แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระจิตเจ้า
กิจการอัครสาวก 2:1-11; 1 โครินธ์ 12:3-7, 12-13; ยอห์น 20:19-23
 
บทรำพึงที่ 1
การประทับอยู่ของพระเจ้าในรูปแบบใหม่
วันเปนเตกอสเต คือวันเกิดของพระศาสนจักร และวันเริ่มต้นของการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเราในรูปแบบใหม่

    ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารอเมริกันจำนวนมากประจำการอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ในระยะแรกของสงคราม ทหารเหล่านี้อาศัยอยู่ในเต็นท์ และกินอาหารในโรงอาหาร ซึ่งไม่มีตู้เย็นหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเลย

    ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของรัฐบาลต้องการให้ทหารเหล่านี้ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น นมสดและไข่ แต่ไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าไม่มีอุปกรณ์แช่เย็น เพื่อให้ทหารเหล่านี้กินอาหารประเภทนี้ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพอาหารก่อน เขาต้องเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต้องแช่เย็น

    ดังนั้นอาหารรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น คือ อาหารผง ไข่และนมสดถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นผง บรรจุหีบห่อ และจัดส่งไปให้ทหารที่กำลังต่อสู้อยู่ที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

    เพียงเติมน้ำในอาหารผง ทหารก็สามารถกินไข่และนมได้ในรูปแบบใหม่ – รูปแบบที่สามารถนำมาบริโภคได้ทุกวันโดยไม่ต้องแช่เย็น

    คุณคงสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับวันสมโภชพระจิตเจ้าที่เราฉลองกันในวันนี้ เรื่องนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพระจิตเจ้าที่เรามักลืมนึกถึง

    เรามักลืมว่าวันสมโภชพระจิตเจ้า หรือวันเปนเตกอสเต เป็นการระลึกถึงห้วงเวลาที่พระเจ้าทรงเริ่มต้นประทับอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ในรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง

    สามสิบปีก่อนหน้านั้น พระเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ในรูปแบบ และในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า แต่เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้ การประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางประชากรของพระเจ้าจึงต้องจำกัดอยู่ภายในช่วงอายุขัยของมนุษย์คนหนึ่ง

    ดังนั้น ถ้าพระเจ้าจะประทับอยู่ท่ามกลางเราต่อไปหลังจากสิ้นอายุขัยของพระเยซูเจ้าในสภาพของมนุษย์คนหนึ่งแล้ว พระเจ้าต้องประทับอยู่ในรูปแบบใหม่ – รูปแบบที่ต่างจากร่างกายมนุษย์

    วันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นการระลึกถึงห้วงเวลาที่พระเจ้าทรงเริ่มต้นประทับอยู่ท่ามกลางเราด้วยวิธีใหม่ – มิใช่ในพระกายของพระเยซูเจ้า แต่ในการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าในรูปของจิต
    ดังนั้นเรื่องของการแปรรูปของไข่และนมสด จึงช่วยให้เรามองเข้าใจการเปลี่ยนรูปแบบการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเรา ซึ่งเริ่มต้นในวันเปนเตกอสเต

    นอกจากวันเปนเตกอสเตเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเราแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าท่ามกลางเราอีกด้วย เพราะบัดนี้ พระเยซูเจ้าก็ประทับอยู่กับเราในรูปแบบใหม่เช่นเดียวกัน

    บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเรา มิใช่ในสภาพของใครคนหนึ่งที่อยู่ข้างกายเรา แต่ทรงอยู่ในสภาพของใครคนหนึ่งที่พำนักอยู่ในตัวเรา พระเยซูเจ้าตรัสถึงความจริงข้อนี้ เมื่อพระองค์ทรงบอกศิษย์ของพระองค์ว่า “ที่เราไปนั้นก็เป็นประโยชน์กับท่าน” (ยน 16:7) พระองค์ทรงบอกเขาด้วยว่า “เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน” (ยน 14:18)

    ดังนั้น วันสมโภชพระจิตเจ้าจึงเป็นวันที่เราระลึกถึงห้วงเวลาที่พระเจ้า และพระเยซูเจ้า ทรงเริ่มต้นประทับอยู่ท่ามกลางเราในรูปแบบใหม่

    ยังมีข้อคิดที่สองเกี่ยวกับวันสมโภชพระจิตเจ้า คือ นอกจากเป็นวันเริ่มต้นของการประทับอยู่ในรูปแบบใหม่ของพระเจ้าท่ามกลางเราแต่ละคนแล้ว ยังเป็นวันเริ่มต้นของการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเราเป็นส่วนรวมด้วย เพราะพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในตัวเรา เราจึงสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในแบบใหม่ พระเยซูเจ้าตรัสอำลาศิษย์ของพระองค์ว่า “ในวันนั้น (วันที่พระจิตเจ้าเสด็จมา) ท่านจะรู้ว่า เราอยู่ในพระบิดาของเรา ท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน” (ยน 14:20)

    ดังนั้น อาศัยการรวมเป็นหนึ่งเดียวของเรากับพระเยซูเจ้าในแบบใหม่ บัดนี้เราจึงรวมตัวเป็นกายเดียวกันกับพระองค์ พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เรากลายเป็นสิ่งที่นักบุญเปาโลเรียกว่า พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า

    และดังนั้น วันเปนเตกอสเตจึงไม่ได้เป็นเพียงวันเริ่มต้นของการประทับอยู่ของพระเจ้าในรูปแบบใหม่ท่ามกลางเราแต่ละคน แต่ยังเป็นวันเริ่มต้นของการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเราเป็นส่วนรวมอีกด้วย วันนี้เป็นวันเกิดของพระกายพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักร วันนี้เป็นวันเกิดของครอบครัวใหม่ของพระเจ้า

    เรื่องเล่าต่อไปนี้จะช่วยให้เข้าใจความหมายของคำอธิบายทั้งหมดข้างต้นนี้ เมื่อหลายปีก่อน จิตรกรคนหนึ่งได้รับจ้างให้วาดภาพที่อธิบายว่าพระเจ้าทรงเรียกทุกชนชาติให้มารวมเป็นครอบครัวเดียวกันผ่านทางพระศาสนจักร จิตรกรคนนี้ตัดสินใจวาดภาพตามบทเพลงเก่าแก่ที่มีเนื้อร้องว่า “เด็กนับพันนับหมื่นคนยืนเรียงรายรอบพระบัลลังก์ของพระเจ้าในสวรรค์”

    หลังจากจิตรกรคนนี้ใช้เวลานานหลายสัปดาห์เขาก็วาดภาพเสร็จ กลางดึกคืนหนึ่ง หลังจากที่เขาหลับไปได้ไม่นาน เขารู้สึกว่าเขาได้ยินเสียงดังมาจากห้องทำงานของเขา เมื่อเขาลุกขึ้นไปตรวจดู เขาพบชายแปลกหน้าคนหนึ่งกำลังเปลี่ยนภาพวาดของเขา ชายคนนั้นกำลังเปลี่ยนสีผิวบนใบหน้าของเด็ก ๆ บัดนี้ เด็กคนหนึ่งผิวหน้าสีแดง อีกคนหนึ่งผิวสีน้ำตาล อีกคนหนึ่งผิวหน้าสีดำ และอีกคนหนึ่งผิวหน้าสีเหลือง

    จิตรกรร้องตะโกนว่า “คุณกำลังทำอะไร”
    ชายแปลกหน้าตอบว่า “เรากำลังเปลี่ยนภาพวาดของเธอ ภาพที่เธอวาดมีแต่คนหน้าสีขาวที่ตอบเสียงเรียกของเรา”
    จิตรกรถามว่า “เสียงเรียกของคุณหรือ”
    ชายแปลกหน้าตอบว่า “ใช่ เราบอกศิษย์ของเราว่า ‘ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้’ (มก 10:14)
    “เราบอกศิษย์ของเราเช่นนี้ในยุคพระวรสาร และเรายังคงบอกเขาเช่นนี้ในเวลานี้”

    จิตรกรสะดุ้งตื่นและรู้ตัวว่าเขาได้ฝันไป เช้าวันรุ่งขึ้น เขาจึงเปลี่ยนภาพวาดของเขาให้เป็นไปตามความฝันของเขา พระศาสนจักรเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อตรัสกับเราว่า “ปล่อยให้เด็กทุกชาติเข้ามาหาเราและเป็นครอบครัวเดียวกันเถิด”

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่า
    วันเปนเตกอสเตเป็นจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์เดิมของเรากับพระองค์
    และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ใหม่

    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่า
    ความสัมพันธ์ใหม่นี้มอบหมายความรับผิดชอบใหม่แก่เรา
    ความรับผิดชอบนี้คือให้เราเผยแผ่พระวรสาร
    มิใช่เพียงภายในเขตวัดของเรา
    แต่ทั่วไปในโลกอีกด้วย

    นี่คือกระแสเรียกที่พระจิตเจ้าทรงเรียกเราให้ปฏิบัติ
    ทั้งในระดับส่วนตัว และส่วนรวม

    โปรดทรงช่วยเราให้ปฏิบัติตามกระแสเรียกของเรา
    ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความกล้าหาญ และด้วยความตั้งใจจริงด้วยเทอญ

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:19-23

ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์...
    ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าทรงประทานพระจิตเจ้าแก่อัครสาวกในเวลาค่ำของวันปัสกานั้นเอง – หลังจากพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ... และพระศาสนจักรก็เกิดขึ้นมาจากลมหายใจของพระเยซูเจ้า!...

    ถ้าเราเปรียบเทียบคำบอกเล่านี้กับคำบอกเล่าของนักบุญลูกาในหนังสือกิจการอัครสาวก เราจะพบว่าพระเยซูเจ้าดูเหมือนมีบทบาทสำคัญกว่าบทบาทของพระจิตเจ้า ... เรารู้ว่าเมื่ออ่านพระวรสารของนักบุญยอห์น เราต้องมองหาความคิดทางเทววิทยาที่ลึกซึ้งที่แสดงออกมาทางสัญลักษณ์

    “วันนั้นเป็นวันต้นสัปดาห์” เป็นวันเริ่มต้นของโลกใหม่ ... วันที่การเนรมิตสร้างครั้งใหม่เกิดขึ้น นี่คือปฐมกาลครั้งใหม่ พระเจ้าทรงประคองมนุษย์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง – และทรงปั้นเขาขึ้นมาใหม่ด้วย “ดินเหนียว” ใหม่!

    นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คริสตชนมาชุมนุมกันมิได้ขาด ตั้งแต่ “วันต้นสัปดาห์” ครั้งหนึ่งจนถึง “วันต้นสัปดาห์” อีกครั้งหนึ่ง ... จากวันอาทิตย์หนึ่งจนถึงอีกวันอาทิตย์หนึ่ง พระศาสนจักรยังดำรงอยู่ต่อไปจนถึงวันนี้ ผ่านการชุมนุมเป็นระยะ ตลอดระยะเวลาเป็นเดือน เป็นปี และเป็นศตวรรษ...

    ก่อนจะสร้างคริสตชนคนหนึ่งขึ้นมาได้ต้องผ่านวันอาทิตย์มากมายหลายครั้ง ... ตามจังหวะของ “การเสด็จมา” ของพระเยซูเจ้า ... เรายังคิดอยู่หรือเปล่าว่าการร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์เป็นหน้าที่ อันที่จริง มิสซาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ... จำเป็นเหมือนกับการหายใจของเรา – และเราต้องหายใจไม่ใช่เพียงปีละหนึ่งครั้งไม่ใช่หรือ...

ห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่ เพราะกลัวชาวยิว...

    ความกลัว! ... เราสร้างโลกของเราขึ้นมาจากความกลัวเสมอ!  “มาตรการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์” เป็นเครื่องมือปลูกฝังความกลัวไว้ในความคิดของผู้อื่น...

    ก่อนข้าพเจ้าจะรำพึงต่อไป ข้าพเจ้าต้องค้นหาความกลัวในชีวิตของข้าพเจ้าเองอย่างจริงใจ ... เพราะสถานที่แห่ง “การกลับคืนชีพในวันปัสกา” เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาศิษย์ขังตนเองไว้ภายใน – นี่คือสถานที่แห่งความกลัวของเขา...

    และพระจิตของพระเจ้าสามารถเข้ามาสู่ชีวิตของข้าพเจ้าได้ ผ่านทางและใน “บาดแผล” ภายในนั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าพบกับความอ่อนแอ อันตราย และความทุกข์ทรมาน...

    ข้าพเจ้า “ปิดประตูขังตนเอง” อยู่ภายในสถานการณ์ใด ... พฤติการณ์ บาป และความวิตกกังวลใด ที่ขังข้าพเจ้าไว้เป็นนักโทษ?...

    นักบุญเปาโลตระหนักในความเป็นจริงข้อนี้ และมองว่าเป็นความตายอย่างหนึ่ง “ความตายกำลังทำงานอยู่ในเรา ... แต่เราไม่ท้อถอย แม้ว่าร่างกายภายนอกของเรากำลังเสื่อมสลายไป จิตใจของเราที่อยู่ภายในก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในแต่ละวัน ความทุกข์ยากลำบากเล็กน้อยของเราในปัจจุบันนี้ กำลังเตรียมเราให้ได้รับสิริรุ่งโรจน์นิรันดรอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้” (2 คร 4:12, 16-17)...

พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง

    ยอห์น มีจุดประสงค์ที่เขาเชื่อมโยงเหตุการณ์กลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเข้ากับการประทานพระจิตเจ้า ในบทแสดงความเชื่อของสังคายนานีเชอา เราประกาศยืนยันว่าพระจิตเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้บันดาลชีวิต” พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกที่ได้รับพระพรแห่งชีวิตนี้ เพราะการชิงตัวพระเยซูเจ้ามาจากอำนาจของความตายเป็นผลงานชิ้นเอกของพระจิตของพระเจ้า!

    ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นของเราไม่มีธรรมชาติพระเจ้า ดังนั้นจึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในตัวตนนี้ “จิต” และ “กาย” ถูกพันธนาการไว้ด้วยกัน ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่ว่าจิตในตัวเราจะแข็งแกร่งเพียงไร ก็ยังต้องพบกับความล้มเหลวขั้นสูงสุด ซึ่งทำให้จิตไม่สามารถยื้อให้อยู่กับร่างกายต่อไปได้ “การเป็นมนุษย์” หมายถึง “การรู้จักตาย” ด้วย

    ต่างจากโลกที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโลกที่รู้จักตาย พระคริสตเจ้าไม่ได้มีเพียงจิตมนุษย์ที่มีข้อจำกัด แต่ทรงมีพระจิตของพระเจ้าซึ่งปราศจากข้อจำกัด พระจิตของพระองค์แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากจิตมนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของความตาย เพราะพระองค์ทรงครอบครองพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม พระจิตเจ้า “ผู้ทรงเป็นพระเจ้าผู้บันดาลชีวิต”...

    พระเยซูเจ้าทรงทำลายทุกสิ่งที่เป็นอุปสรรค การปรากฏพระองค์อย่างฉับพลันท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ที่ขังตัวอยู่ภายในห้องนั้น เป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่า ไม่มีอุปสรรคใดสามารถขัดขวางไม่ให้พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ได้ ... เช้าวันนี้ พระองค์ทรงได้รับลมปราณแห่งชีวิต “ใหม่” ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเป็น “กายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” กล่าวคือ ร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วยชีวิตของพระจิตเจ้า (1 คร 15:44) ... หลังจาก “พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ ... ทรงได้รับการเทิดทูนให้ประทับเบื้องขวาของพระเจ้า พระองค์ทรงได้รับพระจิตเจ้าจากพระบิดาตามพระสัญญา” (กจ 2:33) ... พระเยซูเจ้าประทานพระจิตเจ้าให้แก่มิตรสหายของพระองค์ทันที...

    การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เป็นผลงานของพระจิตเจ้าอย่างแท้จริง...

พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย

    ท่านสงสัยหรือไม่ว่าการกลับคืนชีพในวันปัสกาเกิดขึ้นที่ใด? ... ท่านรู้สึกว่าท่านรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าได้ยากหรือเปล่า?...

    ขอให้ลองค้นหาแผลเป็น หรือบาดแผลของท่าน ... ท่านมีบาดแผลที่ใดบ้าง ... ในหัวใจ ในชีวิต รวมถึงในชีวิตของโลก และในพระศาสนจักร...

“สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ... เมื่อบรรดาศิษย์เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี
    ความกลัวเปลี่ยนเป็นความยินดี – เมื่อพวกเขาได้รับสันติสุข...

“พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”

    พวกเขา “ปิดประตูขังตัวเอง” แต่บัดนี้ พวกเขา “ถูกส่งไป”...

    การส่งไปปฏิบัติพันธกิจนี้ต่างจากการปฏิบัติพันธกิจขององค์กรหนึ่ง อีกทั้งไม่ใช่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่วางแผนไว้อย่างรอบคอบ ... และพระเยซูเจ้าไม่ทรงคำนึงถึงเครื่องมือซึ่งพระศาสนจักรจะต้องใช้เพื่อทำหน้าที่ธรรมทูตด้วย...

    สำหรับพระองค์ สิ่งเดียวที่สำคัญ คือ ต้นกำเนิดของพันธกิจ นั่นคือ “ความผูกพันอันใกล้ชิดที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา” ... ท้ายที่สุดแล้วก็มีพันธกิจเพียงหนึ่งเดียว คือพันธกิจของพระบิดา ซึ่งเป็นพันธกิจของพระเยซูเจ้า และกลายเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร...

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย...

    ยอห์นใช้ศัพท์พระคัมภีร์ ซึ่งชวนให้นึกถึงสองข้อความที่รู้จักกันดี
    -    การเนรมิตสร้างครั้งแรก “พระเจ้าทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา” (ปฐก 2:7)
    -    การเนรมิตสร้างครั้งสุดท้าย “จงเป่าลมเข้าไปในผู้ที่ถูกฆ่าเหล่านี้ ให้เขามีชีวิตอีก” (อสค 37:9)

    เคยมีการเนรมิตสร้างครั้งหนึ่ง “ในอดีต” คือกำเนิดของชีวิตที่จุดเริ่มต้นของกาลเวลา ... จะมีการเนรมิตสร้าง “ในอนาคต” คือการกลับคืนชีพในวันสุดท้าย – และยังมีการเนรมิตสร้างที่เกิดขึ้นตลอดเวลาอีกด้วย คือ “ลมปราณ” ของพระเจ้า “กำลังทำงานอยู่ตลอดเวลา”... ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า พระเจ้าผู้บันดาลชีวิต...

    “ลมแห่งชีวิต” – ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่งที่อธิบายเรื่องการประทับอยู่ของพระเจ้าที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาในโลก ด้วยสิ่งที่ธรรมดาที่สุด แต่จำเป็นที่สุด คือ การหายใจ? สิ่งมีชีวิตทั้งปวง ตั้งแต่จุลินทรีย์ไปจนถึงสัตว์ป่า ล้วนต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ นี่คือสิ่งที่เสนอให้แก่ทุกสิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนดาวเคราะห์ดวงนี้ – และข้าพเจ้าก็ต้องการอากาศหายใจเหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย...

    นี่คือภาพลักษณ์อันโดดเด่นของพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้ทรงทำให้เราทุกคนมีชีวิต ... เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสกับนิโคเดมัส พระองค์ก็ทรงใช้ภาพลักษณ์ของ “ลม” ซึ่ง “พัดไปในที่ลมต้องการ” และให้ชีวิต (ยน 3:6-8) 

“จงรับ...

    ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากบิดามารดาของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากอากาศที่ข้าพเจ้าสูดเข้าไป ... ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งให้อาหารแก่ข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งต่าง ๆ นับพันอย่าง ต้องอาศัยบุคคลเป็นพัน ๆ คน และสถานการณ์อีกนับไม่ถ้วน...

    “จงรับไปกินเถิด นี่คือกายของเรา” – แต่เราต้อง “รับ” พระกายนี้

    “จงรับพระจิตเจ้า” – แต่เราต้อง “รับ” พระจิตเจ้านี้...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานพระหรรษทานให้เรายินดีต้อนรับ – ให้เราทั้งยอมรับ และได้รับ – ของประทานที่พระองค์ทรงเสนอแก่เรา...

... พระจิตเจ้า...

    มนุษยชาติต้องรับคณะจิต (community of Spirit) ซึ่งดำรงอยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตร ที่ประกอบด้วยมากกว่าหนึ่งพระบุคคล แต่เป็นหนึ่งเดียวกัน...

    เราค้นพบว่า ในพันธกิจของพระศาสนจักร ไม่ได้มีเพียงพระบิดา และพระบุตรผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา ... แต่ยังมีธรรมล้ำลึกแห่งสามพระบุคคล...

ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย

    บทบาทและพันธกิจของพระศาสนจักร คือ การประกาศการให้อภัยบาป และความรอดพ้น

    เราพบเห็นพัฒนาการของความคิดในหน้านี้ของพระวรสารของนักบุญยอห์น คือ
    -    มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้สัมผัสรับรู้การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า หลังจากพระองค์กลับคืนพระชนมชีพ...
    -    ผลจากประสบการณ์นี้ คือ คนกลุ่มนี้ถูกส่งออกไปปฏิบัติพันธกิจ...
    -    พันธกิจสามารถเป็นไปได้ด้วยการประทานพระจิตเจ้า...
    -    พันธกิจนี้ คือ ให้ส่งมอบการให้อภัย ความรอดพ้น และความศักดิ์สิทธิ์ ให้ผู้อื่นต่อไป

    ดังนั้น งานของพระศาสนจักรจึงเป็นการปลดปล่อย ... เป็นการเสนอความรักอันไร้ขอบเขตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์

    ข้อความที่มีรูปแบบเชิงลบ ไม่ได้หมายความว่าพระศาสนจักรสามารถใช้อำนาจได้โดยพลการ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “พระเจ้าจะให้อภัยฉันหรือไม่?” – ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าเป็นคำตอบสำหรับคำถามนี้แล้ว

    แต่ยังมีอีกคำถามหนึ่งว่า “ฉันจะยอมรับการให้อภัยนี้หรือไม่?”