แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี  มาระโก 7:31-37
    (31)พระองค์เสด็จออกจากเขตเมืองไทระผ่านเมืองไซดอน ไปยังทะเลสาบกาลิลีกลางดินแดนทศบุรี   (32)มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงปกพระหัตถ์  (33)พระองค์ทรงแยกคนใบ้หูหนวกคนนั้นไปจากกลุ่มชน ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ยอนหูของเขา ทรงใช้พระเขฬะแตะลิ้นของเขา  (34)ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน ถอนพระทัย แล้วตรัสว่า “เอฟฟาธา” แปลว่า “จงเปิดเถิด”  (35)ทันใดนั้นหูของเขากลับได้ยิน สิ่งที่ขัดลิ้นอยู่ก็หลุด เขาพูดได้ชัดเจน  (36)พระเยซูเจ้าทรงห้ามประชาชนเหล่านั้นมิให้พูดเรื่องนี้กับผู้ใด แต่ยิ่งห้าม ก็ยิ่งเล่าลือกันมากขึ้น  (37)ต่างก็ประหลาดใจมาก กล่าวว่า “คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น เขาทำให้คนหูหนวกกลับได้ยิน และคนใบ้กลับพูดได้”



    “พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากเขตเมืองไทระ ผ่านทางเมืองไซดอน ดำเนินไปยังทะเลสาบกาลิลี” (ข้อ 31) เส้นทางนี้ถือว่าผิดปกติมาก เพราะหากเทียบตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทยแล้ว คงต้องบอกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จออกจากกรุงเทพฯ (เทียบได้กับที่ตั้งของเมืองไทระ) เพื่อไปยังภูเก็ต (เทียบได้กับที่ตั้งของทะเลสาบกาลิลี) โดยผ่านทางเชียงใหม่ (เทียบได้กับที่ตั้งของเมืองไซดอน)
    บางคนจึงอธิบายว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของผู้คัดลอกที่หลงเพิ่ม “เมืองไซดอน” เข้าไปในต้นฉบับโดยบังเอิญ  แต่เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของต้นฉบับแล้ว เป็นที่แน่ชัดว่ามาระโกเขียนไว้เช่นนี้จริง
ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเลือกเส้นทางขึ้นเหนือก่อนลงใต้เช่นนี้ ย่อมทำให้พระองค์มีเวลาอยู่ตามลำพังกับบรรดาอัครสาวกยาวนานมากขึ้นอย่างน้อยก็ 8 เดือน เพื่ออบรมสั่งสอนพวกเขาเป็นพิเศษ จนกระทั่งเปโตรสามารถค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่ในพระวรสารบทถัดไปว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (มก 8:29)
    เมื่อกลับมาถึงแคว้นกาลิลี พระองค์ทรงเสด็จต่อไปยังดินแดนทศบุรี  ที่นั่น มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์
    ปกติคนหูหนวกมักมีปัญหาเรื่องการพูด เพราะเมื่อฟังไม่ได้ยินก็พลอยหมดโอกาสที่จะเรียนรู้การออกเสียงไปด้วย
    วิธีการที่พระองค์รักษาคนใบ้หูหนวกครั้งนี้ ทำให้เราเห็น “ความละเอียดอ่อนและน่ารักอย่างยิ่งของพระเยซูเจ้าที่ทรงปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้ต่ำต้อยเช่นเรา”
1.    “พระองค์ทรงแยกคนใบ้หูหนวกคนนั้นไปจากกลุ่มชน”  (ข้อ 33)
     โดยทั่วไปคนหูหนวกมักมีความวิตกกังวลมากกว่าคนตาบอด จนบางคนคิดว่า “ตาบอดดีกว่าหูหนวก” เพราะถ้ามองไม่เห็นก็ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก  ผิดกับคนที่มองเห็นแต่ไม่ได้ยิน จึงมีเรื่องให้ต้องคิดและคาดเดามากมาย
    เปรียบได้กับเราเห็นเพื่อนร่วมงานนั่งซุบซิบกัน  เราคงอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขากำลังพูดถึงเราหรือเปล่า และถ้าพูดถึงเราเป็นเรื่องดีหรือว่ากำลังนินทาว่าร้ายเราอยู่ ฯลฯ  หลายคนต้องพกพาความเครียดกลับบ้านก็เพราะ “เห็นแต่ไม่ได้ยิน” นี่เอง
    แน่นอนว่าคนใบ้หูหนวกคนนั้นมองเห็นฝูงชนที่มามุงดูกัน  บางคนมาเพียงเพราะอยากรู้อยากเห็นเหมือน “ยิวมุง” ทั่วไป  แต่บางคนมาเพื่อเอาใจช่วยเขาและกำลังตะโกนเชียร์ด้วยท่าทางแตกต่างกันไป
    เขาเห็นคนตะโกนแต่ไม่รู้และไม่เข้าใจ  จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความสับสน !
    หากพระเยซูเจ้าทรงรักษาเขาท่ามกลางฝูงชน  จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาฟังได้ยินเป็นครั้งแรก ???
    คน ๆ หนึ่งซึ่งไม่เคยรู้ว่า “เสียง” คืออะไร อีกทั้งจิตใจก็กำลังสับสน  อยู่ ๆ เสียงฝูงชนมากมายประเดประดังเข้ามาเต็มสองรูหู…..
    หากไม่ตกใจตายไปก่อน ก็นับว่าบุญมากแล้ว !
    แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะ “พระเยซูเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนยิ่งของมนุษย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักหน่วงอย่างเช่นคนใบ้หูหนวกผู้นี้ ด้วยการพาเขาแยกออกจากฝูงชนก่อนทำการรักษา
2.    “ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ยอนหูของเขา ทรงใช้พระเขฬะแตะลิ้นของเขา...ตรัสว่า ‘จงเปิดเถิด’” (ข้อ 33-34)
    การรักษาของพระเยซูเจ้าครั้งนี้เปรียบได้กับ “ละครใบ้”  คือผู้ชม “เข้าใจได้” โดยไม่ต้องอาศัยบทสนทนาหรือผู้บรรยาย
    คนหูหนวกเปรียบได้กับคนหูตัน  เมื่อหูตันก็ต้องยอนหูให้หายตัน  คนไข้เห็นพระเยซูเจ้ายอนหูก็รู้ว่า “พระองค์รักษาหูแล้ว”
    พระเขฬะหรือน้ำลายมีคุณสมบัติในการรักษาโรค  แม้ทุกวันนี้เมื่อนิ้วเป็นแผลหรือถูกไฟลวก เราจะเอานิ้วใส่ปากอมเพื่อให้สัมผัสน้ำลาย  หรือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บก็จะกลับไป “นอนเลียแผล” เป็นต้น
    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงใช้น้ำลายแตะลิ้นของคนใบ้  เขารับรู้ได้ทันทีว่าพระองค์กำลัง “ทายา” และกำลังทำให้ “สิ่งที่ขัดลิ้นอยู่” หลุดไป
    หรือคำพูดว่า “เอฟฟาธา – จงเปิดเถิด” ก็มีความหมายชัดเจนในตัว  ทุกคนสามารถเข้าใจได้  ไม่มีการใช้ถ้อยคำแปลกประหลาดอย่างเช่น “โอม ขยุกขยุย...” เพื่อให้เห็นว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวทมนตร์ หรือคาถาอาคมตามหลักไสยศาสตร์
    เรียกว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อรักษาเขา  เขาเข้าใจได้ทั้งหมด !
ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรง “เอาพระทัยใส่ความรู้สึก” ของคนใบ้หูหนวก และทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ “เขาสามารถเข้าใจได้” เช่นนี้  เราคงต้องฟันธงด้วยภาษาของนักบริหารสมัยใหม่ว่า
พระองค์ทรง “แคร์ลูกค้า”
พระองค์ทรงเอา “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” (Customer Centered)
ที่สำคัญคือพระองค์ไม่ได้มองคนใบ้หูหนวกเป็น “ปัญหา” หรือ “กรณี” หนึ่งที่ต้องแก้ไข แต่ทรงมองเขาเป็น “คน” คนหนึ่งที่จะต้องเอาใจใส่
ดังนี้แล้ว ผู้ที่เดินตามหนทางของพระองค์จะ “ล้าสมัย” หรือจะล้มเหลวทางธุรกิจได้อย่างไรกัน ??!!

     นอกจากจะเป็นสุดยอดนักบริหารแล้ว ก่อนตรัสว่า “เอฟฟาธา – จงเปิดเถิด” พระองค์ทรง “เงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน” (ข้อ 34)
    อากัปกิริยาเช่นนี้แปลเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากพระองค์ต้องการสื่อให้คนใบ้หูหนวกทราบว่าความช่วยเหลือนี้มาจากพระบิดาเจ้าบนสวรรค์
เกียรติยศนี้เป็นของพระบิดา และพระองค์จะไม่มีวัน “ฉกฉวยโอกาส” หรือพยายาม “แสวงหาเกียรติยศใสตนเอง” เป็นอันขาด !!!

ท้ายที่สุด ประชาชนพากันประหลาดใจ กล่าวว่า “คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น” (ข้อ 37)
หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ครั้งเนรมิตสร้างโลก เราจะพบคำพูดว่า “พระเป็นเจ้าทรงทอดพระเนตรทุกสิ่งที่ทรงสร้าง และเห็นว่าดี" (ปฐก 1:31)
นั่นคือบทสรุปของ “การสร้างครั้งแรก”
ใช่ ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างนั้นดี แต่ต้องมัวหมองไปเพราะ “บาป”
พระเยซูเจ้าทรงเสด็จมา “สร้างโลกใหม่” ที่ “ทุกสิ่งดีทั้งนั้น”  พระองค์ทรงนำความดีและความสวยสดงดงามกลับคืนมาสู่โลกเราอีกครั้งหนึ่ง

แล้วเรายังคงดำเนินชีวิตอยู่ใน “โลกเก่า” หรือว่าก้าวไปสู่ “โลกใหม่” แล้ว ???