แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางในสารแห่งพระวรสาร
15375498    พระเยซูคริสตเจ้าไม่เพียงแต่ถ่ายทอดพระวาจาของพระเป็นเจ้าเท่านั้น  พระองค์คือ พระวจนาตถ์ของพระเป็นเจ้า  ดังนั้น การสอนคำสอนจึงต้องยึดติดกับองค์พระเยซูเจ้าอย่างสมบูรณ์  ดังนั้น ลักษณะที่สำคัญเหนือสิ่งใดของสารที่การสอนคำสอนจะต้องถ่ายทอดออกมาก็คือ  “ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง” (อ้างถึง CCC 426-429, CT 5-6, GCD (1971) 40)  ซึ่งอาจเข้าใจได้หลายความหมาย

    - ประการแรก “ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง” หมายความว่า  “ที่หัวใจของการสอนคำสอน  เราพบบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานและส่วนสำคัญที่สุด คือ บุคคลที่มีนามว่า “เยซูแห่งนาซาเร็ธ  พระบุตรแต่องค์เดียวของพระบิดา  เปี่ยมล้นไปด้วยพระหรรษทานและความจริง” (CT 5)  อันที่จริง  ภารกิจพื้นฐานของการสอนคำสอนก็คือ การนำเสนอพระคริสตเจ้าและทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระองค์  ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการติดตามองค์พระเยซูและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์  โดยที่ทุกๆองค์ประกอบของสารก็มุ่งให้เกิดสิ่งนี้
    - ประการที่สอง “ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง” หมายความว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็น “ศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แห่งความรอด” (GCD (1971) 41a อ้างถึง GCD (1971) 39,40,44) อย่างที่การสอนคำสอนได้นำเสนอ  โดยแท้จริงแล้วพระองค์ทรงเป็นผลสุดท้ายซึ่งเป็นที่บรรจบของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นทั้งมวล  พระองค์ผู้ทรงเสด็จมา “เมื่อถึงกำหนดเวลาอันควร”  ทรงเป็น “กุญแจ ศูนย์กลางและเป้าหมายแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด” (GS 10)  สารของการสอนคำสอนช่วยให้คริสตชนรู้จักจุดยืนของตนเองในประวัติศาสตร์  และสามารถนำตัวเองเข้าร่วมในประวัติศาสตร์  โดยการแสดงให้เห็นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นเป้าหมายสูงสุดของประวัติศาสตร์นี้
    ยิ่งกว่านั้น ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางยังหมายความว่า สารแห่งพระวรสารมิได้มาจากมนุษย์  แต่เป็นพระวจนาตถ์ของพระเป็นเจ้า  พระศาสนจักรและครูคำสอนทุกคนในนามของพระศาสนจักรสามารถพูดตามความจริงได้ว่า “คำสอนของเราไม่ใช่ของเรา  แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 7:16)  ดังนั้น ทุกสิ่งที่การสอนคำสอนถ่ายทอดนั้น  คือ “คำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า  ความจริงที่พระองค์ทรงถ่ายทอดหรือที่ชัดเจนไปกว่านั้นก็คือ ความจริงที่พระองค์ทรงเป็น” (CT 6)  ความมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางผลักดันให้การสอนคำสอนต้องถ่ายทอดสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า มนุษย์ ความสุข ชีวิตด้านศีลธรรม ความตาย  และอื่นๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงความคิดของพระองค์แต่อย่างใด (อ้างถึง 1คร 15:1-4; EN 15e,f)
     หนังสือพระวรสารทั้งหลายที่เล่าเรื่องชีวประวัติของพระเยซูเจ้า  เป็นสิ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อสารของการสอนคำสอนยิ่งกว่าสิ่งใด  พระวรสารเหล่านี้เองก็มีลักษณะที่ดีในด้าน “โครงสร้างของการสอนคำสอน” (อ้างถึง CT 11b)  ทั้งยังบรรยายถึงคำสอนที่พระองค์ทรงแนะนำบรรดากลุ่มคริสตชนเริ่มแรก  และยังถ่ายทอดชีวประวัติของพระเยซูเจ้า  สารของพระองค์และกิจการไถ่กู้ให้รอดทั้งหลายของพระองค์ด้วย  ในการสอนคำสอน “พระวรสารทั้งสี่เป็นเนื้อหาที่สำคัญเพราะพระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระวรสารเหล่านี้ (CCC 139)