วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 8:5-8, 14-17; 1 เปโตร 3:15-18; ยอห์น 14:15-21
บทรำพึงที่ 1
ผู้ประทานชีวิต
พระคัมภีร์บรรยายภาพของพระจิตเจ้าว่าทรงมีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดโลก การประสูติของพระเยซูเจ้า และกำเนิดของพระศาสนจักร
เมื่อหลายปีก่อน นพ. ลอยด์ จัดด์ ประกอบอาชีพแพทย์ในเขตชนบทของรัฐโอ๊กลาโฮมา ประชาชนจำนวนมากในถิ่นที่อยู่ของเขาเป็นคนยากจน และไม่มียานพาหนะส่วนตัว บ่อยครั้งเขาจึงต้องขับรถออกไปถึงบ้านซอมซ่อของคนเหล่านี้เพื่อรักษาคนป่วย หรือคนบาดเจ็บ
วันหนึ่ง นพ. จัดด์ เองล้มป่วย และอาการทรุดหนัก เขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เขานึกเป็นห่วงบุตรที่ยังเล็กของเขา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาอยากบอกบุตรของเขา แต่พวกเขายังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ
นพ. จัดด์ จึงบันทึกคำพูดลงในเทปชุดหนึ่ง ซึ่งบุตรของเขาสามารถเปิดฟังได้ เมื่อเขาย่างเข้าสู่ช่วงปลายของวัยรุ่น ข้าพเจ้าขอยกข้อความหนึ่งมาจากเทปบันทึกเสียงเหล่านี้ ซึ่งกล่าวถึงการเลือกอาชีพแพทย์ นพ. จัดด์ บอกบุตรของเขาว่า
“ลูกพร้อมหรือไม่ที่จะลุกจากเตียงนอนที่อบอุ่นในคืนที่หนาวเย็น และขับรถไกล 20 ไมล์ เพื่อไปพบคนป่วยคนหนึ่ง ทั้งที่รู้ว่าเขาไม่มีปัญญาจะจ่ายค่ารักษาให้ลูก และเขาสามารถรอจนถึงเช้าเพื่อรับการรักษาได้? ถ้าลูกสามารถตอบคำถามข้อนี้ว่า ‘ได้’ ลูกก็พร้อมจะศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์”
เรื่องราวอันกล้าหาญของ นพ. จัดด์ มีความคล้ายคลึงกับเรื่องของพระเยซูเจ้าในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้
พระเยซูเจ้าเองจะทรงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน พระองค์ทรงห่วงใยศิษย์ของพระองค์เช่นเดียวกัน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พระองค์ทรงต้องการสั่งสอนเขา แต่เขายังไม่พร้อมจะเข้าใจ เช่นพระองค์ตรัสกับเขาว่า “เรายังมีอีกหลายเรื่องที่จะบอกท่าน แต่บัดนี้ ท่านยังรับไว้ไม่ได้” (ยน 16:12)
ดังนั้น เช่นเดียวกับ นพ. จัดด์ พระเยซูเจ้าจึงทรงเตรียมหนทางที่จะสั่งสอนศิษย์ของพระองค์ต่อไปหลังจากพระองค์ทรงจากโลกนี้ไปแล้ว พระองค์ทรงสัญญาจะส่งพระจิตเจ้ามาหาเขา “เมื่อพระจิตแห่งความจริงเสด็จมา พระองค์จะทรงนำท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13)
บทอ่านจากพระคัมภีร์สำหรับวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมเราให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเต ซึ่งเราจะฉลองกันในอีกสองสัปดาห์ ดังนั้น ขอให้เราเริ่มต้นเตรียมตัวด้วยการเพ่งพินิจพระจิตเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนกันเถิด
เมื่อหลายปีก่อน ธรรมทูตคนหนึ่งในประเทศจีนได้ก่อสร้างวัดเล็ก ๆ วัดหนึ่งเพื่อกลุ่มคริสตชนใหม่ของเขา บนกำแพงด้านในของวัด เขาวาดรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระตรีเอกภาพ
ที่มุมแรกของสามเหลี่ยม เขาวาดภาพดวงตาดวงหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระเจ้าพระบิดา ที่มุมที่สองของสามเหลี่ยม เขาวาดรูปไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์แทนพระเจ้าพระบุตร ที่มุมที่สามของสามเหลี่ยม เขาวาดรูปนกพิราบเป็นสัญลักษณ์แทนพระจิตเจ้า
หลังจากวาดภาพนี้เสร็จเรียบร้อย สตรีชราชาวจีนคนหนึ่งเข้ามาหาเขา และพูดว่า “ฉันเข้าใจพระบิดาผู้ทรงเกียรติ และดวงตาของพระองค์ พระบิดาผู้ทรงเกียรติมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ฉันเข้าใจพระบุตรผู้ทรงเกียรติ และไม้กางเขนของพระองค์ พระบุตรผู้ทรงเกียรติตายบนไม้กางเขนเพื่อเรา แต่ฉันไม่เข้าใจพระจิตผู้ทรงเกียรติ และนกของพระองค์”
ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราหลายคนก็เหมือนกับสตรีผู้นี้ เรารู้ว่าพระเจ้าพระบิดาทรงมีบทบาทอย่างไรในแผนการของพระเจ้า และเราคุ้นเคยกับบทบาทของพระเจ้าพระบุตร แต่เราเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของพระจิตเจ้า ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาว่าพระคัมภีร์บรรยายบทบาทของพระจิตเจ้าในแผนการทั้งหมดของพระเจ้าไว้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น เราสังเกตว่าพระคัมภีร์บรรยายว่าพระจิตเจ้าทรงมีบทบาทสำคัญในสามเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในแผนการของพระเจ้า
ก่อนอื่น พระจิตเจ้าทรงมีส่วนร่วมในการเนรมิตสร้างโลก หนังสือปฐมกาลบอกเราว่า ก่อนการเนรมิตสร้างโลก “ลมพายุแรงกล้าพัดอยู่เหนือน้ำ” (ปฐก 1:2) ในฉบับแปลบางฉบับใช้คำว่า “พระจิตของพระเจ้า” ซึ่งในภาษาฮีบรู คำว่า “จิต” หรือ “พลัง” นี้ เป็นคำเดียวกัน และในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เป็นคำที่ใช้เมื่อกล่าวถึงพระจิตเจ้า
ดังนั้น พระคัมภีร์จึงบรรยายว่าพระจิตเจ้าทรงมีส่วนร่วมในการเนรมิตสร้างโลก อาจกล่าวได้ว่าพระจิตเจ้าทรงเตรียมทางสำหรับ “กำเนิด” ของโลกของเรา
เหตุการณ์ใหญ่ครั้งที่สองซึ่งพระจิตเจ้าทรงแสดงบทบาทสำคัญคือการประสูติของพระเยซูเจ้า เราคงจำได้ว่าเมื่อพระนางมารีย์ถามว่าพระนางจะปฏิสนธิพระเยซูเจ้าได้อย่างไร ทูตสวรรค์กาเบรียล ตอบว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่ปกคลุมท่าน” (ลก 1:35)
หรืออีกนัยหนึ่ง พระจิตเจ้าทรง “พัด” อยู่เหนือพระนางมารีย์ เตรียมพระนางสำหรับการประสูติของพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่พระจิตทรง “พัด” อยู่เหนือน้ำ เตรียมทางสำหรับกำเนิดของโลก
เหตุการณ์ใหญ่ครั้งที่สามซึ่งพระจิตเจ้าทรงแสดงบทบาทสำคัญ เกิดขึ้นในวันเปนเตกอสเต หนังสือกิจการอัครสาวกบรรยายว่าพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าเหมือนกับลมพายุ แล้วทันใดก็มีเปลวไฟลงมาเหนือศีรษะของเขา ศิษย์ผู้กำลังหวาดกลัวกลุ่มนี้กลายเป็นพยานผู้ปราศจากความกลัวซึ่งยืนยันถึงพระเยซูเจ้า พวกเขาเลิกเป็นกลุ่มคนที่สับสน และกลายเป็นพระกายที่กล้าหาญของพระคริสตเจ้า
ดังนั้น พระคัมภีร์จึงบรรยายภาพของพระจิตเจ้าว่าทรงแสดงบทบาทสำคัญใน “กำเนิด” ของพระศาสนจักรในวันเปนเตกอสเตอีกด้วย
เมื่อพิจารณาทั้งสามบทบาทนี้แล้ว เราอาจตั้งข้อสังเกตได้อีกด้วยว่า พระจิตองค์เดียวกันนี้ ผู้รับบทบาทสำคัญในกำเนิดของโลก ในการประสูติของพระเยซูเจ้า และในกำเนิดของพระศาสนจักร ยังมีบทบาทสำคัญในกำเนิดของคริสตชนทุกคนเมื่อเขารับศีลล้างบาปอีกด้วย
พระจิตองค์เดียวกันผู้ทรงช่วยเหลือในการประทานชีวิตแก่โลก ประทานชีวิตแก่พระเยซูเจ้า และประทานชีวิตให้แก่พระศาสนจักร ยังประทานชีวิตแก่เราเมื่อเรารับศีลล้างบาปด้วย
ดังนั้น พระคัมภีร์จึงบรรยายไว้ว่าพระจิตเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระพรแห่งชีวิตพระเจ้า
พระจิตเจ้าจึงทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความผูกพันแห่งชีวิต ที่รวมคริสตชนทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเยซูเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกันกับกันและกัน และกับพระจิตเจ้าเอง
นี่คือบทบาทของพระจิตเจ้าในแผนการของพระเจ้า ในบทแสดงความเชื่อของเรา เราเรียกพระจิตเจ้าว่าทรงเป็น “ผู้ประทานชีวิต”
นี่คือธรรมล้ำลึกที่เราเตรียมฉลองในอีกสองสัปดาห์นับจากวันนี้ไป นี่คือธรรมล้ำลึกที่เรียกร้องความพิศวง ความยินดี และความกตัญญูรู้คุณจากเรา
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 14:15-21
บทอ่านประจำวันนี้ต่อเนื่องจากบทอ่านพระวรสารสำหรับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา และตอบคำร้องขอของฟิลิป ว่า “โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด” ... มนุษย์ทุกคนร้องขอเช่นนี้ในวันใดวันหนึ่ง ... บ่อยครั้ง คนสมัยนี้ตั้งคำถามที่เจาะลึกยิ่งกว่า เช่น พระเจ้ามีจริงหรือ ... ถ้าพระเจ้ามีจริง เป็นไปได้หรือที่เราจะติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า ... และ เราจะเรียนรู้สิ่งใดเกี่ยวกับพระเจ้าได้หรือ...
ยอห์นตอบคำถามเหล่านี้ ด้วยพระวาจาสองประโยคของพระเยซูเจ้า
- การประทานพระจิตเจ้า
ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา...
พระบิดาจะประทานพระจิตเจ้า...
ก) ซึ่ง “โลก” รับไว้ไม่ได้ ... มองพระองค์ไม่เห็น ... ไม่รู้จักพระองค์ ...
ข) แต่ท่านทั้งหลาย (ผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า) รู้จักพระองค์ ... เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่าน และอยู่ในท่าน ...
- พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมา
“เราจะกลับมาหาท่าน”
ก) แต่ “โลก” จะไม่เห็นเรา
ข) แต่ท่านทั้งหลาย (ผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า) จะเห็นเรา ... และยอมรับว่าเราอยู่ในพระบิดา และอยู่ในท่าน ...
“ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา”
หลังจากทรงขอร้องหลายครั้งให้เรา “เชื่อ” ในพระองค์ บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงขอให้เรารักพระองค์ ... หัวข้อนี้ปรากฏให้เห็นหลายครั้งในคำปราศรัยอำลานี้ เราควรสังเกตว่า ความรักถูกนำมาเชื่อมโยงกับความนบนอบเสมอไป การรักพระเยซูเจ้าหมายถึงการจดจำพระวาจาของพระองค์ และดำเนินชีวิตอย่างที่พระองค์ทรงสั่งให้เราทำ (ยน 14:15, 21, 23, 24; 15:10, 14)...
คนสมัยใหม่มักไม่คิดว่าความนบนอบเกี่ยวข้องกับมิตรภาพ และอำนาจหน้าที่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับความรัก เรามักพูดถึง “อำนาจ” และ “การยอมอยู่ใต้อำนาจ” ในแง่ลบ ดังนั้น ทัศนคติที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องจากเราจึงดูเหมือนว่าล้าสมัยโดยสิ้นเชิง “ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเรา ถ้าท่านทำตามที่เราสั่งท่าน” (ยน 15:14)...
แต่เราทุกคนมีความรู้สึกว่าเมื่อเรารักใครอย่างแท้จริง เราจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาพอใจ และเราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คนที่เรารักพอใจ โดยไม่ต้องมีใครบังคับ ... นี่คือการปฏิบัติตามความประสงค์ของเขานั่นเอง ... ถ้าเราตั้งใจฟังพระเยซูเจ้าในประเด็นนี้ เราอาจค้นพบว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระผู้ไถ่กู้ความรักของเรา” และดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้ปลดปล่อยเรา ทำให้เราเป็นอิสระที่จะแสดงความเป็นมนุษย์ในตัวเราออกมา...
การประจญอันแยบยล ซึ่งกัดกินความรักเหมือนหนอนกัดกินผลไม้ และทำให้ความรักนั้นเน่าเสีย ก็คือการประจญให้เราตัวเราเองในตัวผู้อื่น เราไม่ได้รัก “อีกฝ่ายหนึ่ง” แต่เรารักตนเองต่างหาก เพราะเหตุนี้ไม่ใช่หรือ ความรักส่วนใหญ่ในโลกสมัยใหม่จึงไปไม่รอด...
เพราะเหตุนี้ ความรักของมนุษย์ล้มเหลวมากเท่าไร ลัทธิอเทวนิยมก็แผ่ขยายมากเท่านั้น ... ใครก็ตามที่เลิก “ปฏิบัติศาสนกิจ หรือยึดมั่นในความรักต่อพระเจ้า” ในไม่ช้าจะกลายเป็นคนที่ประกาศว่าพระเจ้าไม่มีจริง...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ซื่อสัตย์ในความรักของเราต่อพระองค์ และต่อพี่น้องชายหญิงของเรา ...
“เราจะวอนขอพระบิดา” ...
พระเยซูเจ้าทรงน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดาโดยสิ้นเชิง มิใช่เพราะพระองค์ทรงถูกบีบบังคับ แต่เพื่อเป็นการแสดงความรักอันซื่อสัตย์ของพระองค์ ... แม้จะดูเหมือนน่าประหลาดใจ แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงทะนงตน หรือแสดงพระองค์เสมือนว่าทรงเป็นศูนย์กลางของโลก พระองค์ทรงนำทางมนุษย์ให้มองจาก “พระองค์เอง” ไปยังพระบิดา พระเยซูเจ้าจะทรงวอนขอพระบิดา ... แม้แต่ในเวลานี้ พระเยซูเจ้าก็ยังบอกเราว่าพระองค์กำลังวอนขอพระบิดา...
...“แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง”...
ยอห์นเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่เรียกพระจิตเจ้าว่า “ผู้ช่วยเหลือ” หรือ Parakletos ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ทนาย หรือผู้บรรเทา หรือผู้แก้ต่าง ... ขอให้เราสังเกตว่า “พระผู้ช่วยเหลือ” พระองค์นี้มีความเชื่อมโยงกับ “ความจริง”...
ดังนั้น การทดสอบ (หรือการพิจารณาคดี) ซึ่งบรรดาศิษย์จะต้องเข้าไปเกี่ยวพันด้วย จึงเป็น “การทดสอบแห่งความจริง” และในความเป็นจริง นี่คือการทดสอบ หรือการพิจารณาคดีพระเจ้า...
จากพระวาจาว่า “พระบิดาจะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งแก่ท่าน” ในเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์กำลังจะจากไป เราพบคำถามของฟิลิป และคำถามของโลกสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ ... พระเจ้าข้า โปรดแสดงพระองค์ให้เราเห็นเถิด...
“การพิจารณาคดีพระเยซูเจ้า” ไม่เคยสิ้นสุดเลย ... ชายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตคนนี้ไม่เหมือนกับมนุษย์อื่น ๆ ที่เป็นนักโทษประหาร – นับตั้งแต่เวลาที่มนุษย์บางคน คือศิษย์ของพระองค์ เริ่มต้นยืนยันว่าพระองค์ยังมีชีวิต และกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย...
เพราะในไม่ช้า พระเยซูเจ้าจะทรงบอกเราว่า “ผู้ที่เชื่อจะดำรงอยู่ในพระองค์ และพระองค์จะดำรงอยู่ในเขา” ดังนั้น การพิพากษาคดีของพระเยซูเจ้าจึงขยายออกไปทั่วแผ่นดินโลก ... ในทุกสถานที่ ซึ่งคริสตชนพยายาม “ดำรงอยู่” กับพระองค์
ข้อกล่าวหาของมนุษย์ต่อพระเจ้ามีมากมายหลายข้อ เราอาจคิดถึงการรังควาน แผนประชาสัมพันธ์ของลัทธิอเทวนิยม การเบียดเบียนของลัทธิมาร์กซิสของโลกตะวันออก ... แต่ลัทธิวัตถุนิยมของโลกตะวันตกที่แสดงความเย็นชาอย่างไม่ก้าวร้าว หรือคำประชดประชันอย่างแนบเนียน ก็ถือได้ว่าเป็นอเทวนิยมไม่น้อยกว่ากันเลย ... อันที่จริง ทุกครั้งที่ความเห็นแก่ตัวของเราฆ่าความรัก ทุกครั้งที่เราเลือกความสุขสบายเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าเลือกรับใช้พระเจ้า เรากำลังตั้งศาลขึ้นมาเพื่อตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า และส่งพระเจ้าไปสู่ “ความตาย”...
ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงส่งพระจิตของพระองค์ลงมาปกป้องเราด้วยเทอญ...
โปรดเสด็จมาหาเรา ข้าแต่พระจิตผู้เป็นเสมือนลมพายุ โปรดเสด็จมาช่วยมิให้เราพ่ายแพ้ต่อการประจญอันแยบยลจนกระทั่งเราเดินตามจิตของสังคมอย่างคนตาบอด ทั้งที่จิตนี้ยังคงกล่าวหา “พระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” อยู่ตราบจนทุกวันนี้...
“พระจิตแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้ เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์ แต่ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่าน และอยู่ในท่าน”
ในคำปราศรัยอำลาในคืนก่อนที่พระองค์จะถูกพิจารณาคดี และสิ้นพระชนม์ พระเยซูเจ้าตรัสคำว่า “โลก (the world)” ถึง 30 ครั้ง คำนี้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอกภพที่ถูกสร้างขึ้น ยอห์นเขียนไว้ในอีกข้อความหนึ่งว่า “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ... เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น” (ยน 3:16-17)...
แต่ในที่นี้ ยอห์นไม่ได้หมายถึงมนุษยชาติทั้งมวล แต่หมายถึงมนุษยชาติส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธพระเจ้า ... นี่คือ “โลก” ซึ่งปิดกั้นตนเอง ก้าวร้าว และไม่สะดุ้งสะเทือนกับอิทธิพลฝ่ายจิตใด ๆ ดังนั้น จึงตาบอด และไม่รู้ไม่เห็น โลกประเภทนี้มีกำแพงกั้นอยู่ภายในตนเอง ซึ่งทำให้พระเยซูเจ้าไม่สามารถแสดงพระองค์ให้เห็นได้อย่างแท้จริง...
“เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่านในไม่ช้า โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิต และท่านก็จะมีชีวิตด้วย”
ยอห์นเริ่มต้นให้คำตอบส่วนที่สองด้วยถ้อยคำเหล่านี้ หลังจาก “การประทานพระจิตเจ้า” เขาเปิดเผยเรื่อง “การประทับอยู่แบบใหม่” ของพระเยซูเจ้า ยอห์นบอกเราว่า เพื่อที่เราจะเห็น และรู้จักทั้งพระจิตเจ้าและพระเยซูเจ้า เราต้อง “รัก และปฏิบัติ” และเขาย้ำว่า “โลก” ยังปิดตา และไม่รู้จักการประทับอยู่อย่างเร้นลับของพระบุคคลทั้งสองนี้ ในขณะที่ผู้มีความเชื่อจะดำรงอยู่ในพระองค์...
ในสายตาของโลก พระเยซูเจ้าคือบุคคลที่ตายไปแล้ว เป็นบุคคลในอดีต ไม่ว่าพระองค์จะเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือ หรือถูกเกลียดชัง หรือไม่มีใครเห็นความสำคัญ หรือไม่มีอิทธิพลก็ตาม ... ยอห์นเรียกคนเหล่านั้นว่า “ลูกกำพร้า” เพราะเขาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีใครคอยดูแลเขาด้วยความรัก คนเหล่านี้ปิดทุกทางที่จะพาเขาออกไปจากโลก เขาปิดกั้นตนเองอยู่ภายในโลกที่ไม่มีครอบครัว โลกที่ตัวเขาเองเป็นศูนย์กลาง ... ใน “โลก” เช่นนี้มีอัตราการเกิดโรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายที่สูงด้วยเช่นกัน...
โลกบอกเราว่าเราเป็นมนุษยชาติที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว เราจะยอมกระทำการใด ๆ “ด้วยตนเอง” เท่านั้น เราไม่คุ้นเคยกับการถามคำถามอีกต่อไป (เพราะเราพ้นวัยเด็กมานานมากแล้ว) เราหวาดกลัวลึก ๆ ว่าจะมีใครสั่งเราให้ทำอะไร นอกจากเราจะสั่งตนเอง เราแสร้งทำเป็นว่าเรายังเป็นนายในบ้านของเรา และเมื่อเราตะโกนเรียกหาพระเจ้า เราไม่ได้ขอคำตอบจากพระองค์เสมอไป...
แต่ขอให้เราตรึกตรองให้ดีเถิด – สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับความรัก...
ยิ่งเรารักมากเท่าไร เรายิ่ง “พึ่งพาอาศัย” มากขึ้นเท่านั้น...
ถ้าท่านต้องการเป็นนายของตนเองโดยสิ้นเชิง ท่านจะเป็นบุคคลที่โดดเดี่ยวเสมอ ไร้ที่พึ่ง เป็นลูกกำพร้า...
“ในวันนั้น ท่านจะรู้ว่าเราอยู่ในพระบิดาของเรา ท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน”
เพื่อต่อต้านการปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวที่จะเปิดใจตนเองให้ยอมรับผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เราเห็นธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ของความรักอันสนิทสนม ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าอยู่คนเดียวตามลำพัง แต่แท้จริงแล้วเรามีกันถึง 4 คน พระบิดา พระเยซูเจ้า พระจิตเจ้า และตัวข้าพเจ้าเอง
เราจงพยายามต้อนรับแขกผู้ลึกลับเหล่านี้ในบางเวลา ... พยายามอยู่กับพระองค์ฉันเพื่อน ... พยายามพูดกับพระองค์ บอกพระองค์ ... ด้วยคำพูดที่แสดงความรัก...
ทำไมเราจะต้องรอจนถึง “วันสุดท้าย” ก่อนจะค้นพบสิ่งอัศจรรย์นี้ ... ความเชื่อสอนเราให้คาดหวังเหตุการณ์ในอนาคต...
สำหรับผู้มีความเชื่อทั้งหลาย “วันนั้น” คือวันปัสกา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของ “สัปดาห์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด” ... เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป่าลมประทานพระจิตเจ้า “ผู้จะอยู่กับท่านตลอดไป”...
“ผู้ที่มีบทบัญญัติของเรา และปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขา และจะแสดงตนต่อเขา”
ในข้อความนี้ เราพบแนวคิดเดียวกันกับข้อความที่เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งแสดงว่านี่คือแนวคิดหลักของข้อความทั้งหมด
การรัก ... การปฏิบัติตามบทบัญญัติ ... เป็นเงื่อนไขของการแสดงตนของพระเจ้าแก่ใครสักคนหนึ่ง...
เราได้ยินคำเตือนแล้ว! การรู้จักพระเจ้านั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการรับรู้ข้อมูลทางทฤษฏีที่ถูกต้อง หรือคำสอนทางศาสนา ... นี่คือประสบการณ์สูงส่งที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ ... นี่คือประสบการณ์การดำเนินชีวิตด้วยความรัก และการปฏิเสธตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น...