วันพระคริสตสมภพ – มิสซารุ่งอรุณ
บทรำพึงที่ 1
บทอ่านที่หนึ่ง : อิสยาห์ 62:11-12
ดูซิ พระยาห์เวห์ทรงประกาศให้สุดปลายแผ่นดินได้ยินว่า “จงบอกธิดาของศิโยนว่า ดูเถิด พระผู้กอบกู้ของเจ้ามาถึงแล้ว ดูซิ พระองค์ทรงนำรางวัลมากับพระองค์ ค่าตอบแทนของพระองค์ก็อยู่เฉพาะพระพักตร์” เขาทั้งหลายจะได้ชื่อว่า “ประชากรศักดิ์สิทธิ์” “ผู้ที่พระยาห์เวห์ทรงไถ่กู้ไว้แล้ว” และเมืองนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองที่ทรงใฝ่ฝัน” “เมืองที่ไม่ทรงทอดทิ้ง”
คำอธิบาย : ส่วนที่สองของหนังสืออิสยาห์ เขียนขึ้นหลังจากชาวยิวอพยพกลับมาจากกรุงบาบิโลน ผู้ที่กลับมาเหล่านี้เศร้าใจ ประเทศของเขาร้างผู้คน กรุงเยรูซาเล็มส่วนใหญ่ ยังเป็นซากปรักหักพัง ประชากรเศร้าใจจนแทบจะสิ้นหวัง ผู้เขียนมีคำพูดปลอบประโลมใจ และให้กำลังใจเพื่อนร่วมชาติของเขา พวกเขาต้องวางใจในคำสัญญาของพระเจ้า และภาวนาให้คำสัญญานั้นกลายเป็นความจริง ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่รออยู่สำหรับยูดาห์ และเยรูซาเล็ม
พระยาห์เวห์ทรงประกาศ : พระเจ้าทรงประกาศผ่านประกาศก พระองค์ประกาศต่อคนทั้งโลก และมิใช่เฉพาะชาวยิว ว่าพระองค์กำลังจะทำอะไรเพื่อประชากรเลือกสรรของพระองค์บ้าง ดังนั้น งานของพระองค์จึงไม่ได้ทรงกระทำเพื่อชาวยิวเท่านั้น แต่เพื่อทุกชนชาติ
ธิดาของศิโยน : ศิโยน เป็นอีกชื่อหนึ่งของกรุงเยรูซาเล็ม พลเมืองของเมืองนี้เป็นประชากรเลือกสรร เป็นคู่ครองของพระเจ้า และเมืองหลวงของเขาเป็นธิดาของพระองค์
พระผู้กอบกู้ของเจ้ามาถึงแล้ว : ในความคิดของประกาศก พระผู้ไถ่ หรือพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ ใกล้จะเสด็จมาแล้ว
รางวัล ... ค่าตอบแทนของพระองค์ : พระองค์จะเสด็จมาอย่างผู้ชนะ และจะทรงนำ “รางวัลแห่งชัยชนะ” ของพระองค์มาด้วย พระองค์ทรงชนะการสู้รบแล้ว และเป็นที่เข้าใจได้ว่าชัยชนะนี้เป็นของประชากรของพระองค์
เขาทั้งหลายจะได้ชื่อว่า : คนทั้งหลายที่พระองค์เสด็จมาหาจะเป็น...
ประชากรศักดิ์สิทธิ์ … ผู้ที่พระยาห์เวห์ทรงไถ่กู้ไว้แล้ว : ชัยชนะที่พระองค์ทรงต่อสู้จนได้รับมาประทานแก่เขา เป็นชัยชนะฝ่ายจิต ซึ่งบัดนี้จะถูกนำไปถวายคืน (หรือซื้อคืน) แด่พระเจ้า
ไม่ทรงทอดทิ้ง : ประชาชนจะมาชุมนุมกันในกรุงเยรูซาเล็มใหม่นี้ เมืองนี้จะไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป และจะมีกิตติศัพท์เลื่องลือ
คำสั่งสอน : พระศาสนจักรได้คัดเลือกข้อความสั้น ๆ จากหนังสืออิสยาห์ เพื่อเตือนเราให้ระลึกถึงพระพรต่าง ๆ ที่พระเมสสิยาห์ ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ในพันธสัญญาเดิม จะทรงนำมาประทานแก่เราเมื่อพระองค์เสด็จมา และสถาปนาพันธสัญญาใหม่ พระองค์ทรงไถ่กู้เราด้วยความตายของพระองค์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงกระทำพันธสัญญาใหม่กับเรา เป็นพันธสัญญาที่ยั่งยืน ต่างจากพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นเพียงขั้นเตรียมการ ดังนั้น จึงไม่ใช่พันธสัญญาที่ถาวร พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เราเป็นประชากรเลือกสรรใหม่ ที่พระองค์ทรงเลือกสรรเพื่อให้เราสามารถกลายเป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ และใกล้ชิดพระเจ้าได้ สิ่งที่พระองค์ทรงช่วงชิงมาเพื่อเรา และทรงสัญญาจะประทานแก่เรานั้น ไม่ใช่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แห่งปาเลสไตน์อย่างที่พันธสัญญาแรกสัญญาไว้ แต่เป็นที่พำนักแห่งความสุขนิรันดร คือสวรรค์ หรือนครเยรูซาเล็มใหม่ ซึ่งจะมีกิตติศัพท์เลื่องลือ และรุ่งเรืองตลอดไป
เรามีเหตุผลแน่นอนที่จะขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงส่งพระผู้ไถ่มาให้เรา และทรงแต่งตั้งเราให้เป็นส่วนหนึ่งของประชากรเลือกสรรของพระองค์ คือพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า หรือพระศาสนจักรของพระองค์ ไม่มีทางเลยที่เราจะมีค่าคู่ควรแก่เกียรติเช่นนี้ แต่ขอให้เราแต่ละคนสำรวจตนเอง และดูว่าเรากำลังพยายามปฏิบัติตนไม่ให้ด้อยค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ พยายามตัดขาดจากสิ่งดึงดูดใจของโลกนี้ ซึ่งขัดขวางการเดินทางไปสู่สวรรค์ของเรา
การต้อนรับพระคริสตเจ้าของเราในวันพระคริสตสมภพนี้ และการขอบพระคุณที่พระองค์เสด็จมาและทรงกระทำคุณประโยชน์มากมายเพื่อเรา จะเป็นการต้อนรับ และขอบพระคุณที่จริงใจได้เพียงเมื่อเราพยายามอย่างจริงใจที่จะดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกอันสูงส่งของเราในการเป็นประชากรเลือกสรรที่ศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่
บทอ่านที่สอง : ทิตัส 3:4-7
เมื่อพระเจ้าพระผู้ไถ่ของเรา ทรงแสดงพระทัยดีและความรักต่อมนุษย์ พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้น มิใช่เพราะกิจการชอบธรรมใด ๆ ที่เรากระทำ แต่เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ ทรงใช้น้ำชำระเราให้สะอาด เราจึงเกิดใหม่และได้รับการฟื้นฟูโดยพระจิตเจ้า พระองค์ทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงเหนือเราอย่างอุดม โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเรา เพื่อพระหรรษทานของพระองค์จะบันดาลให้เรากลับเป็นผู้ชอบธรรม และเป็นทายาทในความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร
คำอธิบาย : ดูคำอธิบายเกี่ยวกับทิตัส และจดหมายฉบับนี้ได้จากบทอ่านที่สองสำหรับมิสซาเที่ยงคืน
เมื่อพระเจ้าพระผู้ไถ่ของเราแสดงพระทัยดี : การเสด็จมาของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ และงานไถ่กู้ของพระองค์เพื่อเราเกิดขึ้นเพราะ “พระทัยดีและความรักของพระเจ้า” นี่คือคำอธิบายเดียวสำหรับความรักอันไร้ขอบเขตที่เราเห็นได้จากการเสด็จมารับสภาพมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
มิใช่เพราะกิจการชอบธรรมใด ๆ : เราไม่ได้ทำสิ่งใด และไม่สามารถทำสิ่งใดที่จะทำให้เราสมควรได้รับความเมตตากรุณาเช่นนั้น แต่เป็นพระพรที่พระเจ้าประทานให้เปล่า ๆ
ทรงใช้น้ำชำระเราให้สะอาด : ศีลล้างบาปทำให้เราได้รับชีวิตใหม่ เพราะเรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า เพราะเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้า และมนุษย์
ได้รับการฟื้นฟูโดยพระจิตเจ้า : เมื่อเรารับศีลล้างบาป พระจิตเจ้าเสด็จมาประทับในตัวเรา และประทานพระพรแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรักแก่เรา (ดู โรม 5:5) รวมถึง “พระหรรษทานอันอุดม”
โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า : พระพรทั้งหมดนี้ พระคริสตเจ้าทรงช่วงชิงมาประทานแก่เราด้วยชีวิต ความตาย และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ในข้อความสั้น ๆ นี้ นักบุญเปาโลบอกเราว่า แต่ละพระบุคคลในพระตรีเอกภาพมีบทบาทอย่างไรในการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา พระบิดาทรงส่งพระบุตรลงมารับสภาพมนุษย์เพื่อให้เราเข้าสู่สวรรค์ได้อาศัยบุญบารมีของพระองค์ และพระจิตเจ้าประทานบุญบารมีนี้แก่เราในศีลล้างบาป (และในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ในเวลาต่อมา)
เราเป็นทายาท : อาศัยศีลล้างบาป และพระหรรษทานจากพระจิตเจ้า เราจึงสามารถไปถึงสวรรค์ได้ เราจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นทายาท และบุตรของพระเจ้า แต่เราต้องร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้าถ้าเราต้องการให้ “ความหวังในชีวิตนิรันดร” ของเรากลายเป็นความจริง
คำสั่งสอน : คริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งความปรารถนาดี เป็นเทศกาลที่คริสตชนทุกคน ที่ปฏิบัติตนสมกับชื่อ จะพยายามทำความดี และแสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน แต่จิตตารมณ์ความปรารถนาดี ความรัก และความเมตตานี้ควรทำงานในหัวใจของเราตลอดปีและตลอดชีวิตของเรา และหัวใจของเราจะมีจิตตารมณ์เช่นนี้ได้ตลอดเวลา ถ้าเพียงแต่เราจะเตือนตนเองให้บ่อยครั้งขึ้นให้ระลึกว่าธรรมล้ำลึกคริสต์มาส ก็คือธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จมารับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่เราเพราะความดี และความเมตตากรุณาของพระองค์ เมื่อพระเจ้าทรงสร้างเรา พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่เรา และพระองค์ประทานชีวิตให้แก่พืชและสัตว์ด้วย แต่ชีวิตที่พระองค์ประทานแก่เรานั้นเหนือกว่าชีวิตพืชหรือชีวิตสัตว์ เพราะพระองค์ประทานสติปัญญาและอำเภอใจให้แก่เราด้วย ซึ่งเราเรียกว่าวิญญาณของเรา พระพรนี้ยกฐานะของเราให้เหนือกว่าสัตว์โลกอื่น ๆ ทั้งปวง ทำให้เราเป็นผลงานเนรมิตสร้างชิ้นเอกของพระเจ้า และอาจกล่าวได้ว่าเราคล้ายคลึงกับพระองค์
เราไม่สามารถรู้สำนึกในพระคุณของพระองค์ได้มากพอสำหรับพระพรประการนี้ แต่ถ้าเราจะใช้พระพรที่พระองค์ประทานให้นี้อย่างเหมาะสม และเต็มศักยภาพ นั่นจะถือว่าเพียงพอแล้วหรือ? ช่วงเวลา 60 ปี หรือ 70 ปี หรือ 100 ปี ที่เราเสพสันติสุข และความอุดมสมบูรณ์บนโลกนี้ จะสามารถตอบสนองความปรารถนาทั้งหมดของเราได้หรือ? เราจะไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้อีกหรือ? เราจะใช้ประโยชน์จากสมรรถภาพฝ่ายจิตทั้งปวงที่อยู่ภายในตัวเราได้อย่างเต็มที่ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ได้หรือ? ถ้าแม้แต่บุคคลที่เสพสันติสุข และความอุดมบริบูรณ์ตลอดชีวิตของเขาบนโลกนี้ ก็ยังตอบว่า “ไม่ได้” แล้วมนุษย์อีก 99% ที่ดำรงชีพอย่างปากกัดตีนถีบ ต้องสู้ทนกับความทุกข์ยากลำเค็ญ และความเศร้าเสียใจจะตอบอย่างไร? ความทะเยอทะยาน และความปรารถนาของเขาจะเป็นความจริงได้อย่างไร? คำตอบก็คือ “ไม่ได้” และถ้ามีใครบอกว่าชีวิตมนุษย์ต้องจบลงที่หลุมฝังศพ เขาคนนั้นก็ไม่ได้ใช้สติปัญญาของเขาอย่างเต็มที่ และดูถูกสติปัญญาของพระผู้สร้างของเขาอีกด้วย
ความดี และความเมตตาของพระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงสร้างเราขึ้นมานั้น มีจุดมุ่งหมายมากกว่าให้เรามีชีวิตอยู่แต่บนโลกนี้เท่านั้น พระองค์ประทานพระพรให้เราสามารถรู้ และเข้าใจพระองค์ และสามารถร่วมเสพความสุขของพระองค์อีกด้วย เพื่อให้เราสามารถมีส่วนร่วมรับความสุขนี้ตลอดนิรันดร พระองค์จึงทรงวางแผนให้พระบุตรของพระองค์เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงสามารถมีส่วนร่วมในความยินดีนิรันดรของพระตรีเอกภาพ เพราะพระบุตรของพระเจ้าทรงมาร่วมรับธรรมชาติมนุษย์กับเรา พระองค์ทรงบันดาลชีวิตใหม่ให้แก่ธรรมชาติมนุษย์ของเรา ดังนั้น จึงยกฐานะของเราขึ้น ให้เราสามารถเป็นทายาทที่จะได้รับชีวิตนิรันดร
เป้าหมายแท้จริงของชีวิตบนโลกนี้ของเราก็คือหาทางไปให้ถึงสวรรค์ นี่คือแผนการของพระเจ้าสำหรับเรา และเป็นคำอธิบายธรรมชาติมนุษย์อันน่าพิศวงของเรา คริสต์มาสคือการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า และทำให้เรามีหนทาง และชี้ให้เราเห็นทางที่จะนำเราไปสู่สวรรค์ได้ เราจะโง่เขลาจนถึงกับปฏิเสธที่จะไปสวรรค์ทีเดียวหรือ?
พระวรสาร : ลูกา 2:15-20
เมื่อบรรดาทูตสวรรค์จากเขากลับสู่สวรรค์แล้ว คนเลี้ยงแกะเหล่านั้นจึงพูดกันว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็นเหตุการณ์นี้ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้” เขาจึงรีบไป และพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่ คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้า ในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
คำอธิบาย
เมื่อทูตสวรรค์ : ดูพระวรสารสำหรับมิสซาเที่ยงคืน
เราจงไป : คนเลี้ยงแกะยอมรับว่าวาจาของทูตสวรรค์เป็นพระวาจาของพระเจ้า และไม่ลังเลใจที่จะกระทำอย่างที่ทูตสวรรค์บอกให้ทำ
พบพระนางมารีย์ และโยเซฟ : ลูกาเอ่ยชื่อพระนางมารีย์ผู้เป็นภรรยาก่อนเอ่ยชื่อโยเซฟ เพราะเขาได้เล่าในเรื่องการแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้า (1:20-38) แล้วว่าพระนางมารีย์ทรงอยู่ในฐานะพิเศษ ในเหตุการณ์ที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ และโยเซฟเป็นบิดาเลี้ยงของพระองค์ เขาจึงมีฐานะเป็นรอง
เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็นก็เล่าเรื่อง : ทูตสวรรค์แจ้งแก่พวกเขาว่า เขาจะพบพระเมสสิยาห์ – คือพระผู้ไถ่ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ ผู้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด – ในสภาพของทารกที่นอนอยู่ในรางหญ้า แต่ทารกนี้ยังเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย บัดนี้ คนเลี้ยงแกะเชื่อแล้วว่าข่าวดีที่ทูตสวรรค์ประกาศนั้นเป็นความจริง
ทุกคนที่ได้ยิน : การพบทารกคนหนึ่งเกิดมา หรือพบทารกคนหนึ่งนอนอยู่ในรางหญ้าในช่วงเวลาอันขัดสนนั้นไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์ คนเลี้ยงแกะมีเรื่องจะบอกมากกว่านั้นซึ่งทำให้ประชาชนประหลาดใจ เรื่องนั้นคือเด็กคนนี้เป็นมากกว่ามนุษย์ เขายังเป็นพระเจ้าอีกด้วย เขาเป็นพระบุตรของพระเจ้า
พระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย : ลูกากำลังกล่าวเป็นนัยในที่นี้ว่าเขาได้รับรู้เหตุการณ์ที่เขากำลังบอกเล่านี้จากใคร เขาจะพบใครอื่นได้อีกที่รู้ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากพระนางมารีย์ ซึ่งเขาน่าจะพบพระนางประมาณ ค.ศ. 58-60 เมื่อเขาอยู่ในปาเลสไตน์ (ขณะที่เปาโลถูกจำคุกอยู่ที่แคว้นซีเรีย – ดู กจ 21:15) และเป็นไปได้หรือที่พระนางจะลืมเรื่องเหล่านี้
ถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้า : คนเลี้ยงแกะที่ซื่อ จริงใจ และศรัทธา กลับไปทำงานดูแลฝูงแกะของเขา เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่จิตใจเต็มเปี่ยมด้วยคำสรรเสริญ และขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับสิ่งอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อเขา
คำสั่งสอน : คนเลี้ยงแกะซื่อ ๆ ที่ไร้การศึกษาเหล่านี้ แสดงแบบอย่างให้เรารู้ว่าเราควรทำอะไรในวันนี้ เมื่อเราคิดถึงเทศกาลพระคริสตสมภพ และความเมตตาของพระเจ้าต่อมนุษย์ที่รู้จักตายอย่างเรา คนเลี้ยงแกะเหล่านี้อ่านเขียนไม่ได้ แต่เขาสามารถใช้สติปัญญาที่มีมาแต่กำเนิดของเขา เขาเชื่อในพระเจ้า พระผู้สร้างจักรวาล เขาเชื่อว่าพระองค์จะรักษาสัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้แก่อับราฮัม และประชากรเลือกสรรตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา บัดนี้ ผู้นำสารของพระเจ้าได้แจ้งแก่เขาว่าพระเจ้าทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์แล้ว และอาศัยพระหรรษทานที่เขาได้รับ เขาจึงเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่อับราฮัม และประชากรเลือกสรรคาดหวังไว้เสียอีก ทารกในเมืองเบธเลเฮมผู้นี้ยิ่งใหญ่กว่าอับราฮัม ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ดาวิด ยิ่งใหญ่กว่าประกาศกทั้งปวงที่พระเจ้าเคยส่งมาตลอดทุกยุคสมัย เพราะทารกผู้นี้เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ “คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้”
ในเช้าวันนี้ ขอให้เราเลียนแบบคนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยเหล่านี้เถิด หลังจากมิสซานี้ ขอให้เรากลับไปบ้านของเรา กลับไปทำงานตามปกติของเราด้วยจิตที่ได้รับการฟื้นฟูให้เข้มแข็งมากขึ้น และให้เราระลึกเสมอว่าพระเจ้าทรงกระทำสิ่งยิ่งใหญ่อะไรมาแล้วเพื่อเรา พระองค์ทรงยกเราขึ้นเหนือธรรมชาติมนุษย์ของเรา พระองค์ประทานชีวิตเหนือธรรมชาติ รวมทั้งจุดหมายปลายทาง และเป้าหมายเหนือธรรมชาติแก่เรา คือ ความสุขนิรันดร ช่วงชีวิตของเราบนโลกนี้อาจสั้นหรือยาว อาจรื่นรมย์ หรือยากลำบาก และสำหรับคนส่วนใหญ่จะเป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบากมากกว่ารื่นรมย์ ไม่ว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องเพ่งสายตาของเราอยู่ที่อนาคตอันรุ่งเรืองที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เรา และเราจะใช้ช่วงปีเหล่านี้เป็นสะพานนำเราก้าวข้ามแม่น้ำแห่งชีวิตไปจนถึงบ้านนิรันดรของเรา
ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นทารกในเมืองเบธเลเฮม เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถกลายเป็นมนุษย์เหนือธรรมชาติ ที่เติบโตเต็มที่ในฐานะบุตรบุญธรรมของพระเจ้าในสวรรค์
บทรำพึงที่ 2
ลูกา 2:15-20
พิธีกรรมที่ครบถ้วนของวันพระคริสตสมภพจะประกอบด้วยสี่มิสซา ดังนั้นจึงมีบทอ่านจากพระวรสารสี่บท
- วันเตรียมฉลอง : เรื่องลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า และทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่นักบุญโยเซฟ (มธ 1:1-25)
- มิสซากลางคืน : เรื่องพระนางมารีย์ และโยเซฟ ไม่มีห้องพักแรมในเมืองเบธเลเฮม และในที่สุดต้องเข้าพักในคอกสัตว์ และใช้เป็นสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้า และคนเลี้ยงแกะได้รับแจ้งข่าวดีซึ่งจะนำความยินดีมาให้ประชาชนทุกคน คือพระผู้ไถ่ประสูติแล้ว (ลก 2:1-14)
- มิสซารุ่งอรุณ : ปฏิกิริยาของคนเลี้ยงแกะ ของพระนางมารีย์ และคนทั้งหลายที่ได้ยินข่าวดี คนเหล่านี้บอกเล่า “พระวาจา” และรำพึงไตร่ตรองเรื่องนี้ (ลก 1:15-20)
- มิสซากลางวัน : เราอ่านบทรำพึงที่สำคัญยิ่งของนักบุญยอห์น เกี่ยวกับกำเนิดนิรันดร (eternal Birth) (ยน 1:1-18)
เมื่อบรรดาทูตสวรรค์จากเขากลับสู่สวรรค์แล้ว
ข้าพเจ้าชอบคำบรรยายสั้น ๆ นี้ของนักบุญลูกา ข้อความที่อธิบายจนมองเห็นภาพนี้เตือนใจเราให้ระลึกถึงความจริงสำคัญข้อหนึ่ง คือการปรากฏตัวของทูตสวรรค์เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ... สวรรค์เปิดออกสำหรับเราเพียงไม่กี่วินาที – เรามองเห็นผ่าน “รอยฉีกในผ้าม่าน” ภายในระยะเวลาเท่ากับสายฟ้าผ่า ภายในช่วงเวลาเท่ากับ “วาจา” หนึ่งคำ นั่นคือช่วงเวลาของการสื่อ “สาร” หนึ่ง ...
คำว่า “angel” (ทูตสวรรค์) (angelos ในภาษากรีก) แปลว่า “ผู้นำสาร”
บ่อยครั้งที่เราพูดตามความคิดด้วยตรรกะหยาบ ๆ ของเราว่าทูตสวรรค์ไม่มีจริง เพราะเราพยายามมองว่าทูตสวรรค์เป็นวัตถุ และคาดหมายว่าเราจะเห็น “ปีกของทูตสวรรค์” เราจึงไม่เห็นการมาเยือนของทูตสวรรค์ พระเจ้าทรงส่ง “สาร” มาถึงเราทุกวัน ... และเราทุกคนมี “คนนำสาร” ของพระเจ้าอยู่รอบตัวเรา สวรรค์อาจเปิดออกสำหรับเราได้เช่นกัน – เพียงชั่วแวบหนึ่ง – ถ้าเราจะใส่ใจมากขึ้นกับคำแนะนำที่เราได้รับในชีวิตแต่ละวัน ขอเพียงแต่เราไม่มองว่าความเป็นจริงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเสียทั้งหมด
ท่านคิดว่าท่านกำลังขังตนเองอยู่ภายในโลกแคบ ๆ ของท่านหรือเปล่า ... ถ้าท่านปรารถนา ความเชื่อของท่านสามารถเปิดตาของท่านให้มองเห็นสิ่งที่ตามองไม่เห็นได้ ...
เราไม่สามารถได้ยินสิ่งที่สุนัขจิ้งจอกบอกกับเจ้าชายน้อยเรื่องดอกกุหลาบ ซึ่งดูภายนอกสวยงามมาก ว่า “นี่คือความลับของฉัน มันง่ายมาก เรามองเห็นชัดเจนได้ด้วยหัวใจของเราเท่านั้น ดวงตาไม่สามารถมองเห็นเนื้อแท้ได้ ... เวลาที่เธอยอมเสียไปเพื่อดอกกุหลาบนั้นทำให้ดอกกุหลาบสำคัญมากสำหรับเธอ” (Saint Exupery)
คนเลี้ยงแกะเหล่านั้นจึงพูดกันว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็นเหตุการณ์นี้ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้”
ตัวบทภาษากรีกแปลได้ตามตัวอักษรว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็น ‘วาจาที่เกิดขึ้นนั้น’ ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้” ... “การเห็นวาจา” เป็นวลีที่น่าประหลาดใจไม่ใช่หรือ...
เราจะเข้าใจได้ชัดเจนเมื่อเรารู้ว่าคำว่า rema ในภาษากรีก (ซึ่งแปลมาจากคำว่า Dabar ในภาษาฮีบรู) หมายความได้ทั้ง “วาจา” และ “สิ่งของ” หรือ “เหตุการณ์” ตามความคิดแบบชาวยิวที่แสดงออกในพระคัมภีร์นั้น “วาจา” และ “ความเป็นจริง” เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ไม่มีวาจาใดที่ไม่ใช่ความเป็นจริง และไม่มีความเป็นจริงใดที่ไม่ใช่วาจา ... ทุกสิ่ง “พูดได้” ถ้าเรารู้ว่าต้องฟังอย่างไร การพูดคือการกระทำ การกระทำคือการสื่อสาร ... และพระวาจาของพระเจ้าทำให้สิ่งที่พระวาจาที่ตรัส กลายเป็นความเป็นจริง พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระวาจา” ที่กลายเป็น “ความเป็นจริง” ...
ถูกแล้ว พวกเราจะไปที่เบธเลเฮม กันเถิด จะได้เห็นพระวาจานี้ที่เสด็จมา! ...
เราจงไปที่เบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็นสิ่งนี้ ที่ทูตสวรรค์แจ้งให้เรารู้ ...
คำอธิบายอาจดูเหมือนเป็นวิชาการเกินไป แต่แท้จริงแล้ว คำอธิบายนี้เปิดเผยหลายเรื่องให้เรารู้ และไม่ได้ชักนำเราให้ไขว้เขวไปจากธรรมล้ำลึกคริสต์มาส “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” ท่านคิดว่าทารกน้อยในรางหญ้านั้นไม่ได้พูดหรือ? ... กำเนิดของพระองค์ และสภาพแวดล้อมของกำเนิดนี้ สำหรับเราเป็น “วาจา” ที่แท้จริง และคมคายกว่าวาจา และเสียงพูดคุยซุบซิบนินทาทั้งปวง ...
ลองฟังความเงียบที่บอกเราซิว่า พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้ ... พระเจ้าคือ “สิ่งนี้” ที่นอนอยู่ในรางหญ้านี้ ...
เขาจึงรีบไป ...
เช่นเดียวกับความยินดี “ความเร่งรีบ” เป็นอาการหนึ่งของคนที่ค้นพบข่าวดี พวกเขากำลังรีบ ... พวกเขาออกวิ่ง (ลก 1:39, 19:5; ยน 20:2; กจ 3:11, 8:30, 12:14)
การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าก็จะเป็นสัญญาณให้เริ่มต้นเร่งรีบเช่นเดียวกัน ...
เขาจึงรีบไป และพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า
พวกเขารีบรุดไปตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข่าวที่เขาได้รับจากทูตสวรรค์หรือไม่ “พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” ประโยคนี้ประกาศสามสมญาของพระเจ้า สิ่งที่เขาพบก็คือคนยากจนในคอกสัตว์ เป็นครอบครัวที่แสนจะธรรมดา และอันที่จริงเป็นครอบครัวที่ “จนกว่ามาตรฐาน” ... เป็นคนที่หาที่พักในหมู่บ้านไม่ได้เลย ... เด็กน้อยที่นอนบนฟาง ... ทารกที่เขาวางในรางหญ้า ...
ถ้าความจริงทั้งหมดนี้ไม่ได้ “พูด” อะไรกับท่านเลย ก็เป็นเรื่องเศร้าสำหรับท่าน!
คำว่าเบธเลเฮม ในภาษาฮีบรู แปลว่า “บ้านขนมปัง” นี่คือเหตุบังเอิญหรือ แต่ถ้าเป็นความจริงว่าพระเจ้าประทานพระองค์เองให้เรากินเป็นอาหารเหมือนกับขนมปังชิ้นหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อเรา ... “นี่คือกายของเรา ที่มอบเพื่อท่าน จงรับไปกินเถิด” ...
พระเจ้าคือความรัก ... พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์โดยอาศัยภาพลักษณ์ของครอบครัวหนึ่ง นั่นคือ คนเลี้ยงแกะพบมารดาที่เป็นเด็กสาวคนหนึ่ง พร้อมกับสามีของนาง และบุตรที่เพิ่งเกิดของนาง ...
พระเจ้าคือความยากจน ... พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ โดยอาศัยภาพลักษณ์ของความขัดสน กล่าวคือ ที่นอนของเด็กที่สร้างขึ้นด้วยไม้อย่างหยาบ ๆ นี้ได้กลายเป็นไม้กางเขนไปแล้ว จากที่นอนจนถึงกางเขน พระเจ้าทรงเผยแสดงธรรมล้ำลึกประการหนึ่งแก่เรา ...
พระเจ้าทรงบอกเราว่าพระองค์ก็เป็นคนยากจน พระองค์ทรงเหมือนกับคนทั้งหลายที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เพราะ “เราหิว เรากระหาย เราป่วย เราอยู่ในคุก เราอยากให้มีคนมาเยี่ยม” ...
คริสต์มาสไม่สามารถเป็นเทพนิยายหวาน ๆ ที่บอกเล่ากันในบ้านที่สุขสบาย ...
คริสต์มาสไม่อาจเป็นเพียงงานเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ที่พรั่งพร้อมด้วยสุรา ...
คริสต์มาสไม่อาจเป็นข้ออ้างให้เรากินจนเกินกระเพาะ และใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ...
พยานกลุ่มแรกของคริสต์มาสครั้งแรกแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ...
เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร
เราทุกคนมีภาพของคนเลี้ยงแกะติดอยู่ในใจ ในภาพนี้ คนเลี้ยงแกะ “นมัสการ” พระกุมาร นี่คือภาพที่ศิลปินผู้มีชื่อเสียงหลายคนวาดไว้
แต่ในความเป็นจริง พระวรสารไม่ได้บอกเช่นนี้ ... แต่บอกว่าคนเลี้ยงแกะมา “แสดงบทเทศน์” แก่พระนางมารีย์ และโยเซฟ พวกเขา “เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร” เขาได้ยินมาว่าพระองค์คือพระผู้ไถ่ ... พระองค์คือพระคริสต์ ... พระองค์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า ... พวกเขาทำให้พระวจนาตถ์เป็นที่รู้จัก ...
ในประโยคนี้ ลูกาย้ำคำเดิมว่า rema ซึ่งมีหลายความหมายดังที่กล่าวมาแล้ว เราต้องอ่านสองประโยคที่มีความหมายอย่างยิ่งนี้ โดยเรียงตามลำดับดังนี้
- “เราจงไป ... จะได้เห็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้”
- เมื่อได้เห็น เขาก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร
เห็นได้ชัดว่า สำหรับลูกา การเฉลิมฉลองคริสต์มาสหมายถึงการรับ “พระวาจา” และประกาศพระวาจานั้น ... ความเชื่อของคริสตชนจำเป็นต้องประกาศพระวาจา มิฉะนั้น ก็เป็นความเชื่อปลอม ...
ความเชื่อของเราจะเป็นความเชื่อแท้ได้ เราต้องประกาศความเชื่อนั้น
ท่านเคยประกาศพระวาจาที่ท่านได้รับมาให้แก่ผู้อื่นหรือเปล่า ... ท่านกำลัง “พูดถึงข่าวดี” อยู่หรือเปล่า ...
ความเชื่อมีคุณสมบัติสามข้อ
1) ไม่ได้แต่งขึ้นมาเอง แต่ได้รับมาผ่านทางการเผยแสดงของพระเจ้า คือเป็นพระพรอย่างหนึ่ง ...
2) ความเชื่อไม่อาจอยู่นิ่ง ๆ เราต้องยอมรับความเชื่อนั้น และไตร่ตรองความเชื่อนั้น ...
3) ความเชื่อไม่อาจอยู่เงียบ ๆ เราต้องพูดถึงความเชื่อนั้น ...
คนเลี้ยงแกะได้ยินสารจากสวรรค์ ... เขารีบไปพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ... เขาบอกเล่าสารนี้แก่ผู้อื่นว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ พระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ...
ท่านก็เช่นกัน ท่านควรเปิดปาก ประกาศพระวรสาร และขับร้องสรรเสริญความเชื่อนี้ ...
แต่ก่อนอื่น ท่านควรให้ชีวิตแต่ละวันของท่าน “พูดได้” อย่างแท้จริง ... ให้ชีวิตของท่านเป็น “วาจา” ...
ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง
ข้อความนี้สามารถแปลให้ตรงกับความหมายมากกว่า ว่า “ทุกคนที่ได้ยินต่างรู้สึกอัศจรรย์ใจ” เราไม่ควรลดน้ำหนักคำนี้ ซึ่งลูกาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า (ลก 4:22, 8:25, 9:43, 11:14-15, 20:26 ...)
ถูกแล้ว เราก็ควรรู้สึกอัศจรรย์ใจเหมือนกัน ความเชื่อของเราควรเปี่ยมด้วยความยินดี!
“องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำสิ่งอัศจรรย์” เราจงสรรเสริญพระองค์เถิด ...
ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่
เราได้ยินคำว่า rema เป็นครั้งที่สามแล้ว ครั้งนี้แปลว่า “เรื่อง” แต่มีความหมายเหมือนเดิมคือ “วาจา – สิ่งของ – เหตุการณ์” ...
คนเลี้ยงแกะ “ได้รับ” พระวาจาของพระเจ้า
เขา “ประกาศ” ให้ผู้อื่นรู้เรื่องพระวาจานี้ ...
คนที่ได้ยินรู้สึก “อัศจรรย์ใจ” ...
ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดนี้ไว้ในพระทัย และรำพึงไตร่ตรอง ดังนั้น พระนางจึงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา ...
ในวันพระคริสตสมภพนี้ ลูกาชี้นำให้เราเพ่งความสนใจไปที่หัวใจของสตรีคนนี้ ซึ่งเป็นแบบฉบับสำหรับผู้มีความเชื่อ พระนางทรงใช้สติปัญญาทั้งหมด อำเภอใจทั้งหมด และหัวใจทั้งหมด - หมดทั้งตัวตนของพระนาง – เพื่อพยายามเข้าใจความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้า ... พระนางทรงทบทวนเรื่องราวในชีวิตของพระนาง ...
พระเจ้าทรงต้องการบอกอะไรแก่ข้าพเจ้าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ... ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีความหมาย หรือสถานการณ์ในครอบครัว หรือการประกอบอาชีพ หรือในสถานการณ์ของโลก ...
คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
ในวันนั้น มีทารกอื่น ๆ จำนวนมากเกิดมาบนโลกของเรานี้ ... ทำไมจึงมีแต่เด็กคนนี้ – พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ – ที่ยังสร้างความประทับใจให้คนจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน ... พระองค์เป็นใครกัน ...
พระเยซูเจ้าทรงเป็นใครสำหรับท่าน ...
ท่านเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าหรือไม่