การท่องจำในการสอนคำสอน
154 วิชาการอบรมคริสตศาสนธรรม (Catechetics) เป็นส่วนหนึ่งแห่ง “ความทรงจำ” เกี่ยวกับพระศาสนจักร ซึ่งยังทำให้การประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางพวกเราดูมีชีวิตชีวาเสมอ (อ้างถึง MPD 9) ดังนั้นการใช้ความทรงจำจึงก่อลักษณะโครงสร้างแบบหนึ่งของการสอนความเชื่อตั้งแต่สมัยแรกเริ่มคริสตศาสนา เพื่อที่จะขจัดอันตรายของการท่องจำแบบไม่ใส่ใจ จึงควรสอดแทรกการเรียนรู้เพื่อช่วยความจำ (mnemonic learning) เข้าไปในการกระทำต่างๆที่เป็นการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกัน อย่างเช่น ปฏิกิริยาตอบรับที่เป็นไปตามธรรมชาติกับการไตร่ตรอง ช่วงเวลาแห่งการเสวนากับช่วงเวลาแห่งการสงบเงียบ และความสัมพันธ์ระหว่างงานที่พูดกับงานที่ต้องเขียน (อ้างถึง CT 55)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสูตรหลักทั้งหลายที่เป็นเรื่องความเชื่อ ต้องได้รับการพิจารณาด้วยความรอบคอบในฐานะที่เป็นจุดมุ่งหมายต่างๆของการท่องจำ การทำเช่นนี้ช่วยให้มั่นใจในการแสดงออกถึงความเชื่ออย่างถูกต้องยิ่งขึ้น และยังประกันถึงมรดกตกทอดอันมีคุณค่าทางด้านคำสอน วัฒนธรรมและภาษาที่เป็นสากล การมีภาษาแห่งความเชื่อที่แน่นอนเป็นภาวะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตตามความเชื่อเดียวกัน อย่างไรก็ตาม บทสูตรต่างๆดังกล่าวควรได้รับการเสนอในรูปแบบองค์รวมต่างๆ หลังจากที่มีกระบวนการอธิบายและควรจะมีความซื่อสัตย์ต่อสารแห่งคริสตชน องค์รวมนี้ได้มาโดยการเลือกรวมบทสูตรที่สำคัญและข้อความจากพระคัมภีร์ ข้อความเชื่อ และพิธีกรรม เหมือนกับบทภาวนาต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจากการสืบทอดความเชื่อคริสตชน (บทแสดงความเชื่อของอัครสาวก บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย บทวันทามารีอา) (อ้างถึง CCC 22)
“ดอกไม้แห่งความเชื่อและความมีศรัทธาอันแก่กล้า (ถ้าเราสามารถเรียกเช่นนี้ได้) จะไม่มีวันเจริญเติบโตในทะเลทรายอันคือที่ซึ่งการสอนคำสอนปราศจากการท่องจำ สิ่งที่สำคัญก็คือ ข้อความที่ท่องจำนั้นจะต้องถูกรับไว้อย่างไตร่ตรองและค่อยๆ เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะได้กลายเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตคริสตชนทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวม” (อ้างถึง CT 55)
155 ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกคือ เราต้องเข้าใจความหมายของการเรียนรู้บทสูตรเกี่ยวกับความเชื่อ และการประกาศยืนยันความเชื่อว่าจะต้องเป็นไปในสภาวะที่ส่งเสริมกระบวนการสืบทอดความเชื่อ คาทอลิก หรือในสถานการณ์ที่มีการประกาศยืนยันความเชื่อที่รับมาจากพระศาสนจักร (traditio) และการมอบคืนการประกาศยืนยันความเชื่อแก่พระศาสนจักร (redditio) เพื่อให้การส่งต่อความเชื่อในการสอนคำสอน (traditio) สอดคล้องกับการตอบรับจากผู้เรียนระหว่างการก้าวเดินไปในแต่ละขั้นของการสอนคำสอน และในชีวิตช่วงต่อๆ มา (redditio) (อ้างถึง ภาคที่ 1 บทที่ 3 ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาป: โครงสร้างและการพัฒนา)
กระบวนการดังกล่าวนี้ช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่าง ยิ่งใหญ่ขึ้นในความจริงที่ได้รับ การตอบรับส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการบรรลุถึงความสมบูรณ์ซึ่งสัมพันธ์อย่างเต็มที่กับข้อมูลต่างๆ ในเรื่องความเชื่อ และแสดงถึงความเข้าใจภาษาที่ถูกใช้แสดงถึงความเชื่อ (ที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์ พิธีกรรม และข้อความเชื่อ)