สารเกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ
103 ข่าวดีเกี่ยวกับพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าที่ประกาศ เรื่องความรอดนั้น รวม “สารแห่งการปล่อยให้เป็นอิสระ” ด้วย (อ้างถึง EN 30-35) ในการเทศน์สอนเรื่องพระอาณาจักรนี้พระเยซูเจ้าทรงตรัสกับคนยากจนในรูปแบบที่พิเศษมาก “ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าเป็นของท่าน ท่านที่หิวเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะอิ่ม ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะว่าท่านจะหัวเราะ” (ลก 6:20-21) เรื่องความสุขแท้จริงของพระเยซูเจ้า (the Beatitude of Jesus) ที่มุ่งไปยังบรรดาผู้ที่ทนทรมานเป็นการประกาศถึงเวลาที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อสิ่งที่พระอาณาจักรจะนำมาให้คือการปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ และยังบันทึกประสบการณ์ความเจ็บปวดที่พระวรสารรับรู้สึกได้ง่ายเป็นพิเศษจริงๆ คือ ความยากจน ความหิวกระหาย และความทุกข์ทรมานของมนุษยชาติ
ชุมชนของบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าคือพระศาสนจักรได้ร่วมรับความรู้สึกในปัจจุบันเช่นเดียวกันกับที่พระอาจารย์เจ้าเองแสดงให้พวกเขาเห็น พระศาสนจักรเบนความสนใจไปที่บรรดาผู้ทุกข์ทรมานด้วยความรู้สึกเป็นทุกข์ใจยิ่งนัก “อย่างที่เราทั้งหลายทราบดีว่า ประชาชนทั้งหลายกำลังต่อสู้อย่างสุดกำลังเพื่อจะเอาชนะสภาพแวดล้อมเหล่านั้นทั้งหมดที่ผลักดันพวกเขาให้มีชีวิตอยู่อย่างหมดหวังในชีวิต คือความอดอยาก ความเป็นโรคเรื้อรัง ความไม่รู้หนังสือ ความยากจน ความอยุติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างชาติ... การล่าเมืองขึ้นแบบใหม่ในทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (อ้างถึง EN 30) ความยากจนทุกรูปแบบ “ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังรวมถึงด้านวัฒนธรรมและด้านศาสนาอีกด้วย” (CA 57, อ้างถึง CCC 2444) เป็นเหตุแห่งความห่วงใยของพระศาสนจักร ในฐานะที่สารแห่งการปล่อยให้เป็นอิสระเป็นส่วนสำคัญแห่งพันธกิจของพระศาสนจักร “พระศาสนจักรมีพันธะในภาระหน้าที่ -ดังที่บรรดาพระสังฆราชทั้งหลายได้เน้นย้ำว่า- ต้องประกาศการปลดปล่อยมนุษย์จำนวนหลายร้อยล้านคนให้เป็นอิสระ ด้วยว่าคนจำนวนมากมายในบรรดาคนเหล่านั้นเป็นลูกของพระศาสนจักร พระศาสนจักรมีหน้าที่ช่วยการปลดปล่อยนี้ เป็นพยานยืนยันความเชื่อ และรับรองว่าจะพัฒนาจนเกิดผลอย่างสมบูรณ์” (EN 30)
104 เพื่อช่วยให้คริสตชนทั้งหลายสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ การสอนคำสอนจึงเลือกให้ความสนใจในหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้
- การสอนคำสอนจะต้องจัดให้สารเรื่องการปล่อยให้เป็นอิสระ เป็น “เป้าหมายของการประกาศพระวรสารซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะในทางศาสนา” อันคือความหวังในอนาคต (EN 32, อ้างถึง SRS 41, RM 58) เพราะว่าการสอนคำสอนคงจะขาดเหตุผลในการดำเนินงานของตนไป หากการสอนคำสอนเองถูกตัดขาดจากพื้นฐานทางศาสนาอันได้แก่เรื่องพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าที่การสอนคำสอนจะต้องรักษาไว้ในแนวทางของเทววิทยาที่สมบูรณ์” (อ้างถึง EN 32) ดังนั้น สารแห่งการปล่อยให้เป็นอิสระ “มิอาจถูกจำกัดไว้ด้วยโลกอันมีขอบเขตจำกัดด้วยเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือคำสั่งสอนในศาสนา แต่จะต้องโอบอุ้มบุคคลอย่างครบถ้วนในทุกด้านที่เขาแสดงออกและทุกส่วนประกอบของชีวิตเขา อีกทั้งต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเขากับความสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งกับองค์สัมบูรณ์ (The Absolute) คือพระเป็นเจ้าด้วย” (EN 33 อ้างถึง LC คำสอนนี้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับการสอนคำสอนเนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ)
- ภายในขอบข่ายการศึกษาด้านศีลธรรม การสอนคำสอนควรจะนำเสนอศีลธรรมทางสังคมแบบคริสตชน อันเป็นดังคำสั่งและผลจาก “การปลดปล่อยให้เป็นอิสระครั้งใหญ่และสำคัญมากที่พระคริสตเจ้าได้ทรงกระทำ” (อ้างถึง LC 71) อันที่จริง ข่าวดีที่บรรดาคริสตชนประกาศยืนยันด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความหวังก็คือ พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้เป็นอิสระแล้ว และก็ยังปลดปล่อยอยู่ต่อไป นี่คือที่มาของธรรมเนียมปฏิบัติแบบคริสตชน อันเป็นการทำให้บัญญัติรักที่ยิ่งใหญ่นั้นสมบูรณ์
- ขณะเดียวกัน ในหน้าที่ของงานธรรมทูตที่นำเข้าสู่ชีวิต คริสตชนซึ่งการสอนคำสอนต้องรับผิดชอบนั้น การสอนคำสอนจะต้องกระตุ้นผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนและบรรดาผู้ที่เรียนคำสอนอยู่ถึงเรื่อง “ทางเลือกที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนยากจน” (SRS 42, CA 57, LC 68, อ้างถึง CCC 2443-2449) ซึ่ง “ไม่ได้เป็นลักษณะของความเห็นแก่ตัวหรือหมู่กลุ่ม” ทำให้ความเป็นสากลของลักษณะและพันธกิจของพระศาสนจักรปรากฏชัดเจน ทางเลือกนี้มิได้ผูกขาดไว้กับใครเป็นการเฉพาะ” (LC 68) แต่แสดงนัยถึง “คำสัญญาที่จะให้ความยุติธรรม” ตามบทบาท กระแสเรียกและสภาพแวดล้อมของแต่ละคน” (SRS 41, อ้างถึง LC 77)