ข่าวดี มัทธิว 14:13-21
พระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปังครั้งแรก
(13)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบข่าวนี้ ได้เสด็จออกจากที่นั่น ลงเรือไปยังที่สงัดตามลำพังเมื่อประชาชนรู้ต่างก็เดินเท้าจากเมืองต่าง ๆ มาเฝ้าพระองค์ (14)เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร และทรงรักษาผู้เจ็บป่วยให้หายจากโรค (15)เมื่อถึงเวลาเย็น บรรดาศิษย์เข้ามาทูลพระองค์ว่า “สถานที่นี้เป็นที่เปลี่ยว และเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้ประชาชนไปตามหมู่บ้านเพื่อซื้ออาหารเถิด” (16)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เขาไม่จำเป็นต้องไปจากที่นี่ ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” (17)เขาทูลตอบว่า “ที่นี่เรามีขนมปังเพียงห้าก้อนกับปลาสองตัวเท่านั้น” (18)พระองค์จึงตรัสว่า “เอามาให้เราที่นี่เถิด” (19)พระองค์ทรงสั่งให้ประชาชนนั่งลงบนพื้นหญ้า ทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวขึ้นมา ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า ทรงกล่าวถวายพระพร ทรงบิขนมปังส่งให้บรรดาศิษย์ไปแจกแก่ประชาชน (20)ทุกคนได้กินจนอิ่ม แล้วยังเก็บเศษที่เหลือได้ถึงสิบสองกระบุง (21) จำนวนคนที่กินมีผู้ชายประมาณห้าพันคน ไม่นับผู้หญิงและเด็ก
แคว้นกาลิลีมีขนาดกว้างจากตะวันตกจดตะวันออก 40 กิโลเมตร และยาวจากเหนือจดใต้ 80 กิโลเมตร นักประวัติศาสตร์ยิวชื่อโยเซฟุสบันทึกไว้ว่า ด้วยขนาดเพียงเท่านี้กาลิลีในสมัยพระเยซูเจ้ากลับประกอบไปด้วยเมืองและหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง แต่ละแห่งมีพลเมืองไม่น้อยกว่า 15,000 คน ทำให้กาลิลีมีประชากรหนาแน่นมากกว่าสามล้านคน จึงเป็นการยากมากที่พระองค์จะปลีกตัวจากฝูงชนเพื่อหาเวลาสงบเงียบตามลำพัง
ตรงกันข้าม อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบกาลิลีซึ่งมีความกว้างสุดไม่เกิน 13 กิโลเมตร กลับมีประชากรเบาบางมาก พระเยซูเจ้าจึงเสด็จลงเรือของเพื่อนชาวประมงข้ามทะเลไปอีกฝั่งหนึ่งด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ตามลำพังบ้าง ยิ่งได้ทราบข่าวชะตากรรมของยอห์นที่ถูกเฮโรดตัดศีรษะไปแล้ว พระองค์ยิ่งต้องการเวลาอยู่กับพระเจ้าเพื่อเพิ่มพลังทั้งกายและวิญญาณสำหรับเผชิญกับชะตากรรมของพระองค์เองบนไม้กางเขน
แต่พระองค์ไม่วายแคล้วคลาดจากสิ่งที่คาดหวัง เพราะเมื่อฝูงชนเห็นพระองค์เสด็จลงเรือก็เดาออกว่าจะไปไหน พวกเขาจึงรีบเร่งเดินลัดเลาะตามฝั่งทะเลสาบด้านเหนือมาดักรอ และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นจากเรือ “ทรงเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร และทรงรักษาผู้เจ็บป่วยให้หายจากโรค” (ข้อ 14) พร้อมกับตรัสสั่งบรรดาศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” (ข้อ 16)
เหตุการณ์ที่พระองค์ทรงรักษาผู้เจ็บป่วยและหาอาหารให้ประชาชนรับประทาน ช่วยให้เรามองเห็นความจริงหลายประการ
1. พระเยซูเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาสงสาร
ทั้ง ๆ ที่ต้องการหลบฝูงชนมาหาความเงียบสงบ แต่เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือกลับพบฝูงชนมากมายเฝ้ารอพระองค์อยู่ แทนที่จะรำคาญพระองค์กลับรู้สึกสงสารพวกเขาแบบสุด ๆ (ดูความหมายของคำ “สงสาร” จากวันอาทิตย์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา หรือ มธ 9:36-10:8)
พระองค์จะปฏิเสธพวกเขาก็ได้ พวกเขามีสิทธิอะไรมาก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของพระองค์ด้วยการเรียกร้องขอความช่วยเหลือแบบไม่รู้จักจบสิ้น พระองค์ไม่มีสิทธิพักผ่อนหรือมีเวลาส่วนตัวบ้างเลยหรือ ?
แต่พระเยซูเจ้าไม่ได้มองฝูงชนว่ามากวนใจพระองค์ ตรงกันข้ามพระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขาจากกึ๋นจริง ๆ
ถ้าข่าวดีที่เราประกาศทุกวันนี้ยังเหมือนกับข่าวดีที่พระองค์ทรงแสดงให้ฝูงชนได้ประจักษ์ ข่าวดีนั้นก็คือ “พระเจ้าทรงเอาใจใส่เราทุกคน”
เพราะฉะนั้น เราต้องมีเวลาให้กับทุกคน
หากเราแสดงอาการเหนื่อยล้า หมดความอดทน เร่งรีบ หรือทำเหมือนกับถึงเวลาอาหารแล้ว ฯลฯ สัตบุรุษของเราจะทยอยหายไป และจะไม่มีวันหวนกลับมาอีก
เราจะติดต่อกับผู้คนโดยที่ตาข้างหนึ่งจับจ้องอยู่ที่นาฬิกาไม่ได้ !
บัณฑิตชาวอินเดียผู้หนึ่งชื่อ อิสวาร์ จันดาร์ วิทยสักกะ ได้รับมอบหมายจากชาวฮินดูในเมืองกัลกัตตาให้เป็นผู้แทนมาเจริญสัมพันธไมตรีกับคริสตศาสนาและกับสังฆราชของอินเดีย แต่เขาต้องกลับไปด้วยความผิดหวังโดยไม่ได้พบสังฆราชเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ความเป็นส่วนตัวของสังฆราชถูกละเมิดเว้นแต่จะนัดหมายไว้ล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยฮินดูในกัลกัตตา เป็นนักปฏิรูปสังคม เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงของอินเดีย เขาจึงรวบรวมชาวฮินดูเพื่อต่อต้านพระศาสนจักรและสังฆราชนับแต่นั้นมา
หาไม่แล้ว คริสตศาสนาคงได้เผยแพร่ในเบงกอลมากกว่านี้สักเพียงใด !
2. ทุกสิ่งล้วนเป็นของประทานจากพระบิดาเจ้า และผู้ที่เป็นสักขีพยานยืนยันเรื่องนี้หาใช่ใครอื่นไกลไม่ แต่เป็นพระเยซูเจ้าเอง
“พระองค์ทรงสั่งให้ประชาชนนั่งลงบนพื้นหญ้า ทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวขึ้นมา ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า ทรงกล่าวถวายพระพร” (ข้อ 19)
คำถวายพระพรที่พระเยซูเจ้าและชาวยิวทุกครอบครัวใช้ก่อนรับประทานอาหารนั้นสั้นและซื่อง่าย “ขอถวายพระพรแด่พระยะโฮวาห์พระเจ้าของเรา และกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ผู้ประทานขนมปังจากผืนแผ่นดิน”
ความหมายที่พระองค์ต้องการบอกเราคือ “ทุกสิ่งที่พระองค์นำมามอบแก่มนุษย์ล้วนเป็นของประทานจากพระบิดาเจ้า”
แม้พระองค์เองยังขอบพระคุณพระเจ้าด้วยความกตัญญูรู้คุณ
น่าเสียดายที่ความกตัญญูต่อมนุษย์ด้วยกันเองก็น้อยมากอยู่แล้ว แต่ความกตัญญูต่อพระเจ้า เรายิ่งมีน้อยกว่าอีก !
3. พระเยซูเจ้าต้องการเราทุกคน เมื่อทรงกล่าวถวายพระพรแล้ว พระองค์ทรงบิขนมปังส่งให้บรรดาศิษย์ไปแจกแก่ประชาชน (ข้อ 19)
เห็นชัดว่าบรรดาศิษย์มีสถานภาพพิเศษในงานของพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ทรงทำงานโดยผ่านทาง “มือ” ของพวกเขา
ทุกวันนี้พระองค์ก็ยังกระทำเช่นนี้อยู่ เป็นความจริงที่บรรดาศิษย์ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากพระเยซูเจ้า แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ก็ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากบรรดาศิษย์ ถ้าพระองค์ต้องการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จไป เช่น ต้องการให้เด็ก ๆ ได้รับการสั่งสอนอบรม หรือต้องการให้คนขัดสนได้รับความช่วยเหลือ พระองค์ต้องการให้เราทำสิ่งเหล่านั้น และนี่คือความจริงอันเป็นหัวใจของพระศาสนจักร
ถ้าเราไม่ร่วมมือกับพระองค์ ความจริงและความรักจะเข้าสู่ชีวิตของผู้อื่นได้อย่างไร ?
พระองค์ต้องการ คนที่พระองค์สามารถมอบความจริงและความรักให้ เพื่อนำไปมอบให้ผู้อื่นต่อไป
ทำไมคน ๆ นั้นจะเป็นเราไม่ได้ ?
และเราไม่ต้องวิตกกังวลว่ามีคนจำนวนมากมายที่กำลังรอคอยความจริงและความรักอยู่ ลำพังเราคนเดียวจะไปทำอะไรได้
ต่อหน้าฝูงชน เฉพาะผู้ชายอย่างเดียวก็ห้าพันคนเข้าไปแล้ว บรรดาศิษย์ทูลว่า “ที่นี่เรามีขนมปังเพียงห้าก้อนกับปลาสองตัวเท่านั้น” (ข้อ 17) แต่อาศัยสิ่งของเล็กน้อยที่พวกเขานำมาให้นี้เอง พระองค์ทรงทำให้เกิดอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่
พระองค์ไม่ได้ประสงค์ความเก่งกาจ หรือความยิ่งใหญ่เกรียงไกรจากเรา ขอเพียงเรานำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีมามอบแด่พระองค์ เท่านี้พระองค์ก็สามารถทำกิจการอันใหญ่หลวงผ่านทางเราได้
4. อย่าฟุ่มเฟือย แม้อัศจรรย์ของพระองค์จะสามารถเลี้ยงคนมากมายได้อย่างเหลือเฟือ แต่เมื่อ “ทุกคนได้กินจนอิ่มแล้วยังเก็บเศษที่เหลือได้ถึงสิบสองกระบุง” (ข้อ 20)
สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว ต้องไม่มีการทิ้งขว้างให้เสียของเด็ดขาด !
แม้พระเจ้าจะประทานทุกสิ่งแก่เราด้วยพระทัยกว้างขวาง แต่การฟุ่มเฟือยโดยเปล่าประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ผิดเสมอ
ความใจกว้างของพระเจ้าและการใช้อย่างชาญฉลาดของมนุษย์ต้องไปควบคู่กัน
พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์อย่างไร
บางคนอ่านอัศจรรย์ครั้งนี้แล้วรู้สึกว่าไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ ก็ขอให้ผู้นั้นมั่นคงในความเชื่ออันหวานซื่อนี้ต่อไป ส่วนบางคนที่รู้สึกว่าต้องการความเข้าใจก่อนจะยอมรับได้ก็ไม่ต้องละอายใจ เพราะพระเยซูเจ้าเสด็จมาก็เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ
แต่ไม่ว่าเราจะต้องการคำอธิบายหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เราทุกคนจำต้องยึดถือเป็นหลักเหมือนกันทุกครั้งที่ศึกษาเรื่องอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าคือ อัศจรรย์ไม่ใช่สิ่งที่ “ได้เกิดขึ้น” เพียงครั้งหนึ่งในอดีต แต่เป็นสิ่งที่ “เกิดขึ้น” ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะอัศจรรย์คือการแสดงอำนาจแห่งความรักของพระองค์ชั่วกัปชั่วกัลป์
เราอาจอธิบายอัศจรรย์นี้ได้ 3 แนวทางด้วยกัน
1. เป็นการทวีขนมปังและปลา แนวทางนี้เป็นความเชื่อที่ง่ายแต่เข้าใจยาก อีกทั้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเมื่อสองพันปีก่อนและไม่เคยเกิดซ้ำอีก หากเรารับแนวทางนี้ได้ก็ขออย่าวิพากษ์วิจารณ์หรือประณามคนที่รู้สึกว่าต้องการแสวงหาแนวทางอื่น
2. เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ แนวทางนี้ถือว่าฝูงชนได้รับขนมปังหรือปลาเพียงชิ้นเล็ก ๆ แต่เป็นเสมือนอาหารฝ่ายวิญญาณจากพระเยซูเจ้าที่ทำให้พวกเขามีพลังเดินทางกลับบ้าน และเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่เราร่วมพิธีบูชามิสซาและรับศีลมหาสนิท
3. เป็นการแบ่งปัน แนวทางนี้มองว่าด้านหนึ่งเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอัศจรรย์จริง ๆ และมีคุณค่ามากด้วย
แนวทางนี้ถือว่าเป็นไปไม่ได้ที่ฝูงชนมากมายจะเดินทางไกลจากเมืองต่าง ๆ โดยไม่มีอาหารติดตัวมาด้วย แต่สาเหตุที่ทำให้พวกเขาหิวนั้นเป็นเพราะ “ความเห็นแก่ตัว” ไม่ยอมนำอาหารออกมากิน เกรงว่าจะต้องแบ่งปันให้ผู้อื่นจนมีไม่พอสำหรับตัวเอง
ต่อเมื่อพระเยซูเจ้าทรงนำสิ่งที่พระองค์และบรรดาศิษย์มีออกมาแบ่งปันให้ผู้อื่นนั่นแหละ พวกเขาจึงเริ่มแบ่งปันกันบ้าง และกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็อิ่มหนำและมีอาหารเหลืออีกด้วย
และหากแนวทางนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อัศจรรย์นี้ก็ไม่ใช่การทวีขนมปังและปลาอีกต่อไป แต่เป็นการเปลี่ยนมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวให้เป็นมนุษย์ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
เป็นอัศจรรย์แห่งการบังเกิดของความรักในหัวใจของคนตระหนี่ถี่เหนียว !
เมื่อได้สัมผัสพระเยซูเจ้า ความเห็นแก่ตัวกลายเป็นความรัก
ไม่ว่าเราจะเข้าใจอัศจรรย์นี้อย่างไร สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ “ที่ใดมีพระเยซูเจ้า ที่นั่นมีการพักผ่อนสำหรับผู้เหน็ดเหนื่อย และมีความอิ่มหนำสำหรับดวงวิญญาณที่หิวกระหาย”