แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
อาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 14:22-33

พระเยซูเจ้าทรงดำเนินบนผิวน้ำ
(22)ทันทีหลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ลงเรือข้ามทะเลสาบล่วงหน้าพระองค์ไป ในขณะที่พระองค์ทรงจัดให้ประชาชนกลับ  (23)เมื่อทรงลาประชาชนแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทรงอธิษฐานภาวนาตามลำพัง ครั้นเวลาค่ำ พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพียงพระองค์เดียว  (24)ส่วนเรืออยู่ห่างจากฝั่งหลายร้อยเมตร กำลังแล่นโต้คลื่นอย่างหนักเพราะทวนลม  (25)เมื่อถึงยามที่สี่พระองค์ทรงดำเนินบนทะเลไปหาบรรดาศิษย์  (26)เมื่อบรรดาศิษย์เห็นพระองค์ทรงดำเนินอยู่บนทะเลดังนั้น ต่างตกใจมากกล่าวว่า “ผีมา” และส่งเสียงอื้ออึงด้วยความกลัว (27) ทันใดนั้นพระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ทำใจให้ดี เราเอง อย่ากลัวเลย”  (28)เปโตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเป็นพระองค์ ก็จงสั่งให้ข้าพเจ้าเดินบนน้ำไปหาพระองค์เถิด”  (29)พระองค์ตรัสว่า “มาเถิด” เปโตรจึงลงจากเรือ เดินบนน้ำไปหาพระเยซูเจ้า  (30)แต่เมื่อเห็นว่าลมแรง เขาก็กลัวและเริ่มจมลง แล้วร้องว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย”  (31)ทันใดนั้นพระเยซูเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์จับเขา ตรัสว่า “ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง สงสัยทำไมเล่า”  (32)เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นมาประทับในเรือพร้อมกับเปโตรแล้ว ลมก็สงบ  (33)คนที่อยู่ในเรือจึงเข้ามากราบนมัสการพระองค์ ทูลว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง”

**************************


หลังจากฝูงชนจำนวนมากได้กินอาหารจนอิ่มหนำและเก็บเศษที่เหลือได้ถึง 12 กระบุงแล้ว “พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ลงเรือข้ามทะเลสาบล่วงหน้าพระองค์ไป” ก่อน (ข้อ 22)
อันที่จริงคำกรีก anagkazo (อานักคาโซ) หมายถึง “บังคับ” ซึ่งหนักแน่นกว่า “สั่ง”  คำถามคือทำไมพระองค์จึงต้อง “บังคับ” บรรดาศิษย์ให้ลงเรือข้ามทะเลสาบกลับไปก่อน ?
จากพระวรสารโดยนักบุญยอห์น เราทราบว่าฝูงชน “จะใช้กำลังบังคับพระองค์ให้เป็นกษัตริย์” (ยน 6:15) ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นชนวนให้ชาวยิวลุกฮือก่อการจลาจลต่อต้านโรม
นี่ย่อมเข้าทางบรรดาศิษย์ของพระองค์ !
เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย พระองค์จึงต้องบังคับบรรดาศิษย์ให้ลงเรือข้ามทะเลไปก่อน  เพื่อพระองค์จะได้จัดการควบคุมฝูงชนตามลำพังโดยไม่มีพวกเขาคอยยั่วยุ
เห็นความละเอียดอ่อนและรอบคอบของพระองค์ไหม ?
เมื่อฝูงชนจากไปแล้ว “พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทรงอธิษฐานภาวนาตามลำพัง” (ข้อ 23)  ครั้นตกค่ำพระองค์เริ่มเดินเลียบชายฝั่งทะเลสาบด้านเหนือเพื่อกลับแคว้นกาลิลี และตามที่มัทธิวเล่าว่าฝูงชนนั่งบนพื้นหญ้าเขียว (ข้อ 19) จึงน่าจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิประมาณกลางเดือนเมษายนซึ่งใกล้เทศกาลปัสกาและเป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวง สามารถมองเห็นถนนหนทางและทะเลได้ชัดเจน
ส่วนพวกศิษย์ซึ่งลงเรือล่วงหน้าไปก่อนนานแล้วกลับไปไม่ถึงไหน !
ทะเลสาบกาลิลีขึ้นชื่อลือชามากเรื่องพายุฉับพลัน และค่ำคืนนั้นก็มีพายุลูกหนึ่งพัดมาในทิศทางตรงกันข้ามกับที่บรรดาศิษย์ต้องการ  พวกเขาต้อง “แล่นโต้คลื่นอย่างหนักเพราะทวนลม” (ข้อ 24)
ชาวยิวแบ่งกลางคืนออกเป็น 4 ยามเริ่มจาก 18.00-21.00; 21.00-24.00; 24.00-3.00 และ 3.00-6.00 น.  เมื่อถึงยามที่สี่คือตีสามไปแล้วพระเยซูเจ้าทรงแลเห็นบรรดาศิษย์ต่อสู้ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางพายุและคลื่นที่ถาโถมเข้าใส่เรือ พระองค์จึงเสด็จไปหาพวกเขา
นี่คือสุดยอด “ความเอาใจใส่” ของพระเยซูเจ้า !
ในยามที่บรรดาศิษย์ตกอยู่ในความยากลำบาก พระองค์เสด็จมาหาพวกเขา  เมื่อลมพัดทวนและชีวิตต้องดิ้นรน พระองค์อยู่ท่ามกลางพวกเขาและพร้อมช่วยเหลือทุกคน
เราทุกคนย่อมมีพายุพัดสวนเข้ามาในชีวิตบ่อย ๆ  หลายครั้งเราต้องต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิตกับคนรอบข้างที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจตัวเราเอาเสียเลย  หลายครั้งต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมรอบบ้านหรือในที่ทำงานที่ไม่เป็นมิตร  หลายครั้งต้องต่อสู้กับตัวเอง กับการประจญ หรือกับการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต......
แต่ไม่มีใครถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้ดิ้นรนตามลำพัง พระเยซูเจ้าพร้อมเสด็จเข้ามาอยู่ท่ามกลางพายุชีวิตของเราพร้อมกับมือที่เหยียดออกเพื่อช่วยเหลือ และพระสุรเสียงที่กระตุ้นหัวใจของเราให้ลุกขึ้นสู้โดยไม่ต้องหวาดกลัว
“ทำใจให้ดี เราเอง อย่ากลัวเลย”  (ข้อ 27)
พระวรสารตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ทะเลสาบกาลิลีเมื่อสองพันปีก่อน แต่ยังเกิดขึ้นทุกวันและทุกแห่ง
ขอเพียงให้เรากล้าร้องแบบเปโตรว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย”

--------------------------


นอกจากความละเอียดอ่อนและความเอาใจใส่ของพระเยซูเจ้าแล้ว  บุคลิกภาพของเปโตรยังให้บทเรียนแก่เราอีกด้วย
1.    เปโตรเป็นคนหุนหัน  ท่านชอบทำตามแรงกระตุ้นของสัญชาติญาณโดยไม่ได้คิดไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน อันนำไปสู่ความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า
ท่านใช้หัวใจมากกว่าหัวคิด
แต่พระเยซูเจ้าต้องการให้เราคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจจะทำอะไรก็ตาม “ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่” (ลก 14:28) “หรือกษัตริย์ที่ทรงยกทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง จะไม่ทรงคำนวณก่อนหรือว่า ถ้าใช้กำลังพลหนึ่งหมื่นคน จะเผชิญกับศัตรูที่มีกำลังพลสองหมื่นคนได้หรือไม่” (ลก 14:31)
หรือแม้แต่คิดจะติดตามพระองค์ก็ต้องคิดคำนวณให้รอบคอบด้วยเช่นกันเพราะ “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ” (ลก 9:58)
หลายครั้งเราคริสตชนผิดพลาดหรือล้มเหลวเพียงเพราะ “เราอิงกับอารมณ์มากกว่าเหตุผล”
2.    เปโตรรักพระเยซูเจ้า  แม้ท่านจะใช้หัวใจมากกว่าหัวคิดและชอบทำตามแรงกระตุ้นของสัญชาติญาณก็ตาม
แต่โชคดีที่สัญชาติญาณของท่านคือ “รักพระเยซูเจ้า”
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ทุกท่านจะทอดทิ้งเราในคืนนี้” เปโตรลุกขึ้นตอบทันทีว่า “แม้ทุกคนจะทอดทิ้งพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ทอดทิ้งพระองค์เลย” (มธ 26:31, 33) 
นี่เป็นสัญชาติญาณรักโดยแท้ !
3.    เปโตรยึดพระเยซูเจ้าเป็นสรณะ  เมื่อท่านเห็นว่าลมในทะเลสาบแรง ก็กลัวและเริ่มจมลง แต่ “หัวใจรัก” ทำให้ท่านร้องออกมาว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย”  แล้วพระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์จับท่านไว้
เรียกว่า “ยิ่งพลาด ก็ยิ่งใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้า”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ทุกครั้งที่ท่านล้ม ท่านจะลุกขึ้นมาอีก และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ท่านเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่  เพราะนักบุญไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้ม แต่เป็นคนที่ลุกขึ้นทุกครั้งที่ล้ม
หากเรายึดพระเยซูเจ้าเป็นสรณะเช่นเดียวกับเปโตร ความผิดพลาดของเราจะทำให้เรา “รักและใกล้ชิด” พระเยซูเจ้ามากขึ้น

สุดท้ายมัทธิวเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นมาประทับในเรือพร้อมกับเปโตรแล้ว ลมก็สงบ (ข้อ 32)
แม้เมื่อพายุร้ายและความเคร่งเครียดประดังเข้ามาในชีวิต หากเรามีพระเยซูเจ้าอยู่ท่ามกลางเราพร้อมกับความรักที่หลั่งไหลมาจากกางเขนของพระองค์ เราจะพบกับความสงบสุขและความร่าเริงยินดีเสมอ !