แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
บุตรสิรา 3:2-6, 12-14; โคโลสี 3:12-21; ลูกา 2:22, 39-40

บทรำพึงที่ 1
ทุกสิ่งล้วนมีเหตุผล
ไม่มีครอบครัวใดที่ไม่เคยรู้จักความเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดสามารถชักนำคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นได้

    เออร์มา บอมเบ็ก เป็นนักหนังสือพิมพ์ เธอเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ 900 ฉบับทั่วประเทศ เช่นเดียวกับนักเขียนคอลัมน์จำนวนมาก เธอได้รับจดหมายมากมายจากผู้อ่าน จดหมายส่วนใหญ่ที่เธอได้รับมีข้อความคล้ายกับจดหมายต่อไปนี้ ซึ่งเป็นจดหมายจากมารดาคนหนึ่งจริง ๆ

    “แม้ว่าศาลเชื่อว่าลูกชายของดิฉันไม่มีทางกลับตัวกลับใจได้แล้ว แต่ดิฉันยังไม่ยอมแพ้ เขาเป็นลูกของดิฉัน ดิฉันจะทอดทิ้งเขาได้อย่างไร ดิฉันภาวนาเพื่อเขา ดิฉันร้องไห้เพราะเขา ดิฉันให้กำลังใจเขา และเหนืออื่นใด ดิฉันรักเขา”

    จดหมายอีกฉบับหนึ่งมาจากเด็กหญิงวัย 12 ปี เธอบอกว่า “ฉันเป็นลูกที่ต้องทำหน้าที่แทนแม่ เมื่อแม่ของฉันไปทำงานในร้านอาหาร ฉันคอยดูแลน้องชายและหญิงสามคนที่ยังเล็ก ฉันพาเขาไปอาบน้ำ ฉันเช็ดน้ำมูกให้เขา ฉันทำอาหารให้เขากิน ฉันพาเขาเข้านอน ฉันทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับแม่คนหนึ่งทำจริง ๆ แต่แทนที่เขาจะขอบคุณฉัน น้อง ๆ ของฉันกลับเกลียดฉัน บางครั้งฉันอยากตาย ฉันเคยคิดว่าจะหนีออกจากบ้าน แต่ฉันไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน และจะทำอะไร เมื่อฉันโตขึ้น ฉันไม่ต้องการเป็นแม่คน มันเป็นงานที่เลวร้ายที่สุดในโลก”

    สองตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นประเด็นเดียวกัน คือ การเป็นบิดา หรือมารดา หรือเป็นบุตรคนหนึ่งในครอบครัว ไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายเสมอไป บางครั้งมันยากลำบากแสนสาหัสทีเดียว

    พระวรสารบอกเราว่าแม้แต่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ก็ยังไม่รอดพ้นจากความยากลำบากเช่นนี้ เช่น พระนางมารีย์ และโยเซฟ เป็นทุกข์มากเมื่อพบว่าพระเยซูเจ้าหายไป ความเจ็บปวดของท่านทั้งสองไม่ได้หมดไป เมื่อท่านพบพระองค์ พระนางมารีย์ตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก” พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ลก 2:48-49)

    นี่เป็นคำตอบที่น่าช้ำใจ พระนางมารีย์แสดงท่าทีอย่างไรกับคำตอบนี้

    พระนางไม่ได้โต้แย้งพระเยซูเจ้า พระนางไม่ได้บังคับให้พระองค์อธิบาย พระนางเพียงแต่เก็บคำตอบนี้ไว้ในใจ พระวรสารบอกว่า “โยเซฟ และพระนางมารีย์ ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส ... พระมารดาทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” (ลก 2:50, 51)

    บางครั้ง การเงียบเป็นวิธีเดียวที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ใกล้ถึงจุดระเบิด เออร์มา บอมเบ็ก กล่าวถึงประเด็นนี้ในหนังสือ Motherhood ของเธอว่า “ดิฉันคิดว่าเด็กทุกคนจดจำคุณธรรมพิเศษบางอย่างที่แม่ของตนมีอยุ่ในตัว – ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำที่สุขุมบางอย่างที่ช่วยเขาให้รอดพ้นจากหายนะ หรือคำพูดสักคำหนึ่งที่ทำให้เส้นทางชีวิตของเขาง่ายขึ้นมาก ... ดิฉันชื่นชมคุณแม่ของดิฉัน สำหรับทุกครั้งที่ท่านไม่พูดอะไรเลย”

    เราต้องใช้ความสามารถในการควบคุมตนเองอย่างสูงที่จะไม่พูดอะไรออกมา ขณะที่อารมณ์ของเรากำลังปั่นป่วนอยู่ภายใน แต่ในเวลาเช่นนี้แหละที่ความเงียบพูดได้ดังกว่าคำพูด

    ถ้าบทบาทของพระนางมารีย์ในครอบครัวไม่ใช่บทบาทที่ง่าย บทบาทของนักบุญโยเซฟก็ไม่ง่ายเช่นกัน พระสงฆ์คนหนึ่งเทศน์ให้บิดาทั้งหลายฟังระหว่างการฟื้นฟูจิตใจ โดยทิ้งท้ายว่า “นักบุญโยเซฟเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบสำหรับเราทุกคน”

    หลังจากเทศน์เสร็จ บิดาคนหนึ่งเดินมาหาเขา และพูดว่า “ด้วยความเคารพครับคุณพ่อ สถานการณ์ของโยเซฟ ต่างจากบรรดาคุณพ่อที่เป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างเรามาก ประการแรก ท่านเป็นนักบุญ ประการที่สอง ภรรยาของท่านปราศจากบาป ประการที่สาม บุตรของท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า ผมไม่ใช่นักบุญ ภรรยาของผมไม่ได้ปราศจากบาป และลูกชายของผมก็ไม่ใช่พระบุตรของพระเจ้า”

    พระสงฆ์คนนั้นตอบว่า “ที่คุณพูดมาก็ถูก แต่พ่อขอถามอะไรคุณสักหน่อย ภรรยาของคุณเกิดท้องขึ้นมาก่อนคุณจะแต่งงานกัน และคุณไม่รู้ว่าเธอท้องกับใครหรือเปล่า หรือลูกชายของคุณเคยหนีออกจากบ้านไปสามวัน และคุณไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนหรือเปล่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับโยเซฟ”

    ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจน แม้แต่ครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดก็ยังไม่รอดพ้นจากความทุกข์ยาก และประเด็นนี้นำเรามาสู่ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ ความทุกข์ยากไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป

    อันที่จริง ความทุกข์ยากสามารถกลายเป็นพระพรได้ ถ้าเรายอมรับความทุกข์ยากนั้นด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง และสามารถช่วยเราให้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น อย่างที่เราทำด้วยตนเองไม่ได้

    ประวัติศาสตร์ และเทววิทยาแสดงให้เราเห็นว่าบ่อยครั้งที่ความทุกข์ยากเป็นหนทางที่นำคนจำนวนมากไปหาพระเจ้า ถ้าไม่ใช่เพราะความทุกข์ยาก คนเหล่านั้นจะไม่มีวันพบพระเจ้า

    พระเจ้าไม่ทรงขจัดความทุกข์ยากให้เราเสมอไป แต่พระองค์จะประทานพละกำลังให้เรารับทนความทุกข์ยากนั้นได้เสมอ

    และพระเจ้าไม่ทรงขจัดความมืดที่ปกคลุมความเชื่อของเรา แต่พระองค์จะประทานความกล้าหาญให้เราเดินไปข้างหน้าในความมืดนั้นเสมอ

    ท้ายที่สุด พระเจ้าไม่ทรงรักษาความเจ็บช้ำในใจเราเสมอไป แต่พระเจ้าจะทรงใช้ความรู้สึกเจ็บช้ำเหล่านั้นเพื่อนำเราไปหาพระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรักเสมอ

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนเกี่ยวกับความทุกข์ยาก ซึ่งช่วยอธิบายประเด็นที่เราพยายามอธิบายนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม

    สำหรับทุกความเจ็บปวดที่เราต้องทน
    สำหรับทุกภาระ ทุกความกังวลใจ
    ทุกสิ่งล้วนมีเหตุผล

    สำหรับทุกความเศร้าที่ทำให้เราเงยหน้าไม่ขึ้น
    สำหรับน้ำตาทุกหยดที่ไหลหลั่ง
    ทุกสิ่งล้วนมีเหตุผล

    สำหรับทุกความเจ็บปวด สำหรับทุกสถานการณ์ร้าย
    สำหรับทุกคืนที่อ้างว้าง และเจ็บปวด
    ทุกสิ่งล้วนมีเหตุผล

    แต่ถ้าเราวางใจในพระเจ้าอย่างที่ควร
    ทุกสิ่งจะกลับกลายเป็นคุณสำหรับเรา
    เพราะพระองค์ทรงรู้เหตุผล

บทรำพึงที่ 2
ลูกา 2:22-40

เมื่อครบกำหนดเวลา ... ตามธรรมบัญญัติของโมเสส ... มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้า ... ต้องถวายเครื่องบูชา ... ตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ ... ขณะที่โยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ นำพระกุมารเข้ามาปฏิบัติตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ ...

    คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ลูกากล่าวถึงการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติถึงห้าครั้ง (ข้อ 22, 23, 24, 27, 39) แม้ว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” พระเยซูเจ้าก็ทรงปฏิบัติตามบทบัญญัติของมนุษย์ พระองค์เสด็จมารับสภาพมนุษย์อย่างแท้จริง และลึกล้ำถึงเพียงนี้ ... พระองค์ไม่ทรงถือว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่มีอภิสิทธิ์ พระองค์ทรงปฏิบัติตนเหมือนคนอื่น ๆ ไม่มีสิ่งใดที่ทรงแสดงออกให้แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป ... ข้าพเจ้าใช้เวลาครู่หนึ่งเพ่งพินิจความถ่อมตนอย่างไม่น่าเชื่อนี้ ซึ่งนักบุญเปาโลเรียกว่า kenosis คือ “การสละพระองค์จนหมดสิ้น” (ฟป 2:7) ...

    ข้าพเจ้าก็ไม่ควรอ้างเหตุผลเพื่อให้ตนเองได้รับข้อยกเว้น ... ไม่ควรอ้างอภิสิทธิ์ ... แต่ควรยอมรับความยากลำบากทั้งปวงที่ต้องพบเจอ และข้อจำกัดของสภาพมนุษย์อันต่ำต้อยของเรา ...

โยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็ม ... ไปที่พระวิหาร ...

    การเดินทางครั้งนี้มีนัยสำคัญ อันที่จริง นี่คือจุดสุดยอดของสองบทพระวรสาร ที่ลูกาใช้เล่าเรื่องปฐมวัยทั้งของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และของพระเยซูเจ้า แต่ลูกาจงใจนำพระเยซูเจ้าไปตามทางที่ตรงกันข้ามกับยอห์น ...

    การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ต่อเศคาริยาห์ เกิดขึ้นภายในสภาพแวดล้อมที่เป็นทางการและมีเกียรติ คือ ขณะที่เขากำลังปฏิบัติหน้าที่สมณะในพระวิหาร (ลก 1:5) แต่ยอห์น บุตรของเขา เข้าไปอยู่ “ในถิ่นทุรกันดาร” (ลก 1:80) ... ในขณะที่การแจ้งข่าวต่อพระนางมารีย์เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ (ลก 1:26) ชื่อนาซาเร็ธ แต่พระเยซู พระบุตรของพระนางได้รับการยอมรับว่าเป็น “พระเมสสิยาห์” ในกรุงเยรูซาเล็ม นครศักดิ์สิทธิ์ – ในใจกลาง และหัวใจของนครนี้ คือในพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้า (ลก 2:27, 2:37) ...

    ดังนั้น เราจึงกำลังอ่านหน้าสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม!

    สามีภรรยาหนุ่มสาวชาวยิว “ปฏิบัติ” ตามธรรมเนียมของโมเสส การถวายนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าธรรมบัญญัติของโมเสสจบลงแล้ว พระวิหารจะไม่จำเป็นอีกต่อไป และอาจถึงกับถูกทำลายได้ (ลก 19:44) ... พระเจ้าเสด็จมาแทนที่พระวิหารนี้ นี่คือ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ากลับมาอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์” ดังที่ประกาศกมาลาคี ประกาศไว้ (มลค 3:1-4) ...

    แต่การเสด็จมาของพระเจ้าก็น่าแปลกใจ และเกินความคาดหมาย ... พระองค์ไม่เคยเสด็จมาในลักษณะที่มนุษย์คาดหมายเลย ...

ชายผู้หนึ่งชื่อสิเมโอน เป็นคนชอบธรรม และยำเกรงพระเจ้า ... หญิงคนหนึ่งชื่ออันนา ... เป็นหม้าย เวลานี้อายุ 84 ปี ... อยู่รับใช้พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน โดยจำศีลอดอาหาร และอธิษฐานภาวนา ...

    เหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของลูกา น่าประหลาดใจ – แต่ไม่ใช่ความบังเอิญ – เมื่อผู้ที่ยอมรับพระเยซูเจ้าไม่ใช่ผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ คือ สมณะและธรรมาจารย์ – แต่เป็นประชาชนที่ยากจนและไม่มีใครรู้จัก! ประชาชนทั้งหลายที่เป็น “คนยากจนที่พระเจ้าทรงรัก” มาพบองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาแล้ว โดยมี “คนธรรมดา” สองคนนี้เป็นตัวแทน ... ข้อความในหน้านี้บอกเล่าพระวรสารทั้งฉบับ ... พระคัมภีร์ประกาศไว้ว่า “เราจะเหลือเพียงประชากรที่ถ่อมตน และต่ำต้อยไว้ในเจ้า” ... “ผู้รอดชีวิตจำนวนน้อย” (ศฟย 3:12; อสย 16:14, 30:17, 37:4; ยรม 6:9; ยอล 3:5) ...

    สิเมโอน และอันนา เป็นตัวแทนของคนยากจน ทั้งสองคน “ชราแล้ว” – บุคคลประเภทนี้เป็นผู้ที่สังคมลืม และไม่เคารพ (บสร 3:13) นอกจากนี้ อันนายังเป็น “หญิงหม้าย” ซึ่งตามพระคัมภีร์ถือว่าเป็นตัวแทนของความยากไร้ เพราะนางได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้นางมีที่ยืนในสังคม เพราะสามีของนางผู้เดียวมีสิทธิตามกฎหมายในสินทรัพย์เหล่านั้น
    พระเจ้าข้า โปรดทรงบันดาลให้จิตใจของข้าพเจ้ายากไร้อย่างแท้จริง เพื่อให้เราสามารถจำพระองค์ได้ เมื่อทรงซ่อนพระองค์ไว้ภายใต้รูปลักษณ์ที่ยากไร้ ...

สิเมโอนรับพระกุมารมาอุ้มไว้ และกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้า ... พระคริสตเจ้าขององค์พระผู้เป็นเจ้า ... องค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ เป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นพระสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล ประชากรของพระองค์

    พระเจ้าผู้เหนือความคาดหมาย และน่าประหลาดใจ! เราคาดหมายว่าจะเห็นอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ – แต่ที่เราเห็นกลับเป็นทารกคนหนึ่ง ทารกที่ร้องไห้ ไม่สามารถยืนได้เอง และต้องให้ผู้อื่นอุ้ม!

    มีเพียงบุคคลที่ยอมให้พระจิตเจ้า (ซึ่งลูกาเอ่ยถึงสามครั้ง – ลก 2:25, 26, 27) เปิดตาของเขาด้วยความเชื่อเท่านั้นที่สามารถเห็นการประทับอยู่ของพระเจ้าที่ผู้อื่นมองไม่เห็น ... เพื่อให้มองเห็นพระองค์ เราต้องเป็นคนยากจน ... ความเชื่อเป็นความยากจนอย่างหนึ่ง ทำให้เราเห็นทั้งที่มองไม่เห็น (ยน 20:29) ...

    แต่กระนั้น ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ขัดแย้งกันของทารกน้อยนี้ (ทำให้เราคิดถึง “รูปลักษณ์” ของขนมปังที่เรารับ) นี่คือการมอบอำนาจให้แก่พระเยซูเจ้าอย่างเป็นทางการในพระวิหารของพระองค์ บุคคลยากจนสองคนถวายสมญาอันน่าตื่นตาตื่นใจแก่พระองค์ พระเยซูเจ้าภายใต้รูปลักษณ์ของทารกน้อย แท้จริงแล้วคือ “พระเมสสิยาห์ของพระเจ้า” ทรงเป็น “ความรอดพ้นสำหรับมนุษย์ทุกคน” ... ทรงเป็น “แสงสว่าง” ... “พระสิริรุ่งโรจน์” ... “ความรอดพ้น” ของกรุงเยรูซาเล็ม ... พระเจ้าข้า โปรดประทานความเชื่อแก่เราเถิด ...

โยเซฟประหลาดใจในถ้อยคำที่กล่าวถึงพระกุมาร พระนางมารีย์ก็ทรงรู้สึกเช่นเดียวกัน

    นี่คือการยอมรับว่าความเชื่อของผู้เป็นบิดามารดาของพระองค์กำลังพัฒนาขึ้น

    แต่ไม่ว่าความเชื่อของท่านทั้งสองจะมากมายเท่าไร ทั้งพระนางมารีย์ และโยเซฟ ก็ยังพิศวงใจกับสมญาต่าง ๆ ที่บุตรของตนได้รับ เหตุการณ์นี้ท้าทายความเชื่อของท่านทั้งสอง ... ในพระวิหารเดียวกันนี้อีก 12 ปีต่อมา ท่านทั้งสองก็จะไม่เข้าใจเช่นกัน (ลก 2:48-50) และจะยังสงสัย ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงทำให้เราประหลาดใจเถิด เราวิงวอนพระองค์ ...

โยเซฟ และพระนางมารีย์ นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็ม “เพื่อถวายแด่พระเจ้า” และถวายเครื่องบูชาตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ

    ลูกาใช้ถ้อยคำเหล่านี้อธิบายพิธีที่สามีภรรยาคู่นี้ได้กระทำ คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้คือ parastenai แปลว่า “ถวาย” เป็นคำเดียวกันกับที่เปาโลใช้ เมื่อเขากล่าวถึงทัศนคติพื้นฐานของคริสตชน เราต้องไม่ลืมว่าลูกาเป็นเลขานุการของเปาโล และจดหมายของเปาโลเขียนขึ้นก่อนพระวรสาร ดังนั้น ลูกาจึงใช้ถ้อยคำที่มีนัยสำคัญอย่างจงใจ ... “อย่ามอบร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดให้แก่บาป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำความชั่ว แต่จงถวายตัวของท่านแด่พระเจ้าดุจดังคนที่กลับคืนชีพจากความตายมามีชีวิตใหม่” (รม 6:13) ... “บัดนี้ ท่านจงมอบร่างกายให้เป็นทาสของความชอบธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (รม 6:19) ... “จงถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตที่ศักดิ์สิทธ์ และเป็นที่พอพระทัยแด่พระเจ้า นี่เป็นคารวกิจด้วยจิตใจของท่าน” (รม 12:1) ...

    ดังนั้น พระนางมารีย์ และโยเซฟ จึงมาที่พระวิหารเพื่อทำพิธีที่พระเยซูเจ้าเองจะทรงกระทำระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และบนไม้กางเขน – และพิธีที่คริสตชนทุกคนได้รับเชิญให้กระทำในพิธีมิสซาทุกครั้ง คือ ถวายชีวิตของตน! “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่าน” ... พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถวายชีวิตของข้าพเจ้าด้วยความรักในความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์!

    ลูกาอธิบายเหตุผลของ “การถวาย” นี้ โดยอ้างถึงพระคัมภีร์ เพื่อชี้ให้เห็นมิติของปัสกาในคำบอกเล่านี้ “ท่านต้องถวายบุตรชายทุกคนที่คลอดเป็นคนแรกแด่พระยาห์เวห์” (อพย 13:2, 12, 15) ... เราคงจำได้ว่าพิธีนี้มีต้นกำเนิดอย่างไร เมื่อชาวอิสราเอลยังเป็นทาสในอียิปต์ ฟาโรห์ไม่ยอมรับการปลดปล่อยในวันปัสกา จนกระทั่งพระองค์เห็นบุตรหัวปีทุกคนในอียิปต์เสียชีวิต เลือดของ “ลูกแกะปัสกา” ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาและทาไว้ที่กรอบประตูบ้าน เป็นเครื่องหมายระบุว่าบ้านใดเป็นบ้านของชาวฮีบรู ดังนั้น เพื่อเตือนให้ระลึกถึงวันแห่งการไถ่กู้และปลดปล่อย จึงต้องถวายบุตรหัวปีทุกคนในอิสราเอลแด่พระเจ้า เพราะเขาเป็นของพระองค์ และก่อนจะนำเขากลับไปบ้านได้ เขาต้องได้รับการ “ไถ่กู้” นี่คือสัญลักษณ์พิเศษที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นของพระเจ้า ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องถวายแด่พระเจ้า ...

    สำหรับพระเยซูเจ้า พระองค์ถูกยกถวายอย่างสมบูรณ์

    นอกจากนี้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นใน “วันที่ 40” ซึ่งเป็นวันครบกำหนด เป็นช่วงเวลาแห่งความสมบูรณ์ ... เทศกาลปัสกาจะสิ้นสุดใน “วันที่ 40” เช่นกัน และการสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์จะเป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่าตั้งแต่นี้ไป องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ จะไม่ประทับอยู่ในลักษณะที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสของเรา เรื่องราวของพระวรสารทั้งฉบับสรุปไว้ในข้อความในหน้านี้แล้ว ... และอีกเหตุการณ์หนึ่งในวันปัสกาก็จะเกิดขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็มเช่นกัน (ลก 24:47-52) ...

    ศีลล้างบาปของข้าพเจ้าคือการถวายตัวข้าพเจ้าแด่พระเจ้า ... การถวายนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับข้าพเจ้า ...

เครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่ หรือนกพิราบสองตัว

    เราสังเกตเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่าลูกาไม่แต่งเติม และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเลยแม้แต่น้อย เห็นได้ชัดว่าคำบอกเล่าของเขาบรรยายธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิว ซึ่งเป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย และเราไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจะได้รับการยกเว้นจากธรรมเนียมเหล่านี้ ... แต่สำหรับลูกา เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้มีความหมายทางเทววิทยาอย่างชัดเจน ...

    ดังนั้น ขอให้เรายอมรับมุมมองของผู้บอกเล่าเถิด และอ่านข้อความเต็ม ๆ ในพระคัมภีร์ ที่ลูกาอ้างถึง “ถ้า (หญิงที่คลอดบุตร) ไม่สามารถจัดหาลูกแกะได้ นางจะต้องนำนกเขา หรือนกพิราบหนุ่มสองตัวมาถวาย” (ลนต 12:8) แล้วเราก็รู้ความจริงว่านี่คือเครื่องบูชาของคนจน พระนางมารีย์ไม่สามารถหาอะไรที่ดีกว่านี้มาถวายได้ พระนางไม่มีเงินจะซื้อเครื่องบูชาราคาแพงกว่านี้ได้ ... นี่คือสิ่งที่ลูกาพยายามบอกเรา ถ้าเรารู้จักอ่านความหมายที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ เราจะรู้ว่าพระวรสารของลูกา เป็น “ข่าวดีสำหรับคนยากจน” (ลก 4:18) ...

    ขอให้เรากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งเถิด คำบอกเล่าเกี่ยวกับธรรมเนียมชาวยิวนี้เป็นข้อสรุปของพระวรสารทั้งฉบับ ... ผู้ที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของเขา

    การถวายตัวแด่พระเจ้าไม่ต้องมีเครื่องหมายที่หรูหราลานตา คนยากจนทุกคนในโลกที่แต่งกายซอมซ่อก็มีค่าสำหรับพระเจ้า ... ข้าพเจ้าเคารพเขาหรือไม่ ...

“พระเจ้าทรงกำหนดให้กุมารนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลงหรือลุกขึ้น และเป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน ...”

    พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นเครื่องหมาย ... เครื่องหมายที่มนุษย์อาจปฏิเสธ ...

    พระเจ้าไม่ทรงต้องการบีบบังคับใคร พระองค์ทรงยอมรับว่า “เครื่องหมายแห่งความรัก” ของพระองค์อาจถูกปฏิเสธ ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตนเองเมื่อพิจารณา “กรณีของพระเยซูเจ้า” กล่าวคือ พระองค์อาจถูกปฏิเสธ – ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสีย และการล้มลง ... พระองค์อาจได้รับการต้อนรับ – และนี่คือความรอดพ้น หรือการลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ในหน้านี้ เราได้เห็น “ผู้พิพากษาโลก” ผู้เสด็จมาแยกมนุษย์ออกเป็นสองกลุ่มเมื่อถึงอวสานกาล (มธ 25:32) ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้ลุกขึ้นเถิด โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้เลือกพระองค์ ...

เมื่อโยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าที่กำหนดไว้สำเร็จทุกประการแล้วก็กลับไปที่นาซาเร็ธ เมืองของตนในแคว้นกาลิลี พระกุมารทรงเจริญวัยแข็งแรงขึ้น ทรงพระปรีชาญาณอย่างสมบูรณ์ ...

    การเดินทางไปยังเมืองหลวงสิ้นสุดลงแล้ว ... พวกเขากลับไปยังแคว้นที่ไม่มีใครรู้จัก ... นับแต่นี้ไป พระเจ้าจะดำเนินชีวิตในห้องทำงานของช่างไม้ และในบ้าน ...

    พระเยซูเจ้าจะค่อย ๆ เรียนรู้การดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์คนหนึ่ง พระองค์จะเรียนรู้ที่จะยิ้ม หัดเดิน พระองค์จะทรงหัดอ่าน หัดเขียน พระองค์จะเรียนรู้ทักษะของการเป็นช่างไม้ ... พระองค์จะเรียนรู้ และก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ...