แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สาม เทศกาลเตรียมรับเสด็จ


ลูกา 1:39-44
    หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์ และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่า
หญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย ทำไมหนอ พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”

 

บทรำพึงที่ 1
วันอันน่ายินดี
    มีธรรมประเพณีโบราณที่บอกเล่าต่อกันมาว่า นักบุญลูกา
ผู้นิพนธ์พระวรสาร เป็นจิตรกร ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เราก็เห็นได้ว่าเขามีความสามารถอย่างน่าอัศจรรย์ในการวาดภาพด้วยคำพูด เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดของยอห์น ผู้ทำ
พิธีล้าง และของพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องที่บรรยายให้เห็นแยกกันเป็นสองภาพ
    ลูกา ชอบเล่าเรื่องการเดินทาง เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่เขากำลังบอกเล่าเป็นเรื่องของการเดินทางของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา เพื่อทรงพาเราออกจากดินแดนเนรเทศและกลับสู่บ้านในสวรรค์ของเรา เขาบอกเล่าถึงการเดินทางครั้งสำคัญ คือ การเดินทางไปยังเมืองเบธเลเฮมและไปยังพระวิหารใน
กรุงเยรูซาเล็ม และในชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์จะเดินทางอย่างเด็ดเดี่ยวไปพบกับชะตากรรมของพระองค์ใน
กรุงเยรูซาเล็มด้วย แต่เรื่องในวันนี้เป็นเรื่องการเดินทางของ
พระนางมารีย์
    พระนางมารีย์ได้รับแจ้งจากทูตสวรรค์ว่านางเอลีซาเบธตั้งครรภ์แล้ว เราเข้าใจได้โดยง่ายว่าพระนางต้องรู้สึกเห็นใจญาติผู้ชรา ผู้ต้องการได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้ที่อ่อนวัยกว่า
    แต่ยังมีเหตุผลจูงใจที่ลึกยิ่งกว่า และเป็นความประสงค์ส่วนตัว ที่ทำให้พระนางมารีย์เร่งรีบเดินทางไปยังเมืองใน
แถบภูเขา ประสบการณ์ภายในอันลึกล้ำกับพระเจ้า อันเกิดจากการได้รับสารจากทูตสวรรค์ เป็นสิ่งที่พระนางจำเป็นต้องพูดคุยกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง
    บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าประสบการณ์ภายในอันลึกล้ำทำให้ทรรศนะของบุคคลหนึ่งเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้รู้สึกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนให้เขาออกเดินทาง โลกแห่งประสบการณ์ที่คุ้นเคยอยู่ทุกวันกลายเป็นโลกที่เล็กเกินกว่าจะบรรจุประสบการณ์ภายในนี้ได้ อับราฮัมเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการเผยแสดงจาก
พระเจ้า และเขาก็เดินทางออกจากบ้านและถิ่นที่อยู่ของบิดาทันที
    นางเอลีซาเบธเป็นเครื่องหมายที่ทูตสวรรค์มอบให้แก่
พระนางมารีย์ เพื่อแสดงว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้ แต่มิใช่ว่าพระนางมารีย์ต้องการพิสูจน์ว่าเครื่องหมายนี้เกิดขึ้นจริง เปล่าเลย พระนางเพียงแต่มีความรู้สึกในใจว่าจำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องนี้กับใครบางคนที่จะเข้าใจธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่ที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์พรหมจารีของพระนาง พระนางมารีย์ ย่อมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งเมื่อทราบว่านางเอลีซาเบธได้รับพระพรจากพระจิตเจ้าเช่นกัน
    ลูกาแสดงอารมณ์ของการพบกันครั้งนี้ออกมาเป็น
คำสรรเสริญการทำงานของพระเจ้าด้วยความยินดี เราพบคำว่า “เป็นสุข” ซึ่งหมายถึงการประทานพรของพระเจ้า ถึงสามครั้งว่า
    “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ” ข้อความนี้สรรเสริญพระเจ้าที่ได้ทรงเลือกสรรพระนางมารีย์
    “และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” นางเอลีซาเบธสรรเสริญพระพรประการที่สอง เพราะพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่พระนางมารีย์จะบังเกิดผลสำหรับเราทุกคนด้วย
    “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่าพระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” พระพรประการที่สาม คือ พระนางมารีย์ให้ความร่วมมือกับพระเจ้าอย่างเต็มใจและสิ้นเชิง ความยิ่งใหญ่ของพระนางอยู่ที่ความเชื่ออันลึกล้ำของพระนาง และความนบนอบจนถึงที่สุดของพระนาง ต่อมาในพระวรสาร เราจะพบว่าพระเยซูเจ้าทรงยกย่องความเชื่อ และความนบนอบของพระนางว่า “เป็นบุญของผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้า และนำไปปฏิบัติ” (ลก 8:21)
    พระนางมารีย์ได้รับเลือกเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พระเจ้าสามารถเดินทางเข้ามาในชีวิตของเรา และโอบอุ้มยกชูเราขึ้นด้วยพระหัตถ์ที่มีอำนาจเยียวยารักษาของพระองค์ นักบุญฟรังซิสสนับสนุนให้เรามีความศรัทธาต่อพระนางมารีย์ เพราะพระนางต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพ และประทานพระองค์ให้เป็นพี่ชายของเรา ความสูงส่งแห่งพระเดชานุภาพของพระเจ้าเอื้อมลงมาหาเราผู้ยากไร้และอ่อนแอ ด้วยการเสด็จมาเกิดเป็นมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าทรงกลายเป็นพี่ชายของเรา คู่ชีวิตของเรา ผู้รักษาโรคของเรา และพระผู้ไถ่กู้เรา และด้วยการร่วมมืออย่างเต็มใจกับพระเจ้า พระนางมารีย์ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในเรื่องนี้
    นางเอลีซาเบธแยกแยะได้ว่า วันที่พระนางมารีย์เสด็จมาเยี่ยมนางเป็นวันอันเปี่ยมด้วยพระพร แม้แต่ทารกในครรภ์ของนางก็ยังดิ้นด้วยความยินดี ที่พระเจ้ากำลังเสด็จมาเยี่ยมโลกของเรา และมาเป็นพี่ชายของเรา
    เหตุการณ์ที่พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเราด้วยเช่นกัน เพราะพระบุตรผู้อยู่ในครรภ์ของพระนางจะกลายเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระผู้ไถ่ของเรา

 

บทรำพึงที่ 2
ดิ้นด้วยความยินดี
“ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี”
    นักบุญลูการับรู้ได้ถึงความยินดีที่เกิดจากการได้ยินข่าวดี พระพรของพระเจ้าที่เราได้รับภายในใจจะเอ่อล้นออกมากลายเป็นคำสรรเสริญ คำถวายพระพร และถวายเกียรติแด่
พระเจ้า กลายเป็นความปลาบปลื้มและการเต้นรำอย่างเบิกบานเพื่อเฉลิมฉลอง
    ความยินดีแท้ในวิญญาณเป็นเครื่องหมายที่ยืนยันได้ดีที่สุดถึงชีวิตที่พอใจในการประทับอยู่ด้วยความรักของพระเจ้า ในบรรดาผลทั้งหลายอันเกิดจากการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าภายในตัวเรา นักบุญเปาโลยกให้ความยินดีเป็นผลประการที่
สองรองจากความรัก
    ผลแรกที่เกิดจากความยินดี คือ ความปรารถนาจะแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น แต่การพูดถึงความยินดีโดยไม่กระทำ
การใดให้เป็นรูปธรรม ย่อมฟังดูขัดหูสำหรับคนทั้งหลายที่กำลังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หรือบุคคลที่ไม่รู้จักว่าความรักคืออะไร หรือบุคคลที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางความมืด
อันเกิดจากความไม่เชื่อ ช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง เช่น เทศกาลพระคริสตสมภพ เป็นเวลาที่เพิ่มความเครียดให้แก่คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและรู้สึกหดหู่ เพราะคนเหล่านี้จะตระหนักมากยิ่งขึ้นว่าเขากำลังขาดสิ่งใด การแสวงบุญด้วยความยินดีของคริสตชนในอดีต เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้มีความเชื่อมอบสิ่งดีงามให้แก่โลกด้วยการรับใช้และดูแลเอาใจใส่ ซึ่งกระทำได้หลายวิธี ผลลัพธ์อันน่ายินดีของงานอภิบาลเหล่านี้คือ ความยินดีที่
ผู้อภิบาลได้แบ่งปันให้แก่ผู้อื่นนี้ ย้อนกลับมาหาเขาพร้อมกับ
ผลกำไร
    บุคคลที่แบ่งปันความยินดีของตนจะรู้ได้จากประสบการณ์ว่า เมื่อเขาให้ เขาย่อมได้รับด้วย
    ผลประการที่สองของความยินดี คือ ทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ วิญญาณที่มีความสุขกับการอยู่กับพระเจ้าเสมอย่อมมองเห็นความงามของโลก ความยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเปิดตาของเราให้มองเห็นความน่าตื่นเต้นของพระเจ้า ที่เรามองเห็นได้จากสิ่งที่เราพบเจอทุกวันในชีวิต เรามองเห็น
พระสิริรุ่งโรจน์ และธรรมล้ำลึกของพระเจ้าได้ในความงามของธรรมชาติ และการหมุนเวียนของฤดูกาล เรื่องอุปมาที่เข้าใจง่ายของพระเยซูเจ้า เผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงมองเห็นธรรมล้ำลึกของสวรรค์ในสิ่งธรรมดาสามัญของโลกนี้ ความยินดีเปิดตาของเราให้มองเห็นว่าสิ่งธรรมดาก็มีเอกลักษณ์เป็นของตน มองเห็นความดีและความกล้าหาญที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ และมองเห็นความอิ่มใจจากการทำงาน เราจะขอบคุณพระเจ้าสำหรับความสุขสำราญในชีวิต และความพึงพอใจของประสาทสัมผัส เมื่อเรามองเห็นภาพความงามอันน่ายินดีนี้ เราจะรู้สึกอยากขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงอยู่เบื้องหลังพระพรเหล่านี้
    ผลประการที่สามของความยินดี คือ ความยินดีในการเชื่อ
    การเชื่อ คือ ความยินดีกับสิ่งที่เราพบเห็นซึ่งเผยให้เรารู้จักพระเจ้า ความยินดีในการเชื่อหมายความว่าเรารู้อยู่แก่ใจว่า
พระเจ้าทรงรักโลกมาก จนถึงกับประทานพระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์ และรู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเราจนถึงที่สุด การเชื่อหมายถึงการรู้อยู่แก่ใจถึงความรักที่ช่วยค้ำจุน เยียวยารักษา และให้อภัยของพระเจ้าในศีลศักดิ์สิทธิ์
    การเชื่อคือการรับรู้ถึงความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้า
ผู้ประทานพระจิตของพระองค์แก่เรา
    ความยินดีแท้ดำรงอยู่ในส่วนลึกของวิญญาณ วิญญาณสามารถรักษาความสงบนิ่งแห่งความยินดีอยู่ได้ แม้ว่าบนผิวหน้าของชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวายใจ และมรสุม
    ในยามที่ถูกทดลองจากความทุกข์ยาก ความยินดีแท้จะ
ยืนหยัดอยู่ได้ ในขณะที่ความร่าเริงผิวเผินจะสูญสลายไป
อันที่จริง บ่อยครั้งที่ความยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเพิ่มทวีขึ้นเมื่อเราประสบกับความทุกข์ยาก เพราะนี่คือกระบวนการชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ ความพึงพอใจในตนเองสูญหายไปมากเท่าใด เราก็มีที่ว่างมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พระเจ้าทรงเข้ามาและเป็นความยินดีสำหรับเรา
    “ความเศร้าคว้านเข้าไปในตัวท่านลึกเท่าใด ท่านจะยิ่งมีที่ว่างรองรับความยินดีมากขึ้นเท่านั้น ถ้วยที่รองรับเหล้าองุ่นของท่านก็คือถ้วยที่ถูกเผาในเตาของช่างปั้นมิใช่หรือ พิณที่ปลอบประโลมจิตใจของท่านก็คือท่อนไม้ที่ถูกมีดเจาะให้กลวงมิใช่หรือ” (คาลิล ยิบราน, The Prophet)
    เมื่อนักบุญเปาโลถูกจองจำในคุก เขาเริ่มเข้าใจว่าความยินดีของเขาเกิดจากความเชื่อ จดหมายถึงชาวฟิลิปปี ยืนยันว่าเขามีความยินดีท่ามกลางความทุกข์ยาก สาเหตุประการเดียวของความยินดีนี้ คือ ความเชื่อมั่นว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ใกล้เขา “จงชื่นชมในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาเถิด ... องค์
พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาใกล้แล้ว” (ฟป 4:4-5)
    องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาใกล้แล้ว ... นี่คือเหตุผลที่เราควรชื่นชมยินดีกับเทศกาลเตรียมรับเสด็จ วิญญาณของท่านจงโลดเต้นด้วยความยินดี ให้ใบหน้าของท่านประกาศข่าวดีให้โลกรู้เถิด

บทรำพึงที่ 3
หลังจากนั้นไม่นาน ...
    ระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกานำเราเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีต เมื่อวันอาทิตย์แรก พระวรสารขอให้เราเงยหน้าขึ้นเบื้องหน้า
พระคริสตเจ้าผู้เสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ในเมฆบนท้องฟ้า ซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับคืนชีพในวันนี้ และจะเสด็จมาเมื่อถึงกาลอวสาน ... ในวันอาทิตย์ที่สองและที่สาม นักบุญลูกานำเราย้อนอดีตกลับไปเมื่อสองพันปีก่อน ไปยังวันเวลาที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ออกเทศน์สอนเพื่อเตรียมใจประชาชนให้พร้อมจะรับฟังคำสั่งสอนจากพระเยซูชาวนาซาเร็ธ บัดนี้ ในวันอาทิตย์ที่สี่ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ เราเดินทางย้อนกลับไปอีกสามสิบปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเวลาที่พระเยซูเจ้ายังเป็นทารกที่ซ่อนอยู่ในครรภ์ของหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ มารีย์...
    เราเองก็มีชีวิตอยู่ใน “กาลเวลา” คือ อยู่ในเวลาหนึ่งของชีวิตเรา และในเวลาหนึ่งของปี
    สองสามวันก่อนวันพระคริสตสมภพ เราสร้างบรรยากาศเฉลิมฉลองด้วยการตกแต่งบ้านเรือนของเรา บรรดาร้านค้าแข่งขันกันเสนอขายบัตรอวยพรและของขวัญ ... เราเตรียมตัวฉลอง “เทศกาล”... แต่เราแบ่งเวลาให้วิญญาณของเราได้สัมผัสกับความเงียบและอิสรภาพด้วยหรือไม่ เพื่อเราจะได้อธิษฐานภาวนาร่วมกับพระนางมารีย์ ผู้กำลังจะให้กำเนิดพระบุตรของพระนาง
พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้น
ยูเดีย
    ชื่อภาษาฮีบรูของพระนางคือ มีเรียม แปลว่า “เจ้าหญิง” หรือ “นายหญิง”
    บทอ่านนี้บอกเราว่าพระนาง “รีบออกเดินทาง” ทันทีที่
ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนาง ปฏิกิริยาอันรวดเร็วเช่นนี้เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่ง
    พระวาจาของพระเจ้าส่งพระนางมารีย์ให้ออกเดินทาง
“เอลีซาเบธ ญาติของท่าน ทั้ง ๆ ที่ชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์บุตรชาย ใคร ๆ คิดว่านางเป็นหมัน แต่นางก็ตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้ว” พระนางมารีย์ออกเดินทางทันที ... เราวาดมโนภาพได้ว่าพระนางเต็มเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นและพลังของคนที่ยังอยู่ใน
วัยสาว การเร่งรีบของพระนางเป็นเครื่องหมายของความเชื่อ...
    พระนางต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทาง 150 กม. – ไม่มีรถยนต์ หรือรถไฟ พระนางเดินทางผ่านกรุงเยรูซาเล็ม หมู่บ้าน
อายน์คาริม ตั้งอยู่ที่ชานเมืองของนครศักดิ์สิทธิ์ ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 6 กม. ในปัจจุบัน สถานที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณคณะแพทย์ศาสตร์ในกรุงเยรูซาเล็ม และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ชื่อ ฮาดัสซา
    การเดินทางนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนสถานที่ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางหลาย ๆ ครั้ง ที่ลูกาบรรยายไว้ในพระวรสารของเขา โดยมีเจตนาให้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือ ถนนเป็นหนึ่งในหลายสถานที่สำหรับการเผยแสดง และการปฏิบัติ
พันธกิจ พระวาจาของพระเจ้าลงมาจากสวรรค์ไปยังเมือง
นาซาเร็ธ วันนี้ พระวาจาของพระเจ้าเดินทางจากนาซาเร็ธไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เหมือนบทโหมโรงสำหรับ “การเสด็จขึ้นไปยัง
กรุงเยรูซาเล็ม” เมื่อลูกาบรรยายถึงช่วงสุดท้ายในชีวิตของ
พระเยซูเจ้า ... จากนั้น พระวาจาจะออกจากกรุงเยรูซาเล็ม ไปยังแคว้นสะมาเรีย และสุดปลายแผ่นดินโลก – พระวาจาเสด็จมาในใจของข้าพเจ้า ขอเพียงข้าพเจ้าตั้งใจฟัง
    ความเร่งรีบของพระนางมารีย์เป็นความเร่งรีบของ
ผู้แพร่ธรรม ลูกาเป็นศิษย์ของเปาโล ผู้ที่เขาติดตามในการเดินทางแพร่ธรรมในทวีปยุโรป (กิจการอัครสาวก)


พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์ และทรงทักทาย
นางเอลีซาเบ็ธ
    ถนนที่พระวาจาของพระเจ้าใช้เดินทางนั้นเป็นถนนแห่งความใกล้ชิดสนิทสนม คือ “ในบ้าน”…“ภายในครอบครัว” ในที่นี้ เป็นความใกล้ชิดระหว่างสตรีสองคนที่เป็นญาติกัน นี่คือ
วิธีถ่ายทอดความเชื่อให้แก่กันตามปกติ
    ส่วนเศคาริยาห์ เขาเป็นใบ้ เพราะไม่มีความเชื่อ
(ลก 1:20, 1:64) เศคาริยาห์ ผู้น่าสงสาร ระหว่างสามเดือน
(ลก 1:56) ที่พระนางมารีย์พักอยู่กับพวกเขา เขาไม่สามารถเอ่ยคำพูดใดกับสตรีทั้งสองได้เลย สตรีเป็นฝ่ายพูด เพราะสตรีเป็นคนกลุ่มแรกที่มีความเชื่อ
    พระนางมารีย์ทรงทักทายด้วยภาษาของพระนาง คือ
“ชาลอม (Shalom)” แปลว่า “สันติสุข” หรือสวัสดี
    หกเดือนก่อนหน้านั้น เอลีซาเบธ และเศคาริยาห์ เป็น
คู่สมรสชราที่กำลังเศร้าใจ เพราะเขาไม่มีบุตร (ลก 1:7)
พระนางมารีย์ทราบสถานการณ์นี้ พระนางเสด็จมาแสดงความยินดีกับญาติของพระนาง และร่วมยินดีกับนาง
เมื่อนางเอลีซาเบธ ได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์
ก็ดิ้น
    เต้นด้วยความยินดี หรือถ้าจะแปลความหมายตามตัวอักษรจากพระวรสารฉบับภาษากรีกก็คือ “ตื่นเต้น (thrilled)” หรือ
“ตัวสั่นสะท้าน (shook)” เปาโลบอกว่าลูกาเป็นแพทย์ (คส 4:14) จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาสนใจรายละเอียดเหล่านี้ สตรีทุกคนที่เป็นมารดาไม่มีวันลืมนาทีที่บุตรของนางแสดงให้นางรู้ว่าเขามีชีวิต เมื่อบุตรเคลื่อนไหวภายในตัวมารดา
    นี่เป็นเหตุการณ์ปกติหรือ ... เป็นการมองหาสิ่งอัศจรรย์และ
น่าประทับใจที่เชยไปแล้วหรือ ... เปล่าเลย นี่คือถ้อยแถลงความเชื่อทางเทววิทยาของลูกา ซึ่งเน้น “เครื่องหมาย” อีกอย่างหนึ่ง เด็กแฝด เอซาว และยาโคบ ก็ “ดิ้น” ในครรภ์ของนางเรเบคาห์
ผู้เคยเป็นหมันเช่นกัน (ปฐก 25:22) พระเจ้าทรงทำงานตามแผนการของพระองค์ก่อนมนุษย์เสมอ เช่นที่เยเรมีย์ ยอมรับว่า “พระเจ้าทรงรู้จักเขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาของเขา” (ยรม 1:5)
    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เริ่มปฏิบัติงานของประกาศกทันที ด้วยการเป็นพยานยืนยันพระเยซูคริสตเจ้า เขาเตือนมารดาให้รู้ว่าเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่กำลังถูกเตรียมการ
    ทำไมเราจึงอยากหาเหตุผลมาอธิบายธรรมล้ำลึกเสมอ เราอยากมองว่านี่คือปรากฏการณ์ปกติทางชีววิทยา นี่คือปรากฏการณ์ทางชีววิทยาก็จริง แต่เป็นธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับการประทับอยู่ของพระเจ้าอีกด้วย พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำงานเสมอ
นางเอลีซาเบธ ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม
    ในความคิดของลูกา บทบรรยายเรื่องปฐมวัยของ
พระเยซูเจ้าเป็นการมองไปข้างหน้าถึงปัสกา อันที่จริง นี่คือสัญลักษณ์ของเปนเตกอสเต ... เปนเตกอสเตที่ซ่อนเร้น ... ต่อมาลูกาจะพูดถึงพระจิตองค์เดียวกันนี้อีกครั้งหนึ่งว่า พระเจ้าจะประทาน “พระจิตเจ้าของเรากับมนุษย์ทุกคน” (กจ 2:17-21, ยอล 3:1-5)
    เราเห็นได้ว่า ลูกา “อ่าน” ความหมายของการบังเกิดของ
พระเยซูเจ้าเทียบกับการเกิดของพระศาสนจักร แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ลูกาค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดนี้จากบรรดาศิษย์ของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และจากญาติของพระนางมารีย์ ผู้ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2:19-51)
นางร้องเสียงดัง ...
    คำภาษากรีก (anephonesen) ที่ลูกาใช้ในที่นี้ ปรากฏเพียงในข้อความนี้ และในหนังสือพงศาวดารเท่านั้น (1พศด 15:38; 16:4, 5, 42 และ 2พศด 5:13) ซึ่งกล่าวถึง “พิธีกรรมสรรเสริญ” หีบพระบัญญัติ ดังนั้น เราจึงอาจแปลข้อความนี้ได้ด้วยว่า
“นางเอลีซาเบธ ร้องเพลงสรรเสริญด้วยเสียงอันดัง”

“เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย”
    คริสตชนส่วนใหญ่ที่สวดบท “วันทามารีย์” ไม่ทราบว่าเป็น
คำภาวนาที่ยกจากข้อความนี้ในพระวรสาร นี่คือข้อความที่บอกเล่าต่อกันมาจากปากของบรรพบุรุษของเรานานหลายศตวรรษ เราจะยอมให้สูญหายไปจากความทรงจำของเราหรือ เราสวด
บทวันทามารีย์ สวดสายประคำบ่อย ๆ หรือเปล่า
    นอกจากนี้ ถ้อยคำเหล่านี้ยังเป็นคำที่ยกมาจากพันธสัญญาเดิม ซึ่งกล่าวถึงสตรีสองคน คือ นางยาเอล และนางยูดิธ
(วนฉ 5:25; ยดธ 13:18) สตรีสองคนนี้ได้ช่วยประชากรของตนให้พ้นจากภัยอันใหญ่หลวง ... นี่เป็นข้อความที่ยกมาอ้างโดยบังเอิญหรือ
    “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ” เป็นคำสรรเสริญของสตรีคนหนึ่งต่อสตรีอีกคนหนึ่ง ลูกาชอบเน้นย้ำหัวข้อหนึ่งในพระวรสารของเขา คือ ความลับของแผนการของพระเจ้าได้
ถูกเผยให้สตรีรู้เป็นคนแรก
“ทำไมหนอ พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า”
    นี่เป็นอีกข้อความหนึ่งที่ยกมาจากพระคัมภีร์ (2 ซมอ 6:9) ในเวลานั้น กษัตริย์ดาวิดไม่กล้าจะเชื่อว่าหีบพระบัญญัติจะ
มาเยือนบ้านของพระองค์ หีบนี้เป็นสถานที่ประทับของพระเจ้า ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า (ยน 2:19) พระเจ้าไม่ประสงค์จะพำนักในวัตถุที่ใช้นมัสการ หรือในบ้านที่สร้างจากศิลาอีกต่อไป แต่ใน “พระกายที่มีชีวิตของพระคริสตเจ้า”
    ท่านผู้กำลังแสวงหาพระผู้ไถ่ จงเปิดตา และมองเห็นเถิด ว่าทารกน้อยผู้อ่อนแอในครรภ์มารดานี้ แท้จริงแล้วคือ “พระบุตรของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน และความจริง” (ยน 1:15)
    นี่คือธรรมล้ำลึกของพระเจ้าผู้ซ่อนพระองค์ ... ธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิท
“เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี”
    วลีว่า “ดิ้นด้วยความยินดี” ชวนให้คิดถึงการเต้นรำของกษัตริย์ดาวิดเบื้องหน้าหีบพระบัญญัติ (2ซมอ 6:15-16) คำภาษากรีกว่า agalliasis ซึ่งในที่นี้แปลว่า “ความยินดี” ปรากฏในหนังสือสดุดีเท่านั้น (ถึง 90 ครั้ง) และไม่ใช่คำที่ใช้ในวรรณกรรมคลาสสิกของกรีก คำนี้หมายถึง ความยินดีที่มนุษย์รู้สึกได้เมื่ออยู่เบื้องหน้าพระเจ้า ความยินดีที่พระเจ้าประทานให้ต่างจากความรื่นเริงของโลก ลูกามักจะพูดถึงความยินดีที่พระจิตเจ้าประทานให้ ประกาศกมาลาคีเคยกล่าวว่า “ท่านจะโลดเต้นเหมือนลูกวัวที่กระโดดออกจากคอก” (มลค 3:20)
    เราคริสตชนโลดเต้นด้วยความยินดีหรือไม่
“เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาของพระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”
    คำบอกเล่าทั้งหมดนี้ชุ่มโชกด้วยความเชื่อ ดังนั้นจึงต้องตีความโดยอาศัยความเชื่อเท่านั้น พระนางมารีย์ได้รับการสรรเสริญว่า “เป็นสุข (หรือได้รับพระพร)” เพราะความเชื่อของพระนาง ... เพราะพระนางเชื่อ
    พระเยซูเจ้าจะทรงยืนยันบุญลาภประการนี้ ... ซึ่งเป็น
บุญลาภประการแรกของพระวรสาร ... เมื่อมีคนกล่าวยกย่อง
พระมารดาของพระองค์ พระองค์ตรัสตอบว่า “คนทั้งหลายที่ฟังพระวาจาของพระเจ้า และปฏิบัติตามย่อมเป็นสุข” (ลก 11:28)
    บุญลาภนี้สามารถเป็นของเราได้เช่นกัน
        ข้าพเจ้าจัดสรรเวลาอย่างไร เพื่อรำพึงภาวนาตาม
พระวาจาของพระเจ้าในชีวิตของข้าพเจ้า ...
    จากนั้นก็ถึงเวลาเริ่มต้นบทเพลงสรรเสริญของ
พระนางมารีย์ ว่า “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้า”
    ความเชื่อ และความยินดีเป็นของคู่กัน ...