แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สี่ เทศกาลมหาพรต


ลูกา 15:1-3, 11-32
    บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและ
กินอาหารร่วมกับเขา” พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมาให้เขาฟัง
    “ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด’ บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพล ผลาญเงินทองจนหมดสิ้น
    เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสน จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด”’ เขาก็กลับไปหาบิดา
    ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา บุตรจึงพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก’ แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า ‘เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’ แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น
    ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน
ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ผู้รับใช้บอกเขาว่า ‘น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย’ บุตรคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบบิดาว่า ‘ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย’
    บิดาพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’”

บทรำพึงที่ 1
เรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
    ถ้าต้องทำลายพระคัมภีร์ทั้งฉบับและเหลือไว้เพียงเรื่องเดียว ข้าพเจ้าขอเลือกเก็บรักษาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของบาป และการให้อภัยอย่างสิ้นเชิงของพระเจ้า นี่คือแก่นแท้ของประวัติศาสตร์ความรอด เรื่องนี้บอกเล่าสามขั้นตอนของการเดินทางลงสู่ปลักแห่งบาป ตามมาด้วยสามขั้นตอนของการเดินทางกลับมาหาบิดาผู้กำลังรอคอย
    ขั้นตอนแรกที่นำไปสู่บาป คือ การยกตนให้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง “โปรดให้ส่วนที่เป็นสิทธิของฉัน” พินัยกรรมของบิดา และการมอบมรดกไม่ควรเกิดขึ้นจนกว่าบิดาได้เสียชีวิตแล้ว จึงเท่ากับว่าบุตรคนนี้กำลังพูดกับบิดาว่า “ผมต้องการมรดกเดี๋ยวนี้ ผมต้องการให้พ่อหลบไปให้พ้นทางของผม” นี่คือจุดเริ่มต้นของบาป เมื่อข้าพเจ้าบอกพระเจ้าว่าบัดนี้ข้าพเจ้าจะทำอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าพระองค์จะชอบหรือไม่ก็ตาม
พระคัมภีร์บอกเราตั้งแต่แรกว่านี่คือการประจญอันดับแรก “นี่คือต้นไม้แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว กินผลไม้นั้นแล้วท่านจะเป็นเหมือนพระเจ้า ท่านจะมีเสรีภาพในการกำหนดบทบัญญัติ และหลักศีลธรรมของท่านเอง”
    หลังจากได้ตั้งตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแล้ว ขั้นต่อไป คือ การเดินทางออกจากบ้าน และคุณค่าต่าง ๆ ที่คำว่า “บ้าน” เป็นสัญลักษณ์ “ประเทศห่างไกล... ประพฤติเสเพล... ผลาญเงินทองจนหมดสิ้น...” ข้อความเหล่านี้แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วของคุณค่าต่าง ๆ นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เขาออกจากบ้าน
    ขั้นที่สามของบาป คือ การกันดารอาหาร ความขาดแคลนสันติในใจ ขาดความรู้จักพอและความยินดี การสูญเสียความเคารพตนเอง และอุดมการณ์ ทั้งหมดนี้เป็นการลงโทษตนเองซึ่งเกิดจากบาป สำหรับชาวยิว การกินอาหารที่หมูกิน หมายถึงการตกต่ำถึงที่สุด
    จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อชายหนุ่มรู้สึกตัว เขามองย้อนกลับไปในชีวิต และไม่ชอบภาพที่เขาเห็น มนุษย์หลายคนไม่ชอบสภาพชีวิตที่เขามองเห็น แต่ไม่รู้ว่าจะหันไปทางใด เขาตกอยู่ในความเศร้าที่กัดกินหัวใจ นี่คือความเศร้าของปีศาจ ยิ่งมันกัดกินหัวใจมากเท่าใด เราจะยิ่งขาดความมั่นใจเท่านั้น และจะอ่อนไหวมากขึ้นต่อการประจญครั้งต่อไป
    เป็นโชคดีของคนบาปคนนี้ที่เขาระลึกถึงบ้านของบิดา และความใจกว้างที่มีอยู่มากมายที่นั่น การระลึกได้เช่นนี้ทำให้เขารู้ว่าจะต้องก้าวไปในทิศทางใด ความเศร้าใจเปลี่ยนเป็นการกลับใจ คำว่ากลับใจ (repent) มาจากศัพท์ภาษาละติน re-pensare คือการคิดใหม่ (re-think) ในการคิดใหม่นี้เขาตัดสินใจจะทำสามอย่าง คือ ฉันจะออกจากที่นี่ ฉันจะไปหาพ่อ ฉันจะพูดว่า “ลูก
ทำบาป ผิดต่อสวรรค์ และต่อพ่อ”
    การสารภาพบาปอย่างจริงใจเป็นหนึ่งในวิธีดีที่สุดที่ช่วยให้จิตใจสงบ ในการรักษาด้านจิตเวช สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ยอมรับความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเอง
    เมื่อเราพูดว่า “ฉันได้ทำบาป” เรายอมรับผิดชอบในความผิดที่เรากระทำ “ต่อสวรรค์” เผยว่าเราได้ดูหมิ่นพระเจ้า ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในบาปทุกข้อ จากนั้น บุตรชายได้ขออภัยที่เขาทำให้บิดาเสียใจ การสารภาพบาปอย่างจริงใจต้องประกอบด้วยการชดเชยความเสียหาย หรือความอยุติธรรมที่เรากระทำต่อผู้อื่นด้วย
    จากนั้น จุดศูนย์กลางของเรื่องก็เปลี่ยนไปเป็นบิดา นี่คือภาพของพระเจ้าที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด บิดาผู้นี้โยนความชอบธรรมและศักดิ์ศรีของตนทิ้งไปเมื่อเขาวิ่งไปหาบุตรชาย ดึงตัวบุตรมากอดและพาเขากลับบ้าน เขาให้บุตรชายสวมเสื้อผ้าที่แสดงว่าเขาเป็นสมาชิกครอบครัวอย่างเต็มตัว ซึ่งไม่ใช่การให้อภัยเพียงบางส่วน หรือมีเงื่อนไข แต่เป็นการยอมรับบุตรชายกลับเข้ามาในครอบครัวอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นเหตุการณ์ที่สมควรเฉลิมฉลอง
    คนจำนวนมากไม่เห็นความจำเป็นต้องมารับศีลอภัยบาป “ฉันจะสารภาพบาปโดยตรงกับพระเจ้าไม่ได้หรือ” แน่นอน เราต้องสารภาพความผิดของเราต่อพระเจ้าเป็นส่วนตัว จุดประสงค์ของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้คือการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเยซู
คริสตเจ้า ซึ่งบัดนี้มีผลต่อชีวิตของเรา บิดาคนนี้สามารถรับบุตรชายกลับเข้าบ้านอย่างเงียบ ๆ ทางประตูหลังก็ได้ แต่สำหรับบิดาที่รักบุตรมากเช่นนี้ การทำอย่างนั้นยังไม่พอ ความรักของเขาเรียกร้องให้เขาเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดี ในศีลอภัยบาป การกลับใจของคนบาปถูกเปลี่ยนให้เป็นความชื่นชมยินดีของพระศาสนจักร ขณะที่เราเฉลิมฉลองบุญบารมีอันเกิดจากการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งมีผลต่อชีวิตของเรา
    นี่คือเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบอกเล่ากันมาอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้นำเราออกจากปลักแห่งความเศร้าหมอง ไปสู่ขั้นตอนของการกลับใจ และไปถึงโต๊ะอาหารแห่งความชื่นชมยินดีในที่สุด

 

บทรำพึงที่ 2
 “พ่อครับ ลูกทำบาป ผิดต่อสวรรค์ และต่อพ่อ”
    การกลับมาของบุตรล้างผลาญเริ่มขึ้นเมื่อเขารู้สึกตัว และยอมรับในใจว่าเขาได้ทำสิ่งที่โง่เขลาลงไป ขั้นตอนต่อไปคือต้องแก้ไขผลร้ายต่อสังคมที่เกิดจากการดำเนินชีวิตของเขา ซึ่งหมายความว่าเขาต้องไปหาบิดาและขอโทษ นอกจากนี้ เขารู้สึกว่าเขาสมควรถูกลดฐานะจากการเป็นบุตร กลายเป็นผู้รับใช้
มิติที่สามของการกลับมาของเขา คือเขายอมรับว่าเขาได้ทำบาปผิดต่อสวรรค์ การกลับมาหาบิดาของบุตรผู้นี้เป็นพื้นฐานของ
ศีลอภัยบาป แต่คนจำนวนมากไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติของ
ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ และทำให้การสารภาพบาปกลายเป็นพิธีที่ทำกันเป็นกิจวัตร หลังจากไปสารภาพบาปแล้ว คนเหล่านี้รู้สึกไม่สบายใจ หรือถึงกับเกลียดการสารภาพบาป ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ห่างไกลอย่างยิ่งจากการเฉลิมฉลองการคืนดีกันของคนในครอบครัว การโปรดศีลอภัยบาปที่กระทำในรูปแบบที่เหมือนกับการขึ้นศาล ทำให้หลายคนมองว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาที่ชอบตำหนิติเตียน
    เรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงเล่านี้ วาดภาพของพระเจ้าว่าทรงเป็นบิดาที่พร้อมจะให้อย่างใจกว้าง และให้อภัยอย่างใจกว้างมากยิ่งกว่า เพราะพระองค์ยังให้ต่อไปแก่บุตรผู้ผลาญมรดกจนหมดสิ้น และทำให้พระองค์เสียชื่อเสียง นโยบายที่เรียกศีลอภัยบาปว่าเป็นศีลแห่งการคืนดี สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนจุดยืนที่สำคัญ บางครั้งปัญหาในการคืนดีของเราเกิดจากเราไม่ยอมเลิกใช้
ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างเด็ก ๆ หรือไม่คิดว่าศีลศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นมากกว่าพิธีที่ทำเป็นกิจวัตร โดยขาดความจริงใจ และไม่มีความท้าทายใหม่ ๆ อีกปัญหาหนึ่ง คือ เราไม่สามารถหาพระสงฆ์ที่รู้ว่าควรเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร
    ปัญหาร้ายแรงที่สุดคือความสับสนของคนทั่วไปเกี่ยวกับบาป อะไรคือ “บาปผิดต่อสวรรค์” สำนึกในบาปของเราไม่เฉียบคมเพราะได้รับอิทธิพลต่าง ๆ เช่น คำโฆษณาชวนเชื่อทางโลกที่บอกให้เรานับถือคุณค่าของการทำงาน และผลผลิต และความบันเทิงในขณะที่ความเชื่อในพระเจ้า (ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และจุดหมายปลายทางของเรา) ไม่ได้รับความสนใจสักเท่าไร เพราะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและอาชีพของเรา ความบันเทิงที่ขัดต่อศีลธรรมโดยสิ้นเชิง ซึ่งป้อนให้จิตใจของเราผ่านทางโทรทัศน์ วิดีทัศน์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์; หลักจิตวิทยาตื้น ๆ ที่หาคำอธิบายมาลบล้างความรับผิดชอบ และความรู้สึกผิดของเรา; ความสับสนที่เกิดจากการตีความที่แตกต่างในหมู่
นักเทววิทยาเกี่ยวกับประเด็นสำคัญทางศีลธรรม; จุดยืน
ที่เปลี่ยนไปจากขั้วหนึ่งที่มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นบาปไปหมด กลายเป็นอีกขั้วหนึ่งที่คิดว่าไม่มีอะไรเป็นบาป; จุดยืนที่เปลี่ยนไปจากการเน้นให้กลัวการลงโทษ กลายเป็นการมองความรักของพระเจ้าอย่างขาดสมดุล โดยทำให้คิดว่าเราจะไม่ต้องเผชิญกับแสงสว่างจากการพิพากษา; ที่สำคัญที่สุด คือ การขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านทางการภาวนา และ “การบดบังความคิดเกี่ยวกับความเป็นบิดาของพระเจ้า และอิทธิพลของพระองค์ต่อชีวิตมนุษย์” (พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2)
    ดังนั้น ในขณะที่หลายฝ่ายในโลกพร่ำบอกเราว่าบาปเป็นเรื่องล้าสมัย และเป็นความคิดที่เป็นอันตราย พระวรสารกลับเน้นความจำเป็นต้องพูดว่า “พ่อครับ ลูกได้ทำบาปผิดต่อสวรรค์” ท่านสารภาพอย่างถ่อมตน และจริงใจ ว่าท่านได้ทำบาปครั้งสุดท้ายเมื่อใด ท่านสารภาพอย่างจริงใจเพียงใด การสารภาพนั้นเป็นการยอมรับอย่างถ่อมตนในข้อบกพร่องของทัศนคติหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเป็นการพูดกว้าง ๆ ซึ่งท่านปิดบังมากกว่าสารภาพ ขณะนี้วิญญาณของท่านอยู่ในประเทศห่างไกลจากความสนิทสนมกับพระบิดาหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ถึงเวลากลับบ้านแล้ว ท่านกำลังปรนเปรอจิตใจของท่านด้วยอาหารหมูประเภทใด ท่านลืมอาหารรสเลิศบนโต๊ะอาหารของพระบิดาของท่านแล้วหรือ “จงลิ้มชิม และดูว่าพระเจ้านั้นประเสริฐ”
    บ่อยครั้งที่การสารภาพบาปทำได้ง่ายกว่าที่เราคาดไว้ เมื่อบุตรล้างผลาญเตรียมคำพูดที่เขาวางแผนจะพูดข้อความที่
น่าอับอายมาก ว่า “โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด” แต่พ่อของเขาต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น และใจกว้างจนเขารู้ทันทีว่า ถ้าเขาเสนอสิ่งใดที่ต่ำกว่าการกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างสมบูรณ์ นั่นย่อมเป็นการดูหมิ่นน้ำใจของบิดา ดังนั้น เขาจึง
ไม่พูดประโยคที่ขอเป็นผู้รับใช้ การคืนดีเป็นของประทานจาก
พระบิดาสวรรค์ และบุตรที่ยากไร้มากพอที่จะวิงวอนขอคืนดี ย่อมใกล้ชิดบิดามากกว่าบุตรอีกคนหนึ่ง ผู้ไม่เคยร้องขออะไรเลย
    เมื่อเรารำพึงไตร่ตรองในใจของเรา เราจะสำนึก และสารภาพผิดต่อพระเจ้าในใจ เราแสดงความจริงใจต่อผู้อื่นด้วยการเสนอคำขออภัยและท่าทีแห่งการชดเชย ศีลอภัยบาปเป็นช่วงเวลาที่เราเฉลิมฉลองการกระทำเป็นส่วนตัว และต่อสังคมเช่นนี้ หลังจากที่เราได้รับความรักที่มีแต่ให้ และมีแต่ให้อภัยของพระเจ้า

บทรำพึงที่ 3
บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า
ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและ
กินอาหารร่วมกับเขา” พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง
    ข้อความนี้เป็นอารัมภบทสำหรับ “อุปมาสามเรื่องเกี่ยวกับความเมตตา” คือ เรื่องแกะที่พลัดหลง เรื่องเงินเหรียญที่หายไป เรื่องบุตรล้างผลาญ พระเยซูเจ้าทรงเล่าสามเรื่องนี้เพื่อแก้ต่างที่พระองค์ทรงคบหาสมาคมกับ “คนบาป” ซึ่งทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจ
    ข้าพเจ้าจึงเริ่มต้นเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่ในวงล้อมของคนบาป ทรงร่วมโต๊ะอาหารกับคนเหล่านี้...โต๊ะอาหารอันเป็นธรรมล้ำลึก เป็นที่ซึ่งคนบาปนั่งร่วมโต๊ะกับพระเยซูเจ้า...พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสอะไรกับคนเหล่านี้ จึงได้ดึงดูดใจพวกเขาเช่นนี้...และทำให้ผู้อื่นต่อต้านอย่างรุนแรง
“ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน ...”
    เรามักนิสัยเสีย เราจะฟังแต่ภาคแรกของเรื่องอุปมา ซึ่งกล่าวถึงบุตรชายคนเล็ก หรือ “บุตรล้างผลาญ” แต่เห็นได้ชัดว่า “บิดา” เป็นตัวละครเอกในเรื่องนี้ “ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน”
    อันที่จริง เรากำลังจะได้ยินอุปมาเรื่อง “บิดาผู้สุรุ่ยสุร่าย” เป็นละครที่มีสององก์ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างบิดาและบุตรทั้งสองของเขา และเขารักบุตรทั้งสองนี้มาก และรัก
เท่าเทียมกัน
    เราพบเห็นเรื่องราวทำนองนี้ได้ในหลายครอบครัวในปัจจุบัน บิดามารดาทั้งหลาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านเป็นเรื่องจริงของพระเจ้า ดังนั้น จงฟังนิยายรักอันงดงามที่สุด และเห็นภาพอันงดงามที่สุดของพระเจ้าเถิด
องก์ที่หนึ่ง – ทัศนคติของบิดาต่อบุตรชายคนเล็ก
บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน
    บุตรชายคนเล็กนี้เป็นคนที่คิดถึงแต่ผลกำไร เขาเรียกร้องเงินทอง...เงินทองจำนวนมาก...เขาคิดถึงแต่ตนเอง เขาได้รับทุกสิ่งทุกอย่างจากบิดา แต่ไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ เขารู้แต่สิ่งเดียว คือ เรียกร้อง บีบบังคับบิดา และอ้างสิทธิ์ของตน
    ส่วนบิดามีนิสัยตรงกันข้าม เขาไม่เห็นแก่ตัว รู้จักแบ่งปัน ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เคารพในเสรีภาพของผู้อื่น และมีแต่ความรัก
    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าพระเจ้าเป็นอย่างไร โดยใช้บิดา
ผู้นี้เป็นภาพลักษณ์ เรามองเห็นว่าพระเจ้าก็เป็นเช่นนี้ด้วยหรือไม่
ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพล ผลาญเงินทองจนหมดสิ้น    เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสน จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกิน
อุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูก
ไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด”’ เขาก็กลับไปหาบิดา
    บุตรคนเล็กนี้ คือ ภาพลักษณ์ของคนบาปได้อย่างแท้จริงในสายตาของชาวฟาริสี
    ก)    บุตรที่กบฏ เรียกร้องอิสรภาพ เขาเป็นภาพลักษณ์แท้ของบุคคลทุกยุคสมัยที่ไม่นับถือพระเจ้า ที่ใช้สอยทรัพยากรที่พระเจ้าประทานให้แต่ไม่ยอมรับพระองค์ ที่ต้องการอยู่ห่างจากพระเจ้า ทำตามอำเภอใจโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ “ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเจ้านาย” ทัศนคติเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
    ข)    นอกจากนี้ ในสายตาของชาวฟาริสี บุตรชาวอิสราเอลคนนี้ตกต่ำถึงที่สุด เขาไปรับจ้างทำงานให้คนต่างศาสนา เขาไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับในวันสับบาโต เขาไม่ยึดถือกฎเกี่ยวกับอาหาร เขาไปเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นสัตว์มีมลทิน ต้องห้าม และ
น่ารังเกียจ
    ค)    แม้แต่ในสายตาของมนุษย์ทั่วไป วิถีชีวิตของเขาก็ผิดศีลธรรม เขาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทำตัวไม่สมกับเป็นมนุษย์ และลดศักดิ์ศรีตนเองไปสู่ความเป็นสัตว์ อันที่จริง เขาดำเนินชีวิตเหมือนหมูตัวหนึ่ง เขาคิดถึงแต่เงิน อาหาร และเพศ
    เราแต่งเติมภาพของเขาให้ดูสวยหรูเกินไป เมื่อเราชื่นชม
“การกลับใจ” ของเขา อันที่จริง เขายังเห็นแก่ตัวที่สุดเหมือนเดิม ผลประโยชน์ส่วนตนกลายเป็นพระเจ้าของเขา เขาคิดแต่จะ
หาอาหารใส่ท้อง...แม้ว่าคำพูดของเขาจะสวยงาม แต่การกลับบ้านของเขาเป็นผลมาจากการคิดคำนวณอย่างเห็นแก่ตัวแล้ว เขาหวังจะหาที่อยู่อาศัยและอาหาร ท้องของเขาทำให้เขาเจ็บปวดมากกว่าหัวใจของเขา เขาเป็นเหยื่อของกิเลสตัณหาและเพื่อนฝูง เขาสูญเสียนิสัยที่จะรักผู้อื่นแล้ว เขายังคิดถึงตนเองอยู่เสมอ
    พระเจ้าข้า นี่คือภาพลักษณ์ของข้าพเจ้าด้วยหรือไม่ อนิจจา บ่อยครั้งทีเดียวที่ข้าพเจ้าก็มีวิถีชีวิตเช่นเดียวกันนี้
ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา
    เราต้องสังเกตว่าบุตรยังไม่ได้เปิดปากพูด...บิดาเป็นฝ่ายทำทุกอย่าง เขาแสดงท่าทีสี่อย่าง คือ เขามองเห็นบุตรแต่ไกล ... เขารู้สึกสงสาร ... เขาวิ่ง ... เขาสวมกอดบุตร
    การวิ่งอาจเป็นภาพที่สะดุดใจมากที่สุดในอุปมาเรื่องนี้ ไม่ว่าในยุคใดหรือสถานที่ใด ไม่มีธรรมเนียมที่ผู้อาวุโสกว่าวิ่งไปหาผู้อ่อนอาวุโสกว่า โดยเฉพาะเมื่อผู้อ่อนอาวุโสได้ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมต่อผู้ที่มีอาวุโสกว่า
    ถูกแล้ว เราบิดเบือนเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้าโดยสิ้นเชิง เมื่อเรานำเสนอการกลับมาของบุตรชายว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของ “การกลับใจ” ถ้าพระเยซูเจ้าทรงบรรยายว่าคนบาปคนนี้เป็นทุกข์เสียใจ ชาวฟาริสีคงไม่สะดุดใจกับคำสั่งสอนของพระองค์ ชาวอิสราเอลมีธรรมประเพณีที่บอกเล่าต่อกันมานาน และอันที่จริงพระคัมภีร์ทั้งเล่มก็ยืนยันเช่นนั้น ว่าพระเจ้าทรงให้อภัยคนบาปที่กลับใจเสมอ แต่ในที่นี้ บิดาแสดงท่าทีมากยิ่งกว่านั้น เขาไม่สนใจแม้แต่น้อยว่าบุตรชายแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริงหรือไม่ ทันทีที่เห็นบุตรชายเดินมาแต่ไกล เขาก็วิ่งไปหา
พระเยซูเจ้าไม่ทรงเน้นพฤติกรรมของบุตรล้างผลาญ หรือการแสดงความเสียใจ หรือการชดเชยความผิด แต่ทรงเน้นที่ความรักที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนของบิดา ผู้ให้อภัยบุตรชายของตนตั้งแต่ก่อนที่บุตรจะแสดงความเสียใจ บิดาคนนี้ให้อภัยโดยไม่มีเงื่อนไข
    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าการเป็น “บุตร” หมายถึงอะไร การเป็นบุตรไม่ได้หมายถึงการแสดงทัศนคติบางอย่างต่อบิดาหรือมารดา แต่หมายถึงการได้รับความรักจากบิดาหรือมารดา ไม่ว่าบุตรคนนั้นสมควรได้รับความรักหรือไม่ก็ตาม ประกาศกโฮเชยาได้เผยความจริงข้อนี้มาแล้ว ว่าพระเจ้ายังรักคนรักของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ แม้ว่าคนรักนั้นไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ก็ตาม (ฮชย 3:1, 11, 1-9, 14:5-9)
    ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงรักเราด้วยความรักอันสุรุ่ยสุร่ายเหลือเกิน
    ท่านทั้งหลายผู้ประกาศตัวเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า...ท่านทั้งหลายที่ดำเนินชีวิตเหมือนกับคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า...คนบาปทั้งหลายที่หนีไปไกลจากพระเจ้า...พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกท่านว่า “แม้ว่าท่านไม่เชื่อในพระเจ้าและไม่รักพระองค์ แต่พระองค์ไม่เคยหยุดเชื่อในตัวท่าน และไม่เคยหยุดรักท่าน”
    เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมคนบาปจึงวิ่งตามพระเยซูเจ้า
บุตรจึงพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ
ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก” แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด”
    บิดาไม่ยอมให้บุตรพูดจนจบประโยคที่เขาซักซ้อมมาพูด แต่เขามอบของขวัญมากมายให้แก่ลูก นี่คือการเลี้ยงฉลองสมรสอย่างแท้จริง ทั้งเสื้อผ้า แหวน รองเท้า อาหารอร่อย และดนตรี
เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้วได้พบกันอีก” แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น
    องก์ที่หนึ่งจบลงด้วยประโยคนี้ ซึ่งบิดาจะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเปลี่ยนคำว่า “ลูกของเรา” เป็น “น้องชายของลูก”
    ตายแล้วกลับมีชีวิต ... หายไปแล้วได้พบกันอีก ...
พระเยซูเจ้าทรงหมายถึงความตายประเภทใด
    นี่คือการเผยแสดงความจริงอันน่าเศร้าที่พระเยซูเจ้าทรงเผยต่อจิตใจที่ไม่รู้จักคิดของเรา ว่าการอยู่ห่างจากพระเจ้าก็คือการตาย มนุษย์ดำรงอยู่ได้เพียงเมื่อเขาอยู่ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเท่านั้น ความเชื่อเท่านั้นที่ช่วยเราให้มองเห็นความจริง เราอาจคิดว่าเรามีชีวิต ทั้งที่เราตายแล้ว
    งานเลี้ยงฉลองของพระเจ้า...ความยินดีของพระเจ้า...การกลับใจ หมายถึงการเข้าสู่ความยินดีนี้ และนี่คือสิ่งที่บุตรชายคนโตไม่ยอมทำ


องก์ที่สอง : ทัศนคติของบิดาต่อบุตรชายคนโต
ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” ผู้รับใช้บอกเขาว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย” บุตรคนโต
รู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป
    บิดาแสดงความใจดีต่อบุตรคนโตเช่นเดียวกัน เขาออกมาหา และขอร้องบุตรชาย
    พระคัมภีร์มักกล่าวถึงพระพรที่พระเจ้าประทานให้ว่าเป็นพระพรที่ให้เปล่า ๆ และกล่าวถึงบุตรคนเล็กที่แย่งตำแหน่งของบุตรคนโต (ปฐก 27:36, 1 มคบ 4:26, สภษ 30:23, ฮชย 12:4) ดังนั้น ชาวฟาริสีควรระลึกว่า ยาโคบแย่งตำแหน่งของเอซาว และได้รับมรดกซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับอย่างไร ในทำนองเดียวกัน “คนงานที่ทำงานเป็นกลุ่มสุดท้าย” จะแย่งตำแหน่งของ “คนงานกลุ่มแรกในสวนองุ่น” (มธ 20:8) และในทำนองเดียวกัน “พวกที่เป็นกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นกลุ่มแรก” (ลก 13:30,
1คร 15:18) และ “คนต่างศาสนา” จะเข้ามาแทนที่ “ประชากรเลือกสรร” ความรักของพระเจ้าเป็นความรักที่ให้เปล่า และประทานให้ตามน้ำพระทัยของพระองค์ (รม 9:30)
    ทัศนคติเช่นนี้ของพระเจ้าไม่ใช่ความอยุติธรรม พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน “ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ” (มธ 20:15)
    ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณสำหรับความรักที่ทรงมีต่อมนุษย์ทุกคน บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าสงสัยว่าข้าพเจ้ารักพระองค์จริงหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าแน่ใจว่าพระองค์ทรงรักข้าพเจ้า...
แต่บุตรคนโตตอบบิดาว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคย
ฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขา
คบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัว
ที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย”
    ด้วยคำพูดเหล่านี้ บุตรคนโตเผยให้เห็นจุดสูงสุดของเรื่องอุปมานี้ กล่าวคือ เขาไม่ตระหนักว่าพ่อของเขารักเขามากเพียงไร “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก”
    จากทั้งสององก์ของเรื่องอุปมานี้ เราได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในความรักของพระเจ้า และมาอยู่ในความยินดีของพระองค์ที่ได้ “พบคนบาปที่กลับมา”...นี่คือการประกาศถึงการกลับใจของชนต่างชาติต่างศาสนา ผู้จะเข้ามาเป็นประชากรใหม่ของพระเจ้าเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง ลูกาจะเขียนข้อความเหล่านี้ว่าออกจากปากของเปโตร เมื่อเปโตรได้เห็นพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่นายร้อยชาวโรมันชื่อโครเนลีอัส “ในเมื่อพระเจ้าประทานพระพรแก่เขาเช่นเดียวกับที่ประทานแก่เรา ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าที่จะขัดขวางพระเจ้าได้” (กจ 11:17)
    และอุปมาเรื่องบุตรที่หายไป และได้พบกันอีก จึงจบลงด้วยประโยคที่แสดงความยินดีเหมือนกับอุปมาสองเรื่องก่อนหน้านี้ (ซึ่งบอกเล่าในวันอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา)
    เรื่องแกะที่พลัดหลง (ลก 15:6)    เรื่องเงินเหรียญที่หายไป (ลก 15:9)
    “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด        “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด
    ฉันพบแกะตัวที่พลัดหลงนั้นแล้ว”    ฉันพบเงินเหรียญที่หายไปแล้ว”
    บุตรชายคนเล็ก (ลก 15:23)    บุตรชายคนโต (ลก 15:31)
    “กินเลี้ยงฉลองกันเถิด        “ต้องเลี้ยงฉลอง และชื่นชมยินดี
    เพราะลูกของเราผู้นี้            เพราะน้องชายคนนี้ของลูก
    ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก    ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก
    หายไปแล้วได้พบกันอีก”    หายไปแล้วได้พบกันอีก”
    ในประโยคสุดท้ายมีคำเดียวที่เปลี่ยนไปคือคำว่า “ลูก”
ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “น้องชาย”
    พระเจ้าทรงเป็นบิดา นี่คือความจริงแน่นอน พระองค์ทรงรักบุตรทุกคนของพระองค์ ... แต่มนุษย์จะนับว่าผู้อื่นเป็นพี่น้องด้วยหรือไม่
    บุตรชายคนโตจะยอมเชื่อ และ “เข้าสู่ความยินดีของบิดา” หรือไม่... เราไม่ทราบ...อุปมาเรื่องนี้จบลงแบบปลายเปิด...
    เราต้องเป็นผู้เขียนตอนจบของเรื่องนี้เอง...เราต้อง “เข้า
สู่งานเลี้ยงฉลองของพระเจ้า”