แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 63:16-17, 19; 64:2-7; 1 โครินธ์ 1:3-9; มาระโก 13:33-37

บทรำพึงที่ 1
จงระวัง
เวลาอาจมาถึงช้ากว่าที่เราคิดมาก

    โรเบิร์ต ไซคอร์สกี้ เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับรถยนต์ และเขายังเป็นผู้เขียนหนังสือคำแนะนำเรื่องรถยนต์ที่โด่งดังชื่อ Drive It Forever อีกด้วย

    เมื่อปี 1986 ไซคอร์สกี้ ซื้อรถโอลด์สโมบิล คัทแลสเซียร่า รุ่นปี 1984 มาหนึ่งคัน เขาให้ช่างเครื่องยนต์ฝีมือเยี่ยมซ่อมเครื่องยนต์จนช่างรับรองได้ว่ารถยนต์ของเขามี “สภาพเหมือนใหม่”

    นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนรายงานการสำรวจที่มีผู้จ้างให้เขาทำ หลังจากนั้น ไซคอร์สกี้ ขับรถตระเวนไปทั่วไปประเทศ โดยหยุดที่อู่ซ่อมรถยนต์ 225 แห่ง ใน 33 รัฐ งานของเขาคือประเมินความสามารถ และความซื่อสัตย์ของช่างซ่อมในอู่รถยนต์

    ก่อนแวะเข้าอู่แต่ละแห่ง เขาจะดึงสายไฟหัวเทียนให้หลวม ซึ่งทำให้เครื่องสั่นเวลาที่รถยนต์วิ่ง สายที่หลวมนี้เป็นปัญหาที่แม้แต่ช่างมือใหม่ก็เห็นได้อย่างรวดเร็ว

    เกิดอะไรขึ้นในอู่รถ 225 แห่งนั้น เมื่อช่างเปิดกระโปรงรถเพื่อตรวจเครื่องยนต์ ไซคอร์สกี้บอกเราว่า

    “ผมได้รับบริการซ่อมที่น่าพอใจเพียง 44% จากการซ่อมทั้งหมด อีก 56% ช่างจะซ่อมส่วนที่ไม่จำเป็น ขายอะไหล่ที่ไม่จำเป็น หรือคิดค่าบริการในส่วนที่ไม่ได้ซ่อม ที่แย่กว่านั้นก็คือ งานซ่อมบางอย่างของช่างทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ กับเครื่องยนต์”

    มีงานซ่อมที่ไม่จำเป็นรวมกันทั้งสิ้น 100 รายการ โดยคิดค่าบริการตั้งแต่ 2 ดอลลาร์ จนถึงกว่า 500 ดอลลาร์

    ขอให้ดูตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่ศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่ายระดับชาติที่เมืองทูซอน รัฐอริโซนา ไซคอร์สกี้ให้ภรรยาของเขานำรถเข้าอู่ และนี่คือคำบรรยายเหตุการณ์ของเขา

    “ใครบางคนเกี่ยวสายกลับเข้าที่เดิม แต่เขาคิดค่าซ่อมกับภรรยาของผมถึง 29.95 ดอลลาร์ เป็น “ค่าปรับแต่งคาร์บูเรเตอร์ ทั้งที่รถโอลด์สโมบิล รุ่นปี 1984 ใช้คาร์บูเรเตอร์ที่ปิดผนึกจากโรงงาน และไม่ควรปรับแต่งอะไรเลย”

    ไซคอร์สกี้ สรุปรายงานผลการสำรวจด้วยการเตือนผู้ขับขี่ให้ระวังตัวเมื่อต้องใช้บริการของช่างซ่อมรถยนต์ ช่างดี ๆ มีอยู่แน่นอน แต่ช่างบางคนเลวมาก
    คุณคงกำลังถามตนเองว่ารายงานของไซคอร์สกี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเทศกาลเตรียมรับเสด็จที่เริ่มต้นในวันนี้ มีคำตอบง่าย ๆ คือ สารที่ไซคอร์สกี้เตือนผู้ขับขี่รถยนต์ ก็เหมือนกับสารของพระเยซูเจ้าในเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ เพราะสารทั้งสองนี้เตือนเราให้ระวังตัว

    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นพระวรสารของวันนี้ด้วยคำว่า “จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด...” และลงท้ายด้วยคำว่า “จงตื่นเฝ้าเถิด”

    เรารู้ว่าไซคอร์สกี้เตือนเราให้ระวังอะไร แต่เรารู้หรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังเตือนเราให้ระวังอะไร

    พระองค์ทรงเตือนเราให้ระวัง และตื่นเฝ้ารอการเสด็จมาของพระองค์เมื่อถึงอวสานกาล หรือเมื่อเราตาย เหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นก่อน

    พระองค์ทรงเตือนเราว่าพระองค์จะเสด็จมาโดยที่เราไม่รู้ตัว และไม่ได้เตรียมพร้อม ถ้ามองในแง่บวก พระองค์ทรงกำลังเตือนเราให้เริ่มดำเนินชีวิตอย่างที่เราควรทำ และอย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพื่อว่าถ้าพระองค์เสด็จมาในคืนนี้ เราจะพร้อมที่จะต้อนรับพระองค์

    พระองค์ทรงขอให้เราระวังตัว และไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำสิ่งที่เราควรทำ

    ผมขอยกอีกเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่าง ทอม แอนเดอร์สัน อาศัยอยู่ที่เบอร์นาร์ดสวิลส์ ในรัฐนิวเจอร์ซี เขาได้เช่าบ้านพักบนชายฝั่งมหาสมุทรเพื่อไปพักตากอากาศสักสองสัปดาห์ ก่อนขับรถพาภรรยาของเขาไปยังชายทะเล ทอมสัญญากับตนเองว่าตลอดสองสัปดาห์นั้น เขาจะทำตัวเป็นสามีที่ดีอย่างที่เขารู้ว่าเขาสามารถเป็นได้ และควรจะเป็น

    ตลอดสองสัปดาห์นั้น เขาไม่โทรศัพท์เข้าไปที่สำนักงานเลย เขายับยั้งตนเองทุกครั้งที่เขาอยากพูดอะไรที่อาจทำให้ภรรยาเสียใจ เขาเอาอกเอาใจภรรยา เขาแสดงความรัก และความห่วงใยต่อเธอตลอดสองสัปดาห์

    มีเพียงเรื่องเดียวที่ผิดพลาดระหว่างวันพักผ่อนนั้น และเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในคืนสุดท้าย ทอมหันไปเห็นภรรยาของเขากำลังจ้องมองเขา พร้อมด้วยสีหน้ากังวลมาก เขามองเธอ และพูดขึ้นว่า “ที่รัก เกิดอะไรขึ้นหรือ”

    เธอน้ำตาไหลอาบแก้ม และกล่าวว่า “คุณรู้อะไรที่ฉันไม่รู้หรือเปล่า”

    เขาถามว่า “คุณหมายความว่าอะไร”

    เธอว่า “เมื่ออาทิตย์ก่อน ฉันไปตรวจร่างกายมา ทอม คุณใจดีกับฉันมาก บอกฉันตามตรงดีกว่า หมอบอกอะไรคุณเกี่ยวกับฉันหรือเปล่า เขาบอกว่าฉันเป็นมะเร็งใช่ไหม เขาบอกว่าฉันกำลังจะตายหรือเปล่า เพราะเหตุนี้ใช่ไหม คุณจึงทำดีกับฉันเช่นนี้ ทอม?
    ทอมต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งนาทีกว่าจะเข้าใจ แล้วเขาก็หัวเราะ เขาโอบภรรยาไว้ และพูดว่า “เปล่าเลย ที่รัก คุณไม่ได้กำลังจะตาย ผมต่างหากที่กำลังจะเริ่มมีชีวิตจริง ๆ เสียที”

    เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจสารของพระเยซูเจ้าสำหรับวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ

    พระองค์ทรงเตือนให้เราเริ่มต้นมีชีวิตอย่างแท้จริง ทรงเตือนให้เราหยุดผลัดวันประกันพรุ่ง ทรงเตือนให้เราระวังตัว และไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ทำสิ่งที่เราควรทำ

    ที่สำคัญ พระเยซูเจ้าทรงกำลังเตือนเราให้เข้าสู่เทศกาลเตรียมรับเสด็จ เหมือนกับที่ทอม แอนเดอร์สัน เตรียมตัวไปตากอากาศ

    พระองค์ทรงกระตุ้นให้เราใช้เทศกาลนี้เป็นโอกาสเริ่มต้นดำเนินชีวิตอย่างที่เราควรทำ ทรงกระตุ้นให้เราใช้เทศกาลนี้เป็นโอกาสที่เราจะรักผู้อื่นอย่างที่เราควรรัก

    สรุปได้ว่า บทอ่านจากพระวรสารวันนี้เป็นการเตือนด้วยความรักจากพระเยซูเจ้า ว่าชีวิตของเรากำลังล่วงเลยไปช้าๆ และเราไม่ควรปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านเลยไป โดยไม่ทำสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำ

    นี่คือคำเตือนจากพระเยซูเจ้าให้เราเริ่มต้นมีชีวิตอย่างแท้จริง และรู้จักรัก

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ ด้วยถ้อยคำของคุณแม่เทเรซา

    “เราแต่ละคนมีพันธกิจที่เราต้องทำ เป็นพันธกิจแห่งความรัก
    เมื่อเราตาย เมื่อเราไปอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า
    เราจะถูกพิพากษาโดยพิจารณาเรื่องความรัก
    ไม่ใช่พิจารณาว่าเราทำงานมามากเท่าไร
    แต่เราทำงานนั้น ๆ ด้วยความรักมากเท่าไร”

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 13:33-37

จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด

    พระเยซูเจ้าทรงย้ำคำว่า “ตื่นเฝ้า” ถึงสี่ครั้งในพระวรสารตอนนี้

    นี่คือคำสำคัญที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ก่อนที่พระมหาทรมานของพระองค์จะเริ่มขึ้น (ในพระวรสารของมาระโก คำบอกเล่าเรื่องพระทรมานเริ่มต้นทันทีหลังจากพระวรสารตอนนี้) นี่คือคติพจน์ที่พระองค์ทรงมอบให้แก่ศิษย์ของพระองค์ก่อนพระองค์จากเขาไป...

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงย้ำเตือนหลายครั้งให้เรา “เฝ้าระวัง” พระองค์ทรงรู้ว่าในคืนที่สวนเกทเสมนี จะไม่เหลือศิษย์แม้แต่คนเดียวที่ยังเข้มแข็ง แต่พระองค์ก็ทรงเตือนเขาล่วงหน้าไม่ให้ละทิ้งพระองค์ ... จงตื่นเฝ้า จงตื่นเฝ้า!

    พระเจ้าข้า แม้แต่วันนี้ พระองค์ก็ยังทรงยืนกรานเตือนเราเหมือนเดิม...

จงระวัง...

    บ่อยครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงใช้คำนี้ราวกับว่าเรากำลังอยู่ในสนามรบ เราจะระวังตัวไปทำไมถ้าเราไม่ได้กำลังต่อสู้ หรืออยู่ระหว่างการรบ เราจะระวังตัวในกรณีที่มีอันตรายเท่านั้น เพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้า (มก 4:12) เราต้อง “ระวัง (หรือใส่ใจ)” มิฉะนั้น เราอาจปล่อยให้พระวาจานั้นผ่านเลยไป เราต้อง “ระวัง” “เชื้อแป้งของชาวฟาริสี” เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจของเราซึมซับเชื้อแป้งนี้โดยไม่รู้ตัว (มก 8:15, 12:38) ... เราต้อง “ระวัง” และไม่เชื่อผู้ใดที่ทำนายอนาคตราวกับว่าเขารู้ (มก 13:5, 13:23)...

    นักบุญเปาโลก็ใช้คำศัพท์นี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องระวังตัว เขากล่าวถึงความจำเป็น “ต้องตื่นขึ้นจากความหลับ”  (รม 13:11) ราวกับว่าเราทุกคนจะถูกประจญให้เฉื่อยชา ลองนึกดูเถิดว่าเรารู้สึกง่วงอย่างไรเมื่อเรากินยานอนหลับไปหลายเม็ด ปฏิกิริยาป้องกันตัวของเราจะไม่ทำงานอีกต่อไป ... เหมือนกับคนขับรถที่ดื่มสุรา แล้วก็ขับรถพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้า หรือรถคันอื่นที่จอดอยู่ ในกรณีเช่นนี้ เราต้อง “ตื่นขึ้น” เราต้องสลัดความง่วงออกไป ... เพื่อเน้นย้ำให้เราระวังตัว นักบุญเปาโลถึงกับใช้ศัพท์สงคราม คือ ให้ “สวมเกราะ” แห่งการตื่นเฝ้า (รม 13:12, อฟ 6:10, 1 ธส 5:6-8)

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า วันนี้ พระองค์ทรงย้ำกับเราว่า “จงระวัง” ... ชีวิตคริสตชนเปรียบเสมือนการต่อสู้กับพลังต่าง ๆ ที่อาจเข้มแข็งกว่าเรา ... โปรดช่วยเราให้ตื่นเฝ้าจนกว่าจะถึงวันที่พระองค์เสด็จกลับมาเถิด...

... เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร...

    ศิษย์ของพระเยซูเจ้าถามพระองค์ว่า “เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด และจะมีเครื่องหมายใดบอกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น” (มก 13:4) พระเยซูเจ้าไม่ทรงตอบคำถามของเขา...

    ผู้ทำนายตลอดทุกยุคสมัยพยายามทำนายว่าจะสิ้นพิภพเมื่อใด ... พระเยซูเจ้าทรงตอบอย่างเด็ดขาดว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร” ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้เรามัวแต่ฝันถึงอดีต หรืออนาคต พระองค์ทรงขอให้เราสนใจแต่เวลาปัจจุบัน ให้เราสนใจแต่วันนี้ ดังนั้น จงตื่นเฝ้า เพราะท่านไม่รู้วันเวลา ... จงเตรียมพร้อมเสมอ...

    คุณพ่อชาร์ลส์ เดอ ฟูโกลด์ ถือคติพจน์ว่า “พยายามใช้ชีวิตทุกวันเสมือนว่าคุณอาจตายในเย็นวันนั้น”...
เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ก่อนจะเดินทางออกจากบ้าน ได้มอบอำนาจให้กับผู้รับใช้ ให้แต่ละคนมีงานของตน...

    เราเห็นได้ว่าพระเจ้า “ไม่อยู่” เหมือนกับชายคนนี้ที่กำลังจะออกเดินทาง

    เป็นภาพที่ชัดเจนมาก และแสดงออกถึงความรู้สึกของเรา พระเจ้าข้า พระองค์อยู่ห่างไกลเท่าไร ... แต่เราสังเกตว่า สำหรับพระเยซูเจ้า ช่วงเวลาที่พระองค์ไม่อยู่กับเรานี้ ไม่ใช่เวลาที่เราควรเป็นทุกข์ หรือกังวล แต่เป็นเวลาของความรับผิดชอบ เราแต่ละคนได้รับมอบหมายงานอย่างหนึ่งให้ทำ เราแต่ละคนมีงานที่กำหนดไว้ให้เราแล้ว ... ราวกับว่านายผู้นี้ออกจากบ้านเพราะต้องการให้ผู้รับใช้เหล่านี้ตระหนักในความสำคัญของตน “ไปซิ ไปทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของท่าน ท่านไม่ใช่เด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว ท่านต้องรู้จักตัดสินใจ และไตร่ตรอง – เราไว้ใจท่าน ... เรามอบ “อำนาจทั้งหมด” ให้ท่าน...

    พระเจ้าเข้า โปรดทรงช่วยเราให้ปฏิบัติงานอย่างดี สมกับความรับผิดชอบที่พระองค์ทรงมอบหมายแก่เรา ทั้งความรับผิดชอบในครอบครัวของเรา ในอาชีพของเรา ในเมืองของเรา ในขบวนการนี้ หรือขบวนการนั้นในพระศาสนจักร...

... และยังสั่งคนเฝ้าประตูให้คอยตื่นเฝ้าไว้

    ในเวลากลางคืน คนเฝ้าประตูเป็นคนสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะเขามีหน้าที่เฝ้าบ้าน และป้องกันไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้ามา เขาจะไม่เปิดประตูรับใคร แต่เขาจะเป็นคนแรกที่เปิดประตูรับ เมื่อนายกลับมา...

    นักบุญมาระโก ต้องการชี้ให้เห็นบทบาทของเปโตร ในกลุ่มอัครสาวกสิบสองคน โดยกล่าวถึง “คนเฝ้าประตู” แยกจาก “ผู้รับใช้” คนอื่น ๆ พระเยซูเจ้าทรงกล่าวเป็นนัยว่า ผู้เลี้ยงแกะแห่งพระศาสนจักรได้รับการเตือนเป็นพิเศษให้เฝ้าระวัง ความรับผิดชอบอันดับแรกของเปโตร ของพระสันตะปาปาและพระสังฆราช คือเฝ้าระวังภัยให้ประชากรของพระเจ้า เหมือนกับคนเฝ้าประตูคอยเฝ้าบ้านทั้งหลัง...

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าภาวนาเพื่อคนทั้งหลายที่ได้รับมอบหมายให้รับบทบาทนี้ในพระศาสนจักรในปัจจุบัน...

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร...

    พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงช่วงเวลาที่พระองค์จะไม่อยู่บนโลกนี้ ... และพระองค์ประกาศถึงเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมาด้วย ... เรากำลังเดินไปยังจุดนัดพบครั้งใหม่นี้...

    วันหนึ่ง ข้าพเจ้าจะพบพระองค์แบบหน้าต่อหน้า และข้าพเจ้าจะรู้จักพระองค์อย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า (1 คร 13:12) ... ชีวิตคริสตชนคือการเดินมุ่งหน้าไปสู่นาทีนัดพบนี้...

... อาจจะมาเวลาค่ำ เวลาเที่ยงคืน เวลาไก่ขัน หรือเวลารุ่งเช้า...

    น่าสังเกตว่าพระเยซูเจ้าทรงบอกว่านายจะกลับมาระหว่างเวลากลางคืน ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวตะวันออกยุคโบราณแทบไม่เดินทางเวลากลางคืนเลย เพราะอาจพบกับอันตรายระหว่างทาง รายละเอียดที่ค่อนข้างไม่น่าเชื่อนี้มีนัยสำคัญอันลึกซึ้ง ซึ่งเราจะพบได้ตลอดเล่มพระคัมภีร์ กล่าวคือ กลางคืนเป็นเวลาของความมืด เป็นเวลาของ “อำนาจของความมืด” (ลก 22:53, มก 14:49, อฟ 6:12) ดังนั้น กลางคืนจึงเป็นเวลาของการประจญ และการทดลอง ... เราต้องระวังตัวในเวลากลางคืนโดยเฉพาะ...

    ประชาชนในยุคพันธสัญญาเดิมคาดหมายว่ายุคพระเมสสิยาห์จะเป็นเวลาที่ความมืดสิ้นสุดลง และความสว่างจะเข้ามาแทนที่ คำถามของประกาศอิสยาห์ แสดงให้เห็นความปรารถนาของเขา “คนยามเอ๋ย กลางคืนยังเหลืออีกเท่าไร” (อสย 21:11) ... นักบุญเปาโลตอกย้ำให้ผู้อ่านจดหมายของเขามีความหวังว่า “กลางคืนล่วงไปมากแล้ว กลางวันก็ใกล้จะมาถึง” (รม 13:12) ... พระศาสนจักรประกาศระหว่างมิสซาเที่ยงคืนของวันพระคริสตสมภพว่า “ประชากรที่เดินในความมืด แลเห็นความสว่างยิ่งใหญ่” (อสย 9:1)...

    การเฝ้าระวังในเวลากลางคืน หมายถึงการเฝ้าระวังในยามที่เราตกทุกข์ได้ยาก ... เราต้องมีความหวังต่อไปแม้ว่าเราอยู่ท่ามกลางความมืด ... เราต้องยืนหยัดมั่นคงในยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนกำลังพังทลาย...

    รุ่งอรุณสำหรับกลางคืนของเราก็คือพระเจ้าเองกำลังเสด็จมาเพื่อช่วยประชากรของพระองค์

    ระหว่างกลางคืน เราต้องประกาศว่าการเชื่อในความสว่างเป็นความเชื่อที่งดงามอย่างยิ่ง

    เรารู้ว่านักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน ก็สอนแนวคิดนี้ กล่าวคือ พระเจ้าประทับอยู่อย่างแน่นอน แม้ว่าทรงซ่อนพระองค์ แต่พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตที่ดำรงอยู่ตลอดนิรันดร

เวลาไก่ขัน...

    มาระโก ซึ่งเป็นเลขานุการส่วนตัวของเปโตร ใช้คำพูดที่พาดพิงโดยตรงถึงเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ ในคืนก่อนที่พระเยซูเจ้าทรงรับทรมาน เปโตรนอนหลับระหว่างตื่นเฝ้าในสวนเกทเสมนี ก่อนคืนวิปโยคนั้น เมื่อเปโตรได้ยินเสียงไก่ขัน เขาจะนึกขึ้นได้ว่าเขาไม่ได้ระวังตัวจริง ๆ (มก 14:72) ... พระเยซูเจ้าทรงบอก “คนเฝ้าประตู” พระศาสนจักรให้ตื่นเฝ้า ... แต่เราก็รู้ว่าเปโตรจะทำเช่นนี้ไม่ได้...

    โอ้ บาปของเปโตร ... การปฏิเสธของเปโตร ก่อนไก่ขัน ... เหตุการณ์นี้ย้ำความจริงว่าพระศาสนจักรก็เป็นมนุษย์ ... และเตือนเราไม่ให้ทะนงตน เมื่อเราเห็นความอ่อนแอของพระศาสนจักร...

... ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด

    พระเจ้าเสด็จมาอย่างกะทันหันเสมอ พระองค์เสด็จมาโดยที่เราไม่คาดคิด ทรงทำให้เราประหลาดใจ...

    เราแทบจะพูดได้ว่านี่คือลักษณะเฉพาะตัวของพระเจ้าแท้ กล่าวคือ พระองค์ทรงแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง เมื่อใดที่เราคิดว่าเรา “เข้าใจ” พระเจ้า เมื่อใดที่เราคิดว่าเรารู้จักพระองค์ดี ... เมื่อนั้น เราจับพระเจ้าผิดองค์แล้ว และเราทึกทักไปเองว่าความปรารถนาของเราคือความเป็นจริง...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงเปิดตาเปิดใจของเราให้มองเห็นสิ่งใหม่ในการประทับอยู่ของพระองค์เสมอ ... โปรดให้เราพร้อมเสมอที่จะต้อนรับการเสด็จมาอย่างไม่คาดหมายของพระองค์...

... อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่

    เมื่ออยู่เบื้องหน้าพระเจ้า เรามักค่อนข้างเฉื่อยชา ... และประหลาดใจ...

    เราต้องสลัดความมึนงง และความเฉื่อยชาฝ่ายจิตนี้ออกไป เราต้องมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง และว่องไว แทนที่จะยอมแพ้ความง่วง...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตื่น และเฝ้าระวังอยู่เสมอเถิด...

สิ่งที่เราบอกท่าน เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด

    พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเราว่า พระเจ้าประทับอยู่แล้วในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเรา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตื่นเฝ้า และรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระองค์ ... โปรดทรงปลดปล่อยเราจากความเฉื่อยชา ซึ่งทำให้เราไม่ใส่ใจกับ “การเสด็จมา” ของพระองค์ที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา...

    วันนี้เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลเตรียมรับเสด็จ – นี่คือเวลาที่เราต้องตื่นเฝ้า...