แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การงานและรูปแบบต่างๆ ของศาสนบริการด้านพระวาจา


51        การงานที่สำคัญของศาสนบริการด้านพระวาจามีดังต่อไปนี้
- เรียกบุคคลให้มาร่วมกันและเชื่อ
    งานนี้เป็นการแสดงถึงอำนาจในการเผยแผ่ธรรมซึ่งได้รับมอบโดยตรงจากพระเยซูเจ้า  เราจะเข้าใจงานนี้ได้โดยมองผ่าน “การประกาศพระวรสารขั้นแรก”  ซึ่งมุ่งไปยังผู้ที่ไม่มีความเชื่อ  บรรดาบุคคลที่เลือกจะไม่เชื่อ  บรรดาคริสตชนที่ดำเนินชีวิตแบบเหินห่างจากชีวิตคริสตชน  บรรดาผู้ที่เชื่อถือศาสนาอื่นๆ  (EN 51-53)  การตื่นตัวในเรื่องศาสนาของบุตรหลานในครอบครัวคริสตชนก็เป็นรูปแบบที่สำคัญของการงานนี้

- การเริ่มต้น (Initiation)
    ผู้ที่รับพระพรให้ตัดสินใจติดตามพระเยซูเจ้า  “จะได้รับการสอนให้รู้จักชีวิตแห่งความเชื่อ  พิธีกรรมและความรักแห่งประชากรของพระเป็นเจ้า” (AG 14) พระศาสนจักรกระทำการงานนี้เป็นพื้นฐาน  ด้วยการสอนคำสอน ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นทั้งแก่บุคคลที่ยังไม่ได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์แล้ว  รูปแบบที่สำคัญของงานรวมถึงเรื่องการสอนคำสอนผู้ใหญ่ที่ยังมิได้รับศีลล้างบาปในระยะเวลาเตรียมตัวเป็นคริสตชน  การสอนคำสอนผู้ใหญ่ที่ล้างบาปแล้ว ซึ่งประสงค์กลับมาถือความเชื่อ  หรือผู้ที่ต้องการทำให้การเริ่มต้นของเขาสมบูรณ์   การสอนคำสอนเด็กๆ และเยาวชน ก็มีลักษณะของการเริ่มต้น    การอบรมชีวิตคริสตชนในครอบครัวและการสอนคริสตศาสนาในโรงเรียนก็เป็นการงานแบบการเริ่มต้นด้วย
- การศึกษาเรื่องความเชื่ออย่างต่อเนื่อง
    ในหลายภูมิภาค มีการเรียกการงานในขั้นนี้ว่า “การสอน คำสอนแบบถาวร”  (Pastores dabo vobis...n71: AAS 84 (1992) pp.729 ff; 782-783)  การสอนคำสอนแบบนี้มุ่งให้บรรดาคริสตชนผู้ได้เริ่มเข้าสู่องค์ประกอบพื้นฐานของความเชื่อคริสตชน  แต่ยังต้องการบำรุงเลี้ยงความเชื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและลึกซึ้งขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตของเขา  งานนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยรูปแบบที่หลากหลาย  ได้แก่ แบบที่เป็นระบบและเฉพาะกาล  จัดสำหรับแต่ละคนและสำหรับกลุ่มชน  แบบองค์กรที่มีข้อผูกมัดแน่นอน หรือตามความสมัครใจ” (GCD (1971) 19d)
- บทบาทในพิธีกรรม
    ศาสนบริการด้านพระวาจา ยังคงมีบทบาทในพิธีกรรม  เพราะเมื่อพิจารณาในบริบทของกิจการศักดิ์สิทธิ์  มันคือส่วนร่วมอันสำคัญของกิจการนั้น (อ้างถึง SC 35; CCC 1154)  โดยอาศัยรูปแบบต่างๆ  แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดท่ามกลางรูปแบบเหล่านั้นก็คือ   การเทศน์พระคัมภีร์  ส่วนรูปแบบอื่นๆ ในขอบข่ายพิธีกรรมประกอบด้วย การฉลองพระวาจาและคำสอนที่รับระหว่างพิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ   อีกประการหนึ่งคือ  การกล่าวในพิธีนั้นต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การฉลองสิ่งคล้ายศีล และเหนือสิ่งอื่นใด คือเรื่องการมีส่วนร่วมของสัตบุรุษในพิธีบูชาขอบพระคุณ  ในฐานะที่เป็นวิธีการเบื้องต้นของการให้การศึกษาเรื่องความเชื่อ
- บทบาทในเทววิทยา
    การงานนี้เป็นไปเพื่อพัฒนาความเข้าใจในเรื่องความเชื่อ  และต้องตั้งอยู่ในพลังของ “fides  quaerens  intellectum”  ซึ่งก็คือ ความเชื่อที่แสวงหาความเข้าใจ  เพื่อทำให้งานนี้สำเร็จไปเทววิทยาจำต้องเผชิญกับรูปแบบการคิดทางปรัชญา  รูปแบบหลากหลายของฮิวแมนิสซึม (คำว่า humanism มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับคำที่มาประกอบ แต่อาจสรุปแบบง่ายได้ว่า เป็นหนึ่งในระบบความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลและชีวิตสำหรับกลุ่มคนที่คิดขึ้นมาเพื่อพวกเขาเอง จาก What is Humanism? โดย Frederick Edwords , Executive Director, American Humanist Association) และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์  และการเสวนากันกับแนวคิดต่างๆ ดังกล่าว งานนี้จะได้รับการพูดถึงอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อมีการส่งเสริม  “การอธิบายเป็นระบบวิชาการ และการค้นคว้าแบบวิชาการในเรื่องความจริงต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อ (GCD(1971) 17, อ้างถึง GS 62g)

52    รูปแบบสำคัญๆ ของศาสนบริการด้านพระวาจา คือการป่าวประกาศครั้งแรก  หรือการสั่งสอนแบบธรรมทูต  การสอนคำสอนก่อนและหลังรับศีลล้างบาป  รูปแบบต่างๆ ในพิธีกรรม  และรูปแบบต่างๆ ทางเทววิทยา  ดังนั้น สิ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยสำหรับเหตุผลต่างๆทางการอภิบาล คือ รูปแบบสำคัญๆ ของศาสนบริการด้านพระวาจาต้องปรากฏการงานมากกว่าหนึ่งอย่าง  ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่การสอนคำสอนพร้อมด้วยรูปแบบต่างๆ ของการเริ่มต้นก็ได้ทำให้งานการเผยแผ่ธรรมสำเร็จไปด้วย   การเทศน์พระคัมภีร์เดียวกันสามารถเป็นทั้งการงานของการชุมนุมทางศาสนาและของการเริ่มต้นที่สมบูรณ์ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์