อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา
(12)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบว่ายอห์นถูกจองจำ จึงเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี (13)ทรงออกจากเมืองนาซาเร็ธ มาประทับอยู่ที่เมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบ ในดินแดนเผ่าเศบูลุนและนัฟทาลี (14)ทั้งนี้ เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสไว้ทางประกาศกอิสยาห์ เป็นความจริงว่า
(15)ดินแดนเศบูลุนและนัฟทาลี
เส้นทางไปสู่ทะเล ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน
แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ
(16)ประชาชนที่จมอยู่ในความมืด
ได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่
ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนและในเงาแห่งความตาย
แสงได้ส่องขึ้นมาเหนือพวกเขาแล้ว
(17)นับแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศเทศนาว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”
(18)ขณะที่ทรงดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องสองคนคือซีโมนที่เรียกว่าเปโตรกับอันดรูว์น้องชายกำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง (19) พระองค์ตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” (20)เปโตรกับอันดรูว์ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที (21)เมื่อทรงดำเนินไปจากที่นั่น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคนคือ ยากอบบุตรของเศเบดีและยอห์นน้องชายกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือกับเศเบดีผู้บิดา พระองค์ทรงเรียกเขา (22)ทันใดนั้น เขาก็ทิ้งเรือและบิดา แล้วตามพระองค์ไป
(23)พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน
สถานที่เริ่มภารกิจ
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจด้วยการเสด็จออกจากนาซาเร็ธ บ้านเกิดเมืองนอน มาประทับที่เมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบในแคว้นกาลิลี (มธ 4:12-13)
กาลิลีตั้งอยู่ทางเหนือสุดของปาเลสไตน์ ยาวจากเหนือจรดใต้ 80 ก.ม. กว้าง 40 ก.ม. แม้พื้นที่เล็กแต่กลับมีประชากรหนาแน่นเพราะผืนดินอุดมสมบูรณ์มากกว่าภาคอื่น จนมีคำกล่าวว่า “ปลูกมะกอกพันต้นในกาลิลียังง่ายกว่าคลอดลูกคนหนึ่งในยูดาห์เสียอีก”
โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้มาก่อน บันทึกไว้ว่ากาลิลีประกอบด้วยหมู่บ้าน 204 แห่ง แต่ละแห่งมีประชากรไม่ต่ำกว่า 15,000 คน แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะมีอารมณ์ร้อน ชอบทะเลาะเบาะแว้งและก่อการจลาจลบ่อย ๆ กระนั้นก็ตาม พวกเขามีความกล้าหาญเป็นเลิศ รักเกียรติของตนเหนือผลประโยชน์อื่นใด มีความคิดริเริ่ม พร้อมรับความคิด การเปลี่ยนแปลง และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ
องค์ประกอบที่ทำให้ชาวกาลิลีมีอุปนิสัยดังกล่าว คือ
1. พวกเขาอยู่ท่ามกลางคนต่างชาติ ชื่อกาลิลีมาจาก “กาลิล” แปลว่า “วงกลม” เพราะพวกเขาถูกล้อมรอบโดยชาวต่างชาติทุกด้าน ทางทิศเหนือและตะวันออกติดกับซีเรีย ทางใต้ติดกับสะมาเรีย ส่วนทางตะวันตกติดกับฟีนิเซีย จนได้ชื่อเต็มว่า “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” (Galilee of the Gentiles) ด้วยเหตุนี้ชาวกาลิลีจึงได้สัมผัสกับความคิดและอิทธิพลใหม่ ๆ ที่ “ไม่ใช่ยิว” อยู่เสมอ
2. มีถนนสำคัญผ่านหลายเส้นทาง เส้นทางแรกคือถนนเรียบทะเลจากดามัสกัสผ่านกาลิลีเรื่อยลงไปจนถึงอียิปต์และอัฟริกา อีกเส้นหนึ่งจากฝั่งทะเลทางตะวันตกตัดผ่านพรมแดนไปบรรจบกับทางหลวง King’s Highway ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน กาลิลีจึงอยู่ในเส้นทางคมนาคมระดับโลกที่ความคิดใหม่ ๆ ผ่านไปมาไม่ขาดสาย
3. โยชูวาแบ่งดินแดนที่เป็นแคว้นกาลิลีให้แก่ตระกูลอาเชอร์ นัฟทาลี และเศบูลุนก็จริง แต่พวกเขาไม่เคยขับไล่ชนพื้นเมืองออกไปได้สำเร็จ (เทียบ ยชว 9) การผสมระหว่างเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์จึงเกิดขึ้น นอกจากนั้นในศตวรรษที่ 8 ก.ค.ศ. กองทัพอัสซีเรียได้ยึดอาณาจักรทางเหนือแล้วกวาดต้อนชาวยิวส่วนใหญ่ไปอยู่ตามหัวเมืองต่างชาติ พร้อมกับนำคนต่างชาติเข้ามาอาศัยแทนที่ชาวยิว สายเลือดต่างชาติจึงถูกสูบฉีดเข้าสู่กาลิลีอย่างท่วมท้น
จากศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 2 ก.ค.ศ. กาลิลีตกอยู่ใต้เงื้อมมือของชนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ เมื่อชาวยิวกลับจากถิ่นเนรเทศในสมัยของประกาศกเนหะมีย์และเอสรา ชาวกาลิลีจำนวนมากได้อพยพลงใต้มาอาศัยที่กรุงเยรูซาเล็ม ต่อมาในปี 164 ก.ค.ศ. ซีโมน มัคคาบีได้ยกทัพขับไล่ชาวซีเรียออกจากกาลิลีแล้วพาชาวยิวที่หลงเหลือกลับมากรุงเยรูซาเล็ม ที่สุดในปี 104 ก.ค.ศ. อริสโตบูลุสสามารถยึดกาลิลีกลับมาเป็นของชาวยิวอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับบังคับทุกคนให้เข้าสุหนัตเป็นยิวไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
สภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ชาวกาลิลีเปิดประตูรับสายเลือดพันธุ์ใหม่ ความคิดและอิทธิพลใหม่ ๆ สมดังคำของประกาศกอิสยาห์ที่กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ว่า
“ดินแดนเศบูลุน และนัฟทาลี
เส้นทางไปสู่ทะเล ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน
แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” (มธ 4:15)
กาลิลีจึงเป็นดินแดนที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า !
ทรงประกาศข่าวดี
ที่เมืองคาเปอรนาอุมในแคว้นกาลิลี “พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศเทศนาว่า ‘จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว’” (มธ 4:17)
เมื่อได้ยินคำ “ประกาศเทศนา” หลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ชาวกรีกกลับฟังคำนี้ด้วยความตื่นเต้นเพราะ kērux (เครุกซ์) คือ “คนนำพระราชสาสน์” และคำกริยา kērussein (เครุสเซน) คือการ “ประกาศสารของพระมหากษัตริย์”
คำ “เครุสเซน” จึงบ่งบอกลักษณะการสอนของพระเยซูเจ้าที่เราพึงเลียนแบบอย่างได้ชัดเจนกว่า กล่าวคือ
1. สอนด้วยความ “แน่ใจ” เนื่องจากสิ่งที่สอนเป็นพระราชสาสน์ของกษัตริย์ จึงต้องไม่มีที่ว่างสำหรับคำว่า “อาจจะ” หรือ “บางที” เช่นเดียวกัน เราต้องแน่ใจสิ่งที่สอนเพราะเราไม่มีทางทำให้ผู้อื่นแน่ใจในสิ่งที่เราสงสัยได้เลย
2. สอนอย่าง “ผู้มีอำนาจ” เพราะกำลังพูดในพระนามของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งเนื้อหาก็เป็นพระบัญชาหรือพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์ เราจึงต้องไม่พูดอ้อมแอ้ม อ้อมค้อม หรือคลุมเครือ
3. สอนคำสอนของ “พระเจ้า” เพราะว่าพระราชสาสน์มีที่มาจากพระมหากษัตริย์ฉันใด เนื้อหาคำสอนของศาสนาคริสต์ก็มีที่มาจากพระเยซูคริสตเจ้าฉันนั้น เราจึงต้องสอนคำสอนของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ความคิดเห็นของตนเอง
‘จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว’ นี่เป็นทั้งข่าวดีและภารกิจที่จำเป็นและเร่งด่วนที่สุด เพราะอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มต้นแล้ว ชีวิตนิรันดรเข้ามาสู่โลกแล้ว หากพูดแบบคอหนังก็ต้องบอกว่า “พระเจ้าบุกโลก” แล้ว
ในเมื่อพระเจ้าทรงบุกโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดที่เราจะต้องตัดสินใจให้ถูกต้องว่าจะหันกลับมาหาพระเจ้าหรือดึงดันอยู่ฝ่ายเดียวกับโลก !
ชาวประมงหามนุษย์
ทะเลสาบกาลิลีมีขนาดเล็ก ยาวจากเหนือจรดใต้ 21 ก.ม. กว้าง 13 ก.ม. อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 200 เมตร ภูมิอากาศโดยรอบจึงอบอุ่นและอุดมสมบูรณ์ มีอย่างน้อยเก้าเมืองตั้งอยู่ริมทะเลสาบ แต่ทุกวันนี้เหลือตีเบรีอัสเพียงเมืองเดียวที่ยังคงอยู่และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในสมัยพระเยซูเจ้า มีเรือประมงจำนวนมาก โยเซฟุสเล่าว่าเฉพาะที่ตารีเคอาเมืองเดียวก็มีมากถึง 240 ลำแล้ว
วิธีจับปลาของชาวกาลิลีมี 3 แบบคือใช้เบ็ด แห หรืออวนลาก ทั้งเปโตร อันดรูว์ ยากอบและยอห์นต่างใช้แหจับปลาขณะที่พระเยซูเจ้าตรัสเรียกพวกเขา
ชาวประมงไม่ถึงกับยากจนก็จริง แต่ด้อยการศึกษา ไม่มีสถานภาพในสังคม ขาดอิทธิพลและความมั่งคั่ง อนาคตของพวกเขาจึงไม่น่าจะไปได้ไกลนัก
อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงเรียกพวกเขา เพราะพวกเขาพร้อมจะลาจากบิดา ทิ้งเรือ ทิ้งแห ทิ้งอาชีพ แล้วถวายตัวติดตามพระองค์
นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า คุณสมบัติที่จำเป็นของชาวประมงซึ่งส่งผลให้เป็น “ชาวประมงหามนุษย์” ที่ดีคือ
1. อดทน ชาวประมงต้องรอปลากินเหยื่อด้วยความอดทน หากย้ายที่บ่อยย่อมเป็นชาวประมงที่ดีไม่ได้ เช่นเดียวกัน เราต้องรู้จักรอและอดทนเพราะยากที่ข่าวดีจะบังเกิดผลโดยเร็ว
2. พากเพียร ไม่ท้อถอยหรือละทิ้งความพยายามแม้ดูเหมือนจะไม่เกิดผลอะไรก็ตาม
3. กล้าหาญ ชาวประมงต้องกล้าเสี่ยงแล่นเรือออกไปในทะเลลึกจึงจะได้ปลา เราก็ต้องกล้าประกาศข่าวดีแม้จะรู้ถึงอันตรายอันอาจเกิดจากการพูดความจริงก็ตาม
4. รู้จังหวะ ว่าเมื่อไรควรกลับเข้าฝั่ง เมื่อไรควรหรือไม่ควรเหวี่ยงแห ผู้ประกาศข่าวดีย่อมต้องรู้จังหวะจะโคนเช่นกันว่าเมื่อใดควรพูดหรือเมื่อใดควรเงียบ
5. รู้จักเลือกเหยื่อ ให้เหมาะกับปลาแต่ละชนิด ผู้ประกาศข่าวดีหรือครูคำสอนก็ต้องรู้จักใช้วิธีการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
6. ซ่อนตัว แม้แต่เงาก็ต้องไม่ให้ปลาเห็น มิฉะนั้นปลาจะหนีไปหมด ผู้ประกาศข่าวดีจึงต้องซ่อนตัวและนำเสนอพระเยซูเจ้า ไม่ใช่เสนอหน้าตัวเองให้แก่มวลมนุษย์
วิธีการของพระเยซูเจ้า
“พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน” (มธ 4:23)
พระองค์ทรงเลือกแคว้นกาลิลีเพราะประชาชนพร้อมที่จะรับข่าวดี และในกาลิลีนี้เองพระองค์ทรงเลือก “ศาลาธรรม” เป็นสถานที่ประกาศข่าวดี
วิหารของชาวยิวมีเพียงแห่งเดียวที่กรุงเยรูซาเล็มและใช้เพื่อการถวายบูชาเท่านั้น ส่วนศาลาธรรมพบได้ทุกแห่งที่มีชาวยิวชุมนุมกันสิบครอบครัวขึ้นไป เป็นศูนย์กลางชีวิตและเป็นเสมือน “มหาวิทยาลัยศาสนา” ที่แพร่หลายที่สุดของชาวยิว
กิจกรรมในศาลาธรรมมี 3 ส่วนคือ การสวดภาวนา การอ่านพระคัมภีร์ และการปราศรัยต่อที่ประชุม
เนื่องจากไม่มีนักเทศน์อาชีพ หัวหน้าศาลาธรรมจึงมีหน้าที่เชิญสมาชิกหรือแขกผู้มีชื่อเสียง รวมถึงพิจารณาอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการแบ่งปันพระวาจา ขึ้นกล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุม หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ที่ประชุมซักถามปัญหา และสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
ศาลาธรรมจึงเป็นแหล่งรวมของคนที่มีศาสนาอยู่ในหัวใจ และพระเยซูเจ้าทรงเลือกพวกเขาสำหรับรับข่าวดีของพระองค์
นอกจากทรงสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรสวรรค์แล้ว พระองค์ยังทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชนอีกด้วย
มัทธิวบทที่ 4 ข้อ 23 ได้จำแนกกิจกรรมสำคัญของพระเยซูเจ้าไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ
1. ทรงประกาศข่าวดี ด้วย “ความแน่ใจ” และ “อย่างผู้มีอำนาจ” พระองค์ทรงทำให้ความไม่รู้ ความโง่เขลา หรือการคาดเดาของเราหมดสิ้นไป ต่อจากนี้เรารู้ความจริงด้วยความแน่ใจว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร ทรงดีงามและน่ารักสักเพียงใด
2. ทรงสอน การประกาศข่าวดีทำให้เรารู้ความจริงด้วยความแน่ใจ ส่วนการสอนช่วยอธิบายความหมายและความสำคัญของความจริงนั้น หลายครั้งเรารู้ความจริงแต่เข้าใจผิดและลงเอยด้วยข้อสรุปผิด ๆ แต่พระองค์ทรงสอนให้เรารู้ความหมายแท้จริงของศาสนา
3. ทรงรักษา พระองค์ไม่เพียงบอกความจริงแก่มนุษย์ด้วย “คำพูด” เท่านั้น แต่ทรงเปลี่ยนความจริงให้เป็น “การกระทำ” ด้วย
หากเราไม่ประกาศข่าวดีให้แน่ใจ ไม่อธิบายความจริงให้ถ่องแท้ และไม่เปลี่ยนความจริงให้เป็นการกระทำ เรากำลังเดินคนละทางกับพระเยซูเจ้า... !!