วันอาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 53:10-11; ฮีบรู 4:14; มาระโก 10:35-45
บทรำพึงที่ 1
กัส และรูธ
การรับใช้และความทุกข์ยากเป็นของคู่กัน เหมือนกับรางทั้งสองข้างของรางรถไฟ
ขณะที่สตรีคนหนึ่ง ชื่อรูธ กำลังเดินออกจากวัดในวันอาทิตย์วันหนึ่ง เธอสังเกตเห็นชายชราคนหนึ่งกำลังพยายามสวมเสื้อโค๊ทด้วยความยากลำบาก เธอเดินเข้าไปหา ยิ้มให้เขา และช่วยเขาสวมเสื้อ
หลังจากวันนั้น เธอเห็นเขาอีก ครั้งนี้ทั้งสองได้พูดคุยกัน เธอรู้ว่าเธอต้องขับรถผ่านห้องพักของชายชราระหว่างทางกลับบ้าน เธอจึงให้เขาโดยสารรถยนต์ของเธอกลับไปบ้าน ซึ่งกลายเป็นกิจกรรมประจำสัปดาห์ที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาสองปี
แล้ววันอาทิตย์หนึ่ง กัสก็หายหน้าไป รูธไปหาเขาที่ห้องพัก และพบเขาในสภาพป่วยหนัก เขาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น สองสามวันต่อมา รูธได้รับโทรศัพท์จากนางพยาบาลในโรงพยาบาลนั้น กัสกำลังจะตาย เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณหนึ่งวันเท่านั้น รูธถามว่า “คุณแจ้งญาติของเขาแล้วหรือยัง?”
พยาบาลตอบว่า “เขาไม่มีญาติ คุณเป็นคนเดียวที่เขาบอกเราให้แจ้งในกรณีฉุกเฉิน”
รูธ ตกใจมาก “กัสโดดเดี่ยวถึงเพียงนั้นทีเดียวหรือ?”
เธอรีบไปยังโรงพยาบาล เมื่อเธอไปถึงเตียงของเขา กัสหายใจหอบและพูดไม่ได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเขาจำเธอได้ และดูเหมือนว่าเขาจะตอบสนองทางสายตาต่อคำพูดที่แสดงความรักและปลอบโยนของเธอ กัสสิ้นใจหลังจากนั้นไม่กี่นาที
เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นสองหัวข้อของบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้ โดยเฉพาะบทอ่านจากพระวรสาร หัวข้อทั้งสองนี้ คือ ความทุกข์ยาก และการรับใช้
ความทุกข์ยากและการรับใช้เป็นเหมือนรางทั้งสองข้างของรางรถไฟ เมื่อคุณเห็นรางข้างหนึ่ง คุณต้องเห็นรางอีกข้างหนึ่งด้วย ความทุกข์ยากและการรับใช้เป็นของคู่กัน เพราะเหตุผลสามข้อ
ข้อแรก การรับใช้จะทำให้เกิดความทุกข์ยากเสมอ คุณไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่คุณไม่เสียสละบางสิ่งบางอย่าง เราเห็นความจริงข้อนี้ได้จากเรื่องของรูธ และกัส แม้ว่าไม่ใช่การเสียสละมากมายอะไรนัก แต่ก็ยังเป็นการเสียสละ
เหตุผลข้อที่สองที่ทำให้ความทุกข์ยากต้องคู่กับการรับใช้เสมอ คือ พระเจ้าทรงเชิญผู้ที่กำลังทุกข์ยาก ให้ยอมทนรับความทุกข์ยากของเขาเพื่อรับใช้ผู้อื่น พระเจ้าทรงเชิญชวนเขาเสมอให้เขาใช้ความทุกข์ยากของเขาในทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตจิตของเขา พระเจ้าทรงเชิญชวนเขาเสมอให้เขาถวายความทุกข์ยากของเขารวมเป็นหนึ่งเดียวกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้า
กัสทำเช่นนั้นในเรื่องนี้ เขาทนทุกข์ทรมานจากวัยชราและความเหงา แต่เขาไม่ปล่อยให้ความทุกข์ยากของเขาสูญเปล่า เขาภาวนาต่อพระเจ้าต่อไป เขาถวายความทุกข์ยากของเขาต่อไป เพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้า เมื่อเขาทำเช่นนี้ เขารับใช้พระกายของพระคริสตเจ้าในวิถีทางฝ่ายจิต แม้ว่าสมาชิกอื่น ๆ ของพระกายของพระองค์ไม่รับรู้ด้วยเลยก็ตาม
เหตุผลข้อที่สามนั้นเห็นได้ชัดจนเรามักมองข้าม ความทุกข์ยากต้องคู่กับการรับใช้ เพราะทางหนึ่งที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยเหลือผู้อื่นก็คือพยายามบรรเทาความทุกข์ยากของคนเหล่านั้น แต่เรามักลืมไปว่าวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะรับใช้ผู้อื่นก็คือ พยายามลดภาระจากความทุกข์ยากของเขา นี่คือวิธีที่รูธรับใช้กัส และเป็นวิธีที่พระเยซูเจ้าทรงรับใช้พี่น้องชายหญิงของพระองค์ที่กำลังอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากด้วย
ขอให้เราไตร่ตรองว่าเราสามารถรับใช้คนรอบตัวเราอย่างไรบ้าง - โดยเฉพาะคนในครอบครัวของเรา – ด้วยการพยายามบรรเทาความทุกข์ยากของเขา บางทีอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางไม่ให้เรารับใช้ก็คือความด้านชาของเราต่อบุคคลที่กำลังทนทุกข์ทรมานอยู่รอบตัวเรา ตัวอย่างต่อไปนี้จะทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น
เฮเลน เคลเลอร์ เป็นคนตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ เมื่อมีใครคนหนึ่งถามเธอว่าความพิการด้านใดทำให้เธอเจ็บปวดทรมานมากที่สุด เธอตอบโดยไม่ลังเลว่า “ความหูหนวกของฉัน”
เธออธิบายว่าเมื่อคุณหูหนวก ประตูบานใหญ่ที่สุดที่ช่วยให้คุณติดต่อกับโลกรอบตัวคุณถูกปิดตาย คุณไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้าง คุณไม่ได้ยินคำพูดของเขา คุณไม่เข้าใจคำถามที่เข้าใจง่ายที่สุดของเขา คุณรู้สึกเหมือนคุณถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง คุณรู้สึกเหมือนกัสในเรื่องนี้ แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่า
เมื่อคุณตาบอด คุณจะถือไม้เท้าสีขาว คนทั่วไปก็รู้ได้ว่าคุณตาบอด และเขาจะปฏิบัติต่อคุณด้วยความห่วงใยเป็นพิเศษ แต่เมื่อคุณหูหนวก คุณไม่มีเครื่องหมายอะไรแสดงให้ผู้อื่นรู้ ดังนั้น คนทั่วไปจึงไม่ปฏิบัติต่อคุณอย่างเอื้ออาทร บ่อยครั้งเขาจะปฏิบัติต่อคุณอย่างเลวร้ายกว่าปกติ เพราะคุณไม่แสดงปฏิกิริยาต่อเขา เขาจึงคิดว่าคุณเมินเฉยต่อเขา ดังนั้นคุณจึงต้องได้รับความทุกข์ยากหนักขึ้นอีก
ความทุกข์ยากประเภทนี้เองที่ทนรับได้ยากมากเป็นพิเศษ และเราควรรับรู้ถึงความทุกข์ยากประเภทนี้ให้มากขึ้น นี่คือความทุกข์ยากที่กัสต้องทนรับ ไม่มีใครรู้ว่าเขารู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวมากเพียงไร
มีสองทางที่เราสามารถฝึกตนเองให้รับรู้ถึงความทุกข์ยากประเภทนี้ให้มากขึ้น ทางหนึ่งคือ เราควรเริ่มต้นสนใจกับความขาดแคลนของผู้อื่น แทนที่จะสนใจแต่ปัญหาและความขาดแคลนของตัวเรา
ระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษที่ 1930 เจ้าหน้าที่รัฐมักเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่บนภูเขาในรัฐเทนเนสซี เพื่อประเมินความขาดแคลนของพวกชาวนาที่กลายเป็นคนยากจน เจ้าหน้าที่จะมอบเงินให้คนเหล่านี้ทันทีเพื่อใช้ซื้ออาหาร หรือทำการซ่อมแซมบ้านเรือนที่จำเป็น
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพบหญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ บ้านหลังนี้มีพื้นเป็นดิน และหน้าต่างผุพังหลายบาน เจ้าหน้าที่ถามหญิงคนนี้ว่า “ถ้าผมให้เช็คของรัฐบาลมูลค่าสองร้อยดอลลาร์แก่คุณ คุณจะใช้เงินทำอะไร?” เธอคิดอยู่ครู่หนึ่ง และตอบว่า “ฉันว่าฉันคงเอาไปให้พวกคนจนที่อยู่บนภูเขานี้แหละ”
หญิงชราคนนี้ได้พัฒนาศิลปะในการเพ่งความสนใจไปที่ความขาดแคลนของผู้อื่น แทนที่จะสนใจความขาดแคลน และปัญหาของตนเอง
ทางที่สองที่เราสามารถฝึกตนเองให้รับรู้ความทุกข์ยากของผู้อื่น คือ ด้วยการภาวนา การภาวนาเป็นวิถีทางที่ทำให้เราเข้าใจความทุกข์ยากของผู้อื่นได้อย่างที่การฝึกวิธีอื่นทำไม่ได้ ลองฝึกตนเองเพียงหนึ่งเดือน แล้วคุณจะค้นพบความจริงนี้ด้วยตนเอง ลองสวดภาวนาเพียงหนึ่งบททุกวัน เพื่อวอนขอพระพรให้คุณมีความรู้สึกไวต่อความทุกข์ยากของผู้อื่น และคุณจะเข้าใจ บทภาวนาที่เหมาะสมจะเป็นบทภาวนาประจำวัน คือ บทภาวนาของนักบุญฟรานซิส
พระเจ้าข้า โปรดทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือสร้างสันติของพระองค์
ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้หว่านความรัก
ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
ที่ใดมีความสิ้นหวัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
ที่ใดมีความมืด ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความยินดี
โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรเทา มากกว่าแสวงหาความบรรเทา
เข้าใจผู้อื่น มากกว่าต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจ
รักผู้อื่น มากกว่าต้องการความรักจากผู้อื่น
เพราะด้วยการให้ เราจึงได้รับ
ด้วยการให้อภัย เราจึงได้รับการอภัย
และด้วยการตาย เราจึงได้เกิดใหม่ และเข้าสู่ชีวิตนิรันดร
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 10:35-45
ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี เข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้”
ชายหนุ่มสองคนนี้เป็นบุตรชายของชาวประมง ชื่อเศเบดี เขามาจากเมืองเบธไซดา ซึ่งเป็นเมืองท่าเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส มารดาของเขาน่าจะเป็นนางสะโลเม น้องสาวของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า (มก 15:40, 16:1) ทั้งสองกำลังทำตามประเพณีของคนในอารยธรรมตะวันออก เขากำลังใช้อภิสิทธิ์จากการเป็นญาติพี่น้องของพระเยซูเจ้า เขามาหาพระองค์เพื่อขอให้ “คนในวงศ์ตระกูลเดียวกัน” มีส่วนแบ่งในความสำเร็จของสมาชิกคนหนึ่งของตระกูล
นอกจากนี้ พระเยซูเจ้าเคยตรัสไม่ใช่หรือว่า “จงขอ และท่านจะได้รับ”? เขาจึงเสนอข้อเรียกร้องของเขาว่า “ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้”
บางครั้งเราสงสัยว่าทำไมคำวอนขอบางสิ่งบางอย่างของเราจึงไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่เราปรารถนา ขอให้เราเข้าใจความหมายของเหตุการณ์นี้ให้ถูกต้องเถิด
พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด”
ข้อเรียกร้องของเขากำกวมเกินไป พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เขาพูดให้ชัดกว่านี้
ทั้งสองทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด”
พระเยซูเจ้าเพิ่งประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์เป็นครั้งที่สาม (มก 10:32-34) “บัดนี้ พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบให้บรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ เขาจะตัดสินประหารชีวิตพระองค์ ... สบประมาทเยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด โบยตี และฆ่าเสีย...” (มก 10:32-34) ในเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงยอม “เป็นคนสุดท้าย” เขาทั้งสองกำลังพยายามผลักดันตนเองขึ้นสู่ “ตำแหน่งสูง ๆ” เขายังฝันว่าพระเมสสิยาห์จะประทานสิริรุ่งโรจน์แก่ชนชาติของเขา สำหรับเขา (และสำหรับเราด้วยหรือเปล่า?) พระเมสสิยาห์คือวีรบุรุษผู้พิชิต ผู้จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสงบเรียบร้อยด้วยอำนาจของพระองค์ ถ้าเช่นนั้น ทำไมเขาจะไม่ใช้เส้นสายของญาติคนหนึ่งเพื่อให้ได้ตำแหน่งหรือเอกสิทธิ์เล่า? ... ขอให้เราอย่าตัดสินเขารุนแรงเกินไป เราเองก็ทำเช่นนี้เมื่อใดที่ทำได้ไม่ใช่หรือ? มันเป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ? ... เมื่อใครเป็นญาติกับผู้มีอำนาจ เขาย่อมแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ของเขาไม่ใช่หรือ?
แต่ขอให้เราพิจารณาให้ลึกกว่านั้น เราใช้ชีวิตคริสตชนของเราเพื่อรับใช้พระเจ้า หรือเราพยายามบังคับให้พระเจ้ารับใช้เรา? ... เราปฏิบัติศาสนกิจเพื่อนมัสการ สรรเสริญ และแสดงความนบนอบต่อพระเจ้า – หรือมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็น “กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับโลกหน้า”? ... ข้าแต่พระอาจารย์ โปรดทรงจัดการหาตำแหน่งสูง ๆ ให้ข้าพเจ้าในสวรรค์ด้วย!
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร”
ถ้าเขารู้ว่าใครที่จะอยู่ “เบื้องขวาและเบื้องซ้าย” ของพระเยซูเจ้า “ในพระสิริรุ่งโรจน์” คือ บนไม้กางเขน! ... เขาทั้งสองไม่รู้จริง ๆ ว่าเขากำลังร้องขอตำแหน่งของโจรสองคนที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระเยซูเจ้าบนเขากัลวารีโอ...
เขายังไม่เข้าใจเลยว่าชะตากรรมที่แท้จริงของพระเยซูเจ้าคืออะไร ด้วยคำถามของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงพยายามช่วยเขาให้ก้าวออกจากความคิดเรื่อง “พระเมสสิยาห์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” และก้าวเข้าสู่ความคิดเรื่อง “วิถีทางที่นำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” บ่อยครั้ง เราเองก็ไม่รู้ว่าเรากำลังวอนขออะไร นี่คือธรรมล้ำลึกของคำภาวนาของเราที่ดูเหมือนพระเจ้าไม่ทรงสดับฟัง!
ขอให้เรายอมรับได้เมื่อพระเจ้าทรงเปลี่ยนข้อเรียกร้องของเรา “ลูกไม่รู้ว่าลูกกำลังขออะไรจากเรา จงวางใจในเราให้มากขึ้นอีกสักนิดเถิด” พระเจ้าทรงกำลังบอกเราเช่นนี้ ... ความฝันในวัยหนุ่มของท่านจะกลายเป็นความจริงเมื่อท่านมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ ... ยากอบจะเป็นมรณสักขีคนแรก ๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 12:2) และยอห์นจะถูกจักรพรรดิเนโรเบียดเบียน และลงโทษให้ทำงานหนักบนเกาะปัทมอส (วว 1:9)
“ท่านดื่มถ้วยที่เราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่”
เพื่อช่วยให้ศิษย์ทั้งสองของพระองค์เปลี่ยนข้อเรียกร้องของเขา พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพลักษณ์ที่พบเห็นได้ในพระคัมภีร์ คือ ถ้วย และการล้าง
- คำว่า “ถ้วย” ในพระคัมภีร์ ตามปกติหมายถึง “ถ้วยแห่งความขมขื่น” ... เครื่องดื่มรสขมที่ยากจะกลืน “พระเจ้าทรงถือถ้วยใบหนึ่ง มีเหล้าองุ่นผสมยาบรรจุอยู่เต็ม พระองค์ทรงเทเหล้าองุ่นให้เขาดื่มจนถึงตะกอนที่ก้นถ้วย คนชั่วร้ายทั้งหลายบนแผ่นดินจะต้องดื่มเหล้านี้” (สดด 75:8)
- คำว่า “การล้าง” ก็มีความหมายคล้ายกัน เป็นภาพลักษณ์ของการจมลงในน้ำ การถูกกลืน “กระแสคลื่นทั้งที่เรียบรื่นและแตกฟอง กลบร่างข้าพเจ้าแล้ว” (สดด 42:7)
พระเยซูเจ้าทรงตระหนักว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพระองค์ พระองค์จึงทรงถามศิษย์ทั้งสองว่า “ท่านดื่มถ้วยแห่งความทุกข์ทรมานของเราได้ไหม และรับการล้างด้วยโลหิตของเราได้หรือไม่?” ... ท่านยอมรับที่จะเป็นเหมือนเรา ร่วมรับความทุกข์ทรมานกับเรา ยอมถูกกลืนในน้ำอันน่าเศร้านี้ได้หรือไม่ ท่านพร้อมหรือไม่ที่จะร่วมรับความตายกับเรา?...
ทั้งสองทูลตอบว่า “ได้ พระเจ้าข้า”
ความกระตือรือร้นของคนวัยหนุ่มทำให้เขาทั้งสองใจกว้าง เขาเต็มใจและพร้อมจะจ่ายราคาด้วยตนเอง คือ ยอมดื่มจากถ้วยนี้ และได้รับการล้างครั้งนี้
เราควรระลึกว่า ขณะที่มาระโกเขียนพระวรสารของเขา คริสตชนได้รับและคุ้นเคยกับศีลศักดิ์สิทธิ์สองประการนี้ เหมือนกับที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เราเข้าใจความหมายของศีลล้างบาป และศีลมหาสนิทที่เรารับอย่างไร? ... เราเข้าใจหรือไม่ว่าด้วยการดื่มจากถ้วยนี้ เรากำลังมีส่วนร่วมในการถวายบูชาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงสละชีวิตของพระองค์? ... ความเชื่อที่เราประกาศในศีลล้างบาปทำให้เรา “ติดตาม” พระเยซูเจ้าหรือเปล่า? ติดตามพระองค์ไปไกลแค่ไหน?...
พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ”
เมื่อมาระโกบันทึกคำทำนายของพระเยซูเจ้านี้ คำทำนายนี้ได้กลายเป็นจริงไปแล้วบางส่วน ในปี ค.ศ. 44 ยากอบได้กลายเป็นมรณสักขีแล้ว “เวลานั้น กษัตริย์เฮโรดทรงเริ่มเบียดเบียนสมาชิกบางคนของพระศาสนจักร พระองค์ทรงประหารยากอบ พี่ชายของยอห์น โดยตัดศีรษะ เมื่อทรงเห็นว่าชาวยิวพอใจ จึงทรงจับกุมเปโตรด้วย” (กจ 12:1-3)
การเป็นคริสตชนหมายถึงการติดตามพระเยซูเจ้า!
“แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวคำที่แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างน่าประหลาดใจเบื้องหน้าพระบิดาของพระองค์ พระองค์ตรัสว่าเรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของพระองค์! พระองค์ทรงน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดา ด้วยพระดำรัสนี้ พระองค์ทรงเชิญชวนเราให้มอบตนเองแด่พระเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงกระทำตามพระประสงค์...
ถูกแล้ว ยอห์น และยากอบจะได้รับ “สิริรุ่งโรจน์” แต่ไม่ใช่สิริรุ่งโรจน์อย่างที่เขาทั้งสองคาดหมาย สิริรุ่งโรจน์ของเขาจะเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเอง นี่คือวิธีที่พระองค์ตอบสนองคำวอนขอของเขา!...
ส่วนเราเล่า? เมื่อดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่สดับฟังคำภาวนาของเรา เราวางใจอย่างเต็มเปี่ยมหรือไม่ว่าพระองค์จะสดับฟังตามวิถีทางของพระองค์เอง? ... พระเยซูเจ้าทรงส่งมิตรสหายของพระองค์กลับไปสู่ธรรมล้ำลึกแห่งแผนการของพระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้
เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบ และยอห์น
อัครสาวกเหล่านี้โกรธ เพราะพวกเขาก็ปรารถนาสิ่งเดียวกันนี้
พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ”
ครั้งนี้ พระเยซูเจ้าตรัส “แบบนักการเมือง” – แต่ทรงชี้ให้เห็นด้านมืดของการเมือง เราไม่อาจพูดได้ว่าพระเยซูเจ้าปรารถนาจะสถาปนาโลกที่ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากฐานันดร โลกที่มนุษย์มีฐานะเท่าเทียมกันหมดทุกคน และเหมือนกับเมื่อพระองค์ตรัสถึงเงินทองหรือสภาวะทางเพศ พระองค์ทรงปฏิเสธการใช้ “อำนาจ” เพียงเพื่อให้มีโอกาสปกครองและกดขี่ผู้อื่น เหมือนกับการใช้อำนาจเพื่อสร้างสมดุล ซึ่งมีแต่คนเข้มแข็งเท่านั้นที่จะชนะ ... เปล่าเลย พระเยซูเจ้าไม่ทรงสนับสนุนหลักการนี้!
“แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น”
พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้ใช้อำนาจในพระศาสนจักร หรือในชุมชนคริสตชน เหมือนกับที่ชาวโลกใช้กัน...
“ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่ จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นทาสของทุกคน”
ผู้รับใช้ (diakonos ในภาษากรีก) ... ทาส (doulos ในภาษากรีก) ... นี่ไม่ใช่บทบัญญัติข้อหนึ่งในจำนวนหลายข้อ แต่เป็น “ธรรมนูญ” ของพระศาสนจักร และของกลุ่มศิษย์ทีเดียว แต่ละคนต้องรับใช้ทุกคน!
พระเยซูเจ้าทรงเน้นย้ำประเด็นนี้อย่างหนักแน่น ความหมายใดที่ไม่รวมอยู่ในคำว่า “ผู้รับใช้” จะรวมอยู่ในคำว่า “ทาส” ซึ่งเพิ่มความหมายของ “การพึ่งพาอาศัย” บุคคลที่เรารับใช้ด้วย
ในพระศาสนจักร เราต้องปฏิเสธระบบที่สนับสนุนการเลื่อนตำแหน่ง การถือยศถือศักดิ์ ความก้าวหน้าในอาชีพ การมอบเหรียญตรา และตำแหน่งที่มีเกียรติ ... มีหลักการเพียงข้อเดียว คือ การรับใช้อย่างถ่อมตน ... ผู้ที่มีบทบาทพิเศษจะได้รับชื่อว่า “ministers” ซึ่งในภาษาละตินหมายถึง “ผู้รับใช้” ในพระศาสนจักรไม่มี “ผู้นำ (leaders)” อย่างที่ชาวโลกเข้าใจคำนี้ มีแต่ ministers คือผู้รับใช้!
“เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์”
“ธรรมนูญ” ขั้นมูลฐานข้อนี้ของพระศาสนจักร เกิดจากเหตุผลว่า พระศาสนจักรต้องเลียนแบบพระเยซูเจ้า
ขอให้เราสังเกตความหมายด้านบวกที่พระเยซูเจ้าทรงอธิบายเกี่ยวกับความตายของพระองค์ สำหรับพระองค์ ทางแห่งกางเขนไม่ใช่ “ความทุกข์ทรมาน” เป็นอันดับแรก แต่เป็น “การรับใช้”
แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงมีอำนาจเต็มที่ในฐานะที่ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่พระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจกับมิตรสหายของพระองค์ แต่ทรงรับใช้เขา ในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ไม่ได้ทรงทำตัวเหมือนเป็นนาย แต่ทรงปฏิบัติหน้าที่ของทาสที่รับใช้ที่โต๊ะอาหาร (ยน 13:13)
บิดามารดาที่เป็นคริสตชนต้องมีทัศนคติเช่นนี้ต่อบุตรของตน ผู้นำคริสตชนต้องมีทัศนคติเช่นนี้ต่อบุคคลที่เขาปกครอง
เราจะตอบรับคำเชิญของพระเยซูเจ้าอย่างจริงจังหรือไม่? ... ก่อนอื่น เราจะหลีกเลี่ยงการสำรวจมโนธรรมของผู้อื่นได้หรือไม่? ... ใครบ้างที่ข้าพเจ้ามัก “ทำตัวเป็นนายของเขา”? ... ใครบ้างที่ข้าพเจ้าต้องรัก? ใครบ้างที่ข้าพเจ้าต้องรับใช้?...