แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
อาทิตย์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 22:1-14 หรือ 1-10

อุปมาเรื่องงานวิวาหมงคล
(1)พระเยซูเจ้าทรงเล่าเป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่งว่า  (2)“อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับกษัตริย์พระองค์หนึ่งซึ่งทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้พระโอรส  (3)ทรงส่งผู้รับใช้ไปเรียกผู้รับเชิญให้มาในงานวิวาห์ แต่พวกเขาไม่ต้องการมา  (4)พระองค์จึงทรงส่งผู้รับใช้อื่นไปอีก รับสั่งว่า ‘จงไปบอกผู้รับเชิญว่า บัดนี้เราได้เตรียมการเลี้ยงไว้พร้อมแล้ว  ได้ฆ่าวัวและสัตว์อ้วนพีแล้ว ทุกสิ่งพร้อมสรรพ เชิญมาในงานวิวาห์เถิด’  (5)แต่ผู้รับเชิญมิได้สนใจ คนหนึ่งไปที่ทุ่งนา อีกคนหนึ่งไปทำธุรกิจ  (6)คนที่เหลือได้จับผู้รับใช้ของกษัตริย์ ทำร้ายและฆ่าเสีย  (7)กษัตริย์กริ้ว จึงทรงส่งกองทหารไปทำลายฆาตกรเหล่านั้นและเผาเมืองของเขาด้วย  (8)แล้วพระองค์ตรัสแก่ผู้รับใช้ว่า ‘งานวิวาห์พร้อมแล้ว แต่ผู้รับเชิญไม่เหมาะสมกับงานนี้  (9)จงไปตามทางแยก พบผู้ใดก็ตาม จงเชิญมาในงานวิวาห์เถิด’  (10)บรรดาผู้รับใช้จึงออกไปตามถนน เชิญทุกคนที่พบมารวมกัน ทั้งคนเลวและคนดี แขกรับเชิญจึงมาเต็มห้องงานอภิเษกสมรส  (11)กษัตริย์เสด็จมาทอดพระเนตรแขกรับเชิญ ทรงเห็นคนหนึ่งไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์  (12)จึงตรัสแก่เขาว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านไม่ได้สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ แล้วเข้ามาที่นี่ได้อย่างไร’ คนนั้นก็นิ่ง  (13)กษัตริย์จึงตรัสสั่งผู้รับใช้ว่า ‘จงมัดมือมัดเท้าของเขา เอาไปทิ้งในที่มืดข้างนอกเถิด ที่นั่น จะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง  (14)เพราะผู้รับเชิญมีมาก แต่ผู้รับเลือกมีน้อย’”

*************************


พระวรสารตอนนี้ประกอบด้วยนิทานเปรียบเทียบ 2 เรื่องด้วยกัน
ข้อ 1-10     เป็นเรื่องงานวิวาหมงคล
ข้อ 11-14     เป็นเรื่องการไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์

งานวิวาหมงคล
เหตุการณ์ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องแรกนี้อาจฟังดูแปลกสำหรับเรา แต่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวยิวจริง ๆ  นั่นคือเมื่อมีงานฉลองสำคัญอย่างเช่นการแต่งงาน เจ้าภาพจะจัดส่งเทียบเชิญไปก่อนโดยยังไม่กำหนดวันและเวลา  ต่อเมื่อจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วเจ้าภาพจึงจะส่งคนใช้ไปเรียกแขกรับเชิญเป็นครั้งสุดท้าย (final call) ให้มาร่วมงานฉลอง
กษัตริย์ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ส่งเทียบเชิญไปนานแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อมพระองค์จึงส่งคนใช้ไปเรียกแขกรับเชิญ แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย
นิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้มีความหมาย 2 นัย คือ
1.    เป็นการกล่าวโทษชาวยิว (เหมือนนิทานเปรียบเทียบเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้าย) เป็นเวลานานมาแล้วที่พวกเขาได้รับเชิญจากพระเจ้าให้เป็นประชากรของพระองค์ แต่เมื่อพระองค์ส่งพระบุตรแต่องค์เดียวลงมาในโลกนี้ พวกเขากลับปฏิเสธพระองค์  ผลก็คือพระองค์ทรงส่งเทียบเชิญไปยังทุกคนตามทางแยกซึ่งได้แก่คนต่างชาติผู้ไม่เคยคาดหวังเลยว่าจะได้รับเชิญเข้าสู่พระอาณาจักร
ส่วนผลจากการปฏิเสธพระองค์นั้นน่าขนพองสยองเกล้ายิ่งนัก  มัทธิวเล่าว่า “กษัตริย์กริ้ว จึงทรงส่งกองทหารไปทำลายฆาตกรเหล่านั้นและเผาเมืองของเขาด้วย” (ข้อ 7)
แต่ข้อ 7 นี้ไม่น่าจะเป็นคำพูดของพระเยซูเจ้าเอง เพราะการส่งกองทหารไปทำลายฆาตกรและเผาเมืองนั้นไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับงานวิวาหมงคล
คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ มัทธิวเขียนพระวรสารประมาณปีค.ศ. 80-90 ส่วนกรุงเยรูซาเล็มถูกกองทัพโรมันทำลายจนราบเป็นหน้ากลองในปีค.ศ. 70  มัทธิวจึงเสริมข้อ 7 เข้ามาเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวสุดประมาณของการปฏิเสธพระเยซูเจ้า
จากข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ หากชาวยิวยอมรับหนทางของพระเยซูเจ้า และดำเนินชีวิตอยู่ในความรัก ความถ่อมตน และการเสียสละ พวกเขาคงไม่ก่อการกบฏและยั่วยุจนโรมไม่อาจอดทนได้อีกต่อไป
ชีวิตของชาวยิวจะดีกว่านี้สักเพียงใด หากพวกเขายอมรับพระเยซูคริสตเจ้า !
2.    ความหมายสำหรับทุกคน คือ
2.1    พระเจ้าเชิญเรามาร่วมงานปีติยินดี เหมือนเชิญเรามาร่วมงานวิวาหมงคล  ความคิดที่ว่าคริสตศาสนาเป็นอะไรที่มืดมน เป็นอะไรที่ต้องงดเสียงหัวเราะ งดความร่าเริงแจ่มใส หรืองดความสุขล้วนเป็นความคิดที่ผิด
สิ่งที่คริสตชนได้รับเชิญคือความปีติยินดี และเป็นความปีติยินดีที่เราพลาดหากเราปฏิเสธพระองค์
2.2    สิ่งที่ทำให้เราปฏิเสธคำเชิญไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป  ในนิทานเปรียบเทียบ พวกเขาปฏิเสธคำเชิญเพราะต้องไปดูแลทุ่งนาหรือไปทำธุรกิจซึ่งล้วนเป็นสิ่งดี  ไม่ใช่เพราะมัวดื่มสุราหัวราน้ำหรือหลบไปทำสิ่งผิดศีลธรรม
สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ “คู่แข่งของสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่ดีเป็นอันดับสอง” และมักเป็นสิ่งที่ดีเป็นอันดับสองนี้เองที่ทำให้เราพลัดพรากจากสิ่งที่ดีที่สุด
- เป็นการง่ายที่เราจะมัวสลวนอยู่กับเวลาจนลืมชีวิตนิรันดร
- เป็นการง่ายที่เราจะติดพันกับสิ่งที่มองเห็นได้ จนลืมสิ่งที่มองไม่เห็น
- เป็นการง่ายที่เราจะได้ยินเสียงของโลก แต่ไม่ได้ยินเสียงเชิญของพระเยซูเจ้า
- เป็นการง่ายที่เราจะยุ่งอยู่กับค่าครองชีพ จนลืมชีวิตเสียเอง
2.3    ผลของการปฏิเสธคือ “การพลาด” ดังในนิทานเปรียบเทียบ พวกที่ปฏิเสธคำเชิญล้วนได้รับโทษ แต่โทษของพวกเขาคือการพลาดความยินดีของงานวิวาหมงคล
หากเราปฏิเสธคำเชิญของพระเยซูเจ้า สักวันหนึ่งเราต้องเจ็บปวดสุดขีด แต่ไม่ใช่เจ็บปวดเพราะต้องทนทุกข์ แต่เจ็บปวดเพราะตระหนักดีว่าตนพลาดสิ่งที่มีค่ามากที่สุด
2.4    คำเชิญของพระเจ้าคือพระหรรษทาน  บรรดาผู้ที่อยู่ตามทางแยกไม่สิทธิ์แม้แต่จะคิดว่าตนสมควรได้รับเชิญมาร่วมงานวิวาหมงคลของกษัตริย์  พวกเขาไม่สมควรและไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น
คำเชิญนี้ออกมาจากพระหัตถ์ที่กางออก และพระทัยที่เปิดกว้างของพระเจ้า
เป็นพระหรรษทานจริง ๆ

การไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์
นิทานเปรียบเทียบเรื่องที่สองนี้ต่อเนื่องและช่วยขยายความเรื่องแรก  โดยพระเยซูเจ้าทรงนำนิทานเปรียบเทียบของพวกรับบี 2 เรื่องมาเล่าใหม่ตามวิธีของพระองค์เอง
เรื่องแรก พวกรับบีเล่าว่า กษัตริย์พระองค์หนึ่งได้เชิญแขกมาร่วมงานฉลองโดยไม่ได้ระบุวันและเวลา แต่สั่งให้อาบน้ำ ชโลมน้ำมัน และแต่งตัวให้พร้อม  แขกรับเชิญที่ฉลาดต่างเตรียมพร้อมและไปรอที่หน้าประตูพระราชวัง  ส่วนคนโง่คิดว่างานใหญ่ระดับกษัตริย์คงต้องใช้เวลาตระเตรียมนาน ยังมีเวลาเหลือเฟือ จึงง่วนอยู่กับการงานของตนเอง  ทันใดนั้นกษัตริย์ส่งคำเชิญเป็นครั้งสุดท้าย  คนฉลาดได้นั่งโต๊ะกินและดื่มร่วมกับกษัตริย์  ส่วนคนโง่ที่ไม่ได้สวมชุดสำหรับงานวิวาห์ต้องยืนอยู่ข้างนอก หิว และเสียใจโดยเฉพาะเมื่อได้เห็นความปีติยินดีที่ตัวเองได้สูญเสียไป
พวกรับบีเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้เพื่อสอนให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียกของพระเจ้า
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงมอบชุดพระราชทานให้แก่บรรดาคนรับใช้ของพระองค์  พวกที่ฉลาดนำชุดพระราชทานไปเก็บรักษาไว้อย่างดี  ส่วนพวกที่โง่นำชุดพระราชทานใส่ไปทำงานจนมีรอยด่างรอยเปื้อนเต็มไปหมด  อยู่มาวันหนึ่งกษัตริย์เรียกชุดที่ได้พระราชทานไปกลับคืน  คนฉลาดนำชุดเหมือนใหม่มาคืน  กษัตริย์จึงเก็บชุดไว้ในท้องพระคลังและอวยพรคนรับใช้ให้กลับไปเป็นสุข  ส่วนคนโง่นำชุดที่เปรอะเปื้อนมาคืน กษัตริย์ทรงกริ้วและสั่งให้นำคนเหล่านี้ไปขังคุก
พวกรับบีเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้เพื่อสอนชาวยิวให้นำดวงวิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์ดังเดิมไปถวายคืนแด่พระเจ้า
พระเยซูเจ้าทรงนำนิทานเปรียบเทียบทั้งสองเรื่องของพวกรับบีมาเล่าใหม่ เพื่อสอนเราว่า
1.    ประตูเปิดเพื่อให้เราเป็นคนดี  เมื่อกษัตริย์ส่งคนใช้ไปเชิญทุกคนตามทางแยก แปลว่าประตูเปิดต้อนรับทุกคนทั้งคนต่างชาติ ต่างศาสนา และคนบาป
ใช่ ประตูเปิดต้อนรับเราทุกคนก็จริง แต่เราจะเดินเข้ามาพร้อมกับการดำเนินชีวิตแบบเก่า ๆ ที่ไม่สมกับความรักและพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่เราไม่ได้  เราจำเป็นต้องสวมชีวิตใหม่ที่บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ และดีกว่าเดิม
ประตูเปิด !  แต่ไม่ใช่เปิดเพื่อให้คนบาปเข้ามาแล้วยังคงเป็นคนบาป แต่เพื่อให้คนบาปเข้ามาแล้วเป็นนักบุญ
2.    กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา  แน่นอนว่าเราคงไม่ใส่ชุดตัดหญ้าไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้าน เพราะแม้เพื่อนจะไม่สนใจชุดที่เราใส่  แต่การแสดงออกภายนอกของเรามันบ่งแสดงว่าเราให้ความเคารพ รัก และยกย่องให้เกียรติเพื่อนของเรามากน้อยเพียงใด
กับบ้านของพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน !
แต่พระเยซูเจ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องการแต่งกายไปวัด  สิ่งที่พระองค์กำลังพูดถึงคือการเตรียม “จิตใจ” ไปวัด
พระองค์ไม่ต้องการเห็นขบวนแฟชั่นแห่เข้าวัด  แต่พระองค์ต้องการเห็นอาภรณ์แห่งจิตใจและวิญญาณ
- อาภรณ์ที่เต็มไปด้วยความหวัง
- อาภรณ์ที่ถ่อมตนสำนึกผิด
- อาภรณ์ที่เต็มไปด้วยความเชื่อ
- อาภรณ์แห่งความเคารพสักการะ
นี่คืออาภรณ์ที่เราควรสวมใส่ไปหาพระเจ้า  และหากเราได้เตรียมตัวไปวัดเช่นนี้ เมื่อได้สวดภาวนาอีกสักนิด และได้คิดพิจารณาตนเองอีกสักหน่อย  การไปวัดของเราก็จะเป็นการนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง !