แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 2:14, 22-33; 1 เปโตร 1:17-21; ลูกา 24:13-35

บทรำพึงที่ 1
ประตู
ศีลมหาสนิทถูกแสดงให้เห็นล่วงหน้าที่หมู่บ้านคานา สัญญาไว้ที่คาเปอร์นาอุม ตั้งขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม และเฉลิมฉลองที่เอมมาอูส

    ศิลปินคนหนึ่งออกแบบประตูตู้ศีลให้วัดแห่งหนึ่ง เขาแบ่งประตูออกเป็นสี่บาน แล้วตกแต่งแต่ละบานด้วยสัญลักษณ์ของเหตุการณ์หนึ่งในพระวรสารที่เกี่ยวข้องกับพิธีบูชาขอบพระคุณ

    ศิลปินคนนี้ตกแต่งประตูบานแรกด้วยโอ่งน้ำหกใบ เขาตกแต่งประตูบานที่สองด้วยขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัว เขาตกแต่งประตูบานที่สามด้วยภาพคน 13 คนที่นั่งรอบโต๊ะอาหาร และเขาตกแต่งประตูบานสุดท้ายด้วยภาพคนสามคนที่นั่งรอบโต๊ะอาหาร

    โอ่งหกใบในประตูบานแรกเป็นสัญลักษณ์ของอัศจรรย์ที่หมู่บ้านคานา ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนน้ำในโอ่งหกใบให้กลายเป็นเหล้าองุ่น ศิลปินคนนี้ตีความว่าอัศจรรย์นี้เป็นการแสดงล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท เมื่อพระเยซูเจ้าจะทรงเปลี่ยน – มิใช่น้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่น – แต่ให้เหล้าองุ่นกลายเป็นพระโลหิตของพระองค์เอง

    ขนมปังและปลาที่ประตูบานที่สองเป็นสัญลักษณ์ของอัศจรรย์ที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทวีอาหารสองอย่างนี้เพื่อเลี้ยงดูฝูงชนที่กำลังหิว หลังจากอัศจรรย์ครั้งนี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับฝูงชนว่า “ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว ... เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ... ปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเรา ... ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 6:35, 51, 54)

    ศิลปินตีความอัศจรรย์ที่คาเปอรนาอุมว่าเป็นคำสัญญาว่าพระองค์จะประทานศีลมหาสนิทแก่เรา

    ภาพคน 13 คน ที่นั่งรอบโต๊ะอาหารในประตูบานที่สามเป็นสัญลักษณ์ของอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า และศิษย์ของพระองค์ ศิลปินตีความอาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสัญญาที่พระเยซูเจ้าทรงให้ไว้หลังจากทรงทวีจำนวนขนมปังและปลา

    ท้ายที่สุด ภาพของคนสามคนที่นั่งรอบโต๊ะอาหาร เป็นสัญลักษณ์ของอาหารค่ำที่เอมมาอูส ในคืนวันอาทิตย์ปัสกา ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงบิขนมปัง และเผยพระองค์ให้แก่ศิษย์สองคน

    ศิลปินตีความว่าอาหารค่ำที่เอมมาอูสเป็นการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทเป็นครั้งแรก ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย

    ดังนั้น ประตูตู้ศีลของศิลปินผู้นี้จึงเป็นการรวบยอดความคิดเกี่ยวกับพิธีบูชาขอบพระคุณ หรืออาหารค่ำมื้อสุดท้ายได้อย่างยอดเยี่ยม เขาตามรอยศีลมหาสนิทจากหมู่บ้านคานา ที่ซึ่งศีลมหาสนิทถูกแสดงให้เห็นล่วงหน้า ไปยังเมืองคาเปอรนาอุม ที่ซึ่งพระองค์ทรงสัญญาจะประทานศีลมหาสนิท ไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม ที่ซึ่งพระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิท ไปจนถึงเอมมาอูส ที่ซึ่งศีลมหาสนิทได้รับการเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรก

    ขอให้เราพิจารณาอาหารค่ำที่เอมมาอูส ให้ละเอียดถี่ถ้วนตามที่บรรยายไว้ในพระวรสารในวันนี้เถิด

    เมื่อมองผ่าน ๆ อาหารค่ำที่เอมมาอูส ไม่มีอะไรที่คล้ายกับพิธีบูชาขอบพระคุณ หรืออาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้าเลย แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ให้ดี เราจะเห็นตรงกันข้าม อาหารค่ำมื้อนี้มีความคล้ายคลึงอย่างเด่นชัดกับอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีมิสซาแต่ละครั้ง

    อาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือพิธีมิสซาแบ่งออกเป็นสี่ภาค หรือพิธี คือ ภาคเริ่มต้นพิธี ภาควจนพิธีกรรม ภาคบูชาขอบพระคุณ และภาคปิดพิธี เราพบทั้งสี่ภาคนี้ในอาหารค่ำที่เอมมาอูส

    ภาคเริ่มต้นพิธีสำหรับอาหารค่ำที่เอมมาอูสเกิดขึ้นบนถนน เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพบศิษย์สองคน และกล่าวทักทายกัน

    ภาควจนพิธีกรรมเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้ศิษย์ทั้งสองฟัง

    ภาคบูชาขอบพระคุณเกิดขึ้นในบ้านของศิษย์คนหนึ่ง เมื่อพระเยซูเจ้า “ประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร  ทรงบิขนมปัง และยื่นให้เขา”

    ท้ายที่สุด ภาคปิดพิธีเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเจ้า “หายไปจากสายตาของเขา” และศิษย์ทั้งสองรีบออกเดินทางไปเป็นพยานถึงการพบกันของเขากับพระเยซูเจ้าในพิธีบิขนมปัง

    ส่วนที่เราควรสังเกตเป็นพิเศษ คือ ภาคบูชาขอบพระคุณ เมื่อพระเยซูเจ้าทรง “หยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปัง และยื่นให้เขา” กิริยาทั้งสามนี้คือการกระทำสำคัญสามอย่างในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เราพบเห็นในปัจจุบัน

    การหยิบขนมปังคือการเตรียมของถวาย การถวายพระพรคือบทขอบพระคุณสำหรับของถวาย การบิปังคือการแจกศีลมหาสนิท ดังนั้น การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในยุคใหม่ของเราจึงสะท้อนภาพของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทครั้งแรกที่เอมมาอูส

    ครั้งหนึ่ง ครูคนหนึ่งถามศิษย์ของเธอว่าส่วนใดเป็นส่วนสำคัญที่สุดของพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา ศิษย์คนหนึ่งเสนอคำตอบที่เธอคาดไม่ถึง เด็กหนุ่มคนนั้นกล่าวว่า “ภาคปิดพิธีเป็นส่วนสำคัญที่สุดของพิธีมิสซา”

    ครูถามว่า “ทำไมเธอถึงคิดอย่างนั้น”

    ศิษย์ตอบว่า “จุดประสงค์ของพิธีบูชาขอบพระคุณ คือเลี้ยงดูเราด้วยพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และพระกาย และพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้เราออกไปเป็นพยานยืนยันถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า และทำให้พระอาณาจักรของพระเจ้าเกิดขึ้นจริง”

    เขากล่าวต่อไปว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณไม่ได้จบลงที่ภาคปิดพิธี อาจกล่าวได้ว่าภาคปิดพิธีเป็นจุดเริ่มต้น เราต้องออกไปและประกาศแก่ชาวโลกอย่างที่ศิษย์แห่งเอมมาอูสกระทำ เราต้องประกาศว่าพระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพแล้ว เราต้องประกาศว่าพระเยซูเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่ต่อไป” นักศึกษาคนนี้พูดถูกแล้ว

    นี่คือพิธีมอบหมายพันธกิจให้เราออกไปประกาศข่าวดีแก่ชาวโลกเรื่องปัสกา ว่าพระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

    นี่คือข่าวดีของปัสกา นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้ศิษย์ของพระองค์ออกไปเทศน์สอนแก่ชาวโลก และเป็นพันธกิจที่เราแต่ละคนในพระศาสนจักรในปัจจุบันต้องมีส่วนร่วมปฏิบัติ

บทรำพึงที่ 2
ลูกา 24:13-35

ในวันที่สามหลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ ศิษย์สองคนกำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 11 กิโลเมตร

    ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าหมู่บ้านเอมมาอูสตั้งอยู่ที่ใด ธรรมประเพณีสายหนึ่งเชื่อว่านี่คือหมู่บ้านอัมวัส (Amwas) ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงเยรูซาเล็ม และเทลอาวีฟ ใกล้อารามคณะซิสเตอเซียนแห่งลาทรูน แต่ก็มีการอ้างถึงสถานที่อื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะ อาบูกอช (Abu Gosh) ซึ่งนักรบครูเสดได้สร้างวัดตามสถาปัตยกรรมแบบโรมันอันงดงามเหนือธารน้ำแห่งหนึ่ง

    มีคำกล่าวว่า “ให้ขีดวงกลมที่มีรัศมีห่างจากกรุงเยรูซาเล็ม เท่ากับระยะทางที่เดินได้ภายในสองชั่วโมง เอมมาอูส จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งภายในวงกลมนั้น” ... แต่ความจริงที่ว่าเราไม่สามารถชี้ได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ใดอย่างแน่นอนนั่นเองที่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ไม่ว่ามนุษย์เรา – ชายหรือหญิง – คนใดจะอยู่ที่ใดในโลกนี้ เขาอยู่ “ในเอมมาอูส” เขาสามารถพบพระคริสตเจ้าผู้ทรงชีวิตได้ในทุกสถานที่...

ทั้งสองคนสนทนากันถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะที่กำลังสนทนาและถกเถียงกันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาร่วมเดินทางด้วย

    “เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น” ... เมื่อสามวันก่อน
    เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อนของเขาที่ชื่อเยซู ได้เสียชีวิต ... นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ทุกคน ในวันใดวันหนึ่ง ในสถานที่ใดที่หนึ่ง คือ ความผิดหวัง ... การสูญเสียอย่างโหดร้าย ... ความล้มเหลวที่น่าอับอาย ... สาเหตุให้วิตกกังวลมาก ... ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไข ... บาปที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดทรมานกับผลของมัน ... สถานการณ์ที่มองไม่เห็นทางออก ... คนเหล่านี้เดินคอตกกลับบ้าน ดวงตาหม่นหมอง...

    พระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่นั่น ... พระองค์ประทับอยู่ในสถานการณ์ที่หนึกอึ้งเกินกว่าจะทนได้ ... พระเยซูเจ้าทรงเดินร่วมทางไปกับเขา...

แต่เขาจำพระองค์ไม่ได้ เหมือนดวงตาถูกปิดบัง

    บ่อยครั้งที่เราเองก็เป็นเช่นนี้...

พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านสนทนากันเรื่องอะไรตามทาง”

    พระเยซูเจ้าทรงสนใจความวิตกกังวลของเขา...

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงล่วงรู้ความเจ็บปวด และความสิ้นหวังของเรา ... เป็นความบรรเทาใจสำหรับเราเมื่อเราคิดว่าพระองค์ไม่ทรงมองข้ามสิ่งใด ๆ ที่เราแบกรับอยู่ในส่วนลึกของดวงใจของเรา ... ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าพเจ้ายอมให้พระองค์ทรงมองดูข้าพเจ้า และถามไถ่ปัญหาของข้าพเจ้า...

ทั้งสองคนก็หยุดเดิน ใบหน้าเศร้าหมอง ศิษย์ที่ชื่อเคลโอปัสถามว่า “ท่านเป็นเพียงคนเดียวในกรุงเยรูซาเล็ม หรือที่ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นั่นเมื่อสองสามวันมานี้" พระองค์ตรัสถามว่า “เรื่องอะไรกัน” เขาตอบว่า “ก็เรื่องพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ประกาศกทรงอำนาจในกิจการและคำพูดเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้าประชาชนทั้งปวง บรรดาหัวหน้าสมณะและผู้นำของเรามอบพระองค์ให้ต้องโทษประหารชีวิต และตรึงพระองค์บนไม้กางเขน...

    พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้เขาระบายความอัดอั้นตันใจ ... ก่อนจะทรงกระทำการใด ๆ พระองค์ทรงรับฟังเขาอย่างอดทน ... แน่นอน พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด แต่กระนั้น พระองค์ก็ไม่ตัดบทขณะที่เขาบอกเล่าเหตุการณ์จากมุมมองของเขา...

    พระเยซูเจ้าทรงรับฟังอย่างอดทน...

เราเคยหวังไว้ว่าพระองค์จะทรงปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ แต่นี่เป็นวันที่สามแล้วตั้งแต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”...

    พวกเขารู้สึกหดหู่ ผิดหวัง สิ้นหวัง ... พวกเขาถูกหลอก พวกเขาจะไม่ยอมถูกหลอกอีก...
    เช่นเดียวกับประชาชนจำนวนมาก ศิษย์สองคนนี้ติดตามพระเยซูเจ้ามาได้ระยะหนึ่งแล้ว เขาเชื่อในพระองค์ – ในระดับหนึ่ง – อันที่จริง ระดับความเชื่อของเขาไม่ใช่ระดับศูนย์ เพราะเขาเห็นแล้วว่าพระองค์ทรงเป็น “ประกาศก” คนหนึ่ง เป็นผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้า ... เขายอมรับอำนาจในกิจการและคำพูดของพระองค์ ... เขาคาดหมายว่าพระองค์จะเป็นผู้ปลดปล่อยเขา ... แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย คลุมเครือ และไม่สมบูรณ์ ... เขามองเห็นแต่สิ่งที่ปรากฏภายนอกในตัวพระเยซูเจ้า นั่นคือ พระองค์ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น – แล้วก็ทรงถูกพิจารณาคดี เขาเห็นพระทรมาน และความตายของพระองค์...

สตรีบางคนในกลุ่มของเราทำให้เราประหลาดใจอย่างยิ่ง เขาไปที่พระคูหาตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อไม่พบพระศพ เขากลับมาเล่าว่าได้เห็นนิมิตของทูตสวรรค์ ซึ่งพูดว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ บางคนในกลุ่มของเราไปที่พระคูหา  และพบทุกอย่างดังที่บรรดาสตรีเล่าให้ฟัง แต่ไม่เห็นพระองค์”

    คำบอกเล่าในพระวรสารทุกฉบับเกี่ยวกับเหตุการณ์กลับคืนพระชนมชีพ ระบุเหตุการณ์ตรงกันในประเด็นนี้ คือบรรดาศิษย์ไม่พร้อมจะยอมรับความจริงข้อนี้ ... พวกเขาสงสัย ... พวกเขาไม่คาดหมายว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งต้องมีหลักฐานยืนยันจึงจะทำให้เขายอมรับได้...

    พระคูหาว่างเปล่า และสตรีที่กระวนกระวาย ยังไม่ใช่หลักฐานเพียงพอสำหรับเขา ตาของเขายังปิดอยู่...

พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เจ้าคนเขลาเอ๋ย ใจของเจ้าช่างเชื่องช้าที่จะเชื่อข้อความที่บรรดาประกาศกกล่าวไว้”

    พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องความเชื่อ ... พระองค์จะเสนอวิธีตีความ “คดีของพระเยซูเจ้า” อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งต่างจากการตีความของเขาจนถึงเวลานั้น ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเหตุการณ์เหล่านี้ ผู้นำชาวยิวตัดสินประหารพระองค์จริง ... ความตายบนกางเขนก็เป็นเรื่องจริง...

    แต่ทำไมไม่มองเหตุการณ์เหล่านี้ในแง่อื่นบ้าง ... ทำไมไม่พยายามหาคำอธิบายอื่นบ้าง ... ทำไมไม่ใช้แสงแห่งความเชื่อส่องไปที่สถานการณ์ ... ถ้าหากว่าพระเจ้าประทับอยู่ในที่ที่เราไม่คาดหมายว่าพระองค์จะประทับ เช่น บนไม้กางเขน...

“พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ”

“จำเป็น”! ...

    ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงกางเขนของพระองค์ พระองค์มักตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก” (ลก 9:22)

    คำว่า “ต้อง” ไม่ได้หมายถึงความเชื่อในชะตาลิขิตอย่างตาบอด แต่หมายความว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ของกางเขนจะทำให้เราแปลกใจเพียงไร แต่พระเยซูเจ้าทรงมองว่านี่คือการปฏิบัติตามแผนการอันเร้นลับของพระบิดา ... พระเยซูเจ้าไม่ได้ “ทนรับ” ความตาย เพราะความตายของพระองค์ไม่ใช่ “อุบัติเหตุ” หรือ “ความล้มเหลว” แต่เป็นผลงานชิ้นเอกของแผนการนิรันดรของพระเจ้า...

    “เหตุการณ์นี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นไม่ใช่หรือ” ...

แล้วพระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระองค์ให้เขาฟัง โดยเริ่มตั้งแต่โมเสส จนถึงบรรดาประกาศก

    ชายแปลกหน้าคนนี้ช่วยให้เพื่อนเดินทางของเขามองเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ในมุมมองใหม่ ... พระคัมภีร์เป็นแสงสว่างส่องให้เรามองเห็นชีวิตของเราจากมุมมองใหม่อย่างสิ้นเชิง ... พระเยซูเจ้าทรงสอนบทเรียนให้ตีความพระคัมภีร์ เราคงอยากอยู่ที่นั่น และฟังคำอธิบายของพระองค์เกี่ยวกับหนังสืออิสยาห์ เรื่องของโมเสส และบทสดุดี ... พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมช่วยให้เราเข้าใจพันธสัญญาใหม่ แนะนำพระวรสารแก่เรา และบอกเราว่าแผนการของพระเจ้ายังดำเนินต่อไปไม่มีวันหยุด ... สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในองค์พระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงวางแผน และทรงมองเห็นล่วงหน้ามาตลอดนิรันดร ... และเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล...

    ข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์บ่อย ๆ เพื่อให้มองเห็นชีวิตของข้าพเจ้าได้ชัดเจนมากขึ้นหรือเปล่า – ชีวิตของข้าพเจ้าที่มีทั้งความผิดหวัง ความล้มเหลว และการแสวงหา...

เมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินพร้อมกับศิษย์ทั้งสองคนใกล้จะถึงหมู่บ้านที่เขาตั้งใจจะไป พระองค์ทรงทำท่าว่าจะทรงพระดำเนินเลยไป แต่เขาทั้งสองรบเร้าพระองค์ว่า “จงพักอยู่กับพวกเราเถิด เพราะใกล้ค่ำ และวันก็ล่วงไปมากแล้ว” พระองค์จึงเสด็จเข้าไปพักกับเขา

    สิ่งที่เปิดดวงตาของเขาทั้งสองไม่ใช่คำอธิบายข้อความเชื่อและพระคัมภีร์ – “บทเรียนคำสอน” ที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเขาด้วยพระองค์เอง ... คำสั่งสอนทั้งหมดรวมกันไม่สามารถทำให้เรามีความเชื่อได้ แม้ว่าพระองค์ทรงอธิบายเรื่องต่างๆ ทั้งหมด เขาก็ยังจำพระองค์ไม่ได้ ... มีอะไรอีกที่เขาต้องทำ ... สิ่งจำเป็นนั้นคือการเปิดหัวใจ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแสดงอัธยาศัยไมตรีง่าย ๆ “พักอยู่กับเราเถิด ... รับประทานอาหารร่วมกับเราเถิด”...

ขณะประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปัง และยื่นให้เขา เขาก็ตาสว่าง และจำพระองค์ได้ แต่พระองค์หายไปจากสายตาของเขา

    เพื่อบรรยายกิริยาที่ทำให้ศิษย์ทั้งสองจำพระเยซูเจ้าได้ ลูกาเจตนาใช้คำพูดเดียวกันกับที่เขาใช้บรรยายการทวีขนมปัง (ลก 9:16) และอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ลก 22:14) ในยุคสมัยของลูกา คริสตชนยุคแรกใช้กิริยาเหล่านี้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณของเขา ... เห็นได้ชัดว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ...

    มีผู้สังเกตมานานแล้วว่าคำบรรยายเรื่องของศิษย์แห่งเอมมาอูส ดำเนินตามแบบแผนปกติของพิธีมิสซาของเรา กล่าวคือ หลังจาก “ภาควจนพิธีกรรม” เราก็เข้าสู่ “ภาคบูชาขอบพระคุณ” – เราต้องผ่านประสบการณ์ทั้งสอง ซึ่งเสริมพลังให้แก่กันและกันนี้ ถ้าเราต้องการพบพระเยซูเจ้าเจ้าผู้ทรงชีวิต...
ศิษย์ทั้งสองจึงพูดกันว่า “ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือเมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทาง และอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง”

    พระเยซูเจ้าทรงหายไปจากสายตาของเขา ... พระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพยังประทับอยู่ต่อไป แต่เสมือนว่าพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่...

    เมื่อทรงหายไปจากสายตาของเขา พระเยซูเจ้าทรงบอกเขาว่า นับแต่นั้นไป การติดต่อสื่อสารกับพระองค์ทุกครั้งจะเป็นประสบการณ์ของความเชื่อ กล่าวคือ พระองค์ประทับอยู่กับเขาตั้งแต่เวลาที่เขาเดินทางบนถนน เมื่อหัวใจของเขาเร่าร้อนเป็นไฟ แม้ว่าในเวลานั้นเขายังจำพระองค์ไม่ได้ก็ตาม

เขาทั้งสองคนจึงรีบออกเดินทางกลับไปกรุงเยรูซาเล็มในเวลานั้น พบบรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนกำลังชุมนุมกันอยู่กับศิษย์อื่น ๆ เขาเหล่านี้บอกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริง ๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทาง และเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง

    นี่คือผลงานชิ้นเอกในโลกวรรณกรรมซึ่งประพันธ์ขึ้นอย่างงดงาม แต่คำบอกเล่านี้ยังเป็นผลงานทางเทววิทยาที่มีความสมดุลที่สุดอีกด้วย พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ในวันนี้ และยังทรงสร้างความประหลาดใจให้เราได้เสมอ ... พระองค์ทรงใช้วิธีการที่เร้นลับและคาดไม่ถึง ... พระเยซูเจ้าทรงหายไปจากสายตาของเขา และไม่ทรงยอมให้ใครดึงรั้งพระองค์ไว้ เพราะนับจากนั้นไป พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของ “อีกโลกหนึ่ง” คือ โลกของพระเจ้า แม้ว่าพระองค์ยังประทับอยู่ – แต่ในลักษณะที่ซ่อนเร้น – ตามทางที่มนุษย์กำลังเดินทาง...

    เราจะพบพระเยซูเจ้าได้จริงเพียงด้วยการอ่าน - และอ่านซ้ำ - พระวาจาของพระเจ้า ... ในเครื่องหมายของตัวพี่น้องที่ได้รับเชิญ และที่เรารับใช้ ... ในเครื่องหมายของ “พิธีบิปัง” ... ท้ายที่สุด เราไม่มีวันพบพระเยซูเจ้าโดยไม่กลับไปหาชุมชนพระศาสนจักรที่มาชุมนุมกับในห้องชั้นบน ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงให้เขามาอยู่รวมกันเพื่อรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ... การพบกันเป็นส่วนตัวระหว่างพระเยซูเจ้า และศิษย์สองคนตามทางไปยังเอมมาอูสได้รับการรับรองว่าเป็นการพบกันอย่างแท้จริง ด้วยการพบกัน “อย่างเป็นทางการ” ด้วยการยืนยันว่าพระองค์ “ทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน”...