ภาระหน้าที่ขั้นพื้นฐานของการสอนคำสอน คือการช่วยให้รู้จัก ได้เฉลิมฉลอง และไตร่ตรองพระธรรมล้ำลึกของพระคริสต์
85 ภาระหน้าที่ขั้นพื้นฐานของการสอนคำสอน คือ
- การส่งเสริมความรู้เรื่องความเชื่อ
ผู้ที่ได้พบองค์พระคริสต์แล้วก็ปรารถนาจะรู้จักพระองค์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่นเดียวกับที่ปรารถนาจะรู้ถึงแผนการไถ่กู้ที่พระบิดาทรงเผยให้รู้ การยึดมั่นในความเชื่อ (fides qua) เรียกร้องความรู้เกี่ยวกับความเชื่อ (fides quae) (อ้างถึง GCD (1971) 36a) ความรักที่คนหนึ่งมีให้แก่อีกคนหนึ่งนั้นเป็นเหตุให้คนที่ได้รับความรักปรารถนาที่จะรู้จักอีกคนหนึ่งมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสอนคำสอนจะต้องนำไปสู่ “การค่อยๆ เข้าใจความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับแผนการของพระเป็นเจ้า” (อ้างถึง GCD (1971) 24) โดยการนำให้บรรดาศิษย์ของพระเยซูมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกและพระคัมภีร์อันเป็น “ความรู้อันประเสริฐสุดเกี่ยวกับพระคริสต์” (อ้างถึง DV 25a) การสอนคำสอนไม่เพียงบำรุงเลี้ยงชีวิตแห่งความเชื่อ โดยการทำให้ความรู้เรื่องความเชื่อลึกซึ้งขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชีวิตแห่งความเชื่อนั้นมีความรู้และทักษะพอสำหรับการอธิบายตนเองแก่สังคม และสิ่งที่เป็นความสำเร็จของภาระหน้าที่นี้ก็คือ การทำให้เข้าใจความหมายของข้อความเชื่อ ซึ่งเป็นบทสรุปของพระคัมภีร์และความเชื่อของพระศาสนจักร
- การศึกษาเรื่องพิธีกรรม
พระคริสต์ประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ตลอดเวลา โดยเฉพาะใน “การฉลองทางพิธีกรรม” (SC 7) การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์นำไปสู่การฉลองแห่งการเข้าร่วมการไถ่กู้ของพระคริสต์ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิท พระศาสนจักรปรารถนาแรงกล้าที่จะให้คริสตชนทุกคนบรรลุถึงการมีส่วนร่วมอันสมบูรณ์ครบถ้วนโดยสมัครใจและร้อนรน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติแท้จริงของพิธีกรรม (อ้างถึง SC 14) และศักดิ์แห่งสงฆ์โดยศีลล้างบาปเรียกร้อง ด้วยเหตุนี้เอง การสอนคำสอนที่พร้อมจะส่งเสริมความรู้เรื่องความหมายของพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จึงต้องให้การศึกษาแก่บรรดาศิษย์ของพระเยซูคริสต์ “ในเรื่องการอธิษฐานภาวนา การโมทนาคุณ การสำนึกผิด การภาวนาด้วยความไว้วางใจ จิตตารมณ์หมู่คณะ และการเข้าใจความหมายของข้อความเชื่ออย่างถูกต้อง...” (อ้างถึง GCD (1971) 25b) เพราะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตด้านพิธีกรรมที่แท้จริง
- การฝึกอบรมด้านศีลธรรม
การกลับใจมาเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ หมายถึง การดำเนินชีวิตเลียนแบบพระองค์ ดังนั้นการสอนคำสอนต้องถ่ายทอดทัศนคติต่างๆ ของพระอาจารย์เองให้กับบรรดาศิษย์ ด้วยเหตุนี้พวกศิษย์จึงต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยการเข้ามีส่วนร่วมในพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเป็นเจ้า “พวกเขาผ่านจากสภาพมนุษย์เก่าสู่สภาพมนุษย์ใหม่ซึ่งถูกทำให้สมบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า” (AG13) บทเทศน์บนภูเขาซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์เรื่องพระบัญญัติ 10 ประการ และใส่ความรู้สึกแบบที่เป็นความสุขสูงสุดบนสวรรค์ไว้ในพระบัญญัติด้วย (อ้างถึง LG 62) เป็นจุดอ้างอิงสำคัญในการฝึกอบรมด้านศีลธรรม อันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในทุกวันนี้ การประกาศพระวรสารซึ่ง “เกี่ยวพันถึงการประกาศและการนำเสนอหลักศีลธรรม” (VS 107) แสดงพลังทั้งหมดของคำเรียกร้องของการประกาศพระวรสาร โดยที่การประกาศพระวรสารไม่ได้ให้เพียงถ้อยคำที่ถูกประกาศเท่านั้นแต่เป็นถ้อยคำที่ถูกนำไปใช้ในชีวิตด้วย การเป็นพยานยืนยันด้านศีลธรรม ซึ่งถูกเตรียมไว้พร้อมด้วยการสอนคำสอนนี้ ต้องแสดงให้เห็นผลทางสังคมอันเนื่องมาจากข้อเรียกร้องทั้งหลายแห่งพระวรสารเสมอ (อ้างถึง CT 29f)
- การสอนให้รู้จักภาวนา
ความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสตเจ้า นำบรรดาศิษย์ให้มีท่าทีแห่งการภาวนาและการรำพึงอย่างพระอาจารย์ การเรียนรู้เพื่อจะภาวนากับพระเยซูนั้นจะเป็นการภาวนาด้วยความรู้สึกเดียวกันกับที่พระองค์ทรงมีต่อพระบิดา นั่นคือ เคารพ สรรเสริญ ขอบพระคุณ วางใจในฐานะบุตร อ้อนวอนและยำเกรงในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เราใคร่ครวญความรู้สึกทั้งหมดนี้ในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นการภาวนาที่พระเยซูได้สอนศิษย์ และเป็นแบบอย่างของการภาวนาทั้งหลายของคริสตชน “การมอบบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (RCIA 25, 188-191) เป็นการสรุปรวมของพระวรสารทั้งหมด (อ้างถึง CCC 2761) ดังนั้น จึงเป็นงานที่แท้จริงของการสอนคำสอน เมื่อใดที่การสอนคำสอนมีบรรยากาศแห่งการภาวนาแทรกซึม ก็ทำให้เหมือนว่าชีวิตคริสตชนทั้งครบบรรลุถึงจุดสูงสุดของชีวิต บรรยากาศนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ เมื่อผู้เตรียมเป็นคริสตชนและผู้เรียนคำสอนต้องเผชิญกับการเรียกร้องของพระวรสาร และเมื่อพวกเขารู้สึกอ่อนแอ หรือเมื่อพวกเขาค้นพบกิจการอันลึกลับของพระเป็นเจ้าในชีวิตของพวกเขา