วันอาทิตย์ที่สาม เทศกาลธรรมดา
ลูกา 1:1-4, 4:14-21
ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพยิ่ง คนจำนวนมากได้เรียบเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นและประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรกได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่ง สำหรับท่านด้วย ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพ เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปแคว้นกาลิลีพร้อมด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นนั้น พระองค์ทรงสอนตามศาลาธรรมของชาวยิว และทุกคนต่างสรรเสริญพระองค์
พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงเจริญวัย ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย ทรงยืนขึ้นเพื่อทรงอ่านพระคัมภีร์ มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า
พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้
ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน
ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ
คืนสายตาให้แก่คนตาบอด
ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ
ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า
แล้วพระเยซูเจ้าทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่และประทับนั่ง สายตาของทุกคนที่อยู่ในศาลาธรรมต่างจ้องมองพระองค์ พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
อารัมภบทของลูกา
พระวรสารประจำวันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “อารัมภบท” ในข้อความสองตอนที่ยกมาเป็นบทอ่านนี้ เราได้อ่านอารัมภบทของพระวรสาร และอารัมภบทของเรื่องราวการเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้า
ลูกาเริ่มต้นโดยใช้โครงสร้างวรรณกรรมแบบกรีก เขาเขียนผลงานนี้เพื่อมอบให้เธโอฟีลัส ซึ่งแปลว่าผู้ที่รักพระเจ้า และเป็นชื่อที่หมายถึงใครก็ได้ ที่เริ่มแสวงหาพระเจ้าด้วยความรักเพราะต้องการรู้จักพระเจ้าให้มากยิ่งขึ้น
เขาบอกจุดประสงค์ที่เขียนเรื่องนี้ว่าเพื่อแสดงให้เห็นว่า คำสอนเกี่ยวกับความรอดพ้นของคริสตชนนั้นมีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจน เขาระบุสามขั้นตอนของการเขียนพระวรสารของเขา กล่าวคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดคำสอน และท้ายที่สุดคือความพยายามบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร พระวรสารทุกฉบับเขียนขึ้นจากความจริง และไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้น เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต คำสั่งสอน และพันธกิจกอบกู้มนุษยชาติของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ ผู้สิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพ
พระเยซูเจ้าไม่ได้ทิ้งบันทึกใด ๆ ไว้ แต่ศิษย์ของพระองค์นำประกาศคำสั่งสอนของพระองค์ไปประกาศ พัฒนาการขั้นที่สอง คือ ใช้คำสั่งสอนของพระคริสตเจ้าอบรมสั่งสอนชุมชนท้องถิ่น ลูกาเขียนพระวรสารหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วประมาณ 50 ปี เขาจึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่เขาใช้ข้อมูลจากคำบอกเล่าของประจักษ์พยาน และผู้เทศน์สอนพระวาจา มีตำนานหนึ่งเล่าไว้ด้วยว่า หนึ่งในแหล่งข้อมูลของลูกา คือพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า
พัฒนาการขั้นที่สาม คือ วิธีการที่ผู้นิพนธ์พระวรสารใช้ข้อมูลที่เขามี ลูกาตัดสินใจเขียนเรื่องราวเรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เขาได้ยินได้ฟังมา ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่คนอาจเปรียบได้กับพ่อครัวสี่คนที่ตั้งใจจะอบขนมเค้ก เขาไปหาซื้อส่วนประกอบจากร้านเดียวกัน ร้านนั้นก็คือชีวิต และผลงานกอบกู้มนุษยชาติของพระเยซูเจ้า ซึ่งลูกาเรียกว่า “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น” เราจะได้เค้กสี่ชิ้นที่เหมือนกันจากแหล่งเดียวกันหรือ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพ่อครัวแต่ละคนมีวิธีการผสมส่วนประกอบต่างกัน และต้องการทำเค้กต่างชนิดกัน คนหนึ่งทำเค้กคริสต์มาสครบสูตร อีกคนหนึ่งเลือกทำเค้กผลไม้เนื้อฟู อีกคนหนึ่งทำเป็นขนมเค้กรสหวาน ในทำนองเดียวกัน ผู้นิพนธ์ทั้งสี่คนก็บอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้าในแง่มุมที่ต่างกัน ปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลมากคือสถานการณ์ของงานอภิบาลในชุมชนคริสตชนที่ผู้นิพนธ์คนนั้นอาศัยอยู่ นอกจากนี้ความสามารถ และบุคลิกส่วนตัวของผู้นิพนธ์ก็ปรากฏให้เห็นได้ในงานเขียนของพวกเขาด้วย
จากงานเขียนของลูกา เราเห็นลักษณะประจำตัวอย่างหนึ่งของเขา คือ เขาให้ความสำคัญกับการภาวนา เขาเน้นย้ำถึงความเมตตาของพระเจ้า และความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อคนยากจน และคนที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม ลูกากล่าวถึงการภาวนา และคำสอนเรื่องการภาวนามากกว่าผู้นิพนธ์คนอื่น พระวรสารของเขาบันทึกคำภาวนาหลายบทที่เราคุ้นเคย เช่นบทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ เศคาริยาห์ และสิเมโอน ที่พระศาสนจักรใช้เป็นบทภาวนาประจำวัน มีบทข้าแต่พระบิดา และครึ่งแรกของบทวันทามารีย์ มีธรรมล้ำลึกภาคชื่นชมยินดีห้าข้อสำหรับใช้รำพึงระหว่างสวดสายประคำ และบทภาวนาสั้น ๆ มากมาย เช่น บทภาวนาของคนเก็บภาษีในพระวิหาร และของโจรกลับใจบนเขากัลวารีโอ
ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารผู้สรรเสริญความเมตตาของพระเจ้า เขาเล่าเรื่องของหญิงผู้กลับใจและล้างพระบาทของพระเยซูเจ้าด้วยน้ำตาของนาง เรื่องของบุตรล้างผลาญ โจรกลับใจ คนเก็บภาษีผู้ถ่อมตนแต่คำภาวนาแสดงความสำนึกผิดของเขาพุ่งขึ้นไปถึงสวรรค์ ทุกเช้าข้าพเจ้ารู้สึกมีกำลังใจเมื่อสวดบทถวายพระพรของเศคาริยาห์เพื่อเฉลิมฉลอง “พระเมตตากรุณาของพระเจ้าของเรา พระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบนดังแสงอรุโณทัย”
พระเยซูเจ้าทรงประกาศความห่วงใยของพระเจ้าต่อคนยากจน และคนนอกสังคม เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจเทศน์สอนของพระองค์ในนาซาเร็ธ นี่คือปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงนำข่าวดีมาประกาศแก่คนยากจน ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด และปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ พระเอกในเรื่องนี้คือคนโรคเรื้อน คนเลี้ยงแกะ คนเก็บภาษี คนบาปสาธารณะ ชาวสะมาเรีย และคนต่างชาติ ทุกคนเป็นบุคคลที่อยู่นอกระบบสังคม ลูกาเน้นบทบาทสำคัญที่มอบให้แก่สตรี โดยเฉพาะพระนางมารีย์ นางเอลีซาเบธ มารธา และมารีย์ กลุ่มสตรีที่ช่วยเหลือพระเยซูเจ้าและอัครสาวกในงานเทศนาสั่งสอนของพระองค์ และกลุ่มสตรีที่แสดงความสงสารพระองค์ระหว่างทางไปสู่ที่ประหารบนเขากัลวารีโอ
หน้าพระวรสารของลูกาเต็มไปด้วยผู้คน เขาไม่เสนอบทเทศน์ยาว ๆ เหมือนมัทธิว หรือคำปราศรัยยาว ๆ เหมือนในพระวรสารของยอห์น คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเข้าถึงประชาชนได้ทันที และคำสั่งสอนส่วนใหญ่ใช้บุคคลเป็นตัวอย่าง เช่นลาซารัสผู้ยากไร้เป็นตัวแทนของบุญลาภ ในขณะที่ภัยทั้งปวงที่เกิดจากความร่ำรวยมีอยู่ในตัวของเศรษฐีเจ้าของบ้านที่ลาซารัสนั่งอยู่หน้าประตู เราต้องสนใจคำกริยาที่ลูกาใช้เสมอ เพราะคำเหล่านี้บอกเราว่าพระเจ้าทรงทำอะไร และประชาชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อกิจการของพระเยซูเจ้า ตามปกติ เราจะเห็นว่าคนเหล่านี้ประทับใจจนต้องแสดงความพิศวง และสรรเสริญพระเจ้า
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของลูกา คือ การกล่าวถึงมื้ออาหารบ่อยครั้ง กล่าวกันว่าในพระวรสารของลูกา พระเยซูเจ้ามักประทับนั่งที่โต๊ะอาหาร หรือทรงเดินไปที่โต๊ะอาหาร หรือเพิ่งลุกขึ้นจากโต๊ะอาหาร และในหนังสือเล่มที่สองของลูกา คือกิจการอัครสาวก ก็บอกว่าหนึ่งในสี่ศิลาหัวมุมของชุมชนคริสตชนยุคต้นก็คือพิธีบิปัง
ด้วยการเน้นเรื่องการภาวนา ความเมตตา การเอาใจใส่คนยากจน การเทศน์สอนในระดับประชาชน และการเลี้ยงฉลองที่โต๊ะอาหาร ลูกาจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นคาทอลิกคนแรก ผู้ดำเนินชีวิตแบบคาทอลิกสามารถเข้าใจภาษาที่จริงใจของลูกาได้ง่าย
ขณะที่เราร่วมเดินทางไปกับลูกาในปีนี้ ขอให้เราพบประสบการณ์เหมือนกับศิษย์ทั้งสองบนเส้นทางสู่เอมมาอูสเถิด ขอให้ใจของเราเร่าร้อนเป็นไฟ ขณะที่เราทำความรู้จักกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในพระวาจาของพระองค์ ขอให้เราจำพระองค์ได้ในพิธีบิปัง และหลังจากได้รับความสว่างจากพระวาจาของพระองค์ และได้รับการเลี้ยงดูจากปังศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์แล้ว ขอให้เราเป็นพยานต่อหน้าผู้อื่นอย่างแข็งขันเถิด
ข้อรำพึงที่สอง
อารัมภบทแนะนำตัวพระเยซูเจ้า
ข้อความแรกที่ผู้นิพนธ์พระวรสารแต่ละคนอ้างว่าเป็นพระวาจาของพระเยซูเจ้า ช่วยให้เราเข้าใจได้มากทีเดียวว่าผู้นิพนธ์มีเจตนาอย่างไร มัทธิว และมาระโกให้พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระอาณาจักรอยู่ใกล้แล้ว และทรงเรียกร้องให้ประชาชนกลับใจ และเชื่อข่าวดี
ยอห์นให้พระเยซูเจ้าตอบสนองการแสวงหาของมนุษย์ว่า “ท่านต้องการสิ่งใด ... มาดูซิ” ส่วนลูกาให้พระเยซูเจ้าอยู่ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ และอ่านข้อความจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า” เป็นข่าวดีสำหรับคนยากจน และผู้ถูกกดขี่ เป็นปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาแห่งพระหรรษทานอันอุดม มีสามหัวข้อที่ถักร้อยเป็นเรื่องราวนี้ คือ การทำงานของพระจิตเจ้า ความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อคนยากจน และผู้ถูกกดขี่ และผลกระทบจากอานุภาพของพระเจ้าในวันนี้
ลูกาเป็นผู้นิพนธ์ที่ให้ความสำคัญแก่พระจิตเจ้า ยอห์นเอ่ยถึงคำสัญญาจะประทานพระจิตเจ้า แต่เรื่องของลูกาบอกเล่าอย่างมีชีวิตชีวาเรื่องการทำงานของพระจิตเจ้าในพระเยซูเจ้า และต่อมาในชุมชนคริสตชน ลูกาเล่าว่าพระจิตเจ้าทรงแผ่เงาปกคลุมพระนางมารีย์ ซึ่งบ่งบอกถึงการประทับอยู่และพระอานุภาพของพระเจ้า ถ้อยคำถวายพระพรของนางเอลีซาเบธ และสิเมโอน ถูกเปล่งออกมาเมื่อคนทั้งสองเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า นับจากเวลาที่พระเยซูเจ้าเป็นผู้ใหญ่ และปรากฏพระองค์ที่แม่น้ำจอร์แดน พระองค์ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงนำทางพระองค์ และทรงได้รับอำนาจจากพระจิตเจ้า
ในภาพนิมิตอันโด่งดังของเอเสเคียล เขาเห็นหุบเขาที่มีแต่กระดูกแห้ง แต่เมื่อลมหายใจ หรือพระจิตของพระเจ้า เข้าสู่กระดูกเหล่านั้น ชีวิตใหม่จึงปรากฏขึ้น เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลับ ๆ เพราะมีเสียงดังจากกระดูกที่กระทบกัน ขณะที่กระดูกเชื่อมต่อกัน เส้นเอ็นใหม่ให้ความแข็งแรง ผิวหนังทำให้งดงาม และลมหายใจของพระเจ้าทำให้เกิดอัศจรรย์แห่งชีวิต
ข่าวดีที่ประกาศภายใต้อำนาจของพระจิตเจ้าที่นาซาเร็ธ เป็นข่าวดีสำหรับกระดูกแห้งแห่งความยากจนภายใน การถูกจองจำ ความมืดบอด และการกดขี่ภายใน เราเห็นอาการเหล่านี้ได้รอบตัวเราในปัจจุบัน ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต และจิตแพทย์ มีคนไข้เข้าคิวยาวรอรับบริการ เมื่อใดที่มีบริการรักษาโรค ไม่ว่าด้วยพิธีทางศาสนาหรือทางโลก จะมีคนมารับบริการกันแน่นวัดหรือห้องโถง มนุษย์ไม่ปิดบังเรื่องราวชีวิตที่สิ้นหวังของตนไว้เป็นความลับอีกต่อไป
พระเยซูเจ้าทรงวางม้วนหนังสือ และประกาศว่าพระจิตเจ้าประทับอยู่ที่นี่ในวันนี้แล้ว ลูกาใช้คำว่าวันนี้บ่อยครั้งเพื่อบ่งบอกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า “วันนี้ พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว ... วันนี้ เราได้เห็นเรื่องแปลกประหลาด ... วันนี้ ความรอดเข้ามาสู่บ้านนี้แล้ว ... วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราบนสวรรค์” การไตร่ตรองพระวรสารอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำในอดีต และช่วยให้มองเห็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน
พระเยซูเจ้าทรงสอนประชาชนให้ผ่อนคลายภายใต้ความโปรดปรานของพระเจ้า และเขาจะพบว่าเขาสามารถปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการเขาอยู่ได้ วันปลดปล่อยจะมาถึงเมื่อท่านค้นพบว่าโซ่ตรวนที่ล่ามท่านอยู่นั้นไม่ได้มีกุญแจล๊อกไว้ นอกจากมือของท่านเองที่กำโซ่นั้นไว้ไม่ยอมปล่อย เมื่อท่านค้นพบความรักของพระเจ้าที่รับรู้ได้ในองค์พระเยซูเจ้า ท่านจะปล่อยมือ และโซ่จะร่วงลงไปเอง
พระเยซูเจ้าทรงนำข่าวของพระเจ้ามาแจ้งแก่คนยากจน ข่าวนั้นประกาศว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์ ทรงห่วงใย สงสาร และพร้อมจะให้อภัย เพราะพระองค์ทรงโปรดปรานเรา ถ้าข้าพเจ้าได้รับสิทธิพิเศษให้ได้ยินได้ฟังข่าวของพระเจ้า ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกอยากจะส่งภาพของพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณานี้ต่อไปให้แก่ผู้อื่น ไม่ใช่ด้วยคำพูด ซึ่งอาจเป็นเพียงการแสดงความศรัทธาภายนอกแต่ภายในกลวง แต่ด้วยการดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง ข้าพเจ้าต้องถามตนเองเสมอว่า วันนี้ ชีวิตของข้าพเจ้าประกาศข่าวของพระเจ้าให้แก่ผู้อื่นว่าอย่างไร
บทรำพึงที่ 2
คนจำนวนมากได้เรียบเรียงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา...
ลูกาไม่ใช่บุคคลแรกที่เขียนพระวรสาร มาระโกได้เขียนพระวรสารของเขามาก่อนแล้ว และลูกาก็รู้ความจริงข้อนี้ เขาใช้พระวรสารของมาระโกเป็นแหล่งข้อมูล และบางครั้งก็บอกเล่าเหตุการณ์เหมือนกัน
แต่เห็นได้ชัดว่ามีหลายวิธีที่จะบอกเล่าหัวข้อเดียวกัน ลูกาไม่วิจารณ์ผู้ที่เขียนพระวรสารก่อนเขา แต่เขาเขียนพระวรสารของตนเอง และเน้นเรื่องที่เขารู้สึกว่าสำคัญสำหรับผู้ที่เขาต้องการให้อ่านพระวรสารของเขา
ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็น และประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรก ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว ...
ลูกายอมรับว่าเขาเหมือนกับเรา เพราะเขาไม่เคยพบตัวจริงของพระเยซูเจ้า เขาเป็นคริสตชนรุ่นที่สอง แต่เขาสอบถาม และต้องการแบ่งปันข้อมูลที่เขาค้นพบกับเรา เราเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่าธรรมประเพณี ...
ส่วนข้าพเจ้าเล่า ข้าพเจ้าเป็นข้อหนึ่งของห่วงโซ่ ที่แบ่งปันและถ่ายทอดเรื่องราวของพระเยซูเจ้าให้แก่ชนรุ่นต่อไปด้วยหรือไม่
ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่านด้วย ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพ เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง
ลูการะบุเจตนาของเขาอย่างชัดเจน เขาต้องการเสริมความเชื่อของผู้อ่านให้เข้มแข็งมากขึ้น พระวรสารนี้ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้น หรือเป็นตำนาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ ... ลูกาเขียนพระวรสารสำหรับผู้อ่านที่เป็นคริสตชนใหม่ที่ไม่ใช่ชาวยิว ลูกา (เช่นเดียวกับนักบุญเปาโล อาจารย์ของเขา) เน้นย้ำบางด้านของชีวิตของพระเยซูเจ้า และอธิบายคร่าว ๆ ในเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมเนียมของชาวยิว ผลงานของลูกาได้รับการดลใจจารกพระเจ้า แต่การดลใจนี้ไม่บดบังความสามารถ และคุณสมบัติของผู้นิพนธ์ ... พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาจึงเป็นพระวรสารต้นฉบับ
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปแคว้นกาลิลี พร้อมด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นนั้น
พระจิตเจ้าทรงเป็นพลังภายในของพระเยซูเจ้า ลูกาเน้นว่าพระองค์ทรงปฏิสนธิด้วยเดชะพระจิตเจ้า (ลก 1:35) ทรงได้รับอำนาจจากพระจิตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรับพิธีล้าง (ลก 3:22) ... และพระจิตทรงนำทางพระองค์ (ลก 4:1, 14, 18)
“การสั่งสอนตามศาลาธรรม” หมายถึงการอธิบายข้อความตอนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม บางครั้ง เราสงสัยว่าพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเรื่องอะไร พระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความในพระคัมภีร์ ทรงเผยความหมายดั้งเดิมของข้อความนั้น และทรงเติมรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความแม่นยำ หรือความแตกต่างของภาษา ... แต่ถึงคำเทศน์สอนของพระองค์เป็นสิ่งใหม่ แต่รากฐานของพระวรสารก็อยู่ที่คำสัญญาของพระคัมภีร์ ซึ่งชาวยิวรู้จักกันดีอยู่แล้ว เมื่อสภาสังคายนาให้นำข้อความจากพันธสัญญาเดิมกลับมาใช้เป็นบทอ่านที่หนึ่งในพิธีกรรมวันอาทิตย์ สภาสังคายนาไม่ได้คิดประดิษฐ์ธรรมเนียมใหม่ แต่ย้อนกลับไปหาธรรมประเพณีโบราณ ... เพราะสภาสังคายนา เราจึงกลับไปปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยปฏิบัติ...
พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงเจริญวัย ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย ทรงยืนขึ้นเพื่ออ่านพระคัมภีร์ มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก...
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ของคนยากจน พระองค์ไม่พยายามเสนอตัว หรืออวดอ้างตนเอง พระองค์ไม่เสด็จไปเทศน์สอนในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งถือว่าเป็นเมืองของกษัตริย์และมหาสมณะ แต่ทรงเทศน์สอนในแคว้นที่ห่างไกลและต่ำต้อย “แคว้นกาลิลี แห่งบรรดาประชาชาติ” (มธ 4:15) ดินแดนของคนต่ำต้อย และยากจน...
พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นทั้งสมณะและพระเมสสิยาห์ ไม่เสด็จไปที่พระวิหารเพื่อประกอบศาสนกิจและถวายเครื่องบูชา แต่เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่เล็ก ๆ สำหรับอธิษฐานภาวนา และรับฟังพระวาจาของพระเจ้า ทรงเข้าร่วมในพิธีนมัสการซึ่งมีพระคัมภีร์เป็นศูนย์กลาง ... ด้วยวิธีนี้ พระองค์ทรงแสดงว่าหน้าที่แรกของสมณภาพของพระองค์คือการประกาศพระวาจาของพระเจ้า...
แม้แต่ทุกวันนี้ เราก็พบพระเยซูคริสตเจ้าได้ในภาคหนึ่งของมิสซาที่เราเรียกว่า “ภาควจนพิธีกรรม” ... มีเพียงครั้งเดียวที่พระองค์ทรง “ทำพิธีถวาย” นั่นคือวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ... แต่พระองค์ “ตรัส” หลายครั้งหลายหน เพราะนี่คือหน้าที่สมณะของพระองค์ ... นักบุญเปาโลเข้าใจเรื่องนี้ดีมาก และเขาแนะนำตนเองว่าเป็น “ผู้รับใช้ของพระคริสตเยซู ... โดยทำหน้าที่สมณะในการประกาศข่าวดีของพระเจ้า” (รม 15:16)
ม้วนพระคัมภีร์ที่พระเยซูเจ้าทรงรับมาคลี่ออกและอ่านในวันนั้น ... พระคัมภีร์นั้นยังมีอยู่ในวันนี้ ... ข้าพเจ้ามีหนังสือศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่กับตัว หรืออยู่ในบ้านหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าหาเวลาอ่านหรือเปล่า ... พระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ข้าพเจ้าอ่านทุกวันหรือเปล่า...
ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า ...”
ด้วยถ้อยคำนี้ พระเยซูเจ้าทรงเผยว่าพันธกิจของพระองค์คือการประกาศพระวาจาของพระเจ้า ในภาษาของชาวอิสราเอล ข้อความนี้หมายความว่า “ข้าพเจ้าเป็นประกาศกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าถูกส่งมาโดยพระเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้าพูดในพระนามของพระองค์ ประกาศสารของพระองค์...”
และพระเยซูเจ้าทรงถือว่าพระองค์อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด คือประกาศกอิสยาห์ ม้วนหนังสือจากชุมชนกุมรานช่วยให้เรารู้ว่า หนังสืออิสยาห์เป็นหนังสือที่ชาวยิวอ่านบ่อยที่สุดในยุคสมัยของพระเยซูเจ้า หนังสือเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้เป็นม้วนหนังสือที่ทำจากแผ่นหนัง (พบเมื่อหลายปีก่อนในถ้ำแห่งหนึ่ง และบัดนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หนังสือในกรุงเยรูซาเล็ม) และจารึกหนังสือประกาศกอิสยาห์ทั้งเล่มด้วยลายมือ ... เป็นเอกสารที่ไม่เหมือนวรรณกรรมใดในโลก ม้วนหนังสือนี้ตกทอดมาถึงเราราวกับด้วยเหตุบังเอิญ ... แต่เป็นเหตุบังเอิญจริงหรือ ... เราพบว่าหนังสืออิสยาห์เป็นข้อความที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เทศน์สอนชนชาติเดียวกับพระองค์เป็นครั้งแรก
เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ...
ขอให้เราระลึกอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า “เจิม” มาจากคำว่า chrisma ในภาษากรีก และผู้ได้รับเจิมจะได้ชื่อว่า christos ซึ่งเป็นตำแหน่งของพระเยซูคริสตเจ้า ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่ดูดซับพระจิตของพระเจ้าไว้ในตัว เหมือนกับน้ำมันซึมเข้าสู่ร่างกาย ... “ในองค์พระคริสตเจ้านั้น พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9)
ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ...
คำว่า “ประกาศข่าวดี” แปลมาจากคำภาษากรีกว่า euangelisasthai
อิสยาห์เขียนคำนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความหวังเพื่อชาวยิวที่ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองบาบิโลน เพื่อประกาศข่าวดีแห่งการปลดปล่อยให้แก่คนเหล่านี้ (อสย 52:7, 61:1) แต่ข่าวดีเรื่องการปลดปล่อย และการบูรณะกรุงเยรูซาเล็ม ไม่ได้ทำให้ชาวยิวทุกคนยินดี เพราะ “คนยากจน” ก็ยังถูกกดขี่ และไม่มีความสุขต่อไป ... เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “คนยากจน” ในพระคัมภีร์จึงกลายเป็นหมายถึงไม่เพียงประชาชนที่มีฐานะต่ำต้อยทางเศรษฐกิจหรือสังคม แต่ยังหมายถึงทัศนคติภายในของคนที่พบว่าตนเองกำลังขัดสนอย่างรุนแรง และไม่อาจพึ่งพาอาศัยมนุษย์ได้ เขาจึงหันไปขอความคุ้มครองจากพระเจ้า ... ครั้งนี้ ลูกาย้ำเป็นพิเศษว่า พระเจ้าทรงมีความรักที่ลำเอียงเข้าข้าง “คนยากจน” ...
สำหรับท่าน ผู้เป็นพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้า ถ้าท่านรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสุขในโลกนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับท่านโดยเฉพาะ ความสุขกำลังรอท่านอยู่ – จนแสวงหามัน และท่านจะพบกับความสุขในสถานที่ซึ่งพระเจ้าประทับอยู่ และโดยเฉพาะในพระวาจาของพระองค์...
ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า
คนทั่วไปจะตีความของข้อความนี้ตามพื้นอารมณ์ของตน ซึ่งอาจทำให้มีความหมายสองอย่างที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ การปลดปล่อยทางกายภาพ หรือทางการเมือง ของผู้ถูกจองจำ คนตาบอด และผู้กดขี่ ... และการปลดปล่อยด้านจิตวิญญาณ ... หรือบางที พระวาจาของพระองค์อาจหมายถึงความหมายทั้งสองด้านนี้ก็ได้ ...
เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเปิดประตูคุกทุกแห่ง ไม่ได้รักษาคนตาบอด หรือคนป่วยทุกคน ไม่ได้ทรงลบล้างการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบให้หมดไปจากโลกของเรา ... ดังนั้น เราจะพูดว่าคำสัญญาของพระองค์เป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า และเป็นความเท็จหรือ ... คนยากจนคาดหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยทางวัตถุเป็นสิ่งแรก เป็นไปได้ที่พวกเราผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้ามีความผิดที่ไม่ทำให้คำประกาศนี้กลายเป็นความจริง เราทำอะไรบ้างเพื่อปลดปล่อยพี่น้องชายหญิงของเรา เพื่อบรรเทาใจคนเจ็บป่วย คนเหงา คนที่ไม่มีใครต้องการ คนที่ไม่ได้รับความรัก
แต่เป็นความจริงแน่นอนว่าการกดขี่ที่ร้ายที่สุด คือ การเป็นทาสภายใน ซึ่งบาปของเราผลักดันเราไปสู่ความเป็นทาสนี้ คำที่แปลในที่นี้ว่า “ปลดปล่อย” มาจากคำว่า aphesis ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง “การให้อภัย” อีกด้วย (ลก 1:77, 3:3, 24:47, กจ 2:38, 5:31 เป็นต้น)
พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเรา โปรดประทานอภัยแก่เราเถิด
ข้าพเจ้าเองก็เป็นทาส เมื่อหัวใจของข้าพเจ้าเป็นนักโทษของความเกลียดชัง ความกระหายอำนาจ ความฟุ่มเฟือย และความสุขสบายทางโลก ... การปลดปล่อยที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญานี้ เป็นการปลดปล่อยสำหรับข้าพเจ้าด้วย ...
แล้วพระเยซูเจ้าทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่ และประทับนั่ง สายตาของทุกคนที่อยู่ในศาลาธรรมต่างจ้องมองพระองค์ พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว”
ข้อความเหล่านี้เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าอย่างไรในวันนี้ ในศตวรรษที่ 20 นี้ ...
ลูกาย้ำคำอันเร้นลับว่า “วันนี้” ถึงสิบสองครั้งในพระวรสารของเขา เริ่มตั้งแต่ “วันนี้ พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว” จนถึง “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 2:11, 3:22, 4:21, 5:26, 12:28, 13:33, 19:5, 19:9, 22:34, 22:61, 23:43)