วันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า
กันดารวิถี 6:22-27; กาลาเทีย 4:4-7; ลูกา 2:16-21
บทรำพึงที่ 1
พระพรของพระเจ้า
เราถวายพรแด่พระเจ้าด้วยการแบ่งปันพระพรที่เราได้รับจากพระเจ้ากับผู้อื่น
เมื่อปี ค.ศ. 1979 ขณะที่นักโบราณคดีกำลังขุดแหล่งโบราณคดี นอกกรุงเยรูซาเล็ม เขาขุดพบถ้ำหนึ่งที่เต็มไปด้วยไห ตะเกียงน้ำมัน และเครื่องประดับ เขาพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าวัตถุเหล่านี้ถูกนำไปใส่ไว้ในถ้ำตั้งแต่เมื่อ 600 ปี ก่อนพระเยซูเจ้าประสูติ
เครื่องประดับชิ้นหนึ่งดึงดูดความสนใจของพวกเขาโดยเฉพาะ วัตถุชิ้นนี้ทำด้วยเงินที่ม้วนไว้ ขนาดเท่ากับนิ้วก้อยของเด็ก มีรูที่ใช้สอดเชือกอยู่ตรงกลางซึ่งทำให้เขารู้ว่าชาวอิสราเอลบางคนเคยสวมเครื่องประดับชิ้นนี้รอบคอของเขา
เมื่อนักวิชาการชาวยิวแปลข้อความบนม้วนเงินนั้น เขาแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง ข้อความนั้นเป็นคำอวยพรที่พระเจ้าประทานแก่โมเสส และเป็นคำอวยพรที่บิดาของเขาเคยใช้อวยพรเขาเมื่อเขาเป็นเด็ก คำอวยพรนี้ยังใช้อวยพรกันจนถึงทุกวันนี้ในศาลาธรรม และในวัดทั่วโลก เราได้ยินคำอวยพรนี้ในบทอ่านที่หนึ่งประจำวันนี้
“ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่าน และพิทักษ์รักษาท่าน
ขอพระเจ้าทรงสำแดงพระพักตร์แจ่มใสต่อท่าน และโปรดปรานท่าน
ขอพระเจ้าทรงผินพระพักตร์มายังท่าน และประทานสันติแก่ท่านด้วยเทอญ”
(กดว 6:24-26)
คำอวยพรเหล่านี้เหมาะสมกับบทอ่านพระวรสารวันนี้มาก เพราะโยเซฟคงอวยพรพระเยซูเจ้าด้วยข้อความเหล่านี้ขณะที่พระองค์บรรทมอยู่ในรางหญ้า และขณะที่เขาอุ้มพระองค์ไว้ในอ้อมแขนก่อนจะตั้งชื่อให้พระองค์
ในวันฉลองพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นวันที่เราถวายเกียรติแก่สตรีคนหนึ่งที่ได้รับขนานนามว่า “ผู้ได้รับพระพร” ยิ่งกว่าหญิงใด ๆ ขอให้เราพิจารณาว่าพระคัมภีร์พูดถึงคำว่า “พระพร” อย่างไร
พระพรที่พระคัมภีร์กล่าวถึงมีอยู่สี่ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง พระคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าประทานพระพรแก่มนุษย์ พระองค์ทรงอวยพรอาดัม และเอวา ว่า “จงมีลูกมาก” (ปฐก 1:28) จุดประสงค์ของพระพรนี้ก็คือเพื่อมอบอำนาจพิเศษแก่เขา คือ อำนาจที่จะแพร่พันธุ์
ประเภทที่สอง พระคัมภีร์กล่าวว่ามนุษย์ถวายพรแด่พระเจ้า ดังนี้ เปาโลจึงบอกชาวเอเฟซัส ว่า “ขอถวายพรแด่พระเจ้า – พระองค์ทรงอวยพรแก่เรา...” (อฟ 1:3) จุดประสงค์ของการถวายพรนี้คือเพื่อขอบพระคุณ และสรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานแก่เราทั้งที่เราไม่สมควรได้รับเลย
ประการที่สาม พระคัมภีร์กล่าวว่ามนุษย์อวยพรมนุษย์ด้วยกัน ดังที่อิสอัคอวยพรบุตรชายของเขา (ปฐก 27:27) จุดประสงค์ของการอวยพรนี้คือเพื่อขอให้พระเจ้าประทานบางสิ่งเป็นพิเศษแก่บุตรชายของเขา
ประการสุดท้าย พระคัมภีร์กล่าวว่ามนุษย์อวยพรสิ่งของ ดังที่พระเยซูเจ้าเองทรงอวยพรขนมปัง (ลก 9:16) จุดประสงค์ของการอวยพรนี้คือเพื่อให้ขนมปังนั้นศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ศิษย์ทั้งหลายของพระองค์
สรุปได้ว่าเมื่อพระเจ้าประทานพระพรแก่เรา พระองค์ทรงต้องการประทานสิ่งที่พิเศษแก่เรา เมื่อเราถวายพรแด่พระเจ้า เราทำไปเพื่อขอบพระคุณ และสรรเสริญพระเจ้าสำหรับของขวัญพิเศษบางอย่างที่เราได้รับ ทั้งที่เราไม่สมควรได้รับ
ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราได้ข้อสรุปสองข้อ
ข้อแรก ขณะที่เราผ่านพ้นปีเก่า เราควรขอบพระคุณพระเจ้าที่พระองค์ประทานพระพรต่าง ๆ แก่เราระหว่างปีที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึงความกตัญญู เฮนรี่ วอร์ด บีเชอร์ เปรียบเทียบไว้ดังนี้ สมมุติว่าใครบางคนยื่นจานใบหนึ่งให้คุณ ในจานนั้นมีทรายผสมกับผงเหล็ก คุณมองหาผงเหล็ก แต่ก็มองไม่เห็น คุณใช้นิ้วมือคลำหาผงเหล็ก แต่คุณก็ไม่รู้สึกว่าคุณสัมผัสกับผงเหล็ก
แต่เมื่อคุณนำแม่เหล็กเล็ก ๆ มา และกวาดแม่เหล็กนั้นผ่านทรายในจาน แม่เหล็กจะดูดผงเหล็กขึ้นมาทันที
บีเชอร์บอกว่า คนเนรคุณก็เหมือนกับนิ้วมือที่คลำหาผงเหล็ก คนเช่นนี้มองไม่เห็นว่ามีอะไรในชีวิตที่เขาควรขอบพระคุณพระเจ้า ส่วนคนที่กตัญญูรู้คุณก็เหมือนกับแม่เหล็กที่กวาดไปบนทราย คนเช่นนั้นจะพบหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เขารู้สึกอยากขอบพระคุณพระเจ้า
บิล รอดเจอร์ส เป็นนักวิ่งมาราธอนชื่อดัง เขาเป็นผู้ต่อต้านการทำสงครามเวียดนาม ดังนั้น แทนที่จะถูกส่งไปเป็นทหาร เขาจึงได้รับมอบหมายให้ทำงานฝ่ายพลเรือน เขาถูกส่งตัวไปทำงานในบ้านสงเคราะห์ชายปัญญาอ่อน หนึ่งในคนเหล่านี้ชื่อโจ ชายปัญญาอ่อนคนนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของบิลอย่างลึกซึ้ง รอดเจอร์ส บอกว่า
“ทุกครั้งที่ผมเห็นโจ เขาดูเหมือนจะมีรอยยิ้มที่ต้อนรับคุณเข้าไปในโลกของเขา ... การแสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ กับเขา หรือวัตถุสิ่งของเล็กน้อยที่สุด ก็ทำให้เขาเต็มเปี่ยมด้วยความกตัญญู โจหาเหตุผลที่จะรู้สึกกตัญญูรู้คุณได้ แม้แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด”
โจเหมือนกับแม่เหล็กที่กวาดไปบนทราย – เขาพบสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เขาอยากขอบพระคุณพระเจ้า
ข้อสรุปที่สอง นอกจากจะใคร่ครวญถึงพระพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระเจ้าระหว่างปีที่ผ่านมาแล้ว เราควรคิดว่าเราจะแบ่งปันพระพรบางอย่างที่เราได้รับมากับผู้อื่นอย่างไรระหว่างปีใหม่นี้ นี่คือวิธีที่เราจะถวายพรแด่พระเจ้าที่พระองค์ประทานพระพรแก่เรา ผมขออธิบายด้วยตัวอย่างต่อไปนี้
เมื่อวันขอบพระคุณพระเจ้าในปี 1985 นักเขียนการ์ตูน 175 คน มารวมพลังกันเพื่อมอบสารเดียวกันสำหรับวันขอบคุณพระเจ้าให้แก่ผู้อ่านชาวอเมริกัน 90 ล้านคน สารนั้นคือ “ขณะที่คนในอเมริกามีทุกสิ่งทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ ยังมีคนอื่น ๆ ในโลกที่ขัดสนมาก”
การ์ตูนเรื่อง Peanuts สื่อสารนี้ได้ตรงกับวัตถุประสงค์มาก โดยเสนอภาพให้ไลนัสถาม ชาร์ลี บราวน์ ว่าเขาจะฉลองวันขอบคุณพระเจ้าด้วยอาหารค่ำมื้อใหญ่หรือเปล่า ชาร์ลีตอบอย่างไม่ตื่นเต้นว่า “คงงั้นมั้ง แต่ฉันไม่ค่อยคิดมากเรื่องอาหาร”
สนูปปี้ได้ยินเขาพูด และมองดูที่จานว่างเปล่าของตนเอง และพูดว่า “เขาจะคิดถึงเรื่องอาหารมาก ๆ ถ้าจานของเขาว่างเปล่าเหมือนจานของฉัน”
สารที่การ์ตูน Peanuts ต้องการสื่อนั้นชัดเจน คือ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดรองจากการมีอาหารไม่พอกิน ก็คือการมีอาหารอย่างเหลือเฟือ เพราะทำให้เราไม่ยินดียินร้ายกับผู้ที่หิวโหย และไม่รู้สึกว่าอยากขอบพระคุณพระเจ้าผู้ประทานสิ่งต่าง ๆ มากมายแก่เรา
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา
ข้าแต่พระเจ้า พระบิดาของเรา
ในวันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้านี้
โปรดทรงดลใจให้เราเข้าใจคุณค่าของพระพรมากมาย
ที่พระองค์ได้ประทานแก่เราระหว่างปีที่ผ่านมา
โปรดทรงช่วยเราให้ถวายพรแด่พระองค์เป็นการตอบแทน
ระหว่างปีใหม่นี้
ด้วยการแบ่งปันบางสิ่งที่เราได้รับจากพระองค์กับผู้อื่น
ที่ขัดสนกว่าเรามาก
บทรำพึงที่ 2
ลูกา 2:16-21
แปดวันหลังจากวันพระคริสตสมภพ ในวันที่ 1 มกราคม – เมื่อเราอวยพรกันและกันให้มีความสุขในวันขึ้นปีใหม่ – พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระนางมารีย์ “พระชนนีพระเป็นเจ้า” และต้องการให้เราก้าวเข้าสู่ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าให้ลึกยิ่งขึ้น ... เพราะทุกครั้งที่กล่าวถึงพระนางมารีย์ พระศาสนจักรต้องการบอกบางสิ่งบางอย่างให้เรารู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
เราตระหนักหรือไม่ว่าคำยืนยันของเรามีความหมายลึกล้ำอย่างไรเมื่อเราพูดว่า “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า” ในบทวันทามารีย์ ... “สิ่งสร้าง” หนึ่งจะเป็น “มารดา” ของพระเจ้าได้อย่างไร เป็นไปได้หรือที่พระเจ้าจะ “มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” ดังที่นักบุญเปาโลบอกเราในบทอ่านที่สองของวันฉลองนี้ (กท 4:4)
(คนเลี้ยงแกะ) จึงรีบไป (ที่เบธเลเฮม) และพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ...
คนเลี้ยงแกะซื่อ ๆ เหล่านี้กำลังเลี้ยงแกะบนเนินเขารอบเมืองเบธเลเฮม พวกเขารีบไปพิสูจน์ว่าสารที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่เขาเป็นความจริงหรือไม่ “พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” เขา “รีบ” ไปหาเด็กที่ทูตสวรรค์ระบุสมญาอันยิ่งใหญ่ถึงสามชื่อคือ “พระผู้ไถ่ ... พระคริสต์ ... องค์พระผู้เป็นเจ้า” ...
ที่น่าแปลกใจก็คือ ผู้นิพนธ์พระวรสารดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญแก่ทารกนี้เลย เขาเอ่ยถึงพระองค์เป็นคนสุดท้าย และถึงกับเอ่ยถึงโยเซฟเป็นคนที่สอง ... ในสมัยนั้น สตรีไม่มีค่าตามกฎหมาย “เขาเห็นพระนางมารีย์” นี่คือทรรศนะที่ปฏิวัติความคิดทั้งด้านเทววิทยา และความคิดของมนุษย์
พระนางมารีย์! พระศาสนจักรนิยามตำแหน่ง “พระชนนีพระเป็นเจ้า” ของพระนางเพียงใน ค.ศ. 431 โดยสภาสังคายนาที่เอเฟซัส แต่คริสตชนทั่วไปกล้าเรียกพระนางมาตั้งแต่แรกแล้วว่า theo-tokos หรือพระชนนีพระเป็นเจ้า และเมื่อคณะพระสังฆราชในยุคนั้นยอมรับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ คนทั้งเมืองเอเฟซัส เฉลิมฉลองโอกาสนี้ด้วยการจัดขบวนแห่คบเพลิงไปตามถนน …
ความเชื่อที่นักเทววิทยาต้องสืบค้นด้วยสติปัญญาเป็นเวลา 4 ศตวรรษนี้ ประชาชนที่ฟังพระวรสารด้วยใจซื่อได้รับไว้ในชีวิตของเขาโดยไม่ต้องคิดมานานแล้ว สภาสังคายนามีบทบาทเพียงอธิบายด้วยภาษาวิชาการที่กระชับ และมีเหตุมีผล ตามถ้อยคำที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เสนอไว้ อันที่จริง ต้องใช้เวลาอีกกว่า 20 ปี สภาสังคายนาคาลซีคอน (ปี 451) จึงสามารถปรับแต่งคำอธิบายธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าให้สมบูรณ์ได้ ... นี่คือข้อความคำสอนที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสภาสังคายนา “ดังนั้น โดยยึดถือตามคำสั่งสอนของปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เราจึงสั่งสอนอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าพระบุตร คือพระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทรงเป็นพระองค์หนึ่งและพระองค์เดียวกัน ทรงมีพระเทวภาพเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ประกอบด้วยวิญญาณที่รู้จักเหตุผล และร่างกาย ทรงร่วมสภาวะเดียวกับพระบิดาในพระเทวภาพ และทรงร่วมสภาวะเดียวกันกับเราในความเป็นมนุษย์ ‘ทรงเหมือนกับเราทุกอย่าง ยกเว้นบาป’ (ฮีบรู 4:15) ทรงบังเกิดจากพระบิดาในพระเทวภาพของพระองค์ก่อนกาลเวลา ทรงบังเกิดในกาลเวลาเพื่อเรา และเพื่อความรอดพ้นของเราจากพระนางมารีย์พรหมจารี พระชนนีพระเป็นเจ้า ในมนุษยภาพของพระองค์ ... เราประกาศยืนยันว่ามีพระคริสตเจ้าหนึ่งเดียว ทรงเป็นพระบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียว ทรงมีสองพระธรรมชาติที่ไม่ปะปนกัน ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่อาจแบ่ง และไม่อาจแยกออกจากกันได้”
นี่คือบัตรประจำตัวที่ชัดเจน และน่าพิศวงของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ และของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ ...
... และพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า
หลังจากได้ยินคำนิยามต่าง ๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเราแล้ว เราต้องกลับไปพิจารณาข้อความนี้อีกครั้ง ... เราเห็นหนึ่งในสองลักษณะอันเป็นแก่นแท้ของพระเยซูเจ้า คือความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงของพระองค์ ...
คนเลี้ยงแกะคาดหมายว่าจะพบ “พระผู้ไถ่ ... พระคริสต์ ... องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) แต่เขาพบเพียงเท่านี้ ... ทารกคนหนึ่งในคอกสัตว์ กำลังนอนหลับอยู่ในรางที่ใช้ใส่อาหารเลี้ยงสัตว์ ... ทารกบนฟาง ...
ตั้งแต่แรก พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ว่าพระองค์ทรงต่างจากที่เราคาดหมายให้พระองค์เป็น ... พระองค์ทรงเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงมาตั้งแต่แรก จนหลายคนจำพระองค์ไม่ได้ เพราะทรงซ่อนพระองค์อย่างมิดชิดท่ามกลางมนุษยชาติ ...
พันธสัญญาใหม่บอกเราตั้งแต่ต้นด้วยถ้อยคำง่าย ๆ ว่าพันธสัญญาระหว่างพระเจ้า และมนุษย์ที่กล่าวถึงในพันธสัญญาเดิมจะดำเนินไปไกลแค่ไหน กล่าวคือ ไปไกลจนถึง “เอกภาพที่ไม่อาจแยกจากกันได้” เอกภาพที่ปราศจากการปะปน ปราศจากการแบ่ง และไม่อาจแยกออกจากกันได้ ...
ในการเผยแสดงนี้มีเมล็ดพันธุ์ของทัศนคติทางศาสนาอันลึกซึ้ง นั่นคือ เราไม่สามารถดูแคลนวัตถุ หรือร่างกายได้อีกต่อไป นับตั้งแต่วันที่พระเจ้า “รับธรรมชาติมนุษย์ในครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี” ... ไม่มีสิ่งใดที่เป็นแต่เพียงเรื่องทางโลกอีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ เป็นทั้งมนุษย์อย่างสมบูรณ์ และเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การเติบโตนานเก้าเดือนในครรภ์ของมารดาคนหนึ่ง การเกิด การนอนหลับ การกิน และการดื่ม การหัดเดิน การอ่านหนังสือ การเล่นกับเพื่อน ๆ การพูดในที่สาธารณะ การรักษาผู้ป่วย การตื่นแต่เช้าเพื่ออธิษฐานภาวนา การทนรับความเจ็บปวดทรมาน และการตาย ... ทั้งหมดนี้คือความเป็นจริงของมนุษย์ ... แต่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระเจ้าเคยเสด็จมารับสภาพความเป็นจริงเหล่านี้ ...
และพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า ก็เป็นเสมือนผู้ค้ำประกันความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ระหว่างพระเจ้า และมนุษย์ในตัวของพระเยซูเจ้า ...
เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร
เรื่องที่เขาได้ยินมาก็คือ “พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” ถ้าจะพูดกันตามตรง คนเลี้ยงแกะเหล่านี้นำสารของเขามาแจ้ง คือเรื่องที่เขาได้ยินมา ...
จิตรกรทุกยุคสมัยตีความพระวรสารตอนนี้ออกมาเป็นภาพ “การนมัสการของคนเลี้ยงแกะ” ... ในความเป็นจริง คนเลี้ยงแกะ “กำลังเทศน์สอน” แก่พระนางมารีย์ เขากำลังประกาศ “พระวรสาร – ข่าวดี” ที่เขาได้ยินมา
ในประโยคนี้ เราได้เห็นด้านที่สองของพระเยซูเจ้า คือพระเทวภาพแท้ของพระองค์ “เรื่องของเด็กคนนี้ ทูตสวรรค์บอกเราว่าเขาคือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” ... นี่คือการประกาศยืนยันความเชื่อแล้ว ... และ “การนมัสการ” เป็นขั้นต่อมา ดังนั้น จิตรกรทั้งหลาย และภาพวาดของเขา จึงไม่ผิดจากความเป็นจริง ...
ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่
จากข้อความนี้ ลูกาชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างทัศนคติของคนทั่วไป และทัศนคติของพระนางมารีย์ ... ลูกาย้ำโดยเฉพาะเรื่องทัศนคติของพระนาง พระนางไม่เพียงประหลาดใจ แต่ “ยังทรงคำนึงถึงอยู่” พระนางไตร่ตรอง ... แม้ว่าพระนางไม่ได้เข้าใจธรรมล้ำลึกที่กำลังเกิดขึ้นกับพระนาง มากไปกว่าที่คนเลี้ยงแกะเข้าใจ แต่พระนางก็ยังกล่าวย้ำคำตอบตกลงด้วยความเชื่อในส่วนลึกของหัวใจของพระนาง เบื้องหน้าเหตุการณ์อันไม่คาดหมายเกี่ยวกับพระกุมารนี้
ลูกาชี้ให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของพระนางมารีย์ให้เราเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า
คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยิน และได้เห็นตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
เรามักอยากจะลดคุณค่าธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าด้วยการทำให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เราพยายามทำให้พระเยซูเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา โดยมองว่าพระองค์ทรงเป็นเพียงมนุษย์อัจฉริยะคนหนึ่ง – หรือเราพยายามมองแต่ด้านจิตวิญญาณโดยไม่ยอมเห็นว่า พระองค์มีความอ่อนแอตามธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ ...
แต่ด้วยความซื่อ คนเลี้ยงแกะจึง “เห็น และได้ยิน” อย่างถูกต้อง เขาเห็นความเป็นมนุษย์ที่ธรรมดาที่สุด และได้ยินข่าวที่ไม่ธรรมดาที่สุด และเขาพอใจที่จะเห็นในระดับรูปลักษณ์ภายนอก เขา “ถวายพร และสรรเสริญ” พระเจ้า ...
เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู ...
พระกุมารแห่งเบธเลเฮม ทรงเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งอย่างแท้จริง ทรงปฏิบัติตามธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณี พระองค์ทรงเป็นทารกเพศชาย ซึ่งต้องทำเครื่องหมายบนร่างกายเหมือนกับประชากรเพศชายทุกคน
พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างแท้จริง ซึ่งเราต้องยอมรับ และยืนยัน ...
แต่นามที่เขาตั้งให้ทารกน้อยนี้เป็นเหตุให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ว่าพระองค์เป็นใคร ทำไมสวรรค์จึงเจาะจงให้เรียกพระองค์ว่าเยซู หรือเยโฮชูวา แปลว่าพระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น ... ทำไม ...
เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา
สำหรับลูกา การถวายพระนามเป็นอีกโอกาสหนึ่งให้เขาเน้นย้ำความสำคัญของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ได้รับแจ้งชื่อพระบุตรของพระนางตั้งแต่ “ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา” ...
ตามธรรมประเพณีที่สืบทอดมายาวนานในพระศาสนจักร สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้เสนอว่าพระนางมารีย์ทรงเป็น “ต้นแบบของพระศาสนจักร” ทรงเป็น “คนแรกในบรรดาผู้มีความเชื่อ” ... จากพระวรสารตอนนี้ เราตระหนักว่าพระนางทรงเป็นบุคคลแรกที่ต้อนรับพระวจนาตถ์ของพระเจ้า และรำพึงถึงเรื่องนี้อยู่ในพระทัย ... และพระนางทรงเป็นคนแรกที่ประกาศยืนยันความเชื่อข้อนี้ คือ พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น ...
ในวันแรกของปีใหม่นี้ พระนางมารีย์ทรงเตือนเราให้ระลึกถึงสิ่งใหม่ ๆ ในคริสตศาสนา สิ่งที่เป็นต้นตำรับในความเชื่อของคริสตชนก็คือคริสตชนไม่ได้เชื่อแต่ในพระเจ้าเท่านั้น อันที่จริงมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะผู้ที่เป็นศาสนิกชนในศาสนาใหญ่ในโลก เช่น ศาสนายูดาย อิสลาม ฮินดู และผู้ที่นับถือภูตผีวิญญาณ ...
คุณสมบัติเฉพาะตัวของคริสตชน คือ เราเชื่อว่าพระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ในตัวพระเยซูคริสตเจ้า ...
ความศรัทธาแท้ต่อพระนางมารีย์เท่านั้นที่เตือนใจเราให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกข้อนี้ ...