แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 4:32-35; 1 ยอห์น 5:1-6; ยอห์น 20:19-31

บทรำพึงที่ 1
ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า
เราไม่เพียงได้รับกระแสเรียกให้มีความเชื่อ แต่ยังได้รับกระแสเรียกให้เผยแผ่ความเชื่อนั้น

    หนึ่งในเรื่องราวที่น่าทึ่งที่สุดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องของเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ทหารบนเครื่องบินประกอบด้วยเรืออากาศเอก เอดดี้ ริกเค็นแบ็คเกอร์ นักบินประจำเครื่องบินรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้มีชื่อเสียง และเรืออากาศโท เจมส์ วิทเทกเกอร์ พร้อมด้วยลูกเรืออีกหกคน

    ทหารทั้งแปดคนรอดชีวิตจากเครื่องบินตก แต่พวกเขาต้องอาศัยอยู่บนแพยางขนาดเล็กสามแพเป็นเวลา 21 วัน ต่อมา โดยปราศจากอาหาร และน้ำ

    สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาเข้มแข็งก็คือการสวดภาวนาประจำวัน ซึ่งประกอบด้วยการอ่านพระคัมภีร์ฉบับกระเป๋า และการอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าด้วยคำพูดของตนเอง เรืออากาศโทวิทเทกเกอร์ เป็นคนเดียวในกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เขาไม่เชื่ออยู่ได้ไม่นาน

    เมื่อถึงวันที่ 6 ทุกคนอ่อนเพลีย และต้องการอาหารและน้ำมาก หลังจากสวดภาวนาในเวลาเย็นแล้ว เขาก็ยิงพลุสัญญาณลูกหนึ่ง โดยหวังว่าจะทำให้เรือ หรือเครื่องบินสังเกตเห็น

    แต่พลุนั้นใช้การไม่ได้ มันตกกลับลงมาบนแพ และดึงดูดฝูงปลามาที่แพ ขณะที่ทุกคนกำลังตื่นเต้น ปลาสองตัวก็กระโดดขึ้นมาบนแพ พวกเขาได้กินอาหารมื้อแรกภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

    บ่ายวันต่อมา พวกทหารอธิษฐานวอนขอน้ำ หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็เปียกโชกเพราะพายุฝน นับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา เรืออากาศโทวิทเทกเกอร์ ก็กลายเป็นบุคคลที่เชื่อในพระเจ้า

    ในวันที่ 10 มีบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษเกิดขึ้น หลังจากสวดภาวนาประจำวันแล้ว พวกเขาสารภาพบาปออกมาดัง ๆ นั่นเป็นการแสดงความเชื่อ และความถ่อมตนที่งดงามอย่างยิ่งเบื้องหน้าพระเจ้า และต่อกันและกัน

    ในวันที่ 13 มีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น มีฝนตกลงมาอย่างหนักห่างจากกลุ่มคนที่กำลังกระหายน้ำประมาณหนึ่งพันฟุต และกำลังเคลื่อนตัวห่างออกไป นั่นเป็นครั้งแรกที่เรืออากาศโทวิทเทกเกอร์ เป็นผู้นำคนอื่น ๆ อธิษฐานภาวนา เขาภาวนาวอนขอให้ฝนที่ผ่านเลยไปนั้นย้อนกลับมา เขาบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นในภายหลังว่าดังนี้

    “มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยกฎธรรมชาติ ลมไม่ได้เปลี่ยนทิศ แต่ม่านฝนที่ค่อย ๆ ถอยห่างออกไปนั้น เริ่มเคลื่อนตัวช้า ๆ มาหาเรา โดยทวนกระแสลม เราดื่มน้ำฝน และรองน้ำเก็บไว้ได้”

    ในวันที่ 21 พวกเขามองเห็นแผ่นดิน เรืออากาศโทวิทเทกเกอร์ เข้ารับหน้าที่กรรเชียงแพของเขา เจ็ดชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้น เขาก็มาถึงฝั่ง เขาบันทึกในภายหลังว่า “ในวันนี้ หลังจากผมฟื้นตัวเต็มที่แล้ว ผมก็ยังลังเลใจที่จะกรรเชียงเรือในระยะที่ไกลขนาดนั้น แต่ในขณะนั้น ทั้งที่ผมเหนื่อยอ่อนจากความกระหายน้ำ ความหิว และการตากแดดตากฝนมานานสามสัปดาห์ ผมกลับทำได้สำเร็จ"

    ทันทีที่เขามาถึงฝั่ง ทุกคนคุกเข่าลง และขอบพระคุณพระเจ้า เมื่อวิทเทกเกอร์กลับถึงบ้าน เขาเขียนหนังสือขายดีเล่มหนึ่งบอกเล่าประสบการณ์ของเขา นอกจากนี้ เขายังเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อแบ่งปันความเชื่อใหม่ของเขากับผู้ฟัง

    ชายคนหนึ่งที่เริ่มต้นโดยเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ กลับกลายเป็นผู้มีความเชื่ออันร้อนรนกว่าใครทั้งหมด

    เราเห็นความคล้ายคลึงระหว่างเรื่องของเรืออากาศโท เจมส์ วิทเทกเกอร์ และเรื่องของโทมัส อัครสาวก ในบทอ่านพระวรสารวันนี้ได้ชัดเจน ทั้งสองคนเป็นชายที่คลางแคลงใจ ทั้งสองคนกลายเป็นผู้มีความเชื่ออย่างร้อนรน และเป็นยิ่งกว่านั้นอีก เขาทั้งสองกลายเป็นธรรมทูตนำความเชื่อไปเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่น

    งานธรรมทูตของวิทเทกเกอร์ นำเขาไปพูดแบ่งปันความเชื่อใหม่ของเขากับประชาชนทั่วสหรัฐอเมริกา ส่วนงานธรรมทูตของโทมัส อัครสาวก นำเขาไปจนถึงประเทศอินเดีย และงานธรรมทูตของบุคคลทั้งสองยังบังเกิดผลจนถึงทุกวันนี้

    เช่น มีประชาชนจำนวนมากในประเทศอินเดีย ที่สามารถย้อนรอยจากธรรมประเพณีโบราณในครอบครัวของเขากลับไปถึงโทมัสอัครสาวก

    และเมื่อเดือนกรกฎาคม 1987 หลังจากเจมส์ วิทเทกเกอร์ ได้พิมพ์หนังสือของเขามาแล้ว 45 ปี หนังสือ Reader’s Digest ได้ตีพิมพ์เรื่องราวที่บอกเราว่าหนังสือเล่มนั้นยังส่งแรงกระทบอย่างไรต่อประชาชนในปัจจุบัน

    ประเด็นสำคัญคือ ทั้งโทมัส และวิทเทกเกอร์ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ และกลายเป็นผู้มีความเชื่อ ทั้งสองคนกลายเป็นธรรมทูตผู้แบ่งปันความเชื่อใหม่ของเขาให้แก่ผู้อื่น และนี่คือบทเรียนสำหรับเรา

    ในชีวิตของเรา พวกเราหลายคนเคยเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ก่อนจะกลายเป็นผู้มีความเชื่อ แต่มีกี่คนที่ลงมือทำอย่างที่อัครสาวกโทมัส และวิทเทกเกอร์ ได้ทำไป พวกเรากี่คนที่กลายเป็นธรรมทูตเผยแผ่ความเชื่อให้แก่ผู้อื่น

    พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้เรากักขังความเชื่อที่เราได้รับมาไว้ภายในตัวเรา พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เราแบ่งปันความเชื่อกับผู้อื่น เหมือนกับทหารที่อยู่ในแพได้แบ่งปันความเชื่อของพวกเขากับวิทเทกเกอร์ และเหมือนกับอัครสาวกอื่น ๆ แบ่งปันความเชื่อของพวกเขากับโทมัส และเหมือนกับที่โทมัส และวิทเทกเกอร์ แบ่งปันความเชื่อของเขากับผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง

    นั่นคือสารจากบทอ่านพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21)

    ประเด็นที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการบอกเรา คือเราได้รับความเชื่อจากพระองค์แล้ว แต่ไม่ใช่เพื่อให้เราเก็บไว้ในใจของเราคนเดียว แต่ให้แบ่งปันกับพี่น้องชายหญิงของเรา

    เราต้องแบ่งปันความเชื่อกับบุตรของเรา กับสมาชิกครอบครัวของเรา เราต้องแบ่งปันความเชื่อของเรากับมิตรสหายที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อในพระเยซูเจ้า แต่บัดนี้กลับเฉื่อยชาในการปฏิบัติศาสนกิจ เราต้องแบ่งปันความเชื่อของเรากับคนที่เรารู้จัก และเพื่อนบ้านที่ยังแสวงหา

    นี่คือสารของพระวรสารวันนี้ เราไม่ได้รับกระแสเรียกให้เชื่อในพระเยซูเจ้าและจบเพียงเท่านั้น เรายังได้รับกระแสเรียกให้แบ่งปันความเชื่อของเราด้วย พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ตรัสว่า “ผู้มีความเชื่อทุกคนในโลกนี้ต้องเป็นประกายแสงสว่าง”

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า
    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าพระองค์ประทานความเชื่อแก่เรา
    มิใช่เพื่อให้เราเก็บความเชื่อนั้นไว้กับตัวเอง
    แต่ให้แบ่งปันกับผู้อื่น

    โปรดทรงช่วยเราให้แบ่งปันความเชื่อของเรา
    เหมือนกับทหารบนแพนั้น แบ่งปันความเชื่อของเขากับเรืออากาศโทวิทเทกเกอร์
    โปรดทรงช่วยเราให้แบ่งปันความเชื่อของเราในพระองค์
    เหมือนกับบรรดาอัครสาวกในห้องชั้นบน
    แบ่งปันความเชื่อของเขากับโทมัส

    โปรดทรงช่วยเราให้เป็นประกายแห่งแสงปัสกา
    ในโลกที่ยังปกคลุมด้วยความมืดของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
 

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:19-31

ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ... ห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกัน ... แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก ...

    พระวรสารที่ประกาศในวันนี้บอกเล่า “การสำแดงพระองค์” สองครั้งขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ โดยมีระยะห่างกันแปดวัน เรามักให้ความสนใจกับการสำแดงพระองค์ครั้งที่สองมากกว่า ซึ่งเป็นการสำแดงพระองค์เพื่อโทมัสโดยเฉพาะ เพราะเรามักคิดว่าเราเหมือนกับโทมัส เรามักอยากจะหา “ใครสักคนที่สงสัย” ใครบางคนที่ไม่อยากเชื่อ ... เพื่อให้การขาดความเชื่อของเราดูเหมือนมีเหตุมีผล ...

    แต่ “การสมรู้ร่วมคิด” ของเรากับโทมัส ไม่ควรขัดขวางไม่ให้เราอ่านเรื่องราวทั้งหมด

    ก่อนอื่น เราคงสังเกตว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงให้บรรดาศิษย์เห็นว่าพระองค์ทรงมีชีวิตใน “วันต้นสัปดาห์” คือวันอาทิตย์ ... เรารู้ว่า คริสตชนยุคแรกไม่ได้มาชุมนุมกันทุกวัน เพราะทุกคนมีกิจวัตรต้องทำ พวกเขาไม่สามารถมาชุมนุมกันตลอดเวลาได้ ... แต่ในสภาพแวดล้อมของการชุมนุมกันในวันอาทิตย์นี้เองที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเขาหลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ...

    เราคงเข้าใจผิดถ้าคิดว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล บรรดาศิษย์พบกับการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้โดยเฉพาะระหว่าง “การชุมนุมของกลุ่มคริสตชน” พวกศิษย์มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน “ในพระศาสนจักร” ...

ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามายืนอยู่ตรงกลาง

    ระหว่างที่ยอห์นเขียนข้อความเหล่านี้ ยังเป็นช่วงเวลาของการเบียดเบียนและความกลัว ศิษย์ของพระเยซูเจ้าเปลี่ยนบ้านที่ใช้เป็นที่ชุมนุมกันเสมอ เมื่อทักทายกันแล้ว เขาก็นับจำนวนสมาชิก บางคนละทิ้งพวกเขาไป มีคนที่ละทิ้งทั้งความเชื่อ และกลุ่มของตน ... พวกเขาหวาดกลัว ... เขาปิดประตู ...

    แต่ทุกวันอาทิตย์ เครื่องหมายของห้องชั้นบน และของวันอาทิตย์แรก ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ พระคริสตเจ้าเสด็จมาอย่างเร้นลับ มาประทับอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ในเมืองเอเฟซัส โครินธ์ กรุงเยรูซาเล็ม และในกรุงโรม ...

    ถูกแล้ว ทุกวันอาทิตย์คือวันปัสกา ... พระเจ้าข้า พระองค์ประทับอยู่ที่ใจกลางชีวิตของเรา และพระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้ประทานชีวิตแก่เรา ... แม้ว่าเรามองไม่เห็นพระองค์ แต่เราเชื่อ ...

    วันนี้ เราเองก็อยากจะปิดประตูบ้านของเราเพราะความกลัว ... เมื่อพระจิตทรงพัดมา ขอให้กำแพงคุกของเราถล่มลงมา และขอให้ถึงเวลาขับร้องเพลงอย่างยินดีอีกครั้งหนึ่งเถิด ... ขอให้เราเปิดประตูต้อนรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเถิด ...

    ก่อนจะรำพึงต่อไปตามพระวรสารนี้ ขอให้เราถามตนเองว่า พระคริสตเจ้าทรงต้องการปลดปล่อยเราจากอะไร ทรงต้องการช่วยเราให้ลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่งจากสถานการณ์ใดที่อันตรายและน่ากลัว ... จากบาปนี้ ... จากการเจ็บป่วย หรือความอ่อนแอนี้ ... จากการทดลองอันเจ็บปวด และสิ้นหวังนั้น ... จากปัญหาในครอบครัว หรือในวิชาชีพ ... “ประตูห้องที่เขาอยู่นั้นปิดอยู่” ...

พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์ และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”

    ความยินดีแห่งปัสกา ซึ่งเป็นความยินดีแท้ของคริสตชน ไม่ใช่ความยินดีที่เกิดขึ้นเอง ไม่เหมือนกับความยินดีที่เรารู้สึกตามธรรมชาติเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ... เมื่อเราสุขภาพดี เมื่อเรารู้สึกแข็งแรง มีกำลังวังชา เมื่อโครงการของเราประสบความสำเร็จ เมื่อเราเข้ากันได้ดีกับคนในครอบครัว และเพื่อนฝูง ... ความยินดีแห่งการกลับคืนชีพเป็นความยินดีที่เกิดขึ้นภายหลัง – “หลังจากความกลัว”! ... นี่คือความยินดีอันเปี่ยมด้วยสันติสุข ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ที่สิ้นหวังที่สุด (ความตายบนไม้กางเขนของบุคคลหนึ่ง) จนถึงกับว่าไม่มีสิ่งใดสามารถพรากความยินดีนั้นไปจากเราได้นับตั้งแต่นี้ไป นี่คือความยินดี และสันติสุขที่เป็นผลมาจากความเชื่อแท้ในพระเยซูเจ้า ...

    การมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์แต่ละครั้งของเราก็เช่นเดียวกัน พระเยซูเจ้าประทาน “สันติสุข” แก่เราผ่านปากของพระสงฆ์ “ขอให้สันติสุขสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย” ... สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้รื้อฟื้นธรรมเนียมโบราณของ “จุมพิตมอบสันติสุข” กล่าวคือ คริสตชนได้รับเชิญให้แบ่งปันพระพรแห่งสันติสุขให้แก่กันและกันในพระนามของพระคริสตเจ้า ซึ่งกระทำในรูปของการจับมือกัน สวมกอดกัน ทักทายกัน หรือยิ้มให้กัน ... ด้วยคำว่า “ขอให้สันติสุขสถิตอยู่กับท่าน” หรือ “สันติสุขของพระคริสตเจ้า” ...

    นี่ไม่ใช่กิริยาที่กระทำเป็นกิจวัตร แต่หมายความว่าเราต้องการเป็นพระคริสตเจ้าสำหรับเพื่อนมนุษย์ของเรา ...

    “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” ...

“พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น ...”

    เราเข้าใจถูกต้องแล้ว พระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราเอง ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเป็นคนเลวทรามอย่างไร ข้าพเจ้าก็ยังเป็น “พระเยซูเจ้าที่ถูกส่งไปหาพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้า” เหมือนกับที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มา ...

    ขอให้เราอ่านและไตร่ตรองข้อความเหล่านี้ ขอให้เราอย่ารีบร้อนไปหา “โทมัสผู้ขี้สงสัย” ก่อนอื่น เราควรใช้ข้อความนี้เป็นหัวข้อภาวนา ... ขอให้เราตั้งใจฟังว่าพระองค์ทรงมอบหมายความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่อย่างไรแก่เรา พระองค์ทรงมอบหมายพันธกิจของพระองค์เองให้แก่พระศาสนจักร – ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีส่วนรับผิดชอบพันธกิจนี้ด้วย

    พระเยซูเจ้าทรง “ส่งข้าพเจ้าไป” ... เหมือนกับที่พระบิดาทรง “ส่งพระเยซูเจ้ามา” ... ข้าพเจ้าต้องค้นพบความหมายระดับลึกของสองคำนี้ พันธกิจ หรือ Mission แปลว่า “การส่งไป” (จากภาษาละตินว่า missio) ... และอัครสาวก หรือ Apostle แปลว่า “ถูกส่งไป” (จากภาษากรีกว่า apostolos)...

    เมื่อข้าพเจ้าพบใครในละแวกบ้าน หรือในสถานที่ทำงาน ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ที่นั่นในนามของข้าพเจ้าเอง และเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง แต่พระเยซูเจ้าทรงส่งข้าพเจ้าไปที่นั่น เพื่อทำงานในพระนามของพระองค์ และตามแผนการของพระองค์ – เหมือนกับที่พระบิดาทรงส่งพระเยซูเจ้ามา ...

    ข้าพเจ้ามีสารข้อหนึ่งจากพระเยซูเจ้าจะมอบแก่ท่าน พระองค์เป็นผู้ประทานสารนี้แก่ท่าน นั่นคือ พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า – ข้าพเจ้าเป็นปาก เป็นร่างกายของพระองค์ ที่อยู่ข้างกายของท่าน ... เพื่อเปิดเผยให้ท่านเห็นความรักของพระบิดา ...

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”

    การประทานพระจิตเจ้า ... “การเนรมิตสร้างครั้งใหม่” ... พระเยซูเจ้าประทานพระจิตของพระองค์ให้แก่ศิษย์ของพระองค์ ...

    พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ และ “เสด็จขึ้นสวรรค์ไปหาพระบิดา” – คริสตชนทั้งหลายต้องเป็นตัวแทนของพระองค์ ในร่างกายของคริสตชนทุกคนมี “ลมหายใจที่ให้ชีวิต” ของพระองค์ คือพระจิตเจ้า คริสตชนต้องสานต่องานของพระองค์ นักบุญเปาโลจะเขียนในจดหมายของเขาว่า “ท่านเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า ... ท่านเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า” และนักบุญยอห์นบอกเราว่า พระเยซูเจ้าทรงใช้กิริยาของพระเจ้า ผู้ทรงเนรมิตสร้างโลกในปฐมกาล 2:7 ...

    ตามความคิดของยอห์น เปนเตกอสเต หมายถึงคืนวันปัสกา งานสำคัญของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงชนะความตายแล้วคือการประทาน “พระจิตของพระผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 8:11) ... ในบทแสดงความเชื่อของเรา เรายืนยันว่าพระจิต “ทรงเป็นพระเจ้าผู้ประทานชีวิต” ... พระจิตเจ้าผู้ทรงถูกประทานแก่มนุษย์ในคืนวันปัสกา – พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้จะปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนในอีกห้าสิบวันหลังจากนั้น ในวันเปนเตกอสเต – พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ทรงเพิ่งจะกระทำอัศจรรย์ที่เป็น “ผลงานชิ้นเอก” ของพระองค์ด้วยการชิงตัวพระเยซูเจ้าจากอำนาจของความตาย และทรงเปิดเผยให้เห็นว่าพระองค์คือพระบุตรของพระเจ้าด้วยการกลับคืนพระชนมชีพ ... “โดยทางพระจิตเจ้า ผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้า โดยการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย"”(รม 1:4) ...

“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”

    “การอภัย” และ “การไม่อภัย” นี่คือรูปแบบไวยากรณ์ของภาษาอาราเมอิก ที่นำสองคำที่ตรงกันข้าม มาวางไว้ใกล้กัน เพื่อเน้นความเป็นจริงอย่างหนึ่งให้เด่นชัดขึ้น ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าประทานพระจิตของพระองค์แก่ศิษย์ของพระองค์แล้ว พระองค์ได้ประทานอำนาจให้เขา “ปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากพันธนาการของความชั่วในตัวของเขา” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศิษย์ของพระองค์ก็คือ “ผู้นำพระเมตตาของพระเจ้า” บนแผ่นดินนี้ – เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเคยเป็น!

    คริสตชนได้รับมอบหมายพันธกิจเดียวกันกับพันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าเป็นพันธกิจของพระองค์ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ เมื่อทรงเริ่มต้นงานเทศน์สอนของพระองค์ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ... ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ ... ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:18-19) ...

    ข้าพเจ้าเป็นผู้อัญเชิญพระจิตของพระองค์หรือเปล่า ... พระจิตผู้ทรงปลดปล่อย และประทานชีวิต ... พระจิตผู้ทรงรัก และให้อภัยในพระนามของพระเยซูเจ้า ...

    การให้อภัยเป็นพระหรรษทานแห่งปัสกา – เป็นของประทานจากพระเจ้าในโอกาสปัสกา!

โทมัส ... เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ... เขาบอกอัครสาวกคนอื่น ๆ ว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็น ... ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”

    โทมัสมาสาย ... เขามาถึงหลังจากศิษย์คนอื่น ๆ ได้พบพระเยซูเจ้าแล้ว

    ในพระวรสาร โทมัสเป็นบุคคลที่เชื่อแต่สามัญสำนึกของตนเสมอ เขาเป็น “นักสัจจะนิยม” ผู้สงสัยพระดำรัสของพระเยซูเจ้า เขาทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด” (ยน 14:5) เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงการกลับคืนชีพของลาซารัส โทมัสคิดไปว่าพระองค์ตรัสถึงความตายของพระองค์เอง (ยน 11:15-16)

แปดวันต่อมา ... พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง ... “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด ... อย่าสงสัยอีกต่อไป” ...

    พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้โทมัสคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกอยู่นานถึงหนึ่งสัปดาห์ ...

    ข้าพเจ้านึกภาพในจินตนาการได้ว่าพระองค์คงเสด็จมาพร้อมกับรอยยิ้ม และตรัสกับโทมัสทำนองนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านคิดจริง ๆ หรือว่าเราตายไปแล้ว และไม่ได้อยู่ที่นี่ เมื่อท่านแสดงความไม่เชื่อกับเพื่อน ๆ ของท่าน ... แต่เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เวลานั้นแล้ว เราฟังคำสนทนาของท่านอยู่  แม้ว่าท่านมองไม่เห็นเรา ... แต่เราไม่แสดงตัวให้ท่านเห็นในเวลานั้น ...

    พระเจ้าทรงอดทนเหลือเกิน พระองค์ทรงมีเวลาเสมอ ...

โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า ...

    นี่คือเสียงตะโกนแสดงของความเชื่อของชายคนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ด้วย “การสัมผัส” อีกต่อไป
   
    บัดนี้ เขาเข้าใจแล้วว่า พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเขา แม้ว่าเขามองไม่เห็นพระองค์ก็ตาม พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น แม้แต่ในเวลาที่โทมัสกำลังแสดงความสงสัย …

“ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”

    นี่คือความสุขแท้อีกประการหนึ่ง – เป็นความสุขแท้ประการสุดท้าย

    ความเป็นจริงระดับสูงสุดของพระเจ้าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ... ความเชื่อเท่านั้นที่นำเราไปสัมผัสกับความเป็นจริงเหล่านี้ ...

    และนี่คือความสุขที่แท้จริงอย่างหนึ่ง ...