แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันฉลองพระคริสตเจ้าแสดงองค์
อิสยาห์ 60:1-6; เอเฟซัส 3:2-3, 5-6; มัทธิว 2:1-12

บทรำพึงที่ 1
ดวงดาวในความมืด
เราต้องอาศัย “ดวงดาว” นำทางเรา และเราสามารถเป็น “ดวงดาว” นำทางผู้อื่นได้ด้วย

    เมื่อปี 1987 ผู้สื่อข่าวสตีเวน บารี ได้เขียนเรื่องที่น่าประทับใจสำหรับเทศกาลพระคริสตสมภพ เป็นเรื่องของโทนี่ เมเลนเดส คุณอาจจำเรื่องของเขาได้ หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศเสนอเรื่องของเขา

    โทนี่เป็นชายหนุ่มจากเมืองชีโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาเกิดมาโดยไม่มีแขนทั้งสองข้าง เขามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อเขาใช้เท้าเล่นกีตาร์ถวายพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ระหว่างที่พระองค์เสด็จเยือนลอส แองเจลีส

    พระสันตะปาปา ทรงซาบซึ้งพระทัยกับความเชื่อ และความกล้าหาญของโทนี่ จนพระองค์เสด็จลงมาจากเวที และสวมกอดร่างกายที่ไร้แขนของโทนี่ และจูบเขา

    นับแต่นาทีนั้น ชีวิตของโทนี่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เขาได้รับเชิญให้ไปแสดงดนตรีให้ผู้ฟังทั่วประเทศ เขาได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ระดับชาติ และบัดนี้ เขาได้อัดเพลงของตนเอง หนังสือ Reader’s Digest เสนอประวัติย่อ ๆ ของเขาในหมวดหนังสือที่แนะนำให้อ่านในฉบับเดือนมิถุนายน 1989

    ชัยชนะของโทนี่เหนือความพิการของเขา และการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ทำให้เขากลายเป็นโฆษกของผู้พิการทั้งหลาย

    เขาบอกว่า “มันน่ากลัว น่ากลัวมาก มันทำให้ผมต้องภาวนา ผมคิดว่าพระเจ้าทรงทำเช่นนี้เพราะเหตุผลบางอย่าง พระองค์ทรงมีภารกิจพิเศษบางอย่างให้ผมทำ”

    เมื่อเราอ่านเรื่องที่บารี่รายงานเกี่ยวกับโทนี่ เราอาจถามตนเองว่าทำไมบารี่จึงเขียนเรื่องนี้ระหว่างเทศกาลพระคริสตสมภพ เมื่อคิดเรื่องนี้สักครู่ เราก็คงเริ่มมองเห็นเหตุผล เพราะเรื่องของโทนี่เป็นเรื่องของคริสต์มาส หรือจะพูดให้ถูกว่าเป็นเรื่องพระคริสตเจ้าทรงแสดงองค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราฉลองกันในวันนี้

    เรื่องของโทนี่เป็นเรื่องของบุคคลที่ส่องแสงขับไล่ความมืดในโลกของเรา เหมือนกับที่ดวงดาวแห่งเบธเลเฮมส่องแสงให้โหราจารย์ทั้งสามมองเห็นเส้นทางท่ามกลางความมืดของโลกยุคโบราณ

    ความเชื่ออันลึกล้ำ และความกล้าหาญของโทนี่ เป็นเสมือนดวงดาวแห่งเบธเลเฮมในยุคใหม่ ที่ส่องแสงให้คนทั้งหลายที่อยู่ท่ามกลางความมืดของโลกสมัยใหม่ของเรา ประชาชนถูกดึงดูดไปหาแสงสว่างจากความเชื่อของโทนี่ เหมือนกับที่โหราจารย์ถูกดึงดูดจากแสงสว่างของดวงดาว
    เรื่องของโทนี่ชี้ให้เราเห็นความจริงสำคัญข้อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าคนจำนวนมากจะพบหนทางที่นำเขาฝ่าความมืดฝ่ายจิตในโลกของเรา ไปหาพระกุมารที่นอนอยู่ในรางหญ้าได้ พวกเขาก็ต้องพึ่งความเชื่อ และแบบฉบับของคนอย่างโทนี่

    ทั้งนี้เพราะความเชื่อ และแบบฉบับของเขา เทศน์สอนได้น่าประทับใจสำหรับคนส่วนใหญ่มากกว่าการเทศน์สอนในวัด ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ได้พูดกับสติปัญญาของเราเท่านั้น แต่ยังพูดกับหัวใจของเราด้วย

    นอกจากนี้ พวกเขายังเข้าถึงคนทั้งหลายที่เลิกไปวัดแล้วด้วย ความจริงข้อนี้เชิญชวนให้เรานำเรื่องนี้มาไตร่ตรองชีวิตของเราเอง

    เราแต่ละคนในวัดนี้เป็นผู้พิการในระดับหนึ่ง เราทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราเจ็บปวด มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่อยากมี มีบางสิ่งบางอย่างที่เราอยากตัดออกไปจากชีวิตของเรา

    บางทีอาจเป็นสถานการณ์ในครอบครัวที่เจ็บปวดเหลือทน บางทีอาจเป็นสภาพร่างกาย เช่น อาการแพ้ หรือการมีร่างเตี้ย

    บางทีอาจเป็นปัญหาฝ่ายจิต เช่น เรารู้สึกว่ายากมากที่จะดำเนินชีวิตอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา บางทีเราอาจรู้สึกว่ายากที่จะสวดภาวนาอย่างที่เราอยากจะทำ

    บางทีอาจเป็นเรื่องทางวัตถุ เช่น ไม่มีเงินทองพอจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่เราอยากช่วย

    ไม่ว่าจะเป็นอะไร เราก็มีทางเลือก นั่นคือ เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะยอมแพ้ความพิการของเรา หรือเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสู้ และเอาชนะความพิการของเรา เหมือนกับโทนี่ทำได้สำเร็จ

    คริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งความหวัง พระกุมารที่นอนอยู่ในรางหญ้าทรงบอกเราว่าไม่มีสิ่งใดสามารถชนะเราได้อีกต่อไป ไม่มีความพิการใด – ไม่ว่าความพิการทางกาย หรือทางจิต – สามารถเอาชนะเราได้ พระกุมารที่นอนอยู่ในรางหญ้านั้นทำให้เราได้รับพระหรรษทานทั้งปวงที่จำเป็นสำหรับเรา เพื่อช่วยเราให้ต่อสู้ และเอาชนะความพิการของเรา

    และถ้าเราต่อสู้ และเอาชนะความพิการของเราได้ เราไม่เพียงได้รับชัยชนะเป็นส่วนตัว แต่เราจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ด้วย เราจะกลายเป็นดวงดาวแห่งเบธเลเฮมสมัยใหม่ ที่ส่องแสงให้แก่คนเดินทางบางคนที่กำลังหลงทาง เราจะกลายเป็นแสงสว่างในความมืดที่ชี้ทางไปสู่พระกุมารที่นอนอยู่ในรางหญ้า

    ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเรา และเป็นทางเลือกของเรา

    คนอย่างโทนี่สามารถสัมผัสหัวใจของเรา และเป็นแรงบันดาลใจให้เรา แต่ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลียนแบบเขาหรือไม่ ถ้าเราเลือกที่จะเลียนแบบเขา เราย่อมทำได้ ไม่มีใครหยุดยั้งเราได้
    นี่คือสารจากดวงดาวแห่งเบธเลเฮม นี่คือสารจากพระกุมารผู้นอนอยู่ในรางหญ้า เราสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราปรารถนาจะทำ ไม่มีอะไรหยุดยั้งเราได้

    สารนี้บอกว่าถ้าเราเปิดใจรับพระหรรษทานของพระเจ้า เราสามารถกลายเป็นดวงดาวสมัยใหม่ที่ส่องแสงในโลกของเรา และนำทางผู้อื่นไปยังเบธเลเฮม

    นี่คือข่าวดีที่อยู่ในเรื่องของโทนี่ นี่คือข่าวดีในบทอ่านวันนี้ นี่คือข่าวดีที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า
    โปรดทรงช่วยเราให้เปิดใจรับแสงสว่างของดวงดาวแห่งเบธเลเฮม
    โปรดทรงช่วยให้เรายอมให้แสงนี้ส่องผ่านตัวเรา
    จนทุกคนที่เราพบ ตระหนักว่าแสงนี้ไม่ใช่แสงของเรา
    แต่เป็นแสงของพระองค์ที่ส่องผ่านตัวเรา

    เมื่อนั้น เราจะสรรเสริญพระองค์
    ด้วยวิธีที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากที่สุด
    คือ ด้วยการเป็นบทเทศน์ที่มีชีวิต
    ซึ่งพูดไม่เพียงกับสติปัญญา
    แต่พูดกับหัวใจของคนทั่วไปด้วย

    เมื่อนั้น เราจะเป็นดวงดาวยุคใหม่
    ที่ชี้ทางไปสู่เบธเลเฮม

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 2:1-12

ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮม ในแคว้นยูเดีย

    นี่เป็นครั้งเดียวที่มัทธิวเอ่ยถึงการประสูติของพระคริสตเจ้า ซึ่งดูเหมือนว่าน้อยเกินไป ...

    อันที่จริง มัทธิวดูเหมือนแทบไม่สนใจเหตุการณ์นี้เลย ต่างจากลูกา แต่เขาต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจนัยสำคัญของเหตุการณ์นี้ และเขาเปิดเผยนัยสำคัญนี้ในคำบอกเล่าเรื่องโหราจารย์ ซึ่งเขาให้รายละเอียดมากมาย และถ้าเราสังเกตให้ดี เรื่องนี้เป็นเหมือนกับอารัมภบทของพระวรสารทั้งฉบับตามคำบอกเล่าของมัทธิว

ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรด ... โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออก เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด”

    มัทธิวนำสองตำแหน่งมาเทียบเคียงกัน คือ กษัตริย์เฮโรด และกษัตริย์ชาวยิว

    คำถามที่แขกต่างเมืองมาสอบถามตามถนนหนทางในกรุงเยรูซาเล็ม คงดูเหมือนเป็นคำประชดประชันสำหรับชาวยิว เราเข้าใจได้ว่าคำถามนี้ต้องกวนใจเฮโรดผู้มีนิสัยขี้ระแวงอย่างไร ประวัติศาสตร์บอกเราว่า สิ่งที่เฮโรดกลัวมาตลอดชีวิตก็คือกลัวสูญเสียอำนาจ เขามองเห็นแต่แผนการร้ายไปทุกที่ เขาอาศัยอยู่แต่ในป้อมปราการ และสั่งประหารโอรสทั้งสามคนของเขา รวมทั้งแม่ยาย และไม่เว้นแม้แต่พระมเหสี นี่คือประวัติของเฮโรด ...

    แต่มัทธิวพยายามบอกนัยสำคัญที่ลึกกว่านั้น เมื่อเขากล่าวถึง “กษัตริย์ชาวยิว” กล่าวคือ อาณาจักรสวรรค์จะเป็นหัวข้อหลักของพระวรสารของเขา มัทธิวประกาศไว้ตั้งแต่เริ่มต้นพระวรสารของเขาว่าใครคือกษัตริย์ที่แท้จริงของอาณาจักรนี้ ...

    เราเห็นการต่อสู้แย่งชิงมงกุฎกษัตริย์ได้ตั้งแต่หน้าแรกของพระวรสารของมัทธิว ใครคือกษัตริย์ของชาวยิวที่แท้จริง – เฮโรด ผู้ทรงอำนาจ ซึ่งเป็นทรราชใจโหด ... หรือพระเยซูกุมาร ผู้อ่อนแอ ปราศจากอาวุธ ผู้ที่วันหนึ่งจะสิ้นพระชนม์อย่างเหยื่อผู้บริสุทธิ์...

    ในหน้าสุดท้ายของพระวรสารของเขา มัทธิวจะเอ่ยถึงตำแหน่ง “กษัตริย์ของชาวยิว” ของพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พวกทหารจะกล่าวว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญเทอญ” (มธ 27:29) และเพื่อบอกเหตุผลว่าทำไมเขาจึงให้ประหารชีวิตพระเยซูเจ้า ปิลาตให้ติดป้ายเขียนข้อกล่าวหาไว้เหนือพระเศียรพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขนว่า “นี่คือเยซู กษัตริย์ของชาวยิว” (มธ 27:37) เมื่อธรรมาจารย์ และมหาสมณะเห็นป้ายนี้ พวกเขาพากันเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงลงมาจากไม้กางเขนเดี๋ยวนี้” (มธ 27:42)

    ในคำบอกเล่าเรื่องโหราจารย์ มัทธิวบอกเราตั้งแต่พระองค์ประสูติแล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ต่ำต้อย “ผู้รับใช้ผู้ทนทรมาน” ตามภาพลักษณ์ที่อิสยาห์บรรยายไว้ ... ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ “ขี่หลังลา” ขณะที่ทรงได้รับชัยชนะเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างวันอาทิตย์ใบลาน ... ทรงเป็นกษัตริย์ที่ “มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28) ... และพระองค์ทรงขอให้มิตรสหายของพระองค์อย่าทำตัวเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น แต่ “จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้” (มธ 20:25-26)

    พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ของโลกนี้ พระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจปกครองเหมือนเฮโรด อันที่จริง ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าจะเผยให้เห็นได้ระหว่างพระทรมานเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนขัดแย้งกับความเป็นจริง ...

    เราเข้าใจความหมายของข้อความที่เราย้ำบ่อยครั้งในบทภาวนาของเราหรือไม่ว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” ... “พระองค์ผู้ทรงจำเริญ และครองราชย์ร่วมกับพระองค์ และพระจิตเจ้าตลอดนิรันดร” ...

พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น

    ในพิธีกรรมวันนี้ พระศาสนจักรนำเรื่องโหราจารย์มาผสมผสานกับคำทำนายของอิสยาห์ ซึ่งคัดเลือกมาจากข้อความต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ ที่ประกาศการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ว่าเหมือนกับแสงสว่าง “เยรูซาเล็มเอ๋ย จงลุกขึ้นเถิด จงฉายแสงเจิดจ้า เพราะความสว่างของเจ้ามาแล้ว พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ทอแสงเหนือเจ้า ดูซิ ความมืดปกคลุมแผ่นดิน ... แต่พระยาห์เวห์จะทรงทอแสงเหนือเจ้า ทุกคนจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เหนือเจ้า นานาชาติจะเดินมาหาความสว่างของเจ้า บรรดากษัตริย์จะทรงพระดำเนินมาสู่ความสดใสที่ทอแสงเหนือเจ้า” (อสย 60:1-6) เราได้ยินบทอ่านในมิสซาเที่ยงคืนวันพระคริสตสมภพ ที่ประกาศถึงแสงสว่างของพระเมสสิยาห์ว่า “ประชากรที่เดินในความมืด แลเห็นความสว่างยิ่งใหญ่ ... เพราะกุมารผู้หนึ่งเกิดมาเพื่อเรา” (อสย 9:1-5) ...

    เรื่องของ “ดวงดาว” ยังมีความหมายอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งนักบุญเปโตรกล่าวไว้อย่างชัดเจน เมื่อเขาพูดถึงความเชื่อว่า “ดาวประจำรุ่งจะปรากฏขึ้นในจิตใจของท่าน” (2 ปต 1:19) ดาวดวงนี้เป็นตัวแทนแสงสว่างของพระเจ้า คือพระหรรษทานของพระเจ้า – การทำงานของพระเจ้าในจิตใจและวิญญาณของมนุษย์ทุกคน และนำทางมนุษย์ทุกคนไปหาพระคริสตเจ้า ... ถูกแล้ว พระเจ้าทรงมองด้วยความรักมายังโหราจารย์ ซึ่งเป็นชนต่างชาติ ขณะที่พวกเขาเดินทางมุ่งหน้าไปหาพระเยซูเจ้า ...

    ในชีวิตของข้าพเจ้าก็เช่นกันที่มีพระหรรษทานนำทางให้ข้าพเจ้าค้นพบพระเยซูเจ้า ... ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญที่จะเดินตาม ไม่ว่าพระหรรษทานนั้นจะนำข้าพเจ้าไปที่ใดหรือไม่ ...

    ข้าแต่แสงสว่างอันเย็นตานี้ โปรดนำทางข้าพเจ้าให้ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ไปหาพระองค์เทอญ ...

... พวกเรา ... พร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์

    คำว่า “นมัสการ” แปลความหมายตรงตัวว่า “หมอบกราบ” คำกริยานี้ปรากฏถึงสามครั้งในหน้าเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนคติลึก ๆ ในใจของโหราจารย์ที่เป็นชนต่างชาตินี้ว่า เขามาเพื่อนมัสการพระองค์จริง ๆ ...

    ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้าหมอบกราบในบางครั้งหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าหมอบกราบต่อหน้าอะไร ... ต่อหน้าใคร ... ข้าพเจ้ากำลังสื่อความหมายอะไรเมื่อข้าพเจ้าก้มลงคำนับระหว่างการยกศีลในพิธีมิสซา ...

    คนหนุ่มสาวในปัจจุบันค้นพบความหมายของการหมอบกราบนี้อีกครั้งหนึ่ง ว่าเป็นกิริยาของมนุษย์เมื่อเขายอมรับว่าตนเองเป็นเพียงความเปล่า และเขาหมอบราบกับพื้น เป็นเครื่องหมายของการนมัสการด้วยทั้งตัวตนของเขา ...

เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาวกรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์ ...

    มัทธิวบอกเล่าเรื่องพระคริสตเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่โหราจารย์ โดยเสนอสองทัศนคติให้เราไตร่ตรอง ซึ่งเราจะพบครั้งแล้วครั้งเล่าในพระวรสารของเขา

-    ทัศนคติหนึ่ง คือ การปฏิเสธของผู้นำทางการเมือง และผู้นำศาสนาของชาวยิว คนเหล่านี้ควรเป็นคนกลุ่มแรกที่มองออกว่าใครคือพระเมสสิยาห์ แต่เขากำลังทำอะไร ... พวกเขาหวาดกลัวและกังวลใจ ... พวกเขาไม่ทำอะไรเลย ... แต่เขาพยายามฆ่าพระเยซูเจ้ามาตั้งแต่ต้น เราแทบจะได้ยินเสียงคร่ำครวญของพระเยซูเจ้ากับชะตากรรมของกรุงเยรูซาเล็ม มาตั้งแต่เวลานั้นแล้วว่า “วิบัติจงเกิดแก่ท่าน ธรรมาจารย์ และฟาริสี ... เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก ... กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของท่าน ... แต่ท่านไม่ต้องการ” (มธ 23:27-37)

-    อีกทัศนคติหนึ่ง คือ การต้อนรับของโหราจารย์ที่เป็นคนต่างชาติ ... แม้ว่าคนเหล่านี้มีความพร้อมน้อยกว่าชาวยิว ที่จะมองออกว่าใครคือพระเมสสิยาห์ แต่คนเหล่านี้เป็นบุคคลที่แสวงหา และออกตามหาพระองค์ ... แทนที่จะวิตกกังวล เขากลับรู้สึกยินดีมาก ... เราได้ยินบทสรุปของพระวรสารฉบับนี้แล้วว่า “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)

    อันที่จริง ระหว่างศตวรรษแรก ๆ พระวรสารหน้านี้ได้ถูกใช้เป็นคำอธิบายแก่คริสตชนที่ไม่มีเชื้อสายยิว ว่าเหตุใดสมาชิกส่วนใหญ่ของพระศาสนจักรจึงไม่ใช่ชาวยิว แม้ว่าพระเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นกับชาวอิสราเอล

    มัทธิวแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ผู้เสด็จมาเพื่อมนุษย์ทุกคน และ “ชาติอิสราเอลใหม่” จะประกอบด้วยมนุษย์ชายหญิงทุกคน – ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวยิวหรือไม่ก็ตาม – ผู้กราบลงนมัสการพระเยซูเจ้า ... คำทำนายต่าง ๆ ก็ประกาศว่ากรุงเยรูซาเล็ม จะกลายเป็นเมืองหลวงของนานาชาติ “ฝูงอูฐจะมาอยู่เต็มถนนของเจ้า รวมทั้งคาราวานอูฐจากมีเดียนและเอฟาห์ ทุกคนจะมาจากเชบา นำทองคำและกำยานมาด้วย และจะสรรเสริญพระเจ้าต่อหน้าคนทั้งหลาย” (อสย 60:6) ชาวอิสราเอลจำได้ว่าพระราชินีแห่งเชบา เสด็จมาเยือนกรุงเยรูซาเล็มจากแดนไกล เพื่อมาพบกษัตริย์ซาโลมอน ... บทสดุดี 71 ที่เราใช้ขับร้องในวันฉลองพระคริสตเจ้าแสดงองค์ก็กล่าวถึงการเปิดรับชาวโลกเช่นกัน “พระราชาแห่งทาร์ซิส และหมู่เกาะต่าง ๆ จะนำของบรรณาการมาถวายพระองค์” และมัทธิวเองก็จะย้ำในพระวรสารของเขา (8:11) ว่า “คนจำนวนมากจะมาจากทิศตะวันออกและตะวันตก และจะนั่งร่วมโต๊ะกับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ในอาณาจักรสวรรค์” ... เราเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่าพระวรสารฉบับนี้เขียนขึ้นตามแนวทางใด

    โหราจารย์เหล่านี้เป็นตัวแทนของทุกคนที่ไม่มีความเชื่อในทุกยุคสมัย แต่เราไม่มีเจตนาจะใช้คำศัพท์ที่เหยียดหยาม ... ตรงกันข้าม! ... เพื่อนจำนวนมากของเราจริงใจต่อความเชื่อมั่นของเขา เขาดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม มีจิตใจที่เป็นธรรม และพร้อมจะรับใช้ผู้อื่น คนเหล่านี้เป็นครอบครัวตัวอย่าง และปฏิบัติงานตามสาขาอาชีพอย่างดีเยี่ยม – แต่เขาไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้าอย่างแท้จริง ...

    วันฉลองพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นวันฉลองสำหรับทุกคนที่ไม่รู้จักพระเยซูเจ้า ... สำหรับทุกคนที่มีความเชื่อแตกต่างจากความเชื่อของเรา ... แต่เขาก็เป็นคนที่พระเจ้าทรงรัก ทรงประทานความสว่าง และดึงดูดเขามาหาพระองค์ด้วยพระหรรษทานของพระองค์ที่ตาของเรามองไม่เห็น ... แต่เราตัดสินเขาอย่างไร ...
ประกาศกเขียนไว้ว่า “เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ ... ผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”

    ท่านอาจสงสัยว่าหลังจากได้นำทางโหราจารย์มาไกลถึงเพียงนี้แล้ว ทำไมดวงดาวจึงไม่นำทางพวกเขาตรงไปยังเบธเลเฮม ใกล้ ๆ พระเยซูเจ้า ... ทำไมจึงให้เขาเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ผ่าน “ธรรมาจารย์ และหัวหน้าสมณะ”

    นั่นเป็นเพราะพระเจ้าทรงรักษาสัญญา แม้ว่าพระองค์ทรงเสนอความรอดพ้นให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ความรอดพ้นนี้จะต้องผ่านทางชาวยิว (รม 11:11)

    การเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ยังมีนัยสำคัญอีกประการหนึ่งด้วย กล่าวคือ เราไม่อาจดำเนินชีวิตโดยไม่พึ่งพาพระวาจาของพระเจ้าได้ ... หรือโดยปราศจากพระคัมภีร์ – ถ้าเราต้องการพบพระคริสตเจ้าอย่างแน่นอน ...

    เรารำพึงตามพระวาจา ... ตามพระคัมภีร์ ... โดยไม่เบื่อหน่ายหรือเปล่า ...

เขาเปิดหีบสมบัติ นำทองคำ กำยาน และมดยอบ ออกมาถวายพระองค์ ... เขากลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น

    คำว่านมัสการเป็นบทบาทสำคัญของพระศาสนจักร การนมัสการแท้หมายถึง “การถวายผลผลิตจากมือมนุษย์ และจากแผ่นดิน แด่พระเจ้า” ดังนั้น เราจึงถวายแด่พระเจ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกอารยธรรมถือว่ามีคุณค่า

    การพบกับพระคริสตเจ้าทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ... มีทางอีกสายหนึ่งเผยตัวให้เห็น ...

    นี่คือข่าวดีจริง ๆ พระเจ้าข้า!