แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า

ลูกา 9:11-17
    พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับประชาชนและตรัสสอนเขาเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงรักษาคนที่ต้องการการบำบัดรักษา เมื่อจวนถึงเวลาเย็น อัครสาวกสิบสองคนมาทูลพระองค์ว่า “ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้ประชาชนกลับไปเถิด เขาจะได้ไปตามหมู่บ้านและชนบทโดยรอบ เพื่อหาที่พักและอาหาร เพราะขณะนี้เราอยู่ในที่เปลี่ยว” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” เขาทูลว่า “เราไม่มีอะไรนอกจากขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวเท่านั้น หรือว่าเราจะไปซื้ออาหารสำหรับคนเหล่านี้ทั้งหมด” ที่นั่นมีผู้ชายประมาณห้าพันคน พระองค์จึงตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงบอกให้พวกเขานั่งลงเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณห้าสิบคน” เขาก็ทำตามและให้ทุกคนนั่งลง พระเยซูเจ้าทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวนั้นมา ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า ทรงกล่าวถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ส่งให้บรรดาศิษย์นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน ทุกคนได้กินจนอิ่ม แล้วยังเก็บเศษที่เหลือได้สิบสองกระบุง

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ลูกา และขนมปัง

    เรื่องตามคำบอกเล่าของลูกา ซึ่งบรรยายว่าพระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงอาหารคนจำนวนมากอย่างไร เป็นการทำนายถึงงานอภิบาลของอัครสาวกในชุมชนคริสตชน กิริยาของพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับอาหารมา ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปัง และแจกจ่ายให้ประชาชน จะกลายเป็นกิริยาในพิธีเสกศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าทรงบอกล่วงหน้าว่างานของอัครสาวกจะเป็นอย่างไร เมื่อพระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด”

    ขนมปังคงเป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่เหมาะสมที่สุดในโลกที่ประชากรครึ่งหนึ่งต้องทนอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกใช้ขนมปังเป็นเครื่องหมายแสดงการประทับอยู่และความห่วงใยของพระองค์ในโลก

    แม้ว่าแพทย์ในสังคมตะวันตกมักขอให้คนไข้ลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม แต่ลูกาผู้เป็นแพทย์กลับสนใจเรื่องของอาหารมาก ทุกบทในพระวรสารของเขาเอ่ยถึงอาหาร หรือการกินอาหาร เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ลูกามักเสนอภาพของพระเยซูเจ้าว่ากำลังเสด็จไปที่โต๊ะอาหาร ประทับนั่งที่โต๊ะอาหาร หรือเพิ่งจะลุกขึ้นจากโต๊ะอาหาร ในหนังสือ “Luke: Artist and Theologian (ลูกา: ศิลปิน และนักเทววิทยา) โรเบิร์ต เจ. คาริส ได้เขียนบทหนึ่งที่น่าประทับใจทีเดียวเกี่ยวกับอาหาร

    ในบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า พระนางมารีย์สรรเสริญการปฏิสนธิพระเยซูเจ้าว่าเปรียบเสมือนพระเจ้าทรงประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงประสูติในเมืองเบธเลเฮม ซึ่งแปลว่าบ้านขนมปัง ที่นอนแรกของพระองค์คือรางหญ้าที่ใช้ใส่อาหารให้สัตว์กิน

    ก่อนเริ่มต้นเทศนาสั่งสอน พระเยซูเจ้าทรงจำศีลอดอาหารนาน 40 วัน ด้วยการจำศีล พระองค์ทรงแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับมนุษย์ผู้หิวโหยในโลกนี้ พระองค์ทรงต้องการพึ่งพาอาศัยพระญาณสอดส่องของพระบิดา แทนที่จะยอมเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นขนมปัง พระองค์ทรงตอบโต้การประจญครั้งแรกของปีศาจว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น ดังนั้น พระองค์จึงเห็นคุณค่าของการจำศีลอดอาหาร เมื่อทรงถือว่าการนำทางของพระจิตเจ้าสำคัญกว่าความต้องการของเนื้อหนัง แต่ในเวลาต่อมา พระเยซูเจ้าทรงตำหนิผู้ที่จำศีลเพียงเพื่อเพราะต้องการให้ผู้อื่นยกย่อง

    พระวรสารกล่าวถึงการเลี้ยงฉลอง เช่น ในบ้านของเลวี และเมื่อบุตรล้างผลาญกลับมาบ้าน และยังมีการกินอาหารเพื่อพักผ่อนหย่อนใจกับมิตรสหาย เช่น กับมารธาและมารีย์ มีการอ้างหลายครั้งถึงการกินอาหารในวันสับบาโต ซึ่งเป็นวันพักผ่อน

    เมื่ออยู่ที่โต๊ะอาหาร พระเยซูเจ้าทรงเป็นแขกรับเชิญผู้ประทานให้มากกว่าที่พระองค์ได้รับ พระองค์อภัยบาปให้แก่หญิงคนบาป พระองค์ประทานมิตรภาพแก่ศักเคียส และประทานความเชื่อให้แก่ศิษย์สองคนที่เดินทางกลับไปหมู่บ้านเอมมาอุส หลายครั้งที่พระองค์ทรงสั่งสอนระหว่างมื้ออาหาร พระองค์ทรงชี้ให้เห็นความจองหองอย่างโง่เขลาของบุคคลที่แย่งชิงที่นั่งอันทรงเกียรติที่โต๊ะอาหาร พระองค์ทรงสอนว่าโต๊ะอาหารของเราควรเป็นเครื่องหมายว่าเราคาดหวังว่าจะได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์ โดยให้คิดถึงคนยากไร้ผู้เป็นที่รักของพระเจ้า ขอทานชื่อลาซารัสที่นั่งอยู่หน้าประตูบ้าน เป็นตัวแทนของคนยากไร้ผู้เป็นที่รักของพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องเปรียบเทียบว่าพระเจ้าทรงเป็นเหมือนนายผู้คาดผ้ากันเปื้อน และมารับใช้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ และระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางอัครสาวกเสมือนว่าเป็นผู้รับใช้

    พฤติกรรมของพระเยซูเจ้าที่โต๊ะอาหารท้าทายธรรมเนียมของคนเคร่งศาสนา และเป็นเหตุให้พระองค์ถูกประณาม พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นนักกินนักดื่ม มีแต่เสียงบ่นว่าพระองค์ “ต้อนรับและกินอาหารร่วมกับคนบาป” คาริส สรุปอย่างชวนให้คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนก็เพราะธรรมเนียมในการเสวยอาหารของพระองค์

    เมื่อพระองค์ทรงสอนศิษย์ให้ภาวนาซึ่งจะเป็นการแสดงอัตลักษณ์ของคริสตชน คำวิงวอนขอปัจจัยที่จำเป็นในวันนี้คือคำร้องขออาหาร และพระเยซูเจ้าทรงจัดการให้การเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงพระองค์เป็นการฉลองด้วยการกินอาหาร “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” ศิษย์สองคนจำพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพได้เมื่อพระองค์บิขนมปัง และเชื่อหรือไม่ว่าพระองค์ทรงถามอัครสาวกที่กำลังตกตะลึงเมื่อทรงสำแดงพระองค์แก่พวกเขาในห้องชั้นบนว่า “ท่านมีอะไรกินบ้าง”

    การกินอาหารยังคงเป็นหัวข้อหลักต่อไปในหนังสือกิจการอัครสาวก การบิปังเป็นหนึ่งในพิธีสำคัญของกลุ่มคริสตชนยุคต้น และเมื่อเปโตรยืนยันฐานะพยานของเขา สิ่งที่เขาอ้างคือ “เราทั้งหลายได้กิน และได้ดื่มร่วมกับพระองค์ หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (กจ 10:41)

    วันที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงอาหารคนจำนวนมากในที่เปลี่ยว เป็นเสมือนเรื่องย่อของพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงต้อนรับฝูงชน แม้ว่าพวกเขาทำลายแผนการของพระองค์สำหรับวันนั้น เพราะพระองค์ทรงต้องการอยู่ตามลำพังกับบรรดาอัครสาวก พระองค์ตรัสสอนเขาเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า พระองค์ทรงรักษาโรคให้คนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และพระองค์ทรงเลี้ยงอาหารเมื่อพวกเขาหิว

    ขนมปังเป็นเครื่องหมายของความช่วยเหลือที่พระเจ้าประทานแก่บุตรทั้งหลายของพระองค์ พระองค์ทรงต้อนรับ ประทานความสว่าง รักษาโรค และบำรุงเลี้ยงด้วยอาหาร

    “เราเริ่มวันของเราด้วยการพยายามมองเห็นพระคริสตเจ้าผ่านแผ่นปัง และระหว่างวัน เรายังมองเห็นพระองค์ต่อไปภายในร่างกายที่ยับเยินของคนยากจน” (คุณแม่เทเรซา)

ข้อรำพึงที่สอง
การประทับอยู่อย่างแท้จริง

    เราพูดว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท ข้าพเจ้าพบคนจำนวนมากที่สับสนกับสำนวนนี้ ในการใช้ภาษาทั่วไป เมื่อเราพูดว่าบางสิ่งมีอยู่จริง เราหมายความว่าสิ่งนั้นมีตัวมีตน ซึ่งตรงกันข้ามกับการมีอยู่ในจินตนาการหรือในนิยาย หรือหมายความว่าสิ่งนั้นเป็นของแท้ และไม่ใช่สิ่งที่ปลอมแปลงขึ้นมาหรือหลอกลวง บางคนจึงสงสัยว่า เมื่อเราพูดถึงการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าในศีลมหาสนิท เรากำลังบอกเป็นนัยหรือเปล่าว่าการประทับอยู่ของพระองค์ในชุมชนคริสตชน หรือในพระคัมภีร์ หรือในห้วงเวลาที่เราภาวนาอย่างสนิทสนม หรือในทางอื่น ๆ นั้นเป็นการประทับอยู่ในลักษณะที่ด้อยกว่า

    คำว่า แท้จริง (real) ที่ใช้ในเทววิทยาเกี่ยวกับศีลมหาสนิท เป็นคำที่แปลแบบตรงตัวมาจากภาษาละตินว่า realis ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ “การประทับอยู่อย่างแท้จริง” หมายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าอย่างพิเศษในวัตถุอย่างหนึ่ง หรือในสถานที่หนึ่ง บางทีถ้าแปลว่าการประทับอยู่เฉพาะที่ของพระเจ้า (specially located presence of God) น่าจะถูกต้องกว่า

    เรามีธรรมเนียมมานานที่เชื่อว่าพระเจ้าประทับอยู่เป็นพิเศษในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าพระเจ้าประทับอยู่ทุกแห่งหน และฟ้าสวรรค์ไม่ใหญ่พอจะรองรับพระองค์ไว้ได้ แต่พระวาจาในพระคัมภีร์ก็บอกเล่าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบพิเศษระหว่างพระเจ้า และประชากรของพระองค์

    โมเสส พบพระเจ้าในพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟและบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาหีบพระบัญญัติเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เคลื่อนที่ซึ่งบ่งบอกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า ผู้ทรงเข้าสู่ความสัมพันธ์กับประชากรของพระองค์ภายใต้พันธสัญญา เมื่อชนเผ่าเร่ร่อนตั้งถิ่นฐาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือกระโจมนัดพบ หลังจากนั้น ก็มีพระวิหาร ซึ่งมีบริเวณที่เรียกว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง (Holy of Holies)

    พระเจ้าประทับอยู่ในเนื้อหนังของพระเยซูคริสตเจ้าในลักษณะพิเศษอย่างยิ่ง พระกายของพระเยซูคริสตเจ้าเข้ามาแทนที่พระวิหาร เพราะเป็นสถานที่พิเศษที่พระเจ้าประทับอยู่ ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงเตรียมการสำหรับเวลาที่จะมาถึง เมื่อร่างกายของพระองค์จะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ดังนั้น พระองค์จึงประทานขนมปังและเหล้าองุ่นเสกให้แก่ศิษย์ของพระองค์ “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19) บัดนี้ ศีลมหาสนิทจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พิเศษที่พระเจ้ามาพบกับประชากรของพระองค์ พระเจ้าผู้ประทับอยู่ทุกแห่งหนทรงปรับเปลี่ยนการประทับอยู่ของพระองค์ให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา การประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าในแผ่นศีลศักดิ์สิทธิ์ตอบสนองความจำเป็นสามประการสำหรับเรา กล่าวคือ เป็นศูนย์กลางของความเชื่อของเรา เป็นจุดรวมของประสาทสัมผัสของเรา และเป็นต้นกำเนิดของอารมณ์ทางศาสนาของเรา

    แผ่นปังศักดิ์สิทธิ์เป็นจุดรวมของความเชื่อทางเทววิทยาของเราในการประทับอยู่ และในการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเรา เมื่อเรากินขนมปังธรรมดา ขนมปังนั้นเปลี่ยนเป็นตัวเรา แต่เมื่อเรากินแผ่นปังศักดิ์สิทธิ์นี้ เราถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพระเยซูเจ้า เพราะแผ่นปังนี้ได้กลายเป็นพระกายของพระองค์แล้ว ในบทที่ 6 ของพระวรสารของยอห์น คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับศีลมหาสนิทเป็นบททดสอบความเชื่อ “เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้ ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:55-56) ประชาชนที่ไม่ยอมรับความเชื่อนี้ก็เปลี่ยนใจไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป

    การตั้งศีลมหาสนิทให้สัตบุรุษแสดงความเคารพ เป็นจุดรวมอันทรงพลังอย่างหนึ่งที่ดึงความสนใจจากประสาทสัมผัสของเรา ทำให้สายตาของเรามีจุดเพ่งมอง และสายตาเป็นประสาทสัมผัสที่มีพลังมากที่สุด ความคิดของเราเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนสมาธิ ดังนั้นเมื่อมีศูนย์รวมความสนใจ เราจึงรวบรวมสมาธิได้ง่ายขึ้น

    การจัดแสง สี ดอกไม้ และสัญลักษณ์ทางศิลปะอย่างเหมาะสม สามารถช่วยให้เรามีสมาธิแน่วแน่ อากัปกิริยาที่แสดงความเคารพสามารถสยบความรู้สึกของบางคนที่เร่งรีบจนเป็นนิสัย หรือยับยั้งความเกียจคร้านหรือความสะเพร่าของบางคนได้ กลิ่นหอมของควันกำยานที่ลอยขึ้นเบื้องสูงสามารถสร้างบรรยากาศให้คิดว่าคำภาวนาของเรากำลังลอยขึ้นไปหาพระเจ้า และการแสดงความเคารพของผู้อื่นก็เป็นตัวอย่างที่ท้าทาย และสนับสนุนให้เราปฏิบัติตามได้

    ศีลมหาสนิทยังเป็นแหล่งกำเนิดของอารมณ์ทางศาสนาของเราอีกด้วย ศีลมหาสนิทดึงเรากลับไปหาพระเจ้าด้วยการแสดงออกด้วยการนมัสการ (Adoration) ความรัก (Love) การขอบพระคุณ (Thanksgiving) การวิงวอนขอ (Asking) และการเป็นทุกข์กลับใจ (Repentance) เพื่อช่วยให้เราจดจำได้ อักษรตัวแรกของคำเหล่านี้เมื่อประสมกันจะกลายเป็นคำว่า “พระแท่น” (ALTAR)
    ใครที่เรากำลังเพ่งมองอยู่? นั่นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า นั่นคือพระวาจาของพระบิดา ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์จากพระนางมารีย์ และบัดนี้ ทรงกลายเป็นแผ่นปังศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา เราสามารถภาวนาถึงห้วงเวลาทั้งสามของการประทับอยู่ของพระเจ้าได้ดังนี้ : พระวาจา ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ทรงกลายเป็นปังศักดิ์สิทธิ์

บทรำพึงที่ 2

    วันนี้ เราเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกของ “พระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า” ซึ่งเป็นเครื่องหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรักของพระเจ้าต่อมนุษยชาติ...

    เพื่อเตือนใจเราให้นึกถึงศีลศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ คือ ศีลมหาสนิท ในปีพิธีกรรมนี้พระศาสนจักรได้เลือกประกาศแก่เราด้วยคำบอกเล่าเรื่องอัศจรรย์ทวีขนมปัง การทำเช่นนี้จะไม่ทำให้ค่าของธรรมล้ำลึกข้อนี้ด้อยลงหรือ ... ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงน่าประหลาดใจมาก ... การคิดด้วยเหตุผลของเรา จะไม่ทำให้เราเข้าใจผิดทั้งการทวีขนมปัง (คิดว่าเน้นเรื่องวัตถุมากเกินไป) และขนมปังที่พระองค์ประทานให้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (คิดว่าเน้นเรื่องฝ่ายจิตมากเกินไป) หรือ ... อันที่จริง “ขนมปัง” ในทั้งสองกรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ฝูงชนอิ่ม ลูกาใช้คำศัพท์เดียวกันสำหรับกรณีอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ... แต่เขายังบรรยายด้วยว่าศีลมหาสนิทเป็นเหมือนการร่วมกินอาหารฉันพี่น้อง เป็นเครื่องหมายว่าเราจะรับใช้กันและกัน...

    เราอาจค้นพบความจริงที่ลึกยิ่งกว่าว่า “ขนมปังของพระเจ้า” ส่งเรากลับไปหาพี่น้องชายหญิงของเรา กลับไปหาขนมปังของมนุษย์ “ผลจากแผ่นดินซึ่งผลิตจากมือมนุษย์” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงยอมมอบพระกายและพระโลหิต เพราะความรักที่มีต่อเรา พระองค์ทรงเชิญชวนให้เราทำเช่นเดียวกัน

    เมื่อเป็นเช่นนี้ พิธีบูชามิสซาของเราจะเป็นช่องทาง “หลบหนี” จากโลกไปได้อย่างไร...

พระเยซูเจ้าตรัสสอนประชาชนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงรักษาคนที่ต้องการการบำบัดรักษา

    เริ่มตั้งแต่ประโยคแรก ลูกาบอกเป็นนัยแก่ผู้อ่านที่รับศีลมหาสนิททุกวันอาทิตย์ เขาต้องการให้เราค้นหานัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในคำบอกเล่าของเขา...

    เช่นเดียวกับพิธีกรรมในพิธีบูชามิสซา ขนมปัง และเหล้าองุ่นที่พระเยซูเจ้ากำลังจะเสนอแก่ฝูงชนนี้เริ่มต้นด้วย “วจนพิธีกรรม” เราต้องอยู่ร่วมในพิธีตั้งแต่ต้น เพื่อจะรับอาหารบำรุงเลี้ยงจากพระเยซูเจ้า ผู้ “ตรัสสอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า” และรักษาโรคให้ทุกคนที่ต้องการการบำบัดรักษา...

    ถูกแล้ว เครื่องหมายของขนมปังซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์อันลึกซึ้ง และความหมายนี้ลึกกว่าความเป็นจริงทางวัตถุ ... อาหารที่พระองค์จะเสนอให้ในไม่ช้านี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความหิวทางกาย แม้ว่าสามารถบรรเทาได้ก็ตาม เพราะมนุษย์ไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น ... มนุษย์ไม่ได้หิว และกระหายเฉพาะอาหารฝ่ายโลก...
    มนุษย์จะแสวงหา และยอมรับพระองค์ผู้จะประทาน “ขนมปังจากสวรรค์” (ยน 6) แก่เขาหรือไม่

    พระเยซูเจ้า “ตรัสสอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า” ... นี่คือโลกที่จะปลดปล่อยมนุษย์ เป็นเสียงที่กอบกู้มนุษย์ไว้ไม่ให้เป็นเพียงมนุษย์ ... สารนี้เชื่อมโยงมนุษยชาติเข้ากับพระเจ้า ... มนุษย์เอ๋ย ถ้าเจ้ารู้ว่าความหิวที่แท้ของเจ้าคืออะไร ... ถ้าเพียงเจ้ารู้ว่าเจ้าไม่มีวันอิ่มอย่างแท้จริงด้วยอาหารที่ด้อยกว่าองค์พระเจ้าเอง ... เจ้าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความสุขอย่างไร้ขีดจำกัด ความสุขของโลกนี้เป็นเพียงภาพลักษณ์อันเลือนรางของความสุขสวรรค์เท่านั้น ... ดังนั้น จงอย่าพอใจแต่เพียงขนมเค้ก และไอสกรีม และแกงรสเด็ดเลย...

    พระเยซูเจ้าทรง “รักษาคนที่ต้องการการบำบัดรักษา” ... นี่เป็นประโยคที่เผยความจริง ... ลูการู้ว่ามนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่พระเยซูเจ้าสามารถประทานให้ได้ แต่คนจำนวนมากถูกขังอยู่ภายในโลกใบเล็ก ๆ ของเขา และแทบไม่รู้ว่าตนเองมีข้อจำกัด มีบาป และอยู่ในสภาพที่รู้จักตาย เขาคิดว่าตนเอง “ไร้โรค และแข็งแรง” แต่พระเยซูเจ้าไม่ได้มาตามหาคนแข็งแรง หรือคนชอบธรรม แต่ทรงตามหาคนป่วย และคนบาป (ลก 5:31) ความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้นี้เปรียบเสมือนอาหารอันเร้นลับที่พระเยซูเจ้า (พระนามภาษาฮีบรูของพระองค์แปลว่า “พระเจ้าทรงช่วย”) เสนอให้ทุกคนที่ต้องการ...

    ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งใน “คนทั้งหลายที่มีความต้องการ” หรือเปล่า

    เราตระหนักว่ามีคนอธิบายเหตุการณ์นี้อย่างง่าย ๆ และยกเหตุผลมาล้มล้าง ทำให้อัศจรรย์ครั้งนี้กลายเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ ว่าพระเยซูเจ้าทรงหว่านล้อมให้ประชาชนนำเสบียงอาหารที่พวกเขาซ่อนไว้ออกมา ดังนั้นจึงเป็นการกระตุ้นให้เกิด “การแบ่งปัน” ครั้งใหญ่

    คำอธิบายนี้ไม่ใช่เรื่องจริงจัง แต่ก็เปลี่ยนพระวรสารให้กลายเป็นเรื่องชวนฝัน ... แม้ว่าจะเสนอบทเรียนที่ดีเกี่ยวกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็ตาม

    ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพระเจ้าที่จะทวีจำนวนขนมปังห้าก้อนที่มีอยู่ ดังที่นักบุญออกุสตินแสดงความคิดเห็นว่าพระองค์ทรงใช้เมล็ดพันธุ์เพียงไม่กี่เมล็ด แต่ทรงทำให้ทุ่งนาทั่วโลกเต็มไปด้วยผลิตผลให้เก็บเกี่ยว แต่เราต้องมองให้ลึกกว่านั้น ถ้ามีความรอดพ้นและชีวิตนิรันดรเป็นเดิมพัน เมื่อนั้น พระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถประทานของขวัญชิ้นนี้แก่เรา ... มนุษย์เอ๋ย ถ้าเพียงเจ้ารู้ว่าของประทานของพระเจ้าคืออะไร (เทียบ ยน 4:10) หญิงชาวสะมาเรียกระหายน้ำ นางไม่ได้กระหายแต่น้ำในบ่อ แต่กระหายหาคุณค่าทางจิตวิญญาณที่สูงกว่านั้น...

    ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้าหิวหรือเปล่า ... กระหายหรือเปล่า ... และข้าพเจ้าหิวกระหายอะไร

เมื่อจวนถึงเวลาเย็น อัครสาวกสิบสองคนมาทูลพระองค์ว่า “ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้ประชาชนกลับไปเถิด เขาจะได้ไปตามหมู่บ้านและชนบทโดยรอบ เพื่อหาที่พักและอาหาร เพราะขณะนี้เราอยู่ในที่เปลี่ยว”

    ลูกา กำลังบอกเป็นนัยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะมองหาแต่คำอธิบายทางวัตถุ เราก็คงไม่เห็นสาระ ผู้ที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์จะต้องมองเห็นว่าขนมปังที่แจกจ่ายให้แก่ประชาชน “ในที่เปลี่ยว” นี้เตือนให้ระลึกถึง “มานนา” อันเร้นลับในหนังสืออพยพ ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นโมเสสคนใหม่ ทรงเป็น “ผู้ปลดปล่อย” คนใหม่ ผู้ “ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากดินแดนแห่งความตาย” – จากถิ่นทุรกันดาร

    ประชาชนเหล่านี้จะไม่ได้รับความรอดพ้น ถ้าเขาตระเวนไปตามหมู่บ้านและชนบท – แต่เขาจะได้รับความรอดพ้นถ้าเขาอยู่กับพระเยซูเจ้าต่อไป

    บรรดาอัครสาวกสำคัญผิดแล้ว ถ้าเขาพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ ...

พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” เขาทูลว่า “เราไม่มีอะไรนอกจากขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัวเท่านั้น หรือว่าเราจะไปซื้ออาหารสำหรับคนเหล่านี้ทั้งหมด” ที่นั่นมีผู้ชายประมาณห้าพันคน พระองค์จึงตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงบอกให้พวกเขานั่งลงเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณห้าสิบคน” เขาก็ทำตาม และให้ทุกคนนั่งลง

    เราสะดุดใจกับบทบาทที่พระเยซูเจ้าทรงขอให้ศิษย์ของพระองค์แสดง พระองค์จะเป็นผู้มอบขนมปัง อัครสาวกทั้งสิบสองคนจะเป็นผู้แจกจ่าย และก่อนอื่น พวกเขาได้รับมอบหมายงานให้จัดระเบียบฝูงชนที่กระจัดกระจาย ให้แยกเป็นกลุ่มอย่างมีระเบียบ พระเยซูเจ้าทรงทำให้เขาเป็น “ผู้อภิบาล” กล่าวคือ “ผู้รับใช้” และก่อนอื่น พวกเขาเป็น “ผู้รับใช้ของพระเยซูเจ้า” ผู้ที่เขาเชื่อฟัง ลูกาบอกไว้เช่นนี้ คำบอกเล่าที่ชัดเจนจนมองเห็นภาพได้นี้บรรยายพิธีกรรมมากกว่าที่เราคิด...

พระเยซูเจ้าทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวนั้นมา ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า ทรงกล่าวถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ส่งให้บรรดาศิษย์นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน

    เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้ถ้อยคำเหล่านี้เตือนให้เราคิดถึงพิธีเสกศีลมหาสนิท พระวรสารของลูกาจะบรรยายกิริยาทั้งสี่นี้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และการกินอาหารที่เอมมาอูส...

ในที่เปลี่ยว (ลก 9:15)             ในห้องชั้นบน (ลก 22:19)        ที่เอมมาอูส
พระเยซูเจ้าทรงรับขนมปังห้าก่อน        พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปัง        พระองค์ทรงหยิบขนมปัง
ทรงกล่าวถวายพระพร            ทรงขอบพระคุณ            ทรงถวายพระพร
ทรงบิขนมปัง                    ทรงบิขนมปัง            ทรงบิขนมปัง
ส่งให้ ...                    ประทานให้ ...            และยื่นให้เขา ...

    ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้คริสตชนตีความได้อย่างไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัศจรรย์ทวีขนมปัง ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารบอกเล่าไว้ถึงหกครั้ง คือ มธ 14:13-21 และ 15:32-39, มก 6:30, 44 และ 8:1-10, ลก 9:10-17 และ ยน 6:1-15 ... เมื่อพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้อภิบาล-ผู้รับใช้ของพระเยซูเจ้า กล่าวถ้อยคำเหล่านี้ซ้ำอีกครั้งท่ามกลางเราในชุมชนของเรา และแสดงกิริยาทั้งสี่นี้ของพระเยซูเจ้า เป็นพระองค์เองที่กำลังกระทำกิริยาเหล่านี้อีกครั้งเพื่อเรา และทรงทำให้พระองค์เองประทับอยู่กับเรา ศีลมหาสนิททำให้เราพบในความเชื่อพระคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ผู้ทรงชนะความชั่ว และความตาย ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้กอบกู้มนุษย์ ขนมปังที่ถูกบิ และประทานให้นี้ เป็นเครื่องหมายว่า “พระเจ้าประทับอยู่กับเรา” พระองค์ทรงเลือกที่จะอยู่กับเรา ... ขนมปังนี้คือพระเยซูเจ้าเองที่ถูกมอบให้แก่เรา ทรงเป็นบุคคลลึกลับ ดังจะเห็นได้จากสองข้อความก่อน และหลังอัศจรรย์ครั้งนี้ กษัตริย์เฮโรดแสดงความสงสัยว่า “คนที่เราได้ยินเรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นใครเล่า” (ลก 9:7-9) ... และหลังจากทรงทำอัศจรรย์ครั้งนี้ได้ไม่นาน พระเยซูเจ้าตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:18-27)

    ถ้าเรายังไม่ตอบคำถามว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร “เครื่องหมายแห่งขนมปัง” ก็จะยังเป็นเครื่องหมายที่ฉาบฉวย...

    ทั้งนี้หมายความว่าคริสตชนสามารถปิดตา และไม่มองความอดอยากฝ่ายกายของพี่น้องชายหญิงของเขาได้หรือ สภาเยาวชนเทเซ่ตอบว่าการนมัสการพระเจ้า และการพัฒนาเป็นสองสิ่งที่เชื่อมโยงกัน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านต้องแบ่งปันอาหารของท่าน ท่านต้องสัญญากับตนเองว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคม ท่านต้องให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ท่านต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ... ท่านต้องทำทั้งหมดนี้ก่อน แต่อย่าลืมนมัสการพระเจ้าด้วย เพื่อจะพบกับองค์พระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ของเรา ถ้าท่านไม่ทำเช่นนี้ ท่านจะทำให้พี่น้องชายหญิงของท่านไม่ได้รับสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเขา ... เขาจำเป็นต้องมีความรู้สึกเต็มอิ่ม ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นสามารถประทานให้เขา และจำเป็นมากกว่าความรู้สึกอิ่มท้อง ถ้าท่านรู้ว่าท่านจะมอบพระองค์ให้พวกเขาอย่างไร...

    ขนมปังของมนุษย์ (อะไรจะ “ธรรมดา” มากไปกว่าขนมปัง) จะต้องกลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า...

    เราต้องไม่ทำให้ขนมปังของมนุษย์สูญเปล่า ... เพราะขนมปังนี้ซ่อนธรรมล้ำลึกประการหนึ่ง ...

ทุกคนได้กินจนอิ่ม แล้วยังเก็บเศษที่เหลือได้สิบสองกระบุง

    ขอถวายพระพรแด่พระองค์ พระเจ้าของสิ่งสร้างทั้งปวง เพราะพระทัยดีของพระองค์ เราจึงมีขนมปังนี้มาถวาย เป็นผลผลิตจากแผ่นดิน และมือมนุษย์ และจะกลายเป็นปังแห่งชีวิตสำหรับเรา

    แต่เรารู้ว่าประชาชนในสมัยนั้นไม่เข้าใจ ... เขาต้องการยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ และขังพระองค์ไว้ภายในบทบาทของพระเมสสิยาห์ทางการเมือง ... ขังพระองค์ไว้ในมิติมนุษย์ ... แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับ พระองค์ทรงหลบหนีไปอยู่บนภูเขา (ยน 6:15) และให้ศิษย์ของพระองค์ลงเรือแล่นข้ามไปอีกฝากหนึ่ง (มก 6:52)

    โปรดประทานอาหารประจำวันแก่เราในวันนี้ – อาหารทั้งสองชนิด...

    วันอาทิตย์สัปดาห์หน้า เราจะเริ่มต้นเข้าสู่ “วันอาทิตย์ เทศกาลธรรมดา”