แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา
โยบ 7:1-4, 6-7; 1 โครินธ์ 9:16-19, 22-23; มาระโก 1:29-39

บทรำพึงที่ 1
The Bald Soprano
การอธิษฐานภาวนาตามปกติมีสามรูปแบบ คือ รำพึง เพ่งพินิจ และสนทนา

    อูยีน ไอโอเนสโก เขียนบทละครเรื่องหนึ่งชื่อ The Bald Soprano ในฉากหนึ่ง มีชายหญิงคู่หนึ่งนั่งอยู่ในห้องรับแขกในสำนักงานแห่งหนึ่ง ท่าทางของคนทั้งสองเหมือนไม่รู้จักกัน หลังจากนั่งเงียบ ๆ ได้ครู่หนึ่ง ฝ่ายชายก็เริ่มต้นสนทนา การสนทนาดำเนินไปอย่างเคอะเขิน และผู้ชมก็ค้นพบว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างที่เชื่อมโยงระหว่างสองบุคคลนี้ทั้งที่เขาทั้งสองดูเหมือนไม่รู้จักกัน

    ทั้งสองคนเกิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ทั้งสองมีบุตรหนึ่งคนชื่อ อลิซ  ทั้งสองอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน บนถนนบรอมฟิลด์ ทั้งสองอาศัยอยู่บนชั้นที่ห้าของอาคารหลังเดียวกัน และในที่สุด ผู้ชมก็ต้องประหลาดใจที่สุด เพราะทั้งสองคนอาศัยอยู่ในห้องชุดเดียวกัน คนทั้งสองนี้เป็นสามีภรรยากัน

    เมื่อความงงงัน – และความขบขัน – จางลงไป ผู้ชมจึงเข้าใจสารที่ไอโอเนสโกต้องการสื่อ คู่สมรสในห้องรับแขกนั้นไม่ได้รู้จักกันอย่างแท้จริง เขาอยู่ด้วยกัน แต่เขาไม่เคยรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งอย่างลึกซึ้งเลย คนทั้งสองเป็นคนแปลกหน้าต่อกันอย่างแท้จริง

    น่าเสียดายที่ความสัมพันธ์ของคู่สมรสในห้องรับแขกนั้นเหมือนกับความสัมพันธ์ของคริสตชนหลาย ๆ คนกับพระเยซูเจ้า ความสัมพันธ์ของคริสตชนเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีแต่เปลือก เขาไม่รู้จักพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง เมื่อมองสภาพภายนอก ดูเหมือนว่าเขายึดมั่นในพระเยซูเจ้า เขาห้อยกางเขนไว้รอบคอ เขาไปวัดในวันอาทิตย์ และเขาปฏิบัติตามบทบัญญัติ แต่ลึก ๆ ในใจ เขาไม่รู้จักพระเยซูเจ้าเลย

    ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ทำไมเขาจึงไม่รู้จักพระเยซูเจ้ามากกว่านี้? ทำไมเขาจึงไม่มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระองค์? เช่น ทำไมเขาจึงไม่มีความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับพระบิดาของพระองค์?

    เหตุผลข้อหนึ่งคือเขาไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติในพระวรสารวันนี้ เขาไม่ใช่เวลาติดต่อสื่อสารกับพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงติดต่อสื่อสารกับพระบิดาสวรรค์ของพระองค์ หรือพูดให้ชัด ๆ ก็ได้ว่า เขาไม่ยอมสละเวลาเพื่ออธิษฐานภาวนา เหมือนกับที่เราเห็นพระเยซูเจ้าทรงกระทำ พระวรสารวันนี้บอกเราว่า “วันต่อมา พระองค์ทรงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ เสด็จออกจากบ้านไปยังที่สงัด และทรงอธิษฐานภาวนาที่นั่น” (มก 1:35)

    ขอให้เราพิจารณาว่าการภาวนาหมายถึงอะไรจากเรื่องต่อไปนี้ นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งเขียนข้อความต่อไปนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบ้านที่เขาต้องทำ
    “วันหนึ่งหลังจากเล่นในสวนสาธารณะแล้ว ผมเดินไปดื่มน้ำจากน้ำพุที่อยู่ใกล้ ๆ น้ำนั้นเย็นและรสชาติดี ผมรู้สึกว่าความสดชื่นไหลเข้าสู่ร่างกายที่กำลังเหน็ดเหนื่อยของผม ทันใดนั้น ผมก็เริ่มคิดว่า ‘เราจำเป็นต้องมีน้ำสำหรับดื่ม แต่น้ำมาจากไหน’ แล้วผมก็คิดต่อไปว่า
    ‘เมฆไง’
    ‘แต่เมฆมาจากไหน’
    ‘ความชื้นที่ระเหยเป็นไอ’
    ผมถามต่อไปจนกระทั่งผมหาคำตอบไม่ได้ หรือถ้าจะพูดให้ถูก จนกระทั่งเหลือเพียงคำตอบเดียว คือ ‘พระเจ้า’ ระหว่างสองสามนาทีต่อมา ผมได้แต่นอนบนพื้นหญ้า มองขึ้นไปบนท้องฟ้า และพิศวงใจว่าพระเจ้าเป็นอย่างไรหนอ จากนั้น ผมก็คุยกับพระเจ้าอยู่ครู่หนึ่งโดยใช้คำพูดของผมเอง แล้วผมก็กลับบ้าน”   

    ประสบการณ์ของเด็กหนุ่มคนนี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้าได้ในสามรูปแบบ คือ รำพึง สนทนา และเพ่งพินิจ เราจะเริ่มต้นด้วยรูปแบบแรกก่อน คือ การรำพึง ชื่อที่เหมาะสมสำหรับการรำพึงก็คือ การภาวนาด้วยความคิด (Mind praying) เราเพียงต้องทำอย่างที่นักเรียนคนนี้ทำ คือขบคิดเกี่ยวกับข้อคิดหนึ่ง เช่น เราคิดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า และคิดว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลอย่างไร การรำพึงหมายถึงการหยิบยกข้อคิดหนึ่งมาใคร่ครวญด้วยความคิดอย่างสำรวม

    การภาวนาต่อพระเยซูเจ้าในรูปแบบที่สอง คือ การสนทนา ชื่อที่เหมาะสมสำหรับการสนทนากับพระเจ้าก็คือ การภาวนาด้วยหัวใจ (Heart praying) เหมือนกับนักเรียนคนนี้ทำ เราสนทนากับพระเยซูเจ้าเหมือนกับที่เราสนทนากับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่านี่คือการสนทนากับพระเยซูเจ้าด้วยหัวใจของเรา

    ส่วนการภาวนาต่อพระเยซูเจ้าในรูปแบบที่สาม คือ การเพ่งพินิจ ชื่อที่เหมาะสมสำหรับการเพ่งพินิจคือ การภาวนาด้วยวิญญาณ (Soul praying) ในการเพ่งพินิจ เราไม่คิดถึงสิ่งใด หรือพูดสิ่งใด เราเพียงแต่พักผ่อนนิ่ง ๆ เบื้องหน้าการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่นักเรียนคนนี้พักผ่อนอยู่ในการประทับอยู่ของพระเจ้าในสวนสาธารณะ อีกนัยหนึ่งคือ เราเพียงแต่ชื่นชมการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่เราชื่นชมเสียงดนตรี หรือดวงอาทิตย์ตกดิน ดังที่บุคคลหนึ่งอธิบายว่า “เราเพียงแต่มองพระเยซูเจ้า และพระองค์ก็ทรงมองเรา”

    สรุปได้ว่า เราสามารถภาวนาในสามรูปแบบ คือ รำพึงหรือภาวนาด้วยความคิด สนทนาหรือภาวนาด้วยหัวใจ และเพ่งพินิจหรือภาวนาด้วยวิญญาณของเรา บ่อยครั้งที่การภาวนาทั้งสามรูปแบบนี้ผสมผสานกันจนแยกไม่ออกว่าการภาวนารูปแบบหนึ่งเริ่มขึ้นเมื่อใด และจบลงที่ใด

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยเรื่องเล่าต่อไปนี้ ไม่นานก่อนที่คุณพ่อแดน ลอร์ด ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชนที่มีชื่อเสียง จะเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง เด็กคนหนึ่งขอคำแนะนำจากเขาเกี่ยวกับการภาวนา คุณพ่อลอร์ดตอบว่า “ไม่ต้องทำอะไรมาก จงภาวนาต่อพระเจ้าเสมือนว่าพระองค์เป็นบิดาของเธอ ภาวนาต่อพระเยซูเจ้าเสมือนว่าพระองค์ทรงเป็นพี่ชายของเธอ และภาวนาต่อพระจิตเจ้าเสมือนว่าพระองค์ทรงเป็นเพื่อนที่อยู่กับเธอไม่เคยห่าง”

    เราควรเสริมว่า จงภาวนาต่อทั้งสามพระบุคคล เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้เรารัก คือ ภาวนาด้วยสิ้นสุดความคิด สิ้นสุดจิตใจ และสิ้นสุดวิญญาณ   

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:29-39

    วันนี้ เรายังรำพึงต่อไปเกี่ยวกับ “วันที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่เมืองคาเปอรนาอุม” นี่คือวันแรกในชีวิตสาธารณะของพระองค์ ระหว่างวันนี้เราเห็นพระองค์ทรงเทศนาสั่งสอน ทรงปลดปล่อยมนุษย์จากจิตชั่ว ทรงรักษาโรคให้ผู้ป่วย และทรงอธิษฐานภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องย่อของพันธกิจและการทำงานของพระคริสตเจ้า ... และของศิษย์ของพระองค์

ทันทีที่ออกจากศาลาธรรม พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านของซีโมน และอันดรูว์ พร้อมกับยากอบและยอห์น

    หลังจากทรงสั่งสอนในลักษณะที่ทำให้ประชาชนประหลาดใจ หลังจากทรงช่วยให้ชายคนหนึ่งหลุดพ้นจากอำนาจของจิตชั่ว พระเยซูเจ้าก็เสด็จออกจากศาลาธรรม ซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะ และเสด็จเข้าไปในบ้านของสองพี่น้อง ซีโมนและอันดรูว์ ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนบุคคล ข้าพเจ้านึกถึงภาพของพระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินไปตามถนน ห้อมล้อมด้วยศิษย์ทั้งสี่ของพระองค์ (เพราะยากอบ และยอห์น ก็อยู่ที่นั่นด้วย)

    แม้แต่ทุกวันนี้ พระเจ้าก็ยังทรงเผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงทำงานอยู่ในทุกสถานที่ ในทุกด้านของชีวิต – ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถานหรือสถานที่ทางโลก สถานที่สาธารณะหรือสถานที่ส่วนบุคคล ... พระเจ้าข้า พระองค์ประทับอยู่กับเราในวัดของเรา พระองค์ทรงอยู่กับเราแม้แต่ตามถนนหนทาง กลางตลาด และในบ้านของเราเอง...

มารดาของภรรยาซีโมนกำลังนอนป่วยเป็นไข้อยู่

    เมื่อเราอ่านพระวรสาร เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคให้คนจำนวนมาก ในสมัยโบราณ ความเจ็บป่วยมีนัยสำคัญทางศาสนา และผู้รักษาโรคก็คือสมณะทั้งหลาย ในปัจจุบัน การเจ็บป่วยและการรักษาเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ไม่ว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์จะก้าวหน้ามากเพียงไร ความเจ็บป่วย และความทุกข์ทรมานที่ตามมา ก็ยังทำให้มนุษย์รู้สึกว่าขาดความมั่นคงปลอดภัยอย่างยิ่ง ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ยังคงมีเครื่องหมายของความอ่อนแอของสภาวะมนุษย์ของเรา ซึ่งเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอยู่เสมอ ... ใครบ้างไม่กลัวโรคบางอย่าง ถึงกับบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยชื่อโรค? การเป็นไข้สูงสามารถทำให้ผู้ชายร่างกายแข็งแรงต้องล้มหมอนนอนเสื่อและต้องหยุดทำงาน แต่มีบางสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น ลึก ๆ ในใจของเรา เราทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องเจ็บป่วยเพราะโรคที่แพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทุกโรคมี “เครื่องหมายของความตาย” ประทับอยู่ในตัว เครื่องหมายนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอของเรามนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้...

เขาจึงทูลพระองค์ให้ทรงทราบทันที พระองค์เสด็จเข้าไปจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น

    วิธีแรกที่จะรำพึงตามเหตุการณ์นี้คือเพ่งพินิจเสมือนว่าเราอยู่ในสถานที่นั้นด้วย ... ข้าพเจ้าเห็นพระเยซูเจ้าทรงก้าวข้ามธรณีประตู ... ข้าพเจ้ารับฟังขณะที่เขาทูลเรื่องนี้แก่พระองค์ ... ข้าพเจ้าวาดภาพในใจว่าพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้คนป่วย ทรงกุมมือของนางไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ... ข้าพเจ้าเห็นกิริยาที่คุ้นเคยและเป็นมิตรของมนุษย์คนหนึ่ง ... เทววิทยาบอกเราว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการเป็น “กิริยาของพระคริสตเจ้า” ... พระองค์ทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทุกด้าน ... วันนี้ ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระหัตถ์ของพระเยซูเจ้าที่กุมมือที่ร้อนผ่าวเพราะพิษไข้ของหญิงที่กำลังป่วย...

    พระเจ้าข้า นี่คือสัญลักษณ์แสดงว่าพระองค์ทรงกำลังจับมือของข้าพเจ้า เพื่อรักษา “ไข้” ของข้าพเจ้า ... เมื่อข้าพเจ้ารับศีลมหาสนิท ข้าพเจ้ารับพระองค์ไว้ในมือของข้าพเจ้า แต่ในความเป็นจริง พระองค์ทรงเป็นฝ่ายจับมือของข้าพเจ้า...

พระองค์เสด็จเข้าไปจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น นางก็หายไข้ นางจึงรับใช้ทุกคน

    เมื่ออ่านประโยคนี้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกที่เขียนโดยนักบุญมาระโก จะสังเกตได้ว่ามาระโกใช้คำว่า “egeire” ซึ่งแปลว่า “ลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (rising up again)” และเป็นคำเดียวกับที่ใช้บรรยายการฟื้นคืนชีพของบุตรสาวของไยรัส (มก 5:41) และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเอง (มก 12:26, 16:6) ... ดังนั้น สำหรับมาระโก การรักษาโรคครั้งนี้เป็นเครื่องหมายสำคัญ – เป็นเสมือนอุปมาที่ประกาศถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า ... ที่ซึ่ง “พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป” (วว 21:1-4)

    เรามั่นไจได้ว่า แม้แต่ในยุคสมัยของพระองค์ในแคว้นกาลิลี พระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงรักษาคนป่วยทุกคน พระองค์ทรงรักษาบางคนเท่านั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายของ “วาระสุดท้าย” กล่าวคือ ความรอดพ้นแท้จริงของมนุษยชาติไม่ใช่การรักษาไข้เพียงชั่วคราว แต่เป็นการกลับคืนชีพ ... การรักษาแท้ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเสนอแก่มนุษย์ คือการก้าวออกจาก “ความไม่เชื่อ” ไปสู่ “ความเชื่อ” ทุกคนที่เปิดใจยอมรับพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อ ย่อมรู้ว่าเขาได้รับความรอดพ้นจากความตายแล้ว เมื่อนั้น เขาจะ “ลุกขึ้น” เพื่อจะ “รับใช้”...

    ความชั่วที่พระเยซูเจ้าทรงกำลังต่อสู้นั้นฝังลึกกว่าความเจ็บปวดฝ่ายกาย หัวใจของมนุษย์ต่างหากที่กำลังป่วย – เมื่อมนุษย์ไม่ช่วยเหลือพี่น้องชายหญิงของเขาให้รอดพ้น! เมื่อมาระโกเขียนว่าหญิงที่ป่วยนี้ “ลุกขึ้นและรับใช้” เขาหมายความลึกกว่านั้น เขาระลึกถึงวันหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงทำให้คำว่า “การรับใช้” หมายถึง “การมอบชีวิต” เมื่อพระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์ (มก 10:45)

    พระเจ้าข้า โปรดทรงบำบัดรักษาหัวใจของมนุษย์ทุกวันนี้ด้วยพระกายของพระองค์ด้วยเถิด ... โปรดทรงบำบัดรักษาข้าพเจ้าให้เป็นอิสระจากตนเอง และจากความเห็นแก่ตัวอย่างแนบเนียนของข้าพเจ้า ... โปรดทรงรักษาความบกพร่องของข้าพเจ้าที่ไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้า อีกทั้งไม่ยอมให้ผู้อื่นเป็นที่หนึ่งอีกด้วย ... โปรดทรงรักษาข้าพเจ้าที่ไม่สามารถรับใช้ และมอบชีวิตของข้าพเจ้า ... โปรดทรงรักษาโรครักใครไม่เป็นของข้าพเจ้าด้วยเถิด...

เย็นวันนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้ว มีผู้นำคนป่วยและคนถูกปีศาจสิงมาเฝ้าพระองค์ คนทั้งเมืองมารวมกันที่ประตู พระองค์ทรงรักษาหลายคนที่เป็นโรคต่าง ๆ ให้หาย ทรงขับไล่ปีศาจออกไป

    อาจกล่าวได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้การบำบัดรักษาโรคเพื่อแสดงอำนาจของพระองค์เหนือซาตานอีกด้วย เพราะปีศาจก็คือความชั่วที่มีตัวตน ... สำหรับพระเยซูเจ้า ความชั่วหมายถึงการแยกตัวออกจากพระเจ้า ดังนั้น บาปจึงเป็นโรคอย่างหนึ่งโดยแท้ โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพรั่งพร้อม หรือมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งกาจที่สุด ก็ไม่สามารถทดแทนความรักที่ผู้ป่วยต้องการมากกว่ายารักษาโรค ... วันนี้ไม่ได้ต่างจากยุคสมัยของพระเยซูเจ้า ที่มีความจำเป็นต้องรักษาหัวใจของมนุษย์ เราจำเป็นต้องปรับทิศทางการแสวงหาความเจริญ ไม่มีโรคร้ายแรงใดที่ขัดขวางการพัฒนา “เมืองฝ่ายโลก” (ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย) ได้มากไปกว่า “ยาพิษ” ที่บาปนำเข้ามาในโลก ... แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธความก้าวหน้า หรือไม่ยอมรับเทคนิคทางการแพทย์ – แต่เราต้องใส่ “วิญญาณ” เข้าไปในเทคนิคเหล่านี้ คือ ความรัก ... และนี่คือจุดที่เราต้องพึ่งพาพระเยซูเจ้า...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงบำบัดรักษาหัวใจของมนุษย์ยุคปัจจุบันด้วยพระกายและพระโลหิตของพระองค์ด้วยเถิด...

พระองค์ทรงขับไล่ปีศาจออกไป แต่ไม่ทรงอนุญาตให้มันพูด เพราะมันรู้จักพระองค์

    มาระโกเผยให้เห็น “ความลับของพระเมสสิยาห์” เป็นครั้งที่สองในหน้าเดียวกัน (มก 1:25, 33) พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้ประชาชนเข้าใจและบิดเบือนพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงห้ามผู้ที่พร้อมจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่ให้เขาพูด เพราะในเวลานั้นประชาชนมีความคิดผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์และพระเจ้า กล่าวคือ พวกเขาแสวงหาสิ่งอัศจรรย์และรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป พวกเขาพากันมาหาพระองค์เพียงเพราะคิดว่าพระองค์ทรงเป็น “ผู้รักษาโรค” เท่านั้น...

    การประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และทรงเป็นพระบุตรของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะรู้ว่าพระองค์จะต้องรับทนทรมานและสิ้นพระชนม์นั้นนับว่าเป็นความเขลา ซึ่งจะทำให้เขาไม่ยอมรับพระองค์เมื่อเขาพบกับความเป็นจริงของไม้กางเขน ... พระเจ้าไม่ใช่ “พระผู้ทรงสรรพานุภาพ” อย่างที่โลกเข้าใจคำนี้ แต่พระองค์ทรงทำให้พระองค์เองเป็น “พระผู้อ่อนแอในทุกด้าน” เพราะความรัก – เพราะพระองค์ทรงเป็น “ความรักอันทรงสรรพานุภาพ”

    “ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็ลงมาจากไม้กางเขนซิ” ... เรายังมีความคิดติดอยู่ในสมองว่า พระเยซูเจ้าควรแสดงให้มนุษย์ประจักษ์ชัดว่าพระองค์เป็นใคร ... แต่พระองค์ก็ทรงแสดงให้ประจักษ์แล้ว พระองค์ทรงแสดงว่าพระองค์คือความรักอันไร้ขอบเขต ผู้พร้อมจะ “รับใช้” จนถึงที่สุด ... “เรามาเพื่อรับใช้และมอบชีวิตของเรา” เราควร “นิ่งและเงียบ” จนกว่าจะถึงการตรึงกางเขน เมื่อพระเจ้าจะทรงเผยพระองค์เองอย่างแท้จริงในตัวของพระเยซูเจ้า...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้ยอมรับพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็นเถิด...
    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้เข้าใจว่าพระองค์ไม่ทรงต้องการเป็น “ผู้ทรงอำนาจ” ตามความคิดของชาวโลก เพราะ “ความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังเข้มแข็งยิ่งกว่าพละกำลังของมนุษย์” (1 คร 1:25)...
 วันต่อมา พระองค์ทรงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ เสด็จออกจากบ้านไปยังที่สงัด และทรงอธิษฐานภาวนาที่นั่น

    นับตั้งแต่คืนแรกที่เปโตรอยู่ใกล้พระเยซูเจ้า เขาพบเห็นลักษณะเฉพาะตัวที่เป็น “เนื้อแท้” ของพระอาจารย์ของเขา นั่นคือ สิ่งสำคัญสำหรับพระเยซูเจ้าคือ “การพบปะกับพระบิดา”...

ซีโมน และผู้ที่อยู่กับเขา ตามหาพระองค์...

    ตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น พระเยซูเจ้าทรงออกจากบ้านที่พระองค์ทรงพักแรม พระองค์เสด็จออกไปนอกเมืองคาเปอรนาอุม ... ขอให้นึกภาพพระองค์ทรงพระดำเนินท่ามกลางความมืดไปตามถนนในชนบท พระองค์ทรงแสวงหาสถานที่ซึ่งพระองค์จะประทับอยู่ตามลำพังได้ ที่ซึ่งเงียบสงบ พระองค์เสด็จไปยัง “ที่เปลี่ยว” ... พระองค์ทรงหยุด ทรงหมอบลงกับพื้น และอธิษฐานภาวนา...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “มนุษย์ผู้ใกล้ชิดพระบิดา ... มนุษย์ผู้พบกับพระเจ้า ... มนุษย์ผู้สนิทสนมกับพระเจ้า” ... มิตรสหายของพระเยซูเจ้าก็ต้องแสวงหาที่เช่นนี้ เมื่อเขาตามหาพระองค์...

    ประโยคนี้ไม่ได้เป็นเพียงรายละเอียดในพระวรสาร แต่เป็นบทสรุป ความลับ และจุดสุดยอดของ “วันแรก” ในชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้า ... พระเยซูเจ้าทรงตะโกน (ด้วยความเงียบ) บอกเราว่า “เราจะพบความหมายของชีวิตของเราได้ในพระเจ้า ... โรคร้ายแรงที่สุดของท่านคือโรคที่ดึงท่านออกห่างพระเจ้า ผู้ใดรู้ว่าจะ “ซ่อนตัวอยู่ในพระเจ้า” ในที่เปลี่ยวได้อย่างไร ผู้นั้นย่อมได้รับความรอดพ้น ... ไข้ - และแม้แต่ความตาย – จะไม่มีวันเข้าถึงตัวเขาได้อีกต่อไป...

    ท่านผู้เป็นพี่น้องที่กำลังป่วยของข้าพเจ้า ท่านผู้ที่หัวใจกำลังถูกทดลองอย่างหนัก ท่านจะยอมฟังข่าวดีเกี่ยวกับการรักษาโรคของท่าน แม้ในขณะที่ท่านกำลังอยู่ท่ามกลางการทดลองหรือไม่?...

เมื่อพบแล้วจึงทูลพระองค์ว่า “ทุกคนกำลังแสวงหาพระองค์” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราไปที่อื่นกันเถิด ไปตามตำบลใกล้เคียง เพื่อจะได้เทศน์สอนที่นั่นด้วย เพราะเรามาด้วยจุดประสงค์นี้”   

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดตรัสกับเราอีกครั้งหนึ่งเถิด โปรดทรงประกาศข่าวดีของพระองค์แก่มนุษย์ทุกคนอีกครั้งหนึ่งเถิด ... โปรดทรงช่วยเราให้รอดพ้น โปรดทรงรักษาโรคของเรา และทรงทำให้เราเป็นผู้นำสารและผู้รับใช้แห่งปัสกา ด้วยการสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์เถิด...