แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา



ข่าวดี    ลูกา 17:11-19
    (11)ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น พระองค์เสด็จผ่านแคว้นสะมาเรียและกาลิลี  (12)เมื่อเสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนโรคเรื้อนสิบคนเข้ามาเฝ้าพระองค์ ยืนอยู่ห่างพระองค์  (13)ร้องตะโกนว่า ‘พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด’  (14)พระองค์ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสกับเขาว่า ‘จงไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะเถิด’ ขณะที่เขากำลังไป เขาก็หายจากโรค  (15)คนหนึ่งในสิบคนนี้ เมื่อพบว่าตนหายจากโรคแล้ว ก็กลับมา พลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า  (16)ซบหน้าลงแทบพระบาท ขอบพระคุณพระองค์ เขาผู้นี้เป็นชาวสะมาเรีย  (17)พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ‘ทั้งสิบคนหายจากโรคมิใช่หรือ อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า  (18)ไม่มีใครกลับมาถวายพระเกียรติแด่พระเจ้านอกจากคนต่างชาติคนนี้หรือ



สมัยก่อน โรคเรื้อนถือว่าน่ากลัวที่สุด เพราะลำพังความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดจากโรคก็นับว่าสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว แต่สังคมยังซ้ำเติมผู้ป่วยให้ตายทั้งเป็นเข้าไปอีก
กฎหมายยิวกำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเป็นโรคผิวหนังติดต่อได้ ต้องสวมเสื้อผ้าขาด ไม่โพกศีรษะ และปิดหน้าส่วนล่าง  ร้องตะโกนว่า ‘มีมลทิน มีมลทิน’” (ลนต 13:45) และ “ต้องแยกไปอยู่นอกค่าย” (ลนต 13:46; กดว 5:3)
ในสมัยกลาง พระสงฆ์จะสวมสโตลาพร้อมกางเขน แห่นำผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าวัดและทำพิธีปลงศพให้ราวกับว่าเขาตายแล้ว

น่าสงสารที่คนโรคเรื้อนถูกสังคมรังเกียจ และโดดเดี่ยวจริง ๆ !
    ในสมัยพระเยซูเจ้า คนโรคเรื้อนถูกห้ามเข้าทุกเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบซึ่งรวมถึงกรุงเยรูซาเล็มด้วย  พวกเขาจึงต้องดักพบพระองค์ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งนอกกรุงเยรูซาเล็ม
แม้เมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ พวกเขายังต้อง “ยืนอยู่ห่างพระองค์” (ลก 17:12) เพราะพวกรับบีห้ามคนโรคเรื้อนเข้าใกล้เกินกว่า 6 ฟุต  ยิ่งถ้าคนโรคเรื้อนอยู่เหนือลมยิ่งต้องถอยห่างออกไปอีกไม่น้อยกว่า 150 ฟุต
    ที่น่าสังเกตคือในบรรดาผู้ป่วยโรคเรื้อนทั้งสิบคน มีอย่างน้อยคนหนึ่งเป็นชาวสะมาเรีย (ลก 17:16)
ปกติ ชาวยิวกับชาวสะมาเรียจะไม่ติดต่อคบค้าสมาคมกัน แต่เมื่อเป็นโรคร้ายเหมือนกัน อุปสรรคด้านเชื้อชาติที่เคยแยกพวกเขาออกจากกันก็ถูกทำลายลง
พวกเขาลงเรือลำเดียวกัน ไม่มีใครคิดแยกแยะเชื้อชาติอีกต่อไป  สิ่งเดียวที่พวกเขาตระหนักถึงคือ “ทุกคนต่างต้องการความช่วยเหลือ”
เช่นเดียวกับสัตว์ยามน้ำท่วม พวกมันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบบนผืนดินแห้งพ้นน้ำที่แคบนิดเดียว  ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วพวกมันไล่ฆ่ากัน
    นี่คือ “กฎแห่งชีวิต” โดยแท้ !
    ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้าหากันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็คือ “ความต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า” !

    เมื่อคนโรคเรื้อนร้องตะโกนว่า “‘พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด’ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสกับเขาว่า ‘จงไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะเถิด’” (ลก 17:13-14)
    กฎหมายกำหนดว่า “ผู้ที่หายจากโรคผิวหนังติดต่อได้ ผู้นั้นจะถูกนำไปพบสมณะ” (ลนต 14:2)
    ขั้นตอนคือ สมณะจะออกไปนอกค่ายเพื่อตรวจว่าผู้นั้นหายแล้วหรือไม่  หากเห็นว่าหายแล้ว สมณะจะประพรมเลือดนกบนตัวเขาเจ็ดครั้ง  ให้เขาชำระเนื้อตัวจนสะอาด แล้วกลับเข้าค่ายได้ แต่ยังต้องนอนแยกต่างหากจากผู้อื่น
    วันที่เจ็ด ให้โกนศีรษะ หนวดเครา และขนทั้งหมดอีกครั้ง (เพื่อตรวจสอบว่าแผลหายสนิท) แล้วอาบน้ำ เป็นอันพ้นมลทิน
    วันที่แปด สมณะจะทำพิธีชำระมลทินด้วยการฆ่าสัตว์เป็นเครื่องเผาบูชา พร้อมกับเผาธัญบูชา (แป้งสาลีอย่างดีหกกิโลกรัมผสมกับน้ำมันมะกอก) บทพระแท่น เป็นอันเสร็จพิธีการ
    จะเห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้พวกเขาปฏิบัติตามขั้นตอนเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์สมัยนั้นจะคิดค้นขึ้นมาได้ !!
    เพราะฉะนั้น เราจะรออัศจรรย์จากพระเจ้าให้หายจากโรคร้าย โดยที่ตัวเราเองไม่ออกแรงหรือไม่พยายามใช้เทคโนโลยีเท่าที่อำนวยเลยไม่ได้ เช่น ไม่ยอมพบแพทย์ ไม่กินยา ไม่ออกกำลังกาย ไม่อดอาหารตามแพทย์สั่ง ฯลฯ
เหตุว่า อัศจรรย์คือความร่วมมือกันระหว่างพระหรรษทานของพระเจ้ากับตัวเราผู้มีความเชื่อ !
ไม่ใช่ปล่อยให้พระเจ้าทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว !

    ไม่มีเหตุการณ์ใดที่สะท้อนให้เห็นความอกตัญญูของมนุษย์ได้ชัดเจนเท่าครั้งนี้  คนโรคเรื้อนไปเฝ้าพระเยซูเจ้าด้วยความสิ้นหวัง  แต่เมื่อหายจากโรค มีเพียงคนเดียวที่กลับมา “พลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า ซบหน้าลงแทบพระบาท ขอบพระคุณพระองค์” (ลก 17:15-16)
    หนึ่งในสิบเท่านั้นที่กตัญญู !
    ทำไม “ความกตัญญู” ช่างหาได้ยากเย็นปานฉะนี้ ?
    แรกสุด เราไม่กตัญญูต่อพระเจ้า
    ยามทุกข์ร้อน เราสวด สวด แล้วก็สวด
    นอกจากสวดถี่ยิบแล้ว บางคนยังร่อนไปจาริกแสวงบุญตามวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในและต่างประเทศเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างร้อนรน
    แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความทุกข์ร้อนจางหายไป ตัวเราก็พลอยหายหน้าไปจากพระองค์ด้วย !
    หลายคนมีอาหารกินครบสามมื้อ แต่ไม่เคยเอ่ยปากขอบคุณพระองค์สักคำ !
    พระองค์ประทานพระบุตรแต่เพียงองค์เดียวเพื่อเรา มีสักกี่คนที่ขอบพระคุณพระองค์ ?
    อนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าวิธีขอบคุณพระเจ้าที่ดีที่สุดคือ พยายามทำให้ตัวเราสมได้รับพระพรและพระเมตตาของพระองค์ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น

    ประการที่สอง เราไม่กตัญญูต่อบิดามารดา
    ตั้งแต่เป็นทารก หากบิดามารดาละสายตาจากเราแม้เพียงชั่วครู่ เราอาจไม่มีวันนี้
    ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาสิ่งมีชีวิตด้วยกัน มนุษย์ใช้เวลานานที่สุดกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้  กี่ปีกี่เดือนกันที่เราต้องพึ่งพาบิดามารดาในทุกเรื่อง ?
    แต่วันนี้ หลายคนมองบิดามารดาของตนเป็นคนแก่ที่น่ารำคาญ น่าเบื่อ หัวดื้อ พูดจาไม่รู้เรื่อง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนมองพ่อแม่บังเกิดเกล้าของตนเองแท้ ๆ เป็นดั่ง “ภาระ” ที่ต้องส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุรับช่วงดูแลต่อไป
    อย่างนี้นี่เล่า สถานสงเคราะห์ สถานรับฝากหรือรับเลี้ยงผู้สูงอายุจึงพากันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
    อย่างนี้ยังสมควรจะได้ชื่อว่า “ลูก” อยู่อีกหรือ ?

    ประการสุดท้าย     เราไม่กตัญญูต่อเพื่อนมนุษย์
    น้อยคนยิ่งนักที่ไม่เคยเป็นหนี้บุญคุณคนอื่น
    ครูบาอาจารย์ไม่เคยประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่เราบ้างเลยหรือ ?
ตำรวจและทหารไม่เคยพิทักษ์ปกป้องชีวิตและแผ่นดินของเราบ้างเลยหรือ ?
แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยให้เราเจ็บปวดน้อยลง หายจากโรคเร็วขึ้น หรือมีชีวิตยืนยาวขึ้นบ้างเลยหรือ ?
หรือเพื่อนของเราไม่เคยทำอะไรดี ๆ เพื่อเราบ้างเลยหรือ ?
    เราเคยตอบแทนบุญคุณของพวกเขาบ้างไหม ?
    หรือว่าไม่เคยแม้แต่จะคิด !!!