โครงสร้างของหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก
122 หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกมีโครงสร้างที่ถูกจัด ขึ้นตามคุณลักษณะพื้นฐานของชีวิตคริสตชน 4 ประการ คือ การประกาศยืนยันความเชื่อ การเฉลิมฉลองทางพิธีกรรม หลักศีลธรรมจากพระวรสารและบทภาวนา คุณลักษณะทั้งสี่ประการนี้เกิดจากแหล่งเดียวกันคือ พระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับคริสตศาสนา ซึ่งก็คือ
- เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ (ภาคที่ 1)
- ซึ่งได้รับการเฉลิมฉลองและถูกสื่อสารในการกระทำต่างๆ ทางพิธีกรรม (ภาคที่ 2)
- และเป็นสิ่งที่ให้ความรู้และสนับสนุนบรรดาบุตรทั้งหลายของพระเป็นเจ้าในการปฏิบัติตนของพวกเขา (ภาคที่ 3)
- เป็นพื้นฐานแห่งคำภาวนาของเรา อันมีบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบทที่มีคำพูดที่แสดงออกอย่างครบสมบูรณ์ และเป็นจุดประสงค์ของการอ้อนวอน การสรรเสริญและการภาวนาเพื่อมวลชน (ภาคที่ 4) (FD 3d)
และโครงสร้างที่ประกอบด้วยสี่ส่วนนี้ได้พัฒนาส่วนสำคัญต่างๆ แห่งความเชื่อคือ
- ความเชื่อในพระตรีเอกภาพและแผนการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์
- การทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยพระเป็นเจ้าในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับศีลศักดิ์สิทธิ์
- การรักพระเป็นเจ้าอย่างสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง
- คำภาวนาในขณะที่รอคอยให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึง และการพบพระองค์แบบเผชิญหน้า
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ยังอ้างถึงความเชื่ออย่างที่ได้เชื่อถือ เฉลิมฉลอง ดำเนินชีวิตและสวดภาวนามาแล้ว สิ่งนี้ได้เรียกร้องให้มีการอบรมชีวิตคริสตชนอย่างครบถ้วน โครงสร้างหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้มาจากความเป็นเอกภาพอันล้ำลึกของชีวิตคริสตชน ซึ่งยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่าง “กฎการสวดภาวนา” “กฎการเชื่อถือ” และ “กฎการดำเนินชีวิต” (“lex orandi” , “lex credendi” , “lex vivendi”) “พิธีกรรมนั้นเองก็คือการภาวนา การยืนยันความเชื่อก็เหมาะที่จะทำกันในพิธีนมัสการพระเป็นเจ้า พระหรรษทานอันเป็นผลมาจากศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นสภาพที่จะต้องมีอยู่เพื่อการดำเนินชีวิตคริสตชนอันมิอาจมีสิ่งใดมาแทนได้เหมือนกับการเข้าร่วมพิธีกรรมของพระศาสนจักรต้องมีความเชื่ออยู่ด้วย หากความเชื่อมิได้มีการแสดงออกด้วยกิจการ มันก็คือความเชื่อที่ตายแล้ว และมิอาจนำไปสู่ชีวิตนิรันดรได้” (FD 2e)
ด้วยเหตุที่หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้ถูกจัดระบบด้วยความรอบคอบตามเสาหลักทั้งสี่ (อ้างถึง CCC 13) ซึ่งสนับสนุนการถ่ายทอดความเชื่อ (คือบทข้าพเจ้าเชื่อ ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พระบัญญัติสิบประการ และบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย) หนังสือคำสอนนี้จึงได้รับการเสนอเป็นดังจุดอ้างอิงด้านคำสอน (อ้างถึง ภาคที่ 1 บทที่ 3) และเพื่อช่วยในการร่างหนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นขึ้นมาใช้ อย่างไรก็ดี หนังสือคำสอนนี้ก็มิได้กำหนดรูปแบบหนังสือคำสอนระดับท้องถิ่น “โครงสร้างที่ดีที่สุดสำหรับการสอนคำสอนจะเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เป็นรูปแบบเฉพาะท้องถิ่น และไม่สามารถถูกกำหนดเพื่อพระศาสนจักรทั้งหมดโดยหนังสือคำสอนธรรมดาเล่มหนึ่ง” (ดูอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ความซื่อสัตย์ต่อคำสอนคาทอลิกอย่างแท้จริงทำให้เกิดการนำเสนอคำสอนในรูปแบบที่หลากหลายสำหรับสภาพการณ์ต่างๆ