วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์
มัทธิว 28:1-10; มาระโก 16:1-8; ลูกา 24:1-2
บทรำพึงที่ 1
เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ ซึ่งหมายถึงวันอาทิตย์ สตรีสามคนไปที่พระคูหาฝังศพเพื่อนำเครื่องหอมไปชโลมพระศพพระเยซูเจ้า
พระคูหาว่างเปล่า...
พระศพไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว...
“อย่ากลัวเลย”
“ท่านกำลังมองหาพระเยซูผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน”
“พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ เพราะทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว”
“มาซิ มาดูที่ที่เขาวางพระองค์ไว้”
“จงไปแจ้งบรรดาศิษย์ และเปโตร ให้รู้ว่าพระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านทั้งหลายไปในแคว้นกาลิลีแล้ว ท่านจะเห็นพระองค์ที่นั่น ดังที่ทรงบอกท่านไว้...”
อย่ากลัว...
จงกลับไปปฏิบัติหน้าที่อันเป็นกิจวัตรของท่าน ด้วยความเชื่อมั่นว่าพระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ และพระองค์ประทับอยู่ในกิจวัตรเหล่านั้น...
ให้แจ้ง “ข่าว” นี้แก่ทุกคนที่ต้องการได้ยิน...
เพราะนี่คือ “ข่าวดี” ที่มนุษย์ทุกคนกำลังรอคอย...
“ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า”
“พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว”
พระองค์เสด็จไปหาพระผู้ทรงพระชนม์...
เพื่อมีชีวิต...
ชีวิต...
ข้าพเจ้าควรใช้เวลาตรึกตรองว่าถ้อยคำเหล่านี้หมายถึงอะไร ... ข้าพเจ้าต้องพยายามเข้าใจสาระของถ้อยคำเหล่านี้ โดยใช้ภาพลักษณ์ ประสบการณ์ ศาสตร์ทั้งปวง และความเชื่อทั้งหมดของข้าพเจ้าให้เป็นประโยชน์...
ชีวิตคริสตชนเป็นข้อผูกมัดอย่างหนึ่ง
เพื่อจะดำรงชีวิตอย่างอิสระสมกับที่เป็นบุตรของพระเจ้า ท่านยอมปฏิเสธบาปหรือไม่ ท่านยอมปฏิเสธความเย้ายวนใจของความชั่วหรือไม่ ท่านยอมปฏิเสธซาตาน ผู้เป็นบิดาของบาปหรือไม่
ท่านเชื่อในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดินหรือไม่
ท่านเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระเอกบุตรของพระองค์หรือไม่...
ท่านเชื่อในพระจิตเจ้า พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากลหรือไม่...
ท่านเชื่อในชีวิตนิรันดรหรือไม่
ข้าพเจ้าเชื่อ
ความเชื่อเป็นธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่
ข้าแต่พระเยซูเจ้า เราประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระองค์!
เราเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์!
เรารอคอยการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์!
ขอขอบพระคุณพระเจ้า ... อัลเลลูยา ... อาแมน ...
บทรำพึงที่ 2
โคโลสี 3:1-4; 1 โครินธ์ 5:6-8
เทศกาลมหาพรตอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นสุดแล้ว หลังจากเตรียมตัวนาน 40 วัน เราได้รับเชิญให้รื้อฟื้นคำปฏิญาณศีลล้างบาปของเรา
การเฉลิมฉลองปัสกาที่แท้ คือ การเตรียมฉลองปัสการะหว่าง “คืนศักดิ์สิทธิ์”
ในคืนวันเสาร์ เราเตรียมฉลองด้วยการรำพึงภาวนาอย่างสงบ แต่ด้วยความคาดหมายอันเปี่ยมด้วยความยินดี ตามบทเพลงประกาศชัยชนะของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ
“จงยินดีเถิด อานุภาพทั้งปวงบนท้องฟ้า! จงขับร้องเถิด คณะทูตสวรรค์!
สิ่งสร้างทั้งปวงรอบพระบัลลังก์ของพระเจ้า จงชื่นชมยินดี
พระเยซูคริสตเจ้า กษัตริย์ของเรา ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว
จงเป่าแตรแห่งความรอดพ้น
เป็นการถูกต้องเหมาะสม
ที่เราจะสรรเสริญด้วยสุดจิตใจ สุดสติปัญญา และสุดเสียงของเรา
พระเจ้าผู้ที่ตามองไม่เห็น พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ
และพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์
เพราะพระคริสตเจ้าทรงจ่ายค่าไถ่ตัวเราด้วยพระโลหิตของพระองค์
และทรงชดใช้บาปของอาดัมแทนเรา
แด่พระบิดานิรันดรของเรา
นี่คืองานเลี้ยงฉลองปัสกาของเรา
เมื่อพระคริสตเจ้า ลูกแกะแท้ ทรงถูกประหาร...
ในคืนนี้ พระเยซูคริสตเจ้าทรงหักโซ่ตรวนแห่งความตาย
และทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างผู้มีชัย
ข้าแต่พระบิดา พระองค์ทรงดูแลเอาใจใส่เราอย่างน่าพิศวง
ความรักเมตตาของพระองค์ไร้ขอบเขต
เพื่อไถ่ตัวทาสคนหนึ่ง พระองค์ถึงกับยอมสละพระบุตรของพระองค์
ความผิดพลาดของเรากลับทำให้เราได้รับพระผู้ไถ่ผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้
คืนนี้เปี่ยมด้วยพระพร เมื่อสวรรค์สมรสกับแผ่นดิน
และมนุษย์คืนดีกับพระเจ้า...
บัดนี้ เราวิงวอนพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของเรา
ขอให้พระคริสตเจ้าทรงส่องแสงแห่งสันติของพระองค์ลงมายังมนุษยชาติ
และโปรดให้ประชากรทุกคนของพระองค์ดำรงอยู่ในความยินดีแห่งงานเลี้ยงปัสกาเหล่านี้ด้วยเทอญ...
“พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ท่านได้กลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว...”
“จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบนเถิด ณ ที่นั้น พระคริสตเจ้าประทับเบื้องขวาของพระเจ้า...”
“จงคิดถึงแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบน...”
“เพราะท่านทั้งหลายตายไปแล้ว และชีวิตของท่านก็ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า...”
“เมื่อพระคริสตเจ้า องค์ชีวิตของท่านจะทรงสำแดงพระองค์”
“เมื่อนั้น ท่านจะปรากฏพร้อมกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย”
จงชำระเชื้อแป้งเก่าเสีย ... เชื้อแป้งเก่าคือความชั่วร้ายเลวทราม...”
“... และเป็น “แป้งไร้เชื้อ” คือ ความจริงใจ และสัจจะ...”
อัลเลลูยา!
เราจงมาร่วมในงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความชื่นชมยินดีกันเถิด
อัลเลลูยา!
บทรำพึงที่ 3
พระคูหาฝังพระศพของพระเยซูเจ้า
(1) เครื่องหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์หลังจากทรงรับทนทรมานแสนสาหัสนานสามชั่วโมง ผู้นิพนธ์พระวรสารเล่าว่าท้องฟ้ามืดตั้งแต่องค์พระผู้เป็นเจ้ายังถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน เหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น เพราะผู้ที่กำลังจะสิ้นใจนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า “ม่านในพระวิหารฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง” (มธ 27:51) เป็นเครื่องหมายว่าการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าทำให้การถวายเครื่องบูชาตามพันธสัญญาเดิมสิ้นสุดลง (เทียบ ฮบ 9:1-14) บัดนี้ พระเยซูเจ้าจะส่งถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า โดยพระองค์ทรงเป็นทั้งสมณะและเครื่องบูชา และเครื่องบูชานั้นคือมนุษยภาพของพระคริสตเจ้า
เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ใกล้เข้ามาแล้ว ชาวยิวจำเป็นต้องนำศพลงจากกางเขน เพราะไม่อาจปล่อยให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโตได้ ศพทั้งหมดต้องถูกฝังก่อนดาวดวงแรกปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้า วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองปัสกา “ชาวยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต เพราะวันสับบาโตวันนั้นเป็นวันฉลองยิ่งใหญ่ เขาจึงขออนุญาตปิลาต ให้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึง และนำศพไป” (ยน 19:31)
ปิลาตส่งทหารไปทุบขาโจรสองคนเพื่อเร่งให้ตายเร็วขึ้น แต่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว “แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:33) เหตุการณ์ที่นักบุญยอห์นเป็นประจักษ์พยานนี้ นอกจากเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง นักบุญออกัสติน และธรรมประเพณีคริสตศาสนามองว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์ และพระศาสนจักรนั่นเองไหลออกมาจากพระกายที่ถูกแทงของพระเยซูเจ้า “ที่นั่น ประตูชีวิตเปิดออก และจากที่นั่น ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรไหลออกมา ถ้าปราศจากศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ มนุษย์ก็ไม่สามารถเข้าสู่ชีวิตแท้ได้” (นักบุญออกัสติน, คำอธิบายพระวรสารของนักบุญยอห์น, 120, 2) “พระศาสนจักรเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาศัยพระอานุภาพของพระเจ้าในโลก พระโลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากสีข้างที่ถูกแทงของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนเป็นสัญลักษณ์ของต้นกำเนิด และการเจริญเติบโตของพระศาสนจักร” (สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2, Lumen gentium, 3) การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าชี้ให้เราเห็นชีวิตเหนือธรรมชาติที่เราจะได้รับผ่านทางพระศาสนจักร
บาดแผลที่ทะลุทรวงอกนี้ เป็นผลมาจากความรักอันล้นเหลือ และเป็นบาดแผลที่เพิ่มขึ้นจากบาดแผลอื่น ๆ เป็นวิธีแสดงออกอย่างที่คำพูดไม่อาจบรรยายได้ ในฐานะผู้ร่วมไถ่กู้ พระนางมารีย์ทรงเข้าใจและเจ็บปวดไปด้วย พระบุตรของพระนางไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไปแล้ว แต่พระนางยังรู้สึกได้ ดังนั้น คำทำนายของสิเมโอนจึงเป็นความจริง “ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน” (ลก 2:35)
เขานำพระคริสตเจ้าลงมาจากไม้กางเขนด้วยความรักและเคารพ เขาวางพระองค์ไว้ในอ้อมแขนของพระมารดาของพระองค์ แม้ว่าพระกายเต็มไปด้วยบาดแผล แต่พระพักตร์ยังสงบและสง่างาม เราเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าด้วยความศรัทธา อย่างที่พระนางพรหมจารีคงจะเพ่งมองพระองค์ในเวลานั้น พระองค์ไม่เพียงไถ่กู้เราจากบาปและความตาย แต่ยังสอนเราให้ถือว่าพระประสงค์ของพระเจ้าสำคัญเหนือแผนการส่วนตัวทั้งปวง ให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่มีใจผูกพันกับสิ่งใด ให้เรารู้จักให้อภัยแก่ผู้กระทำความผิดแม้ว่าเขาไม่สำนึกผิด ให้เรารู้จักให้อภัยผู้อื่น ให้เราเป็นศิษย์ของพระองค์จนถึงวาระสุดท้ายในชีวิต ให้เรายอมทนทุกข์ทรมานโดยไม่คร่ำครวญโดยเปล่าประโยชน์ ให้เรารักเพื่อนมนุษย์ แม้ว่าเรากำลังทนทุกข์ทรมานเพราะพวกเขา ... จงอย่าขัดขวางงานของพระผู้ช่วยเหลือ จงแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เพื่อเราจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ และรู้สึกร่วมกับพระองค์ ถึงการถูกสบประมาท การถ่มน้ำลายรด การทุบตี หนาม และน้ำหนักของไม้กางเขน ... ตะปูที่ฉีกเนื้อจนขาด การเข้าตรีทูตก่อนตายโดยถูกทุกคนทอดทิ้ง และให้เราเข้าไปในสีข้างที่เปิดอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกระทั่งท่านพบที่หลบภัยในพระหฤทัยที่บาดเจ็บของพระองค์” (J. Escriva, The Way, 58) ในที่นั้น เราจะพบกับสันติสุข นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวถึงชีวิตฌานภาวนาภายในบาดแผลของพระคริสตเจ้าว่า “โอ้ การอยู่กับพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนนั้นประเสริฐยิ่งนัก ข้าพเจ้าปรารถนาจะสร้างที่พักผ่อนสามแห่งในพระองค์ ที่หนึ่งในพระบาท อีกที่หนึ่งในพระหัตถ์ ที่พักผ่อนตลอดกาลแห่งที่สามคือในสีข้างของพระองค์ ในที่นี้ ข้าพเจ้าอยากพักและผ่อนคลาย ภาวนาและนอนหลับ ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะพูดกับพระหฤทัยของพระองค์ และพระองค์จะประทานทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าวอนขอให้แก่ข้าพเจ้า บาดแผลของพระผู้ไถ่ผู้บริสุทธิ์ของเรานั้นน่ารักจริง ๆ ... ในที่นั้นข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ได้ และจากอาหารจานพิเศษแห่งบาดแผลนั้น ข้าพเจ้าได้รับการบำรุงเลี้ยง” (บทภาวนาของนักบุญโบนาเวนตูรา)
ขอให้เราเพ่งมองพระเยซูเจ้า และพูดกับพระองค์ด้วยความสนิทสนมในใจว่า ข้าแต่พระเยซูผู้พระทัยดี โปรดสดับฟังคำภาวนาของข้าพเจ้าเถิด โปรดซ่อนข้าพเจ้าไว้ในบาดแผลของพระองค์ และให้ข้าพเจ้าใกล้ชิดพระองค์ โปรดทรงปกป้องข้าพเจ้าจากศัตรูร้าย เมื่อข้าพเจ้าใกล้จะสิ้นใจ โปรดทรงเรียกข้าพเจ้าไปอยู่ร่วมกับสหพันธ์นักบุญของพระองค์ เพื่อให้ข้าพเจ้าขับร้องสรรเสริญพระองค์ร่วมกับเขาเหล่านั้นตลอดนิรันดร อาแมน (หนังสือมิสซา)
(2) นิโคเดมัส และโยเซฟ ชาวอาริมาเธีย
โยเซฟชาวอาริมาเธีย เป็นคนมั่งมีและเป็นสมาชิกผู้มีอิทธิพลในสภาซันเฮดริน เขาซ่อนตัวเงียบ ๆ ระหว่างที่ประชาชนทั่วดินแดนปาเลสไตน์กล่าวขวัญถึงพระเยซูเจ้า แต่บัดนี้ เขาออกมาแสดงตัวต่อปิลาต เพื่อขอรับพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาสมัครใจจะยื่นข้อเรียกร้องอันยิ่งใหญ่ที่สุด เขาร้องขอรับพระกายของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักร พระกายอันเป็นความมั่งคั่งของพระศาสนจักร เป็นทั้งคำสั่งสอนและแบบฉบับ เป็นความบรรเทาใจของพระศาสนจักร นี่คือปังที่จะบำรุงเลี้ยงเราจนกว่าจะบรรลุถึงชีวิตนิรันดร ในเวลานั้น โยเซฟ พร้อมกับคำร้องขอของเขา เป็นตัวแทนของความปรารถนาของมนุษย์ทุกคน และของพระศาสนจักรทั้งมวล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับพระองค์เพื่อรักษาชีวิตให้คงอยู่ตลอดนิรันดร (L. de la Palma, The Passion of the Lord)
ในช่วงเวลาที่ชุลมุนวุ่นวายนี้เอง เมื่อศิษย์ทุกคนหลบหนีไปหมดยกเว้นยอห์น ศิษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม และไม่เคยแสดงตัวในช่วงเวลาแห่งชัยชนะของพระเยซูเจ้า บัดนี้ เขาก้าวออกมาและแสดงตัว ผู้ที่มากับเขาคือนิโคเดมัส ผู้เคยมาหาพระเยซูเจ้าในเวลากลางคืน เขานำเครื่องหอมที่ผสมด้วยมดยอบและว่านหางจระเข้ หนักประมาณหนึ่งร้อยปอนด์มาด้วย (ยน 19:39)
พระแม่มารีย์คงสำนึกในบุญคุณของชายสองคนนี้ ที่ได้ช่วยเหลือ แสดงความใจกว้าง ความกล้าหาญ และความศรัทธาของเขา! เราก็ควรสำนึกในบุญคุณของเขาทั้งสองเช่นกัน!
คนกลุ่มเล็ก ๆ นี้ รวมทั้งพระนางพรหมจารี และสตรีที่พระวรสารเอ่ยชื่อเป็นพิเศษ ได้จัดการฝังพระศพของพระเยซูเจ้าอย่างเร่งรีบ เพราะวันฉลองจะเริ่มต้นในวันนี้เมื่อดวงอาทิตย์ตก พวกเขาทำความสะอาดและชโลมพระศพด้วยเครื่องหอม เครื่องหอมที่นิโคเดมัสซื้อมานั้นมีปริมาณมากทีเดียว “หนักประมาณหนึ่งร้อยปอนด์” เขาพันพระศพด้วยผ้าป่านสะอาดที่โยเซฟซื้อมา (มก 15:46) และนำไปฝังในคูหาหินที่เป็นคูหาใหม่ที่โยเซฟขุดไว้สำหรับตนเอง (เทียบ มธ 27:60) เขาพันพระเศียรด้วยผ้าอีกผืนหนึ่ง (เทียบ ยน 20:5-6)
เราคงนึกอิจฉาโยเซฟชาวอาริมาเธีย และนิโคเดมัส เราคงอยากจะดูแลพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง “ข้าพเจ้าจะไปที่เชิงกางเขนพร้อมกับเขาทั้งสอง ข้าพเจ้าจะใช้แขนทั้งสองข้างโอบกอดพระกายที่เย็นชืดของพระคริสตเจ้าให้แน่น ด้วยไฟแห่งความรักของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าจะถอนตะปูออกจากพระศพด้วยกิจใช้โทษบาป และการตัดกิเลสของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าจะห่อพระกายของพระองค์ไว้ในผ้าห่อพระศพผืนใหม่ คือชีวิตที่สะอาดของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะฝังพระศพไว้ในคูหาที่สะอาด คือทรวงอกของข้าพเจ้า ที่ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถพรากพระกายของพระองค์ไปจากข้าพเจ้าได้ และในที่นั้น โปรดทรงพักผ่อนเถิดพระเจ้าข้า แม้ว่าคนทั้งโลกทอดทิ้งพระองค์และดูหมิ่นพระองค์ ... ข้าพเจ้าจะรับใช้พระองค์ พระเจ้าข้า” (J. Escriva, เดินทางกางเขน, สถานที่ 14, 1)
เราไม่ควรลืมแม้แต่วันเดียวว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในตู้ศีลของเรา และพระองค์ทรงมีชีวิต แต่พระองค์ไม่มีทางปกป้องพระองค์เอง ทั้งเมื่อทรงถูกแขวนอยู่บนไม้กางเขน หรือขณะอยู่ในพระคูหาในเวลาต่อมา พระคริสตเจ้าประทานพระองค์แก่พระศาสนจักร และคริสตชนแต่ละคน เพื่อว่าด้วยไฟแห่งความรักของเรา เราจะเฝ้าดูแลรับใช้พระองค์อย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเพื่อว่าเราจะห่อพระกายพระองค์ด้วยชีวิตที่สะอาดของเราเหมือนกับผ้าป่านของโยเซฟ แต่นอกจากการแสดงความรักของเราเช่นนี้แล้ว ยังมีผู้อื่นที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเงินของเรา เวลาของเรา และความพยายามของเรา โยเซฟชาวอาริมาเธีย และนิโคเดมัส ไม่ได้ตระหนี่กับการแสดงเครื่องหมายของความรักเหล่านี้เลย
(3) อัครสาวกที่อยู่ข้างพระแม่มารีย์
พระกายของพระคริสตเจ้าถูกฝังไว้ในพระคูหา โลกตกอยู่ในความมืด พระนางมารีย์เป็นแสงสว่างเพียงดวงเดียวที่ยังส่องสว่างบนโลก “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า – และมารดาของข้าพเจ้าด้วย – และกลุ่มสตรีที่ติดตามพระเยซูเจ้ามาจากแคว้นกาลิลี หลังจากสังเกตดูทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็พากันกลับไป นั่นเป็นเวลากลางคืน
บัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจบลงแล้ว งานไถ่กู้เรามนุษย์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว บัดนี้ เราได้กลายเป็นบุตรของพระเจ้า เพราะพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเรา และทรงไถ่ชีวิตเราด้วยความตายของพระองค์ ‘พระเจ้าทรงซื้อท่านไว้ด้วยราคาแพง’ (1 คร 6:20) ท่านและข้าพเจ้าถูกซื้อไว้ด้วยราคาแพง
เราต้องรับเอาชีวิตและความตายของพระคริสตเจ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ให้เป็นชีวิตและความตายของเรา เราต้องตายโดยอาศัยการตัดกิเลส และการใช้โทษบาป เพื่อให้พระคริสตเจ้าทรงดำรงอยู่ในเราอาศัยความรัก และเราจะเดินตามรอยพระบาทของพระคริสตเจ้าด้วยความกระตือรือร้นที่จะร่วมกับพระองค์ไถ่กู้มนุษยชาติ เราต้องมอบชีวิตของเราเพื่อผู้อื่น นั่นเป็นทางเดียวที่จะดำเนินชีวิตเลียนแบบพระเยซูคริสตเจ้า และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์” (J. Escriva)
เราไม่รู้ว่าบรรดาอัครสาวกอยู่ที่ไหนในคืนนั้นเมื่อเขาฝังพระศพของพระคริสตเจ้า บางทีพวกเขาอาจวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ด้วยความรู้สึกสับสน ไม่มีจุดหมายปลายทาง และเศร้าใจ ถ้าเราพบว่าเขามารวมตัวอยู่พร้อมหน้ากันในวันอาทิตย์ก็เป็นเพราะระหว่างวันเสาร์ หรือบางทีอาจเป็นคืนวันศุกร์ พวกเขาหันมาพึ่งพระแม่ ด้วยความเชื่อ ความหวัง และความรักของพระนาง พระนางทรงปกป้องพระศาสนจักรที่เพิ่งก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ยังอ่อนแอ และตื่นตระหนก พระศาสนจักรเกิดขึ้นเช่นนี้ – ภายใต้ความคุ้มครองของพระนางมารีย์ ดังนั้น พระนางจึงเป็นผู้ปลอบโยนคนทุกข์ยาก คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง มาตั้งแต่ต้น วันเสาร์วันนี้ เมื่อทุกคนหยุดพักตามบทบัญญัติ (ลก 23:56) วันนี้ไม่ใช่วันโศกเศร้าสำหรับพระนางมารีย์ เพราะพระบุตรของพระนางไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีกแล้ว พระนางทรงรอคอยอย่างสงบจนกว่าจะถึงเวลากลับคืนพระชนมชีพ ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงไม่ได้ไปพร้อมกับสตรีใจศรัทธาทั้งหลาย ที่ตั้งใจไปชโลมพระศพพระเยซูเจ้า
เราควรเข้าพึ่งพระนางพรหมจารีผู้ทรงเป็นแสงสว่างที่ไม่เคยดับในชีวิตของเรา บางครั้งเราละทิ้งพระคริสตเจ้า และพบว่าตนเองหลงทาง เพราะได้ละทิ้งพลีกรรมและไม้กางเขน เหมือนกับบรรดาอัครสาวกเคยทำ เมื่อนั้น พระนางจะทรงนำความหวังกลับคืนมาให้เรา “พระแม่ทรงเป็นการพักผ่อนสำหรับผู้ที่ทำงาน ทรงเป็นความบรรเทาใจสำหรับผู้ที่ร่ำไห้ ทรงเป็นยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วย ทรงเป็นท่าเรือสำหรับผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางมรสุมชีวิต ทรงเป็นการให้อภัยสำหรับคนบาป ทรงเป็นความบรรเทาอันหวานชื่นสำหรับผู้ที่เศร้าโศก ทรงเป็นความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่วอนขอความช่วยเหลือ” (นักบุญยอห์น ดามัสซีน) เมื่ออยู่ข้างพระนาง เราสามารถมีชีวิตด้วยความชื่นชมยินดียิ่งใหญ่แห่งการกลับคืนชีพ