แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สอง เทศกาลเตรียมรับเสด็จ


ลูกา 3:1-6
    ในปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลพระจักรพรรดิทิเบรีอัส ปอนทิอัสปิลาต เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย กษัตริย์เฮโรดทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นกาลิลี ฟิลิป พระอนุชา ทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นอิทูเรีย และตราโคนิติส ลีซาเนียเป็นเจ้าปกครองแคว้นอาบีเลน อันนาสและคายาฟาส เป็นหัวหน้าสมณะ พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์น บุตรของเศคาริยาห์ ในถิ่นทุรกันดาร เขาจึงไปทั่วแม่น้ำจอร์แดน  เทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป ตามที่มีเขียนไว้ในหนังสือบันทึกของประกาศกอิสยาห์ ว่า
    “คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า
    จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
    จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด
    หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมให้เต็ม
    ภูเขา และเนินทุกแห่งจะถูกปรับให้ต่ำลง
    ทางคดเคี้ยวจะกลายเป็นทางตรง
    ทางขรุขระจะถูกทำให้ราบเรียบ
    แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า”

 

บทรำพึงที่ 1
ถิ่นทุรกันดาร
    ข่าวดีคือพระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์นในถิ่นทุรกันดาร และเป็นแรงบันดาลใจให้เขารณรงค์ให้ประชาชนแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า นี่เป็นสัปดาห์แรกในสองสัปดาห์ที่เน้นเรื่องพันธกิจของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
    ลูกา พาเราท่องไปในโลกภูมิศาสตร์ เมืองหลวงของจักรวรรดิคือกรุงโรม และศูนย์กลางทางศาสนาของโลกของชาวยิวคือกรุงเยรูซาเล็ม แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดขึ้นห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจเหล่านี้ พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์นในถิ่นทุรกันดาร การดำรงชีวิตในถิ่นทุรกันดารเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ถิ่นทุรกันดารทำให้คิดถึงสัตว์ป่าที่ออกล่าเหยื่อ
    ในเวลานั้น ชาวยิวตกอยู่ในถิ่นทุรกันดารทางการเมือง เพราะดินแดนของเขาถูกแบ่งออก และให้อยู่ภายใต้ผู้ปกครองหลายคนตามที่ลูการะบุชื่อ มีถิ่นทุรกันดารทางศาสนา เพราะ
มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับการแต่งตั้งมหาสมณะ ให้
คายาฟาสขึ้นรับตำแหน่งแทนอันนาส ผู้เป็นพ่อตาของเขา และ
มีถิ่นทุรกันดารของประกาศก เพราะหลายปีแล้วที่ชาวยิวไม่มี
ผู้เทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้าที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนมีวิสัยทัศน์ และความหวัง พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์นท่ามกลางถิ่นทุรกันดารนี้เอง
    สำหรับวันนี้ เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเทศกาลที่นำเรา
มาเผชิญหน้ากับถิ่นทุรกันดารทั้งหลายที่เราต้องพบเจอในชีวิต และมองหาพระวาจาที่มีอำนาจเยียวยาของพระเจ้าในที่นั้น ๆ เราจะพบถิ่นทุรกันดารในเวลาต่อไปนี้
    -    ในยามที่ความพยายามต่าง ๆ ของเราไม่บังเกิดผล
    -    เมื่อเราไม่มีแม้แต่พลังที่จะพยายาม
    -    เมื่อพายุทรายแห่งความกลัวบดบังแสงสว่างแห่งการช่วยเหลือของพระเจ้า
    -    เมื่อภาพลวงตาเต้นเร่าอยู่ในจินตนาการ เพื่อลวงล่อให้เราออกนอกทางแห่งความจริง
    -    เมื่อเงามืดซ่อนตัวหมาป่าที่กำลังตระเวนหาเหยื่อที่
ไม่ระวังตัว ขณะที่แรงขับเคลื่อนอย่างตาบอด และ
แรงกระตุ้น กำลังต่อสู้กับความตั้งใจของเรา
    ถ้าเราไม่เผชิญหน้ากับด้านมืดของชีวิตเราอย่างซื่อสัตย์ เราจะมองไม่เห็นว่าเราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้ไถ่
    บุคคลที่รู้ว่าตนเองต้องการพระผู้ไถ่เท่านั้นที่สามารถ
เฉลิมฉลองเทศกาลเตรียมรับเสด็จได้ ถ้าท่านไม่รู้จักความอ่อนแอของตนเอง และไม่ตระหนักว่าท่านต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากพระหัตถ์ของพระเจ้า ท่านจะไม่มีวันเห็นคุณค่าของการเสด็จมาของพระองค์
    วิถีของพระเจ้าน่าพิศวงยิ่งนัก วิถีที่เราเห็นได้จากจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการเสด็จมาของพระผู้ไถ่ ... เมื่อพระวาจาของ
พระเจ้ามาถึงยอห์น ... ในถิ่นทุรกันดาร
    ข้าแต่พระเยซูเจ้า เชิญเสด็จมาสู่ถิ่นทุรกันดารของข้าพเจ้าเถิด

 

บทรำพึงที่ 2
การพิจารณามโนธรรมเพื่อเตรียมรับเสด็จ
    เมื่อยอห์นได้รับพระวาจาของพระเจ้า เขาเริ่มประกาศให้ประชาชนรู้ว่าพวกเขาต้องเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป ยอห์นนำผู้ติดตามเขาไปรับพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน
ซึ่งเป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์ เขายืมวาจาของประกาศกที่เตือนประชาชนให้เตรียมตัวเดินทางกลับจากดินแดนเนรเทศไปสู่
กรุงเยรูซาเล็ม
    ในการฉลองเทศกาลเตรียมรับเสด็จอย่างเหมาะสม ข้าพเจ้าจำเป็นต้องย้อนกลับไปสู่ทางของพระเจ้า ผ่านทางการสารภาพบาปอย่างละเอียดถี่ถ้วน ภาพลักษณ์ที่ประกาศกอิสยาห์บรรยายไว้สามารถเป็นแนวทางในการพิจารณามโนธรรมของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้ามีทางที่ข้าพเจ้าต้องทำให้ตรง เมื่อใดที่หัวใจของข้าพเจ้าหันเหไปจากพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก เมื่อใด
ที่ข้าพเจ้าทำตัวราวกับว่าพระเนตรของพระเจ้ากำลังมองไป
ทางอื่น หรือเมื่อใดที่ข้าพเจ้ายอมให้ความโกรธ หรือความแค้นบดบังมิให้ข้าพเจ้าจำทางแห่งความรักเมตตาได้
    หุบเขาที่จะต้องถมให้เต็มหมายถึงเวลาที่ข้าพเจ้าไม่สำนึกว่า
พระเจ้าประทับอยู่กับข้าพเจ้า หรือเมื่อข้าพเจ้าไม่กระตือรือร้น
ที่จะทำงานของพระเจ้า
    ภูเขาที่จะต้องปรับให้ต่ำลง หมายถึงอุปสรรคที่ข้าพเจ้าคิดไปเองว่าไม่อาจเอาชนะได้ เพราะข้าพเจ้าลืมที่จะวางใจใน
พระเจ้า หรือเนินเขาที่จะต้องถูกปรับให้ราบอาจหมายถึงความจองหองเมื่อข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเก่งในเรื่องใด และดูถูกผู้อื่น
    ทางคดเคี้ยวหมายถึงวิธีเตะถ่วงที่ข้าพเจ้าใช้ในการเดินทางของวิญญาณของข้าพเจ้าไปหาพระเจ้า ... การรีรอ ผลัดวันประกันพรุ่ง และหน่วงเหนี่ยวเวลา ... “ขอเป็นพรุ่งนี้เถิด พระเจ้าข้า”
    ทางขรุขระที่ต้องทำให้ราบเรียบ หมายถึงบุคลิกภาพที่
ยังหยาบกระด้างของข้าพเจ้า ซึ่งทำให้ผู้อื่นรำคาญใจ หรือทำให้เขาอารมณ์เสีย ความไม่รู้จักกาลเทศะของข้าพเจ้า ความ
แล้งน้ำใจ ไม่พร้อมจะประนีประนอม และความพยายามครอบงำผู้อื่นด้วยวิธีการที่แนบเนียน
    ทางขรุขระยังหมายถึงการใช้ลิ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ข้าพเจ้าใช้แสดงเจตนาร้าย หรือเยาะเย้ยถากถางผู้อื่น
    องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังรอให้ข้าพเจ้ากลับไปหาพระองค์ ข้าพเจ้าจะเฉลิมฉลองเมื่อข้าพเจ้าได้ยินเสียงพระองค์ตรัส
ให้อภัยในถิ่นทุรกันดารของข้าพเจ้า และเมื่อข้าพเจ้าได้เห็นมือ
ที่มีอำนาจรักษาข้าพเจ้านั้น ยกขึ้นทำเครื่องหมายกางเขนแห่งความรอดพ้นเหนือศีรษะข้าพเจ้า

 

บทรำพึงที่ 3
ในปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลพระจักรพรรดิทีเบรีอัส ...
    ลูกา ต้องการประกาศเรื่องการเทศน์สอนของยอห์น
ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งเป็นการเตรียมทางสำหรับการเทศน์สอนของ
พระเยซูเจ้า
    ผู้นิพนธ์พระวรสารกำลังบอกด้วยข้อความเหล่านี้ว่า
พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือมนุษย์ในประวัติศาสตร์ พระองค์ไม่ได้ทรงทำงาน “นอกโลก” หรือในหมู่เมฆ แต่งานของพระองค์เริ่มต้นอย่างซ่อนเร้น ภายในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก “ประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์” กำลังเริ่มต้นขึ้นที่ใจกลางของเหตุการณ์ในโลก...
    เราเชื่อเหมือนกับลูกาหรือไม่ ว่าพระเจ้าตรัสและ
ทำงานท่ามกลางเหตุการณ์และสถานการณ์รอบตัวเรา ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ในวันนี้
    ลูกา ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมาในรัชกาลของจักรพรรดิออกัสตัส (ลก 2:1) บัดนี้ เขาบอกเราว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทรงเริ่มต้นงานอภิบาลของพระองค์ในปีที่สิบห้าของรัชกาลของทีเบรีอัส คือประมาณ ค.ศ. 28 หรือ 29
    เขากำลังยกย่องพระเยซูจ้า ผู้เป็นชาวยิวที่ไม่มีใครรู้จัก ขึ้นมาเทียบกับจักรพรรดิโรมันผู้เกรียงไกร และเป็นผู้ปกครองโลก อาณาจักรของทีเบรีอัสครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเหนือ ไปจนถึงขอบทะเลทรายซาฮารา และตั้งแต่ช่องแคบยิบรอลต้า ไปจนถึงชายขอบของทวีปเอเชีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางวงล้อมของ 15 รัฐ แต่ในสมัยนั้นเป็นเสมือนทะเลสาบของโรม (ชาวโรมันเรียกว่า “ทะเลของเรา”)
    ลูกาต้องการแสดงให้เห็นว่า ข่าวดีที่เริ่มต้นจาก
กรุงเยรูซาเล็ม จะแผ่ออกไปจนถึงกรุงโรม ดังที่เล่าไว้ในตอนท้ายของหนังสือกิจการอัครสาวก (28:16-31) แต่ในเวลานี้ เราเห็นอาณาเขตของแผนการของพระเจ้า คือ เริ่มต้นจากพระเยซูเจ้าไปถึงทีเบรีอัส
ปอนทิอัส ปิลาต เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย
    นอกจากพระนางพรหมจารีมารีย์แล้ว ปอนทิอัส ปิลาต เป็นมนุษย์คนเดียวที่ได้รับการเอ่ยชื่อในบทภาวนาสัญลักษณ์ของอัครสาวก คือ “พระเยซูคริสตเจ้า ปฏิสนธิเดชะพระจิต บังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี รับทรมานในสมัยของปอนทิอัส
ปิลาต”
    ปอนทิอัส ปิลาต เป็นผู้แทนของกรุงโรมประจำ
กรุงเยรูซาเล็ม ระหว่าง ค.ศ. 26 ถึง 30 เป็นบุคคลที่ผู้ครองแคว้นใกล้เคียง คือ เฮโรด อากริปปา ที่ 1 บรรยายว่าเป็นคน “ไม่ยอมประนีประนอม และไร้ความปรานี” เขาถูกโรมสั่งปลดจากตำแหน่งในที่สุด เนื่องจากได้สังหารหมู่ชาวสะมาเรียหลายพันคนที่มาชุมนุมกันบนภูเขาเกรีซิม ฟลาเวียส โยเซฟ และฟิโล ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ของยุคนั้น บรรยายว่าเขาปกครองแคว้นด้วยการทุจริต สร้างความหวาดกลัว และใช้เจ้าหน้าที่บีบบังคับประชาชน กระทำทารุณกรรม และประหารชีวิต
    ในปัจจุบัน บางครั้งเราคร่ำครวญเรื่อง “ความยากลำบาก
ในยุคของเรา” พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง และกดขี่อย่างไร้ยางอาย
กษัตริย์เฮโรด ทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นกาลิลี ฟิลิป พระอนุชา ทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นอิทูเรีย และตราโคนิติส ลีซาเนีย เป็นเจ้าปกครองแคว้นอาบีเลน
    บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ปกครองหุ่นเชิดที่ขายชาติ อำนาจแท้อยู่ในมือของโรม
    ลูกาเน้นบริบททางภูมิศาสตร์ ข่าวดีจะพัฒนาขึ้นในบริเวณนี้ก่อน เขาเอ่ยอย่างเจาะจงถึงสองแคว้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานอิสราเอล (ยูเดีย และกาลิลี) และสองแคว้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของ “ชนต่างชาติ” (อิทูเรีย ตราโคนิติส และอาบีเลน) ลูกา ผู้เป็นศิษย์ของเปาโล ใช้วิธีนี้เสนอความคิดทางเทววิทยาในตัวบทพระวรสารของเขาว่า “คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าไม่ได้สงวนไว้สำหรับประชากรบางกลุ่มเท่านั้น”
    ข้าพเจ้าปิดกั้นตนเองให้อยู่แต่ภายใน “ย่านคริสตชน”
ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยเท่านั้นหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ดำเนินชีวิตภายใต้การดลใจของพระวรสารอีกต่อไป
อันนาส และคายาฟาส เป็นหัวหน้าสมณะ
    หลังจากเอ่ยชื่อผู้ปกครองทางการเมืองแล้ว ลูการะบุชื่อของผู้นำทางศาสนาที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อศาสนายิวในยุคนั้น
พระเยซูเจ้าจะทรงเผชิญหน้ากับบุคคลเหล่านี้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
    นี่คือบริบททางการเมืองและทางศาสนา ข้อมูลนี้ถูกต้อง และได้รับการยืนยันจากนักประวัติศาสตร์ ในซีซารียา เรายังเห็นที่นั่งของปิลาตในโรงมหรสพ เพราะมีคำจารึกสลักบนหินที่เป็นที่นั่งของผู้ว่าราชการที่ใจกลางของโรงมหรสพ
พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์น
    บุคคลที่มีตำแหน่งสูงส่งที่เอ่ยชื่อข้างต้นนี้ ไม่ใช่ผู้สร้างประวัติศาสตร์ตัวจริง เพราะบัดนี้ “โฆษก” หรือ “ประกาศก” ปรากฏตัวขึ้นแล้ว เขาคือยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ผู้เป็น
ประกาศกคนสุดท้าย และประจักษ์พยานคนแรกที่ยืนยันถึง
พระเยซูคริสตเจ้า...
    เป็นความจริงว่า การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากภายในตัวมนุษย์ แต่อานุภาพที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อาจมาจากการบูชาลัทธิ และผู้มีอำนาจ หรือจากโครงสร้างทางการเมือง (“พระเจ้าทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์”) (ลก 1:52)
    พระวาจาซึ่งมาจาก “ที่อื่น” คือจากพระเจ้า จะสร้างความใหม่อันแท้จริง ซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางของประวัติศาสตร์
    ข้าพเจ้ายอมให้พระวาจาของพระเจ้า “จับใจ” ข้าพเจ้าเหมือนกับจับใจ ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง หรือไม่
... ในถิ่นทุรกันดาร
    บางครั้ง เรารู้สึกราวกับว่าเราอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
ในสุญญากาศ เป็นไปได้หรือไม่ที่ความวิเวกอันน่าเบื่อหน่ายนี้เป็นสถานที่ และเวลาที่เราอยู่ห่างจากความวุ่นวายของโลกและเสียงอื้ออึง และเราจะสามารถจะได้ยินพระวาจาอันลี้ลับได้
    บทเพลงภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า “ฟังซิ ฟัง อย่า
ส่งเสียง ใกล้ตัวท่าน ใครบางคนกำลังเดินมาบนถนน ใครบางคนกำลังมาหาท่าน ฟังซิ ฟัง เสียงฝีเท้าขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เสด็จมาหาท่าน”
    ข้าพเจ้าเก็บส่วนใดในชีวิตอันวุ่นวายของข้าพเจ้าไว้ให้เป็นสถานที่วิเวก เป็น “ถิ่นทุรกันดาร”
เขาจึงไปทั่วแม่น้ำจอร์แดน ...
    พระวาจาของพระเจ้าเป็นบางสิ่งที่เคลื่อนไหว เป็นขบวนการ ยอห์น เป็นนักเทศน์เร่ร่อน และพระเยซูเจ้าก็จะเป็นนักเทศน์เร่ร่อนคนหนึ่งในไม่ช้า ส่วนเราจะเป็นอะไร
    ยอห์นออกจากถิ่นทุรกันดารอันสงบเงียบของเขา สถานที่ซึ่งเขาใช้เตรียมตัวด้วยการรับฟังพระวาจา และบัดนี้ เขา
ก้าวออกไปพบฝูงชน เมื่อจุดประสงค์ของเขาคือการพบประชาชน เขาจึงจงใจเลือกสถานที่ซึ่งคนจำนวนมากมาชุมนุมกัน คือชายฝั่งแม่น้ำ สถานที่ซึ่งทุกคนต้องเดินทางผ่าน เป็นชุมทางที่มีคนมากมาย คือบนฝั่งหมู่บ้านเบธานี ฝั่งซ้ายของแม่น้ำจอร์แดน ฝั่งตะวันออกของเมืองเยรีโค (ยน 1:28) ที่นั่น กองทัพอังกฤษได้สร้างสะพานอัลเลนบีขึ้น และเป็นจุดเดียวที่สามารถข้ามแม่น้ำได้
    หลังจากผ่านช่วงเวลาอันวิเวกแล้ว ข้าพเจ้ากำลังมองหาผู้ที่ข้าพเจ้าจะติดต่อสื่อสารด้วยหรือไม่
เทศน์สอน (ตะโกน) เรื่องพิธีล้าง (การดำลงสู่) ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ (ความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง) ...
    ถูกแล้ว ข้อความที่นักบุญลูกาเขียนเป็นภาษากรีกนี้ ควรแปลว่า “ยอห์นร้องตะโกนให้ดำลงสู่ความเปลี่ยนแปลง
อย่างสิ้นเชิง”
    ไม่มีทางเข้าใจความหมายนี้ผิดเพี้ยนไปได้เลย เรา
ไม่สามารถพบพระเจ้าโดยบังเอิญ โดยไม่รู้ตัวและไม่สมัครใจ เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองโดยสิ้นเชิง เราต้องกระโดดไปหาพระองค์ คำว่า baptisma หรือพิธีล้าง ชวนให้ระลึกถึงพิธีอาบน้ำที่สมาชิกชุมชนกุมรานต้องกระทำทุกวัน เพื่อชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ปราศจากบาป และกระตุ้นให้วิญญาณชำระตนเอง คน
ในชุมชนนี้จะดำลงไปในสระน้ำ หรือแม่น้ำ
    “การเป็นทุกข์กลับใจ” ไม่ได้หมายถึงเพียงกิจกรรมของสมองเท่านั้น แต่เป็น “ก้าวหนึ่ง” ในชีวิตซึ่งเราแสดงออกด้วยการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่า “ฉันต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง ... และฉันแสดงท่าทีต่อหน้าท่าน ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าฉันสำนึกผิด ... ฉันนำชีวิตเดิมของฉันจุ่มลงในน้ำเพื่อฝังมันให้ตายไว้ใต้น้ำ เพื่อชีวิตใหม่จะเกิดขึ้นได้ในตัวฉัน”
ถูกแล้ว ศีลล้างบาปเป็นการสมัครใจกด “มนุษย์เก่า” ให้จมน้ำตาย เพื่อว่า “มนุษย์ใหม่” จะเกิดขึ้นมา (รม 6:6, 7:6; อฟ 4:22; คส 3:9, 10)
    นี่เป็นภาพลักษณ์แท้ของศีลอภัยบาปเช่นกัน ศีลอภัยบาปเป็น “ศีลล้างบาปครั้งที่สอง” ซึ่งเราอาจต้องการ เพื่อจะ
เฉลิมฉลองเทศกาลพระคริสตสมภพได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
    คำว่า “เป็นทุกข์กลับใจ” ที่กล่าวถึงในที่นี้ (metanoia) หมายถึงการหันกลับไปหาพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ถ้าการกลับใจเป็นเพียงการเปลี่ยนวิถีชีวิตด้านศีลธรรม หรือสังคม ชีวิตคริสตชนของเราก็จะเป็นเพียง “มานุษยนิยม” รูปแบบหนึ่งเท่านั้น และบางทีอาจไม่สมบูรณ์เท่ารูปแบบอื่นด้วยซ้ำไป สิ่งสำคัญคือ
เราต้องหันกลับไปหาพระเจ้า ซึ่งต้องมีผลทางศีลธรรมและสังคมด้วยอย่างแน่นอน เช่น การต่อสู้กับความเห็นแก่ตัว ความ
อยุติธรรม ความนิยมในวัตถุ ความเป็นทาสของความสนุกสนาน และเงินทอง ความลามกอนาจาร ความเกียจคร้าน ความอยากมีอำนาจเหนือผู้อื่น เป็นต้น
พิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป
    การให้อภัยเป็นกิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่พระองค์ทรงกระทำ และเสนอให้แก่มวลมนุษย์ แต่จะมีผลเฉพาะเมื่อเรา
เต็มใจยอมรับการให้อภัยนั้น ดวงอาทิตย์ไม่เคยหยุดส่องแสง แต่เราสามารถปิดม่านหน้าต่างของเราได้
    กิจการของพระเจ้าแสดงออกมาผ่านทางพระสงฆ์ ผู้พูด
“ในพระนาม และแทนองค์พระคริสตเจ้า”
    มนุษย์แสดงความสมัครใจออกมาภายนอกด้วยการกระทำ โดยเฉพาะการยอมรับความผิดบกพร่องของตนเอง ไม่ว่าเป็นการกระทำโดยลำพัง หรือกระทำร่วมกันเป็นชุมชน
    การรับศีลมหาสนิทแต่ละครั้งทำให้เราติดต่อสัมพันธ์กับ
พระเยซูเจ้า ในกิจกรรมที่พระองค์ทรง “ถวายพระองค์เองเพื่อให้เราได้รับการอภัยบาป” กล่าวคือ ในกิจการไถ่กู้มนุษยชาติ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงความนบนอบอย่างสมบูรณ์ต่อพระบิดา เป็นกิจการที่พระองค์ทรง “หันไปหาพระเจ้า” อย่างสมบูรณ์
ตามที่มีบันทึกไว้ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ว่า
    “คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมให้เต็ม ภูเขาและเนินทุกแห่งจะถูกปรับให้ต่ำลง ทางคดเคี้ยวจะกลายเป็นทางตรง ทางขรุขระจะถูกทำให้ราบเรียบ”
    นี่คือรถไถปรับพื้นที่อันทรงพลัง ในขณะที่เราคิดว่าเราเพียงแต่กำลัง “สารภาพบาปอย่างลึกซึ้ง” และเป็นการสารภาพบาปที่ไม่ต้องเจ็บปวดเลยด้วยซ้ำ
แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า
    นี่คือวิสัยทัศน์ของบุคคลที่มีความคิดเป็นสากล และเป็นลักษณะเด่นของลูกา ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของนักบุญเปาโล
    งานของพระเจ้าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลงโทษมนุษย์ แต่เพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น ปลายทางของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ ... คือ ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของพระเจ้า ... ย่อมไม่ใช่ทางตัน แม้ว่าวันนี้ “เราหว่านด้วยน้ำตา” แต่จะถึงเวลาที่เราเก็บเกี่ยว “ด้วยเสียงเพลง”