจะสามารถรับพระหรรษทานจากพระวรสาร  สิ่งนี้ควรเป็นเหตุให้ครูคำสอนได้คำนึงถึงกลุ่มบุคคลพิเศษต่างๆ ดังนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนคือผู้ที่ควรได้รับการชี้นำให้เห็นว่าพระวรสารเป็นเหมือนขอบเขตที่ยิ่งใหญ่แห่งความจริง  ความรับผิดชอบและการดลใจ   ครอบครัวทั้งหลายซึ่งเปิดรับอิทธิพลของสื่อมวลชนอยู่อย่างหนักจะสามารถป้องกันตนเองได้  แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือจะได้มีความสามารถด้านการศึกษาและการวิเคราะห์เพิ่มขึ้น (อ้างถึง FC 76)  บรรดาเยาวชนซึ่งเป็นผู้ใช้และตัวของตัวเองก็เป็นผู้สร้างสรรค์การสื่อสารทั้งหลายด้วยสื่อมวลชน    ทุกคนได้รับการเตือนว่า “การใช้อุปกรณ์ในการสื่อสารโดยผู้เชี่ยวชาญ และการรับสาระของสื่อต่างๆโดยประชาชนต้องการทั้งงานทางด้านการศึกษาที่มีลักษณะเชิงวิเคราะห์อย่างมีชีวิตชีวาโดยความกระตือรือร้นหาความจริง และงานด้านการปกป้องเสรีภาพที่มีความเคารพในศักดิ์ศรีของบุคคลทั้งหลาย  และการยกระดับวัฒนธรรมอันแท้จริงของชนชาติต่างๆ ให้สูงส่งยิ่งขึ้นไป (ChL 44)