แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระตรีเอกภาพ
เฉลยธรรมบัญญัติ 4:32-34, 39-40; โรม 8:14-17; มัทธิว 28:16-20

บทรำพึงที่ 1
สามใบหน้า
ในพระเทวภาพหนึ่งเดียว มีสามพระบุคคล คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

    เดนิส เฮย์ส เป็นนักอนุรักษ์สภาพแวดล้อมที่ได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไป เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Ray of Hope: The Transition to a Post-Petroleum World (ลำแสงแห่งความหวัง: การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกหลังยุคปิโตรเลียม) หนังสือของ เฮย์ส สรุปได้สั้น ๆ ว่า โลกของเรามีทรัพยากรปิโตรเลียมอย่างจำกัด และกำลังร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น มนุษยชาติจึงกำลังมุ่งหน้าไปสู่ทางแยก เมื่อเข้าไปใกล้ทางแยกนี้ เราจะเห็นป้ายบอกทางที่มีเครื่องหมายเป็นลูกศรขนาดใหญ่สองอัน ลูกศรอันแรกชี้ไปทางซ้าย และระบุคำว่า “พลังงานนิวเคลียร์” ลูกศรอันที่สองชี้ไปทางขวา และระบุคำว่า “พลังงานแสงอาทิตย์”

    คำถามข้อใหญ่ที่มนุษยชาติต้องตัดสินใจคือควรเลือกเดินทางใด จะเลือกทางที่ชี้ไปหา “พลังงานนิวเคลียร์” หรือทางที่ชี้ไปหา “พลังงานแสงอาทิตย์”

    เฮย์ส คิดว่าเราควรเดินตามลูกศรที่ชี้ไปในทิศทางของ “พลังงานแสงอาทิตย์” เขาอ้างเหตุผลต่าง ๆ เช่น

    ข้อแรก พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่แหล่งพลังงานที่คนส่วนน้อยหรือชาติที่ร่ำรวยเท่านั้นสามารถเข้าถึงได้ แต่เป็นแหล่งพลังงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

    ข้อที่สอง พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่แหล่งพลังงานที่อันตราย ที่สามารถสร้างหายนะให้แก่สภาพแวดล้อมของเราได้ แต่พลังงานนิวเคลียร์เป็นอันตราย

    ข้อที่สาม พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ทำให้เกิดภัยจากการก่อการร้าย ต่างจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าอยู่ในมือของบุคคลที่คิดร้าย จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ทำลายล้างมนุษยชาติได้
 
    เฮย์ส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ว่า นอกจากดวงอาทิตย์จะส่องแสงขับไล่ความมืดออกไปจากโลกของเราแล้วยังให้ความอบอุ่นแก่โลกด้วย บัดนี้ ดวงอาทิตย์พร้อมและกำลังรอคอยจะให้พลังงานแก่กิจกรรมต่าง ๆ ของโลกเรา

    เราอาจคิดก็ได้ว่าดวงอาทิตย์เป็นเหมือนเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่และใจดีที่อยู่บนท้องฟ้า และมีสามหน้าที่ยิ้มแย้ม แต่ละหน้ายิ้มให้เราด้วยวิธีที่ต่างกัน และรอยยิ้มของแต่ละหน้าก็สร้างประโยชน์ให้แก่เราในลักษณะที่ต่างกัน

    ใบหน้าแรกยิ้มให้ และรอยยิ้มนั้นส่งลำแสงที่ส่องสว่างโลกของเรา ใบหน้าที่สองยิ้มให้ และรอยยิ้มนั้นส่งลำแสงความร้อน เพื่อทำให้โลกของเราอบอุ่น ใบหน้าที่สามยิ้มให้ และรอยยิ้มนั้นส่งลำแสงที่ให้พลังงานแก่โลกของเรา

    เรามีเพื่อนเพียงหนึ่งเดียวบนท้องฟ้า แต่เพื่อนหนึ่งเดียวของเรานั้นมีสามหน้าที่แตกต่างกัน และทุกครั้งที่หน้าหนึ่งยิ้ม ก็ทำให้เราได้รับประโยชน์อย่างหนึ่ง

    ข้อสังเกตของเฮย์ส เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ เป็นอารัมภบทที่เหมาะสมสำหรับวันฉลองของเราในวันนี้ คือ ฉลองธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพ

    ธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพบอกเราว่า ในพระเจ้ามีสามพระบุคคลที่แยกออกจากกัน พระบิดาทรงเป็นพระเจ้า พระบุตรทรงเป็นพระเจ้า และพระจิตทรงเป็นพระเจ้า แต่เราไม่ได้มีพระเจ้าสามพระองค์ เรามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ในกรณีนี้เองที่ความคิดของเฮย์สเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ช่วยให้เราเข้าใจธรรมล้ำลึกนี้ได้

    เราสามารถคิดถึงพระเจ้าในลักษณะเดียวกับที่เราคิดถึงดวงอาทิตย์ คือ มีสามหน้า อันที่จริงนี่คือภาพลักษณ์ที่ โรมาโน การ์ดินี นักเขียนหนังสือเสริมศรัทธา ใช้ในหนังสือของเขาชื่อ The Life of Faith (ชีวิตความเชื่อ)

    ใบหน้าที่หนึ่งคือพระพักตร์ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบิดา เมื่อพระพักตร์ของพระบิดายิ้ม นั่นคือจุดกำเนิดของเรา และเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง ตั้งแต่ดวงดาวที่ทำให้ยามค่ำของเรางดงาม จนถึงนกที่ทำให้กลางวันของเราเต็มไปด้วยเสียงเพลง จนถึงปลาที่ทำให้ท้องทะเลของเราอุดมด้วยอาหาร

    ใบหน้าที่สองคือพระพักตร์ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตร เมื่อพระพักตร์ของพระบุตรยิ้ม พระเจ้าก็เสด็จลงมาจากสวรรค์ มารับธรรมชาติมนุษย์ มาเดินเคียงข้างเรา และสอนเราให้รู้จักดำเนินชีวิต และรู้จักรัก

    ท้ายที่สุด คือพระพักตร์ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระจิต เมื่อพระพักตร์ของพระจิตยิ้ม พระเจ้าก็เสด็จเข้ามาประทับในตัวเรา ทำให้เราเป็นพระวิหารของพระเจ้าสูงสุด – ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่นักบุญเปาโลใช้ เมื่อเขียนจดหมายถึงคริสตชนในเมืองโครินธ์ นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า ผู้สถิตอยู่ในท่าน ท่านได้รับพระจิตนี้จากพระเจ้า” (1 คร 6:19)

    ดังนั้นเราจึงอาจคิดถึงพระเจ้าเหมือนกับที่เราคิดถึงดวงอาทิตย์ คือ เป็นเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่ที่รักเรา เพื่อนผู้นี้มีสามหน้า แต่ละหน้ายิ้มให้เราในลักษณะที่ต่างกัน และให้ประโยชน์แก่เราในลักษณะที่ต่างกัน

    เมื่อพระพักตร์ของพระเจ้า พระบิดา ยิ้มให้เรา พระองค์ทรงเนรมิตสร้างเราจากความว่างเปล่า

    เมื่อพระพักตร์ของพระเจ้า พระบุตร ยิ้มให้เรา พระเจ้าทรงกลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา และทรงร่วมรับธรรมชาติมนุษย์ของเรา
    เมื่อพระพักตร์ของพระเจ้า พระจิต ยิ้มให้เรา พระเจ้าทรงยกฐานะเราให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้สร้างของเรา ทรงให้เราร่วมรับพระธรรมชาติของพระเจ้า

    นี่คือคำสั่งสอนในบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราฉลองกันในวันนี้ นี่คือข่าวดีที่พิธีกรรมในวันนี้กำลังประกาศแก่ชาวโลก

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการแสดงความเคารพต่อพระตรีเอกภาพ ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของศาสนาของเราไปแล้ว นั่นคือ การทำเครื่องหมายกางเขน

    เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 28:16-20

    เพื่อเฉลิมฉลองพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง พระศาสนจักรประกาศพระวรสารแก่เรา โดยเลือกห้าข้อสุดท้ายของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว – เพราะมีถ้อยคำว่า “ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต”

    เราจะเห็นว่า มัทธิวเหมือนกับจะย่อพระวรสารทั้งฉบับของเขาไว้ในบทสรุปนี้ ข้อความเหล่านี้มีความหมายทางเทววิทยาที่ลึกซึ้งมาก เหมือนกับเป็น “คำประกาศยืนยันความเชื่อ” ของเราทีเดียว

บรรดาศิษย์ทั้งสิบเอ็ดคนได้ไปยังแคว้นกาลิลี...

    ข้อความนี้บอกให้เรารู้ว่า “พระศาสนจักรคือใคร” นี่คือ “พระศาสนจักรของนานาชาติ” – ไม่ใช่พระศาสนจักรของชาวยิวเท่านั้น...

    พระเยซูเจ้าทรงเชิญศิษย์ของพระองค์ให้ออกจากกรุงเยรูซาเล็ม (มธ 28:7) ซึ่งจนถึงเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของศาสนา เป็นสถานที่ประทับของพระเจ้า ... ในคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว ไม่มีการสำแดงพระองค์ “อย่างเป็นทางการ” แก่อัครสาวกในกรุงเยรูซาเล็ม จริงอยู่ที่พระองค์ทรงสำแดงพระองค์แก่สตรีบางคน และทรงมอบหมายให้พวกนางนำสารของพระองค์ – แต่นี่คือการสำแดงพระองค์เป็นส่วนตัว พระองค์ทรงขอให้อัครสาวกไปชุมนุมกันใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” – ซึ่งเป็นชุมทางและมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ (มธ 4:15)

    พระศาสนจักรเริ่มต้นขึ้น “ในกาลิลี” เมื่อพูดตามหลักเทววิทยา ภูมิภาคนี้ได้เข้ามาแทนที่กรุงเยรูซาเล็ม และกลายเป็นศูนย์กลางของการแผ่ขยายของชุมชนใหม่ ... ในบทแรก ๆ ของพระวรสารของมัทธิว เขาได้บอกเราเรื่อง “โหราจารย์จากทิศตะวันออก” ผู้ลึกลับ ที่เดินทางมาจากดินแดนของคนต่างศาสนา และมากราบนมัสการเบื้องหน้าพระกุมารเยซู – ในขณะที่กรุงเยรูซาเล็มไม่ยินดีต้อนรับพระองค์...
    ข้าพเจ้าคิดว่าพระศาสนจักรเป็นเช่นนี้หรือเปล่า คือ เป็นพระศาสนจักรที่เปิดประตูออกไปสู่โลกที่จำเป็นต้องได้ยินข่าวดี ... และมิใช่พระศาสนจักรที่หวาดกลัวจนต้องขังตัวอยู่ภายในกำแพงบ้านของตนเอง?...

... ถึงภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดไว้

    คำว่า “พระศาสนจักร” ในภาษากรีก คือ ekklesia แปลว่า “การชุมนุมของผู้ที่ได้รับเรียก” คริสตชนคือคนทั้งหลายที่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงเรียกให้มาชุมนุมกัน...

    ทุกวันอาทิตย์ เมื่อข้าพเจ้ามาร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณ ข้าพเจ้ารู้ตัวหรือไม่ว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะมา แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกข้าพเจ้า? ... ข้าพเจ้ากำลังตอบรับคำเชิญ ความเชื่อของข้าพเจ้าไม่ใช่การสาธยายด้วยสติปัญญา แต่เป็นการตอบสนองของข้าพเจ้าต่อใครคนหนึ่งที่เรียกข้าพเจ้า...

    บท “ภูเขา”...

    มัทธิวไม่เคยเอ่ยชื่อภูเขานี้ แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ “ภูเขา” มักเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเป็นครั้งแรกบนภูเขา (“บทเทศน์บนภูเขา”, มธ 5:1-8:1) ทรงอธิษฐานภาวนา (มธ 14:23) ... ทรงทวีจำนวนขนมปัง (15:29) ... ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ต่อหน้าอัครสาวก (17:1-9) บนภูเขา…

    ข้าพเจ้าให้เวลาตนเองใคร่ครวญภาษาสัญลักษณ์นี้ ... ข้าพเจ้ายอมให้ตนเอง “ได้รับเรียก” จากพระเยซูเจ้าให้ขึ้นไปบน “ภูเขา” ... ข้าพเจ้ายอมให้พระองค์ทรงขยายขอบฟ้าของข้าพเจ้า ... สถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญข้าพเจ้าขึ้นไปนี้งดงามตระการตา ... และบนที่สูงนี้ เราสามารถสูดอากาศที่เย็นและสดชื่น...    

เมื่อเขาเห็นพระองค์ ก็กราบนมัสการ...

    “การกราบ” เป็นกิริยาที่ชาวตะวันออกมักใช้ในการนมัสการพระเจ้า และเยาวชนทุกแห่งหนกำลังค้นพบอีกครั้งหนึ่ง คือ หมอบราบลงกับพื้น หรืออย่างน้อยก็ก้มหน้าจนหน้าผากแตะพื้น – นี่คือกิริยาของการนมัสการอย่างเป็นทางการ ... เป็นท่าที่อ่อนน้อมที่สุดเท่าที่มนุษย์สามารถแสดงออกได้...

    ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว “การหมอบกราบ” เป็นกิริยาที่อัครสาวกสิบสองคนแสดงออกในเรือ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงช่วยเขาให้รอดชีวิตจากลมพายุ (14:33) ... และเป็นกิริยาของโหราจารย์ที่ไม่ใช่ชาวยิว (2:11) ของคนโรคเรื้อน (8:2) ของหญิงชาวคานาอัน (15:25)…

    ข้าพเจ้านมัสการพระเจ้าเช่นนี้เป็นครั้งคราวหรือเปล่า ... ข้าพเจ้ารักษาความสงบเงียบในตัวข้าพเจ้า และคิดถึงพระเดชานุภาพของพระผู้ประทับอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้าหรือเปล่า?...

แต่บางคนยังสงสัยอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้...
    พระศาสนจักรที่นมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่นี้ ยังคงเป็นพระศาสนจักรของคนบาป บรรดาอัครสาวกก็ไม่ต่างจากเราทั้งหลาย ความเชื่อของอัครสาวกกลุ่มแรกยังเจือปนด้วยความสงสัยและความคลุมเครือ – นี่คือความเชื่อ “ระหว่างทาง” ... พระศาสนจักรที่ต้อนรับพระเยซูเจ้าจะเป็นพระศาสนจักรที่ประกอบด้วย “มนุษย์ผู้มีความเชื่อน้อย” เสมอ (มธ 14:31) พระศาสนจักรนี้ยังลดขนาดลงเพราะสมาชิกคนหนึ่งได้แปรพักตร์ กลุ่มอัครสาวกที่เคยมีสิบสองคน บัดนี้เหลืออยู่เพียงสิบเอ็ดคน...

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงแปลกพระทัย พระองค์เสด็จเข้ามาใกล้ เหมือนเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (17:7) ... พระเจ้าข้า โปรดเสด็จเข้ามาให้ใกล้กว่านี้ด้วยเทอญ มารานาธา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาคนทั้งหลายที่ไม่สามารถประกาศยืนยันความเชื่อได้อย่างเต็มปาก ... โปรดทรงเมตตาเยาวชนจำนวนมาก คนสมัยใหม่จำนวนมากที่ “ไม่อาจทำใจให้เชื่อได้”...

    โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าด้วย เพราะบางครั้งความเชื่อของข้าพเจ้าก็เจือปนด้วยความสงสัย... 

... ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ... จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปจนสิ้นพิภพ”

    นี่เป็นถ้อยคำที่แสดงพระเดชานุภาพของพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ...

    หลังจากทรงดำเนินชีวิตอย่างช่างไม้จากนาซาเร็ธผู้ยากจนและไม่สำคัญ บัดนี้ความจริงเผยตัวออกมาแล้ว นี่คือหน้าสุดท้ายของคำบอกเล่า เป็นเหตุการณ์สุดท้ายในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง – แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลที่ไม่สามารถอธิบายได้ตามบรรทัดฐานของประวัติศาสตร์

    เราสังเกตคำว่า “ทั้งหมด ...ทุกข้อ” ซึ่งทำให้ข้อความนี้จริงจังอย่างยิ่ง มัทธิวย้ำถึงสี่ครั้งว่างานของพระเยซูเจ้าจะต้องเป็นงานที่สมบูรณ์ครบถ้วนและเป็นสากล นี่คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของงานของพระเจ้าเอง พระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ภายในความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกภพ เพื่อเปลี่ยนความครบถ้วนสมบูรณ์ของกิจการของมนุษย์  ในความครบถ้วนสมบูรณ์ของระยะเวลาและกาลเวลา! ... เราควรอ่านข้อเขียนของ ทิลลาร์ด เดอ ชาร์แดง ที่กล่าวว่า “ในด้านกายภาพ พระเยซูเจ้าทรงเติมเต็มและทำให้สมบูรณ์ ไม่มีธาตุใดในโลก ไม่มีชั่วขณะใดในกาลเวลา ที่เคยเคลื่อนไหว กำลังเคลื่อนไหว หรือสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากแรงกระตุ้นชี้นำของพระองค์ พื้นที่และระยะเวลาเต็มไปด้วยพระองค์ ... ในด้านกายภาพอีกเช่นกัน พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ ‘เผาผลาญ (consumes)’ เพราะโลกจะบรรลุถึงความบริบูรณ์ได้เพียงในการสังเคราะห์ครั้งสุดท้าย (final synthesis) เมื่อจิตสำนึกสูงสุด (supreme Consciousness) จะปรากฏเหนือความซับซ้อนอย่างมีระเบียบ ... ทุกเส้นสายของโลกจะลากมาบรรจบกันที่พระองค์ และขมวดเข้าด้วยกันในพระองค์ ... พระองค์เท่านั้นทำให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องระหว่างสสารและจิต”...

จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระบิดา พระบุตร และพระจิต
    พระบิดาทรงเป็น “บิดา” เพียงเพราะพระองค์ทรงสละพระองค์เองโดยสิ้นเชิง และทรงถ่ายทอดพระองค์เองทั้งครบให้แก่พระบุตรของพระองค์ พระบุตรทรงเป็น “บุตร” เพียงเพราะพระองค์ทรงสละพระองค์เองโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงมอบพระองค์เองเป็นของถวายแด่พระบิดา และพระจิตเจ้าจะเป็นเพียงความเปล่า ถ้าพระองค์ไม่ใช่ความรักที่พระบิดาและพระบุตรทรงมีต่อกัน...

    พระเจ้าทรงเป็นความรัก...

    แผนการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายแก่อัครสาวกของพระองค์ และแก่พระศาสนจักรของพระองค์ ประกอบด้วยการ “จุ่ม” มนุษยชาติ (นี่คือความหมายของคำว่า baptizo ในภาษากรีก) ลงไปในความสัมพันธ์รักที่ผูกพันพระบิดา พระบุตร และพระจิตไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ เครื่องหมายของศีลล้างบาป ซึ่งเหมือนกับเครื่องหมายของไม้กางเขน คือ “ชีวิตของบุคคลหนึ่งเพื่อผู้อื่น” เรารับศีลล้างบาป “ในนามของความรัก” และเราถูกจุ่มลงในกระแสน้ำแห่งความรักนี้...

    นี่คือโครงงานของพระศาสนจักร!

    บางครั้งเราอาจสงสัยว่าพระเยซูเจ้าทรงมีพระประสงค์จะสถาปนาพระศาสนจักรประเภทใด แน่นอนว่าพระคริสตเจ้าไม่ได้ทรงคิดถึงนครวาติกัน หรือพระสังฆราชผู้สวมหมวกมิตรา หรือองค์กรที่แบ่งเขตปกครองออกเป็นสังฆมณฑลและเขตวัด หรือสำนักงานบริหาร หรืออาคารทางศาสนา หรือพิธีกรรมอันสง่างามของพระศาสนจักรที่เหมือนกับราชสำนักในอดีต เราจำเป็นต้องพูดเช่นนี้ เพื่อว่าเราจะไม่กักขังพระศาสนจักรที่มีชีวิตไว้ภายในโฉมหน้าที่สวมอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งใด

    สิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงต้องการก็คือ “การรวบรวมมนุษย์ทุกคนให้มารวมเป็นหนึ่งเดียวกันในความรัก” พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระเจ้าทรงเป็นกลุ่มบุคคลที่รักกันและกันในเอกภาพแห่งพระจิตเจ้า เราจะพบแก่นแท้ของพระศาสนจักรได้ในธรรมชาติของพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้มีสามพระบุคคล

    ข้าพเจ้าได้รับศีลล้างบาปแล้ว ข้าพเจ้าได้ “จุ่มตัว” ในพระตรีเอกภาพแห่งความรัก คนทั้งหลายที่เห็นข้าพเจ้าดำเนินชีวิต และกลุ่มบุคคลที่ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่ง – เช่น ครอบครัว ทีมงานของข้าพเจ้า – สามารถรู้สึกได้หรือไม่ว่า “ข้าพเจ้าได้รับศีลล้างบาปในนามของผู้ใด”?...

... จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน

    พระเยซูเจ้าทรงบัญชาเราให้ทำอะไร? ... ให้รัก ... “ด้วยเครื่องหมายนี้ ทุกคนจะเห็นว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา ถ้าท่านรัก...”

    การรับศีลล้างบาปเท่านั้นยังไม่พอ เราต้องแสดงออกว่าเราเป็น “ศิษย์” ของพระเยซูเจ้าด้วยการกระทำต่าง ๆ ในชีวิตของเรา ... สำหรับพระเยซูเจ้า การสั่งสอนหลักศาสนาไม่ได้เป็นเพียงบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ แต่เป็นการฝึกดำเนินชีวิต “อย่างสอดคล้องกับความรัก”...
แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปจนสิ้นพิภพ”

    อิมมานูเอล = พระเจ้าสถิตกับเรา เมื่อทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่โยเซฟ (มธ 1:23) ทูตสวรรค์ได้กล่าวถึงกุมารที่จะเกิดมาว่าเขาจะเป็น อิมมานูเอล และโยเซฟได้ตั้งชื่อกุมารนี้ว่า เยซู ... แต่ในบรรทัดสุดท้ายของพระวรสารของมัทธิว เขาได้เปิดเผยคำตอบสำหรับปริศนาข้อนี้ว่า พระเยซูผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพนี้ แท้จริงแล้วคือ “พระเจ้าสถิตกับเรา”... ขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าข้า...