วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15-20; 1 โครินธ์ 7:32-35; มาระโก 1:21-28
บทรำพึงที่ 1
การสารภาพบาปของนักโทษ
พระเยซูเจ้ายังประทานอภัยและทรงขับไล่จิตชั่วต่อไป โดยอาศัยศีลอภัยบาป
เมื่อ ค.ศ. 1964 รัฐบาลโรมาเนียได้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และทางศาสนาจำนวนหนึ่ง คนหนึ่งในบรรดานักโทษเหล่านี้คือ ริชาร์ด วัมบรันด์ เขาเป็นพระสงฆ์
วัมบรันด์ถูกจองจำในคุกนานถึง 14 ปี และถูกขังเดี่ยวนานสามปี ในหนังสือของเขาชื่อ In God’s Underground (ในห้องใต้ดินของพระเจ้า) เขาบรรยายถึงช่วงเวลาที่เขาถูกขังเดี่ยว ห้องขังของเขาเป็นห้องใต้ดินที่ไม่มีหน้าต่าง มีหลอดไฟเพียงหนึ่งดวงที่ให้แสงสว่างตลอดวันตลอดคืน เตียงของเขาเป็นที่นอนฟางหยาบ ๆ ที่วางบนไม้กระดานสามแผ่น ในคุกไม่มีห้องสุขา เขาต้องรอคอยความกรุณาจากยาม ซึ่งบางครั้งปล่อยให้เขารอนานเป็นชั่วโมง และหัวเราะเยาะกับความทรมานของเขา
คืนหนึ่งวัมบรันด์ได้ยินเสียงเคาะเบา ๆ ที่กำแพงข้างเตียงของเขา นักโทษคนใหม่เพิ่งเข้ามาอยู่ในห้องขัง และกำลังส่งสัญญาณให้เขา วัมบรันด์เคาะตอบไป ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเคาะตอบกลับมาอย่างร้อนรน เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง วัมบรันด์ก็เข้าใจว่าบุคคลในห้องขังข้าง ๆ กำลังพยายามสอนรหัสง่าย ๆ แก่เขา เช่น เคาะหนึ่งครั้งหมายถึง A เคาะสองครั้งหมายถึง B เคาะสามครั้งหมายถึง C จากจุดเริ่มต้นง่าย ๆ นี้ เพื่อนข้างห้องของเขา ซึ่งเป็นพนักงานสื่อสารวิทยุ ได้สอนให้เขารู้จักรหัสมอร์ส
วัมบรันด์บอกพนักงานวิทยุผู้นั้นว่าเขาเป็นพระสงฆ์ แล้วถามต่อไปว่า เขาเป็นคริสตชนหรือเปล่า เพื่อนข้างห้องเงียบไปนาน ในที่สุดเขาก็เคาะตอบมาว่า “ผมคงพูดเช่นนั้นไม่ได้”
ชายสองคนนี้พูดคุยกันผ่านกำแพงทุกคืน และรู้จักกันดีขึ้น ในที่สุด คืนหนึ่ง พนักงานวิทยุได้เคาะส่งข้อความที่น่าประหลาดใจ เขาบอกว่า “ผมอยากสารภาพบาป” คำร้องขอนี้ทำให้วัมบรันด์ซาบซึ้งใจมาก การสารภาพบาปนั้นใช้เวลานานมาก คั่นด้วยความเงียบเป็นระยะ และดำเนินต่อเนื่องไปจนดึก เขาสารภาพบาปอย่างรายละเอียดและไม่พยายามบิดเบือนสิ่งใด ๆ เลย เป็นการสารภาพบาปที่จริงใจที่สุด
เมื่อพนักงานวิทยุสารภาพบาปจบ วัมบรันด์ประทับใจอย่างลึกซึ้ง เขาเคาะถ้อยคำอภัยบาปกลับไป นั่นเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับชายทั้งสองคนนี้ จากนั้นพนักงานวิทยุก็เคาะข้อความกลับมาว่า “ผมไม่เคยมีความสุขเช่นนี้มานานหลายปีแล้ว”
เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องในบทอ่านพระวรสารวันนี้อยู่สองประเด็น ประเด็นแรก ในทั้งสองเรื่องนี้ ชายคนหนึ่งที่มี “จิตโสโครก” อยู่ในตัว ได้พบกับพระเยซูเจ้า
ในพระวรสาร ชายคนนั้นได้พบกับพระเยซูเจ้าโดยตรง แต่ในเรื่องของวัมบรันด์ พนักงานวิทยุพบกับพระเยซูเจ้าในตัวผู้แทนของพระองค์ เราคงจำได้ว่าพระเยซูเจ้าตรัสกับผู้แทนของพระองค์ว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลาย ก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40) และ “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (ลก 10:16)
ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้บอกเราว่า “จิตโสโครก” ประเภทใดที่สิงอยู่ในตัวชายทั้งสองนี้ แต่ในกรณีของพนักงานวิทยุ เรารู้ว่ามันถึงกับทำให้เขาไม่คิดว่าเขาเป็นคริสตชนอีกต่อไป แม้ว่าเขาได้รับศีลล้างบาปมาแล้ว
ประเด็นที่สองที่ทำให้สองเรื่องนี้คล้ายกันก็คือ พระเยซูเจ้าทรงขับไล่จิตโสโครกออกไปจากตัวเขา ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงขับไล่โดยตรงโดยตรัสว่า “ออกไปจากผู้นี้” (มก 1:25) ในเรื่องของวัมบรันด์ พระเยซูเจ้าทรงขับไล่จิตโสโครกผ่านถ้อยคำอภัยบาปว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” เราคงจำได้ว่าพระองค์ตรัสแก่ผู้แทนของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย” (ยน 20:23)
ทั้งหมดนี้ทำให้เราตั้งคำถามกับตนเองว่า ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร? เรื่องทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกันเองอย่างไร ก็เกี่ยวข้องกับเราอย่างนั้น
ความเกี่ยวข้องข้อแรก เราแต่ละคนในวัดวันนี้ มีจิตโสโครกสิงอยู่ในตัวเราในระดับหนึ่ง หมายความว่ามีบางสิ่งบางอย่างในตัวเราที่ขัดขวางไม่ให้เราเป็นบุคคลที่เราอยากเป็น เช่น อาจมีบางสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เราภาวนาอย่างที่เราอยากจะภาวนา
หรือบางที อาจมีบางสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เรารักผู้อื่นอย่างที่เราอยากจะรัก โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวของเรา
หรือบางที อาจมีบางสิ่งที่ขัดขวางเราไม่ให้เป็นคนใจบุญอย่างที่เราอยากเป็น เช่น เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการแผ่ขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ แต่เราอุทิศเวลา แรงกาย หรือเงิน เพื่อกิจการนี้มากเท่าไร? เราใช้เวลา แรงกาย และเงินทองจำนวนมากเพื่อตัวเราเอง แต่เราใช้จ่ายน้อยมากเพื่อพระเจ้า และเพื่อสนับสนุนงานของพระเจ้า ดังที่ชายคนหนึ่งกล่าวอย่างซื่อตรงว่า “ผมให้ทิปแก่พนักงานเสริฟ และบาร์เทนเดอร์ ในคืนวันเสาร์ มากกว่าที่ผมให้วัดในตอนเช้าวันอาทิตย์ ทั้งที่ผมเองก็รู้ว่าผมทำไม่ถูก”
ความเกี่ยวข้องข้อที่สอง คือ พระเยซูเจ้าทรงขับไล่จิตโสโครกออกไปจากชายทั้งสองคนนี้อย่างไร พระองค์ก็ทรงต้องการขับไล่จิตโสโครกออกไปจากตัวเราอย่างนั้น พระองค์ทรงต้องการปลดปล่อยเราจากสิ่งใดก็ตามที่ขัดขวางไม่ให้เรารักผู้อื่น และแสดงความใจกว้าง อย่างที่เราอยากทำ
แต่พระเยซูเจ้าทรงสามารถทำเช่นนี้ได้เพียงเมื่อเราเข้าไปหาพระองค์ และเปิดใจต่อพระองค์ เราสามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยวิธีเดียวกับที่พนักงานวิทยุใช้ คือ เราต้องเข้าไปหาพระเยซูเจ้าโดยตรง และอย่างสุภาพถ่อมตนในศีลอภัยบาป
นี่คือคำสั่งสอนจากบทอ่านพระวรสารวันนี้ นี่คือคำเชิญให้เราเข้าไปหาพระเยซูเจ้า และยอมให้พระองค์ขับไล่จิตโสโครกออกไปจากตัวเรา และถ้าเราตอบรับคำเชิญของพระองค์ พระองค์จะทรงทำเพื่อเราเหมือนกับที่พระองค์ทรงทำเพื่อพนักงานวิทยุ พระองค์จะทรงขับไล่จิตโสโครกออกไปจากตัวเรา และแทนที่จิตนั้นด้วยพระจิตเจ้า
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:21-28
พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม...
พระวรสารของมาระโกใช้คำศัพท์ในรูปพหูพจน์ คือ พวกเขา (they) ซึ่งมีนัยสำคัญ พระเยซูเจ้าเพิ่งเรียกศิษย์สี่คนก่อนหน้านี้ – พระองค์ไม่ได้อยู่ตามลำพังอีกต่อไปแล้ว ... กลุ่มชายห้าคนเข้ามาในเมืองที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลกาลิลี ต่อจากนี้ไป มาระโกจะเสนอภาพว่าคนกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันเสมอ “พระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์” ... นักบุญเปาโลจะใช้ศัพท์ที่มีความหมายทางเทววิทยามากกว่า ว่า “พระกายพระคริสตเจ้า” และเราเป็นส่วนหนึ่งของพระกายนี้ ในขณะที่มาระโกกล่าวถึงความเป็นจริงเดียวกัน แต่ใช้ถ้อยคำต่างกัน งานที่พระเยซูเจ้าจะทรงกระทำบัดนี้ เป็นงานของ “พระองค์และศิษย์ของพระองค์” อย่างแท้จริง – นี่คืองานของพระศาสนจักร...
คาเปอรนาอุม...
เมืองนี้อยู่ใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” เป็นพื้นที่อันเหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับการประกาศพระวรสาร เพราะเป็นสิ่งที่เมืองนี้ต้องการมาก...
คาเปอรนาอุม เหมือนกับเมืองมุมไบ หรือฮ่องกง หรือนิวยอร์กในปัจจุบัน ... นี่คือเมืองท่า เป็นเมืองชุมทาง ที่มีคนหลายชาติมาอยู่รวมกัน ... เมื่อพระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์ เข้ามาในเมือง ก็ทรงเห็นนักเดินเรือ พ่อค้า และชาวนา ... ทรงเห็นใบหน้าเกรียมแดดของชนเร่ร่อนจากทะเลทรายใกล้เคียง ... เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งของขอทาน และเสื้อผ้าหรูหราของชนชั้นกลางชาวโรมัน ... ทรงเห็นทหารคอยรักษาความสงบเรียบร้อยแทนผู้ปกครองต่างชาติ ... และทรงเห็นมัทธิว ผู้ที่ชาวยิวเกลียดชัง เพราะเขาเก็บภาษีให้กองกำลังที่ยึดครองแผ่นดินนี้ นี่คือโลกมากสีสันที่พระเยซูเจ้าทรงรู้จัก และทรงเลือก...
เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม...
เมื่อได้เสนอภาพของคนกลุ่มนี้แล้ว มาระโกย้อนกลับมากล่าวถึงผู้นำกลุ่ม คือ “ชายจากนาซาเร็ธ” ผู้เคยเป็นช่างไม้ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ชายคนนี้ชื่อเยซู...
มาระโกบรรยายเหตุการณ์ในวันหนึ่งในชีวิตปกติของพระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์ – นี่คือ “วันในเมืองคาเปอรนาอุม” ที่รู้จักกันดี – และบรรยายการทำงานสี่อย่างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ... และของพระศาสนจักร คือ พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอน ... พระเยซูเจ้าทรงขับไล่จิตชั่วออกไปจากประชาชน ... พระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคให้คนป่วย ... พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา ... กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวันเดียว คือ เริ่มตั้งแต่เช้าวันหนึ่ง จนถึงเช้าอีกวันหนึ่ง (มก 1:21, 35)
ข้าพเจ้ามองเห็นตนเองได้ใน “วันของพระเยซูเจ้า” นี้หรือเปล่า...
ข้าพเจ้ามองเห็นตนเองใน “วันปกติของคริสตชน” หรือเปล่า? ข้าพเจ้าทำกิจการเหล่านี้ทุกวัน – ร่วมกับพระเยซูเจ้า หรือเปล่า?...
บทสรุปที่เต็มไปด้วยความหมายนี้เริ่มต้น – มิใช่ด้วยความบังเอิญ – ว่า “ในศาลาธรรมในวันสับบาโต” นี่คือศูนย์กลางอย่างเป็นทางการของศาสนายิว – นี่คือบ้านสำหรับทุกคน บ้านแห่งธรรมบัญญัติ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังสถานที่ที่ประชาชนมารวมตัวกันมากที่สุดทันที พระองค์ทรงมองหาบุคคลที่พระองค์สามารถติดต่อสื่อสารด้วยได้
... และทรงเริ่มสั่งสอน คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจ ไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์
ในประโยคเดียวนี้ เราพบคำภาษากรีกคำเดียวกันถึงสามครั้ง คือ didake ซึ่งแปลว่า “สั่งสอน” สำหรับพระเยซูเจ้า การสั่งสอน “พระวาจา” ต้องมาก่อน! การขับไล่ปีศาจจะแทรกเข้ามาระหว่างการกล่าวถึงการสั่งสอนสองครั้งของพระเยซูเจ้า ดังนั้น นี่คือบทบาทแรกของพระเยซูเจ้า (และของพระศาสนจักร)...
ข้าพเจ้าพยายามนึกภาพ ... ข้าพเจ้าวาดภาพในความคิดว่าข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้ฟังพระเยซูเจ้าสั่งสอนในวันนี้ ... มาระโกไม่ได้บอกเราว่าพระองค์ทรงสั่งสอนเรื่องอะไร – เขาได้สรุปไว้แล้วตั้งแต่หน้าก่อนด้วยสี่ข้อความคือ “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว ... พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว ... จงกลับใจ ... จงเชื่อข่าวดี” สิ่งที่มาระโกสนใจในเวลานี้คือปฏิกิริยาของผู้ฟัง พวกเขาพบกับแรงดึงดูด พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักพูดที่เก่งกาจ และประชาชน “ตกตะลึง” กับวิธีที่พระองค์ตรัส มิใช่เพราะพระองค์ใช้วิธีหรือน้ำเสียงที่พิเศษ ... แต่จะมีใครต้านทานพระวาจานี้ซึ่งแทรกลึกลงไปในหัวใจ ตั้งคำถามที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้า และนำคำตอบที่เราคาดหวังมาให้เรา เพราะพระวาจานี้คือความจริงในความหมายที่ลึกล้ำที่สุด
นักบุญยอห์น เริ่มต้นพระวรสารของเขาอย่างสง่าด้วยคำว่า “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว ... และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า ... พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” ... มาระโกบอกความจริงข้อเดียวกันนี้แก่เรา เพียงแต่ใช้ข้อความต่างกัน ... พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระวาจา หรือพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงเปิดเผยพระองค์เอง ด้วยพระวาจาที่น่าประหลาดใจ และเฉียบขาด...
พระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็นการเปิดเผยของพระเจ้า ข้าพเจ้ารักพระวาจาของพระองค์มากน้อยเพียงไร ... ข้าพเจ้าใช้เวลามากน้อยเพียงไรรำพึงตามพระวาจา คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ...
ธรรมาจารย์เพียงแต่พูดตามบทเรียนที่เขาเรียนรู้มา แต่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นความแตกต่างของพระองค์ตั้งแต่แรก ด้วยการเทศน์สอนอย่างทรงอำนาจ เพราะพระวาจาที่ทรงเทศน์สอนนั้นออกมาจากภายในพระองค์เอง พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระเจ้า ถูกแล้ว แต่พระเจ้าทรงเป็นชีวิต “ของพระองค์” ... เมื่อบุคคลหนึ่งพูดด้วยความเชื่อมั่น ผู้ฟังย่อมรู้สึกได้ว่า “เขาเชื่อในสิ่งที่เขาพูดแน่นอน” ... นี่ไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อ แต่เป็น “ของจริง” ... พระเยซูเจ้าทรงเชื่อมั่นในสิ่งที่พระองค์กำลังตรัส – ต่างจากบรรดาธรรมาจารย์...
เมื่อข้าพเจ้าพูดถึงพระเจ้า หรือพูดถึงพระศาสนจักร ผู้ฟังรู้สึกได้หรือไม่ว่าข้าพเจ้าเชื่อในสิ่งที่ข้าพเจ้าพูด? ... ข้าพเจ้าเป็นธรรมาจารย์คนหนึ่ง – หรือเป็นพยาน ... ข้าพเจ้าพอใจแต่เพียงการพูดตามที่ข้าพเจ้าได้เรียนมา เหมือนกับเป็นคำพูดจากภายนอกตนเอง หรือพระวาจาของพระเจ้าได้กลายเป็นของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ารับไว้ภายในตนเอง และเป็น “เนื้อหนังของเนื้อหนังของข้าพเจ้า”...
ขณะนั้น ในศาลาธรรม ชายคนหนึ่งซึ่งปีศาจสิงอยู่ ร้องตะโกนว่า...
นี่คือฉากเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในโลกตะวันออก มาระโกไม่ลังเลใจที่จะบรรยายด้วยคำที่รุนแรงถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ในตอนแรกมีเสียง “ร้องตะโกน” ดังขึ้นขณะที่พระเยซูเจ้าทรงกำลังเทศน์สอน จากนั้น พระเยซูเจ้าทรง “ขู่มัน” เหตุการณ์กำลังเริ่มตึงเครียด แล้วปีศาจก็ออกจากตัวเขา “ทำให้ชายผู้นั้นชัก และร้องเสียงดัง”...
เราพบคำว่า “จิตโสโครก” ยี่สิบสามครั้งในพันธสัญญาใหม่ แต่ในที่นี้คำว่า “โสโครก” ไม่ได้มีความหมายถึงมลทินทางเพศอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน “จิตโสโครก” ในที่นี้หมายถึงจิต “ที่ต่อต้านความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” และพระวรสารบรรยายจนเห็นภาพว่า มันทรมานมนุษย์ และขัดขวางไม่ให้เขาเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงได้ ชายที่ถูกทรมานนี้เป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ที่กลายเป็นปฏิปักษ์ เป็นสัญลักษณ์ของชายที่ถูกพลังของอมนุษย์เข้าควบคุม และพันธนาการเขาไว้
เมื่อพบกับฤทธิ์อำนาจของพระเยซูเจ้าในการขับไล่ปีศาจ เราอาจอยากรับเอาสองทัศนคติไว้ในตัว ซึ่งคล้ายกัน และขัดขวางไม่ให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในเบื้องลึก ทัศนคติแรกคือไม่ยอมรับ และปฏิเสธที่จะเชื่อข้อความนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องล้าสมัย และหลงยุค ... ทัศนคติที่สองเป็นทัศนคติที่ตรงกันข้าม คือชื่นชอบเรื่องมหัศจรรย์ (เหมือนกับผู้ชมภาพยนตร์ชอบกลเม็ดต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์สยองขวัญ) ... อันที่จริง มาระโกเริ่มต้นกิจกรรมของพระเยซูเจ้าด้วยการขับไล่ปีศาจ เพราะเขามองว่านี่คือบทสรุปอันสมบูรณ์สำหรับการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดของพระองค์ กล่าวคือ พระเยซูเจ้าเสด็จมาปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากความเป็นทาสของพลังที่ดึงมนุษย์ออกห่างจากพระเจ้า ... โลกนี้มีเจ้านายใหม่แล้ว – พระอาณาจักรของพระเจ้ากำลังเริ่มขึ้นแล้ว
“ท่านมายุ่งกับเราทำไม เยซู ชาวนาซาเร็ธ ... เรารู้ว่าท่านเป็นใคร ท่านคือผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”
สิ่งสำคัญคือการค้นพบอัตลักษณ์แท้ของพระเยซูเจ้า – การมองให้ผ่านเลยจาก “เยซูชาวนาซาเร็ธ” ไปสู่สมญาอันทรงเกียรติ “องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”
พระเยซูเจ้าไม่ใช่คนไล่ผีตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่พบได้ทั่วไปในสมัยนั้น ทั้งในโลกของชาวยิว และโลกของคนนอกศาสนา ... คนไล่ผีเหล่านี้เป็นพ่อมดหรือผู้วิเศษประเภทหนึ่ง ความชั่วและพระเจ้าไม่มีทางเข้ากันได้ ในข้อความนี้ ซาตานกำลังประกาศสงคราม “ท่านมายุ่งกับเราทำไม” ระหว่างท่านและเราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ท่านต้องการอะไรจากเรา ทำไมจึงมายุ่งกับเรา? นี่คือคำที่ปีศาจ “ร้องตะโกน”...
แล้วเราเล่า ... เราคิดหรือไม่ว่าชีวิตคริสตชนของเราร่วมกับพระเยซูเจ้านั้นเหมือนกับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่เพื่ออิสรภาพ? ... คนทั้งหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มของพระเยซูเจ้า” ควรคาดหมายว่าเขาต้องต่อสู้เช่นนี้ พลังที่เป็นปฏิปักษ์กำลังโกรธแค้นพระองค์...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ต่อสู้เคียงข้างพระเยซูเจ้าหรือเปล่า?...
พระเยซูเจ้าทรงดุปีศาจ และตรัสสั่งว่า “จงเงียบ ออกไปจากผู้นี้”
คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้หมายถึงการห้าม การขู่ ... และเป็นคำเดียวกับที่มาระโกใช้เมื่อพระองค์ทรงเผชิญหน้ากับพายุกลางทะเลสาบ (มก 4:39) คำนี้แสดงออกถึงฤทธิ์อำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ผู้ทรงชนะพลังชั่วต่าง ๆ ความชั่วย่อมพ่ายแพ้เมื่อพระเจ้าปรากฏพระองค์
ขอให้เราสังเกตรายละเอียดสำคัญข้อหนึ่ง ขณะที่มนุษย์กำลังสงสัยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร ปีศาจกลับรู้จักพระองค์! ธรรมชาติที่เป็นจิตของปีศาจทำให้มันมองเห็นอะไร ๆ ได้ลึกกว่าและชัดเจนกว่ามนุษย์หรือเปล่า? ... แต่พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้มันสงบปาก “จงเงียบ” อัตลักษณ์แท้ของพระเยซูเจ้าสามารถเปิดเผยได้ทีละเล็กทีละน้อยเท่านั้น การประกาศอย่างเร่งรีบเกินไปว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” หรือ “พระบุตรของพระเจ้า” อาจเป็นเพียงงานอย่างหนึ่งของปีศาจ คำประกาศนี้จะต้องเกิดขึ้นเบื้องหน้าไม้กางเขนเท่านั้น และผู้ที่ประกาศจะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาเป็นคนต่างศาสนา เป็นนายร้อยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ (มก 15:39)...
ทุกคนต่างประหลาดใจ จึงถามกันว่า “นี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ เขาสั่งแม้กระทั่งปีศาจ และมันก็เชื่อฟัง”
แม้แต่ในปัจจุบัน งานของพระเยซูเจ้าก็หมายถึงงานสองอย่างของพระเจ้าโดยแท้ คือ
- “พระวาจา” คำสั่งสอน ... คำสั่งสอนที่ใหม่สำหรับมนุษยชาติ ...
- “เครื่องหมาย” การทำงานของพระเยซูเจ้า หรือศีลศักดิ์สิทธิ์ ... การแสดงพระอานุภาพของพระเจ้า
ขอให้เราอย่าลืมว่าเมื่อเรารับศีลล้างบาป พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจออกไปจากตัวของเรา – และการขับไล่ปีศาจด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์นี้มีผลอย่างถาวร ... และกลายเป็นความจริงในปัจจุบันทุกครั้งที่เราเข้าร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณ ... ระหว่างนั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเรา และทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากความชั่ว ...