แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    ลูกา 18:1-8
(1)พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องอุปมาเรื่องหนึ่งแก่บรรดาศิษย์เพื่อสอนว่าจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย  (2)พระองค์ตรัสว่า ‘ผู้พิพากษาคนหนึ่งอยู่ในเมืองหนึ่ง เขาไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด  (3)หญิงม่ายคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นด้วย นางมาพบเขาครั้งแล้วครั้งเล่าพูดว่า “กรุณาให้ความยุติธรรมแก่ดิฉันสู้กับคู่ความเถิด”  (4)ผู้พิพากษาผู้นั้นไม่ยอมทำตามที่นางขอร้องจนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จึงคิดว่า “แม้ว่าฉันไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด  (5)แต่เพราะหญิงม่ายผู้นี้มาทำให้ฉันรำคาญ ฉันจึงจะให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อมิให้นางรบเร้าฉันอยู่ตลอดเวลา”’  (6)องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘จงฟังคำที่ผู้พิพากษาอธรรมคนนั้นพูดซิ  (7)แล้วพระเจ้าจะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ  พระองค์จะไม่ทรงช่วยเขาทันทีหรือ  (8)เราบอกท่านทั้งหลายว่าพระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่เขาโดยเร็ว แต่เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ’


    พระเยซูเจ้าทรงระบุวัตถุประสงค์ในการเล่าอุปมาเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนคือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” (ลก 18:1)
    “เสมอ” ตรงกับภาษากรีก pántote (พานตอแต) บ่งบอกถึงการภาวนาโดยสม่ำเสมอด้วยความพากเพียร  ต่างจาก ádialeíptōs (อาดีอาเลฟโตส) ใน 1 ธส 5:17 ซึ่งหมายถึงการภาวนาโดยไม่รู้จักหยุด
    แปลว่า พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้เราภาวนายืดยาวไม่รู้จักหยุด แต่ทรงปรารถนาให้เราภาวนาบ่อย ๆ ด้วยความสม่ำเสมอและพากเพียรไม่ท้อถอย !!

    ผู้พิพากษา ในอุปมาเรื่องนี้ไม่ใช่ชาวยิวแน่นอน เพราะชาวยิวไม่นิยมนำคดีความขึ้นศาลให้ผู้พิพากษาตัดสิน แต่จะนำไปให้ผู้อาวุโสชี้ขาด  และในการพิจารณาคดีของชาวยิว ผู้อาวุโสต้องประกอบด้วยองค์คณะอย่างน้อย 3 คน คนหนึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายโจทก์ อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายจำเลย ส่วนคนที่สามได้รับการแต่งตั้งโดยอิสระ เหมือนระบบอนุญาโตตุลาการในบ้านเรา
    สันนิษฐานว่าผู้พิพากษาคนนี้เป็นหนึ่งในบรรดาข้าราชการที่แต่งตั้งโดยโรมหรือกษัตริย์เฮโรดให้ทำหน้าที่พิพากษา ซึ่งผลงานของพวกเขาขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องการรับสินบน  หากโจทก์ไม่จ่ายสินบนก็อย่าหวังเลยว่าคดีจะคืบหน้า  และบางครั้งพวกเขาบิดเบือนความยุติธรรมเพื่อแลกกับเนื้อเพียงจานเดียว
     ชาวยิวเอือมระอากับพฤติกรรมของผู้พิพากษากลุ่มนี้ ถึงกับล้อเลียนพวกเขาด้วยการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งทางการจาก Dayyaneh Gezeroth (ดัยยาเนห์ เกเซรอธ) ซึ่งหมายถึง “ผู้พิพากษาลงโทษ” เป็น Dayyaneh Gezeloth (ดัยยาเนห์ เกเซลอธ) เพื่อหมายถึง “ผู้พิพากษาโจร”
    หญิงม่าย เป็นสัญลักษณ์ของคนยากจนและปกป้องตัวเองไม่ได้  พระเจ้าจึงเอาพระทัยใส่พวกนางเป็นพิเศษถึงกับตรัสสั่งว่า “ท่านจะต้องไม่ข่มเหงหญิงม่ายหรือลูกกำพร้า ถ้าท่านข่มเหงเขา เขาจะร้องขอความช่วยเหลือจากเรา เราจะฟังเสียงร้องขอของเขาอย่างแน่นอน เราจะโกรธมาก และจะฆ่าท่านให้ตายในสงคราม ภรรยาของท่านจะต้องเป็นม่าย และลูกของท่านจะเป็นกำพร้า” (อพย 22:21-23)
     นักบุญยากอบเสริมว่า “ความเลื่อมใสศรัทธาบริสุทธิ์และไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าพระบิดา คือการเยี่ยมเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน” (ยก 1:27)
    แต่เนื่องจากผู้พิพากษาคนดังกล่าว “ไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด” (ลก 18:2) กอปรกับหญิงม่ายไร้ทั้งเงินและอิทธิพล จึงดูเหมือนว่านางหมดหวังโดยสิ้นเชิงที่จะได้รับความยุติธรรมจากผู้พิพากษาคนนี้
    กระนั้นก็ตาม สิ่งเดียวที่นางมีคือความเพียร !
นางมาพบผู้พิพากษาครั้งแล้วครั้งเล่าพูดว่า “กรุณาให้ความยุติธรรมแก่ดิฉันสู้กับคู่ความเถิด” (ลก 18:3)
เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้พิพากษาคนนั้นจึงคิดว่า “แม้ว่าฉันไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด  แต่เพราะหญิงม่ายผู้นี้มาทำให้ฉันรำคาญ ฉันจึงจะให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อมิให้นางรบเร้าฉันอยู่ตลอดเวลา” (ลก 18:4-5)
เขายอมจำนนต่อความเพียรของนาง !
    
อุปมาเรื่องนี้ไม่ต้องการเปรียบเทียบความ “เหมือน”  แต่ต้องการชี้ให้เห็นความ “แตกต่าง” อย่างสุดขั้วระหว่างพระเจ้ากับผู้พิพากษาอธรรม
    ประเด็นแรก ผู้พิพากษาในอุปมาเป็นคนโลภ รับสินบน บิดเบือนความจริง หากินบนความทุกข์ร้อนของคนอื่น
     ส่วนพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา  พระองค์ทรงเป็นองค์ความดีบริบูรณ์อย่างไม่มีขอบเขต
    ประเด็นที่สอง ผู้พิพากษาไม่รู้จักหญิงม่ายผู้ยากจนและต่ำต้อยคนนี้มาก่อน จึงไร้ความผูกพันอันใดต่อกันทั้งสิ้น
     ส่วนเราเป็นบุตรของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเลือกสรร  มีหรือที่พระองค์จะทอดทิ้งหรือไม่รักและหวงแหนเรา ?
    ในเมื่อผู้พิพากษาอธรรมยังยินยอมให้ความยุติธรรมแก่หญิงม่ายเพราะทนความเพียรของนางไม่ได้  ไหนเลยพระเจ้าผู้ทรงเป็น “บิดา” ที่รักและห่วงใยลูก จะไม่เต็มพระทัยมอบทุกสิ่งที่ลูกต้องการดอกหรือ ?
    คำถามนี้ไม่ต้องเดาคำตอบเลย เพราะพระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่าพระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่เขาโดยเร็ว” (ลก 18:8)
     “โดยเร็ว” ตรงกับคำกรีก táchei (ตาเคิย) หมายถึง “ในไม่ช้า” หรือ “ในเวลาอันสั้น” ไม่ใช่หมายถึง “ทันที” (เทียบ กจ 12:7; 22:18; 25:4)
    จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะคาดหวังว่า “ขอปุ๊บต้องได้ปั๊บ”  แล้วพาลบ่นว่าพระเจ้าว่าทำไมไม่สดับฟังคำอธิษฐานภาวนาของเราสักที !
    อย่าลืมว่าพระเจ้าทรงมีเหตุผลที่ “ดีที่สุด” สำหรับเราเสมอ...
    บ่อยครั้งไปที่พ่อแม่ปฏิเสธคำขอของลูกเพราะรู้ดีว่าสิ่งที่ขอนั้นก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี เช่นลูกขอเงินซื้อยาบ้า เล่นเกม เล่นการพนัน เป็นต้น
    พระเจ้าทรงเป็นเช่นเดียวกัน  พระองค์จะไม่ประทานสิ่งที่เป็นผลร้ายแก่บรรดาบุตรของพระองค์เด็ดขาด !
    อีกเหตุผลหนึ่งคือเราไม่รู้อนาคต  เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้าหรืออีกหนึ่งวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ?
    แต่พระเจ้าทรงล่วงรู้อนาคต พระองค์ทรงทราบดีว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา “ในระยะยาว”  พระองค์จึงไม่ประทานสิ่งที่ฉาบฉวยหรือเป็นเพียงผักชีโรยหน้าแก่เรา !
    ขอเพียงให้เราวางใจและพากเพียรในการสวดภาวนา อีกทั้งมั่นคงในความเชื่อ เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้ (ลก 18:8)
    และหนทางหนึ่งที่จะรักษาความเชื่อไว้ได้ก็คือ ลงท้ายคำภาวนาของเราทุกครั้งว่า “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)