แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา
ปรีชาญาณ 7:7-11; ฮีบรู 4:12-13; มาระโก 10:17-27

บทรำพึงที่ 1
ทางเลือก
“มีทางสายหนึ่งรออยู่เบื้องหน้ามนุษย์ทุกคน ทางหนึ่งจะนำเขาขึ้นที่สูง ทางหนึ่งทอดตัวตามพื้นราบ และทางหนึ่งจะนำเขาลงที่ต่ำ”

    เมื่อหลายปีก่อน เซอร์ เคนเนธ คล๊าก แห่งประเทศอังกฤษ ได้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อ “Civilization (อารยธรรม)” ซึ่งเป็นรายการที่ผลิตขึ้นอย่างประณีต และทำให้ทุกครอบครัวในโลกรู้จักชื่อของเขา

    ต่อมา คล๊าก ได้พิมพ์อัตชีวประวัติของเขา ซึ่งเขาแบ่งออกเป็นสองเล่ม ในเล่มแรกเขาระบุชัดว่าเขาเป็นนักมนุษย์นิยมผู้ฝักใฝ่ทางโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเหยียดหยามหรือไม่สนใจศาสนา ตรงกันข้าม เขาพูดถึงศาสนาในแง่ที่งดงามมาก

    ในหนังสือเล่มที่สอง ซึ่งใช้ชื่อว่า “The Other Half: A Self-portrait (อีกครึ่งหนึ่งของตัวตน: ภาพวาดของตนเอง) คล๊าก บรรยายประสบการณ์ทางศาสนาที่เกิดขึ้นกับเขาในวัดซานโลเรนโซ ในประเทศอิตาลี เขาเขียนว่า “ระหว่างสองสามนาที ทั้งตัวตนของผมสว่างไสวด้วยความยินดีอย่างหนึ่งที่เหมือนมาจากสวรรค์ และเข้มข้นมากกว่าทุกสิ่งที่ผมเคยรู้จักมาก่อน”

    คล๊ากกล่าวว่าประสบการณ์นั้นทำให้เขาประหลาดใจมาก เพราะเขาไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับประสบการณ์อันงดงามเช่นนั้น เขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใดเขาจึงได้รับประสบการณ์นั้น

    ขณะที่เขาไตร่ตรองประสบการณ์นั้น คล๊ากเผชิญหน้ากับคำถามที่ตอบได้ยาก เขาควรทำอย่างไรกับประสบการณ์นั้น? เขาไม่ใช่คนเคร่งศาสนาในลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจ และถ้าเขาจะกลายเป็นคนเคร่งศาสนาไปในทันทีทันใด ครอบครัวและมิตรสหายของเขาจะต้องคิดว่าเขากำลังเสียสติ ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย เขาหันหลังให้ประสบการณ์นั้น เขากล่าวถึงการตัดสินใจของเขาว่า “ผมคิดว่าผมทำถูกต้องแล้ว ผมฝังตัวอยู่ในโลกลึกเกินกว่าจะเปลี่ยนทิศทางได้ แต่ผมก็มั่นใจว่า ‘นิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้าสัมผัสตัวผม’ และแม้ว่าประสบการณ์นั้นได้เลือนหายไปจากความทรงจำ แต่มันยังช่วยให้ผมเข้าใจความยินดีของนักบุญทั้งหลายได้”

    เรื่องของเซอร์ เคนเนธ คล๊าก มีส่วนคล้ายกับเรื่องของเศรษฐีหนุ่มในพระวรสารวันนี้ เซอร์เคนเนธเป็นคนดีมาตลอดชีวิตเหมือนเศรษฐีหนุ่มคนนี้

    เหมือนกับเศรษฐีหนุ่ม วันหนึ่งเขารู้สึกว่าตนเองถูกดึงดูดไปหาพระเจ้าอย่างแรงกล้าและไม่คาดคิด เหมือนกับเศรษฐีหนุ่ม คล๊ากมีประสบการณ์ที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก ว่าเขาควรทำอย่างไรกับประสบการณ์นี้ เหมือนกับเศรษฐีหนุ่ม เขาใคร่ครวญว่าเขาจะต้องยอมสละอะไรบ้าง ถ้าเขาเลือกที่จะตอบสนองต่อพระหรรษทานพิเศษนั้น และเหมือนกับเศรษฐีหนุ่ม ในที่สุด คล๊าก เลือกที่จะปฏิเสธพระหรรษทานนั้น เขาหันหลังให้พระหรรษทานนั้น

    ปฏิกิริยาของเศรษฐีหนุ่ม และของเซอร์เคนเนธ คล๊าก เตือนเราให้ระลึกถึงอุปมาของพระเยซูเจ้าเรื่องผู้หว่าน และเตือนเราโดยเฉพาะให้คิดถึงเมล็ดพืชที่ตกลงบนทางเดิน

    พระเยซูเจ้าทรงอธิบายว่าเมล็ดพืชบนทางเดิน หมายถึงคนทั้งหลายที่รับพระวาจาของพระเจ้าไว้แล้ว แต่ปีศาจมาขโมยพระวาจานั้นไปก่อนที่จะงอกรากในชีวิตของเขา (มก 4:15)

    ทั้งสองเรื่องนี้เตือนให้เรานึกถึงคำพูดของนักบุญออกัสตินอีกด้วย เขามีประสบการณ์เหมือนกับชายทั้งสองคนในสองเรื่องนี้ แตกต่างกันที่นักบุญออกัสตินตอบรับ เขาบันทึกว่า “การมองเห็นดินแดนแห่งสันติสุขจากเทือกเขาที่ปกคลุมด้วยแมกไม้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการเดินย่ำบนถนนไปสู่ดินแดนนี้”

    ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เป็นเรื่องที่เราสามารถเข้าใจได้ เป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องต่อสู้เพื่อเลือกว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดสำหรับเขา เหมือนกับเรา

    สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเซอร์ เคนเนธ คล๊าก ดูเหมือนจะเป็นความคิดว่า ครอบครัวและมิตรสหายของเขาจะคิดอย่างไรกับเขา และความผูกพันของเขาต่อโลก และสิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่ากระแสเรียกจากพระคริสตเจ้าให้เขามาหาพระองค์ และติดตามพระองค์

    ในทำนองเดียวกัน สิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐีในพระวรสารคือทรัพย์สมบัติและค่านิยมของโลกนี้ ซึ่งสำคัญกว่าคำเชิญของพระเยซูเจ้าให้เขาติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

    ชายทั้งสองคนนี้เลือกความสุขสำราญที่ไม่ยั่งยืนของโลกนี้ มากกว่าขุมทรัพย์นิรันดรของโลกหน้า

    ขอให้เราย้อนกลับมาพิจารณาตัวเรา อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา? ความสุขสำราญของโลกนี้สำคัญสำหรับชีวิตของเรา มากกว่าขุมทรัพย์ของโลกหน้าหรือเปล่า? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะเปลี่ยนสถานการณ์นี้ได้อย่างไร? ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ลงเอยในลักษณะเดียวกับชายสองคนในสองเรื่องนี้?

    คำตอบสำหรับคำถามสำคัญนี้อยู่ในบทอ่านที่หนึ่ง และที่สองของวันนี้ บทอ่านที่หนึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าภาวนา และได้รับความสุขุม ข้าพเจ้าวอนขอ และจิตแห่งปรีชาญาณก็เสด็จมาหาข้าพเจ้า” ดังนั้น สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้ก็คือภาวนาและวอนขอความสุขุมและปรีชาญาณ เพื่อให้เห็นความเขลาในการเลือกความสุขสำราญที่ไม่ยั่งยืนของโลกนี้ มากกว่าเลือกขุมทรัพย์ของโลกหน้า

    บทอ่านที่สองสรุปด้วยการเตือนใจเราว่า วันหนึ่ง เราจะต้องรายงานผลการดำเนินชีวิตของเราต่อพระเจ้า ดังนั้น สิ่งที่สองที่เราสามารถทำได้ก็คือ รำพึงตามความจริงที่ว่าพระเจ้าจะทรงให้เรารับผิดชอบการตัดสินใจของเรา อาจกล่าวได้ว่า เรากำลังต้องตัดสินใจเลือกเหมือนกับชายสองคนในสองเรื่องนี้ต้องตัดสินใจ และการตัดสินใจของเราจะเป็นปัจจัยกำหนดไม่เพียงความสุขในชีวิตนี้ แต่รวมถึงความสุขในชีวิตหน้าอีกด้วย

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกวีบทหนึ่ง ซึ่งย่อความเกี่ยวกับทางเลือกที่มนุษย์ทุกคนที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา จำเป็นต้องเลือก เราเคยได้ยินบทกวีนี้มาก่อน แต่ควรได้ยินซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง

    มีทางสายหนึ่งรออยู่เบื้องหน้ามนุษย์ทุกคน
    ทางหนึ่งจะนำเขาขึ้นที่สูง ทางหนึ่งทอดตัวตามพื้นราบ และทางหนึ่งจะนำเขาลงที่ต่ำ
   
    วิญญาณที่สูงส่งย่อมเลือกทางที่นำเขาไปสู่ที่สูง
    และวิญญาณที่ต่ำช้าย่อมเลือกทางที่นำเขาลงสู่ที่ต่ำ
    ส่วนคนที่เหลือจะเร่ร่อนไปมาระหว่างสองทางนี้
    บนที่ราบที่มืดมัวด้วยหมอก

    แต่มีทางสายหนึ่งรออยู่เบื้องหน้ามนุษย์ทุกคน
    ทางหนึ่งจะนำเขาขึ้นที่สูง ทางหนึ่งทอดตัวตามพื้นราบ และทางหนึ่งจะนำเขาลงที่ต่ำ
    และทุกคนต้องตัดสินใจเลือก
    ว่าวิญญาณของเขาจะเดินบนทางสายใด
     
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 10:17-30

ขณะที่พระองค์กำลังทรงพระดำเนินอยู่ระหว่างทาง ชายคนหนึ่งรีบเข้ามาคุกเข่าลง ทูลถามว่า “พระอาจารย์ผู้ทรงความดี ข้าพเจ้าต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร”

    เหตุการณ์นี้เป็นฉากที่น่าประทับใจ ชายคนหนึ่งมีความปรารถนามากมาย เขาวิ่งเข้ามา ... คุกเข่าลงแทบพระบาทของพระเยซูเจ้า ... และถามพระองค์

    เราอดแปลกใจไม่ได้ เมื่อเรารู้ว่าชายคนนี้เป็นใคร (จากคำบอกเล่าต่อจากนี้) นี่คือบุคคลที่มีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่อำนวยความสุขให้แก่เขาได้ เขามีทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คนทั่วไปมีความสุขได้ เขาร่ำรวย เขามี “ทรัพย์สมบัติมากมาย” และเขาดำเนินชีวิตอย่างดีด้วย เขา “ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว” ... เขาต้องมีชื่อเสียงดีในกลุ่มคนที่รู้จักเขา ชีวิตของเขายังขาดสิ่งใดอีกหรือ? เขายังต้องการอะไรมากกว่านี้? ทำไมเขาจึง “ปรารถนา” สิ่งอื่นอีก?...

พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ทำไมเรียกเราว่าผู้ทรงความดี ไม่มีใครทรงความดีนอกจากพระเจ้าเท่านั้น”
    คำตอบของพระองค์ฟังดูเฉียบขาด ชายคนนี้ชอบใช้ “สมญา” คนทั่วไปเรียกพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์” แต่ชายคนนี้เรียกพระองค์มากกว่านั้น เขาคงคุ้นเคยกับการคบหาสมาคมกับบุคคลสำคัญทั้งหลาย เขาจึงเติมคำว่า “ผู้ทรงความดี” แต่พระเยซูเจ้าไม่พอพระทัยถ้อยคำที่ยกยอเกินไปเช่นนี้ พระองค์ไม่ทรงโปรดสมญาหรูหรา และพอพระทัยคำพูดที่เรียบง่ายมากกว่า...

    นอกจากนี้ เราได้ยินพระเยซูเจ้าอ้างถึงพระเจ้าเสมอ อันที่จริง พระดำรัสนี้น่าแปลกใจ เพราะฟังดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงสนใจว่าพระองค์ทรงเป็น “พระเจ้า” พระองค์ทรงปฏิเสธสมญาว่า “ผู้ทรงความดี” นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์ทรง “ด้อยกว่า” พระบิดา ทรงด้อยกว่า “พระเจ้า” ครั้งหนึ่งพระองค์ถึงกับกล้าตรัสว่า “เรื่องวันและเวลา (ของการพิพากษาครั้งสุดท้าย) ไม่มีใครรู้เลย ... แม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (มก 13:32)

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระเจ้าเท่านั้นทรงความดี ข้าพเจ้ายึดเอาประโยคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรำพึงภาวนาของข้าพเจ้า

“ท่านรู้จักบทบัญญัติแล้ว คือ อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อโกง จงนับถือบิดามารดา”

    บทบัญญัติเหล่านี้ และการเรียงลำดับบทบัญญัติ ทำให้เราประหลาดใจ ก่อนอื่น พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเอ่ยถึงบทบัญญัติ “อันดับหนึ่ง” – คือบทบัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ราวกับพระองค์ทรงต้องการบอกเราว่า เราจะพิสูจน์ความรักของเราต่อพระเจ้าได้ด้วยความรักที่เราแสดงต่อเพื่อมนุษย์  เราจงยอมรับเถิดว่า เรามักคิดว่าการปฏิบัติ “หน้าที่ทางศาสนา” ของเราเป็นหนทางที่จะทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนมนุษย์

    นอกจากนี้ พระเยซูเจ้าทรงเติมบทบัญญัติอีกข้อหนึ่ง เข้าไปในบัญญัติสิบประการที่ชาวยิวทั่วไปยึดถือ – และเป็นบทบัญญัติที่สำคัญด้วย คือ “อย่าฉ้อโกงผู้ใด” – ราวกับว่าบทบัญญัติข้อนี้รวมความหมายของบทบัญญัติอื่นทุกข้อ เราสังเกตด้วยว่าพระองค์ตรัสถึง “หน้าที่ต่อบิดามารดา” เป็นประการสุดท้าย บทบัญญัติประการที่สี่กลายเป็นข้อสุดท้าย เหมือนกับว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการกล่าวถึงบทบัญญัติที่เป็นการประจญสำหรับเศรษฐีหนุ่มผู้นี้โดยเฉพาะ กล่าวคือ อย่าลักขโมย อย่าทำร้ายผู้อื่น – อย่าแสวงหาความร่ำรวยด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง 

ชายผู้นั้นทูลว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว”

    ชายคนนี้จึงเป็นคนดีมีคุณธรรม เขาปฏิบัติตามบทบัญญัติเสมอ พระเยซูเจ้าไม่ทรงสงสัยเลยว่าเขาไม่ได้พูดจากใจจริง ดังนั้นเราน่าจะคาดหมายว่าเรื่องจะจบลงเพียงเท่านี้ นี่คือบุคคลที่สมควรได้รับ “ชีวิตนิรันดร” แน่นอน

    แต่ขอให้เราฟังเรื่องนี้ต่อไป

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเขาด้วยพระทัยเอ็นดู...
    สายพระเนตรของพระเยซูเจ้า! ข้าพเจ้าพยายามนึกภาพนี้ในจินตนาการ พระเนตรที่แสดงความรัก!  พระเยซูเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก พระเยซูเจ้าทรงตื้นตันพระทัย...

... ตรัสกับเขาว่า “ท่านยังขาดสิ่งหนึ่ง จงไปขายทุกสิ่งที่มี มอบเงินให้คนยากจน และท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงติดตามเรามาเถิด”

    ดูเหมือนว่าการเป็นคนซื่อสัตย์ และการปฏิบัติตามบทบัญญัติทุกข้อ ก็ยังไม่พอ! เราคงคิดว่าชายคนนี้เป็นคนดีพร้อม และไร้ที่ติ แต่บัดนี้ บทบัญญัติข้อใหม่นี้จะตีแผ่บุคลิกภาพลึก ๆ ของเขา กล่าวคือ ท่านเป็นอิสระ หรือเป็นทาส? ท่านมีทัศนคติอย่างไรต่อเงินทอง ต่อสมบัติของโลกนี้?...

    น่าแปลกที่เรายังแปลกใจเมื่อได้ยินพระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเช่นนี้! อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเช่นนี้เสมอ เมื่อพระองค์ทรงเรียกศิษย์ครั้งแรก พระองค์ก็ทรงเรียกเช่นนี้ “จงตามเรามาเถิด ... เขาทั้งสองก็ละทิ้งบิดาของตนไว้ในเรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไปทันที” (มก 1:18-19) นี่คือคำสั่งแรกที่พระองค์ทรงสั่งศิษย์ของพระองค์ เมื่อทรงส่งเขาออกไปปฏิบัติพันธกิจ “ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วย นอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้” (มก 6:8) หลังจากทรงประกาศเรื่องพระทรมาน พระองค์ตรัสต่อไปทันทีว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง” (มก 8:34)

    อันที่จริง พระเยซูเจ้าไม่เคยตรัสเป็นอื่นเลย พระองค์ไม่เคยเปลี่ยนความคิดของพระองค์! พระองค์ทรงเรียกร้องให้ประชาชนเลือกอย่างสุดตัว พระองค์ทรงร้องขอ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ... เพื่อติดตามพระองค์เราต้องสละสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด...

    ช่างเป็นข้อเรียกร้องที่ไร้ขอบเขตจริง ๆ! พระวรสารไม่ใช่ตำราสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างดีเงียบ ๆ – แต่เรียกร้องให้ออกผจญภัยและยอมเสี่ยง ให้สละทุกสิ่งได้ ... เป็นข้อเรียกร้องที่เหลือเชื่อของพระเยซูเจ้า

เมื่อได้ฟังพระวาจานี้ ชายผู้นั้นหน้าสลดลง เพราะเขามีทรัพย์สมบัติมากมาย

    เราจงอย่ากล่าวหาชายคนนี้เลย เขาไม่ได้ต่างจากเรา เราเองก็ต้องการเป็นบุคคลที่ดีพร้อม ปรารถนาชีวิตนิรันดร – แต่เรายังไม่พร้อมจะสละทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน ไม่ใช่หรือ?...

    คำบอกเล่านี้เตือนใจเราว่า เราเองก็กำลังปฏิเสธกระแสเรียกจากพระเจ้าเช่นเดียวกัน – กระแสเรียกที่จะเป็นต้นกำเนิดของความยินดีสำหรับเรา แม้ว่าเรียกร้องให้เราปฏิเสธตนเองก่อน

    ความเศร้าใจของชายคนนี้มีนัยสำคัญ เขารวยมาก “เขามีทรัพย์มากมาย” แม้ว่าเขามีทรัพย์มากมายเช่นนี้ เขาก็ยังไม่มีความสุข เขาคือภาพลักษณ์ของคนทั้งหลายที่ร่ำรวยและมีกินมีใช้อย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะประชาชนในประเทศตะวันตก แต่ยังรวมถึงประชาชนในส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย...

    ขอให้เราเจาะลึก และกล้าพินิจพิเคราะห์ความกระอักกระอ่วนใจที่แสดงออกมาทางใบหน้าของเขาเถิด นี่ไม่ใช่เครื่องหมายเล็กน้อยเลยที่แสดงว่าจิตใจของเขาได้สัมผัสกับพระหรรษทานแล้ว จนถึงเวลานั้น เขาไม่รู้ตัวว่าเขายังขาดบางสิ่งที่จำเป็น เขาคิดว่าทรัพย์สินควรทำให้เขาพึงพอใจได้แล้ว บัดนี้ เขารู้แล้วว่าเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งอื่น...

    พระเจ้าข้า ขอให้โอกาสอันน่าเศร้าในชีวิตของเราบังเกิดผลดี ช่วยปลุกเราให้หลุดพ้นจากภาพลวงตา หรือตื่นจากการหลับใหล และรู้ตัวว่าเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพระองค์! หัวใจของเรา และความปรารถนาของเรา กว้างใหญ่เกินกว่าจะถมให้เต็มได้ด้วยสมบัติที่มีข้อจำกัดของโลกนี้ “โปรดเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เท่านั้นทรงตอบสนองความปรารถนาล้ำลึกที่สุดของเราได้!” 

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรโดยรอบแล้วตรัสกับบรรดาศิษย์

    มาระโกชี้ให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเจ้าทรงมองดูประชาชนอย่างไร พระเยซูเจ้าทรงกำลังมองดูข้าพเจ้า ... พระองค์ทรงกำลังมองดูบุคคลที่ข้าพเจ้ารัก ... พระองค์ทรงมองโลกซึ่งเป็นที่พักอาศัยของข้าพเจ้า ... พระองค์ทรงกำลังมองประชาชนในซุปเปอร์มาร์เก็ต ... และมวลชนในชุมชนแออัด...

    และพระองค์มิได้ทรงมองดูอย่างไม่สนใจใยดี พระองค์เริ่มตรัสว่า...

“ยากจริงหนอที่คนมั่งมีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า”

    พระเยซูเจ้าทรงประณามอำนาจที่น่ากลัวของเงินอีกครั้งหนึ่ง เราพบคำเตือนนี้ตลอดคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า

-    “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (ลก 16:13)
-    เศรษฐีไม่อาจมองสถานการณ์ของเขาอย่างสมดุล และคิดว่าเขาสามารถอยู่ได้โดยปราศจากพระเจ้า (ลก 12:16-20)
-    หัวใจของเศรษฐีกระด้างมากขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งเขามองไม่เห็นพี่น้องชายหญิงที่กำลังทุกข์ทรมานใกล้ตัวของเขา (ลก 16:19-31)
-    ความร่ำรวยขัดขวางไม่ให้พระวาจาของพระเจ้าเจริญงอกงามในใจของมนุษย์ (มธ 13:22)

    เราจงย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่ควรประณามผู้อื่นเท่านั้น แต่เราควรยอมรับว่าเราเองก็ “ร่ำรวย” ในบางด้าน – เราร่ำรวยเมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับคนมากมายรอบตัวเรา ... ถ้าเราเปรียบเทียบว่าเราหาเงินได้เท่าไร และเพื่อนมนุษย์จำนวนมากของเราหาเงินได้เท่าไร...

บรรดาศิษย์แปลกใจกับพระวาจานี้

    ความแปลกใจของบรรดาศิษย์มีความหมายพิเศษ ชาวยิวเชื่อว่าความร่ำรวยเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าพระเจ้าทรงโปรดปรานเขา เป็นแผนการของพระเจ้ามิใช่หรือว่าจะทรงมอบหมายให้มนุษย์ปกครองโลกนี้ เพื่อพัฒนาและทำให้ทรัพยากรมีคุณค่าเต็มที่ (ปฐก 1:27-31) แต่เราต้องยอมรับว่าเราไม่ยอมรับพระวาจาเหล่านี้ของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นคำสั่งสอนทางจริยธรรมที่ปฏิวัติความคิดสำหรับสังคมในศตวรรษที่ 20

-    เราทำงานเพื่อ “หาเงิน” ให้ได้มากที่สุดไม่ใช่หรือ?
-    เราต้องการให้ลูก ๆ ของเราทำงานในอาชีพที่สร้างความร่ำรวยได้จริงไม่ใช่หรือ?
-    เราได้ยินคำโฆษณากรอกหูเราอยู่ทุกวันให้เราบริโภคให้มากขึ้น และบอกเราว่า “ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น” ไม่ใช่หรือ?...

พระเยซูเจ้าจึงตรัสอีกว่า “ลูกเอ๋ย ยากจริงหนอที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า อูฐจะลอดรูเข็มยังง่ายกว่าคนมั่งมีเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า”

    แทนที่จะลดความรุนแรงของคำพูด พระเยซูเจ้ากลับทรงเน้นย้ำด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่อาจลืมได้ง่าย พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักเทศน์ที่ใช้ลีลาการพูดที่สะดุดหู และเข้าใจง่าย ขอให้เราอย่าเจือจางพระวาจาของพระองค์ ด้วยการอ้างว่าพระองค์ตรัสเป็นภาษาปฏิทัศน์ (paradoxical language)

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ความร่ำรวยและความรอดไม่อาจไปด้วยกันได้ เราต้องเลือกขุมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ – เราจะเลือกขุมทรัพย์ของโลกนี้ หรือขุมทรัพย์ในสวรรค์...

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธว่าเงินทองเป็นของจำเป็น พระองค์ทรงยอมรับว่าเงินสามารถรับใช้เราได้...

    แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับความคิดที่ให้เงินมีอำนาจเหนือเรา ความคิดที่เรายอมเป็นทาสของเงิน

บรรดาศิษย์ยิ่งประหลาดใจมากขึ้น พูดกันว่า “ดังนี้ ใครเล่าจะรอดพ้นได้” พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรบรรดาศิษย์แล้วตรัสว่า “สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับพระเจ้าเป็นเช่นนั้นได้ เพราะพระองค์ทรงทำได้ทุกสิ่ง”

    เป็นครั้งที่สามในหน้าเดียวกัน ที่มาระโกย้ำว่า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรประชาชน!

    พระเยซูเจ้าทรงอ้างวลีในพระคัมภีร์ ที่กล่าวแก่อับราฮัม (ปฐก 18:14) แม้ว่านางซาราห์อยู่ในวัยชรา และสภาพร่างกายของนางไม่สามารถมีบุตรได้ เพราะ “พระเจ้าทรงทำได้ทุกสิ่ง” ทูตสวรรค์กาเบรียลย้ำคำเดียวกันนี้กับพระนางมารีย์ (ลก 1:37) หลังจากพระเยซูเจ้าทรงประณามทัศนคติอยากได้อยากมีของเราอย่างรุนแรงแล้ว พระองค์ทรงเปิดทางให้เรามีความหวังใหม่...

    “ข้าแต่พระเจ้าแห่งเอกภพ พระองค์ทรงกำลังขอให้เราทำสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้! โปรดเสด็จมาและปลดปล่อยเราเถิด เมื่อนั้น เราจะยื่นมือออกไปหาพระองค์ แบมือออก และรับจากพระองค์ สิ่งที่เรายังขาดแคลนในความรัก”