วันอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี มก 8:27-35
เปโตรประกาศความเชื่อ
(27)พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” (28)เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง” (29)พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (30)พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด
พระเยซูเจ้าทรงทำนายครั้งแรกถึงพระทรมาน
(31)พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมากจะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ” (32)พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน (33)แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
เงื่อนไขในการติดตามพระคริสตเจ้า
(34)พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา (35)ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้
เมืองซีซารียาแห่งฟีลิปตั้งอยู่นอกเขตแดนของชาวยิว เดิมชื่อบาลีนัส (Balinas) เพราะเป็นศูนย์กลางของการนับถือพระบาอัล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบานีอัส (Banias) หรือจะเรียกว่าพานีอัส (Panias) สลับกันก็ได้ เพราะเชื่อกันว่า “พาน” (Pan) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งธรรมชาติของกรีกถือกำเนิดจากถ้ำแห่งหนึ่งในเทือกเขาของดินแดนแห่งนี้
นอกจากนั้นยังมีถ้ำอีกแห่งหนึ่งที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งไหลพาดผ่านปาเลสไตน์ ดินแดนอันเป็นแหล่งรวมความทรงจำมากมายและยาวนานของชนชาติยิว
ที่สุด เหนือเทือกเขาสูงอีกแห่งหนึ่งยังเป็นที่ตั้งของวิหารหินอ่อน ที่กษัตริย์เฮโรดผู้พ่อและฟีลิปผู้ลูกได้ร่วมกันสร้างอย่างสวยงามวิจิตตระการตาถวายแด่เทพเจ้าซีซาร์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโรมและของโลก
ท่ามกลางดินแดนอันอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้เอง ที่เปโตรค้นพบว่า “ช่างไม้ชาวกิลิลีที่ยากจนและไร้บ้านช่องผู้หนึ่ง” ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” (ข้อ 29)
จะมีคำพูดอันใดอธิบาย “บุคลิกภาพอันโดดเด่นของพระเยซูเจ้า” ที่ทำให้เปโตรค้นพบและสารภาพความจริงอันยิ่งใหญ่ได้เท่ากับเหตุการณ์ครั้งนี้ !!!
หากสิ่งที่พระองค์ทรงสอน หากสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ และหากชีวิตจิตใจของพระองค์ไม่โดดเด่นสุดยอดจริง ๆ เปโตรจะสารภาพได้อย่างไรว่าช่างไม้จน ๆ คนนี้ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” !!!
แม้คำพูดของเปโตรจะช่วยให้พระเยซูเจ้าบรรเทาใจได้ว่าอย่างน้อยยังมีคนรับรู้ว่าพระองค์เป็น “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” แต่เพราะทรงทราบดีว่าพวกศิษย์ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” พระองค์จึง “กำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด” (ข้อ 30)
และทุกครั้งที่พระองค์ทรงห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ สาเหตุล้วนเป็นเพราะความรอบคอบ เกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิดนี่เอง
เพื่อให้เห็นความเสี่ยงและอันตรายอันเกิดจากความเข้าใจผิด จึงของสรุปแนวความคิดของชาวยิวเกี่ยวกับ “พระเมสสิยาห์” ไว้โดยสังเขปดังนี้
ตลอดประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว พวกเขาไม่เคยลืมเลยว่าตนเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงควรเป็นชาติที่มีตำแหน่งพิเศษในโลกใบนี้ นั่นคือควรเป็น “เจ้าโลก” ผู้ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองดุจดังสมัยของกษัตริย์ดาวิด
แรกเริ่มพวกเขาคิดว่าความฝันนี้จะสำเร็จได้ด้วยวิธีธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาพระเจ้า แต่ข้อเท็จจริงคือความฝันนี้ไม่เคยเป็นจริงและไม่มีทางเป็นจริงด้วย ชาวยิวสิบเผ่าถูกกวาดต้อนไปอัสซีเรียและหายสาบสูญไปชั่วนิรันดร ต่อมากรุงเยรูซาเล็มถูกตีแตกและชนเผ่ายูดาห์ก็ถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลนด้วย เมื่ออาณาจักรบาบิโลนหมดอำนาจลง พวกเขาตกเป็นทาสของชาวเปอร์เซีย ต่อมาเป็นทาสของชาวกรีก และเป็นเมืองขึ้นของชาวโรมันในที่สุด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลำพังแค่ “อิสรภาพ” พวกเขายังไม่มีโอกาสได้สัมผัสเลย หากคิดจะเป็น “เจ้าโลก” จึงเหลือหนทางเดียวคือ “หนทางเหนือธรรมชาติ” นั่นคือต้องพึ่งพา “ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า” เป็นขั้นเป็นตอนดังต่อไปนี้
1. ก่อน “พระเมสสิยาห์” เสด็จมา จะเป็นยุคของความทุกข์ทรมานแสนสาหัสดุจดังสตรีคลอดบุตร จะเกิดแผ่นดินไหว นานาชาติจะแตกแยก โกลาหล และวุ่นวายสับสน
2. ท่ามกลางความสับสนอลหม่านนี้ ประกาศกเอลียาห์จะกลับมาสร้างความสมานฉันท์เพื่อเตรียมทางรับเสด็จพระเมสสิยาห์
3. “พระเมสสิยาห์” (ภาษาฮีบรู) หรือ “พระคริสต์” (ภาษากรีก) ซึ่งหมายถึง “ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมให้เป็นกษัตริย์” นี้อาจสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด หรือใครก็ได้ที่สามารถเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” นำพาพวกเขาพิชิตโลกและแก้แค้นให้พวกเขาได้
4. นานาชาติจะรวมตัวกันต่อต้านพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงส่งมานี้
5. ผลคือนานาชาติถูกทำลายอย่างย่อยยับ พระเมสสิยาห์จะทำลายล้างศัตรูให้สิ้นซาก
6. จะมีการปฏิสังขรณ์กรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ บางคนคาดหวังว่าเยรูซาเล็มใหม่จะลอยลงมาจากสวรรค์
7. ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกจะกลับมารวมตัวกันที่กรุงเยรูซาเล็มใหม่
8. ปาเลสไตน์จะเป็นศูนย์กลางของโลก นานาชาติจะยอมจำนนต่อชาวยิว
9. ที่สุด “ยุคใหม่” ที่เต็มไปด้วยสันติสุขและความดีงามจะมาถึงและคงอยู่ชั่วนิรันดร
นี่คือความคิดของชาวยิวเกี่ยวกับ “พระเมสสิยาห์” ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การทำลายล้าง การแก้แค้น และความเป็นชาตินิยม
จริงอยู่ความคิดของพวกเขาจบลงด้วย “ยุคใหม่” ซึ่งเป็น “พระอาณาจักรของพระเจ้า” แต่วิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องแลกด้วยเลือดและเนื้อของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล !!!
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงต้อง “กำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด” (ข้อ 30) จนกว่าพระองค์จะสอนพวกเขาให้เข้าใจความหมายของ “พระเมสสิยาห์” ได้อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น....
โดยไม่รอช้า “พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมากจะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ”” (ข้อ 31)
สำหรับพระองค์ “พระเมสสิยาห์” คือผู้ที่จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ไม่ใช่นักรบนองเลือดที่ทำให้นานาชาติสยบอยู่แทบเท้า
คำพูดนี้ทำให้พวกศิษย์พากันช้อคไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะเปโตรถึงกับดึงพระองค์ออกมาและทูลคัดค้านหัวชนฝา
จนพระองค์ต้องตำหนิเปโตรอย่างรุนแรงว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” (ข้อ 33)
ทำไมพระองค์ต้องตำหนิเปโตรรุนแรงเช่นนี้ ?
เหตุผลคือ ไม่มีใครอยากตาย ยิ่งเป็นความตายอันแสนทรมานและอัปยศอดสูบนไม้กางเขนด้วยแล้วยิ่งไม่มีใครต้องการ
พระองค์ก็ไม่ต้องการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเหมือนกับคนอื่น ๆ
แล้วอยู่ ๆ เปโตรดันมาล่อลวงพระองค์ให้ละทิ้งหนทางที่ไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว !!!
เปโตรกำลังทำเหมือนปีศาจที่เคยนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูง ชี้ให้ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” (มธ 4:8-9)
หนทางของปีศาจพิชิตโลกได้ง่ายกว่าและสบายกว่ากันมาก !!
และแม้ไม่ยอมกราบนมัสการปีศาจ พระเยซูเจ้าก็ตระหนักดีว่าลำพังฤทธิ์อำนาจของพระองค์อย่างเดียวก็สามารถเอาชนะโลกได้โดยไม่ต้องผ่านไม้กางเขนแล้ว
เมื่อเปโตรมา “จี้จุด” เช่นนี้ พระองค์จึงเสียใจมากเป็นธรรมดา
และยิ่งเสียใจมากขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี เมื่อคนที่จี้โดนจุดหรือคนที่ขัดขวางพระองค์มิให้เดินตามหนทางของพระบิดานี้กลับเป็น “ศิษย์เอก” ที่พระองค์ทรงรักและวางใจมาก อีกทั้ง “ศิษย์เอก” คนนี้ก็รักพระองค์ชนิดยอมตายถวายหัวอีกด้วย
น่าเสียดายที่เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน หลายครั้งการเดินตามหนทางของพระเจ้าถูกขัดขวางโดย “คนที่รักเรา” หรือ “คนที่เรารัก” มากที่สุด
บางคนต้องปฏิเสธเสียงเรียกของพระเจ้าเพียงเพราะคำถามที่ว่า “แล้วใครจะดูแลพ่อกับแม่ยามแก่เฒ่าเล่า ?”
หวังว่าคำตำหนิอันเกรี้ยวกราดของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” คงช่วยให้เราทราบคำตอบดีว่าจะ “ถอย” หรือจะ “สู้” เพื่อพระเจ้าดี ?!?
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดที่จะ “สู้” เพื่อพระบิดาต่อไป พระองค์ทรงตรัสสอนบรรดาศิษย์และประชาชนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” (ข้อ 34)
คำสอนนี้น่าจะถือได้ว่า “เป็นหัวใจและเป็นศูนย์กลางของความเชื่อคริสตชน” เลยทีเดียว !
ผู้ที่ปรารถนาเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าจำเป็นต้องพูด “ครับ ค่ะ ใช่ Yes, Si” กับพระองค์ แล้วพูด “ไม่ – No” กับ :-
- ตัวเอง
- ความนิยมชมชอบชีวิตง่าย ๆ และสะดวกสบาย
- การทำทุกสิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการและอำเภอใจส่วนตน
- สัญชาติญาณและความปรารถนาที่จะลิ้มรสและสัมผัสกับสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น
ศิษย์ของพระองค์ต้องไม่ลังเลที่จะพูดแบบนักบุญเปาโลว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20)
และจากคำสอนนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เราเห็น “นิสัยใจคอ” ของพระเยซูเจ้า ชนิดที่ทำให้เปโตรต้องสารภาพว่า “พระองค์คือพระบุตรของพระเป็นเจ้า”
ประการแรกพระองค์ทรง “สัตย์ซื่อและจริงใจ” ต่อทุกคน พระองค์ไม่ได้ล่อลวง ติดสินบน หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อชักนำผู้คนให้หันมาติดตามพระองค์
หากจะถือว่าเป็นการ “ให้” ... สิ่งเดียวที่ทรงสัญญาว่าจะให้แก่ผู้ที่ติดตามพระองค์คือ “ไม้กางเขน”
พระองค์ไม่ได้สัญญาว่าจะให้ชีวิตที่สะดวกสบายแก่เรา แต่พระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้ชีวิตของเรายิ่งใหญ่ มีคุณค่า มีความสุข และมีความมั่นคงอย่างแท้จริง
ด้วยจิตตารมณ์เดียวกันนี้ การีบัลดี ผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลียน ได้กล่าวเชิญชวนทหารใหม่ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีที่พัก ไม่มีเสบียง สิ่งที่ข้าพเจ้ามีให้พวกท่านคือความหิว ความกระหาย การเดินทัพอันเหน็ดเหนื่อย สงคราม และความตาย ขอให้ทุกคนที่รักประเทศชาติของตนด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ริมฝีปาก จงตามข้าพเจ้ามาเถิด”
ประการที่สอง พระองค์ไม่ใช่ “ผู้นำ” ประเภท “สั่งแต่ไม่ทำ” !
พระองค์ทรงเรียกร้องให้เรา “แบกกางเขนตามพระองค์” ไม่ใช่ให้เรา “แบกกางเขนตามลำพัง”
นี่คือบุคลิกลักษณะของ “ผู้นำ” ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ !
เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชนำกองทหารตามล่าดาริอุสกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย พวกเขาเร่งรีบเดินทางจนทำสถิติได้หกร้อยกว่ากิโลเมตรภายใน 11 วัน ขณะที่พวกทหารพากันเหน็ดเหนื่อยและหิวกระหายจนเกือบสิ้นหวังเพราะไม่พบแหล่งน้ำ ชาวมาซีโดเนียกลุ่มหนึ่งได้นำน้ำเทใส่หมวกเหล็กมาให้อเล็กซานเดอร์ พวกทหารพากันชูคอมองด้วยความอยากดื่มน้ำใจจะขาด แต่อเล็กซานเดอร์กลับขอบคุณและคืนน้ำแก่ชาวมาซีโดเนียพร้อมกับกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้าดื่มน้ำเพียงผู้เดียว คนที่เหลือก็จะพากันถอดใจ” เมื่อทหารเห็นความอดกลั้นแบบไม่เห็นแก่ตัวเช่นนี้ พวกเขาจึงกระตุ้นม้าและร้องขอให้อเล็กชานเดอร์นำพาพวกเขาต่อไปอย่างห้าวหาญ
เห็นไหม เป็นการง่ายมากที่จะติดตามผู้นำที่ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยแม้แต่จะคิดทำ !!!
พระเยซูเจ้าไม่ใช่ “ผู้นำ” ที่เห็นชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนผักปลา แล้วคอยนั่งกด “รีโมท” อยู่ห่าง ๆ แต่พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ทรงพร้อมจะเผชิญหน้า นั่นคือ “แบกไม้กางเขน”
นี่คือ “ผู้นำที่จริงใจ ยิ่งใหญ่ และน่าติดตามอย่างยิ่ง” !!!