แบบอย่างการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมจากสารแห่งพระวรสาร ( ดูภาคที่ 4 บทที่ 5 )
109 พระวจนาตถ์ทรงกลายเป็นมนุษย์ ซึ่งมีตัวตนจริงๆ บนโลกนี้ ทรงรับการปลูกฝังให้เติบโตในวัฒนธรรมหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ “พระคริสตเจ้าทรงอาศัยการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์เพื่อมอบพระองค์เองให้อยู่ในสภาพทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของบรรดาบุคคลซึ่งพระองค์ทรงดำเนินชีวิตอยู่ด้วย” (AG 10) นี่คือ “การนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม” แรกเริ่มของพระวาจาของพระเป็นเจ้า และเป็นแบบอย่างของการประกาศพระวรสารทุกรูปแบบโดยพระศาสนจักร “ซึ่งถูกเรียกร้องให้นำพลังแห่งพระวรสารเข้าสู่แก่นแท้ของวัฒนธรรมและสังคม” (CT 53, อ้างถึง EN 20)
“การนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม” (อ้างถึง CT 53, RM 52-54, GS 53, ChL 44a) ที่อาศัยการแลกเปลี่ยนอันยอดเยี่ยมของ “ความมั่งคั่งด้านวัฒนธรรมของชนชาติทั้งหลายที่ได้ถูกนำมาถวายพระคริสตเจ้าในฐานะที่เป็นมรดกตกทอด” (AG 22a) นี้ เป็นกระบวนการที่สมบูรณ์ลึกซึ้งและเป็นการเดินทางที่ยาวนาน (อ้างถึง RM 52b) มันมิได้เป็นเพียงการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างง่ายๆ เพื่อที่จะทำให้สารของพระคริสตเจ้าดูน่าสนใจยิ่งขึ้น หรือสวยงามอย่างผิวเผิน ในทางตรงกันข้ามมันหมายถึงการซึมแทรกของความเชื่อเข้าสู่ชั้นลึกสุดของกลุ่มชนหรือชนชาติต่างๆจนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นผลมาจากพระวรสารที่ได้สัมผัสพวกเขาด้วยความระมัดระวัง “ก็เริ่มเข้าถึงแก่นแท้และรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของพวกเขา” (EN 20, อ้างถึง EN 63, RM 52)
อย่างไรก็ตาม ในภาระหน้าที่นำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมนี้ ในด้านหนึ่งกลุ่มคริสตชนจะต้องมองออกว่าสิ่งใดมีค่าควรแก่การ “รับไว้” (LG 13) เพราะเข้ากันได้กับความเชื่อที่มี ส่วนอีกด้านหนึ่งคือจะต้องหาทาง “ชำระล้าง” (LG 13) และ “เปลี่ยนแปลง” (EN 19) บรรดาหลักเกณฑ์ แนวคิด วิถีทางการดำเนินชีวิตซึ่งขัดกันกับพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า ความสามารถที่จะตัดสินทั้ง 2 ด้านนี้จะต้องมีหลักพื้นฐาน 2 ประการ ควบคุมคือ “ความเข้ากันได้กับพระวรสารและการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรสากล” (RM 54a) ประชากรทั้งหมดของพระเป็นเจ้าจะต้องมีส่วนในกระบวนการนี้ซึ่ง “...จะต้องเกิดขึ้นทีละน้อยในแนวทางที่การนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมนี้จะเป็นการแสดงออกของประสบการณ์คริสตชนของชุมชนจริงๆ” (RM 54b)
110 การนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมนี้มีภาระหน้าที่ในด้านการสอนคำสอนอยู่อย่างเป็นรูปธรรมมากมาย และภาระหน้าที่บางประการที่ต้องกระทำคือ
- การมองดูกลุ่มชนของพระศาสนจักรในฐานะเป็นปัจจัยหลักของการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและแสดงออกถึงความคิดในงานนี้ ก็คือ ครูคำสอน ซึ่งเป็นผู้มีสำนึกในทางศาสนาที่ลึกซึ้ง ทั้งยังมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างขะมักเขม้น และได้รับการปลูกฝังในสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมของเขาเป็นอย่างดี (อ้างถึง Guide for catechist 12)
- การร่างหนังสือคำสอนท้องถิ่นที่จะสนองตอบความต้องการของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน (อ้างถึง CCC 24) และนำเสนอพระวรสารแบบสัมพันธ์กับความหวัง คำถามและปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านี้
- การทำให้ระยะเวลาเรียนคำสอน (ในช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาป) และระบบการสอนคำสอนเข้ามาเป็น “ศูนย์กลางของการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม” เป็นการรวมเอาภาษา สัญลักษณ์ต่างๆ คุณค่าแห่งวัฒนธรรมต่างๆ ที่ผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนและผู้ที่เรียนคำสอนใช้อยู่เข้าด้วยกัน ด้วยความสามารถในการตัดสินใจ “รับไว้” “ชำระล้าง” และ “เปลี่ยนแปลง”
- การเสนอสารแห่งคริสตชนในแนวทางที่จะช่วยเตรียมตัวผู้ที่จะต้องไปประกาศพระวรสารให้สามารถ “บอกเหตุผลต่างๆ สำหรับความหวังของพวกเขา” ( 1ปต 3:15 ) ในหลายๆ วัฒนธรรมของผู้ที่มิใช่คริสตชน หรือผู้ที่เคยเป็นคริสตชนมาก่อน (post-Christian) ปัจจุบันจำต้องมีวิชาพิสูจน์ข้อธรรมอันทรงประสิทธิภาพ (effective apologetics) เพื่อช่วยในการเสวนาระหว่างความเชื่อกับวัฒนธรรม