ข่าวดี มัทธิว 22:15-21
การเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์
(15)ครั้งนั้น ชาวฟาริสีปรึกษากันเพื่อจับผิดพระวาจาของพระเยซูเจ้า (16)จึงส่งศิษย์ของตนพร้อมกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรดมาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร (17) ดังนั้น โปรดบอกเราเถิดว่า ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่” (18)พระเยซูเจ้าทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของเขา จึงตรัสว่า “พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม (19)จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง” เขาก็นำเงินเหรียญมาถวาย (20)พระองค์จึงตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” (21)เขาตอบว่า “เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์” พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด”
เราได้เห็นพระเยซูเจ้าตำหนิบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิวหลายครั้งหลายหนมาแล้ว พวกเขาถูกเปรียบเทียบเป็นบุตรคนที่พูดว่า “ครับพ่อ” แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามความประสงค์ของบิดา (มธ 21:30) หรือเป็นคนเช่าสวนชั่วร้าย (มธ 21:33-46) และล่าสุดพวกเขาถูกเปรียบเทียบเป็นแขกรับเชิญที่ปฏิเสธคำเชิญของกษัตริย์จนถูกกองทหารปราบจนราบคาบ (มธ 22:1-14)
ครั้งนี้ถึงคราวพวกเขาโต้กลับบ้าง !
และพวกเขาจริงจังในการตอบโต้พระเยซูเจ้ามากจนยอมร่วมมือกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรด (Herodians) ซึ่งปกติแล้วพวกเขายืนอยู่คนละขั้วกันเลยทีเดียว
พวกฟาริสีเคร่งครัดในศาสนา พวกเขาถือว่าพระเจ้าคือกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวของพวกเขา การเสียภาษีให้ซีซาร์จึงเป็นการละเมิดสิทธิของพระเจ้า
ส่วนพวกเฮโรเดียนนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกับเฮโรดซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งกาลิลี เฮโรดได้รับการแต่งตั้งจากโรม เขาจึงร่วมมือกับโรมอย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งช่วยโรมเก็บภาษีจากชาวยิว
ความแตกต่างและความเกลียดชังระหว่างพวกเขาถูกมองข้ามไปเพราะพวกเขามีศัตรูร่วมกันและมีความปรารถนาร่วมกัน นั่นคือกำจัดพระเยซูเจ้าให้พ้นจากหนทางของพวกเขา
พวกเขาวางแผนพิฆาตพระองค์ด้วยการตั้งคำถามมรณะ และถามในที่สาธารณะด้วย
ที่ว่าเป็นคำถามมรณะเพราะผู้ถามต้องการคำตอบเพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” และไม่ว่าผู้ตอบจะตอบว่าอย่างไรก็ไม่มีทางรอดพ้นจากความผิดไปได้ ยกตัวอย่างเช่น “คุณเลิกตบตีภรรยาแล้วใช่ไหม ?” ถ้าตอบ “ใช่” ก็แปลว่าคุณเคยตบตีภรรยามาก่อน
พวกฟาริสีและเฮโรเดียนเริ่มแผนการของพวกเขาด้วยคำพูดดีแต่ประสงค์ร้ายคือ “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร” (ข้อ 16)
เมื่อประจบประแจงเสร็จ พวกเขาก็ยิงคำถามใส่พระองค์ทันที “ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่” (ข้อ 17)
คำถามเรื่องภาษีนี้ค้างคาใจชาวยิวยิ่งนักเพราะมันขัดกับความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา ยิ่งเจอพวกคลั่งชาติหรือชาตินิยมอย่างเช่นซีมอนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกด้วยแล้ว พวกเขาถือว่าการเสียภาษีแก่กษัตริย์ต่างชาตินั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เด็ดขาด
แต่เพราะยิวเป็นเมืองขึ้นของโรมและได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโรม โรมจึงถือสิทธิเรียกเก็บภาษีจากชาวยิว 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1. ภาษีที่ดิน เก็บอัตราร้อยละสิบของผลผลิตจำพวกข้าว และร้อยละยี่สิบของผลผลิตจำพวกน้ำมันและเหล้าองุ่น
2. ภาษีรายได้ เก็บอัตราร้อยละหนึ่ง
3. ภาษีรายหัว เรียกเก็บจากชายอายุตั้งแต่ 14 ปีและจากหญิงอายุตั้งแต่ 12 ปี จนถึงอายุ 65 ปี ในอัตราหนึ่งเดนารีอุสต่อคนต่อปี (ประมาณค่าแรง 1.25 วัน)
ภาษีที่พวกเขาถามพระเยซูเจ้าคือภาษีรายหัวประเภทสุดท้ายนี้เอง
คำถามนี้แหลมคมและเป็นคำถามมรณะจริง ๆ !
หากพระองค์ตอบว่าไม่ควรเสียภาษีแก่จักรพรรดิซีซาร์ พวกเขาก็จะรายงานโรม และแน่นอนว่าพระองค์จะต้องถูกจับกุมข้อหายุยงประชาชนให้ก่อการกบฏ
หากพระองค์ตอบว่าต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์ ชาวยิวก็จะถือว่าพระองค์ทรยศต่อศาสนาและเลิกติดตามพระองค์
ไม่ว่าพระองค์จะตอบประการใด ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและภารกิจของพระองค์ทั้งสิ้น
แต่ด้วยความชาญฉลาด พระองค์ขอดูเหรียญที่ใช้สำหรับเสียภาษี
ในสมัยโบราณ เหรียญเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นกษัตริย์ ทันทีที่กษัตริย์ใหม่ขึ้นครองราชย์พระองค์จะต้องพิมพ์เหรียญที่มีรูปและคำจารึกของตนเองขึ้นมา และถือกันว่าเหรียญเหล่านี้เป็นสมบัติของผู้ที่มีรูปอยู่บนเหรียญ
เมื่อพระองค์ตรัสถามพวกเขาว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” พวกเขาตอบว่า “เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์” พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด”
จะเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ตอบไม่ใช่ทั้งกฎและไม่ใช่ทั้งระเบียบ แต่เป็นหลักการ ด้วยเหตุนี้คำสอนของพระองค์จึงไม่ขึ้นกับกาลเวลา และไม่มีวันล้าสมัย
หลักการจากพระวรสารตอนนี้คือ “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด”
เราสามารถอธิบายหลักการนี้ได้ว่า คริสตชนไทยแต่ละคนถือ 2 สัญชาติ
1. สัญชาติไทย เมื่อถือสัญชาติไทย เราย่อมเป็นพลเมืองไทยที่ต้องมีทั้งสิทธิและหน้าที่ควบคู่กันไป
ประเทศไทยได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุข ความมั่นคงปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายและจากศัตรูภายนอกประเทศ ตลอดจนจัดให้มีบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ หากขาดรัฐไทยเราคงดำรงชีพด้วยความยากลำบาก หรืออาจไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป
เมื่อรัฐไทยมีบุญคุณต่อเราเช่นนี้ เราจึงต้องตอบแทนบุญคุณด้วยการทำหน้าที่พลเมืองไทยอย่างดีและอย่างรับผิดชอบ
เหมือนที่ซีซาร์มีบุญคุณปกป้องคุ้มครองชาวยิว ชาวยิวจึงต้องตอบแทนด้วยการเสียภาษี
ผู้ใดพลาดจากการเป็นพลเมืองดี ผู้นั้นไม่มีทางเป็นคริสตชนที่ดีได้เลย !
2. สัญชาติสวรรค์ สัญชาตินี้เราได้มาจากการเป็นคริสตชน และดังนั้นคริสตชนทุกคนจึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพระเจ้าด้วย ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “เราแต่ละคนต่างจะต้องทูลรายงานเกี่ยวกับตนเองต่อพระเจ้า” (รม 14:12)
ปกติการปฏิบัติตามหน้าที่อันเนื่องมาจากการถือ 2 สัญชาติดังกล่าวมาแล้วจะไม่มีทางขัดแย้งกันเลย และไม่จำเป็นจะต้องขัดแย้งกันด้วยเพราะว่า “ไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น” (รม 13:1) “ดังนั้น ท่านจงเสียภาษี เพราะผู้ทำหน้าที่นี้เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า จงให้ทุกคนตามสิทธิของเขา จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิรับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิเก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ” (รม 13:6-7)
และเพราะผู้มีอำนาจในการปกครองได้รับอำนาจมาจากพระเจ้า การเลือกผู้ปกครองจึงต้องคำนึงถึงนโยบายที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ใช่คำนึงถึงผลตอบแทนที่เราได้รับหรือจะได้รับ
แต่ถ้าคริสตชนผู้ใดก็ตามมั่นใจว่าการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า เขาต้องคัดค้านและไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น การทำแท้งเสรี การหย่าร้าง เป็นต้น
พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงเส้นแบ่งระหว่างหน้าที่ที่ขัดแย้งกันนี้แต่ทรงปล่อยให้ “เป็นหน้าที่ของเราแต่ละคนที่จะตัดสินตามมโนธรรมของตนเอง”
กระนั้นก็ตาม พระองค์ได้วางหลักการเที่ยงแท้ไว้ให้เราประการหนึ่งแล้วว่า
“คริสตชนที่แท้จริงต้องเป็นพลเมืองดีของชาติ และในเวลาเดียวกันต้องเป็นพลเมืองดีของอาณาจักรสวรรค์ด้วย” !