แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต


ข่าวดี    มัทธิว 4:1-11

(1)เวลานั้น พระจิตเจ้าทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ปีศาจมาผจญพระองค์ (2)เมื่อทรงอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว ทรงหิว  (3)ปีศาจผู้ผจญจึงเข้ามาใกล้  ทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังเถิด” (4) แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (5) ต่อจากนั้น ปีศาจอุ้มพระองค์ไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า (6) “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงกระโดดลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าทรงสั่งทูตสวรรค์เกี่ยวกับท่าน ให้คอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน” (7) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ในพระคัมภีร์ยังมีเขียนไว้ด้วยว่า อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย” (8) อีกครั้งหนึ่งปีศาจนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูงมาก ชี้ให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก (9) แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” (10) พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น ยังมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” (11)ปีศาจจึงได้ละพระองค์ไป แล้วทูตสวรรค์ก็เข้ามาปรนนิบัติรับใช้พระองค์

*******************************


มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการถูกทดลองของพระเยซูเจ้าดังนี้
1.    คำกรีก peirazein (เปยราเซน) มีความหมายว่า “ทดลอง” หรือ “ทดสอบ” มากกว่าจะแปลว่า “ผจญ, ประจญ, หรือ ล่อลวง” ซึ่งส่อไปในทางชักชวนผู้อื่นให้ทำผิด  หากเราแปลคำ peirazein ในหนังสือปฐมกาลบทที่ 22 ข้อ 1 เป็น “ผจญ” ก็จะได้ความว่าพระเจ้าทรงผจญอับราฮัมให้ถวายอิสอัคบุตรชายเป็นเครื่องเผาบูชา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะชักชวนอับราฮัมให้ทำผิด
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงควรเปลี่ยนความคิดจากสิ่งที่เคยเรียกว่า “การผจญ” แล้วมักลงเอยด้วยความพ่ายแพ้หรือบาปเสียใหม่ !
หากจะส่งนักบินสู่อวกาศ เราจะไม่ทดลองแล้วทดลองอีกจนแน่ใจว่านักบินผู้นั้นมีความสามารถและเหมาะสมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ดอกหรือ  เช่นเดียวกัน พระเจ้าทรงประทานการ “ทดลอง” แก่ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรร ไม่ใช่เพื่อให้ตกในบาป แต่เพื่อให้เราชนะบาป จะได้เข้มแข็ง บริสุทธิ์ และเหมาะสมกับภารกิจที่จะทรงมอบหมายให้มากขึ้น
การทดลองจึงไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรือน่าอับอายที่จะต้องปกปิดกันอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนจะต้องสอบให้ผ่านและเอาชนะให้จงได้
2.    ถิ่นทุรกันดารตั้งอยู่ระหว่างกรุงเยรูซาเล็มซึ่งอยู่บนที่ราบสูงตอนกลางของประเทศกับทะเลตายซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล มีเนื้อที่ประมาณ 1,300 ตารางกิโลเมตร ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เลย
พระองค์เสด็จไปในดินแดนที่ไร้ผู้คนเพราะทรงประสงค์จะ “อยู่ตามลำพัง” เพื่อพิจารณาหาวิธีการทำให้ภารกิจที่พระบิดาทรงมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป
น่าเสียดายที่หลายครั้งเราดำเนินชีวิตหรือประกอบธุรกิจผิดพลาดไปเพียงเพราะเราไม่ “อยู่ตามลำพัง”
ในชีวิตนี้ มีบางสิ่งที่เราต้องทำเองตามลำพัง  มีบางครั้งที่คำแนะนำของใคร ๆ ก็ไม่อาจช่วยเราได้  เราต้องรู้จัก “หยุดทำ” และ “เริ่มคิด” บ้าง
อย่าให้เราผิดพลาดเพียงเพราะไม่มีโอกาสอยู่ตามลำพังกับพระเจ้า !
3.    พระวรสารสามฉบับเน้นเหมือนกันว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองทันทีหลังรับพิธีล้างจากยอห์น โดยเฉพาะมาระโกระบุชัดเจนว่า “ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” (มก 1:12)
เป็นความจริงว่าเมื่อเราขึ้นสู่จุดสูงสุดหรือผ่านเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ในทางที่เป็นภัยมากกว่าเป็นคุณ  เหมือนดอกไม้ไฟที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดและสว่างไสวที่สุดแล้ว ก็จะดับมืดและร่วงตกลงมาสู่พื้น
พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน พระองค์พึ่งจะได้รับเกียรติสูงสุด โดยพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในรูปของนกพิราบทรงรับรองพระองค์เป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระบิดา  และทันทีเป็นพระจิตเจ้าอีกเช่นกันที่ทรงนำพระองค์สู่การทดลองในถิ่นทุรกันดาร
เราจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเมื่อประสบความสำเร็จหรือขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต !
4.    การทดลองของพระเยซูเจ้าไม่ใช่ประสบการณ์ภายนอก แต่เป็นการดิ้นรนต่อสู้ภายในจิตใจและวิญญาณของพระองค์เอง เหตุผลคือในโลกนี้ไม่มี “ยอดเขาสูงมาก” จนพระองค์สามารถ “ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก” ได้ทั้งหมด (มธ 4:8)
แสดงว่า “ปีศาจโจมตีจากภายในจิตใจของเรา”  มันสามารถเจาะแนวป้องกันของเราเข้ามาได้  และที่ร้ายกาจสุด ๆ คือมันมี “ความคิดและความปรารถนา” ของเราเองเป็นพันธมิตรและเป็นอาวุธของมัน
อาจกล่าวได้ว่า สมุนเอกของปีศาจคือความคิดและความปรารถนาของตัวเรานั่นเอง !
5.    อย่าคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองเพียงครั้งเดียวในชีวิต  ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เป็นเปโตรศิษย์รักนั่นเองที่ล่อลวงพระองค์ให้เลือกหนทางอื่นที่ง่ายกว่าหนทางของไม้กางเขน จนพระองค์ต้องดุว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มธ 16:21-23)
เมื่อใกล้วาระสุดท้าย พระองค์ทรงกล่าวกับพวกศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ยืนหยัดอยู่กับเราในการทดลองที่เราได้รับ” (ลก 22:28)
และที่หนักสุดคือในสวนเกทเสมนี เมื่อพระองค์ทรงภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” (ลก 22:39-46)
เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงต้อง “เฝ้าระวังตลอดชีวิต”  ไม่ใช่หลงผิดตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญตบะหรือทำการใด ๆ เพื่อให้บรรลุขั้นที่เรียกว่า “ปลอดการทดลอง”  เพราะพระเยซูเจ้าเองก็ไม่เคยและไม่พยายามด้วยที่จะบรรลุถึงขั้นนี้
6.    ปีศาจรู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงมีฤทธิ์อำนาจพิเศษ และที่สำคัญพระองค์ก็ทรงทราบด้วยเช่นกัน  การทดลองที่เกิดขึ้นจึงเกี่ยวข้องกับฤทธิ์อำนาจหรือพรสวรรค์ของพระองค์เอง
แม้เราไม่มีฤทธิ์อำนาจพอที่จะทำให้ถูกทดลองกระโดดจากที่สูงหรือเปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปังเหมือนพระองค์  แต่เราต้อง “ระมัดระวังการใช้พรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษที่เรามี”  จงอย่าใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ความสวยงามหลอกลวงผู้อื่น หรือใช้วาทศิลป์เปลี่ยนขาวให้เป็นดำหรือดำให้เป็นขาว เป็นต้น
7.    เนื่องจากพระเยซูเจ้าทรงอยู่ตามลำพังในถิ่นทุรกันดาร ผู้ที่เล่าเรื่องนี้จึงเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากพระองค์เอง  เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตภายในที่พระองค์ทรงเผยให้เราทราบ
และเพราะทรงถูกทดลองมาก่อน พระองค์จึงทรงรู้ เข้าใจ และสามารถช่วยเราให้ชนะการทดลองต่าง ๆ ได้ 
ขอย้ำว่ามี “พระองค์แต่เพียงผู้เดียว” ที่สามารถช่วยเหลือเราได้ !!!

ความหมายของการทดลองแต่ละเรื่อง เป็นดังนี้
1.    “จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังเถิด” (มธ 4:3)
เนื่องจากถิ่นทุรกันดารอยู่ใกล้ทะเลตายซึ่งเค็มจัด จึงมีก้อนหินปูนเล็ก ๆ สีขาวคล้ายขนมปังเกลื่อนอยู่บนผืนทราย แลดูยั่วยวนน่ากินอยู่แล้ว
เมื่อปีศาจขอให้พระเยซูเจ้าเปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปัง มันกำลังทดลองพระองค์ 2 เด้งเลยทีเดียว
เด้งแรก มันหลอกให้พระองค์ใช้ฤทธิ์อำนาจอย่างเห็นแก่ตัว  มนุษย์อย่างเราต้องทำงานหนักกว่าจะได้ขนมปังสักก้อน แต่พระองค์เสกนิดเดียวก็ได้ขนมปังเยอะแยะ อย่างนี้เอาเปรียบคนอื่นชัด ๆ
เด้งที่สอง นอกจากหลอกให้พระองค์ใช้ฤทธิ์อำนาจอย่างเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย นั่นคือเพื่อดับความหิวของพระองค์หลังจำศีลอดอาหารมานาน ไม่ใช่เพื่อดับความหิวของผู้อื่น
แต่พระองค์ไม่ทรงหลงกลของปีศาจ
หลายครั้งเราเดินสวนทางกับพระองค์ เราใช้พรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานแก่เราอย่างเห็นแก่ตัว  เช่นคนที่มีน้ำเสียงดีก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้เสียงร้องเพลงหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเดียว โดยไม่คิดจะใช้เสียงนั้นนำคนอื่นมาหาพระเจ้าหรือให้ความบรรเทาใจแก่ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
นอกจากจะไม่ใช้ฤทธิ์อำนาจอย่างเห็นแก่ตัวแล้ว พระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ยังทรงคำนึงถึง “วิธีการ” ที่จะนำมนุษย์กลับมาหาพระเจ้าอีกด้วย
การชักชวนฝูงชนให้ติดตามพระองค์โดยการแจกขนมปังหรือวัตถุสิ่งของย่อมได้ผลอย่างแน่นอน  ในอดีตพระเจ้าทรงประทานมานนาเป็นอาหารเลี้ยงชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร  ยิ่งไปกว่านั้นประกาศกอิสยาห์ยังทำนายว่าพวกเขาจะไม่หิวและกระหายอีก (อสย 49:10)  ถ้าพระองค์จะใช้วิธีการเดียวกันบ้าง ย่อมมีเหตุผลรองรับเกินพอ
แต่พระองค์ “ไม่เลือก” วิธีการ “ประชานิยม” ที่ปีศาจเสนอมาด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ
1.1    เป็นการติดสินบนมนุษย์ให้ติดตามพระองค์ ซึ่งขัดกับวิถีทางของพระองค์ที่ทรงสอนมนุษย์ให้ดำเนินชีวิตด้วยการ “ให้” ไม่ใช่ด้วยการ “รับ”
1.2    เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  การแจกขนมปังแก่ผู้หิวโหยเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น  แต่พระองค์ทรงปรารถนาแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ”
“ทำไมพวกเขาจึงหิว ?”  อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้จักทำมาหากิน ไม่ใส่ใจ หรือไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานที่หรือวิธีทำมาหากิน ฯลฯ  แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า “ความเห็นแก่ตัว” ของคนที่ครอบครองทรัพยากรและสมบัติมากเกินไปโดยไม่ช่วยเหลือผู้อื่นที่มีน้อยเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญด้วย
ต้นตอของปัญหาจึงอยู่ที่จิตใจและวิญญาณของมนุษย์  ถ้าจิตใจของมนุษย์ดี มีความรัก รู้จักแบ่งปันกัน ความหิวโหยอดอยากย่อมหมดไป  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตอบปีศาจว่า “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (ฉธบ 8:3)
สำหรับพระองค์แล้ว ลำพังวัตถุสิ่งของไม่อาจทำให้มนุษย์มีชีวิตอย่างแท้จริงได้เลย !
จริงอยู่พระศาสนจักรจำเป็นต้องส่งเสริมและผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้มนุษย์มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการพัฒนา “ชีวิตวิญญาณ” ของมนุษย์  เหตุว่าเมื่อเขามี “ชีวิตใหม่” แล้ว สภาพความเป็นอยู่ใหม่ที่ดีขึ้นก็จะติดตามมาด้วย
2.    “จงกระโดดลงไปเบื้องล่างเถิด” (มธ 4:6)
หากรู้ว่าผู้ใดมีอิทธิฤทธิ์ ไล่ผีได้ ใบ้หวยแม่น  หรือที่ไหนมีของแปลกประหลาดซึ่งอันที่จริงควรเรียกว่าผิดปกติมากกว่า เช่น หมูสองหัว ต้นไม้ประหลาด ฯลฯ  แน่นอนว่าผู้คนต้องพากันไปดูและสักการะเนืองแน่นไปหมด
ทุกครั้งที่เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ไม่ว่าจะแนวบู๊หรือแนวบุ๋นก็ตาม เรามักรู้สึกตื่นเต้น เกรงขาม ศรัทธา และส่วนใหญ่มักเชื่อหัวชนฝา
ถ้าพระองค์แสดงอภินิหารด้วยการกระโดดจากยอดพระวิหารลงมาโดยไม่เป็นอันตราย  รับรองว่าประชาชนต้องตื่นเต้น ศรัทธา เชื่อ และพร้อมจะติดตาม “ผู้วิเศษ” อย่างพระองค์แน่นอน
การอวดอ้างอภินิหารเป็นวิธีการที่พระคริสต์เทียมนิยมใช้กันมาก อย่างเช่น เธวดัสได้โอ้อวดกับประชาชนว่าแค่เอ่ยปากคำเดียว เขาก็สามารถแยกน้ำในแม่น้ำจอร์แดนออกเป็นสองฝั่งได้  หรือชาวอียิปต์ที่ก่อการกบฏ (กจ 21:38) ก็อ้างว่าพวกเขาสามารถสั่งให้กำแพงกรุงเยรูซาเล็มพังทลายลงได้เช่นกัน  แต่ที่น่าเศร้าก็คือกรณีของซีโมน มากุสที่คุยว่าเหาะได้ แต่ดันพลาดตกลงมาตายในที่สุด
แม้ประชาชนจะชื่นชอบ แต่พระเยซูเจ้า “ไม่เลือก” วิธีนี้เด็ดขาดเพราะว่า
2.1    ไม่มีอนาคต  หากพระองค์กระโดดจากที่สูงได้ 3-4 ครั้ง ประชาชนก็จะเริ่มชินชาและ “หมดอารมณ์” ที่จะตื่นเต้นอีกแล้ว
แล้วศาสนาเที่ยงแท้จะอิงอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกชั่วครั้งชั่วคราวของมนุษย์ได้อย่างไรกัน ?
2.2    เป็นการไม่วางใจพระเจ้า  เพราะการกระโดดจากที่สูงเป็นการจงใจปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในอันตรายเพื่อ “ทดลอง” พระเจ้าว่าจะมีฤทธิ์อำนาจจริงหรือเปล่า จะรักและช่วยเหลือเราจริงหรือไม่ ?
พระองค์จึงตรัสว่า “อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย” (ฉธบ 6:16)
ผู้ที่เรียกร้องต้องการเห็นอัศจรรย์ก่อนจึงจะยอมเชื่อ ย่อมไม่ใช่ผู้มีความเชื่ออย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงคนขี้สงสัยที่ต้องการข้อพิสูจน์เท่านั้น 
อย่าลืมว่าฤทธิ์อำนาจในการช่วยเหลือของพระเจ้าไม่ได้มีไว้ให้เราทดลองหรือพิสูจน์ แต่มีไว้เพื่อให้เรา “วางใจ” ในพระองค์
3.    “ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” (มธ 4:9)
เหนือที่สูงที่สามารถมองเห็นอาณาจักรต่าง ๆ ทั่วโลก ปีศาจทูลพระเยซูเจ้าทำนองนี้ว่า “ประชาชนในอาณาจักรต่าง ๆ ที่เห็นล้วนตกอยู่ในกำมือของข้าพเจ้า เรามาตกลงประนีประนอมกันดีกว่า ถ้าพระองค์ยอมลดมาตรฐานลงมาสักหน่อย อย่าให้สูงมากนัก  เมื่อเห็นความผิดบกพร่องก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียบ้าง ข้าพเจ้าก็จะมอบประชาชนเหล่านี้ให้ติดตามพระองค์”
เพลงสดุดีก็กล่าวไว้มิใช่หรือว่า “จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของท่าน จะให้ท่านมีกรรมสิทธิ์จนสุดปลายแผ่นดิน” (สดด 2:8)
หากพระองค์ยอมก้มกราบปีศาจหรือประนีประนอมกับมันนิดเดียว พระองค์ก็จะได้ “มนุษย์ทั้งโลก” มาเป็นกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องออกแรงแบกไม้กางเขนให้เหนื่อยยากแต่ประการใด !!
แต่พระองค์ตรัสตอบปีศาจว่า “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” (ฉธบ 6:13)
คำว่า “ผู้เดียวเท่านั้น” แปลว่า “ไม่มีผู้อื่น”  ซึ่งหมายความว่าพระเจ้าต้องเป็นพระเจ้าวันยังค่ำ ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด จะเลี่ยงเป็นอื่นไปไม่ได้เด็ดขาด
หลักการของพระองค์คือ “ต้องไม่มีการประนีประนอมกับโลก”  เราต้องไม่ลดมาตรฐานด้านศีลธรรมของเราไปหาโลก แต่ต้องพยายามยกระดับมาตรฐานของโลกมาสู่มาตรฐานของพระองค์
ทุกวันนี้ เรามีแนวโน้มที่จะมองสิ่งต่าง ๆ เป็น “สีเทา” ไปหมด  อะไร ๆ ก็หยวนหรือยอมรับได้ไปก่อนแล้วค่อยสอยลงมาทีหลัง
นับจากนี้ไป เราต้องดำเนินชีวิตให้ขาวบริสุทธิ์เจิดจ้า แล้วลบสีดำในชีวิตออกไปให้หมดจด

ในถิ่นทุรกันดาร พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดว่าจะไม่ติดสินบนมนุษย์ จะไม่ใช้วิธีการตื่นเต้นโลดโผน และจะไม่ประนีประนอมคำสอนของพระองค์กับโลกเพื่อชักจูงโลกให้หันมาติดตามพระองค์
สำหรับพระองค์ หนทางเดียวที่จะนำเรากลับไปหาพระบิดาได้คือหนทางของ “กางเขน” !!
หนทางอื่น ไม่ต้องพูดถึง...