วันอาทิตย์ที่สี่ เทศกาลธรรมดา
ลูกา 4:21-30
พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” ทุกคนสรรเสริญพระองค์และต่างประหลาดใจในถ้อยคำน่าฟังที่พระองค์ตรัส เขากล่าวกันว่า “นี่เป็นลูกของโยเซฟมิใช่หรือ” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านคงจะกล่าวคำพังเพยนี้แก่เราเป็นแน่ว่า ‘หมอเอ๋ย จงรักษาตนเองเถิด สิ่งที่พวกเราได้ยินว่าเกิดขึ้นที่เมืองคาเปอรนาอุมนั้น ท่านจงทำที่นี่ในบ้านเมืองของท่านด้วยเถิด’“ แล้วพระองค์ยังทรงเสริมอีกว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน เราบอกความจริงอีกว่า ในสมัยประกาศกเอลียาห์ เมื่อฝนไม่ตกเป็นเวลาสามปีหกเดือน และเกิดความอดอยากครั้งใหญ่ทั่วแผ่นดิน มีหญิงม่ายหลายคนในอิสราเอล แต่พระเจ้ามิได้ทรงส่งประกาศกเอลียาห์ไปหาหญิงม่ายเหล่านี้ นอกจากหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทในเขตเมืองไซดอน ในสมัยประกาศกเอลีชา มีคนโรคเรื้อนหลายคนในอิสราเอล แต่ไม่มีใครได้รับการรักษาให้หายจากโรค นอกจากนาอามานชาวซีเรียเท่านั้น”
เมื่อคนที่อยู่ในศาลาธรรมได้ยินเช่นนี้ ทุกคนโกรธเคืองยิ่งนัก จึงลุกขึ้นขับไล่พระองค์ออกไปจากเมือง นำไปที่หน้าผาของเนินเขาที่เมืองตั้งอยู่ ตั้งใจจะผลักพระองค์ลงไป แต่พระองค์ทรงดำเนินฝ่ากลุ่มคนเหล่านั้น แล้วเสด็จจากไป
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การทำงาน และปฏิกิริยาต่อการทำงาน
ข้อความนี้บรรยายการประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า และปฏิกิริยาด้านลบที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชนในบ้านเมืองของพระองค์เอง
หลังจากทรงอ่านจากหนังสืออิสยาห์ เกี่ยวกับพระอานุภาพของพระจิตเจ้าในปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้าแล้ว พระเยซูเจ้าทรงส่งม้วนหนังสือคืนให้เจ้าหน้าที่ และประกาศว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระเจ้าที่จารึกบนกระดาษ แต่ไม่มีจุดประสงค์ให้อยู่แต่ในหน้ากระดาษ เราควรนำพระวาจานี้มาปฏิบัติในชีวิต เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์พืชที่เก็บไว้ในซอง พระวาจาศักดิ์สิทธิ์จะสูญสิ้นพลังชีวิต ถ้าไม่ถูกหยิบออกมาจากซองและปลูกในดิน การศึกษาพระคัมภีร์ทำให้เราคุ้นเคยกับการทำงานของพระเจ้าในอดีต เพื่อว่าเราจะเห็นการประทับอยู่ และการทำงานของพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันของเรา พระเจ้าผู้ทรงกระทำการต่าง ๆ ในอดีตพระองค์นี้ ทรงประทับอยู่ในชีวิตของเราในวันนี้
ปฏิกิริยาแรกของประชาชนเมื่อได้ยินพระวาจาของพระเยซูเจ้า เป็นปฏิกิริยาในด้านบวก พวกเขาประหลาดใจ และคิดว่าพระวาจาของพระองค์น่าฟัง เต็มเปี่ยมด้วยคุณความดีของพระเจ้า แต่ดูซิว่าอารมณ์ของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอย่างไร ลูกานำเราเดินทางผ่านอารมณ์ต่าง ๆ เริ่มจากความชื่นชมจากทุกคน เปลี่ยนเป็นความสงสัย กลายเป็นความโกรธ และจบลงด้วยการใช้ความรุนแรง
ผู้อ่านต้องใช้จินตนาการของตนเอง เพื่อจะมองเห็นภาพ สังเกตเห็นประชาชนสะกิดกัน หลิวตาให้กัน ได้ยินเสียงหายใจฮึดฮัดแสดงความไม่พอใจ และเสียงหัวเราะประชด หลังจากแสดงความชื่นชมในตอนแรก ความอิจฉาริษยาของคนบ้านเดียวกันก็เริ่มหว่านเมล็ดแห่งความคลางแคลงใจ คนแรกพูดเตือนให้ระวัง “นี่เป็นลูกของโยเซฟ มิใช่หรือ” อีกนัยหนึ่งคือ อย่างเพิ่งหลงคารมเขาง่าย ๆ
คนขี้อิจฉามักปิดบังความไม่เชื่อของเขาไว้ภายใต้คำพูดขำขันเพื่อหาพรรคพวก แล้วเขาก็ออกมาจากที่ซ่อน เราได้ยินเสียงความอิจฉาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดชื่นชม “เราได้ยินเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่เมืองคาเปอรนาอุม...” เสียงนั้นเปลี่ยนเป็นแข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อย “ท่านจงทำอย่างนั้นที่นี่ในเมืองของท่านด้วยเถิด” เราแทบไม่ต้องใช้จินตนาการ ก็สามารถได้ยินเสียงหัวเราะเยาะจากพวกผู้ชายที่นั่งอยู่ด้านหลัง บัดนี้ เขามีช่องทางแสดงความไม่พอใจออกมาแล้ว
เมื่อทรงเห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนไป พระเยซูเจ้าจึงตรัสประโยคที่ไม่มีวันตายว่า “ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน” นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับบุรุษศักดิ์สิทธิ์อย่างเอลียาห์ และเอลีชามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทั้งสองคนไม่ได้รับการต้อนรับในบ้านเมืองของเขา แต่เขานำพระพรการรักษาโรคของพระเจ้ามามอบให้แก่คนต่างชาติ
ประชาชนคิดว่าพระเยซูเจ้าอวดดีที่นำพระองค์ไปเปรียบเทียบกับประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และที่เจ็บยิ่งกว่านั้น คือ พระเยซูเจ้าดูเหมือนจะบอกว่าพระองค์กำลังปฏิบัติพันธกิจถึงภายนอกอาณาเขตของอิสราเอล บัดนี้ ประชาชนโกรธจนยับยั้งตนเองไม่ได้ และเริ่มใช้ความรุนแรง
พวกเขาลุกขึ้น และผลักพระองค์ออกไปนอกเมือง การเดินทางขึ้นไปบนเนินเขาเป็นการทำนายถึงอีกวันหนึ่ง จะมีฝูงชนที่กำลังโกรธอีกกลุ่มหนึ่ง และเนินเขาอีกลูกหนึ่ง คำบรรยายการหลบหนีของพระเยซูเจ้าค่อนข้างคลุมเครือ “พระองค์ทรงดำเนินฝ่ากลุ่มคนเหล่านั้น แล้วเสด็จจากไป” ฝูงชนที่กำลังโกรธจะไม่ยอมปล่อยบุคคลที่พวกเขาโกรธให้หลบหนีไปง่าย ๆ แน่นอน คำบรรยายของลูกาบอกเป็นนัยถึงอีกวันหนึ่งหลังจากนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จผ่านโลกนี้ และผ่านความโกรธของชาวโลก และเดินทางกลับไปหาพระบิดา
เหตุการณ์นี้ช่วยบรรเทาใจคนทั้งหลายที่ตั้งใจทำกิจการดี แต่พบกับความไม่พอใจ ความอิจฉาริษยา และการต่อต้าน พวกเขากำลังประสบชะตากรรมเหมือนกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงยืนยันว่าประกาศกมักไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเพื่อนบ้านของตนเอง จากโต๊ะทำงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองออกไปเห็นช่องแคบที่มีน้ำไหลผ่านไปยังอ่าวชีพเฮเวิน ในวันที่กระแสน้ำแรงมาก จะเกิดน้ำวนขึ้นที่ข้างฝั่งทั้งสอง และทำให้มีกระแสน้ำไหลสวนทาง เป็นพลังที่ช่วยหนุนคนที่แจวเรือสวนกระแสน้ำสายหลัก ในทำนองเดียวกัน กระแสของกิจการดีมักก่อให้เกิดขบวนการที่มุ่งหน้าไปสู่ทิศทางตรงข้าม
ประสบการณ์ที่นาซาเร็ธ เมืองของพระเยซูเจ้า ท้าทายเราให้พินิจพิจารณาว่าเราแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อความสามารถพิเศษของคนรอบตัวเรา
เราอิจฉา เรารู้สึกว่าเขาเป็นภัยคุกคาม หรือรู้สึกขาดความมั่นใจเมื่อเปรียบเทียบเขากับตัวเรา
เราปลื้มปิติหรือไม่เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี เราสนับสนุนเขาหรือไม่ เราช่วยให้เขาค้นหา และพัฒนาความสามารถพิเศษของเขาหรือเปล่า เรายอมรับประกาศกในหมู่เราด้วยความยินดีหรือเปล่า
ข้อรำพึงที่สอง
การปฏิเสธพระเยซูเจ้า ... การปฏิเสธพระศาสนจักร
เนินเขาที่เห็นจากระยะไกลจะดูเขียวชอุ่มเสมอ เราอาจใช้ชีวิตของเราให้หมดไปกับการรอคอยสถานการณ์ดี ๆ ให้เกิดขึ้นมาเอง เหมือนกับผู้หญิงที่รอคอย และแสวงหาชายในอุดมคติ เธอได้พบเขาในที่สุด แต่เธอก็ค้นพบด้วยว่าเขาเองก็กำลังแสวงหาผู้หญิงในอุดมคติอยู่เหมือนกัน ชาวนาซาเร็ธเริ่มไม่เชื่อถือพระเยซูเจ้า เพราะมองว่าพระองค์เป็นมนุษย์เหมือนกับเขาเกินไป พระองค์เป็นคนข้างบ้าน “คนนี้เป็นลูกของโยเซฟไม่ใช่หรือ จะให้เราฟังเขาหรือ ฉันจะไปหาเขาถ้าต้องการโต๊ะเก้าอี้สักชุดหนึ่ง พวกชาวนาชอบฝีมือของเขา มีคำขวัญติดอยู่ที่ประตูบ้านของเขาไม่ใช่หรือว่า ‘แอกของเราอ่อนนุ่ม และภาระของเราก็เบา’ เขาเป็นช่างไม้ฝีมือดีแน่นอน แต่เขาเป็นนักเทศน์ได้หรือ เขาเอาความคิดพวกนี้มาจากไหน ท่านจะยอมฟังคำแอบอ้างไร้สาระของเขาหรือ”
ในทำนองเดียวกันก็มีคนไม่น้อยในปัจจุบันที่คิดว่าพระศาสนจักรมีความเป็นปุถุชนมากเกินไป เขายอมรับไม่ได้กับความผิดพลาด หรือความอ่อนแอในตัวของพระสันตะปาปา พระสังฆราช พระสงฆ์ ครู ภราดา ภคินี เพื่อนบ้าน หรือใครก็ตามที่ไปวัด บ่อยครั้งเพียงไรเราต้องฟังเสียงวิจารณ์ของคนที่รังเกียจตัวอย่างเลว ๆ คนเหล่านี้น่าจะช่างสังเกตตัวอย่างดี ๆ สักครั้งหนึ่งก็ยังดี ดูเหมือนว่าเป็นแฟชั่นที่จะวิจารณ์อดีตราวกับว่าไม่เคยมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นเลยในพระศาสนจักรก่อนสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ระบบการศึกษาอบรมด้านศาสนาในอดีตอาจสมควรได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็มีชาย และหญิงเก่ง ๆ จำนวนมากที่เรียนรู้ประสบการณ์จากระบบการศึกษานี้
ในขณะที่เราอาจตำหนิแนวทางการสั่งสอนระหว่างหลายศตวรรษที่ผ่านมา ว่าสนใจมากเกินไปว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นสมบัติส่วนตัวของพระศาสนจักร แต่ยุคสมัยเดียวกันนี้เองได้ทำให้พระศาสนจักรขยายงานแพร่ธรรมออกไปทั่วโลก และมีการเจริญเติบโตของงานอภิบาลด้านการดูแล การรักษาพยาบาล และการศึกษา ชาวเมืองนาซาเร็ธมองเห็นพระเยซูเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ถ้านักวิจารณ์ในปัจจุบันต้องการจับผิดพระศาสนจักร เขาไม่จำเป็นต้องค้นหาอะไรมาก แต่โดยส่วนตัว ข้าพเจ้ายินดีที่พระศาสนจักรเป็นชุมชนที่อ่อนแอและเป็นปุถุชนคนธรรมดาเช่นนี้ ... เพราะทำให้ข้าพเจ้ามีที่ยืนที่เหมาะสมสำหรับตนเองในพระศาสนจักรนี้
ถ้าท่านค้นพบพระศาสนจักรที่ดีพร้อมในวันหน้า มโนธรรมของท่านจะบอกให้ท่านเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกในพระศาสนจักรนั้นทันที ท่านเพียงต้องจำไว้ข้อหนึ่งว่า เมื่อท่านเข้าไปอยู่ในพระศาสนจักรนั้นแล้ว พระศาสนจักรจะไม่ดีพร้อมอีกต่อไป
บทรำพึงที่ 2
“ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว”
นี่คือประโยคสุดท้ายของการเทศน์สอนครั้งแรกของพระเยซูเจ้าในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ บ้านเมืองของพระองค์เอง และเป็นบทเทศน์ตามข้อความจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (61:1-2) พระเยซูเจ้าทรงระบุโครงการทำงานของพระองค์ กล่าวคือ ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ปลดปล่อยผู้ถูกจองจำ ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ และประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า...
พระองค์ทรงต้องการเพียงจะบอกเราว่า “วันนี้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้สำเร็จเป็นจริงแล้ว ... พระองค์ทรงยืนยันกับผู้ที่ฟังพระองค์ด้วยความประหลาดใจว่าตัวของพระองค์ และกิจการที่พระองค์กระทำนั้น เป็นไปตามความคาดหมายและความหวังของชาวอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงนำพระวาจาของพระเจ้าจากอดีตที่ผ่านมานาน มาใช้ในสถานการณ์จริง ... พระองค์ไม่ต้องการให้มนุษย์กักพระเจ้าให้อยู่แต่ในอดีต หรือในอนาคตอีกต่อไป วันนี้เป็นเวลาของพระเจ้า เป็นเวลาของแผนการที่พระองค์กำหนดไว้สำหรับข้าพเจ้า และสำหรับท่าน
วันนี้ เราเองก็อยากจะส่งพระวรสารย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 20 ศตวรรษก่อนไม่ใช่หรือ ...
วันนี้ ใครคือคนยากจน ผู้ถูกจองจำ ผู้ถูกกดขี่ที่อยู่รอบตัวเรา
เรามีข่าวดีอะไรจะประกาศแก่คนเหล่านี้หรือเปล่า ...
ทุกคนสรรเสริญพระองค์ และต่างประหลาดใจในถ้อยคำน่าฟังที่พระองค์ตรัส
ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นเทศน์สอนด้วยการรับรองว่า “วันนี้” ถึงเวลาแล้วสำหรับ “ของขวัญที่ให้เปล่า ๆ” คือการให้อภัยของพระเจ้า (การให้อภัยอาจเป็นความหมายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคำว่า “ปลดปล่อย” ซึ่งในภาษากรีกคือ aphesis พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อประทาน “สารแห่งพระหรรษทาน ... ของขวัญที่ให้เปล่า” ของขวัญที่ผู้รับไม่จำเป็นต้องสมควรได้รับ ... เราสังเกตได้ว่านักบุญเปาโลได้เขียนอธิบายเทววิทยาเกี่ยวกับ “พระหรรษทาน” มาแล้วในจดหมายถึงชาวโรม ในเวลาที่ลูกา ศิษย์ของเขา เขียนพระวรสารฉบับนี้ว่า “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20) ... ลูกาเล่าเรื่องต่างจากมาระโก (6:1-6) เขาบอกว่าประชาชนพอใจคำเทศน์สอนนี้ในตอนแรก “ทุกคนสรรเสริญพระองค์” ชาวนาซาเร็ธไม่ได้เลวไปกว่าคนอื่น ๆ แต่ทำไมพวกเขาจึงเปลี่ยนใจ และหันมาต่อต้านพระองค์...
เขากล่าวกันว่า “นี่เป็นลูกของโยเซฟ มิใช่หรือ”
ลูการู้ว่าถ้อยคำเหล่านี้แสดงว่าพวกเขาไม่รู้จักชาติกำเนิดแท้ของพระเยซูเจ้า ดังที่เขาเองเพิ่งจะระบุชัดว่า “คนทั่วไปคิดว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรของโยเซฟ” (ลก 3:23)
ในเบื้องต้น ประชาชนประทับใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า แต่เขาไม่ยอมรับ “ตัวพระองค์” พวกเขาคิดว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาเกินไป ... เพราะถึงอย่างไร “เขาก็เป็นเพียงบุตรของโยเซฟ”...
พระศาสนจักรยังทำให้เกิดความรู้สึกสะดุดเช่นเดียวกันในปัจจุบัน ประชาชนพร้อมจะยอมรับสารที่พระศาสนจักรประกาศ แต่ไม่ยอมรับความอ่อนแอประสามนุษย์ของพระศาสนจักร สิ่งที่ประชาชนไม่ยอมรับมีตั้งแต่เรื่องธุรกิจการเงิน การบริหารองค์กรอย่างเผด็จการ การขาดความกระฉับกระเฉงเพราะความเก่าแก่ บาปของบุคคลในพระศาสนจักร เจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่รู้จักพิเคราะห์แยกแยะ ความกลัวนวัตกรรม ความขัดแย้งระหว่างคำสั่งสอนและชีวิตจริงของพระศาสนจักร และยังมีข้อบกพร่องอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะพระศาสนจักร “เป็นมนุษย์มากเกินไป” ในฐานะสถาบันหนึ่ง พระศาสนจักรก็เหมือนกับสมาคมอื่น ๆ จิตใจของชาวนาซาเร็ธ ถูกปิดกั้นเพราะพระองค์เป็นเพียง “บุตรของโยเซฟ”...
พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านคงจะกล่าวคำพังเพยนี้แก่เราเป็นแน่ว่า ‘หมอเอ๋ย จงรักษาตนเองเถิด สิ่งที่พวกเราได้ยินว่าเกิดขึ้นที่เมืองคาเปอรนาอุมนั้น ท่านจงทำที่นี่ ในบ้านเมืองของท่านด้วยเถิด’”
พระเยซูเจ้าไม่พยายามบรรเทาความขัดแย้งที่กำลังเริ่มขึ้น เพราะพระองค์ทรงต้องการให้พวกเขาตระหนักว่า พวกเขามีจุดยืนที่ไม่ถูกต้อง “จงทำอัศจรรย์ที่นี่ อย่างที่ท่านเคยทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเมืองอื่นเถิด” นี่คือการประจญอันยิ่งใหญ่ซึ่งประชาชนโยนใส่พระเยซูเจ้าเสมอ ซาตานก็ทำเช่นนี้ (ลก 4:1-4) ... ฝูงชนร้องขอ “เครื่องหมายจากสวรรค์” (ลก 11:16)...
หนึ่งในวิธีที่จะทดสอบพระเจ้าก็คือ ร้องขอให้พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ ... เราเองก็มีทัศนคติเหมือนชาวนาซาเร็ธ เราอยากให้พระเจ้าแสดงพระองค์ให้เราเห็นชัดกว่านี้สักหน่อย ... เราต้องการพระเจ้าผู้ช่วยแก้ปัญหาให้เรา ... แต่พระเจ้าไม่ทรงโปรดบทบาทที่เราพยายามยัดเยียดให้พระองค์ พระองค์ไม่ทรงโปรดสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ประหลาดมหัศจรรย์ ... เมื่อทรงรักษาชายคนตาบอด พระองค์ไม่ได้พยายามทำให้เราทึ่ง แต่ทรงต้องการประทานเครื่องหมายให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงต้องการรักษาเราทุกคนให้หายจาก “ความมืดบอด” เมื่อทรงรักษาคนอัมพาตที่นอนบนแคร่ พระองค์ทรงต้องการรักษาโรคอัมพาตของเราซึ่งเกิดจากบาป พระวรสารบอกเราเช่นนี้ (ลก 5:17-26)
“ทำอัศจรรย์ให้พวกเราเห็นที่นี่ด้วยซิ”
บางครั้ง เราเองก็คิดว่าเรา “รับใช้” พระเจ้าด้วยวิธีนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เรากำลังปฏิเสธพระองค์เมื่อเราพยายามบังคับให้พระองค์ “รับใช้เรา” ... เรายื่นคำขาดกับพระองค์ ... คำขาดที่น่าขัน! มนุษย์ลุกขึ้นต่อต้านพระเจ้า และสั่งให้พระองค์ทำสิ่งที่มนุษย์คิดว่าจะมีประโยชน์ต่อตนเอง ... นี่เป็นการยั่วยุ – การลดฐานะของพระเจ้าให้เป็นเพียง “เครื่องจักรสำหรับยามฉุกเฉิน” ที่ช่วยเราให้พ้นจากปัญหาต่าง ๆ...
ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้ารับใช้พระองค์จริงหรือ หรือเพียงแต่ขอให้พระองค์รับใช้ข้าพเจ้า ... แทนที่จะสวดภาวนาไม่หยุดหย่อนว่า “ขอให้พระองค์ทำตามความประสงค์ของข้าพเจ้า” ขอให้ข้าพเจ้าพูดจากใจจริงว่า “พระประสงค์จงสำเร็จไป” ... ด้วยมือของข้าพเจ้า!
แล้วพระองค์ยังทรงเสริมอีกว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน”
นี่คือความจริง ประชาชนไม่ค่อยฟังเสียงประกาศกกันนัก ...
การเป็นประกาศกแท้เป็นงานที่ยาก เพราะเราต้องเป็น “โฆษก” ของพระเจ้า ในบทอ่านที่หนึ่งประจำวันอาทิตย์นี้ เยเรมีย์พูดในทำนองเดียวกัน ด้วยคำพูดที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเจ็บปวด พระเจ้าไม่ตรัสถ้อยคำที่น่าฟังเสมอไป และเป็นเหตุให้ประกาศกหลายคนเสียชีวิต “เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก” (มธ 23:37) นี่คือหัวข้อสำคัญในพระวรสารของลูกา (6:23, 11:47, 48, 49, 50, 13:33-34, กจ 7:52)
เราต้องเป็นประกาศกในโลกนี้ โลกที่คนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อและนิยมวัตถุ ... ไม่ใช่ด้วยวิธีที่ประหลาดพิสดาร แต่ด้วยการยึดมั่นในคุณค่าที่พระคริสตเจ้าทรงสั่งสอน ... ด้วยการอยู่ข้างเดียวกับพระเจ้า และด้วยการพูด “แทนพระเจ้า” (คำว่าประกาศก (prophet) มาจากคำศัพท์ภาษากรีกว่า Pro-phemi แปลว่า “ข้าพเจ้าพูดแทน ...”)
เราบอกความจริงอีกว่า ในสมัยประกาศกเอลียาห์ เมื่อฝนไม่ตกเป็นเวลาสามปีหกเดือน และเกิดความอดอยากครั้งใหญ่ทั่วแผ่นดิน มีหญิงม่ายหลายคนในอิสราเอล แต่พระเจ้ามิได้ทรงส่งประกาศกเอลียาห์ไปหาหญิงม่ายเหล่านี้ นอกจากหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัท ในเขตเมืองไซดอน
มีแต่ลูกา ผู้เป็นศิษย์ของเปาโล อัครสาวกของชนชาติต่าง ๆ ที่ยกข้อความเปรียบเทียบเหล่านี้จากพันธสัญญาเดิม ซึ่งเน้นว่าพระเจ้าประทานพรให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่ชาวยิว ดังนั้น เหตุการณ์ที่นาซาเร็ธ จึงถูกนำเสนอเสมือนว่าเป็นทฤษฏีทางเทววิทยาบทหนึ่งว่า ความรอดไม่ได้สงวนไว้สำหรับผู้ได้รับเอกสิทธิ์บางคนเท่านั้น ... พระเจ้าทรงต้องการช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น ... พระเจ้าทรงรัก “คนต่างชาติ” พระองค์ไม่ได้รักแต่ชาวยิว แต่รักคนอื่น ๆ ด้วย
ไม่มี “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์”... ไม่มี “ประชากรเลือกสรร”... นี่คือภาษาวิวรณ์ที่เรานำมาอ้างในทางที่ผิดเมื่อเราเข้าใจว่าวลีในพระคัมภีร์เหล่านี้มีความหมายอย่างจำกัด ราวกับว่ามนุษย์อื่น ๆ ถูกตัดออกจากพันธสัญญานี้ ... ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนสำหรับพระเจ้า พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่เกินขอบเขตส่วนตัวของเรามนุษย์ บุตรของโยเซฟไม่สามารถถูกกักให้อยู่ภายใน “ค่าย” เล็ก ๆ ที่ชื่อนาซาเร็ธนี้ได้ ... พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าพระศาสนจักรของพระองค์ที่ตามองเห็นได้ แม้แต่มนุษย์ที่ไม่ใช่ คริสตชนก็มีสิทธิได้รับพระหรรษทานจากพระองค์...
ในสมัยประกาศกเอลีชา มีคนโรคเรื้อนหลายคนในอิสราเอล แต่ไม่มีใครได้รับการรักษาให้หายจากโรค นอกจากนาอามาน ชาวซีเรียเท่านั้น
ในการเปรียบเทียบระหว่างชาวอิสราเอล และคนต่างชาติ คนต่างชาติมักได้เปรียบเสมอ ทุกครั้งที่มีโอกาส พระเยซูเจ้าจะแสดงความชื่นชม “คนต่างชาติ” คนที่ไม่ใช่ชาวยิว และชาวสะมาเรียที่ถือว่าเป็นคนนอกรีตเสมอ (ลก 7:9, 23:47, 10:33, 17:16)...
แม้จะแปลก แต่ก็เป็นความจริง ว่าศาสนาสามารถทำให้ใจคนแข็งกระด้างได้ ... ชนชาติอิสราเอลรอคอยพระเมสสิยาห์มานานถึงสองพันปี แต่ความเชื่อของเขาเหือดแห้งไปหมดแล้ว ... นี่เป็นสิ่งเตือนใจคนทั้งหลายที่คิดว่าตนเองคุ้นเคยกับ “เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า” ... ผู้ที่คิดว่าตนเองปลอดภัยเพราะได้รับ “การศึกษาสมกับเป็นคริสตชนที่ดี” หรือไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะ “คนเก็บภาษี และหญิงโสเภณี จะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน” (มธ 21:31)...
เมื่อคนที่อยู่ในศาลาธรรมได้ยินเช่นนี้ ทุกคนโกรธเคืองยิ่งนัก จึงลุกขึ้นขับไล่พระองค์ออกไปจากเมือง นำไปที่หน้าผาของเนินเขาที่เมืองตั้งอยู่ ตั้งใจจะผลักพระองค์ลงไป
นี่คือการประกาศถึงชะตากรรมสุดท้ายของพระเยซูเจ้า พระองค์จะต้องถูกนำตัว “ออกไปจากเมือง” เพื่อประหารชีวิต (ลก 20:15, กจ 7:58) เราคงคิดผิด ถ้าเราคิดว่าตนเองอยู่บนฝั่งที่ปลอดภัย และไม่มีทัศนคติเหมือนกับคนเมืองเดียวกับพระเยซูเจ้า ... บ่อยครั้งที่เราขับไล่พระเยซูเจ้า “ออกไปจาก” การตัดสินใจของเรา ... ออกไปจากบ้านของเรา ... ออกไปจากอาชีพของเรา ... ท่านไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา ไปเทศน์สอนที่อื่นเถิด ท่านประกาศก!...
แต่พระองค์ทรงดำเนินฝ่ากลุ่มคนเหล่านั้น แล้วเสด็จจากไป
การปฏิเสธของข้าพเจ้าไม่สามารถสกัดกั้นพระเจ้าไม่ให้ทำงานตามแผนการของพระองค์ ด้วยความช่วยเหลือจากผู้อื่น! แม้ว่าประวัติศาสตร์จะมีทั้งช่วงเจริญรุ่งเรือง และช่วงตกต่ำ และมนุษย์ปฏิเสธพระองค์ แต่พระเยซูเจ้าก็ยังมุ่งหน้าไปตามทางของพระองค์ ... ขอบพระคุณ พระเจ้าข้า!