แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา


ข่าวดี    ยอห์น 14:23-29
(23)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา (24)ผู้ที่ไม่รักเรา ก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา วาจาที่ท่านได้ยินนี้ไม่ใช่วาจาของเรา แต่เป็นของพระบิดา ผู้ทรงส่งเรามา (25)เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน (26)แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้นจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน (27)เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน เราให้สันติสุขกับท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย (28)ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา (29)และบัดนี้เราได้บอกท่านทั้งหลายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ



    ระหว่างคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า ยูดาส ซึ่งเป็นคนละคนกับยูดาส อิสคาริโอท ได้ทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ทำไมพระองค์ทรงต้องการแสดงพระองค์แก่พวกเรา แต่ไม่แสดงพระองค์แก่โลก” (ยน 14:22)
    คำถามนี้คือที่มาของคำตอบที่พระวรสารวันนี้กล่าวถึง !
พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา  พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา  ผู้ที่ไม่รักเรา ก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา” (ยน 14:23-24)
ฟังดูเหมือนยูดาสถามอย่างหนึ่ง แต่พระองค์กลับตอบอีกอย่างหนึ่ง !
อันที่จริง พระองค์กำลังตอบคำถามของยูดาส โดยทรงให้เหตุผลที่แสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ แต่ไม่ทรงแสดงพระองค์แก่โลก ไว้ดังนี้
1.    เพราะบรรดาศิษย์ “รัก” พระเยซูเจ้า แต่โลกไม่รักพระองค์
    2.    เมื่อรักพระเยซูเจ้า บรรดาศิษย์จึง “นบนอบ” ด้วยการ “ปฏิบัติตามวาจา” ของพระองค์
    “ความนบนอบ” คือเครื่องพิสูจน์ “ความรัก”  เมื่อโลกไม่รักพระองค์ โลกจึงไม่นบนอบและไม่ปฏิบัติตามวาจาของพระองค์
    เป็นความจริงว่า เมื่อเรารักและปฏิบัติตามวาจาของพระองค์ เราจะยิ่งค้นพบความหมายและความลึกซึ้งของพระวาจา และในเวลาเดียวกันเราจะยิ่งรู้จักและรักพระองค์เพิ่มพูนมากขึ้น เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป
    เรียกว่า ยิ่งเรารักพระองค์มากเท่าใด พระองค์จะยิ่งแสดงพระองค์ให้เรารู้จักมากขึ้นเท่านั้น !
    ประสบการณ์ชีวิตสอนเราเหมือนกันว่า หากเรารักผู้ใด เราย่อมยินดีและเต็มใจปฏิบัติตามคำสอนของผู้นั้น และที่สำคัญเราสามารถ “ซึมซับ” ความรู้สึกนึกคิดของผู้นั้นได้ด้วย
    ตรงกันข้าม หากขาดเสียซึ่งความรักและศรัทธา เราอาจเรียนรู้หนังสือตำราของผู้นั้นได้ แต่เราไม่มีทาง “ซึมซับ” หรือ “รู้จัก” ตัวตนที่แท้จริงของเขาได้เลย
    ด้วยเหตุนี้ หลังกลับคืนชีพจากความตาย พระเยซูเจ้าจึงไม่ได้แสดงพระองค์แก่บรรดาธรรมาจารย์ พวกฟาริสี หรือแม้แต่ชาวยิวที่เป็นศัตรูกับพระองค์เลย  ด้วยทรงตระหนักดีว่าอย่างไรเสียพวกเขาก็ไม่ยอมปฏิบัติตามวาจาของพระองค์ และไม่มีทางซึมซับหรือรับรู้ได้เลยว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด
    แต่กับบรรดาศิษย์ที่รักและนบนอบพระองค์  พระองค์ทรงแสดงพระองค์แก่พวกเขาหลายครั้งหลายหน !
    จนกระทั่งพวกเขาเชื่อและวางใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า !
อนึ่ง การเผยแสดงของพระองค์นั้นส่งผลใหญ่หลวงยิ่งนัก  เพราะ “ทั้งพระบิดาและพระบุตร” จะทรง “รัก”, เสด็จ “มาหา”, และทรง “พำนัก” อยู่กับผู้ที่รักพระองค์ (ยน 14:23)
จากที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า  มาบัดนี้ ผู้ที่รักและปฏิบัติตามวาจาของพระองค์ จะได้พบพระเจ้าแบบ “ตัวเป็น ๆ” กันเลย !    
การที่พระเจ้าเสด็จมาหาเรา ย่อมแปลว่าพระองค์ทรงเป็น “มิตร” กับเรา
และการที่พระองค์ทรงพำนักอยู่กับเรา ย่อมแปลว่าเราเป็น “หนึ่งเดียว” กับพระองค์
เมื่อมีพระเจ้าเป็นมิตรกับเรา และเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์เช่นนี้  ชีวิตของเราย่อมมีความสุขและความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด !
     มีอะไรที่เราต้องกลัวอีกหรือ ?  แม้แต่ความตาย หรือการต้องเผชิญหน้ากับผู้พิพากษาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความยุติธรรม ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป....
เพราะพระองค์ทรงเป็นมิตรกับเรา และเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ !
    ตรงกันข้าม...
     โลกซึ่ง “ไม่รักพระองค์ และไม่ปฏิบัติตามวาจาของพระองค์”  พระองค์จะไม่ทรงเผยแสดงพระองค์แก่พวกเขา (ยน 14:24)
    นี่คือความสูญเสียยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะ...
    เขาสูญเสียโอกาสที่จะเป็นมิตรและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า !!!
------------------
    นอกจากทรงตรัสถึงการแสดงพระองค์แก่ผู้ที่รักและปฏิบัติตามวาจาของพระองค์แล้ว  พระเยซูเจ้ายังตรัสถึง “พระผู้ช่วยเหลือ”  ซึ่งได้แก่ “พระจิตเจ้า” โดยทรงกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของพระองค์ไว้ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ (ยน 14:26)
    1.    สอน  พระองค์ตรัสว่าพระจิต “จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง”
         ไม่มีสิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงสอน
ไม่มีเวลาใดที่พระองค์จะหยุดพัก
พระองค์ทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา สัปดาห์ละ 7 วัน วันละ 24 ชั่วโมง !
         เราคริสตชนจึงมีหน้าที่ “เรียนรู้” ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า และทำให้ความรู้นั้น “ลึกซึ้ง” เพิ่มมากขึ้นทุกวันจน “ตลอดชีวิต”
         ไม่มีคำแก้ตัวใด ๆ สำหรับการปิดหู ปิดตา หรือปิดใจไม่ทำให้ความเชื่อของเราลึกซึ้งมากขึ้น  เพราะพระองค์ทรงส่ง “พระจิต” มาสอนเราแล้ว
           ดังนั้น ผู้ที่พูดว่าตนเองเรียนรู้หลักธรรมคำสอนครบถ้วนแล้ว  จึงฟันธงได้เลยว่า เขาผู้นั้นยังไม่รู้แม้แต่บทบาทและหน้าที่ของพระจิตเจ้าว่าคืออะไร !
    2.    ทำให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอน
        2.1    เกี่ยวกับความเชื่อ พระจิตเจ้าทรงช่วยให้เราระลึกถึงความจริงที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วเมื่อสองพันปีก่อน
            หน้าที่ของเราจึงไม่ใช่การค้นหาความจริงใหม่นอกเหนือจากที่พระองค์ตรัสสอน  แต่เป็นการวอนขอพระจิตเจ้าโปรดให้เรา “ระลึก” ได้ และ “เข้าใจ” ความหมายของความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าที่พระองค์ทรงสอนไว้
            เหมือนที่พระองค์ทรงช่วยบรรดาอัครสาวกให้เข้าใจความหมายของความรอดโดยทางพระเยซูเจ้า เมื่อคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับคำสอนผิด ๆ อย่างเช่น “ถ้าท่านมิได้รับพิธีเข้าสุหนัตตามจารีตของโมเสส ก็จะเอาตัวรอดมิได้” (กจ 15:1-2, 22-29)
        2.2    เกี่ยวกับความประพฤติ   พระจิตเจ้าทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามหนทางของพระเยซูเจ้า
             ทุกคนคงเคยได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์มาแล้วไม่มากก็น้อย เช่น เมื่อถูกล่อลวงและกำลังจะทำผิดอยู่รอมร่อ  จู่ๆ พระวาจาของพระเยซูเจ้าก็ดี  ข้อความบางตอนจากพระคัมภีร์ก็ดี  รูปภาพของแม่พระก็ดี  คำพูดของคนที่เรานับถือก็ดี  หรือคำสอนที่เคยเรียนสมัยเด็กก็ดี  เกิดผุดขึ้นมาในความคิดของเรา และช่วยให้เรารอดพ้นจากการล่อล่วงนั้น
             นี่แหละ ผลงานของพระจิตเจ้า !
------------------
มรดกชิ้นสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าทรงมอบแก่บรรดาศิษย์ก่อนจากโลกนี้ไปคือ “สันติสุข” ดังที่ทรงตรัสว่า “เราให้สันติสุขของเรากับท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้” (ยน 14:27)
สันติสุขของพระองค์ไม่เหมือนที่โลกให้ เพราะสิ่งที่โลกหยิบยื่นให้คือ “การหนี” หรือ “การรอดพ้น” จากปัญหา
ยิ่งหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคได้มากเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น !
แต่ “สันติสุข” ของพระองค์ไม่ได้อยู่ที่ “การหนี” ปัญหา แต่อยู่ที่การ “พิชิต” ปัญหา !
อาศัยการเผชิญหน้ากับปัญหา ต่อสู้กับปัญหา และพิชิตปัญหาเท่านั้นที่จะทำให้เราบรรลุสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือ “สันติสุข” (shalōm - ชาโลม) ที่พระองค์ทรงมอบแก่เราได้
เป็นสันติสุขเที่ยงแท้และถาวรชนิดที่ไม่มีสิ่งใดสามารถพรากไปจากเราได้ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า หรือภยันตรายใด ๆ ก็ตาม
------------------
ที่สุดพระเยซูเจ้าทรงตรัสถึงจุดหมายปลายทางของพระองค์เองว่า “ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 14:28)
การกลับไปเฝ้าพระบิดาเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ที่รักพระองค์เพราะว่า พระองค์กำลังก้าวพ้นจากข้อจำกัดต่าง ๆ ของโลกนี้ไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดา
พระบิดาผู้ยิ่งใหญ่กว่าทุกคนและทุกสิ่ง !
เช่นเดียวกัน เราคริสตชนต้องมีความเชื่อมั่นดุจเดียวกับพระเยซูเจ้า นั่นคือมีความยินดีเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักของเรากลับไปหาพระบิดา
จริงอยู่ เราเสียใจกับการสูญเสีย
แต่ท่ามกลางความเสียใจ เราต้องยินดีที่ท่านได้ผ่านความทุกข์ยากและการทดลองต่าง ๆ นานามากมายตลอดชีวิต  และบัดนี้ ท่านได้จากโลกนี้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ท่านไม่ได้มุ่งหน้าไปสู่ความตาย แต่ไปสู่ชีวิตนิรันดร !