วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 40:1-5, 9-11; 2 เปโตร 3:8-14; มาระโก 1:1-8
บทรำพึงที่ 1
Quo Vadis
การกลับใจหมายถึงการหันกลับจากการเดินบนทางที่ผิด และหันมาเดินบนทางใหม่ที่ถูก
นิยายเรื่อง Quo Vadis เสนอภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงโรม สองสามทศวรรษหลังจากการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า อาณาจักรโรมันได้ประกาศห้ามถือศาสนาคริสต์ และมีการเบียดเบียนอย่างรุนแรง
แม้ว่ากำลังถูกเบียดเบียน ศาสนาคริสต์กลับเติบโตและแผ่ขยาย โดยเฉพาะผ่านการเทศน์สอนของอัครสาวกเปโตร ผู้ได้รับการดลใจจากพระเจ้า
นิยายเรื่องนี้เล่าว่าหนุ่มชาวโรมันคนหนึ่งชื่อวินิซิอัส ตกหลุมรักหญิงคริสตชนที่สวยมากคนหนึ่ง แต่เธอไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับเขา เพราะวิถีชีวิตของเขาแตกต่างจากของเธอโดยสิ้นเชิง
วินิซิอัส อยากรู้ว่าพวกคริสตชนทำอะไรกันเมื่อเขานมัสการพระเจ้า ดังนั้น คืนหนึ่ง เขาจึงแอบตามหญิงสาวไปยังที่ซึ่งคริสตชนมาชุมนุมกันอย่างลับ ๆ เขาซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของสถานที่ชุมนุม วินิซิอัสแอบดูพิธีกรรมโดยที่พวกคริสตชนไม่รู้ตัว
แล้วก็ถึงเวลาที่เปโตรมาเทศน์สอนประชาชน ขณะที่เปโตรพูดถึงพระเยซูเจ้าก็เกิดเหตุการณ์แปลก ๆ ขึ้นกับวินิซิอัส เขาเริ่มเชื่อคำพูดของเปโตร และเขาไตร่ตรองว่าเขาต้องทำอย่างไรเพื่อจะเป็นคริสตชน
เขาตัดสินใจว่ามีสองขั้นตอนสำคัญที่เขาต้องดำเนินการ
ขั้นตอนแรก เขาต้องโยนชีวิตปัจจุบันของเขาทิ้งไป และเผามันให้เป็นจุณ
ขั้นตอนที่สอง เขาต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชีวิตปัจจุบันของเขา
ภาพของวินิซิอัส ที่โยนชีวิตของตนทิ้งบนกองไฟ เผามันจนกลายเป็นขี้เถ้า และเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นภาพที่ตรงกับความเข้าใจของชาวยิวโบราณเกี่ยวกับการกลับใจ
คำว่า “กลับใจ” ในภาษายิว แปลตรงตัวว่าการหันกลับจากการเดินบนทางที่ผิด และเริ่มต้นเดินทางใหม่บนทางที่ถูก และนั่นคือสิ่งที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง กำลังบอกให้ประชาชนทำในพระวรสารวันนี้
ยอห์นบอกประชาชนให้หันกลับจากทางแห่งบาปซึ่งนำไปสู่ความตาย และให้เริ่มต้นเดินบนเส้นทางใหม่แห่งคุณธรรมซึ่งนำไปสู่ชีวิต
ดังนั้น ก่อนจะกลับใจได้ เราต้องยอมรับว่าชีวิตของเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิด และเราต้องหันหลังกลับ และเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสิ้นเชิง นี่คือสารที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เทศน์สอนประชาชนที่มาชุมนุมกันบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน
เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าประชาชนตั้งใจจะเปลี่ยนวิถีชีวิต ยอห์น บอกให้พวกเขาก้าวลงไปในแม่น้ำ และรับพิธีล้าง
แต่เขาเตือนคนเหล่านี้ว่าการชำระร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องหมายภายนอกของการชำระวิญญาณ เป็นเพียงขั้นตอนแรก และเพียงแต่เตรียมการสำหรับขั้นตอนที่สอง
เช่นเดียวกับวินิซิอัส ประชาชนไม่เพียงต้องตายจากชีวิตเก่า แต่ต้องเริ่มต้นมีชีวิตใหม่อีกด้วย นี่คือความหมาย เมื่อยอห์น พูดว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่าน เดชะพระจิตเจ้า”
พิธีล้างของยอห์น เป็นพิธีล้างซึ่งแสดงการกลับใจ และเป็นขั้นตอนแรก เป็นการเตรียมตัวสำหรับขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนที่สองคือการรับศีลล้างบาปแห่งการเกิดใหม่ ที่พระเยซูเจ้าจะทรงนำมาให้ เป็นการรับพระจิตเจ้า และเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ บนเส้นทางที่ถูก
สรุปได้ว่า ในพระวรสารวันนี้ ยอห์นสอนประชาชนสองข้อ ข้อแรก เขาต้องรับพิธีล้างแสดงการกลับใจ กล่าวคือ เขาต้องปฏิเสธชีวิตเก่าซึ่งเป็นชีวิตบาป
ข้อที่สอง เขาต้องรับศีลล้างบาปแห่งการเกิดใหม่ กล่าวคือ เขาต้องรับชีวิตใหม่ในพระจิตเจ้า
คำสั่งสอนนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับเราในยุค 2,000 ปี หลังจากนั้น และมีความหมายเป็นพิเศษอย่างไรสำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จ
เราทุกคนพบตนเองในสถานการณ์ที่คล้ายกับของวินิซิอัส ในนิยายเรื่อง Quo Vadis และสถานการณ์ของประชาชนในพระวรสารวันนี้
แม้ว่าเราได้รับการชำระจนปราศจากมลทินบาป และได้รับศีลล้างบาปเดชะพระจิตเจ้าแล้ว แต่เราทุกคนก็ตกในบาปอีกครั้งหนึ่งไม่มากก็น้อย
เราทุกคนจำเป็นต้องนำบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของเราไปโยนทิ้งในกองไฟ และเผาจนกลายเป็นขี้เถ้า เราทุกคนจำเป็นต้องปลุกชีวิตของพระจิตเจ้าในตัวเราขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะทำเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงให้เราอ่านเรื่องที่ ยอห์น บอกประชาชนให้กลับใจ เพื่อเตรียมตัวรับการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า
พระศาสนจักรรู้ว่าเราทุกคนจำเป็นต้องกลับใจอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง เพื่อเตรียมฉลองการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าในวันพระคริสตสมภพ
และด้วยการทำเช่นนี้ เราจะเตรียมตัวเราให้พร้อมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จมาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อสิ้นพิภพด้วย
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยเรื่องที่แสดงให้เห็นการกลับใจ อย่างที่พระศาสนจักรกำลังเชิญชวนเรา
ในยุคแรกของประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษ เขาใช้วิธีลงโทษอาชญากรอย่างโหดร้าย เช่น ให้ตัดมือเพื่อลงโทษคนที่ขโมย
เหตุผลหนึ่งของการลงโทษอย่างโหดร้ายเช่นนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัวจนไม่กล้าขโมย
ในยุคของการลงโทษอย่างโหดร้ายนี้ ชายคนหนึ่งถูกจับได้ว่าขโมยแกะ เจ้าหน้าที่จึงตีตราบนหน้าผากของเขาด้วยอักษร S.T. ซึ่งย่อมาจาก sheep thief (โจรขโมยแกะ)
ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา ชายคนนี้พยายามลบล้างเหตุการณ์ที่น่าอับอายนี้ และเขาก็ทำได้สำเร็จ เมื่อเขาเข้าสู่วัยชรา อักษร S.T. ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนบนหน้าผากของเขา แต่เมื่อเด็ก ๆ ถามบิดามารดาของพวกเขาว่าอักษรนี้หมายถึงอะไร บิดามารดาทั้งหลายตอบว่า “เป็นคำย่อของคำว่านักบุญ (saint)”
วันนี้ พระเจ้าตรัสกับเราทุกคนด้วยถ้อยคำของประกาศกอิสยาห์ ว่า “จงล้าง จงชำระตนให้สะอาด ... แม้บาปของท่านเป็นสีแดงเหมือนผ้าสีเลือดหมู ก็จะขาวอย่างหิมะ” (อสย 1:16-18)
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:1-8
วันนี้ เราอ่านจุดเริ่มต้นของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก ตลอดปีนี้ ซึ่งเป็นปี B เราจะประกาศพระวรสารของมาระโก เป็นส่วนใหญ่
ธรรมประเพณีเชื่อว่ามาระโกเป็นศิษย์ของเปโตร ดังนั้น ในคำบอกเล่าของมาระโก เราจึงพบเรื่องราวในความทรงจำ และคำสอนของอัครสาวก ผู้เป็นประจักษ์พยานของพระเยซูเจ้า ผู้เชี่ยวชาญคิดว่ามาระโกเขียนพระวรสารของเขาในกรุงโรม เมื่อประมาณ ค.ศ. 70 โดยผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มคริสตชนที่ไม่ใช่ชาวยิว และไม่เคยอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์เลย
เมื่อเทียบกับพระวรสารอื่นอีกสามฉบับ พระวรสารของมาระโกมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมาก เป็นคำบอกเล่าที่มีผู้นิยมอ่านมาก และเต็มไปด้วยรายละเอียดจนทำให้มองเห็นภาพ แต่เราไม่ควรสำคัญผิด เพราะมาระโกเป็นนักเทววิทยาด้วยเช่นกัน เขาเปิดเผยให้เราเข้าใจว่าเปโตรได้ค้นพบอะไรบ้างทีละน้อย ในส่วนแรกของพระวรสาร ทั้งคำพูด และการกระทำของพระเยซูเจ้า กระตุ้นให้เกิดคำถามขึ้นในใจของประชาชน พวกเขาถามตนเองว่า “เยซูผู้นี้เป็นใคร” แต่น่าแปลกที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งประชาชนไม่ให้พูดว่าพระองค์เป็นใคร ... ในส่วนที่สองของชีวิตสาธารณะของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงค่อย ๆ เปิดเผยธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์เอง
แม้แต่ “ภูมิศาสตร์” ของมาระโก ก็ยังมีความหมายเชิงเทววิทยา เขาเน้นบทบาทของกาลิลี ว่าเป็น “ดินแดนเปิด” ที่ต้อนรับคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า และเปรียบเทียบกับกรุงเยรูซาเล็ม เมืองที่ปฏิเสธพระเยซูเจ้า นอกจากนี้ทะเลกาลิลี ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์สำหรับมาระโกด้วย (เปโตร ซึ่งเป็นชาวประมง รู้จักลำธารทุกสายบนฝั่งทะเลสาบ) กล่าวคือ ฝั่ง “ตะวันตก” เป็นฝั่งของชาวยิว ฝั่ง “ตะวันออก” เป็นฝั่งของประชาชนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า และมาระโกบอกหลายครั้งหลายหนว่า พระเยซูเจ้า “เสด็จไปหาคนต่างศาสนา” ซึ่งเป็นการเริ่มต้น “พันธกิจ” ของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มาระโกตั้งใจให้เป็นผู้อ่านพระวรสารฉบับนี้
ท้ายที่สุด ในพระวรสารของมาระโกมีเรื่องน่าตื่นเต้นมากมาย เขาแบ่งมนุษย์ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือพระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์ ซึ่งอยู่ด้วยกันเสมอ ... จากนั้น ก็มีฝูงชนที่ติดตามพระเยซูเจ้า แต่คนกลุ่มนี้เข้าใจพระองค์น้อยเหลือเกิน ... กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มศัตรู ซึ่งคอยสอดแนม และประณามพระเยซูเจ้า
การเริ่มต้นข่าวดี...
ข้อความแรกของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เหมือนกับข้อความแรกของพระคัมภีร์ ซึ่งคงไม่ใช่ความบังเอิญ “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1) นักบุญยอห์นก็ใช้ข้อความเดียวกันนี้เริ่มต้นอารัมภบทของพระวรสารของเขา “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว” (ยน 1:1) มัทธิว และลูกา ก็กล่าวถึงจุดเริ่มต้นนี้เช่นเดียวกัน “เรื่องราวการประสูติ (จุดเริ่มต้น) ของพระเยซูเจ้า” (มธ 1:18) ... “ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นมาตั้งแต่แรก” (ลก 1:3)...
ดังนั้น ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่คนจึงเสนอว่า แผนการของพระเจ้าเริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผ่านทางพระเยซูเจ้า กล่าวคือ การเนรมิตสร้างครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้น และ “เทศกาลเตรียมรับเสด็จ” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในแต่ละปี เป็นโอกาสให้เราเริ่มต้นชีวิตใหม่...
แต่เรามักอยากจะหยุด และพูดว่า “พอกันที” ... พระเจ้าข้า โปรดประทานจิตตารมณ์ “การเริ่มต้น” แก่เราเสมอเถิด ... โปรดทรงพลิกฟื้นความหวังในตัวเรา
พระวรสาร หรือข่าวดี (gospel) ภาษากรีกใช้คำว่า evangelion ... “ข่าวดี” ที่มาระโกเขียนขึ้นนี้ ไม่ได้หมายถึง “หนังสือเล่มหนึ่ง” แต่เป็น “ข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าที่เริ่มขึ้นในองค์พระเยซูเจ้า”
“ข่าวดี” คือ เรื่องของการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า (ปัสกา) ซึ่งเป็นชัยชนะอันเด็ดขาดของชีวิต คำนี้มาจากคำทำนายของอิสยาห์ ที่ประกาศแก่ประชาชนในช่วงปลายของชีวิตที่ถูกเนรเทศของพวกเขาว่า “จงปลอบโยน จงปลอบโยนประชากรของเราเถิด ... เวลาการเป็นทาสสิ้นสุดแล้ว ... จงพูดกับกรุงเยรูซาเล็มให้ประทับใจ จงร้องบอกเมืองนั้นว่า ... ความผิดของเมืองนั้นได้รับการอภัย ... ท่านผู้นำข่าวดีแห่งศิโยนเอ๋ย จงขึ้นไปบนภูเขาสูงเถิด ... จงประกาศว่า ‘พระเจ้าของท่านทรงอยู่ที่นี่’ ” (อสย 40:1-11)...
นี่คือความเชื่อของข้าพเจ้าใช่หรือไม่ ... ความเชื่อนี้เป็นภาระหนักที่ข้าพเจ้าฝืนใจแบก ... หรือว่าเป็นข่าวดี เป็นข่าวอันน่ายินดี ซึ่งนำทางทุกย่างก้าวของข้าพเจ้าในแต่ละวัน
ข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า
มาระโกบอกเราตั้งแต่บรรทัดแรกว่าพระวรสารของเขาเป็นเรื่องอะไร สมญาของพระเยซูเจ้าเป็นจุดสำคัญของคำบอกเล่าทั้งฉบับ และจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งหนึ่งในตอนท้าย เมื่อคนต่างศาสนาจะยอมรับพระเยซูเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) นี่เป็นวิธีเขียนวรรณกรรมเซมิติก ที่เน้นความหมายเบื้องลึกของคำบอกเล่า โดยใช้คำเดียวกันที่ตอนต้น และตอนท้าย และทำให้ทั้งตัวบทนั้นมีสีสัน...
คำว่า “เยซู” ในภาษาฮีบรู คือ เยโฮชูวา (Yeshuah) แปลว่าพระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น (God saves) ชื่อที่คุ้นเคยนี้เผยให้เห็นลักษณะในฐานะมนุษย์ และลักษณะทางประวัติศาสตร์ของชายชาวนาซาเร็ธคนนี้
“พระคริสต์” ในภาษากรีก แปลว่า “ผู้ได้รับเจิมของพระเจ้า” หรือ “พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู ... สมญานี้บอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ชนชาติอิสราเอลกำลังรอคอย ทรงเป็น “โอรสกษัตริย์ดาวิด” และ “พระราชาของพระอาณาจักรของพระเจ้า”...
“พระบุตรของพระเจ้า” สมญานี้จะแสดงความหมายออกมาอย่างสมบูรณ์เพียงเมื่อพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ในยุคที่มาระโกเขียนพระวรสารนี้ คริสตชนได้ใช้คำนี้ประกาศยืนยันความเชื่อของเขาในพระเทวภาพของพระเยซูเจ้า...
มีเขียนไว้ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ว่า “ดูซิ เราส่งผู้นำสารของเราไปข้างหน้าท่าน เพื่อเตรียมทางสำหรับท่าน คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด”
พระวรสารของมาระโก ไม่ได้อ้างข้อความจากพันธสัญญาเดิมโดยบังเอิญ พระเยซูเจ้าไม่ใช่ “ดาวตก” ที่มาจากดาวเคราะห์อื่น พระองค์ทรงเข้ามาอยู่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่งอย่างแนบเนียน ชนชาตินี้ “รอคอย” พระองค์ เขาประกาศถึงพระองค์ และเตรียมตัวรับพระองค์ ... ดังนั้น ข้อความจากพันธสัญญาเดิมที่ประกาศในมิสซาทุกวันอาทิตย์ ภายหลังสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของพระศาสนจักรสมัยใหม่ เพราะแท้จริงแล้วคริสตชนยุคแรก – คือกลุ่มคริสตชนของมาระโก มัทธิว ลูกา หรือยอห์น – ล้วนคุ้นเคยกับการอ่านพระคัมภีร์ และรู้ว่าข้อความเหล่านี้หมายถึงพระเยซูเจ้า
ส่วนเราเล่า ... บางครั้งเราบ่นว่าเราไม่พบพระเจ้า แต่เราได้ใช้เครื่องมือที่จะนำเราไปพบพระองค์แล้วหรือ เราแสวงหาพระองค์อย่างไร ... เราเตรียม “ทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือเปล่า ... เทศกาลเตรียมรับเสด็จปีนี้อาจเป็นเวลาอันเหมาะสมที่เราจะหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาอ่าน และรำพึงตามข้อความที่อ่าน...
เพื่อให้ข้อความนี้เป็นจริง ยอห์นจึงทำพิธีล้างในถิ่นทุรกันดาร เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงการกลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบเขา รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดน โดยสารภาพบาปของตน
ขอให้เราอย่าคิดว่าเรากำลังไปพบกับพระเจ้า – เช่นในวันพระคริสตสมภพ – โดยไม่เตรียมตัวรับเสด็จพระองค์ โดยไม่ชำระตัวเราให้บริสุทธิ์ โดยไม่พยายามกลับใจ หรือเปลี่ยนชีวิตของเรา...
ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ไม่พูดอ้อมค้อมเลย เขาบอกผู้ที่ฟังเขาว่า “จงเปลี่ยนพฤติกรรม ... จงเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยสิ้นเชิง” ... นี่คือความหมายของคำว่า metanoia ซึ่งเราแปลว่า “การกลับใจ” ... ท่านกำลังทำเช่นนี้อยู่หรือเปล่า ขอให้หยุดทำความชั่วที่ท่านกำลังทำอยู่ และเริ่มต้นทำความดีที่ท่านยังไม่ยอมทำ ... จงเปลี่ยนวิถีชีวิตเถิด...
เมื่อวันพระคริสตสมภพใกล้เข้ามา พระศาสนจักรร้องขอให้คริสตชนรับ “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี” เพื่อขออภัยพระเจ้าสำหรับบาปของตน ข้าพเจ้าต้องการเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ เพื่อตัดสินใจเลือกก้าวสำคัญนี้ในชีวิตอย่างผู้ใหญ่ที่รู้จักรับผิดชอบคนหนึ่ง ... และเหมือนกับฝูงชนที่มาชุมนุมกันบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน ข้าพเจ้าเริ่มยอมรับว่าข้าพเจ้าได้ทำบาป...
พระเจ้าข้า โปรดทรงเปิดตาข้าพเจ้าด้วยเถิด
ยอห์น แต่งกายด้วยผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตน และน้ำผึ้งป่า
นี่คือเครื่องแต่งกายตามประเพณีของ “ชาวทะเลทราย” คือ ชาวเบดูอินเร่ร่อน
ถิ่นทุรกันดาร ... ยอห์นดึงดูดใจประชาชน และเพื่อจะออกไปยังถิ่นทุรกันดาร ประชาชนจำเป็นต้องออกจากโลกที่เขาคุ้นเคย และก้าวไปยัง “อีกโลกหนึ่ง” การปลีกตัวไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร หมายถึงการปฏิเสธวิถีชีวิตที่มักง่ายและสุขสบาย ... ถิ่นทุรกันดารยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโล่ง ไม่มีถนนหนทาง และเป็นคำเชิญให้ออกผจญภัย ... ถิ่นทุรกันดารยังเป็นสถานที่เงียบสงบและวิเวกอีกด้วย เป็นคำเชิญให้พบกับตัวตนภายในของเรา ที่นี่ไม่มีสิ่งที่ชวนให้วอกแวก เราไม่สามารถหลบไปอยู่ในสิ่งจอมปลอม เพราะเมื่ออยู่ในถิ่นทุรกันดาร มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับตนเอง เผชิญหน้ากับตัวตนที่เปลือยเปล่า ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง และเขาสามารถได้ยินพระเจ้าท่ามกลางสภาพอันยากจนและเงียบสงัดนี้ สามารถพบความจริงเกี่ยวกับตนเองโดยไม่สวมหน้ากาก ... มนุษย์ทุกยุคสมัยไม่ว่าชายหรือหญิงจะปลีกตัวเข้าไปอยู่ใน “ทะเลทราย” ของตนเอง เพื่อพบกับพระเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าเขาไม่ทำเช่นนี้
ข้าพเจ้าจะหาเวลาอยู่ท่ามกลางความวิเวกเช่นนี้ระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้หรือไม่...
เขาเทศน์สอนว่า “มีอีกผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะก้มลงแก้สายรัดรองเท้าของเขา ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้า”
ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ถูกส่งมาเพื่อเตรียมทางให้ใครคนหนึ่ง ซึ่งเขายังไม่ระบุชื่อ คือ “ผู้ที่กำลังมา” ... “ผู้ทรงอำนาจยิ่งกว่า” ... “มีค่าสมควรมากกว่า” ... “บุคคลที่เปี่ยมล้นด้วยพระจิตเจ้า”...
ถ้าเราตัดสินใจจะเปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิง พระเจ้าจะไม่ทรงยืนดูอยู่ห่าง ๆ แต่จะทรงบันดาลให้พระจิตของพระองค์ไหลท่วมจนมิดตัวเรา...