วันอาทิตย์ปัสกา
กิจการอัครสาวก 10:34, 37-43; โคโลสี 3:1-4; ยอห์น 20:1-9
บทรำพึงที่ 1
เรื่องเริ่มต้นที่คูหาฝังศพ
พระเยซูเจ้าทรงต้องการเนรมิตสร้างเราขึ้นมาใหม่
นักโทษคนหนึ่งในเรือนจำที่ชิคาโก นั่งชมรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ แขกรับเชิญในรายการวันนั้นชื่อ จี. กอร์ดอน ลิดดี้ เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ถูกจำคุกในคดีวอเตอร์เกต ซึ่งทำให้ ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
หัวข้อของรายการคือศาสนา ระหว่างดำเนินรายการ พิธีกรหันไปถามลิดดี้ ว่า “ทำไมคุณถึงมั่นใจถึงเพียงนี้ว่าพระเจ้าทรงสร้างคุณขึ้นมา”
ลิดดี้ยิ้ม และตอบว่า “ไม่มีใครอื่น นอกจากพระเจ้าที่จะกล้าทำอย่างนั้น ไม่มีใครอื่นนอกจากพระเจ้าที่จะกล้าถึงขนาดที่สร้างมนุษย์อย่างผมขึ้นมา”
ผู้ชมในห้องอัดรายการหัวเราะลั่น รวมทั้งพิธีกรด้วย และรวมทั้งนักโทษในเรือนจำชิคาโกคนนั้นด้วย
เมื่อจบรายการ นักโทษคนนั้นเอนตัวลงนอนบนเตียงในห้องขังของเขา และเริ่มคิดว่า “พระเจ้าทรงสร้างผมขึ้นมาทำไม ทำไมพระเจ้าจึงสร้างมนุษย์คนหนึ่งที่จะจบชีวิตลงในห้องขังของเรือนจำ”
ทำไมพระเจ้าจึงสร้างมนุษย์คนหนึ่งที่จะตายต่อความดีและความรัก และฝังตัวอยู่ในหลุมศพแห่งความชั่วและความเกลียดชัง ภายในห้องขังของเรือนจำ
ในนาทีนั้นเองที่ความคิดแปลก ๆ ผุดขึ้นมาในใจของนักโทษคนนั้น เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นในหลุมศพ หลุมศพที่ได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนา เหมือนกับห้องขังของเขา
เหตุการณ์นั้นคือการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์พระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าไม่ได้ถูกฝังอยู่ในคูหาอีกต่อไป บัดนี้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว
และเพราะพระเยซูเจ้าทรงได้รับการยกขึ้นสู่ชีวิตใหม่ โลกจึงได้รับชีวิตใหม่ด้วย เพราะชีวิตใหม่ที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับมานี้ ทำให้พระองค์สามารถถ่ายทอดชีวิตใหม่นี้ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย
เมื่อนั้นเองที่ความคิดแปลก ๆ ที่สองผุดขึ้นมาในใจของนักโทษคนนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูเจ้าในคูหาฝังศพในกรุงเยรูซาเล็ม สามารถเกิดขึ้นกับเขาในหลุมศพของเขาในชิคาโกได้เช่นกัน อาศัยชีวิตใหม่และอานุภาพของพระเยซูเจ้า เขาเองก็สามารถเกิดใหม่ได้ เขาสามารถได้รับการเนรมิตสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เขาสามารถกลับคืนชีพได้
ในนาทีนั้นเองที่เขาเริ่มเข้าใจความหมายแท้จริงของปัสกา ปัสกาหมายถึงการเกิดใหม่ หมายถึงการถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาใหม่ หมายถึงการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย และหมายถึงการกลายเป็นบุคคลใหม่
ในนาทีนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูเจ้าในคูหาฝังศพ ก็เกิดขึ้นกับนักโทษในหลุมศพของเขา เขาได้เกิดใหม่ เขาถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาใหม่ เขากลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย และเขากลายเป็นบุคคลใหม่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักโทษในเรือนจำชิคาโก คือสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เกิดขึ้นกับเรา ในเช้าวันนี้ พระเจ้าทรงต้องการเนรมิตสร้างเราขึ้นมาใหม่ เราทุกคนในวัดวันนี้รู้ว่าเราถูกฝังอยู่ในหลุมศพอย่างหนึ่ง เหมือนกับนักโทษคนนั้น อาจเป็นหลุมศพแห่งความแค้น เพราะเราเคยเจ็บปวดจากการกระทำของใครบางคน
อาจเป็นหลุมศพแห่งความกลัวว่าชีวิตในอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร
อาจเป็นหลุมศพแห่งความสับสนเกี่ยวกับความเชื่อของเรา และเราไม่รู้ว่าจะขจัดความสับสนนี้ให้หมดไปได้อย่างไร
หรืออาจเป็นหลุมศพแห่งความสิ้นหวังเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยากลำบากบางอย่างในชีวิต และเราไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป
และนี่คือบทบาทของปัสกา
พระเยซูเจ้าทรงใช้อานุภาพปัสกาของพระองค์ยกนักโทษในเรือนจำชิคาโกขึ้นมาจากหลุมศพของเขา พระองค์ทรงต้องการทำเช่นนี้เพื่อเราเหมือนกัน พระองค์ทรงต้องการยกเราขึ้นจากหลุมศพของเรา
นี่คือข่าวดีของปัสกา นี่คือข่าวดีที่เราเฉลิมฉลองกันในมิสซาในเช้าวันนี้ นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอคำเชิญให้แก่เราแต่ละคน
พระองค์ทรงเชิญเราให้เปิดใจยอมรับอานุภาพใหม่แห่งปัสกาของพระองค์ พระองค์ทรงเชิญเราให้ยินยอมให้พระองค์ทรงทำเพื่อเรา อย่างที่พระองค์ทรงทำเพื่อนักโทษในเรือนจำชิคาโกคนนั้น
พระเยซูเจ้าทรงต้องการประทานพลังให้เราสามารถลุกขึ้นจากหลุมศพแห่งความมืด หลังจากความหวังของเราสูญสลายไปหมดแล้ว
พระองค์ทรงต้องการประทานพลังให้เราสามารถลุกขึ้นจากหลุมศพแห่งความท้อแท้ หลังจากที่ความรักของเราถูกผลักไส
พระองค์ทรงต้องการประทานพลังให้เราสามารถลุกขึ้นจากหลุมแห่งความคลางแคลงใจ หลังจากความเชื่อของเราถูกสั่นคลอน
นี่คือข่าวดีของปัสกา ข่าวดีนี้บอกเราว่าพระเยซูเจ้าเสด็จออกมาจากคูหาฝังศพของพระองค์แล้ว และทรงต้องการช่วยเราให้ลุกขึ้นจากหลุมศพของเราเช่นกัน และบอกเราว่าพระองค์ทรงต้องการประทานพลังให้เราลุกขึ้นจากหลุมศพของเราได้
ข่าวดีนี้บอกเราว่าไม่มีหลุมศพใดสามารถกักขังเราได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหลุมศพแห่งความสิ้นหวัง หรือหลุมศพแห่งความท้อแท้ หรือหลุมศพแห่งความคลางแคลงใจ และแม้แต่หลุมศพแห่งความตาย
นี่คือข่าวดีของปัสกาที่บอกเราเกี่ยวกับการเกิดใหม่ การเนรมิตสร้างครั้งใหม่ การเปิดใจยินยอมให้พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา อย่างที่พระองค์ได้กระทำเพื่อนักโทษในเรือนจำชิคาโก
นี่คือข่าวดีของปัสกาที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมปัสกาในเช้าวันนี้
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:1-9
เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ ...
พระวรสารทั้งสี่ฉบับให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตรงกันในประเด็นนี้
ดังนั้น การกลับคืนพระชนมชีพจึงเกิดขึ้นในวันสับบาโตในเทศกาลปัสกาของชาวยิว ... นักบุญยอห์น ผู้มองเห็นความหมายเชิงสัญลักษณ์เสมอ มองว่า “วันต้นสัปดาห์” นี้เป็นจุดเริ่มต้นของโลกใหม่ – การเนรมิตสร้างครั้งใหม่ ... เป็นสัปดาห์แห่งปฐมกาลใหม่ ...
มนุษย์มักยกเอาความทุกข์ทรมาน และความตายมาเป็นเหตุผลสนับสนุนความเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีจริง เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าจะทรงสร้างโลกที่มีความทุกข์มากมายเช่นนี้ ... ถ้าเราไม่ยอมเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ เราก็ตอบคำถามข้อนี้ไม่ได้ ... ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร – รวมถึงทุกคนที่ไตร่ตรองพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้ง ... คิดว่าพระเจ้าคงไม่ “เนรมิตสร้างครั้งแรก” (ซึ่งรวมถึงสภาวะที่รู้จักตายของเราในปัจจุบัน) ถ้าพระองค์ไม่ทรงเห็นมาตลอดนิรันดร์กาลว่าจะต้องมี “การเนรมิตสร้างครั้งที่สอง” และด้วยการเนรมิตสร้างครั้งที่สองนี้เอง “จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21:4) ...
ขณะที่ยังมืด มารีย์ ชาวมักดาลา ออกไปที่พระคูหา
ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่คน ให้ข้อมูลตรงกันอีกประเด็นหนึ่งคือ “สตรี” เป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบ “เหตุการณ์” ... แต่ในธรรมประเพณีสายนี้ ยอห์นเลือกให้ความสนใจกับสตรีคนหนึ่งเท่านั้น คือ มารีย์ชาวมักดาลา เขาถึงกับบอกว่านางเป็นบุคคลแรกที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ให้เห็น หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ยน 20:11-18)
นางเห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตร กับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรัก
นางวิ่ง : รายละเอียดนี้มีนัยสำคัญ
นางยังไม่พบพระเยซูเจ้า ... นางยังไม่เชื่อ ... นางเพียงแต่ตกใจ และวิ่งไปบอกผู้นำที่รับผิดชอบ ...
เราสังเกตเห็นฉายาที่มอบให้แก่ศิษย์ที่ไม่ระบุนามคนนี้ “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ธรรมประเพณีทุกสายยอมรับว่าศิษย์คนนี้คือยอห์น ผู้เขียนคำบอกเล่านี้ ในบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองคน ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงให้ความสนใจกับยอห์นมากเป็นพิเศษ – ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีคนอิจฉาเขาอย่างแน่นอน ... รายละเอียดนี้มีนัยสำคัญดังที่เราจะเห็นต่อไป แต่เราจะพักประเด็นนี้ไว้ก่อนในเวลานี้ ...
นางบอกเขาว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน”
ในยามฉุกละหุกเช่นนี้ มารีย์คิดได้เพียงอย่างเดียว ต้องมีคนมาขโมยพระศพ
สถานการณ์นี้ช่างห่างไกลจาก “คำอธิบายตามหลักเหตุผล” ที่บางคนอ้างว่าบรรดาศิษย์ต้องการให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพมากจนพวกเขาเห็นภาพหลอน ... ตัวบทพระคัมภีร์บอกเล่าสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม ...
เห็นได้ชัดว่าคำบอกเล่านี้เขียนขึ้นในลักษณะที่ต้องการให้เราตระหนักว่า คูหาที่ว่างเปล่าไม่ใช่ “ข้อพิสูจน์” ที่สามารถนำเราไปสู่ความเชื่อได้ ... แต่ “คูหาที่ว่างเปล่า” อันโด่งดังนี้เป็นข้อท้าทาย – และเมื่อเผชิญหน้ากับข้อท้าทายนี้หลายคนสะดุดล้ม ในคำบอกเล่าเหตุการณ์นี้ปรากฏคำว่า “พระคูหา” ถึงเจ็ดครั้ง
เปโตรกับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน
ยอห์นจำเหตุการณ์ได้ดี เพราะเขาอยู่ที่นั่น!
ถ้าจะอธิบายว่า ยอห์นวิ่งเร็วกว่าเพราะเขาหนุ่มกว่าเปโตร คงเป็นคำอธิบายที่ฟังไม่ขึ้น ... ยอห์นมองเหตุการณ์นี้ในเชิงสัญลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นไปได้ที่เปโตรอาจถูกแซงหน้า เขาอาจวิ่งไม่ทันผู้อื่น ศิษย์ใจร้อนรนคนอื่น ๆ คงวิ่งแซงหน้าเขาได้แน่นอน ... ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คนที่สอง” แซงหน้า “คนแรก” (ยน 13:24, 18:12, 16, 21:20, 23) ... ทำไมยอห์น จึงย้ำความผิดปกตินี้ ...
เขาก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน ซีโมนเปโตร ซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหา และเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียร ซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง
ข้อความนี้ ซึ่งเขียนโดยยอห์นผู้เห็นสถานที่เกิดเหตุด้วยตาตนเอง อาจแปลให้ถูกต้องที่สุดได้ดังนี้ “เขาเห็นผ้าพันพระศพ ‘วางกองอยู่บนพื้น’ และผ้าชิ้นที่ใช้พันพระเศียร ไม่ได้กองรวมอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่ม้วน และกองอยู่ที่เดิม”
สรุปว่า ผ้าพันพระศพไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายด้วยมือใคร พระศพเพียงแต่หายไป และผ้าพันพระศพก็หล่นลงมากองอยู่บนพื้นในที่เดิม ... ยอห์นถึงกับย้ำว่า “ผ้าพันพระเศียร” – ซึ่งเป็นแถบผ้าที่ใช้พันรอบศีรษะและคาง เพื่อพยุงขากรรไกร ตามธรรมเนียมฝังศพของชาวยิว – ยังม้วนกองอยู่ที่เดิม ...
ศิษย์คนที่มาถึงพระคูหาก่อน ก็เข้าไปข้างในด้วย ...
ผู้เขียนย้ำรายละเอียดนี้ ดังนั้นข้อความนี้จึงต้องมีนัยสำคัญ ...
เขาเห็น และมีความเชื่อ
เปโตรยังไม่เข้าใจ เมื่อลูกาเล่าเหตุการณ์เดียวกันที่เปโตรไปที่คูหาฝังศพ เขาบอกว่าเปโตรสังเกตเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขากลับไป “และประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” (ลก 24:12) ...
- มารีย์ ชาวมักดาลา เสนอคำอธิบายตามความคิดประสามนุษย์ “เขานำพระองค์ไปจากพระคูหาแล้ว”
- เปโตรไม่เข้าใจอะไรเลย
- แต่ยอห์นมองเห็นเหตุการณ์ชัดกว่า “เขาเห็น และมีความเชื่อ” ... เขาเห็นอะไร ... เขาเห็นอย่างที่เปโตรเห็น – แต่เปโตรไม่รู้ว่าควรตีความสิ่งที่เห็นอย่างไร...
เพื่อจะเชื่อ จำเป็นต้องใช้ “ดวงตาของหัวใจ” – ดวงตาที่รัก ...
บัดนี้ เราจึงเข้าใจแล้วว่าทำไมยอห์นจึงพูดอย่างชัดเจนว่า “ศิษย์ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ความรักนี้ทำให้ยอห์นวิ่งเร็วกว่า – และเข้าใจก่อนผู้อื่น ... ขณะที่อยู่บนฝั่งทะเลสาบอีกเช่นกันที่ “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” จะเป็นบุคคลแรกที่จำพระเยซูเจ้าได้ ... ก่อนที่เปโตรจะจำพระองค์ได้ (ยน 21:7)
เราได้ยินอีกครั้งหนึ่งว่าความรักกระตุ้นความเชื่อ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในพระศาสนจักรไม่ได้รับเอกสิทธิ์ในด้านนี้ ดังนั้น แทนที่เราจะอิจฉาผู้มีอำนาจในพระศาสนจักร เราทุกคนได้รับเชิญให้เป็นที่หนึ่งในด้านความรัก ...
นี่คือสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่น
เขาเห็น และมีความเชื่อ
นอกจากคูหาฝังศพที่ว่างเปล่าแล้ว สภาพของผ้าพันพระศพที่วางกองอยู่ก็ดูเหมือนว่าเป็น “เครื่องหมาย” สำหรับยอห์น เมื่อยอห์นเห็นผ้าพันพระศพ “วางอยู่บนพื้น” และผ้าพันพระเศียร “พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง” ยอห์นเข้าใจได้ทันทีว่าพระศพไม่สามารถถูกเคลื่อนย้ายไปด้วยมือมนุษย์! พระศพนั้นเพียงแต่หายไปจากผ้าพันพระศพ ซึ่งร่วงลงกองอยู่บนพื้น ...
แต่เครื่องหมายเดียวกันนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเปโตร
ไม่มีเครื่องหมายใดที่สามารถ “ให้ความเชื่อ” แก่ใครได้ ... ไม่มีเครื่องหมายใดที่มีอำนาจบังคับจิตใจคนเช่นนั้น เพื่อจะเชื่อ เราต้องมองให้ไกลกว่าเครื่องหมาย ... ไม่นานหลังจากนั้น พระเยซูเจ้าจะทรงแสดงความคิดเช่นเดียวกันนี้ แต่หนักแน่นยิ่งกว่า ว่า “ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข” (ยน 20:29) ดังนั้น ยอห์นจึงได้รับยกย่องว่าเป็นต้นแบบของศิษย์แท้ – คือศิษย์ที่เชื่อ ... โดยไม่ต้องเห็น!
ความเชื่อมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนกับความเป็นจริงระดับลึกสุดของมนุษย์ กล่าวคือ เราไม่เคยมองเห็นความรักของบุคคลที่รักเรา – เราเห็นแต่เพียงเครื่องหมายแสดงความรักของเขา แต่เครื่องหมายเหล่านี้จะเปิดเผยนัยสำคัญของตนเองแก่ผู้ที่รู้ว่าควรถอดรหัสเครื่องหมายนั้น ๆ อย่างไรเท่านั้น ... กิริยาท่าทาง คำพูด ของขวัญ – ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องหมายที่ไม่ชัดเจนและเปราะบาง และจำเป็นต้องตีความ แม้ว่าบางครั้งเราอาจตีความผิดได้ เช่น “เขาต้องการจะบอกอะไรฉันกันแน่” ... “ฉันควรคิดอย่างไรกับท่าทีของเขา” ...
เพราะเหตุนี้ การพบกันอย่างจริงใจระหว่างมนุษย์จึงน่าประทับใจเสมอ เพราะบังคับให้ทั้งสองฝ่ายเปิดใจ และใส่ใจต่อกันตลอดเวลา ... บางครั้ง เราทุกคนเคยพบกับประสบการณ์อันเจ็บปวด เมื่อเครื่องหมายที่เราแสดงออกถูกเข้าใจผิด เมื่อเราเอ่ยคำพูดที่ผู้ฟังไม่พอใจ เมื่อเราแสดงกิริยาอาการที่ผู้อื่นนำไปตีความผิด ๆ ... ความรักอันไร้ขอบเขตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คนสองคนมองเห็นนัยสำคัญทั้งปวงในสารที่เขาสื่อให้แก่กัน ...
และเพราะเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใจเหตุการณ์เมื่อเขาเห็น “คูหาว่างเปล่า” และ “ผ้าพันพระศพที่วางกองอยู่” จึงเป็นบุคคลที่มีความรักมากกว่าเท่านั้น ...
ในทำนองเดียวกันกับเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ ...
เขาทั้งสองคนยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่าพระองค์ต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
ความจริงทางวัตถุ หรือเหตุการณ์ภายนอกก็ยังไม่พอแน่นอน ...
สำหรับยอห์น พระคูหาที่ว่างเปล่ากลายเป็น “เครื่องหมายที่บอกเล่าความจริง” ตั้งแต่เขาเห็นพระเยซูเจ้าแสดงพระองค์ ทั้งนี้เพราะยอห์นยอมให้ตนเองซึมซับพระจิตเจ้า (พระจิตผู้ทรงเป็นความรัก) ผู้เปิดเผยให้เขารู้ความหมายของเครื่องหมาย ... เมื่อสังเกตเห็นความจริงต่าง ๆ ยอห์นระลึกถึงข้อความจากพระคัมภีร์ที่พระเยซูเจ้าทรงเคยอ้างถึง (ฮชย 6:2; สดด 2:7, 15:8; ยนา 2:1)…
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยแสงสว่างจากการรำพึงไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า ภายใต้การชี้นำของพระจิตเจ้าเท่านั้น เราจึงจะเข้าใจเหตุการณ์นั้น ๆ ในระดับลึก ...
ความรักทำให้เรามองเห็นความจริง ...
ความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเชื่อ ...