วันอาทิตย์พระทรมาน
ลูกา 22:14-23:56
เนื่องจากบทอ่านนี้ยาวมาก ผู้อ่านจึงควรอ่านจากพระคัมภีร์โดยตรง
บทรำพึงที่ 1
คำอธิษฐานภาวนาระหว่างพระทรมาน
ลูกาไม่เคยยอมให้เราลืมว่าความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ดังที่พระเยซูเจ้าทรงอธิบายให้ศิษย์ของพระองค์เข้าใจระหว่างทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุสว่า “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26)
เมื่อลูกาบอกเล่าเรื่องพระทรมาน เขาแสดงให้เห็นแผนการของพระเจ้าภายในเรื่องราวของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยการวางแผน การทรยศ ความทุกข์ทรมาน และความตาย เขาเตือนใจผู้อ่านในทุกขั้นตอนของเรื่องว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด และต่อเนื่องกับพระบิดา บรรยากาศของคำบอกเล่าเต็มไปด้วยการอธิษฐานภาวนา
ตามคำบอกเล่าของลูกา พระทรมานเริ่มต้นตั้งแต่งานเลี้ยงปัสกา ซึ่งทำให้เห็นความหมายด้านพิธีกรรมของเหตุการณ์ทั้งหมดหลังจากนั้น ปัสกาเป็นการระลึกถึงการเดินทางของประชากรของพระเจ้าออกจากความเป็นทาสในประเทศอียิปต์ ลูกาใช้คำบอกเล่าหลายบทเพื่อบรรยายการเดินทางของพระเยซูเจ้าไปสู่กรุงเยรูซาเล็มว่า “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว” (9:51) เมื่อเวลานั้นมาถึงพระองค์ทรงนั่งลงที่โต๊ะอาหารพร้อมกับศิษย์ของพระองค์ และตรัสว่า “เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน เราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกาอีกจนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า” (22:14-16)
ก่อนจะเริ่มต้นงานเลี้ยงปัสกา หัวหน้าครอบครัวจะเล่าเรื่องการอพยพ เพื่ออธิบายที่มาที่ไปของงานเลี้ยงนี้ ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่งานเลี้ยงปัสกา ด้วยการบิปัง และเสกเหล้าองุ่น ขนมปังคือพระกายของพระองค์ซึ่งพระองค์จะถวายเป็นเครื่องบูชาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ และถ้วยเหล้าองุ่นที่ทรงเสกก็คือพระโลหิต ซึ่งรับรองพันธสัญญาใหม่ ดังนั้น อาหารค่ำมื้อสุดท้ายจึงเป็นงานเลี้ยงฉลองปัสกาใหม่ เราจึงควรมองเหตุการณ์พระทรมานทั้งหมดต่อจากนั้นในบริบทของพันธสัญญาใหม่กับพระเจ้า
เรื่องดำเนินต่อไป จากห้องอาหารไปสู่สวนมะกอกเทศ เหตุการณ์ในสวนมะกอกเทศตามคำบรรยายของลูกา มีการอธิษฐานภาวนาเป็นจุดสำคัญ ลูกาเข้าใจว่าการเข้าตรีทูตของพระองค์เป็นการทดสอบความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระเยซูเจ้ากับพระประสงค์ของพระบิดาระหว่างการภาวนาในระดับลึกสุด เขาแสดงภาพพระเยซูเจ้าทรงคุกเข่าภาวนา และมิใช่หมอบลงกับพื้นด้วยความเจ็บปวด ไม่มีการเอ่ยถึงความกลัวและความเศร้าใจ การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้ามีแต่ความสงบและความเข้มแข็ง พระองค์ทรงมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา ในบททดสอบนี้ พระองค์ทรงพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า การปรากฏกายของทูตสวรรค์มาถวายพละกำลังแด่พระองค์ เป็นสิ่งยืนยันว่าพระบิดาทรงรับบทพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของพระองค์แล้ว
ความซื่อสัตย์อันเป็นผลมาจากการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า กลายเป็นแบบอย่างสำหรับศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงเตือนพวกเขาตั้งแต่ต้นและในช่วงท้ายว่า “จงอธิษฐานภาวนาเถิด เพื่อจะไม่ถูกทดลอง” นี่คือคำวิงวอนประโยคสุดท้ายในบทภาวนาข้าแต่พระบิดา แต่ตรงกันข้ามกับความเข้มแข็งของพระเยซูเจ้าในการภาวนา ศิษย์ของพระองค์อ่อนแอ ความทุกข์ของพระองค์มากขึ้นเท่าไร คำภาวนาของพระองค์ก็ยิ่งมุ่งมั่นมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่ในขณะที่พระกายตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดจนพระเสโทหลั่งออกมาประดุจโลหิต แต่บรรดาศิษย์หมดแรงไปกับการทดลอง และพวกเขา “หลับอยู่เพราะความโศกเศร้า”
พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นจิตใจอันสงบระหว่างทรงเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ พระองค์ทรงมั่นใจในจุดยืนของพระองค์ต่อพระบิดา เพราะพระองค์ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาเลย เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์จึงตรัสน้อยมากกับบุคคลที่ตัดสินใจไว้ก่อนแล้วว่าจะกำจัดพระองค์ และไม่ตรัสอะไรเลยกับเฮโรด ผู้อยากรู้อยากเห็น
ปิลาตยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเขาไม่พบว่าพระองค์ได้ทำความผิดใด ๆ หลักฐานที่แสดงว่าปิลาตยอมรับว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ก็คือเขาอนุญาตให้ฝังพระศพในคูหาส่วนบุคคล แทนที่จะฝังในสุสานรวมที่จัดไว้ให้อาชญากรที่ถูกประหารชีวิต ดังนั้น ลูกาจึงแสดงภาพของพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นผู้รับใช้ผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า ผู้ทรงแบกรับความผิดของผู้อื่น แต่พระเจ้าทรงแก้ต่างให้พระองค์ในที่สุด ลูกาบันทึกบทบาทของพระเจ้าในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน
ที่เนินเขากัลวารีโอ ลูกาไม่เอ่ยถึงเสียงร้องอย่างน่าสงสารของพระเยซูเจ้าเพราะทรงกระหายน้ำ และถูกทอดทิ้ง ข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสทั้งสามครั้งล้วนเป็นคำภาวนา ในข้อความแรก พระเยซูเจ้าทรงวิงวอนพระบิดาให้ทรงให้อภัยผู้ที่ทำร้ายพระองค์ ความรักของพระองค์ไม่ลดลงเลย แม้ว่าทรงได้รับความ
อยุติธรรม ความเจ็บปวด และการเย้ยหยันจากคนเหล่านี้
หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์ และโจรกลับใจก็เต็มไปด้วยจิตตารมณ์การภาวนา ชายคนนี้หันมาพึ่งพระเยซูเจ้าด้วยความยำเกรงพระเจ้า เขายอมรับความผิดของเขา และในเวลาเดียวกันก็ยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ เราได้ยินบทภาวนาอันงดงามและอ่อนโยนจากปากของเขาว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” นี่เป็นครั้งแรกในพระวรสารที่เราได้ยินใครคนหนึ่งเรียกพระเยซูเจ้าด้วยพระนามของพระองค์ ในสภาพที่ต่างก็กำลังเจ็บปวดทรมานเหมือนกัน ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกพระองค์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือพระอาจารย์ แต่นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล ชายคนนี้ได้รับคำสัญญาจากพระเยซูเจ้าว่าเขาจะได้รับส่วนแบ่งในผลของเหตุการณ์ในวันนั้น “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์”
ข้อความที่สาม เป็นคำภาวนาของพระเยซูเจ้าเมื่อใกล้สิ้นพระชนม์ ในคำบอกเล่าของมาระโก และมัทธิว พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวด ทรงเปล่งเสียงดังพร้อมกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นครั้งสุดท้าย แต่ลูกาบอกเราว่าเสียงร้องนั้นเป็นคำภาวนาด้วยความไว้วางใจว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”
ปฏิกิริยาของพระเยซูเจ้าต่อความตายคืออธิษฐานภาวนา นายร้อยของกองทัพโรมันถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และพูดว่า “ชายคนนี้เป็นผู้ชอบธรรมแน่ทีเดียว” ประชาชนที่มาชุมนุมกันดูเหตุการณ์ก็ข้อนอกพากันกลับไป ซึ่งเป็นกิริยาของคนทั่วไปเมื่อภาวนาแสดงความทุกข์กลับใจ
ตลอดเรื่องราวนี้ ลูกายกความคิดของเราขึ้น ให้มองเห็นการประทับอยู่ของพระเจ้าในนาทีชีวิตของมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ และทรงมั่นใจว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรต่อพระบิดา กล่าวคือ พระองค์ทรงนบนอบเชื่อฟังพระประสงค์ของพระบิดาโดยสิ้นเชิง แม้แต่ขณะที่กำลังเจ็บปวดทรมานมากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงรับได้ พระองค์ก็ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความสงสาร และความเมตตา คำพูดของพระองค์ออกมาจากวิญญาณที่อธิษฐานภาวนาอย่างลึกล้ำเสมอ เมื่อเห็นแบบฉบับของพระองค์ ประชาชนจึงเริ่มหันหลังให้บาป และกลับใจ
ขอให้เรารู้สึกสะเทือนใจและข้อนอกเช่นเดียวกัน และหันไปถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ขณะที่เราไตร่ตรองเรื่องพระทรมานของ “ชายผู้ชอบธรรม” ผู้นั้น
บทรำพึงที่ 2
ท่านอยู่ที่นั่นหรือเปล่า
พระวรสารของลูกาเต็มไปด้วยผู้คน เขาเป็นนักประพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าจะเสนอความจริงที่เป็นนามธรรม เขาเป็นนักเทววิทยาผู้ประกาศถึงกิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ด้วยการบรรยายการกระทำต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้า และปฏิกิริยาของประชาชน ลูกามีความรู้สึกไวเสมอต่อความเคลื่อนไหวของความคิดและจิตใจมนุษย์ ในคำบอกเล่าเรื่อง
พระทรมาน เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์คนทั้งหลายที่เส้นทางชีวิตของเขาพาดผ่าน และเกี่ยวพันกับการเดินทางไปสู่ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า
การตั้งศีลมหาสนิทเป็นเหตุการณ์สำคัญของพระทรมาน ชาวยิวกินเลี้ยงปัสกาเพื่อรำลึกถึงกิจการของพระเจ้าในการอพยพ และพันธสัญญาที่พระองค์ทรงกระทำกับโมเสสฉันใด ขณะที่ลูกาเขียนพระวรสาร ศีลมหาสนิทก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการที่คริสตชนรำลึกถึงกิจการของพระเยซูเจ้าในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น และพันธสัญญาใหม่ที่พระองค์ทรงรับรองด้วยพระโลหิตของพระองค์ฉันนั้น
ศีลมหาสนิทเป็นตัวแทนของอุดมคติแห่งความรักอันครบครัน ซึ่งแสดงออกด้วยการพลีชีวิตของพระเยซูเจ้าเพื่อผู้อื่น แต่ลูกาตระหนักดีว่า ชีวิตของคริสตชนยังห่างไกลจากอุดมคตินั้น เขาเน้นพฤติกรรมของอัครสาวกสองคน คือ ยูดาส และเปโตร ซึ่งเป็นตัวแทนของบาปของคนยุคต่อมา เขาเชื่อมโยงการทรยศของยูดาสเข้ากับการถกเถียงในกลุ่มศิษย์ว่าผู้ใดยิ่งใหญ่ที่สุด ความคิดเกี่ยวกับอำนาจ และความสำคัญของตนเองเช่นนี้ เป็นการทรยศต่อความคิดของพระเยซูเจ้า ซึ่งไม่ต่างจากการทรยศของยูดาส
หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์ แม้ว่าเปโตรได้รับเลือกเป็นพิเศษ และพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อเขาเป็นพิเศษ แต่เปโตรก็ยังพ่ายแพ้ในการทดสอบ ก่อนจะสำนึกผิดเมื่อได้รับพระหรรษทานจากพระเจ้า การทดสอบเปโตรเมื่อเขาเผชิญหน้ากับการต่อต้าน ก็เหมือนกับการทดสอบคริสตชนในเวลาต่อมา เมื่อพวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ คำสั่งสอนก่อนหน้านั้นที่ให้อัครสาวกเดินทางอย่างเรียบง่ายโดยไม่มีถุงเงิน หรือย่าม ในหมู่ประชาชนที่พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขา จะต้องเปลี่ยนไปเมื่อศิษย์ทั้งหลายต้องเผชิญกับความมุ่งร้ายและการเบียดเบียน
พระเยซูเจ้าทรงเตือนเขาว่า “ผู้ใดไม่มีดาบก็จงขายเสื้อคลุมเพื่อซื้อดาบเถิด” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง แต่ “การซื้อดาบ” เป็นการพูดเปรียบเทียบให้บรรดาศิษย์เตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรู และการทดสอบ
น่าสนใจที่อุดมการณ์แรกเริ่มของคณะฟรังซิสกัน ที่ให้ถือความยากจน และการเทศน์สอนโดยไม่ต้องพึ่งความรู้ ก็ยังต้องยอมรับความเป็นจริง เมื่อนักบวชทั้งหลายเดินทางออกนอกเขตประเทศอิตาลีซึ่งประชาชนยินดีต้อนรับช่วยเหลือนักบวชเหล่านี้ เมื่อนั้น ฟรังซิสยอมรับว่าการศึกษา หนังสือ และบ้านเป็นสิ่งจำเป็น
ลูกาบอกเล่าช่วงเวลาอันงดงามเมื่อพระเจ้าแสดงความเมตตาต่อเปโตร พระเยซูเจ้าทรงถูกนำตัวออกไปยังลานบ้าน พระองค์ทรงเหลียวมามองเปโตร ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด เปโตรนึกขึ้นได้ เขาระลึกได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำนายว่าเขาจะปฏิเสธพระองค์...เขาระลึกได้ถึงวันเวลาที่มีความสุขในอดีต และความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น...เขาระลึกถึงเช้าวันนั้นที่ทะเลสาบ...และวันนั้นบนภูเขา...เปโตรจึงออกไปข้างนอก และร้องไห้อย่างขมขื่น
นี่เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ลูกาชอบกล่าวถึง คือ ความเมตตาของพระเจ้า และการกลับใจของมนุษย์ ไม้กางเขนที่สร้างขึ้นในยุคกลางมักแสดงภาพของไก่ เพื่อเตือนใจมนุษย์มิให้จองหอง และทะนงตน
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าลูกาแทบไม่มีอะไรเหมือนกับผู้ที่เราเรียกกันว่า คริสตชน “เกิดใหม่” ผู้คิดว่าตนเองได้รับความรอดพ้น และพ้นจากบาปแล้ว บางคนไม่ยอมสวดบทวันทามารีย์ เพราะในบทภาวนานี้เรายอมรับว่าเราเป็นคนบาป และพวกเขาไม่ชอบข้อความว่า “เราลูกหลานของเอวา ผู้ถูกเนรเทศ” ในบทวันทาพระราชินี
พระศาสนจักรในยุคที่ลูกาเขียนพระวรสาร ก่อตั้งขึ้นบนศิลา คือ เปโตรผู้อ่อนแอและเป็นคนบาป ผู้ถูกทดสอบอย่างหนัก และถูกซาตานฝัดเหมือนข้าวสาลี แต่เขาได้รับพละกำลังจากคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า ในฐานะที่เป็นคนบาปคนหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกคุ้นเคย และมีความหวังเมื่ออยู่ในพระศาสนจักรนี้
ระหว่างทางไปยังเนินเขากัลวารีโอ พระเยซูเจ้าทรงได้รับความช่วยเหลือจากซีโมน ชาวไซรีน ซึ่งเป็นตัวแทนของศิษย์ทุกคนของพระเยซูเจ้า ผู้ช่วยแบ่งเบาภาระของเพื่อนมนุษย์ที่กำลังต่อสู้กับการแบกกางเขนในชีวิตของตน
ประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ ในจำนวนนี้มีสตรีกลุ่มหนึ่งที่เห็นใจพระเยซูเจ้า และเข้ามาปลอบโยนพระองค์
พระเยซูเจ้าตรัสแก่พวกนางว่า “จงร้องไห้สงสารตนเองและลูก ๆ เถิด” เพราะการเดินทางสู่เขากัลวารีโอของพระองค์จะเกิดขึ้นซ้ำอีกในความทุกข์ทรมานของคนทุกรุ่นที่ติดตามพระองค์ คริสตชนมองว่าความทุกข์ทรมานของตนเป็นการเข้าร่วมในพระทรมานของพระเยซูเจ้า
ซีเมโอนเคยทำนายว่า พระเยซูเจ้าจะเป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลง หรือลุกขึ้น ปฏิกิริยาของประชาชนบนเนินเขากัลวารีโอก็ต่างกันอย่างสุดขั้ว โจรสองคนเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย คนหนึ่งใจกระด้างมากขึ้นเพราะความขมขื่นและได้ดูหมิ่นพระองค์ แต่อีกคนหนึ่งสะเทือนใจกับความบริสุทธิ์ของพระเยซูเจ้า ทำให้เขาหันไปภาวนาต่อพระองค์ นี่เป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในพระวรสาร ที่มีใครเรียกพระองค์ว่า “เยซู” ทั้งนี้เพราะมนุษย์จะได้พบความรอดพ้นเพียงในพระนามของพระเยซูเจ้าเท่านั้น
ลูกาบอกเล่าปฏิกิริยาที่ประชาชนแสดงต่อการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า นายร้อยชาวโรมันเห็นเหตุการณ์ และประทับใจจนเขาถวายเกียรติแก่พระเจ้า เพราะเขาเห็นได้แล้วว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้ชอบธรรม” ลูกาบอกเราว่า ประชาชนพากันกลับไป พร้อมกับข้อนอกตนเองแสดงความสำนึกผิด
คนผิวดำชอบร้องเพลงสวดที่รู้จักกันดี เนื้อร้องเพลงนี้ถามว่า “ท่านอยู่ที่นั่นหรือเปล่าเมื่อเขาตรึงกางเขนองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ในคำบอกเล่าเรื่องพระทรมานของลุกา เราพบคนจำนวนมาก และเห็นปฏิกิริยาที่เขาแสดงต่อเหตุการณ์ในวันนั้น เราได้รับเชิญให้พาตัวเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นี้ และพิจารณาว่าเรายืนอยู่ที่ใด – เราอยู่กับพระเยซูเจ้า หรืออยู่กับเปโตร เราอยู่กับซีโมน ผู้ออกแรงช่วยเหลือพระองค์ หรืออยู่กับกลุ่มสตรีที่ได้แต่สงสารพระองค์ เราอยู่ในกลุ่มคนที่เย้ยหยันพระองค์ หรืออยู่ในกลุ่มคนที่สำนึกผิด ท่านอยู่ที่นั่นหรือเปล่า เหตุการณ์พระทรมานนี้กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา และในตัวเราในวันนี้หรือเปล่า
บทรำพึงที่ 3
เมื่อบอกเล่าเรื่องพระทรมาน พระวรสารทั้งสี่ฉบับบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ทั่วไปตรงกัน แม้ว่าหลายครั้งพระวรสารทั้งสี่บรรยายเหตุการณ์อื่น ๆ ต่างกัน แต่กระนั้น เราควรให้ความสนใจเป็นพิเศษว่าผู้นิพนธ์แต่ละคนเน้นย้ำเรื่องใดโดยเฉพาะ ลูกาเน้นย้ำจิตใจอันสงบเยือกเย็นของพระอาจารย์มากกว่าผู้นิพนธ์คนอื่น และเสนอทัศนคติที่ศิษย์ของพระองค์สามารถเลียนแบบระหว่างการรำพึงภาวนา และในคำอธิบายต่อไปนี้ เราจะกล่าวถึงสองประเด็นนี้ “เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกันท่านก่อนจะรับทรมาน เราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกาอีก จนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า”...พระองค์ทรงหยิบถ้วยขึ้น ทรงขอบพระคุณ...พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่ง...“นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย...ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเรา ที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย...จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”
นี่คืออาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์บนโลกนี้ พระองค์ทรงทราบเช่นนี้ และทรงบอกให้ศิษย์ทั้งหลายทราบ...แต่เราสังเกตเห็นความสงบอันลึกล้ำในวิญญาณของพระเยซูเจ้าในคืนวันก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งพระองค์ทรงรู้ว่าเวลานั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้ว...
พระเยซูเจ้าทรงต้องการรำพึงถึงความตายของพระองค์ในพระทัย ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง นี่คือความหมายของการเลี้ยงอำลา และของกิริยาที่เป็นสัญลักษณ์นี้ อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงกำลังเลียนแบบความตายของพระองค์ล่วงหน้า พระองค์ทรงวางความตายนี้บนโต๊ะอาหาร – เหมือนขนมปังนี้ และเหล้าองุ่นนี้ ซึ่งพระองค์ทรงเสนอให้แก่บุคคลที่พระองค์รัก...“นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบ...นี่เป็นโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่าน...” วันพรุ่งนี้ พระโลหิตของพระองค์จะถูกแยกออกจากพระกายของพระองค์ เหมือนขนมปังที่ถูกแยกออกจากเหล้าองุ่นในเย็นวันนี้...
ในเย็นวันนั้น พระเยซูเจ้าทรงระลึกถึงอย่างมีสติและโดยสมัครใจ ถึงความตายที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงเสนอความตายนี้เสมือนว่าเป็นอาหารที่ให้ชีวิตแก่ผู้ที่กินอาหารนั้น พระเยซูเจ้าทรงแสดงความรู้สึกสองอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงควบคุมตนเองได้โดยสิ้นเชิง
- พระองค์ทรงก้าวเข้าสู่กระบวนการของความตายนี้ด้วยความสมัครใจ “เราปรารถนาอย่างยิ่ง”
- พระองค์ทรงมองเห็นความจริงที่ดูเหมือนขัดแย้งกันในตัว ว่านี่เป็นโอกาสอันน่ายินดี “ทรงขอบพระคุณ” นี่คือทัศนคติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระองค์ และพระวรสารย้ำไว้สองครั้ง “ขอบพระคุณ หรือ eucharistia ในภาษากรีก”...“พิธีบูชาขอบพระคุณ” ของเราเป็นเพียงการขยายพิธีการที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในเย็นวันนั้นให้เนิ่นนานออกไป “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”...
วิธีมองความตายเช่นนี้มีประโยชน์สำหรับเรามาก เพราะ
ในบรรดาการกระทำทั้งปวงของมนุษย์ ความตายเป็นเหตุให้เกิดปัญหามากที่สุด การกระทำอื่น ๆ ทั้งปวง (การทำงาน การกิน การเล่น การอ่านหนังสือ การรักผู้อื่น เป็นต้น) อาจมีความหมายในตัวเอง โดยที่พระเจ้าไม่ต้องเข้าแทรกแซงช่วยเหลือ แต่ “ความตาย” จะไม่มีความหมายเลย เว้นแต่ว่าพระเจ้ามีอยู่จริง...ถ้าปราศจากพระเจ้า ความตายก็คือจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง...
บัดนี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ “เลือกอยู่ข้างพระเจ้าอย่างแท้จริง” ทรงฝากชีวิตของพระองค์ไว้กับพระเจ้าโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงทำให้ความตายของพระองค์เป็นเหตุการณ์ที่ “มีน้ำหนัก” มากที่สุด และสำคัญที่สุดในชีวิตของพระองค์บนโลกนี้ ในเย็นวันนี้ พระองค์ทรงบอกว่าความตายของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรของพระเจ้า ในนาทีนั้น อาจกล่าวได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังก้าวไปสู่วันที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จไป ในวันนั้น ภายใต้การปกครองสูงสุดของพระเจ้า ความชั่ว และความตายจะไม่มีอีกเลย...
บัดนี้ เราเข้าใจแล้วว่าสำหรับพระเยซูเจ้า ความตายเพื่อเป็นเครื่องบูชาของพระองค์ไม่ใช่การกระทำที่ว่างเปล่า หรือการกระทำเชิงลบ หรือไร้ความหมาย แต่พระองค์ทรงทำให้ความตายของพระองค์เป็นการเดินทางไปหาพระบิดา...เรากำลังไปหาพระบิดาของเรา...เรากำลังไปหาบุคคลที่เรารัก...
ข้าแต่พระเยซูเจ้า เมื่อเวลาของข้าพเจ้ามาถึง โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้ผ่านความตายของข้าพเจ้าด้วยใจสงบเหมือนพระองค์เถิด...
“กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้มีอำนาจเรียกตนเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่ท่านทั้งหลายจงอย่าเป็นเช่นนั้น...
ผู้ที่เป็นผู้นำจงเป็นผู้รับใช้...เราอยู่ในหมู่ท่านเหมือนเป็นผู้รับใช้จริง ๆ”
พระเยซูเจ้าทรงอธิบายความหมายของความตายของพระองค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น อีกทางหนึ่งว่า พระองค์ทรงเป็นผู้รับใช้ของมนุษย์ และของพระบิดา...พระองค์ทรงรัก...พระองค์ทรงพลีชีวิตของพระองค์...
เย็นวันนั้น ชายผู้ยากจน 12 คนกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับพระเยซูเจ้า พวกเขาไม่รู้ตัวว่าพวกเขาคือตัวอ่อนของมนุษยชาติใหม่ การผจญภัยครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์กำลังเริ่มต้น – ระเบียบใหม่ สังคมใหม่ ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงอธิบายว่าเป็นโลกที่ “กลับหัว” พระองค์ตรัสว่าในโลกนี้ ผู้นำมีอำนาจครอบงำผู้อื่น แต่ในหมู่ท่าน ต้องไม่เป็นเช่นนั้น
บุคคลที่นั่งร่วมโต๊ะกับพระเยซูเจ้าเป็นคนยากจน และอ่อนแอ แต่คนเหล่านี้จะพลิกสังคมมนุษย์ทั้งมวล พวกเขาจะเริ่มต้นการปฏิวัติแห่งความรัก ซึ่งกลายเป็นการรับใช้...
ทางเดียวที่จะทำให้โลกนี้มีความยุติธรรมมากขึ้นคือต้องมีทัศนคติใหม่ที่พระเยซูเจ้าทรงแนะนำ กล่าวคือ อย่าทำตัวเป็นนาย แต่จงรับใช้...ตลอดพระทรมาน พระองค์ทรงแสดงออกว่าพระองค์ทรงเป็นต้นแบบของมนุษย์ผู้รัก “อย่างที่พระเจ้าทรงรัก” - รักจนถึงวาระสุดท้าย...
ซีโมน ซีโมน จงฟังเถิด ซาตานได้ขอ และพระเจ้าทรงอนุญาตให้ซาตานทดสอบท่านทั้งหลายเหมือนฝัดข้าวสาลี แต่เราอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อท่าน ให้ความเชื่อของท่านมั่นคงตลอดไป และเมื่อท่านกลับใจแล้ว จงช่วยค้ำจุนพี่น้องของท่านเถิด...เปโตรเอ๋ย เราบอกท่านว่า วันนี้ไก่ยังไม่ทันขัน ท่านก็จะปฏิเสธว่าไม่รู้จักเราถึงสามครั้ง”
พระเยซูเจ้าทรงทำนายว่าเปโตร ผู้เป็นเพื่อนของพระองค์ จะปฏิเสธพระองค์ พระองค์ทรงทำนายเช่นนี้เพียงเพื่อจะประณามผู้ร้ายตัวจริง คือซาตาน ซาตานได้ขออนุญาตทดสอบท่านเหมือนฝัดข้าวสาลี...
แต่พระเยซูเจ้าทรงประกาศในเวลาเดียวกันว่าพระองค์จะทรงได้รับชัยชนะ พระองค์ทรงให้อภัยแล้ว ทรงให้อภัยตั้งแต่ก่อนเปโตรจะทำบาปด้วยซ้ำไป...พระเจ้าทรงให้อภัยบาปของเราแล้วตั้งแต่ต้น...เปโตรได้รับการอภัยตั้งแต่ก่อนที่เขาจะปฏิเสธพระองค์อย่างคนขี้ขลาด “เราอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อท่าน...เมื่อท่านกลับใจแล้ว จงช่วยค้ำจุน...”
พระเยซูเจ้าเสด็จจากที่นั่นไปยังภูเขามะกอกเทศเช่นเคย บรรดาศิษย์ตามเสด็จไปด้วย เมื่อเสด็จถึงที่นั่นแล้ว พระองค์ตรัสกับเขาเหล่านั้นว่า “จงอธิษฐานภาวนาเถิด เพื่อจะไม่ถูกทดลอง” แล้วพระองค์เสด็จห่างออกไปจากบรรดาศิษย์ประมาณระยะปาก้อนหิน ทรงคุกเข่าลงอธิษฐานภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด...พระเสโทตกลงบนพื้นดินประดุจหยดโลหิต...พระองค์ทรงลุกขึ้นจากการอธิษฐานภาวนา เสด็จไปพบบรรดาศิษย์ซึ่งหลับอยู่เพราะความโศกเศร้า พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “นอนหลับทำไม จงลุกขึ้นอธิษฐานภาวนาเถิดเพื่อจะไม่ถูกทดลอง”
พระวรสารกล่าวถึงการภาวนาอย่างชัดเจนถึงสี่ครั้ง
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา... และจากการภาวนานี้ พระองค์ทรงได้รับความมั่นใจที่ทำให้เราเต็มไปด้วยความพิศวง จากการภาวนานี้ พระองค์ทรงได้รับความสงบที่เกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ ซึ่งพระองค์จะแสดงให้ทุกคนได้เห็น…
ถ้าปีนี้เราไตร่ตรองตามคำบอกเล่าของลูกา สำหรับเรา สวนเกทเสมนีจะไม่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานก่อนตาย แต่จะเต็มไปด้วยสันติสุขของมนุษย์คนหนึ่งที่รู้ว่าเวลาที่ตนจะต้องตายกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่ก็รู้ด้วยว่าพระเจ้าทรงรักเขา...การกล่าวถึง “ทูตสวรรค์ที่มาถวายพละกำลัง” (ซึ่งปรากฏแต่ในคำบอกเล่าของลูกา) เป็นภาษา
พระคัมภีร์ที่บ่งบอกว่าโลกของพระเจ้าอยู่ที่นั่น...
ถูกแล้ว พระเจ้าประทับอยู่เคียงข้างข้าพเจ้า ทุครั้งที่ข้าพเจ้าเจ็บปวดทรมาน...
ในบ้านของมหาสมณะ ... หญิงรับใช้คนหนึ่งเห็นเปโตรนั่งข้างกองไฟ จึงจ้องหน้าพูดว่า “คนนี้อยู่กับเขาด้วย” แต่เปโตรปฏิเสธว่า
“นางเอ๋ย ข้าพเจ้าไม่รู้จักเขา”...เปโตรปฏิเสธพระเยซูเจ้าเช่นนี้สามครั้งภายในหนึ่งชั่วโมง...องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเหลียวมามองเปโตร เปโตรจึงระลึกถึงพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า...เขาออกไปข้างนอก ร้องไห้อย่างขมขื่น
ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่กล่าวว่า
พระเยซูเจ้าทรงเหลียวมามองเปโตร...นี่คือพระวรสารอย่างแท้จริง... นี่คือข่าวดีแห่งความเมตตา...
เมื่อข้าพเจ้าตกในบาป พระเยซูเจ้าไม่ทรงประณามข้าพเจ้า แต่ทรงมองข้าพเจ้าด้วยความรักอันอ่อนโยน...และมนุษย์ทุกคนที่ยอมรับการมองนี้ ย่อมได้รับอภัยความผิดทั้งปวงของเขา และ “รอดพ้น” จากบาปทั้งปวงของเขา...
การพิพากษาคดีทางศาสนา
การไต่สวนต่อหน้าสภาสูง: “ถ้าท่านเป็นพระคริสต์ จงบอกเราเถิด” – “ตั้งแต่บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์จะประทับ ณ เบื้องขวาพระอานุภาพของพระเจ้า” – “ดังนั้น ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าใช่ไหม”
จากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ลูการวบรวมได้ เขาเลือกที่จะ
ย้ำพระนามทั้งสามของพระเยซูเจ้า ดังนี้
- “พระคริสตเจ้า (หรือพระเมสสิยาห์)” เป็นพระนามที่กำกวม ชวนให้คิดถึงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งพระเยซูเจ้าคงไม่พอพระทัยเท่าไรนัก
- “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นพระนามในพระคัมภีร์ ได้มาจากหนังสือประกาศกดาเนียล และพระเยซูเจ้าทรงชอบใช้พระนามนี้มากกว่า
- “พระบุตรของพระเจ้า” พระเยซูเจ้าจะไม่ทรงอ้าง
พระนามนี้ แต่ทรงยอมรับจากผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ เพราะได้เห็นผลงานของพระองค์ การกลับคืนชีพของพระองค์จะรับรองความถูกต้องของพระนามสุดท้ายนี้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ...อาศัยความเชื่อ
การพิพากษาคดีครั้งนี้ไม่เหมือนกับการพิพากษาที่เราอ่านพบในหนังสือพิมพ์ทุกวัน เพราะไม่ได้เห็นเพียงการจับกุมตัว และลงโทษบุรุษผู้บริสุทธิ์ ที่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคว้นกาลิลี...นี่คือ “การพิพากษาคดีพระเจ้า” มนุษย์คิดว่าเขาสามารถลงโทษพระเจ้าถึงตายได้ในวันนี้เช่นเดียวกับเมื่อ
สองพันปีก่อน
แต่พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระองค์จะ “ประทับ ณ เบื้องขวาพระอานุภาพของพระเจ้า”
ขอให้เราอย่าได้ดึงพระทรมานให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับความคิดประสามนุษย์ของเรา เพราะเดิมพันครั้งนี้ไม่ใช่เดิมพันทางจิตวิทยา หรือสังคม
การพิพากษาคดีตามกฎหมาย
การไต่สวนต่อหน้าปิลาต: “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” – “ท่านพูดเองนะ”...“เราไม่พบความผิดข้อใดในคนคนนี้”
ในการพิพากษาคดีตามกฎหมายนี้ ลูกาย้ำสามครั้งว่าจำเลยผู้นี้บริสุทธิ์ ปิลาตกล่าวว่า “ไม่พบความผิดข้อใดในคนคนนี้”
(ลก 23:4, 14, 22) ปิลาตเป็นผู้ว่าราชการชาวโรมัน เป็น
ผู้พิพากษาที่เป็นกลางเพราะเป็นคนต่างชาติ...เขาไม่ต้องการ
ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนาในหมู่ชาวยิว
บ่อยครั้ง คนในโลกปัจจุบันที่ปราศจากอคติก็ตัดสินเช่นนี้ พวกเขายกย่องพระเยซูเจ้าว่าเป็นมนุษย์ที่ดีคนหนึ่ง...เป็น
ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำทารุณกรรม...
แต่ศิษย์แท้ของพระองค์จะยอมรับเพียงเท่านี้ไม่ได้
ขณะที่บรรดาทหารนำพระองค์ออกไป พวกเขาเกณฑ์ชายคนหนึ่งชื่อ
ซีโมน ชาวไซรีน ซึ่งกำลังกลับมาจากชนบท วางไม้กางเขนบนบ่าของเขาให้แบกตามพระเยซูเจ้า ประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป รวมทั้งสตรีกลุ่มหนึ่งซึ่งข้อนอกคร่ำครวญถึงพระองค์
นี่คือทัศนคติของศิษย์แท้ เมื่ออยู่ต่อหน้าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูเจ้า ไม่มีใครยังทำตัวเป็นกลางอยู่ได้ หรือเพียงแต่คร่ำครวญสงสารพระองค์...พระเยซูเจ้าตรัสแก่สตรีที่เดินเคียงข้างพระองค์ขณะเดินไปสู่ที่ประหารว่า “อย่าร้องไห้สงสารเราเลย”
ข้าพเจ้าอยู่ข้างใคร...ข้าพเจ้า “กำลังแบกกางเขน” ร่วมกับ
พระเยซูเจ้าหรือไม่
ขณะอยู่บนกางเขน พระเยซูเจ้าทรงภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” ...พระองค์ตรัสกับโจรที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมพระองค์ว่า “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” ...ถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”
เป็นความตายที่สงบอย่างยิ่ง...ตามคำบอกเล่าของลูกา
พระเยซูเจ้าทรงจบชีวิตของพระองค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วยการอธิษฐานภาวนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสนทนาอย่างสงบและสนิทสนมกับพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และพระบิดาผู้ที่พระองค์ทรงรักยิ่ง...
พระบิดา ... สวรรค์ ... พระบิดา ... การให้อภัยสำหรับทุกคน แม้แต่คนทั้งหลายที่อ้างว่ามีเหตุผลที่จะ “ฆ่าพระเจ้า” แต่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร ... ความรอดนิรันดรถูกเสนอให้มนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่อาชญากร...
ชัยชนะของความรัก! ชัยชนะของพระเจ้า!...
ความชั่วจะไม่ใช่ผู้ชี้ขาด…
ความมั่นใจ! ความยินดี!...
นี่คือกางเขน – เครื่องหมายอันน่าหลงใหล และการเผยแสดงสูงสุดของพระเจ้า...
ประชาชนที่มาชุมนุมกันดูเหตุการณ์นี้เมื่อเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ข้อนอก พากันกลับไป
พระทรมานของพระเยซูเจ้าเริ่มบังเกิดผลแล้ว...