แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 2:42-47; 1 เปโตร 1:3-9; ยอห์น 20:19-31

บทรำพึงที่ 1
ทางแห่งความเชื่อ
ทางแห่งความเชื่อไม่ใช่ถนนหลวงที่ไม่จำกัดความเร็ว แต่เป็นทางสายแคบ

    เช้าวันหนึ่งที่อากาศหนาวเย็นในประเทศรัสเซีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1849 นักโทษการเมือง 20 คน เข้าแถวเพื่อรอการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ยิง นายทหารคนหนึ่งขี่ม้าเข้ามาและร้องตะโกนว่า “หยุด หยุดก่อน”

    พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 1 ทรงมีคำสั่งให้ลดโทษประหาร และให้พวกเขาทำงานหนัก 10 ปี ในแคว้นไซบีเรียแทน

    นักโทษคนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อ ฟีโอดอร์ โดสทอฟสกี้ มารดาของเขาเสียชีวิตเมื่อเขาอายุเพียง 16 ปี บิดาของเขาถูกฆาตกรรมอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อโดสทอฟสกี้ไปถึงไซบีเรีย เขาพบพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เล่มหนึ่ง และเริ่มต้นอ่าน เมื่อเขาอ่านจบ เขากลายเป็นผู้มีความเชื่ออย่างมั่นคง เขาบรรยายความคิดของเขาเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าเมื่อเขาเขียนจดหมายไปหาเพื่อนคนหนึ่งว่า

    “[ไม่มีใคร] งดงามกว่า ... และสมบูรณ์ครบครันกว่าพระคริสตเจ้า ... ถ้ามีใครพิสูจน์ให้ผมเชื่อได้ว่าพระคริสตเจ้าไม่ได้ตรัสความจริง ... ผมยินดีจะอยู่ข้างนอกกับพระคริสตเจ้า มากกว่าอยู่ข้างในกับความจริง”

    หลังจากถูกปล่อยตัวจากคุก โดสทอฟสกี้หันมาเขียนนวนิยาย เขาประพันธ์หนังสือคลาสสิกต่าง ๆ เช่น อาชญากรรมและบทลงโทษ (Crime and Punishment) และพี่น้องตระกูลคารามาซอฟ (The Brothers Karamazov) นวนิยายสองเรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด ในเวลาต่อมา

    แต่ความสำเร็จทำให้โดสทอฟสกี้หลงระเริง เขาเริ่มดื่มจัดและติดการพนัน ที่ร้ายกว่านั้น เขาละทิ้งความเชื่อ แต่ไม่นานก่อนที่เขาจะสิ้นใจ โดสทอฟสกี้กลับมาสู่ความเชื่อ ซึ่งทำให้เพื่อนอเทวนิยมของเขาไม่พอใจมาก คนเหล่านี้เยาะเย้ยเขา เพราะมองว่าการกลับมาสู่ความเชื่อของเขาเป็นอาการป่วยของคนป่วย โดสทฟอสกี้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพูดเยาะเย้ยเหล่านี้ในสมุดบันทึกของเขาว่า :

    “พวกคนโง่เหล่านี้ไม่สามารถแม้แต่จะคิดปฏิเสธพระเจ้าอย่างรุนแรงเท่ากับที่ผมเคยแสดงออก ... ผมไม่ได้เชื่อในพระคริสตเจ้า และประกาศยืนยันความเชื่อในพระองค์เหมือนกับเด็กคนหนึ่ง คำสรรเสริญพระเจ้าของผมเปล่งออกมาจากเบ้าหลอมแห่งความคลางแคลงใจ”

    เรื่องราวของโดสทอฟสกี้ไม่ได้ต่างจากเรื่องราวของโทมัสในพระวรสารวันนี้ ครั้งหนึ่ง โดสทอฟสกี้เคยเชื่อในพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเหมือนกับโทมัส โดสทอฟสกี้ละทิ้งความเชื่อในพระเยซูเจ้าเหมือนกับโทมัส และเขากลับมาเชื่อในพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับโทมัส

    เราทุกคนมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับเรื่องของโทมัส และโดสทอฟสกี้ หลังจากเราเชื่อในพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม เราก็ละทิ้งพระองค์เหมือนกับบุคคลทั้งสองนี้ หรือถ้าเราไม่ละทิ้งพระองค์ เราก็ไม่ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดอย่างที่เราควรทำ

    ทุกคนที่เคยเดินบนทางแห่งความเชื่อจะรู้ว่าทางสายนี้ไม่ใช่ถนนหลวงที่กว้างขวางและราบเรียบ แต่เป็นถนนดินแคบ ๆ พระเยซูเจ้าเองตรัสถึงทางแห่งความเชื่อนี้ว่า “ประตู และทางที่นำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ” (มธ 7:14)

    ขอให้เราพิจารณาทางแห่งความเชื่อนี้ให้ถี่ถ้วนมากขึ้นสักหน่อย เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด เราจะเห็นว่าทางสายนี้ประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ความวางใจด้วยความรักในพระเจ้า การต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และช่วงเวลาแห่งความมืด

    ประการแรก ความวางใจด้วยความรักในพระเจ้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อ อีกนัยหนึ่งคือความเชื่อไม่ใช่การทำงานของสติปัญญาเพียงอย่างเดียว

    เมื่อหลายปีก่อน มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ The Exorcist ในเรื่องนี้ พระสงฆ์ชราคนหนึ่งพูดถึงความเชื่อว่า “เมื่อวิเคราะห์จนถึงที่สุดแล้ว ผมคิดว่าความเชื่อในพระเจ้าไม่ใช่เรื่องของสมอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องของหัวใจ คือการยอมรับว่ามีทางเป็นไปได้ที่พระเจ้าจะรักเรา”

    ความเชื่อไม่ใช่การทำงานของสติปัญญาล้วน ๆ เหมือนกับการมองเห็นคำตอบสำหรับโจทย์คณิตศาสตร์ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ลึกซึ้งกว่านั้น ความเชื่อหมายถึงการวางใจในพระเจ้าแม้แต่ในเวลาที่สติปัญญากำลังสับสน ขอให้เราระลึกถึงเรื่องของอับราฮัมเถิด

    เมื่อพระเจ้าทรงขอให้เขาถวายอิสอัค บุตรชาย เป็นเครื่องบูชา สติปัญญาของอับราฮัมสับสนการถวายบุตรชายของเขา เพราะนั่นหมายความว่าเขากำลังถวายบุคคลที่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เขามีบุตรหลานตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้

    ถ้าอับราฮัมพึ่งพาแต่หลักเหตุผล เขาก็คงไม่วางใจในพระเจ้า แต่เขาไม่ทำเช่นนั้น เขาเลือกที่จะวางใจในพระองค์ และเพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงอวยพรเขาอย่างอุดมบริบูรณ์

    ดังนั้น องค์ประกอบแรกของความเชื่อก็คือความวางใจด้วยความรักในพระเจ้า แม้แต่ในยามที่สติปัญญาไม่เข้าใจ

    องค์ประกอบที่สองของความเชื่อ คือ การต่อสู้ด้วยตัวเรา การต่อสู้นี้ไม่มีวันสิ้นสุดสำหรับเรา ขอให้เราระลึกถึงเรื่องของอับราฮัมอีกครั้งหนึ่ง
    เมื่อพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานบุตรหลานแก่อับราฮัม ผ่านทางอิสอัคบุตรชายของเขา อับราฮัมเชื่อ เขาไม่เคยสงสัยเลย จากนั้น เมื่อพระเจ้าทรงบอกให้เขาถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา เป็นครั้งแรกที่อับราฮัมมีเหตุผลที่จะคลางแคลงใจในพระเจ้า เหตุการณ์นั้นสอนอับราฮัมให้เข้าใจความจริงสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อ นั่นคือ ความเชื่อไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจครั้งเดียวว่าจะเชื่อ แต่เป็นการตัดสินใจหลายครั้งอย่างต่อเนื่องที่จะเชื่อ เราไม่มีทาง “ได้ความเชื่อมา” โดยไม่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อนั้นอีกเลย

    ดังนั้น องค์ประกอบที่สองของความเชื่อ คือ การต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และการต่อสู้นี้จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่เราพบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้า

    องค์ประกอบที่สามของความเชื่อ คือ ช่วงเวลาแห่งความมืด มีบางเวลาที่ดูเหมือนว่ามีเมฆมาบดบังความเชื่อของเรา มีบางเวลาที่เราพบว่าการเชื่อนั้นทำได้ยากเย็นเหลือเกิน ความเชื่อของเราดูเหมือนว่าหายไปเหมือนแสงแดดในวันที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆ

    อาจกล่าวได้ว่ามีบางเวลาที่พระเจ้าทรงทดสอบความเชื่อของอับราฮัม ด้วยการขอให้เขาถวายบุตรชายคนเดียวของเขาเป็นเครื่องบูชา

    เมื่อถึงเวลาของการทดสอบ หรือความมืดเช่นนี้ เราควรคิดถึงข้อความที่ชาวยิวคนหนึ่งเขียนไว้บทกำแพงห้องใต้ดินที่เขาใช้ซ่อนตัวจากพวกนาซี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

    ผมเชื่อในดวงอาทิตย์ แม้ในเวลาที่ดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสง
    ผมเชื่อในความรัก แม้ในเวลาที่ผมไม่รู้สึกรักเลย
    ผมเชื่อในพระเจ้า แม้ในเวลาที่พระองค์ทรงเงียบ

    เราจึงสรุปว่า การเดินทางบนทางแห่งความเชื่อมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ ความวางใจด้วยความรักในพระเจ้า การต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และช่วงเวลาของความมืด หรือการทดสอบ

    โดสทฟอสกี้มีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว โทมัส อัครสาวก ก็เคยมีประสบการณ์อย่างเดียวกัน และเราเองก็จะต้องผ่านประสบการณ์เช่นนี้เหมือนกัน

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสแก่โทมัส ในบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ว่า

    “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา
    ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”


บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:19-31

ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ... บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกัน ... แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก ...

    ข้อความพระวรสารที่ประกาศในวันนี้ บอกเล่า “การสำแดงพระองค์” ของพระเยซูเจ้า หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพ เป็นการสำแดงพระองค์สองครั้งโดยมีระยะเวลาห่างกันแปดวัน เรามักให้ความสนใจกับการสำแดงพระองค์ครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการแสดงพระองค์ต่อโทมัสโดยเฉพาะ เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นว่าเรามีอะไรที่คล้ายกับโทมัส มันสะดวกดีไม่ใช่หรือที่เราจะใช้ตัวอย่างของ “ใครคนหนึ่งที่สงสัย” ใครคนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่อยากเชื่อ เป็นข้อแก้ตัวที่เราขาดความเชื่อ...

    แต่ “การสมรู้ร่วมคิด” ของเรากับโทมัส ไม่ควรปิดกั้นเราไม่ให้อ่านข้อความทั้งหมด

    ก่อนอื่น เราสังเกตว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ (เป็นเหตุบังเอิญหรือ) ใน “วันต้นสัปดาห์” คือวันอาทิตย์ ... เรารู้ดีว่าคริสตชนยุคแรกไม่ได้มาชุมนุมกันทุกวัน เขาก็มีกิจวัตรต้องทำเหมือนกัน เขาไม่สามารถมารวมตัวอยู่ด้วยกันเสมอ ... แต่พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเสด็จมาหาเขา เมื่อเขามาชุมนุมกันในวันอาทิตย์

    เราย่อมเข้าใจผิดถ้าคิดว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล บรรดาศิษย์พบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกับคืนพระชนมชีพ และรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระองค์ได้โดยเฉพาะเมื่อเขามาชุมนุมกันเป็นกลุ่ม ... เมื่อเขามาอยู่รวมกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน “ในพระศาสนจักร”...

ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง

    ช่วงเวลาที่ยอห์นเขียนพระวรสารฉบับนี้ ยังเป็นช่วงเวลาของการเบียดเบียน และความหวาดกลัว ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะมาพบกันวันหนึ่งในบ้านหลังหนึ่ง และอีกวันหนึ่งในบ้านหลังอื่น เขาต้อนรับกันและกัน และนับจำนวนคนที่มา มีบางคนที่ละทิ้งกลุ่ม มีบางคนที่ละทิ้งความเชื่อ ... พวกเขาเองก็กลัว ... เขาจึงปิดประตูลงกลอน...

    แต่ทุกวันอาทิตย์ เครื่องหมายของห้องชั้นบน และวันอาทิตย์ครั้งแรกนั้น ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ พระเยซูเจ้าเสด็จมาในธรรมล้ำลึก มาประทับอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ในเมืองเอเฟซัส ในเมืองโครินธ์ ในกรุงเยรูซาเล็ม ในกรุงโรม...

    ถูกแล้ว ทุกวันอาทิตย์เป็นวันปัสกา! องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่ในศูนย์กลางของชีวิตของเรา และพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ประทานชีวิตแก่เรา ... แม้ว่าเรามองไม่เห็นพระองค์ เราก็มีความเชื่อ...

    พระเจ้าข้า เราเองก็รู้สึกว่าอยากจะปิดประตูขังตนเองในวันนี้เพราะความกลัว ... เมื่อลมแห่งพระจิตเจ้าพัดมา ขอให้กำแพงคุกของเราพังทลาย และขอให้เสียงเพลงแห่งความยินดีของเราดังขึ้นอีกครั้งหนึ่งเถิด ... ขอให้เราเปิดประตูต้อนรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเถิด...
    ก่อนจะรำพึงภาวนาตามพระวรสารตอนนี้ต่อไป ขอให้เราถามตนเองว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการปลดปล่อยเรา และให้เราลุกขึ้นจากสถานการณ์ใดที่น่ากลัว ที่กักขังเรา และเป็นอันตรายต่อเรา ... ทรงต้องการปลดปล่อยเราจากบาปข้อนี้ ... จากปัญหาสุขภาพ ... จากการทดลองที่เจ็บปวดและสิ้นหวังนั้น ... จากปัญหาครอบครัว หรือปัญหาทางอาชีพนี้ ... “ห้องที่เขากำลังชุมนุมกันปิดอยู่”...

พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”

    ความยินดีแห่งปัสกา ความยินดีแท้ของคริสตชน ไม่ใช่ความยินดีที่เกิดขึ้นง่าย ๆ  ไม่ใช่ความยินดีที่เรารู้สึกเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ... เมื่อเราสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อเรารู้สึกกระฉับกระเฉงและมีพลังงานเหลือเฟือ เมื่อโครงการของเราประสบความสำเร็จ เมื่อเราเข้ากันได้ดีกับคนในครอบครัวและมิตรสหาย ... ความยินดีแห่งการกลับคืนชีพเป็นความยินดีที่เกิดขึ้น “ภายหลัง” ... หลังจากความกลัว ... เป็นความยินดีที่เต็มเปี่ยมด้วยสันติสุข ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ที่สิ้นหวัง (ความตายของชายคนหนึ่งบนไม้กางเขน) ... จนกระทั่งนับแต่นั้นไปจะไม่มีสิ่งใดมาพรากความยินดีนั้นไปจากพวกเขาได้ นี่คือความยินดี และสันติสุข ซึ่งเป็นผลของความเชื่อแท้ในพระเยซูเจ้า...

    ตั้งแต่วันนั้น และในการชุมนุมของเราทุกวันอาทิตย์ พระเยซูเจ้าทรงประทานสันติสุขแก่เราผ่านปากของพระสงฆ์ว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย” และสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้รื้อฟื้น “จุมพิตมอบสันติ” ซึ่งเป็นธรรมเนียมโบราณ คริสตชนได้รับเชิญให้มอบสันติสุขให้แก่กันในนามของพระคริสตเจ้า คือ ให้จับมือกัน โอบกอดกัน ทักทายกัน ยิ้มให้กัน พร้อมกับกล่าวคำว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่าน” หรือ “สันติสุขของพระคริสตเจ้า”...

    นี่คือกิริยาที่เป็นกิจวัตรซึ่งหมายความว่า เราต้องการ “เป็นพระคริสตเจ้า” สำหรับเพื่อนมนุษย์ของเรา ... “ที่ใดที่คนสอง หรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขา”...

พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น...

    ถูกแล้ว เราไม่เคยตระหนักว่าเราคิดถูกเช่นนี้ พระเยซูเจ้าเองทรงย้ำเรื่องนี้กับเรา - ไม่ว่าข้าพเจ้าเป็นคนชั่วช้าอย่างไร แต่ข้าพเจ้าคือ “พระเยซูเจ้า ผู้ถูกส่งไปหาพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้า” – เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงถูกพระบิดาส่งมา...

    ขอให้เราอย่ามองข้ามความสำคัญของถ้อยคำเหล่านี้ ขอให้เราอย่ารีบร้อนเกินกว่าจะพบกับ “โทมัสผู้ขี้สงสัย”... ขอให้เราไตร่ตรอง และภาวนาตามพระวาจาเหล่านี้ของพระเยซูเจ้า ... ขอให้เราตั้งใจฟังว่าพระองค์ทรงมอบหมายความรับผิดชอบยิ่งใหญ่อย่างไรแก่เรา นี่คือพันธกิจของพระเยซูเจ้าเองที่ทรงมอบให้แก่พระศาสนจักร ... ดังนั้น ส่วนหนึ่งจึงเป็นพันธกิจที่มอบหมายให้แก่ข้าพเจ้าด้วย...

    พระเยซูเจ้าทรงส่งข้าพเจ้าไป ... เหมือนกับที่พระบิดาทรงส่งพระเยซูเจ้ามา ... ข้าพเจ้าต้องค้นหาความหมายของคำสองคำซึ่งมาจากภาษาละติน และภาษากรีก ... คำว่า mission (พันธกิจ) แปลว่า “การส่งไป” (มาจากคำว่า missio ภาษาละติน) และคำว่า apostles (อัครสาวก) แปลว่า “ถูกส่งไป” (มาจากคำว่า apostolos ในภาษากรีก)...

    เมื่อข้าพเจ้าพบใครบางคนในสภาพแวดล้อมของข้าพเจ้า หรือในสถานที่ทำงาน ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ที่นั่นเพียงแต่ในนามของข้าพเจ้า และเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น เพราะพระเยซูเจ้าทรงส่งข้าพเจ้าไปที่นั่น ... ให้ไปทำงานในพระนามของพระองค์ และเพื่อแผนการของพระองค์ เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงถูกส่งมาโดยพระบิดา...

    ข้าพเจ้ามีสารข้อหนึ่งจากพระเยซูเจ้าสำหรับท่าน พระองค์เองประทานสารที่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกแก่ท่าน ... พระองค์ทรง “มีชีวิตอยู่” ในตัวข้าพเจ้า – ข้าพเจ้าเป็นปาก เป็นร่างกายของพระองค์อยู่ข้างตัวท่าน ... เพื่อเปิดเผยความรักของพระบิดาให้ท่านรับรู้...

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”

    นี่คือการประทานพระจิตเจ้า ... เป็นการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ ... พระจิตของพระเยซูเจ้าได้ถูกประทานให้แก่ศิษย์ของพระองค์แล้ว...

    พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ และ “ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” – คริสตชนต้องทำหน้าที่แทนพระองค์ ... คริสตชนมี “ลมหายใจที่ให้ชีวิต” ของพระองค์อยู่ในตัวของเขา คือพระจิตเจ้า ... เขาจะสานต่อภารกิจของพระองค์ นักบุญเปาโลจะเขียนว่า “ท่านคือพระกายของพระคริสตเจ้า ... ท่านคือพระวิหารของพระจิตเจ้า” ... และยอห์นบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงกิริยาเดียวกันกับพระเจ้า พระผู้สร้าง ในปฐมกาล 2:7 ... “เชิญเสด็จมา พระจิตผู้สร้างสรรค์”...

    ตามความคิดของยอห์น เปนเตกอสเต คือ เย็นวันปัสกานั้นเอง งานสำคัญของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงชนะความตายคือการประทาน “พระจิตผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 8:11) ในบทแสดงความเชื่อของเรา เรายืนยันถึงพระจิตเจ้าว่า “ทรงเป็นพระเจ้าผู้ประทานชีวิต” ... พระจิตเจ้าผู้ที่พระเยซูเจ้าประทานแก่มนุษย์ในตอนเย็นวันปัสกานั้น คือพระจิตเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงปรากฏพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนในอีก 50 วันต่อมาในวันเปนเตกอสเต และทรงเป็นพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงเพิ่งจะกระทำสิ่งที่เราอยากเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของพระองค์ เมื่อทรงช่วงชิงพระเยซูเจ้าพ้นจากอำนาจของความตาย และเผยแสดงพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้าผ่านการกลับคืนพระชนมชีพ ... “โดยทางพระจิตเจ้าผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้าโดยการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 1:4)...

“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย”

    “ให้อภัย” และ “ไม่อภัย” ... “การผูก” และ “การแก้” ... นี้คือโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษาอาราเมอิก ซึ่งใช้คำสองคำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาวางไว้ใกล้กัน เพื่อยืนยันความเป็นจริงข้อหนึ่งให้ชัดเจนมากขึ้น และเน้นคำที่มีความหมายเชิงบวก ... ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าประทานพระจิตของพระองค์ให้แก่ศิษย์ของพระองค์ พระองค์ได้ประทานอำนาจให้เขา “ปลดปล่อยมนุษย์จากความชั่วที่อยู่ในตัวเขาอีกด้วย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา บรรดาศิษย์จึงเป็น “ผู้นำพระเมตตาของพระเจ้ามาให้” บนโลกนี้ – เหมือนกับพระเยซูเจ้า...

    คริสตชนได้รับมอบหมายพันธกิจเดียวกันกับที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าเป็นพันธกิจของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธ ตั้งแต่ทรงเริ่มต้นเทศนาสั่งสอน “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:18-19)…

    ข้าพเจ้าเป็นผู้นำพระจิตนี้ – พระจิตผู้ทรงปลดปล่อย และประทานชีวิต – ไปมอบให้ผู้อื่นหรือเปล่า ... พระจิตเจ้าผู้ทรงรัก และทรงให้อภัยในพระนามของพระเยซูเจ้า...

    การให้อภัยคือพระหรรษทานของวันปัสกา...

โทมัส หนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ... เขาบอกคนอื่น ๆ ว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็น ... ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”

    โทมัสเป็นผู้มาทีหลัง เขามาถึงหลังจากงานเลี้ยงฉลองนี้จบลงแล้ว

    ในพระวรสาร โทมัสเป็นคนที่เชื่อในสามัญสำนึกของตนเสมอ เป็น “นักสัจนิยม” ผู้สงสัยพระวาจาของพระเยซูเจ้า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด” (ยน 14:5) เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงการกลับคืนชีพของลาซารัส โทมัสกลับคิดถึงแต่ความตายของตนเอง (ยน 11:15-16)...

แปดวันต่อมา ... พระเยซูเจ้าเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง ... “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด ... อย่าสงสัยอีกต่อไป”

    พระเยซูเจ้าทรงยอมให้โทมัสคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกอยู่นานถึงหนึ่งสัปดาห์...

    ข้าพเจ้าวาดมโนภาพว่าพระองค์เสด็จมาพร้อมกับรอยยิ้ม และตรัสกับโทมัสด้วยถ้อยคำทำนองนี้ว่า ... เพื่อนผู้น่าสงสารเอ๋ย ท่านคิดจริง ๆ ใช่ไหมว่าเราตายแล้ว และไม่อยู่ที่นี่แล้ว เมื่อท่านแสดงความไม่เชื่อต่อหน้าเพื่อน ๆ ของท่าน ... แต่เราอยู่ที่นี่แล้ว ... เราฟังท่านอยู่ แม้ว่าท่านมองไม่เห็นเราก็ตาม แต่เราไม่แสดงตัวให้ท่านเห็นในเวลานั้น...

    นี่แหละ ความอดทนของพระเจ้า ... พระองค์ทรงมีเวลาเสมอ...

โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”

    นี่คือคำประกาศความเชื่อของชายคนหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้อง “สัมผัสตัว” พระองค์อีกต่อไป ... บัดนี้ เขาเข้าใจแล้วว่าแม้ว่าเขามองไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ประทับอยู่กับเขา ... พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจริง แม้แต่ในเวลาที่โทมัส แสดงความไม่เชื่อของเขา...

“ท่านเชื่อเพราะท่านได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”

    นี่คือบุญลาภอีกข้อหนึ่ง – เป็นข้อสุดท้าย!

    สัจภาพ หรือความเป็นจริงอันสูงส่งที่สุดของพระเจ้า เป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็น ... ความเชื่อเท่านั้นที่นำเราไปรู้จักกับสัจภาพเหล่านี้...

    และนี่คือความสุขแท้...